อำเภอพนัสนิคม
อำเภอพนัสนิคม | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Phanat Nikhom |
คำขวัญ: พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก | |
แผนที่จังหวัดชลบุรี เน้นอำเภอพนัสนิคม | |
พิกัด: 13°27′6″N 101°10′36″E / 13.45167°N 101.17667°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 450.9 ตร.กม. (174.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 125,851 คน |
• ความหนาแน่น | 279.11 คน/ตร.กม. (722.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 20140, 20240 (เฉพาะหมู่ที่ 4-5, 8-11, 14-15 ตำบลนาเริก และหมู่ที่ 4-6, 10-11 ตำบลนาวังหิน) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 2006 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม ถนนเมืองเก่า ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
พนัสนิคม เป็นอำเภอของจังหวัดชลบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา อดีตมีสถานะเป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองพนัสนิคม สังกัดกรมท่า ต่อมาย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย และมาเป็นอำเภอพนัสนิคมขึ้นกับเมืองชลบุรี มณฑลปราจีน ในปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัด
ชลบุรี
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอพนัสนิคมตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดชลบุรี ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันออกประมาณ 22 กิโลเมตรตามเส้นทางถนนศุขประยูร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแปลงยาวและอำเภอบ้านโพธิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเกาะจันทร์
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบ่อทองและอำเภอบ้านบึง
- ทิศตะวันตก จรดอำเภอพานทอง
ประวัติศาสตร์
[แก้]อนึ่งเมืองพนัสนิคมเดิมเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีอาณาเขตเดิมอยู่ในอำเภออื่น ดังนี้
1.บ้านท่าตะกูด เป็นหมู่บ้านขึ้นกับเมืองพนัสนิคม สังกัดกรมท่า ในปี พ.ศ. 2441 มีการปฏิรูปการปกครองจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ยกฐานะเป็นอำเภอท่าตะกูดและในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพานทอง
2.ตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2481 ได้โอนย้ายมาขึ้นกับอำเภอบ้านบึง ในปี พ.ศ. 2517 จัดตั้งตำบลหนองใหญ่โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู ในปี พ.ศ. 2524 ยกฐานะเป็นอำเภอหนองใหญ่
3.ตำบลบ่อทอง เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2528 ยกฐานะเป็นอำเภอบ่อทอง
4.ตำบลท่าบุญมี เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2550 ยกฐานะเป็นอำเภอเกาะจันทร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงเก่าที่สุดที่พบในพนัสนิคมคือแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี สมัยหินใหม่ 3,500-4,000 ปีมาแล้ว บริเวณบ้านโคกพนมดี ตำบลท่าข้าม โดยนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี มีลูกปัดนับแสนเม็ดฝังรวมอยู่ และแหล่งโบราณคดีหนองโน สมัยสำริด 2,700-3,100 ปีมาแล้ว บริเวณตำบลไร่หลักทอง
สมัยทวารวดี พบเมืองโบราณอายุราว 1,500 ปี บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ ต่อมาเรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดก เป็นที่แพร่หลายในชาวลาว) อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคมนี้ได้ลดความสำคัญลงและในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโตมีความสำคัญแทนที่
สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม
พ.ศ. 2372 ภายหลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม ได้ไปเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวเมืองนครพนม ย้ายมาอยู่ที่เมืองพนัสนิคมอีกจำนวนหนึ่ง
พ.ศ. 2391 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมยกไปทางบกปราบกบฏจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา มีพรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดารฯ เรื่องเจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาปราบจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา
พ.ศ. 2394 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมร่วมเป็นกองกำลังอารักขาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีพรรณนาในพระราชพงศาวดารฯ
พ.ศ. 2437 (ร.ศ.113) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแทนระบบกินเมือง (เจ้าเมืองสืบตระกูล) ทรงให้หัวเมืองทั้งหมดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย เมืองพนัสนิคมจึงโอนย้ายจากกรมท่า มาสังกัดมณฑลปราจีน มีบันทึกว่า “รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม”
