อำเภอแม่ฟ้าหลวง
อำเภอแม่ฟ้าหลวง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mae Fa Luang |
พระตำหนักดอยตุง | |
คำขวัญ: พระตำหนักดอยตุงล้ำค่า สมเด็จย่าเป็นมิ่งขวัญ เผ่าพันธุ์หลากหลาย มากมายชาดี งามสดสีซากุระบาน | |
แผนที่จังหวัดเชียงราย เน้นอำเภอแม่ฟ้าหลวง | |
พิกัด: 20°16′0″N 99°48′0″E / 20.26667°N 99.80000°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงราย |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 641.4 ตร.กม. (247.6 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 77,655 คน |
• ความหนาแน่น | 121.07 คน/ตร.กม. (313.6 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 57110, 57240 (เฉพาะตำบลเทอดไทยและตำบลแม่ฟ้าหลวง) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5715 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวง ถนนห้วยไคร้-ดอยตุง ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย 57240 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
แม่ฟ้าหลวง (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดเชียงราย
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอแม่ฟ้าหลวงมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่สายและอำเภอแม่จัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองเชียงราย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่อาย (จังหวัดเชียงใหม่) และรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
ประวัติ
[แก้]ท้องที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลแม่ไร่ ตำบลแม่คำ ตำบลป่าซาง ตำบลศรีค้ำ และตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน พัฒนามาจากพื้นที่พระตำหนักดอยตุงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์จึงได้เลือกดอยตุงซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ขณะเดียวกันสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อทอดพระเนตรพื้นที่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้างบ้านที่ดอยตุง พร้อมกันนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะปลูกป่าบนดอยสูง จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้วยังมีการฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้
ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ทางราชการได้แบ่งแยกตำบลเพื่อเตรียมการตั้งกิ่งอำเภอแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ควบคู่กับโครงการพัฒนาดอยตุงที่เป็นโครงการพัฒนาระยะยาว เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพราะท้องที่อยู่ไกลท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากตัวอำเภอ เจ้าหน้าที่มีโอกาสตรวจเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎรน้อยมาก เพราะทางคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งอาจเป็นการเสียหายในด้านการปกครอง ประกอบกับหมู่บ้านดังกล่าวมีโอกาสที่จะเจริญในอนาคต เพราะราษฎรอาศัยอยู่กันหนาแน่นมาก และมีพื้นที่ทำมาหากินได้ โดยเฉพาะมีทรัพยากรทางธรรมชาติ พอที่จะยกระดับการครองชีพของราษฎรบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนี้ให้ดียิ่งขึ้น จึงแนะนำประชุมชี้แจงร่วมกับทางอำเภอแม่จันรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย ขอจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอขึ้น โดยได้มีการแยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลแม่ไร่และตำบลแม่คำ ตั้งขึ้นเป็นตำบลเทอดไทย กับแยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลป่าซางและตำบลศรีค้ำ ตั้งขึ้นเป็นตำบลแม่สลองใน กับได้แยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลป่าซางและตำบลป่าตึง ตั้งขึ้นเป็นตำบลแม่สลองนอก[1]
ในปีถัดมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกท้องที่ตำบลแม่สลองใน ตำบลแม่สลองนอก ตำบลเทอดไทย ของอำเภอแม่จัน มาจัดตั้งขึ้นเป็น กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง[2] โดยได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการตั้งตำบลแม่ฟ้าหลวง โดยแยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลเทอดไทย[3] เนื่องจากหลักเกณฑ์การยกฐานะไปเป็นอำเภอต้องมีตำบลไม่น้อยกว่า 4 ตำบล (ในกรณีที่พื้นที่ห่างไกล) ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539[4] โดยมีผลภายในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539
ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการแยกพื้นที่หมู่ 1 บ้านหินแตก จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่โดยตั้งเป็นหมู่ 27 บ้านหินคำ ตำบลแม่สลองใน[5] ภายในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการแยกพื้นที่หมู่ 10 บ้านห้วยอื้น จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่โดยตั้งเป็นหมู่ 19 บ้านจะป่า ตำบลเทอดไทย[6]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอแม่ฟ้าหลวงแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 4 ตำบล 77 หมู่บ้าน ได้แก่
ที่ | ชื่อตำบล | ตัวเมือง | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนครัวเรือน | ประชากร (ปี 2564)[7] |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | เทอดไทย | Thoet Thai | 19[6] | 6,565 | 23,649 | |
2. | แม่สลองใน | Mae Salong Nai | 27[5] | 8,528 | 25,798 | |
3. | แม่สลองนอก | Mae Salong Nok | 13 | 5,827 | 15,250 | |
4. | แม่ฟ้าหลวง | Mae Fa Luang | 19 | 4,417 | 12,958 |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอแม่ฟ้าหลวงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่
- องค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเทอดไทยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองใน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สลองในทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สลองนอกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ฟ้าหลวงทั้งตำบล
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]- โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ[8]
- พระตำหนักดอยตุง
- สวนแม่ฟ้าหลวง
- หอแห่งแรงบันดาลใจ
- วนอุทยานน้ำตกหัวแม่คำ
- ดอยแม่สลอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอพานและอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (115 ง): (ฉบับพิเศษ) 69-88. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-12-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-09. วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (53 ง): (ฉบับพิเศษ) 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2007-10-12. วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2535
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองเชียงราย และกิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (2 ง): 60–72. วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2539
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเหนือคลอง อำเภอนายายอาม อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอขุนตาล อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ลาว อำเภอรัษฎา อำเภอพุทธมณฑล อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอชำนิ อำเภอโนนดินแดง อำเภอปางมะผ้า อำเภอลำสนธิ อำเภอหนองม่วง อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอบุ่งคล้า อำเภอดอนมดแดง และอำเภอลืออำนาจ พ.ศ. ๒๕๓๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (62 ก): 5–8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2007-10-12. วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
- ↑ 5.0 5.1 "ประกาศจังหวัดเชียงราย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 133 (44 ง): 151–157. วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559
- ↑ 6.0 6.1 "ประกาศจังหวัดเชียงราย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (83 ง): 132–152. วันที 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1] 2565. สืบค้น 24 มกราคม 2565.
- ↑ "โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ – MFLF". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-03-17.