ข้ามไปเนื้อหา

เอเชียนเกมส์ 1998

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13
เมืองเจ้าภาพกรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
คำขวัญมิตรภาพไร้พรมแดน
(Friendship Beyond Frontiers)
ประเทศเข้าร่วม41 ประเทศ
นักกีฬาเข้าร่วม6,554 คน
กีฬา36 ชนิดกีฬา
ชนิด377 ประเภท
พิธีเปิด6 ธันวาคม 2541 (2541-12-06)
พิธีปิด20 ธันวาคม 2541 (2541-12-20)
ประธานพิธีเปิดพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
พระมหากษัตริย์ไทย
ประธานพิธีปิดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์
สยามมกุฎราชกุมาร
นักกีฬาปฏิญาณปรีดา จุลละมณฑล
ผู้ตัดสินปฏิญาณทรงศักดิ์ เจริญพงษ์
ผู้จุดคบเพลิงสมรักษ์ คำสิงห์
สนามกีฬาหลักสนามราชมังคลากีฬาสถาน
เว็บไซต์ทางการasiangames.th

เอเชียนเกมส์ 1998 เป็นการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นที่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม ถึง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2541 มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 41 ประเทศ และมีกีฬาแข่งขันทั้งหมด 36 ชนิด โดยสนามแข่งขันที่ใช้เป็นหลัก คือ ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต, ศูนย์กีฬาหัวหมาก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย และศูนย์กีฬาเมืองทองธานี รวมถึงสนามกีฬาอื่น ๆ คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

แมสคอตของการแข่งขันครั้งนี้ คือ ช้าง ไชโย และมีคำขวัญว่า Friendship beyond Frontiers หรือ มิตรภาพไร้พรมแดน[1][2]

การคัดเลือกเจ้าภาพ

[แก้]

คณะกรรมการบริหารสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ได้ประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ โรงแรมปักกิ่ง พาเลซทาวเวอร์ และมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้บรรจุวาระการประชุมเลือกประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 ในการประชุมใหญ่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียในวันรุ่งขึ้น โดยมีประเทศที่เสนอขอสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้รวม 3 ประเทศ คือ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย, กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, กรุงไทเป ไต้หวัน

การประชุมใหญ่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ที่ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 37 ประเทศ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ โรงแรมปักกิ่ง โดยให้ผู้แทนของประเทศที่เสนอขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบรรยายเสนอผลงานการเตรียมตัวรับเป็นเจ้าภาพ (Presentation) ตามลำดับพร้อมทั้งตอบข้อซักถามของผู้แทนประเทศสมาชิกต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้มีการลงคะแนนลับเพื่อเลือกประเทศเจ้าภาพต่อไป

เมืองที่ผ่านการคัดเลือก

[แก้]

ผลการลงคะแนนเลือกประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปรากฏดังนี้ [3]

การลงคะแนนเลือกเมืองเจ้าภาพ เอเชียนเกมส์ 1998
เมือง ประเทศ คะแนน
กรุงเทพมหานคร  ไทย 20
ไทเป  จีนไทเป 10
จาการ์ตา  อินโดนีเซีย 7

ที่ประชุมจึงมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 ต่อจากเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ได้จัดกีฬาเอเชียนเกมส์มากที่สุดถึง 4 ครั้ง คือ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ,เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 6 ,เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 8 และเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13

การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

[แก้]
เมือง ประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ ผลการแข่งขัน
กรุงเทพมหานคร  ไทย คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย (COC) ชนะเลิศ

คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 23 และ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 มีมติอนุมัติในหลักการให้กำหนดเป็นนโยบายบันได 3 ขั้น สู่การพัฒนากีฬาของชาติ โดยให้ประเทศไทยรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา 3 ระดับ ได้แก่ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทย เสนอตัวรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 ต่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ)

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในการที่ประเทศไทยขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 แล้ว คณะทำงานทุกท่านช่วยกันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมวางแผนมาเป็นระยะ ๆ และได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ เพื่อนำไปมอบให้ผู้แทนชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมและที่สำคัญคณะทำงานได้จัดทำวีดิทัศน์ที่แสดงถึงความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อประกอบการบรรยายเสนอขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13

