วิชาแพะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิชาแพะ
สตูดิโออัลบั้มโดย
วางตลาดธันวาคม พ.ศ. 2534
บันทึกเสียงเซ็นเตอร์ สเตจ
แนวเพลงเพลงเพื่อชีวิต, เฮฟวี่เมทัล
ความยาว40.30
ค่ายเพลงดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (2534)
วอนเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2543)
โปรดิวเซอร์ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย
ลำดับอัลบั้มของคาราบาว
ห้ามจอดควาย
(2533)ห้ามจอดควาย2533
วิชาแพะ
(2534)
สัจจะ ๑๐ ประการ
(2535)สัจจะ ๑๐ ประการ2535
ปกอัลบั้มเวอร์ชันแรก

"วิชาแพะ" เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของวงคาราบาว ออกจำหน่ายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 ภายใต้สังกัดดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ วางจำหน่ายทั้งรูปแบบแผ่นเสียง, แผ่นซีดี และ เทปคาสเซตต์ โดยมีสมาชิกของวงเพียง 3 คน คือ ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย และ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ

ประวัติ[แก้]

หลังจากคาราบาว ประสบความสำเร็จกับอัลบั้มห้ามจอดควายประกอบกับความโด่งดังของเพลง สัญญาหน้าฝน ที่เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นผู้ขับร้อง ทำให้เขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงตั้งแต่อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ตัดสินใจแยกจากวงคาราบาวเพื่อทำอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง

ในปี พ.ศ. 2533 สมาชิกหลักของคาราบาวได้แยกย้ายกันไปทำอัลบั้มเดี่ยวหลายคน โดยเทียรี่ เมฆวัฒนา และเขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเป็นครั้งแรกโดยเทียรี่ ออกอัลบั้มชุด เจาะเวลา และเขียว ออกอัลบั้มชุดก่อกวน นอกจากนี้ แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ก็ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดโนพลอมแพลม รวมถึง เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ที่ออกอัลบั้มเดี่ยวชุด 1945 นางาซากิ

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 คาราบาว ได้จัดคอนเสิร์ตคนคาราบาวขึ้นเพื่อประกาศถึงการแยกวงของสมาชิกยุคคลาสสิกอย่างเป็นทางการ ต่อมาในเดือนธันวาคม สมาชิกของคาราบาว 3 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล, เล็ก - ปรีชา ชนะภัย และ อ็อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ได้กลับมารวมตัวเพื่อทำผลงานเพลงร่วมกันอีกครั้ง จึงได้เกิดเป็นผลงานเพลงชุด วิชาแพะ ขึ้น

เนื่องจากสมาชิกหลักที่ทำงานชุดนี้เหลือเพียงแค่ 3 คน ทางคาราบาวจึงจำเป็นต้องหานักดนตรีอาชีพเข้ามาช่วยทำงานเพื่อให้สามารถบันทึกเสียงและออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกันได้ จึงได้ ดุก - ลือชัย งามสม ซึ่งเคยเล่นเป็นแบ็กอัพให้กับเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ตอนออกอัลบั้มเดี่ยว มาเล่นคีย์บอร์ด และได้ โก้ - ชูชาติ หนูด้วง อดีตมือกลองของวงคาไลโดสโคป และเคยตีกลองให้กับ กิตติ กาญจนสถิตย์ หรือ กิตติ กีตาร์ปืน รวมถึงเคยออกอัลบั้มกับชัคกี้ ธัญญรัตน์และปู - อานนท์ สายแสงจันทร์ ในนามวง บลู พลาเน็ต นอกจากนี้ยังได้ น้อย - ธีระวิสาล จุลมกร ซึ่งเพิ่งมีผลงานเพลงชุดแรกในนาม น้อย ซานตานอย มาเล่นเครื่องเป่าในบางเพลงด้วย (โดยต่อมาดุก - ลือชัย งามสม และ โก้ ชูชาติ หนูด้วง ได้กลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของวงในอัลบั้มชุดต่อมา)

แนวทางดนตรีในอัลบั้มชุดนี้มีความหลากหลาย มีความเป็นเพลงร็อกอยู่มาก จากพัฒนาการทางเพลงร็อคของเล็ก ปรีชา ชนะภัย และเนื้อหาของเพลงในอัลบั้มยังคงเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคม โดยมีเพลง วิชาแพะ เพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มเป็นเพลงโปรโมต โดยเพลงดังกล่าวพูดถึงแพะรับบาป และวางจำหน่ายในช่วงปลายของปีแพะ นอกจากนี้ยังมีเพลง นรกคอรัปชั่น ที่ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นวลียอดนิยมในสังคมสมัยนั้นว่า "...โกหกนั้นตายตกนรก" เป็นเรื่องของนักการเมืองที่อ้างตนว่าพูดจริงทำจริงแต่สุดท้ายกลับเป็นเพียงเรื่องโกหก และนักการเมืองเหล่านั้นเมื่อตายไปต้องตกนรก เพลง "นรกคอรัปชั่น" นี้ โดยได้ ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ มาเล่นในมิวสิกวิดีโอนี้อีกด้วย เพลงนี้ใช้จังหวะดนตรีสไตล์เร้กเก้ มีเสียงสนทนาระหว่างสมาชิกในวงคั่นระหว่างเพลง

นอกจากนี้ยังมี เพลง นาย ก. เป็นการเรียกร้องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพลง พ่อหลี ที่เป็นการร้องคู่กันของแอ๊ดและเล็ก กล่าวถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมแห่งความฟุ่มเฟือย ใช้ดนตรีสามช่าพร้อมเสียงเครื่องเป่า [1],เพลง บิ๊กสุ ที่ทำในจังหวะร็อกแอนด์โรล ซึ่งชื่อเพลงมาจากการเสียดสี พล.อ.สุจินดา คราประยูร บุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมืองขณะนั้น คาราบาวจึงใช้ชื่อนี้มาแต่งเพลงให้มีเนื้อหาสดุดีสองขุนพลเพลงไทย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ยืนอยู่บนเส้นทางดนตรี คือ ครูสุรพล สมบัติเจริญ และ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เพลง ลุงหริ ซึ่งเป็นเพลงที่ 3 ที่อ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ทำหน้าที่ร้องนำในวง ต่อจาก กระถางดอกไม้ให้คุณ และ ปอดแหก

การผลิต[แก้]

วิชาแพะ เป็นอัลบั้มภาคปกติชุดแรกของวงที่ออกภายใต้สังกัด ดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยมีโค้กเป็นผู้สนับสนุน ( ปัจจุบันลิขสิทธิ์เป็นของ วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์) และเป็นชุดที่ใช้ปกมากถึง 3 แบบ โดยครั้งแรกผลิตเป็นแผ่นเสียงพร้อมเทปคาสเซตต์ โดยเวอร์ชันแผ่นเสียงเป็นภาพของสมาชิกทั้ง 3 คน และลงชื่อศิลปินบนปกว่า ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย, นุพงษ์ ประถมปัทมะ โดยที่ไม่มีคำว่าคาราบาว ส่วนเวอร์ชัน เทปคาสเซตต์ เป็นภาพเดียวกับแผ่นเสียงและลงชื่อศิลปินบนปกว่า ยืนยง, ปรีชา, นุพงษ์ และญาติ โดยไม่มีคำว่าคาราบาว อีกเช่นกัน ต่อมาได้มีการผลิตเป็นแผ่นซีดี โดยภาพปกซีดี เป็นภาพของสมาชิกทั้ง 3 แต่เป็นคนละภาพกับปกแผ่นเสียงและเทปคาสเซตต์