พ.ศ. 2441 ประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง ร.ศ.117 เมืองพนัสนิคมเปลี่ยนเป็นอำเภอพนัสนิคม ขึ้นกับเมืองชลบุรี (ในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัดชลบุรี) มณฑลปราจีน โดยเมืองพนัสนิคมมีเจ้าเมืองสืบทอดตำแหน่ง รวม 3 คน คือ 1.พระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร หรือ ท้าวทุม ทุมมานนท์) 2.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์) 3.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์) และมีนายอำเภอพนัสนิคมคนแรกคือ หลวงสัจจพันธ์คีรี ศรีรัตนไพรวัน เจฏิยาสัน คามวาสี นพ-คูหาพนมโขลน (บัว ไม่ทราบนามสกุล)
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอพนัสนิคมแบ่งการปกครองท้องที่เป็น 20 ตำบล 185 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | พนัสนิคม | (Phanat Nikhom) | - | 11. | ท่าข้าม | (Tha Kham) | 7 หมู่บ้าน | ||||||||
2. | หน้าพระธาตุ | (Na Phra That) | 11 หมู่บ้าน | 12. | หนองปรือ | (Nong Prue) | 10 หมู่บ้าน | ||||||||
3. | วัดหลวง | (Wat Luang) | 7 หมู่บ้าน | 13. | หนองขยาด | (Nong Khayat) | 8 หมู่บ้าน | ||||||||
4. | บ้านเซิด | (Ban Soet) | 8 หมู่บ้าน | 14. | ทุ่งขวาง | (Thung Khwang) | 10 หมู่บ้าน | ||||||||
5. | นาเริก | (Na Roek) | 15 หมู่บ้าน | 15. | หนองเหียง | (Nong Hiang) | 16 หมู่บ้าน | ||||||||
6. | หมอนนาง | (Mon Nang) | 12 หมู่บ้าน | 16. | นาวังหิน | (Na Wang Hin) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||
7. | สระสี่เหลี่ยม | (Sa Si Liam) | 11 หมู่บ้าน | 17. | บ้านช้าง | (Ban Chang) | 7 หมู่บ้าน | ||||||||
8. | วัดโบสถ์ | (Wat Bot) | 11 หมู่บ้าน | 18. | โคกเพลาะ | (Khok Phlo) | 8 หมู่บ้าน | ||||||||
9. | กุฎโง้ง | (Kut Ngong) | 6 หมู่บ้าน | 19. | ไร่หลักทอง | (Rai Lak Thong) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||
10. | หัวถนน | (Hua Thanon) | 9 หมู่บ้าน | 20. | นามะตูม | (Na Matum) | 7 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอพนัสนิคมประกอบด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น 20 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองพนัสนิคม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพนัสนิคมทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลหมอนนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหมอนนางทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลกุฎโง้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุฎโง้งทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลหัวถนน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวถนนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระธาตุ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหน้าพระธาตุทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวัดหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดหลวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเซิด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเซิดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาเริก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเริกทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสระสี่เหลี่ยม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระสี่เหลี่ยมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวัดโบสถ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดโบสถ์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองปรือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขยาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองขยาดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขวาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งขวางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเหียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเหียงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาวังหิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาวังหินทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านช้างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพลาะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกเพลาะทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลไร่หลักทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่หลักทองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนามะตูม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนามะตูมทั้งตำบล
พระพุทธรูปประจำเมือง
[แก้]- พระพนัสบดี (ประกอบด้วยสัตว์ 3. ชนิด ครุฑ โค หงส์)
ประเพณีท้องถิ่น
[แก้]- ประเพณีงานบุญกลางบ้าน
- ประเพณีไหว้พระจันทร์