การเตรียมความพร้อมและพัฒนาการ

[แก้]

ปี 2537 สุขวิช รังสิตพลในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้จัดทำสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในที่ขององค์การรถไฟฟ้ามหานครเพื่อจะได้ย้ายชุมชนคลองเตยมาอยู่ฟรี หลังการจัดการแข่งขันแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเเละพลตรีจำลอง ศรีเมือง รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแทน[4]

ปี2539-2540 สุขวิช รังสิตพล ผู้คิดคำขวัญ มิตรภาพไร้พรมแดน (Friendship Beyond Frontier) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ปรับปรุง ราชมังคลากีฬาสถาน และ มอบงบประมาณส่วนที่เหลือจากสัมปทานให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการสปอร์ตคอมเพล็กซ์[5]

รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอำนวยการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 อย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมการรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยมี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกับได้แต่งตั้งคณะกรรมการออกเป็น 6 สาขา เพื่อดำเนินงานเร่งด่วนในการก่อสร้างสนามรวมทั้งหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน ได้แก่

  • คณะกรรมการดำเนินงานแข่งขัน
  • สำนักเลขาธิการ
  • คณะกรรมการจัดเตรียมสถานที่แข่งขัน
  • คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ
  • คณะกรรมการสิทธิประโยชน์
  • คณะกรรมการประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ขึ้นใหม่ เพื่อให้ดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมี นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันฯ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ เป็น 9 ฝ่าย ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการ ได้แก่

  • ฝ่ายเทคนิคกีฬา
  • ฝ่ายสถานที่แข่งขันและที่พัก
  • ฝ่ายอำนวยการ
  • ฝ่ายการเงินและสิทธิประโยชน์
  • ฝ่ายพิธีการและการแสดง
  • ฝ่ายความปลอดภัยและระบบจราจร
  • ฝ่ายประชาสัมพันธ์
  • ฝ่ายเทคโนโลยี
  • ฝ่ายกิจกรรม

สนามแข่งขัน

[แก้]
จังหวัด สนามแข่งขัน[6][7] กีฬาที่แข่ง
สนามกีฬาหลัก
กรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก
ราชมังคลากีฬาสถาน พิธีเปิดและพิธีปิด, ฟุตบอล
อินดอร์ สเตเดียม เซปักตะกร้อ
อาคารเวลโลโดรม จักรยานประเภทลู่
สนามยิงปืน ยิงปืน
ลานยิงเป้าบิน ยิงเป้าบิน
นนทบุรี เมืองทองธานี
อิมแพ็ค อารีน่า มวยสากล
อิมแพ็ค ฮอลล์ 1-5 บิลเลียดและสนุกเกอร์, ยิมนาสติก, วอลเลย์บอล
ธันเดอร์โดม ยกน้ำหนัก
ธันเดอร์โดมสเตเดียม รักบี้
คอร์ตเทนนิส เทนนิส
ปทุมธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
สนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต กรีฑา, ฟุตบอล
ยิมเนเซียม 1 บาสเกตบอล, ยูโด, มวยปล้ำ
ยิมเนเซียม 2 แบดมินตัน
ยิมเนเซียม 3 แฮนด์บอล
ยิมเนเซียม 4 ฟันดาบ
ยิมเนเซียม 5 เทเบิลเทนนิส
ยิมเนเซียม 6 วูซู
ยิมเนเซียม 7 คาราเต้, เทควันโด
คอร์ตเทนนิส ซอฟท์เทนนิส
ลาน 1 ยิงธนู
ลาน 2 ซอฟต์บอล
ศูนย์กีฬาทางน้ำ กีฬาทางน้ำ
สนามกีฬาอื่น
กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ฮอกกี้
พี.เอส.โบว์ลิ่ง บางกะปิ เดอะมอลล์ บางกะปิ โบว์ลิ่ง
สนามศุภชลาศัย ฟุตบอล
สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ฟุตบอล
สนามกีฬาธูปะเตมีย์ ฟุตบอล
สนามกีฬากองทัพบก รักบี้
ปทุมธานี สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา เบสบอล, ฮอกกี้
อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ กอล์ฟ
นครนายก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ แฮนด์บอล, ซอฟต์บอล, กาบัดดี้
สระบุรี ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร ขี่ม้า
สุพรรณบุรี สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ฟุตบอล
โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี บาสเกตบอล
นครสวรรค์ สนามกีฬากลางจังหวัดนครสวรรค์ ฟุตบอล
เชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ฟุตบอล
นครราชสีมา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จักรยานเสือภูเขา
ถนนพหลโยธิน จักรยานถนน
ศรีสะเกษ สนามศรีนครลำดวน ฟุตบอล
ชลบุรี โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน สควอช
อ่าวดงตาล เรือใบ
หาดจอมเทียน วอลเลย์บอลชายหาด
อ่างเก็บน้ำมาบประชัน เรือแคนู, เรือพาย
สงขลา สนามกีฬาติณสูลานนท์ ฟุตบอล
โรงยิมเนเซียมสุวรรณวงศ์ เซปักตะกร้อ
ตรัง สนามกีฬากลางจังหวัดตรัง ฟุตบอล
โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬากลางจังหวัดตรัง เซปักตะกร้อ
สุราษฎร์ธานี สนามกีฬากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ฟุตบอล

