ข้ามไปเนื้อหา

เกษรวิลเลจ

พิกัด: 13°44′43″N 100°32′27″E / 13.745143°N 100.540763°E / 13.745143; 100.540763
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เกษรพลาซ่า)
เกษรวิลเลจ
เกษรวิลเลจ logo
แผนที่
ที่ตั้ง999 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พิกัด13°44′43″N 100°32′27″E / 13.745143°N 100.540763°E / 13.745143; 100.540763
เปิดให้บริการ16 ตุลาคม พ.ศ. 2537
ชื่อเดิมเกษรพลาซ่า (พ.ศ. 2537) - (พ.ศ. 2560)
ผู้บริหารงานบริษัท เกษรพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
พื้นที่ชั้นขายปลีก41,500 ตารางเมตร (เกษรเซ็นเตอร์)
63,000 ตารางเมตร (เกษรทาวเวอร์)
76,000 ตารางเมตร (เกษรอัมรินทร์)
จำนวนชั้น5 ชั้น (ศูนย์การค้า)
3 ชั้น (อาคารสำนักงาน)
ที่จอดรถ416 คัน
ขนส่งมวลชน สถานีสยามและชิดลม
 เรือโดยสารคลองแสนแสบ  ท่าประตูน้ำ
สถานีประตูน้ำ (โครงการ)
เว็บไซต์www.gaysornvillage.com

เกษรวิลเลจ (อังกฤษ: Gaysorn Village) เป็นโครงการพัฒนาศูนย์การค้าและพื้นที่พาณิชยกรรมซึ่งตั้งอยู่บริเวณย่านราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีชื่อเดิมว่า "เกษรพลาซ่า" เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2537

ในระยะเริ่มแรก เกษรพลาซ่าเป็นศูนย์การค้าที่รวบรวมสินค้าชื่อดังจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในที่เดียวเพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบนโดยเฉพาะ[1] แต่ในภายหลังทางกลุ่มศรีวิกรม์ซึ่งเป็นเจ้าของได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโต จึงทำการปรับรูปแบบโครงการใหม่ทั้งหมด รวมถึงปรับภาพลักษณ์ที่หรูหราให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์วิลเลจสำหรับคนเมือง (lifestyle urban village) โดยปัจจุบันได้สร้างอาคารเพิ่มเติมชื่อว่า "เกษรทาวเวอร์" ที่มีทั้งโซนที่เป็นศูนย์การค้า ศูนย์สุขภาพ และความงาม รวมถึงโซนอาคารสำนักงาน และเชื่อมต่อไปยังอาคารเก่าที่เรียกว่า “เกษรเซ็นเตอร์” อีกทั้งปรับปรุงศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่าฝั่งตรงข้ามเพื่อเชื่อมต่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเกษรวิลเลจ

เกษรวิลเลจยังเป็นที่ประดิษฐานของศาลเทพเจ้าฮินดู 3 แห่ง คือ พระลักษมี, ท้าวจตุโลกบาล ซึ่งประดิษฐานที่ชั้น 4 อาคารเกษรเซ็นเตอร์ และท้าวอัมรินทราธิราช ซึ่งประดิษฐานด้านหน้าอาคารเกษรอัมรินทร์

องค์ประกอบ

[แก้]
เกษรวิลเลจจากฝั่งหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

เกษรวิลเลจในปัจจุบันประกอบด้วย 2 อาคารที่เชื่อมต่อถึงกัน ได้แก่ อาคารเกษรเซ็นเตอร์ (ตึกเกษรพลาซ่าเดิม) และอาคารเกษรทาวเวอร์ มีงบลงทุนในโครงการราว 3,470 ล้านบาท โดยในระยะที่ 1 จะเป็นการก่อสร้างอาคารเกษรทาวเวอร์ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 และระยะที่ 2 จะเป็นการทยอยปรับปรุงเกษรอัมรินทร์ในปี พ.ศ. 2565-2567 เพื่อเชื่อมต่อกันเป็น 3 อาคารในอนาคต

อาคารเกษรเซ็นเตอร์ (เกษรพลาซ่าเดิม)

[แก้]
ภายในเกษรเซ็นเตอร์

อาคารเกษรเซ็นเตอร์ สร้างบนพื้นที่เดิมของตึกบริติชโอเวอร์ซีส์แอร์เวย์สคอร์ปอเรชัน[2][3] มีพื้นที่ 41,500 ตารางเมตร แบ่งเป็นศูนย์การค้า 5 ชั้น และสำนักงานให้เช่าอีก 3 ชั้น อาคารดังกล่าวเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2537 นอกจากนี้บนชั้น 4 ของอาคาร (ชั้นแรกของส่วนสำนักงาน) ยังประดิษฐานศาลพระลักษมีและศาลท้าวจตุโลกบาลอีกด้วย

