เทียรี่ เมฆวัฒนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทียรี่ เมฆวัฒนา
ชื่อเกิดเทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา
เกิด23 เมษายน พ.ศ. 2501 (65 ปี)
ที่เกิดนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
แนวเพลงเพื่อชีวิต, ร็อก, ป๊อป
อาชีพนักร้อง, นักดนตรี, โปรดิวเซอร์, ยูทูบเบอร์
เครื่องดนตรีกีตาร์, เบส, กลอง
ช่วงปีพ.ศ. 2521 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงท็อปไลน์ มิวสิค (พ.ศ. 2533 - 2537)
มิวสิก ออน เอิร์ธ (พ.ศ. 2540)
วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน)
อาร์ สยาม (พ.ศ. 2547 - 2550)
คู่สมรสอุทุมพร ศิลาพันธ์
(พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2545)
อดีตสมาชิกRunspot
ไพจิตร อักษรณรงค์

เทียรี่ เมฆวัฒนา นักร้องและนักดนตรีชาวไทย มือกีตาร์วงคาราบาว มีชื่อจริงว่า เทียรี่ สุทธิยงค์ เมฆวัฒนา ชื่อเล่น หรั่ง เกิดวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2501 ที่ประเทศลาว โดยมีพ่อเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อ เอนก เมฆวัฒนา แม่เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ ซิโมเน

ประวัติ[แก้]

เทียรี่ เมฆวัฒนา เกิดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เป็นบุตรของนายเอนก เมฆวัฒนา โดยนายเอนกทำงานให้กับหน่วยซีไอเอในลาวคอยหาเครื่องใช้ให้ทหารอเมริกัน แม่เป็นชาวสวิสเซอร์แลนด์ ชื่อ Simone หลังจากนั้นพอเทียรี่มีอายุได้ 2 ขวบ ประเทศลาวได้เกิดสงครามกลางเมืองจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2503 พ่อจึงพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย และเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ รุ่นที่ 91 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ร่วมรุ่นกับ ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร) ก่อนจะย้ายมาเรียนที่โรงเรียนดรุณพิทยาจนจบชั้นมัธยมปลาย จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจที่ American Business Institute ที่เมืองแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

โดยเทียรี่มีความสนใจในการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยหัดเล่นกีตาร์ตอนอายุ 11 ขวบ ซึ่งเพลงแรกที่หัดเล่นคือเพลง Flying Machine ของเซอร์ คลิฟฟ์ ริชาร์ด เทียรี่ชื่นชอบและได้รับแรงบันดาลใจทางดนตรีมาจากบทเพลงของบ็อบ ดิลลัน, ดอน แม็กลีน, เดอะ บีทเทิลส์ รวมถึงวงควีนด้วย

วงการบันเทิง[แก้]

เทียรี่เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการถ่ายแบบ แสดงละคร และ ภาพยนตร์ ก่อนจะเริ่มมีผลงานทางดนตรีครั้งแรก เป็นดนตรีแนวโฟล์ก โดยเข้าร่วมวงดนตรี Runspot ร่วมกับ กิตติคุณ เชียรสงค์ และหมึก ศิลปากร เล่นออกอากาศทางรายการ เสาร์สนุก ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ไทยทีวีสีช่อง 9 อสมท. ในปี พ.ศ. 2521

หลังจากนั้น ด้วยความที่ตัวเทียรี่ได้ออกโทรทัศน์บ่อยจึงได้รับการติดต่อให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง สตรีหมายเลข 0 แสดงคู่กับ สรพงศ์ ชาตรี และ ชลธิชา สุวรรณรัต ในปี พ.ศ. 2521 และได้เล่นเป็นพระเอกอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง โอ้กุ๊กไก่ ในปี พ.ศ. 2522 ก่อนจะพักงานในวงการบันเทิงเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่ American Business Institute และทำงานเป็นนักดนตรีตอนกลางคืนในร้านอาหาร ที่เมืองแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยร้องเพลงสากลของเซอร์ คลิฟฟ์ ริชาร์ด และ เอลวิส เพรสลี่ย์