สถานที่ที่ไม่ใช่การแข่งขัน

[แก้]
จังหวัด สถานที่ รายการ
นนทบุรี เมืองทองธานี ศูนย์สื่อมวลชน (MPC)
ปทุมธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ศูนย์กระจายเสียงแพร่ภาพนานาชาติ (IBC)
หมู่บ้านนักกีฬา

การแข่งขัน

[แก้]

การจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 คณะกรรมการได้กำหนดกรอบแนวคิดในการดำเนินการจัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน โดยต้องแสดงออกถึงการถ่ายทอดปรัชญา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเป็นไทย การดำเนินวิถีชีวิตของชนชาติไทย วิวัฒนาการสู่อนาคตของคนไทย โดยบ่งบอกถึงการแสดงออกซึ่งความเป็นชาวเอเชีย ความเป็นสากลทางการกีฬา โดยให้สอดคล้องกับคำขวัญของการแข่งขันครั้งนี้ คือ "มิตรภาพไร้พรมแดน Friendship Beyond Frontiers" อีกทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ภายในเวลาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้คัดเลือก บริษัท เจ เอส แอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน โดยพิจารณาจากการนำเสนอความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ ความเป็นสากลในรูปแบบการแสดง การใช้เทคนิคพิเศษ แสง สี เสียง ศักยภาพของบริษัท ตลอดจนแม่บทในการดำเนินงาน

จุดประสงค์และประเด็นหลักของการจัดพิธีเปิด-ปิดครั้งนี้ คือ แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของเอเชีย ถ่ายทอดความเป็นไทย ความเป็นสากลทางการกีฬา ศักยภาพและมาตรฐานในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติของประเทศไทย โดยจัดให้มีความยิ่งใหญ่ตระการตา โดยเน้นความประหยัด และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้สอดคล้องต่อปีแห่งการท่องเที่ยว Amazing Thailand

ต่อมา คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้มีมติให้ บริษัท เจ เอส แอล จำกัด ปรับลดเวลาในการจัดแสดงพิธีเปิดและพิธีปิดให้กระชับลงกว่าเดิม พิธีเปิดจากเดิมใช้เวลา 3 ชั่วโมงให้คงเหลือ 2 ชั่วโมงครึ่ง และพิธีปิดจากเดิมใช้เวลา 3 ชัวโมงครึ่ง ให้คงเหลือ 2 ชั่วโมง เพื่อให้มีช่วงเวลาเหมาะสมเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรการแสดง ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน

ในครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพได้ประมวลภาพหมู่ประเทศสมาชิกมาเป็นสัญลักษณ์ อันจะเสนอให้โลกรับรู้ได้ถึง "SPIRIT OF ASIA" หรือ "จิตวิญญาณแห่งบูรพา" โดยทำให้ภาพกระจ่างชัด ด้วยการแบ่งออกเป็น 4 ช่วง และมีความหมายโดยนัยอีกหนึ่งระดับ คือ

พิธีเปิด

[แก้]

พิธีเปิดราชมังคลากีฬาสถานและพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จด้วย การจุดไฟในกระถางคบเพลิงเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2541 นักวิ่งคบเพลิงมอบให้ สมรักษ์ คำสิงห์นำไปจุดไฟที่บุษบก ก่อนที่ไฟในบุษบกจะพุ่งไฟไฟใส่กระถางคบเพลิง ระหว่างนั้นชาวพนักงานรัวเปิงและประโครมสังข์คั่นไปด้วย

ด้วยความคิดรวบยอดและสัญลักษณ์สำคัญดังกล่าว จึงจัดการแสดงพิธีเปิดและพิธีปิดร่วมกันด้วยเรื่องราวของจิตวิญญาณแห่งบูรพาอันเป็นเอกภาพ โดยแบ่งการแสดงพิธี้ปิดออกเป็น 2 องก์ และการแสดงพิธีปิดอีก 2 องก์ ในระหว่างแต่ละองก์นั้น จะประกอบด้วยหัวใจของงาน คือ พิธีการ OCA ซึ่งถือเอาพิธีการจุดและดับคบเพลิงเป็นจุดเด่น สำหรับพิธีเปิดนั้น แม้พิธีการ OCA และการจุดคบเพลิงจะเป็นทางการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว บรรยากาศของการแสดงทุกชุดก็จะจัดออกมาเสริมสร้างให้เกิดความสง่างามยิ่งขึ้น เป็นความตระการตาที่สมบูรณ์ด้วยเนื้อหา ที่ต้องจารึกอยู่ในความทรงจำอันประกอบด้วย 2 องก์ คือ

องก์ที่ 1 สวัสดีบูรพา เป็นการแสดงภาคกลางวัน มีการแสดง 3 ชุด คือ รุ่งอรุโณทัย สหพันธไมตรี สวัสดีไชโย เมื่อเข้าสู่พิธีการ OCA จนกระทั่งเสร็จสิ้น

องก์ที่ 2 คีตบูรพา เป็นการแสดงภาคกลางคืน มีการแสดง 3 ชุด คือ ทวยเทพปิติอำนวยชัย จิตวิญญาณบูรพา คีตภารดร

เริ่มด้วยด้วยการโหมโรง ชุด THE COLLECTION OF HIS MAJESTY KING BHUMIBOL ADULYADEJ การแสดงชุดแรกขององก์ที่ 1 รุ่งอรุโณทัย ด้วยเหตุที่ภุมิภาคตะวันออกเป็นหมู่มวลประชาชาติที่เห็นดวงตะวันก่อน จึงเริ่มด้วยภาพพระอาทิตย์ฉายแสง เมื่อพระอาทิตย์ฉายแสง ย่อมก่อให้เกิด ชีวิตบุปผชาติ เบ่งบายสะพรั่งหลายสีหลากพันธุ์ทั่วพื้นภูมิภาค จากนั้นจึงกำเนิดอารยธรรมอันรุ่งเรือง ผิดแผกแตกต่างกันไปผูกเป็นสายสัมพันธ์อันปีติปราดมทย์ในการแสดงชุด สหพันธไมตรี ด้วยการแสดงชุด สวัสดีไชโย เปฌนการต้อนรับเข้าสู่พิธีการ OCA และการจุดคบเพลิง จากนั้นจึงเริ่มภาคกลางคืนด้วยการแสดงขององก์ที่ 2 คือ ทวยเทพปีติอำนวยชัย เป็นยามราตรีอันบรรเจิดพิสดาร เมื่อเหล่าทวยเทพทั้งหลายทุกถ้วนเทวฤทธิ์ร่วมฉลองชัย ทำให้มนุษย์โลกหรรษาต่างยินดีปรีดาด้วยศรัทธาในการอยู่ร่วมกันโดยไมตรีจิตมิตรภาพในการแสดงชุด จิตวิญญาณแห่งบูรพา ทั้งนี้ด้วยการร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร ต่อด้วยความมุ่งหวังในสายสัมพันธ์อันสันติสุขที่มีกีฬาเป็นสื่อนั้น โดยการแสดงชุด คีตภารดร