อาคารเกษรทาวเวอร์

[แก้]

เกษรทาวเวอร์เป็นอาคารสูง 30 ชั้น มีพื้นที่ 63,000 ตารางเมตร โดยโซนด้านล่างของอาคารจะเป็นที่ตั้งของร้านค้าไลฟ์สไตล์ มีทางเชื่อมต่อกับอาคารเกษรเซ็นเตอร์ ซึ่งจุดเชื่อมต่อนี้เรียกว่า “เกษรโคคูน” เนื่องจากมีการออกแบบให้คล้ายกับรังไหม (Cocoon) เพื่อสื่อถึงจุดกำเนิดของสิ่งใหม่ๆ และยังถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเกษรวิลเลจอีกด้วย

อาคารเกษรอัมรินทร์

[แก้]
หลุยส์ วิตตอง สาขาเกษรอัมรินทร์

อาคารเกษรอัมรินทร์ ประกอบด้วยศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ซึ่งเป็นศูนย์การค้า และตึกอัมรินทร์ทาวเวอร์ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานความสูง 23 ชั้น มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 76,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์การค้า 55,000 ตารางเมตร และพื้นที่สำนักงานให้เช่า 21,000 ตารางเมตร โดยเกษรซื้อกิจการนี้จากกลุ่มเอราวัณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550[4] ทั้งนี้ เกษรอมรินทร์ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารและคาเฟ่โดยหลุยส์ วิตตอง แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย[5]

การเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ

[แก้]

เกษรวิลเลจ สามารถเดินเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบย่านราชประสงค์ได้ผ่าน ราชประสงค์วอล์ค หรือ อาร์วอล์ค (R Walk) ซึ่งเป็นทางเดินยกระดับที่เชื่อมต่อตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าชิดลม และสถานีรถไฟฟ้าสยาม มายังตัวโครงการ และเชื่อมต่อเพิ่มเติมไปยังย่านประตูน้ำ โดยใช้ทางเชื่อมที่สร้างขึ้นใหม่ผ่านหน้าโรงแรมอโนมา บิ๊กซี ราชดำริ ศูนย์การค้าเดอะมาร์เก็ตบายแพลตตินั่ม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสิ้นสุดเส้นทางที่ศูนย์การค้าแพลตตินั่ม แฟชั่นมอลล์ ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับท่าเรือคลองแสนแสบ ประตูน้ำ และสถานีประตูน้ำ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ตามแนวถนนราชปรารภและถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในอนาคต

ตลอดเส้นทาง อาร์วอล์ค สามารถเชื่อมต่อกับอาคารโดยรอบได้ถึง 19 อาคาร โดยแยกออกเป็นสี่เส้นทาง ดังนี้

  • อีสต์วอล์ค เป็นเส้นทางจากแยกราชประสงค์ไปยังสถานีชิดลม เชื่อมต่อกับ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพ ราชประสงค์ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ โรงแรมฮอลิเดย์อินน กรุงเทพ
  • นอร์ทวอล์ค เป็นเส้นทางจากแยกราชประสงค์ทะลุผ่านเกษรวิลเลจแล้วออกไปทางด้านหน้าอาคารเกษรทาวเวอร์ เชื่อมต่อกับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์การค้าเดอะมาร์เก็ตบายแพลตตินั่ม และศูนย์การค้าแพลตตินั่ม ในอนาคตเส้นทางนี้ยังสามารถเชื่อมต่อได้กับสถานีประตูน้ำ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม
  • เวสต์วอล์ค เป็นเส้นทางจากแยกราชประสงค์ไปยังสถานีสยาม ส่วนนี้เป็นสกายวอล์คของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เดิม เชื่อมต่อกับ โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอทเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดปทุมวนาราม และสยามพารากอน
  • เซาท์วอล์ค เป็นเส้นทางจากแยกราชประสงค์ทะลุผ่านศูนย์การค้าเอราวัณ และโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เพื่อเดินผ่านทางเท้าไปยังสถานีราชดำริ

การเดินทาง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เกษรพลาซ่า …เล็กแต่หรู". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2006-01-05.
  2. "ตอนที่ 139 "สี่แยก-ไสยศาสตร์ !"". mgronline.com. 2004-07-27.
  3. foxyladydiary (2010-05-30). "สี่แยกราชประสงค์". Foxy Lady Diary.
  4. "เกษรฯทุ่ม300ล้านซื้อ "อัมรินทร์ฯ"". mgronline.com. 2007-03-15.
  5. "'หลุยส์ วิตตอง' เปิดคาเฟ่และร้านอาหารแห่งแรกในไทยและอาเซียน". bangkokbiznews. 2024-02-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]