หลังจากกลับมาเมืองไทยเพียง 2 สัปดาห์ เทียรี่ได้เซ็นสัญญาเป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงของค่ายเพลงอโซน่า รับหน้าที่เล่นกีตาร์เพื่อบันทึกเสียงในอัลบั้มของศิลปินหลายคนทั้ง สายัณห์ สัญญา, ศิรินทรา นิยากร, ยอดรัก สลักใจ, ไพจิตร อักษรณรงค์, ศรเพชร ศรสุพรรณ และ นัดดา วิยกาญจน์

โดยเทียรี่ เมฆวัฒนา ได้มีอัลบั้มเพลงของตัวเองครั้งแรก เป็นอัลบั้มที่ร้องคู่กับไพจิตร อักษรณรงค์ คืออัลบั้ม รักแรก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จทางยอดขายเป็นอย่างดี ทำให้มีผลงานการถ่ายแบบ และเป็นพิธีกรในรายการเกมโชว์ถึง 2 รายการ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 เทียรี่ เมฆวัฒนา ได้มีโอกาสร่วมงานกับวงคาราบาวเป็นครั้งแรก โดยเป็นการออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมทอัลบั้ม วณิพก โดยรับหน้าที่เล่นกีตาร์ไฟฟ้าบนเวทีคอนเสิร์ตแทนที่เล็ก - ปรีชา ชนะภัย มือกีตาร์โซโล่ตัวจริงของทางวง ที่ติดภารกิจต้องไปทัวร์คอนเสิร์ตกับวงเพรสซิเดนท์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเทียรี่เคยไปศึกษาที่นั่น

หลังการออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้มวณิพกร่วมกับวงคาราบาวเสร็จสิ้น เทียรี่ได้ออกอัลบั้มของตนเองออกมาอีก 1 ชุด ในชื่ออัลบั้ม เรือรัก โดยอัลบั้มชุดนี้เป็นแนวเพลงโฟล์ก และมีเพลงฮิตอย่าง วานนี้ช้ำ วันนี้จำ

ปลายปี พ.ศ. 2526 คาราบาว กลับมาบันทึกเสียงที่ห้องอัดของอโซน่าอีกครั้งเพื่อบันทึกเสียงเพลงทั้งหมดในอัลบั้มชุด ท.ทหารอดทน เทียรี่จึงได้เป็นนักดนตรีแบ็คอัพบันทึกเสียงให้คาราบาวในอัลบั้มชุด ท.ทหารอดทน ก่อนที่จะได้รับการเชิญชวนให้ร่วมออกทัวร์คอนเสิร์ตกับทางวงอีกครั้งหนึ่ง

ความโด่งดังของอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ทำให้วงคาราบาวทั้งวงได้เล่นเป็นดารารับเชิญในภาพยนตร์เรื่อง ปล.ผมรักคุณ และเทียรี่ในฐานะนักดนตรีแบ็กอัพก็ได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมกับคาราบาวด้วย โดยในปีดังกล่าว เทียรี่ เมฆวัฒนา ได้แต่งงานเป็นครั้งแรกกับแฟนสาวที่คบหากันมานานถึง 6 ปี แต่กลับใช้ชีวิตคู่อยู่เพียงแค่ 6 เดือนก็ได้หย่าขาดจากกันในปีเดียวกัน

เข้าร่วมวงคาราบาว[แก้]

หลังจากทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวงคาราบาวมาอย่างยาวนาน เทียรี่ก็ได้เป็นสมาชิกของวงคาราบาวอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2527 ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ โดยเป็นสมาชิกใหม่ในตำแหน่งมือกีตาร์และนักร้องนำ โดยได้ร้องเพลงให้คาราบาวเพลงแรกคือเพลง นางงามตู้กระจก ซึ่งผลจากความสำเร็จอย่างถล่มทลายของอัลบั้มชุดนี้ที่มียอดจำหน่ายในปีเดียวมากกว่า 5,000,000 ตลับ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย ทำให้เทียรี่ เมฆวัฒนาในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของวงโด่งดังเป็นอย่างมาก และเทียรี่ก็ได้ขึ้นเล่นคอนเสิร์ตทำโดยคนไทย ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของประเทศไทยและวงคาราบาวที่สนามจักรยานเวโลโดรม ในสนามกีฬาหัวหมาก ในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าวมีผู้ชมมากกว่า 60,000 คน อีกทั้งยังได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยเทียรี่ เมฆวัฒนาได้เป็นผู้ร้องเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ โดยในเวอร์ชันนี้ทางวงตั้งชื่อเพลงว่า Made in Thailand in USA

