ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้ายโศวรมันที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1
พระบาทบรมศิวโลก
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระเจ้ายโศวรมันที่ 1
พระมหากษัตริย์พระนคร
ครองราชย์ค.ศ. 889 – 910
พระองค์ก่อนพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1
พระองค์ถัดไปพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1
สวรรคตค.ศ. 910[1]
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม (เป็นพระเชษฐภคินี/ขนิษฐาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4)
พระราชบุตรอีสานวรรมันที่ 2
พระเจ้าหรรษวรรมันที่ 1
พระสมัญญานาม
บรมศิวโลก
ราชวงศ์วรมัน (เกาฑิญยะ-จันทรวงศ์)
พระราชบิดาพระเจ้าอินทรวรรมันที่ 1
พระราชมารดาพระนางอินทรเทวี

พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 หรือเอกสารไทยมักเรียก พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (เขมร: យសោវរ្ម័នទី១ ยโสวรฺมันที ๑, อักษรโรมัน: Yasovarman I; สวรรคต ค.ศ. 910[1]) หรือพระนามหลังสวรรคตว่า บรมศิวโลก (เขมร: បរមឝិវលោក) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 889 – 910

พระนาม

[แก้]

พระนาม "ยโศวรรมัน" แปลว่า ผู้มียศเป็นเกราะ มาจากคำสันสกฤต ยศ แปลว่า ยศ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ

พระองค์ทรงได้รับสมัญญาว่า "เสด็จขี้เรื้อน" (ស្តេចគម្លង់ สฺเตจคมฺลง̍; Leper King)[2] เพราะเชื่อกันว่า ประชวรด้วยโรคนี้[1]

พระองค์ทรงได้รับพระนามหลังสวรรคตว่า "บรมศิวโลก" (បរមឝិវលោក) เพราะทรงนับถือพระศิวะ[1]

ต้นพระชนม์

[แก้]

พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 เป็นพระโอรสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร กับพระนางอินทรเทวี พระองค์เป็นศิษย์ของพราหมณ์วามศิวา (Vamasiva) นักบวชลัทธิเทวราชา ซึ่งเป็นศิษย์ของศิวโสมา (Sivasoma) ผู้มีความสัมพันธ์กับอาทิ ศังกระ (आदि शङ्करः Ādi Śaṅkaraḥ) ปรัชญาเมธีฮินดู[3]: 111 

การเถลิงราชสมบัติ

[แก้]

เมื่อพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 พระราชบิดาสวรรคตลง พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 กับพระเชษฐาหรือพระอนุชา ทรงแย่งชิงพระราชบัลลังก์ สงครามยุติด้วยชัยชนะของพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 แต่เพราะพระบิดาเคยรับสั่งห้ามพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 สืบราชสมบัติ ตามที่ปรากฏในจารึกหลายหลัก พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 จึงทรงเลี่ยงการอ้างสิทธิทางพระบิดาซึ่งเป็นเชื้อสายพระเจ้าชัยวรมันที่ 2ผู้สถาปนาพระนคร ไปอ้างสิทธิทางพระมารดาซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนันและอาณาจักรเจนละแทน[4]

รัชกาล

[แก้]

เมื่อเสวยราชย์แล้ว ยโศวรรมันที่ 1 ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรจามปา ตามความในจารึกที่บันทายฉมาร์ (បន្ទាយឆ្មារ บนฺทายฉฺมาร)[5]: 54 

ช่วงปีแรก ๆ แห่งรัชกาล พระองค์ทรงสร้างอาศรมราว 100 แห่งทั่วแว่นแคว้น เพื่อเป็นที่พักกลางทางสำหรับนักบวชและราชวงศ์[3]: 111–112  ครั้น ค.ศ. 893 พระองค์ทรงเริ่มให้สร้างฝายเรียก "อินทรตฎาก" (ឥន្ទ្រតដាក อินฺทฺรตฎาก) ตามพระดำริของพระบิดา ที่กลางฝาย (ซึ่งปัจจุบันแห้งเหือดสิ้นแล้ว) ทรงให้สร้างวัดชื่อ ปราสาทลอเลย (ប្រាសាទលលៃ)[6]