ชุดการแสดงในพิธีเปิด เวลา
รุ่งอรุโณทัย 7 นาที
สหพันธ์ไมตรี 8 นาที
สวัสดีไชโย 9 นาที
เฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ตราธิราชเจ้า 5 นาที
พิธีการ OCA 1 ชั่วโมง 20 นาที
ทวยเทพปิติอำนวยชัย 13 นาที
จิตวิญญาณบูรพา 11 นาที
คีตภราดร 12 นาที
พลุและดอกไม้ไฟ 5 นาที
รวมเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง 30 นาที

พิธีปิด

[แก้]

พิธีปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร(พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เป็นองค์ประธานในพิธี ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล(พระยศในขณะนั้น) โดยเสด็จด้วย[8]

ชนิดกีฬา

[แก้]
กีฬาที่แข่งขันในเอเชียนเกมส์ 1998
กีฬาสาธิต

ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน

[แก้]
คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติที่เข้าแข่งขัน

สรุปเหรียญการแข่งขัน

[แก้]

ด้านล่างนี้เป็นตารางการจัดอันดับของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ โดยแสดงรายชื่อประเทศที่ได้รับเหรียญทองมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  *  เจ้าภาพ (ไทย)

ลำดับที่ประเทศทองเงินทองแดงรวม
1 จีน (CHN)1297867274
2 เกาหลีใต้ (KOR)654653164
3 ญี่ปุ่น (JPN)526168181
4 ไทย (THA)*24264090
5 คาซัคสถาน (KAZ)24243078
6 จีนไทเป (TPE)19174177
7 อิหร่าน (IRI)10111334
8 เกาหลีเหนือ (PRK)7141233
9 อินเดีย (IND)7111735
10 อุซเบกิสถาน (UZB)6221240
11–33Remaining3570114219
รวม (33 ประเทศ)3783804671225

การตลาด

[แก้]

สัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน

[แก้]
สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ

สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ได้มาจากการประกวดที่จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการอำนวยการแข่งขันฯ ซึ่งมีภาพส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศทั้งหมด 181 ภาพ ภาพที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลงานของ นางสาวตรึงใจ ตั้งสกุล นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยนำเอาตัวอักษร "A" ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึงทวีปเอเชียมาประยุกต์เป็นรูปองค์พระมหาเจย์ดีสีทองที่ใช้เก็บพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งสำคัญสูงสุดของศาสนาพุทธ ซึ่งอักษรตัว "A" อยู่ภายใต้หลังคาทรงไทย มีความบ่งบอกถึงชาวเอเชีย (Asia) และนักกีฬา (Athlete) ที่มาร่วมการแข่งขันทุกชาติ จะได้รับความอบอุ่นด้วยมิตรไมตรีของประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้าน สำหรับรูปดวงอาทิตย์สีแดงเปล่งรัศมีเป็นเปลว 16 แฉก ที่อยู่เหนือสัญลักษณ์ฯ นั้น คือ สัญลักษณ์ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ที่หมายถึง ความรอบรู้ พลังของนักกีฬาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

สัญลักษณ์ Bangkok 1998

สัญลักษณ์ Bangkok 1998 เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักทางกราฟิกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดเอกลักษณ์ของการแข่งขันที่สาขาศิลปกรรมและการออกแบบเพิ่มเติมขึ้นมาในระบบ เพื่อช่วยให้การสร้างภาพลักษณ์ของการแข่งขัน มีความเด่นชัด เป็นสากล มีความยืดหยุ่นในการใช้งานและเพิ่มสุนทรียภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยในด้านของการประชาสัมพันธ์ชื่อของเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันให้เป็นที่ปรากฏ