ในปีเดียวกัน เทียรี่ เมฆวัฒนาได้แสดงภาพยนตร์อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพ คู่กับนางเอกสาว จุ๋ม - อุทุมพร ศิลาพันธ์ ซึ่งสมาชิกวงคาราบาวได้แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยกันทั้งวง ตลอดจนมีดาราอื่น ๆ เช่น ษา - สุพรรษา เนื่องภิรมย์, หมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน มาร่วมแสดงด้วย และในปีดังกล่าว บริษัทการบินไทย ครบรอบ 25 ปี จึงได้มอบหมายให้วงคาราบาวแต่งเพลงให้ ซึ่งแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้แต่งเพลง รักคุณเท่าฟ้า โดยมอบให้เทียรี่เป็นผู้ขับร้อง และกลายเป็นเพลงฮิตที่ติดหูผู้ฟังอย่างมากจนถึงปัจจุบันและมีการนำกลับมาร้องซ้ำโดยศิลปินอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ฟอร์ด - สบชัย ไกรยูรเสน เป็นต้น

ในปีเดียวกันเทียรี่ได้แต่งงานอีกครั้งกับนางเอกสาว จุ๋ม - อุทุมพร ศิลาพันธ์ ซึ่งทั้งสองเคยมีงานแสดงร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่องเสียงเพลงแห่งเสรีภาพ

จากนั้น ในปลายปีเดียวกัน คาราบาวได้ออกอัลบั้มชุด อเมริโกย โดยในอัลบั้มนี้เทียรี่ได้ร้องนำ 1 เพลงคือเพลง มาลัย โดยวงคาราบาวได้กลายเป็นผู้นำแฟชั่นของวัยรุ่นในสมัยนั้นด้วยการแต่งตัวด้วยชุดลายพรางทหารและใส่แว่นดำ ต่อมาได้ร่วมงานกับทางวงในชุด ประชาธิปไตย ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2529 โดยเทียรี่ได้ร้องนำคู่กับแอ๊ดในเพลง มหาจำลอง รุ่น 7

ในปี พ.ศ. 2530 คาราบาวออกอัลบั้ม เวลคัมทูไทยแลนด์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่มียอดขายเกิน 1,000,000 ตลับ/ก๊อปปี้ และมีมิวสิกวิดีโอถึง 4 เพลง เทียรี่มีบทบาทในอัลบั้มชุดนี้มากโดยนอกจากจะเป็นมือกีตาร์และประสานเสียงแล้ว ยังได้ร้องเพลงในอัลบั้มนี้ถึง 3 เพลง คือ สังกะสี ,บิ๊กเสี่ยว โดยร้องคู่กับแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล และเพลง คนหนังเหนียว โดยร้องคู่กับเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ในลักษณะของการดูเอท

เทียรี่ เมฆวัฒนาโด่งดังถึงขีดสุดในอัลบั้ม ทับหลัง ในปี พ.ศ. 2531 จากการขับร้องเพลง แม่สาย ซึ่งเป็นเพลงนำร่องในอัลบั้ม ซึ่งเพลงนี้มีการทำเป็นมิวสิกวิดีโอแบบแอนิเมชันเป็นเพลงแรกในประเทศไทยอีกด้วย

แยกวง[แก้]