สถานที่สำคัญ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดี
[แก้]- พระพนัสบดี
- พระพุทธมิ่งเมือง
- หลวงพ่อติ้ว (พระติ้ว พนัสนิคม)
- โบราณสถานเมืองพระรถ พนัสนิคม
- ศาลหลักเมืองพนัสนิคม (ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพนัสนิคม)
- โบราณสถานสระน้ำสระสี่เหลี่ยม
- โบราณสถานเนินดินโคกพนมดี
- โบราณสถานวัดโบสถ์
- โบราณสถานหอไตร วัดใต้ต้นลาน
- แหล่งโบราณคดีวัดหัวถนน
- แหล่งโบราณคดีหนองโน
- แหล่งโบราณคดีที่ฝังศพโบราณบ้านเหนือ
- แหล่งโบราณคดีบ้านบนเนิน
- แหล่งโบราณคดีโคกพุทรา
- แหล่งค้างคาวแม่ไก่ วัดหลวงพรหมาวาส
- ถ้ำนางสิบสอง
- ตลาดเครื่องจักสานพนัสนิคม
- อนุสรณ์สถานชาตรี ศรีชล
สถานศึกษา
[แก้]- โรงเรียนพนัสพิทยาคาร
- โรงเรียนอนุบาลพนัสศึกษาลัย
- โรงเรียนวัฒนานุศาสน์
- โรงเรียนเทพศิรินทร์ชลบุรี (อุทกฯ อุปถัมภ์)
- โรงเรียนทุ่งเหียงพิทยาคม
- โรงเรียนหัวถนนวิทยา
- วิทยาลัยการอาชีพพนัสนิคม
- โรงเรียนบุญญวิทยาคาร
- โรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม
นามสกุลพระราชทานที่เกี่ยวข้องกับเมืองพนัสนิคม
[แก้]- ตระกูลทุมมานนท์ เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานที่ ๑๔๐๕ "ทุมมานนท์" (เขียนแบบโรมันว่า Dummananda) อันสืบเชื้อสายมาจากพระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรก พระราชทานแก่หลวงประพิธวยาการ (ภิรมย์ ทุมมานนท์) เลฃานุการกรมไปรษณีย์โทรเลข, นายร้อยโทพินิจ ทุมมานนท์ ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ กรมทหารม้าที่ ๕ (น้องชาย) และนายวัณณี ทุมมานนท์ (บิดา) ปู่นายวัณณีชื่อพระอินทราสา (ทุม)
อนึ่งตระกูลทุมมานนท์ เป็นตระกูลเจ้าเมืองพนัสนิคมและเป็นสายเครือญาติกลุ่มตระกูลเจ้านายเมืองนครพนม ในอดีตเมืองนครพนมเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม โดยท้าวไชย (ศรีวิไชย) อุปราชเมืองนครพนม บิดาของพระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมนั้น สืบเชื้อสายมาจากบิดานามว่าพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองมรุกขนคร (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนครพนม), พี่ชายนามว่าพระบรมราชา (ท้าวพรหมา) เจ้าเมืองนครพนม ซึ่งทายาทได้เป็นเจ้าเมืองมหาไชยกองแก้วและเจ้าเมืองสกลนคร ต้นตระกูล "พรหมสาขา ณ สกลนคร", พี่เขยนามว่าพระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมืองนครพนม กลุ่มตระกูลสาย "ณ นครพนม" และหลานนามว่าพระบรมราชา(มัง) เจ้าเมืองนครพนม
โดยตระกูลทุมมานนท์ เชื้อสายเจ้าเมืองพนัสนิคม มีการสืบตำแหน่งเจ้าเมืองพนัสนิคม 3 ชั่วอายุคน ได้แก่
1.พระอินทอาษา (ท้าวอินทิสาร หรือ ท้าวทุม ทุมมานนท์)
2.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์)
3.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์)
โดยหลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์) เจ้าเมืองพนัสนิคมคนสุดท้าย บุตรชายของหลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์) ได้สละบรรดาศักดิ์ให้อานามว่าหลวงภักดีสงคราม (ท้าวเปลี่ยน ทุมมานนท์)
ดูเพิ่ม
[แก้]- โรงพยาบาลพนัสนิคม กระทรวงสาธารณสุข
- ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 19 อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
- สนามกีฬาและศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพนัสนิคม
- ศาลเจ้าแปะกง
- มูลนิธิสว่างกุศลธรรมสถานเม่งเต็กเซียงตั๊ว(พนัสนิคม) ชลบุรี
- โรงเจเว่งฮกตั๊ว (เป็นโรงเจเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี)
- ศาลเจ้าเล่งฉือปุ้ยเสี่ยว(ศาลเจ้าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางนั่งขัดสมาธิเพชร)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์จังหวัดชลบุรี เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อำเภอพนัสนิคม
- หนังสือพิทยานุสรณ์ พ.ศ. 2499 เก็บถาวร 2011-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอพนัสนิคม เก็บถาวร 2008-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนT
- สถานที่ต่างๆ อำเภอพนัสนิคม เก็บถาวร 2008-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนพนัสพิทยาคาร เก็บถาวร 2009-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระรถเมรี[ลิงก์เสีย]
- สุจิตต์ วงษ์เทศ ลาวพนัสนิคมฯ[ลิงก์เสีย]
- วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่24 ฉบับที่ 45[ลิงก์เสีย]
- การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการชองกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในภาคคะวันออก : พลวัตในบริบทสังคมไทย เก็บถาวร 2019-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พงศาวดารเมืองนครพนมสังเขป ฉบับพระยาจันทร์โงนคำ
- นามสกุลพระราชทาน มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท เก็บถาวร 2020-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน