ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระวันรัต

(แดง สีลวฑฺฒโน)
ส่วนบุคคล
เกิด11 ธันวาคม พ.ศ. 2365 (78 ปี 25 วัน ปี)
มรณภาพ5 มกราคม พ.ศ. 2444
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 8 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่ กรุงเทพมหานคร
พรรษา59
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
เจ้าคณะใหญ่หนใต้

สมเด็จพระวันรัต นามเดิม แดง ฉายา สีลวฑฺฒโน เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และผู้สร้างวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม

ประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่าแดง เกิดเมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2365 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย เป็นบุตรนายโพธิ์และนางมิ (เชื้อสายชาวทวาย) เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้บวชเป็นสามเณรอยู่กับพระธรรมุเทศาจารย์ (ฉิม) ขณะยังเป็นพระอันดับวัดอินทาราม และได้ติดตามท่านไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เมื่อพระธรรมุเทศาจารย์ได้เป็นเปรียญ โปรดให้มาอยู่วัดสุทัศนเทพวราราม สามเณรแดงได้ย้ายตามมาด้วย และได้อุปสมบทในปีขาล พ.ศ. 2385 โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาทางธรรมว่า สีลวฑฺฒโน

ท่านได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในปีใดไม่ปรากฏ ได้เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค ถึงปีระกา พ.ศ. 2392 ขณะอายุได้ 29 ปี เข้าแปลอีกได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค

สมณศักดิ์

[แก้]
  • ปีวอก พ.ศ. 2403 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสมโพธิ
  • ปีวอก พ.ศ. 2415 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพกวี
  • 3 มีนาคม พ.ศ. 2423 ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายใต้ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต ทักษิณทิศคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • 20 มีนาคม พ.ศ. 2434 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒพงษ์ วิสุทธสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[1]

มรณภาพ

[แก้]

สมเด็จพระวันรัต อาพาธด้วยโรคชรา แพทย์หลวงได้ถวายยารักษา อาการดีขึ้นแล้วกลับทรุดลงเป็นลำดับ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มกราคม ร.ศ. 119 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2444) เวลา 5 ทุ่มเศษ สิริอายุได้ 78 ปี 25 วัน เวลาบ่าย 5 โมงเศษวันต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงศพ โกศไม้สิบสอง ตั้งบนชั้นแว่นฟ้าสองชั้น และพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมวันละ 8 รูปจนถึงวันพระราชทานเพลิง[2]

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119 เคลื่อนโกศสมเด็จพระวันรัตไปร่วมกับกระบวนแห่พระศพหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์) ตั้งโกศบนยานมาศสามลำคาน แล้วประกอบโกศมณฑป เคลื่อนศพสมเด็จพระราชาคณะทั้งสองไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าบังสุกุล เวลาบ่าย 5 โมงเศษวันต่อมาจึงพระราชทานเพลิงศพ และเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานเชิญอัฐิขึ้นเสลี่ยงกลับไปยังพระอารามตามเดิม[3]

ศิษย์ที่มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, ตอน 52, 27 มีนาคม ร.ศ. 110, หน้า 465
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพสมเด็จพระวันรัต (แดง), เล่ม 17, ตอน 42, 13 มกราคม ร.ศ. 119, หน้า 606
  3. ราชกิจจานุเบกษา, การศพหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์และสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 17, ตอน 48, 24 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119, หน้า 687-689
บรรณานุกรม
  • ธนิต อยู่โพธิ์ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516. 447 หน้า. หน้า 34-38.
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3