หน้าปกอัลบั้ม ขอเดี่ยวด้วยคนนะ

ในปี พ.ศ. 2531 หลังจากที่วงคาราบาวทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมทอัลบั้ม ทับหลัง เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เทียรี่ก็ได้ขอลาออกจากวงและแยกตัวไปพร้อมกับสมาชิกในวงอีก 2 คน คือ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ เป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ โดยทั้ง 3 คนได้ร่วมกันออกอัลบั้มในชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ ในปี พ.ศ. 2532 มีเพลงที่เป็นที่รู้จัก เช่น สาวดอย สอยดาว, วันเกิด, 5 ย 5 ก เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2533 เทียรี่ก็ได้เซ็นสัญญากับค่ายท็อปไลน์ออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองชุดแรกภายหลังแยกวง คือ เจาะเวลา... โดยอัลบั้มชุดนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครื่องดื่มโค้ก และได้ อิทธิ พลางกูร มาเป็นศิลปินรับเชิญร่วมขับร้องเพลง ทะเล ตลอดจนได้ชานนท์ ทองคง อดีตมือเบสวง เนื้อกับหนัง ซึ่งเป็นวงดนตรีเฮฟวี่เมทัลยุคแรก ๆ ของเมืองไทยมาร่วมงานด้วยในตำแหน่งมือเบส ทำให้อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีเพลงฮิตที่รู้จักกันดีเช่น ปาปาย่า ป๊อก ๆ , สาวตากลม, เจาะเวลาหาปัจจุบัน, รักขึ้นสมอง เป็นต้น

ปี พ.ศ. 2534 ได้ออกอัลบั้ม สุดขั้วหัวใจ โดยมีเครื่องดื่มโค้กเป็นผู้สนับสนุนตามเดิม มีเพลงฮิตคือเพลง ความรักสีดำ, ไผ่แดง ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่องไผ่แดง และเพลง สูงสุดสู่สามัญ ซึ่งได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาเพลงยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2534

เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2535 เทียรี่ออกอัลบั้มชุดที่ 3 ในชื่อชุดไม่เต็มบาท มีเพลงเด่น ๆ เช่น แสงแห่งกาลเวลา, พขร.ณ รมต., ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน, ทำใจ, ฝันของดอกไม้ริมทาง เป็นต้น โดยอัลบั้มนี้เป็นชุดสุดท้ายที่มีเครื่องดื่มโค้กเป็นผู้สนับสนุน ก่อนที่เทียรี่จะออกอัลบั้มชุดที่ 4 ในปี พ.ศ. 2537 ในชุด คาถาเศรษฐี ซึ่งมีเพลงฮิตในขณะนั้นคือ ถังแตก, สิ่งสุดท้ายแห่งความทรงจำ ตลอดจนมีเพลงประกอบโฆษณาอย่าง ปรารถนา และเพลงประกอบรายการโทรทัศน์อย่างเพลง จบที่ใจ เป็นต้น

หลังจากนั้นเทียรี่ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวออกตามมาอีกหลายชุดเช่น ยาชูกำลัง, จักรวาล และตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จึงได้กลับมาเป็นสมาชิกของวงคาราบาวตั้งแต่อัลบั้ม อเมริกันอันธพาล จนถึงปัจจุบัน

โดยเทียรี่เป็นนักร้องที่มีเสียงแหบเสน่ห์เป็นตัวของตนเอง จึงมีเพลงที่ได้รับความนิยมในแต่ละอัลบั้มอยู่หลายเพลง ซึ่งส่วนมากเพลงที่จะเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเป็นเพลงช้า จึงได้มีโอกาสแต่งและร้องเพลงประกอบภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง เช่น ละครเรื่อง สุดแต่ใจจะไขว่คว้า ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2532, ไผ่แดง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2534, ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2537, แม้เลือกเกิดได้ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2544 เป็นต้น และเคยร้องเพลงออกอัลบั้มร่วมกับ อิทธิ พลางกูร ด้วย และจุดเด่นอีกประการหนึ่งของเพลงของเทียรี่ อยู่ที่เนื้อร้องที่เล่นกับภาษาได้อย่างลงตัวและสนุก มีความหมาย เช่น เพลง พขร.ณ รมต. ที่เล่นกับตัวย่อทั้งเพลง, ฉำฉาฉ่อยฉุกเฉิน ที่เล่นกับอักษร ฉ.ฉิ่ง ทั้งเพลง, หัวใจจิ้มจุ่ม ที่เล่นกับอักษร จ.จาน, ไปไหนไปด้วย ที่มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเปรียบเปรยทั้งเพลง เป็นต้น และเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มเดี่ยวมักจะแฝงไว้ด้วยป๊อปเซ้นส์เสมอ ซึ่งทำให้เพลงของเทียรี่ฟังง่ายและเป็นที่นิยม

ในปี พ.ศ. 2552 เทียรี่ได้รับเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาทางโทรทัศน์ให้กับโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ G-Net โดยเป็นพรีเซนเตอร์ของโทรศัพท์ยี่ห้อนี้เป็นคนแรกด้วย[1]