ต่อมา พระองค์ทรงให้ย้ายพระนครจากหริหราลัย (ហរិហរាល័យ) ไปยังยโศธรปุระ (យសោធរបុរៈ ยโสธรบุระ̤) ที่ซึ่งภายหลังมีโบราณสถานสำคัญจัดตั้งขึ้นมากมาย เช่น นครวัด นักประวัติศาสตร์คาดว่า เหตุที่ทรงให้ย้ายพระนครนั้น เป็นเพราะพระนครเดิมแออัดไปด้วยศาสนสถานที่กษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ทรงสร้างไว้ ด้วยตามประเพณีแล้ว แต่ละพระองค์ทรงจำต้องมีที่ประทับหลังสิ้นพระชนม์เป็นของพระองค์เอง อีกสาเหตุอาจเป็นเพราะพระนครแห่งใหม่อยู่ใกล้แม่น้ำเสียมราฐ ทั้งอยู่กลางทางไปพนมกุเลน (ភ្នំគូលេន ภฺนํคูเลน; "ภูเขาลิ้นจี่") และทะเลสาบเขมร จะได้มีแหล่งน้ำถึงสองแห่ง[3]: 103 

ยโศธรปุระมีศูนย์กลางอยู่ที่พนมบาแคง (ភ្នំបាខែង ภฺนํบาแขง) และมีเส้นทางเชื่อมไปยังพระนครเดิม เมื่อทรงตั้งพระนครใหม่แล้ว ทรงให้ขุดฝายขนาดใหญ่ชื่อ "ยโศธรตฎาก" (យឝោធរតដាក) หรือชื่อปัจจุบัน คือ "บารายตะวันออก" (បារាយណ៍ខាងកើត บารายณ์ขางเกีต)[7]: 64–65 

เพราะฉะนั้น ปราสาทลอเลย พนมบาแคง และบารายตะวันออก จึงเป็นอนุสรณ์แห่งกษัตริย์พระองค์นี้[8][9]: 360–362 

ในรัชสมัยยโศวรรมันที่ 1 ยังมีการสร้างปราสาทที่สำคัญอีกสองแห่งที่ยโศธรปุระ คือ พนมโกรม (ភ្នំក្រោម ภฺนํโกฺรม) กับพนมบูก (ភ្នំបូក ภฺนํบูก)[3]: 113 

การสวรรคต

[แก้]

ยโศวรรมันที่ 1 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 910[1]

พงศาวลี

[แก้]

พระชายาพระองค์หนึ่งของยโศวรรมันที่ 1 เป็นพระพี่นางหรือพระน้องนางของชัยวรรมันที่ 4 พระมหากษัตริย์เขมร พระชายาพระองค์นี้มีพระโอรสสองพระองค์กับยโศวรรมันที่ 1 คือ อีสานวรรมันที่ 2 และหรรษวรรมันที่ 1[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 The Rough Guide to Cambodia by Beverley Palmer and Rough Guides.
  2. Vietnam, Cambodia, Laos & the Greater Mekong by Nick Ray, Tim Bewer, Andrew Burke, Thomas Huhti, Siradeth Seng. Page 212. Footscray; Oakland; London: Lonely Planet Publications, 2007.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  4. Briggs, The Ancient Khmer Empire; page 105.
  5. Maspero, G., 2002, The Champa Kingdom, Bangkok: White Lotus Co., Ltd., ISBN 9789747534993
  6. Jessup, p.77; Freeman and Jacques, pp.202 ff.
  7. Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
  8. Goloubev, Victor. Nouvelles récherches autour de Phnom Bakhen. Bulletin de l'EFEO (Paris), 34 (1934): 576-600.
  9. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
  10. Briggs, Lawrence Palmer. The Ancient Khmer Empire. Transactions of the American Philosophical Society. 1951.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Coedes, George. The Indianized States of Southeast Asia. East-West Center Press 1968.
  • Higham, Charles. The Civilization of Angkor. University of California Press 2001.
  • Briggs, Lawrence Palmer. The Ancient Khmer Empire. Transactions of the American Philosophical Society 1951.
ก่อนหน้า พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ถัดไป
พระเจ้าอินทรวรรมันที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร
(ค.ศ. 889–910)
พระเจ้าหรรษวรรมันที่ 1