ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอขุนตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอขุนตาล
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Khun Tan
ดอยขุนตาล
ดอยขุนตาล
คำขวัญ: 
พระแสนแซ่คู่บ้าน พระธาตุขุนตาลคู่เมือง
รอยพระบาทลือเลื่อง ขุนตาลเมืองคนดี
แผนที่จังหวัดเชียงราย เน้นอำเภอขุนตาล
แผนที่จังหวัดเชียงราย เน้นอำเภอขุนตาล
พิกัด: 19°50′0″N 100°15′30″E / 19.83333°N 100.25833°E / 19.83333; 100.25833
ประเทศ ไทย
จังหวัดเชียงราย
พื้นที่
 • ทั้งหมด234.0 ตร.กม. (90.3 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด31,042 คน
 • ความหนาแน่น132.66 คน/ตร.กม. (343.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 57340
รหัสภูมิศาสตร์5714
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอขุนตาล เลขที่ 999 หมู่ที่ 14 ถนนเทิง-เชียงของ ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย 57340
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ขุนตาล (ไทยถิ่นเหนือ: [ขุนต๋าล]) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

ประวัติ

[แก้]

อำเภอขุนตาลจัดตั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535[1] โดยแบ่งพื้นที่ปกครองออกจากอำเภอเทิงตั้งเป็น กิ่งอำเภอขุนตาล และได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอขุนตาล เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539[2] มีเนื้อที่ 255.5 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาจากทิศเหนือถึงทิศใต้

ชื่อ "ขุนตาล" ที่นำมาตั้งเป็นชื่อของอำเภอขุนตาลนั้นได้มาจากหลักฐานคำบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยตั้งชื่อตามลำห้วยขุนตาลซึ่งเป็นห้วยขนาดใหญ่ไหลผ่านในเขตตำบลป่าตาล เปรียบเสมือนเป็นเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่บริเวณนี้ แต่จากหลักฐานที่ปรากฏชัดแจ้งในปัจจุบัน คำว่า "ขุนตาล" นั้นน่าจะมาจากชื่อของพระธาตุขุนตาล อันเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของประชาชนในบริเวณนี้ และทุก ๆ ปีในวันมาฆบูชาจะมีการสรงน้ำและจัดกิจกรรมเป็นพุทธบูชาในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ปัจจุบันพระธาตุขุนตาลตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 84 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 [แยกทางหลวงหมายเลข 1 (เชียงราย)-เชียงของ]

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอขุนตาลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงราย ระหว่างละติจูด 19 องศา 45–56 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 100 องศา 20-25 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายประมาณ 62 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1152 [แยกทางหลวงหมายเลข 1020 (หัวดอย)-บรรจบทางหลวงหมายเลข 1020 (ต้าตลาด)] และมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 [แยกทางหลวงหมายเลข 1 (เชียงราย)-เชียงของ] ผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอขุนตาล พื้นที่การปกครองของอำเภอขุนตาลมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้


การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอขุนตาลแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 3 ตำบล 55 หมู่บ้าน ได้แก่

ที่ ชื่อตำบล ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร[3]
1. ต้า [4] Ta 20 4,300 12,964
2. ป่าตาล Pa Tan 14 2,555 7,916
3. ยางฮอม Yang Hom 21 3,662 11,461

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอขุนตาลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลบ้านต้า ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลต้า
  • เทศบาลตำบลป่าตาล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าตาลทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลยางฮอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยางฮอมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลต้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลต้า (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลบ้านต้า)

แหล่งท่องเที่ยว

[แก้]
  • พระธาตุขุนตาล ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอำเภอขุนตาลเป็นสถานที่จัดงานสมโภชน์ประจำปี งานประเพณีต่างๆ เช่นสงกรานต์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 บ้านป่าตาลดอย อำเภอขุนตาล
  • พระธาตุแท่นคำ พระธาตุปูชนียสถานสำคัญ ตั้งอยู่ หมู่16 ตำบลต้า
  • พระธาตุม่อนศิลาอาสน์ สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา หมู่8 ตำบลต้า
  • วนอุทยานน้ำตกศรีชมภู น้ำตกธรรมชาติ มีน้ำตกตลอดปี ระยกทางห่างจากหมู่บ้าน 1.5 กม.ทางดิน มีสถานที่จอดรถ ประเพณีไหว้ผีขุนน้ำช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี ตั้งอยู่ที่บ้านชมภู ตำบลยางฮอม
  • อ่างเก็บน้ำห้วยขุนต้า เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เป็นสถานที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี งานประเพณีไหว้ผีขุนน้ำ ฯลฯ
  • สถานที่ชมวิวและสักการะศาลาครอบพระบาทฯ หรือ วนอุทยานพญาพิภักดิ์ เป็นสถานที่จุดชมวิวธรรมชาติ บนยอดดอย มองเห็นทัศนีภาพของอำเภอขุนตาล อำเภอเทิง ภูชี้ฟ้า ถนนลาดยางห่างจากถนนดำ 6 กม.
  • ภูหลงถัง "ดินแดนสระน้ำมังกร" บน ดอยพญาพิภักดิ์ สระน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1200 เมตร ชนเผ่าม้งในแถบนี้เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของมังกร ภูหลงถังตั้งอยู่ห่างจากถนนเทิง-ขุนตาล-เชียงของ เพียง 6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที ภูหลงถัง เป็นยอดเนินที่สูงสามารถชมทิวทัศน์ได้ถึง 4 อำเภอ คือ อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงแก่น และอำเภอเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถมองเห็นยอดภูชี้ฟ้าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากอยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าประมาณ 18 กิโลเมตร โดยภูหลงถังเป็นจุดเริ่มต้นในการท่องเที่ยว 3 ภู ใน 1 วัน สถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ อดีตเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยวันเสียงปืนแตกนัดแรกของจังหวัดเชียงรายเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ และเป็นเขตปฏิบัติการของกองพลที่ 24 และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมา ณ ภูแห่งนี้ หลังจากนั้นเหตุการณ์สู้รบก็ยุติลง ภูหลงถังมีความงดงามทางด้านภูมิทัศน์ วัฒนธรรม และไม้เมืองหนาว ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน ของทุกปี ส่วนที่มาของชื่อ "ภูหลงถัง" มาจากคำว่าภูหลงถัง เป็นภาษาจีนกลางที่ทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) ที่มาร่วมรบ ณ สมรภูมิแห่งนี้ใช้เรียกขาน แปลว่า "สระน้ำมังกร
  • น้ำตกแดนดง น้ำตกธรรมชาติ สูง 3 ชั้น ระยะทางจากหมู่บ้านถึงน้ำตก เป็นทางดินมีลานจอดรถ ระยะทาง 1.5 กม. ตั้งอยู่ที่ตำบลยางฮอม

โรงเรียนในเขตอำเภอ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย ตั้งกิ่งอำเภอขุนตาล" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2007-10-25.
  2. "พระราชกฤษฎีกาตั้ง ... อำเภอขุนตาล ... พ.ศ. ๒๕๓๙" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  3. จำนวนประชากรและบ้าน จำแนกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล จังหวัดเชียงราย ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
  4. เขียนตามการออกเสียงในปัจุจุบัน โดยที่มาของคำๆนี้มาจากคำว่า ท่า (ท่าน้ำ) ซึ่งเขียนโดยใช่ตัว ท (ต๊ะ) แต่ในปัจจุบันไม่มีการออกเสียงเช่นนั้นแล้ว