เมด อิน ไทยแลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"เมด อิน ไทยแลนด์"
เพลงโดยคาราบาว
จากอัลบั้มเมด อิน ไทยแลนด์
วางจำหน่ายพ.ศ. 2527
บันทึกเสียงห้องบันทึกเสียงศรีสยาม (2527)
แนวเพลงเพื่อชีวิต, ดนตรีไทย
ความยาว4.10 นาที
ค่ายเพลงจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, คาราบาว
ผู้ประพันธ์เพลงยืนยง โอภากุล
โปรดิวเซอร์ยืนยง โอภากุล

เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นเพลงที่แต่งโดย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) โดยครั้งแรกอยู่ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2527

ที่มาของเพลง[แก้]

ยืนยงแต่งเพลงนี้จากคำพูดเริ่มต้นของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งปรารภว่าในประเทศของเรามีของนอกสั่งเข้ามามากมาย คนไทยจึงรู้สึกว่าต้องใช้ของนอก น่าจะเขียนเพลงนี้เพื่อเชิญชวนให้คนไทยหันกลับมาใช้สินค้าของประเทศด้วยกันเอง ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในภาคดนตรี บี๋ เดล โรซาริโอ ผู้จัดการวงในขณะนั้น ได้ฟังเพลงฟิวชั่น แจ็ซซ์ ของศิลปินผิวดำท่านหนึ่ง มีการขึ้นอินโทรเพลงด้วยเสียงฟลุ้ท หรือ ขลุ่ยฝรั่ง ทางวงจึงลงความเห็นว่า การใช้ขลุ่ยไทยกับขลุ่ยฝรั่งน่าจะสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงได้ เพลงนี้จึงเสร็จสมบูรณ์เป็นลำดับสุดท้ายและออกเผยแพร่ปลายปี พ.ศ. 2527 ในชื่ออัลบั้มเดียวกับชื่อเพลง โดยทางแกรมมี่รับผิดชอบด้านการโปรโมท [1]

ความสำเร็จ[แก้]

เมื่อเพลงนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาไม่นาน จนอัลบั้มขายได้มากถึง 5 ล้านชุด ซึ่งถือเป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับคาราบาวมากที่สุดในยุคคลาสสิกที่มีสมาชิกแบบครบวงทั้ง 7 คน ส่วนหนึ่งของความสำเร็จคือ การแสดง "คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย" ณ สนามเวลโลโดรม ในสนามกีฬาหัวหมาก และเป็นครั้งแรกที่ คาราบาว เข้าไปเกี่ยวพันกับหน่วยงานรัฐบาล โดยเริ่มด้วยการจัดทำมิวสิกวิดีโอเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ไม่ได้ส่งเสริมการขายอัลบั้มแต่อย่างใด[2]

นอกจากนี้ ผู้ฟังชาวต่างชาติก็ยังชื่นชอบเพลงนี้เนื่องจากมีเนื้อหาสอดคล้องกับความเป็นสากล ทำให้วงดนตรีและตัวเพลงได้สร้างชื่อเสียงไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ทางวงจึงได้จัดทำเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ อีกครั้งหนึ่งในชื่อ "Made in Thailand in USA" โดยเพิ่มเนื้อร้องภาคภาษาอังกฤษ เพื่อมุ่งเป้าหมายคนฟังในสหรัฐอเมริกา โดยให้เทียรี่ เมฆวัฒนา ขับร้องในฉบับภาษาอังกฤษ และยืนยง ร้องเป็นภาษาไทยในฉบับเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงท่อนแรกที่มีการพูดสดๆ เพียงเล็กน้อย[3]

ในภายหลัง มีการจัดทำเพลงเดียวกันในฉบับต่างๆ ดังนี้ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจหรือตามกาลสมัย แต่ยังคงโครงสร้างดนตรีมาแต่เดิม ซึ่งใช้เสียงขลุ่ยเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศไทย

  • ครั้งที่ 1 : เมด อิน ไทยแลนด์ (Original) / พ.ศ. 2527
  • ครั้งที่ 2 : Made in Thailand in USA / พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) เนื้อร้องภาษาไทยยังคงเดิม ภายหลังบรรจุในอัลบั้ม รวมเพลงคาราบาว พ.ศ. 2529
  • ครั้งที่ 3 : เมด อิน ไทยแลนด์ '40 / พ.ศ. 2540 ในอัลบั้ม เส้นทางสายปลาแดก เนื้อร้องเปลี่ยนหมด มีการเสริมดนตรีด้วย Brass Section คอรัสหญิง และเสียงพูดกล่าวถึงโอกาส 12 ปี ของบทเพลง
  • ครั้งที่ 4 : เมด อิน ไทยแลนด์ (สังคายนา) / พ.ศ. 2546 ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา เนื้อร้องแบบเดียวกับครั้งแรก แต่เปลี่ยนเนื้อร้องบางส่วนในท่อนต้นเป็น "ยุคสมัยนี้เป็นไทยรักไทย เฮอะ เฮอะ มันอยู่ส่วนไหนของแผนที่ ไอ้จังหวัดที่ว่า ก็นั่นน่ะสิยังสงสัยอยู่เลย ฮ่า ฮ่า"[4]
  • ครั้งที่ 5 : เมด อิน ไทยแลนด์ '52 / พ.ศ. 2552 ในอัลบั้ม โฮะ มีเนื้อหาสรุปความเพื่อย้ำเตือนคนไทย เพิ่มสีสันดนตรีด้วยกลองยาว ฉิ่ง ฉับ

ปัจจุบัน เมด อิน ไทยแลนด์ เป็นเพลงยอดนิยมอีกหนึ่งเพลงของคาราบาว ที่แฟน ๆ ยังชื่นชอบ และถูกเปิดฟังตลอด แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ใช่แฟนของคาราบาวหรือคอเพลงเพื่อชีวิต ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ผู้ให้เสียงขลุ่ยในเพลงบันทึกเสียง[แก้]

ผู้บันทึกเสียงเบสในเพลง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เมด อิน ไทยแลนด์ แดนไทย ทำเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-24. สืบค้นเมื่อ 2010-06-17.
  2. "ผลพวงจาก "เมด อิน ไทยแลนด์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-23. สืบค้นเมื่อ 2010-06-19.
  3. "ประวัติคาราบาว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-28. สืบค้นเมื่อ 2010-06-17.
  4. นัย ของอัลบั้ม สังคายนา เมดอินไทยแลนด์