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปรากฏข่าวลือที่ทำให้ช็อกแฟนคลับวงคาราบาวทั่วประเทศว่าเทียรี่ได้ฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนยิงตัวเองหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสายไหม[2] แต่เมื่อได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว พบว่าเทียรี่มีอาการกระเพาะทะลุจากการดื่มสุราอย่างหนักจากคำยืนยันของมณเฑียร สาระโภค ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสายไหม, หาญชัย ยุทธ์ธนพิพิพัฒน์ ผู้จัดการส่วนตัวของเทียรี่ และแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล หัวหน้าวงคาราบาว ซึ่งทั้ง 3 คนได้แถลงข่าวร่วมกัน[3] โดยเทียรี่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสยาม

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

เทียรี่ เมฆวัฒนา เคยแต่งงานกับ อุทุมพร ศิลาพันธุ์ นักแสดงสาว ทั้งคู่ได้อยู่กินกันมานับสิบปี จนมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น 2 คน คือ เจน เมขลา (ลูกสาว) และ เจสซี เมฆ (ลูกชาย) แต่ก็ได้หย่าร้างกันเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 โดยเทียรี่เป็นฝ่ายขอหย่าเอง โดยอ้างว่าไม่มีเวลาให้กับครอบครัวเพียงพอ ปัจจุบัน เทียรี่มีห้องอัดเสียงเป็นของตนเองชื่อ jessie&jane studio มีบริษัทเพลงของตัวเองชื่อ here entertainment และมีบริษัท CRB entertainment จำกัด รับงานโฆษณาและผลิตรายการโทรทัศน์ โดยมีนิตยสารของตนเองชื่อ Coffee Break

ปัจจุบันเจน ศึกษาอยู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจสซี หลังจากไปศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ กลับมารับงานแสดงและดนตรี ในวงการบันเทิงไทยด้วย

นอกจากนี้แล้ว เทียรี่ ยังมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ด้วย เนื่องจากนายเอนก บิดาของเทียรี่เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ นางไซย้ง แซ่ฮุ้น มารดาของนายสนธิ

ผลงานเพลง[แก้]

คาราบาว[แก้]

แอ๊ด คาราบาว[แก้]

  • เทียรี่เล่นกีตาร์, แบนโจ, ร้องประสาน, ทำนอง ในอัลบั้ม กัมพูชา (พ.ศ. 2527)
  • เทียรี่เล่นกีตาร์, ร่วมร้อง ในอัลบั้ม ยืนยงตั้งวงเล่า (พ.ศ. 2549)

เล็ก คาราบาว[แก้]

  • เทียรี่เล่นกีตาร์ในอัลบั้มขอทานเจ้าสำราญ (พ.ศ. 2539)

เทียรี่ เมฆวัฒนา[แก้]

  • เรือรัก (พ.ศ. 2526)
  • เจาะเวลา... (กันยายน พ.ศ. 2533)
  • สุดขั้วหัวใจ (พ.ศ. 2534)
  • ไม่เต็มบาท (พ.ศ. 2535)
  • คาถาเศรษฐี (พ.ศ. 2537)
  • ยาชูกำลัง (พ.ศ. 2540)
  • ทำไมไม่ชอบชวน (พ.ศ. 2543)
  • สุดทางรัก (พ.ศ. 2546)
  • จักรวาล (ตุลาคม พ.ศ. 2546)
  • หอมดินกลิ่นทุ่ง (พฤษภาคม พ.ศ. 2547)
  • เสือร้องไห้ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2547)
  • เทียรี่ ดิอิมพอสซิเบิ้ล เป็นไปไม่ได้ (พ.ศ. 2547)
  • หอมดินกลิ่นทุ่ง 2 (พ.ศ. 2549)
  • ใครใครก็บินได้ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
  • เพลงผ่านชีวิต (พฤศจิกายน พ.ศ. 2550)
  • คืนนี้ไม่มีจันทร์ (ตุลาคม พ.ศ. 2550)
  • เหงาตัวเท่าเธอ (สิงหาคม พ.ศ. 2551)

ผลงานร่วม[แก้]

