แม่น้ำเหลียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่น้ำเหลียว

辽河 / Liáo Hé / Liao River
แม่น้ำเหลียว
ระบบลำน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำเหลียว
ชื่อท้องถิ่น辽河
ที่ตั้ง
ประเทศจีน
มณฑลเหอเป่ย์, มองโกเลียใน, จี๋หลิน, เหลียวหนิง
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำมาจากหลากหลายแหล่งของแต่ละลำน้ำสาขา
ปากน้ำอ่าวเหลียวตง
 • ตำแหน่ง
เหลียวหนิง
ความยาว1,345 km (836 mi)
พื้นที่ลุ่มน้ำ232,000 km2 (90,000 sq mi)
แม่น้ำเหลียว
ภาษาจีน辽河
ความหมายตามตัวอักษรแม่น้ำเหลียว

แม่น้ำเหลียว (จีนตัวย่อ: 辽河; จีนตัวเต็ม: 遼河; พินอิน: : Liáo Hé; เหลียวเหอ) เป็นแม่น้ำสายหลักทางซีกใต้ของจีนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นหนึ่งในเจ็ดระบบแม่น้ำหลักในประเทศจีน ชื่อนี้มาจากภูมิภาคเหลียว ซึ่งเป็นชื่อทางประวัติศาสตร์ของแมนจูเรียตอนใต้ และเป็นที่มาของชื่ออื่นได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง คาบสมุทรเหลียวตง และราชวงศ์เหลียว[1] แม่น้ำเหลียวยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็น "แม่น้ำแม่" ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน[2] มีความยาว 1,345 กิโลเมตร (836 ไมล์) ระบบแม่น้ำเหลียวระบายผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีพื้นที่กว่า 232,000 ตารางกิโลเมตร (90,000 ตารางไมล์) แต่ปริมาณการไหลของน้ำเฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียงประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (18,000 ลูกบาศ์กฟุต/วินาที) เพียงประมาณหนึ่งในยี่สิบของแม่น้ำจู แม่น้ำเหลียวมีปริมาณตะกอนสูงเกินที่รับได้เนื่องจากหลายส่วนของแม่น้ำไหลผ่านพื้นที่ดินลมหอบ (ดินเลิสส์)

แม่น้ำเหลียวยังเป็นสถานที่สำคัญทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากแบ่งมณฑลเหลียวหนิงสมัยใหม่ออกเป็นสองภูมิภาคกว้าง ๆ คือ เหลียวตง ("แม่น้ำเหลียวฝั่งตะวันออก") และเหลียวซี ("แม่น้ำเหลียวฝั่งตะวันตก")

ระบบ[แก้]

แม่น้ำเหลียวเกิดจากการบรรจบกันของแม่น้ำสาขาสองสาย คือ แม่น้ำซีเหลียวจากทางทิศตะวันตก และแม่น้ำตงเหลียวจากทางทิศตะวันออก แควทางตะวันตก (แควของแม่น้ำซีเหลียว) ทั้งหมดอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในและเกิดจากการบรรจบกันของแม่น้ำซีลามู่หลุน (西拉木伦河 หรือ แม่น้ำซาร์มอรอน) และแม่น้ำเหล่าฮา (老哈河) ทางตอนต้นของแคว และมีแม่น้ำซินไค (新开河) มาผนวกรวมในช่วงตอนปลาย ส่วนแควทางตะวันออก (แควของแม่น้ำตงเหลียว) เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกของมณฑลจี๋หลินและไหลผ่านเป็นโค้งรูปตัว S ก่อนบรรจบกับแม่น้ำซีเหลียวใกล้บริเวณสามเหลี่ยมของมณฑลหลียวหนิง มณฑลจี๋หลิน และเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

ในระบบแม่น้ำนี้ แม่น้ำเหลียวเดิม คือแม่น้ำสายหลัก ที่เริ่มต้นจากจุดรวมสองแควสาขาข้างต้นและไหลจากชายแดนมณฑลเหลียวหนิงทางตอนเหนือ ลงไปทางใต้ผ่านที่ราบจีนตะวันออกเฉียงเหนือ และโค้งหักมุมไปทางทิศตะวันตกในบริเวณใกล้กับตำบลผิงติ่งเป่า อำเภอเถี่ยหลิ่ง เมืองเถี่ยหลิ่ง โดยมีแม่น้ำสาขาขนาดเล็กอื่นอีกหลายสายมาบรรจบตลอดทาง ซึ่งจากการสะสมตัวของตะกอนบริเวณที่ราบน้ำท่วมทำให้แม่น้ำเหลียวในช่วงที่ผ่านเมืองซินหมินของนครเฉิ่นหยางทางตะวันตกนี้[3]คดโค้งเป็นลำน้ำโค้งตวัดเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบตะกอนน้ำพาที่กว้างใหญ่ จึงมักได้รับการเรียกฉายาว่า จฺวี่หลิวเหอ หรือ "แม่น้ำลำธารยักษ์" (巨流河)