ในเทปคาสเซตต์ ที่ผลิตครั้งแรกได้มีการลงสโลแกนโฆษณาของ โค้ก ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักบนปกว่า โกหกนั้นตายตกนรก ดื่มโค้กดีกว่าขึ้นสวรรค์ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสโลแกนที่ไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นการทำร้ายอดีตและอนาคตของสังคมโดยตรง และไม่คำนึงถึงผู้ฟังที่ศรัทธาต่อศิลปิน

ต่อมามีการเปลี่ยนปกเทปคาสเซตต์ใหม่เป็นอีกรูปหนึ่ง จึงได้ตัดสโสแกนนั้นออกและกลับมาใช้ชื่อศิลปินบนปกว่า คาราบาว พร้อมสัญลักษณ์รูปหัวควายของวง เพื่อเป็นการยืนหยัดรับใช้เสียงเพลงต่อไปภายใต้ชื่อวงเดิม[2]

อัลบั้มได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างสูง ภายหลังถูกนำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงจากระบบอนาล็อก เป็นดิจิตอล และจัดจำหน่ายอีกครั้งโดยวอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ ซึ่งเปลี่ยนมาจากต้นสังกัดเดิมในปี พ.ศ. 2543 โดยการนำอัลบั้มชุดนี้กลับมาจัดจำหน่ายของวอร์นเนอร์ มิวสิก ใช้ปกแบบเดียวกับปกเทปคาสเซตต์ เวอร์ชันสุดท้ายของดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ผลิตเป็นรูปเดียวกันทั้งแผ่นซีดีและเทปคาสเซตต์

รายชื่อเพลง[แก้]

ลำดับชื่อเพลงยาว
1."วิชาแพะ"4.06
2."นาย ก."5.08
3."นรกคอรัปชั่น"4.32
4."ดงพญาใจเย็น"2.50
5."หนาวมั๊ยปู่ ?"3.36
6."พ่อหลี"4.17
7."เล็กเคียวร็อกอะโลน"4.18
8."ลุงหริ"3.05
9."บิ๊กสุ"4.23
10."หัวใจรำวง"4.15
ความยาวทั้งหมด:40:30

มิวสิควีดีโอ[แก้]

  1. นรกคอรัปชั่น
  2. หัวใจรำวง
  3. พ่อหลี
  4. นายกอ
  5. บิ๊กสุ

ผู้ร่วมงาน[แก้]

สมาชิกในวง[แก้]

  1. ยืนยง โอภากุล - ร้องนำ, กีต้าร์
  2. ปรีชา ชนะภัย - กีต้าร์ (ร้องเพลง หนาวมั้ยปู่?, พ่อหลี)
  3. อนุพงษ์ ประถมปัทมะ - กีต้าร์เบส (ร้องเพลง ลุงหริ)

นักดนตรีแบ็คอัพ[แก้]

  1. ลือชัย งามสม (ดุก) - คีย์บอร์ด, ทรัมเป็ต
  2. ชูชาติ หนูด้วง (โก้) - กลองชุด
  3. กิตติ กาญจนสถิตย์ - กีตาร์ไฟฟ้า
  4. ธีระวิสาล จุลมกร (น้อย) - แซกโซโฟน, เมาท์ออร์แกน

งานในชุดนี้ ฉันและเพื่อนๆ ทุกคนมีความสนุกและมันส์ในอารมณ์

การจัดจำหน่าย[แก้]

ปี ค่าย รูปแบบ
พ.ศ. 2535 ดี - เดย์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ แผ่นเสียง
เทปคาสเซตต์
แผ่นซีดี
พ.ศ. 2554 วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ แผ่นซีดี (ปกครบรอบ 30 ปี คาราบาว)
พ.ศ. 2556 แผ่นซีดี (Remaster)


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-28. สืบค้นเมื่อ 2009-12-21.
  2. ทิวา สารจูฑะ กล่าวในบทวิจารณ์ นิตยสาร "สีสัน" ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 ธันวาคม 2534 : หน้า 76-77