  • รักแรก : ร่วมกับ ไพจิตร อักษรณรงค์ (พ.ศ. 2525)
  • เรือรัก : ร่วมกับ ไพจิตร อักษรณรงค์ (พ.ศ. 2526)
  • ขอเดี่ยวด้วยคนนะ : ร่วมกับ ธนิสร์, อำนาจ (ตุลาคม พ.ศ. 2532)
  • ฮาร์ท แอนด์ โซล : ร่วมกับ อิทธิ พลางกูร (มิถุนายน พ.ศ. 2540)
  • รวมพลคนเหงา : ร่วมกับ เล็ก คาราบาว (พ.ศ. 2540)
  • รวมพลคนมันส์ : ร่วมกับ เล็ก คาราบาว (พ.ศ. 2540)
  • กีตาร์บาว : ร่วมกับ เล็ก คาราบาว (พ.ศ. 2544)
  • เทียรี่ เมฆวัฒนา & หนู มิเตอร์ : ร่วมกับ หนู มิเตอร์ (กันยายน พ.ศ. 2556)

อัลบั้มรวมเพลง[แก้]

  • รวมฮิต ประวัติศาสตร์ เทียรี่ (มกราคม 2533)
  • สุดแต่ใจจะไขว่คว้า (2535)
  • ฮิตไม่ฮิต (2535)
  • รวมฮิต 2000 (ตุลาคม 2542)
  • โคตรเพลงเพื่อชีวิต รวมฮิต 2543 (ตุลาคม 2542)
  • เพื่อชีวิตใจเกินร้อย ชุด 1 (ธันวาคม 2543)
  • เพื่อชีวิตใจเกินร้อย ชุด 2 (ธันวาคม 2544)
  • รวม 24 เพลงรัก เทียรี่ (2546)
  • รวม 24 เพลง สามช่า เทียรี่ (2546)
  • รวมเพลงรัก (มีนาคม 2548)
  • รวมเพลงร็อก (มีนาคม 2548)
  • Big MV Big Star Karaoke (2548)
  • รวมฮิตหัวกะทิ ชุด 1 (กันยายน 2548)
  • Jumbo X 2 Return (ตุลาคม 2548)
  • สุดยอดเพลงฮิตเพื่อชีวิต (2549)
  • รวมฮิตหัวกะทิ ชุด 2 (กันยายน 2549)
  • Rock Alive (ตุลาคม 2549)
  • The Lost Love Songs บทเพลงที่หายไป (สิงหาคม 2550)
  • เพลงรักหลากอารมณ์ (2551)
  • มหานครเพื่อชีวิต 1-2 (กรกฎาคม 2551)
  • เพลงเขาเราร้อง ชุด 2 (กรกฎาคม 2551)
  • ผู้ชาย...รักจริง (สิงหาคม 2551)
  • รุ่นใหญ่ใจติดดิน (กันยายน 2552)
  • เพื่อชีวิตฮิตไม่เลิก (ธันวาคม 2553)
  • เพลงดังหาฟังยาก (กรกฎาคม 2554)
  • เพื่อรัก เพื่อชีวิต (สิงหาคม 2555)
  • ติดดินอกหัก (ตุลาคม 2555)
  • Hitz Unlimited (ตุลาคม 2555)
  • เพื่อชีวิตฮิตเกินร้อย 1-2 (2555-2556)
  • เพื่อชีวิต ฮิตถล่มทลาย (พฤศจิกายน 2555)
  • ติดดิน 2 สไตล์ (มกราคม 2556)
  • หัวใจปลายปากกา นรกในใจ (กุมภาพันธ์ 2556)
  • ติดดิน 2 สไตล์ ยก 2 (มีนาคม 2556)
  • เพื่อชีวิตฮิต 2 สไตล์ (มิถุนายน 2556)
  • เพื่อรัก เพื่อชีวิต 2 (กรกฎาคม 2556)
  • ติดดินกินใจ 2 (สิงหาคม 2556)
  • อกหัก รักจริง (ตุลาคม 2556)
  • All of Love ปาน & Friends (เมษายน 2557)
  • บิ๊กฮิตติดดิน ที่สุดในสามโลก (พฤศจิกายน 2557)
  • เพื่อชีวิตฮิตซึ้ง ๆ ชุด 1,3 (ธันวาคม 2557)
  • รวมฮิต 50 เพลงของเทียรี่ (17 กรกฎาคม 2558)
  • เพื่อชีวิต ฮิตมันส์ ๆ (สิงหาคม 2558)
  • เพื่อเพื่อน...เพื่อชีวิต (สิงหาคม 2558)
  • สวนทางเพื่อชีวิต (กรกฎาคม 2559)
  • เด็ดเพลงฮิต เพื่อชีวิต ชุด 2 (มิถุนายน 2560)
  • เพื่อรัก เพื่อชีวิต ชุด 2 (มิถุนายน 2560)
  • เด็ดเพลงฮิต เพื่อชีวิต ชุด 3 (กรกฏาคม 2560)
  • ร็อกมหาชน คนติดดิน ชุด 2 (มิถุนายน 2561)
  • เพื่อชีวิตฮิตเต็มร้อย ชุด 1 (มีนาคม 2562)
  • ฮิตมหาชน คนติดดิน (14 สิงหาคม 2562)
  • เพื่อชีวิตฮิตตลอดกาล (มกราคม 2563)
  • เพื่อชีวิตฮิตมันส์ มันส์ (เมษายน 2563)
  • ตำนาน เพื่อชีวิต ฮิตมหาชน (1 เมษายน 2563)
  • รวมฮิต แสงจันทร์ ตะวันแดง ชุด 2 (19 มกราคม 2564)