จากนั้นแม่น้ำเหลียวไหลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับสถานีอุทกวิทยาลิ่วเจียนฝาง (六间房水文站) ที่อำเภอไท่อานของนครอานชาน ในอดีตปลายแม่น้ำเหลียวนี้แยกเป็นสองสาขา และก่อตัวให้เกิดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเหลียว (辽河三角洲) แควสาขาทางตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเดิมมีขนาดเล็กกว่า ถูกเรียกว่าแม่น้ำซวงไถจื่อ (双台子河) (ชื่อที่ใช้จนถึงปี 2011) แควสาขานี้ได้รับน้ำจากแม่น้ำร่าวหยางที่เขตผานชานของเมืองผานจิ่น ก่อนระบายลงสู่อ่าวเหลียวตงของทะเลป้๋วไห่ทางตะวันตกของเขตต้าวา ของเมืองผานจิ่น ส่วนแควสาขาทางตะวันออกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซึ่งเดิมเป็นปลายน้ำของแม่น้ำเหลียวตอนล่างที่มีขนาดใหญ่กว่า เรียกว่าแม่น้ำไว่เหลียว (外辽河, "แม่น้ำเหลียวนอก") แม่น้ำไว่เหลียวไหลไปทางใต้เพื่อรับแม่น้ำสาขาใหญ่สองสายคือแม่น้ำหุน (渾河) และแม่น้ำไท่จื่อ (太子河) ที่จุดบรรจบกันที่เรียกกันว่า "ซานช่าเหอ" (三岔河; แม่น้ำสามง่าม) ซึ่งต่อมาได้ใช้ชื่อใหม่คือ แม่น้ำต้าเหลียว (大辽河, " แม่น้ำเหลียวใหญ่") และไหลลงสู่อ่าวเหลียวตง ทางตะวันตกของเมืองหยิงโข่ว

อย่างไรก็ตาม สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเหลียวมีสภาพภูมิประเทศที่ราบซึ่งประกอบขึ้นโดยดินตะกอนอ่อน มีลำน้ำโค้งตวัด ซึ่งเกิดจากในอดีตมีการเปลี่ยนเส้นทางการไหลมาแล้วหลายครั้ง ประกอบกับความเสี่ยงที่ระดับน้ำสูงขึ้นโดยพายุเนื่องจากเป็นเขตที่ราบต่ำ (เป็นแอ่ง) ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในการควบคุมอุทกภัย ความเสี่ยงจากน้ำท่วมบริเวณชายฝั่งของระบบแม่น้ำเหลียวนี้กำลังคุกคามเมืองหยิงโข่ว ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับปากแม่น้ำต้าเหลียวและเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 2 ล้านคน ในปี 1958 แม่น้ำไว่เหลียวที่ลิ่วเจียนฝางถูกปิดกั้นจากโครงการวิศวกรรมชลประทาน โดยเปลี่ยนเส้นทางการไหลของน้ำทั้งหมดจากแม่น้ำเหลียวเดิมไปทางแม่น้ำซวงไถจื่อ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "แม่น้ำเหลียว" แทนในปี 2011) โดยแยกแม่น้ำหุนและแม่น้ำไท่จื่อออกจากระบบแม่น้ำเหลียวอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นตั้งแต่ปี 1958 ระบบแม่น้ำต้าเหลียว จึงถือเป็นระบบน้ำที่แยกออกเป็นอิสระจากแม่น้ำเหลียว และแม่น้ำหุนและแม่น้ำไท่จื่อไม่ได้เป็นสาขาของแม่น้ำเหลียวอีกต่อไป นอกจากนี้ เนื่องจากกระแสน้ำต้นน้ำของแม่น้ำไว่เหลียว (แม่น้ำต้าเหลียว) ถูกตัดขาด ทำให้แม่น้ำเหลียวไม่มีลำน้ำแยกเป็นสองสาขาเพื่อกระจายการไหลอีกต่อไปด้วย ดังนั้นในทางเทคนิคแล้วการคงอยู่ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเหลียวจึงสิ้นสุดตั้งแต่ปี 1958 แต่อย่างไรก็ตามชื่อนี้ยังคงใช้เรียกพื้นที่ของเมืองผานจิ่นระหว่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำเหลียว กับฝั่งขวาของแม่น้ำไว่เหลียว (แม่น้ำต้าเหลียว)

ลำน้ำสาขา[แก้]

แควสาขาหลัก[แก้]

  • แม่น้ำซีเหลียว (西辽河) เป็นแควสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำเหลียว มีความยาว 449 กิโลเมตร (279 ไมล์) มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 136,000 ตารางกิโลเมตร (53,000 ตารางไมล์)
  • แม่น้ำตงเหลียว (东辽河) มีความยาว 360 กิโลเมตร (220 ไมล์) มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 11,300 ตารางกิโลเมตร (4,300 ตารางไมล์)

แควสาขาย่อย[แก้]

  • แม่น้ำซูไถ (苏台河)
  • แม่น้ำชิง (清河)
  • แม่น้ำไฉ (柴河)
  • แม่น้ำฟ่าน (泛河)
  • แม่น้ำซิ่วฉุ่ย (秀水河)
  • แม่น้ำหย่างซีมู่ (养息牧河)
  • แม่น้ำลิ่ว (柳河)
  • แม่น้ำร่าวหยาง (绕阳河)

แควสาขาเดิม[แก้]

  • แม่น้ำหุน (浑河, แปลตามตัว แม่น้ำโคลน) มีความยาว 415 กิโลเมตร (258 ไมล์) มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 11,500 ตารางกิโลเมตร (4,400 ตารางไมล์)
  • แม่น้ำไท่จื่อ (太子河) มีความยาว 413 กิโลเมตร (257 ไมล์) มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 13,900 ตารางกิโลเมตร (5,400 ตารางไมล์)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Liao River". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 1 January 2013.
  2. Cao, Jie. "Liao River in Deep Trouble" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 September 2009. สืบค้นเมื่อ 1 January 2013.
  3. "Geography -- china.org.cn". www.china.org.cn.