คอนเสิร์ต[แก้]

  • คอนเสิร์ต 3 ตำนานเพื่อชีวิต (รับเชิญ) (26 กันยายน 2541)
  • คอนเสิร์ต The Duet เพื่อชีวิต of Love (22 พฤศจิกายน 2546)
  • คอนเสิร์ต เก็บตะวัน A Tribute To อิทธิ พลางกูร (30 ตุลาคม 2547)
  • เอ็กซ์คลูซีฟคอนเสิร์ต ทุ่งฝันตะวันรอน (รับเชิญ) (24 กันยายน 2549)
  • คอนเสิร์ต GREEN CONCERT # 10 The Lost Love Songs บทเพลงที่หายไป (28 - 29 กันยายน 2550)
  • คอนเสิร์ต ตำนานเพลง 3 ทศวรรษอโซน่า (15 มิถุนายน 2551)
  • เอ็กซ์คลูซีฟคอนเสิร์ต คนกับเม้าท์ (รับเชิญ) (8 พฤษภาคม 2553)
  • เอ็กซ์คลูซีฟคอนเสิร์ตวันวานไม่มีเขา วันนี้ไม่มีเรา (รับเชิญ) (3 พฤศจิกายน 2555)
  • คอนเสิร์ต จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 51 ตอน "วันวานไม่มีเขา วันนี้ไม่มีเรา" (รับเชิญ) (7 เมษายน 2556)
  • คอนเสิร์ต Love Song Love Shopping (25 - 28 มิถุนายน 2558)
  • คอนเสิร์ต GREEN CONCERT # 18 THE LOST LOVE SONGS 100 เพลงรักที่หายไป (29 - 30 สิงหาคม 2558)
  • คอนเสิร์ต The Duet เพื่อชีวิต Concert (23 มกราคม 2560)

ศิลปินรับเชิญในอัลบั้ม[แก้]

  • เล่นกีตาร์ในอัลบั้ม เดี่ยว ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (2528)
  • เล่นคีย์บอร์ดในอัลบั้ม บิลลี่ บิลลี่ ของ บิลลี่ โอแกน (2530)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง กาลเวลา ในอัลบั้ม อิทธิ 3 เวลา ของ อิทธิ พลางกูร (2533)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง ขุนเขา สายธาร ในอัลบั้ม ชานตานอย ของ น้อย ชานตานอย (2534)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง เพื่อเมืองไทย ในอัลบั้ม World Folk Zen ของ แอ๊ด คาราบาว (2534)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง คนไทย ในอัลบั้ม เราคนไทย ของ เล็ก คาราบาว (2534)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง คำสัญญา ในอัลบั้ม เขาพระวิหาร ของ อินโดจีน (2534)
  • เล่นโซโล่กีตาร์ในเพลง ดุ่ย ดุ่ย ในอัลบั้ม โฟล์ด ของ ฤทธิพร อินสว่าง (2535)
  • เล่นโซโล่กีตาร์ในเพลง ลงแรงสร้างโลก ในอัลบั้ม หนุ่มไฟแรง ของ โดม มาร์ติน (2536)
  • เล่นอคูสติกกีตาร์ในเพลง ฝันเป็นจริง ในอัลบั้ม รัตติกาล ของ หงา คาราวาน, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (2537)
  • เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง ถามหน่อย ชิงเกิ้ล ถามหน่อย ของ เล็ก คาราบาว (2563)

อื่น ๆ[แก้]

  • โปรดิวเซอร์ วงประจัญบาน ชุด จะเฮ็ดอีหยัง
  • โปรดิวเซอร์ วงสิบล้อ ชุด มนต์รักสิบล้อ และ เสียงเพลงสิบล้อ
  • แต่งเพลงประกอบละครเรื่อง สุดแต่ใจจะไขว่คว้า, ไผ่แดง, ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก, ดวงยิหวา, แม้เลือกเกิดได้
  • แต่งและร้องเพลงนำรายการ เปิดอก, ผู้หญิง 2000, บัลลังก์คนดี
  • ร้องเพลงโฆษณา เนสกาแฟ (อบอุ่นทุกอารมณ์), ไทยแอร์เอเชีย (ใคร ๆ ก็บินได้)
  • ฟีเจอริ่งในอัลบั้มของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, อิทธิ พลางกูร, วงอินโดจีน, โดม มาร์ติน, หงา คาราวาน, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, แอ๊ด คาราบาว, เล็ก คาราบาว, มงคล อุทก, สีเผือก คนด่านเกวียน
  • ร้องเพลง ลำน้ำใจ และ แม่น้ำ ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด ลำน้ำใจ (2534) - จัดทำขึ้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี
  • ร้องเพลง สอดคล้องและสมดุล ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด ผูกพัน (2536) - จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส
  • ร้องเพลง คนชํ้าอย่างฉัน ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด ประวัติศาสตร์ - 12 ขุนพล ฅ. เพื่อชีวิต (พฤษภาคม 2546)
  • ร้องเพลง เก็บตะวัน และ ทรมาน ในอัลบั้มรวมศิลปิน เก็บตะวัน อะทริบิว ทู อิทธิ พลางกูร (กันยายน 2547)
  • ร้องเพลง สายเลือด ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด ประเทศไทย 2549 (เมษายน 2549)
  • ร้องเพลง ชีวิตสัมพันธ์ ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด เรื่องเล่า นี่แหละทางรอด โดย สัญญลักษณ์ เทียมถนอน (2553) - จัดทำโดย บริษัท ปตท. จำกัด
  • ร้องเพลง เจ้าสาวผีเสื้อ ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ (กันยายน 2557)
  • ฟีเจอริ่งเพลงการเดินทาง (OST. Hipster in a Square World) ร่วมกับเจสซี่ เมฆวัฒนา (ลูกชาย)​
  • ร้องเพลง แม่ ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด 20 ปี โลโซ เราและนาย (ตุลาคม 2559)
  • ร้องเพลง สารคามลุงพล ในอัลบั้มรวมศิลปิน ชุด เอฟซีลุงพล (สิงหาคม 2563) - จัดทำขึ้นเพื่อกล่าวขอขอบคุณลุงพล

ผลงานการแสดงภาพยนตร์[แก้]

  • สตรีหมายเลข 0 (2521) รับบท อ๊อด
  • โอ้กุ๊กไก่ (2522) รับบท ป๊อด
  • สวรรค์บ้านนา (2526) รับบท เทียรี่ รับเชิญ
  • ป.ล.ผมรักคุณ (2527) รับบท เทียรี่ รับเชิญ
  • เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (2528) รับบท เทียรี่
  • ยังบาว (2556) รับบท เทียรี่ รับเชิญ
  • บอดี้การ์ดหน้าหัก (2562) รับบท เทียรี่

ละคร[แก้]

ผลงานพิธีกร[แก้]

ออนไลน์

  • พ.ศ. 2564 : ล้อมวงเล่า EP.1 ทางช่อง YouTuber:Carabao Official
  • พ.ศ. 2564 : ล้อมวงเล่า EP.2 ทางช่อง YouTuber:Carabao Official

รางวัล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]