สัญลักษณ์นี้มีการนำไปใช้ในลักษณะต่าง ๆ ค่อนข้างมาก เช่น การตกแต่งศูนย์กีฬาและสนามแข่งขัน การจัดทำวัสดุสิ่งพิมพ์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เอกสารที่ใช้ในการแข่งขัน เป็นต้น

สัญลักษณ์กีฬา

สัญลักษณ์กีฬา เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักทางกราฟิกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการกำหนดเอกลักษณ์ของการแข่งขันที่สาขาศิลปกรรมและการออกแบบเพิ่มเติมขึ้นมาในระบบ เพื่อช่วยให้การสร้างภาพลักษณ์ของการแข่งขันมีความเด่นชัด เป็นสากล มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน และเพิ่มสุนทรียภาพแก่การแข่งขัน สัญลักษณ์ที่ออกแบบในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 42 ชนิดกีฬา โดยแบ่งเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มชนิดกีฬาหลักจำนวน 36 ชนิด
  • กลุ่มประเภทกีฬาในกลุ่มชนิดกีฬาหลักจำนวน 4 ประเภทกีฬา
  • กลุ่มชนิดกีฬาสาธิตจำนวน 2 ชนิดกีฬา
ลายจักสาน

ลายจักสาน เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยกำหนดให้ใช้ประกอบในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาการแข่งขัน โดยสื่อความหมายถึงความเป็นเอกภาพในดินแดนเอเชียและสะท้อนคุณค่าถึงมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นประเทศใดเพราะลายจักสานเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของประเทศส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ ลายจักสานยังถือเป็นสัญลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ของชนชาติตะวันออกที่สืบสานกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับแต่อดีตกาล ลวดลายของเส้นสายที่สอดประสานกันนั้น เป็นวิถีที่คุ้นเคยและอบอุ่นของชาวเอเชีย สื่อความหมายถึงคำกล่าวต้อนรับชนทุกชาติ และพลังแห่งเอเชียในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งยังมีนัยสำคัญ คือ เป็นการสอดประสาน ถักทอหรือรวมเข้าด้วยกัน สื่อความหมายถึงความร่วมมือกัน ความสมัครสมาน ความสามัคคี

คำขวัญ

[แก้]

"มิตรภาพไร้พรมแดน" หรือ "Friendship Beyond Frontiers" คำขวัญประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เป็นวลีที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ที่สนับสนุนและส่งเสริม "ปรัชญาของการแข่งขันกีฬา" อย่างชัดเจนที่สุด หัวใจของปรัชญากีฬา คือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้รักสามัคคี มีน้ำใจ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาพรวมของมิตรภาพ ซึ่งจเไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ต่างกัน ฯลฯ เมื่อทุกคนเข้าสู่เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ทุกคนจะถูกหล่อหลอมให้เข้าสู่แนวร่วมเดียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในที่สุด โดยคำขวัญนี้เป็นแนวความคิดของ สุขวิช รังสิตพล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13

มาสคอต

[แก้]

หลังจากประเทศสมาชิกสภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย 43 ชาติ มีมติให้เกียรติประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ จึงมีมติเห็นชอบให้ใช้ช้าง เป็นมาสคอต หรือ สัตว์นำโชคของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เนื่องจากช้างเป็นสัญลักษณ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่แข็งแรง มีความเฉลียวฉลาด

สำหรับผู้ออกแบบนั้น สำนักเลขาธิการได้มอบหมายให้นายอรรณพ กิตติชัยวรรณ หรือ แอ้ด มติชน นักวาดการ์ตูนชื่อดังของหนังสือพิมพ์มติชน เป็นผู้วาดภาพช้าง และเพื่อให้เกิดภาพสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดให้มีการประกวดตั้งชื่อช้างนำโชคดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้สนใจจากทั่วประเทศ 538 คน ตั้งชื่ส่งเข้าประกวด และมีการตัดสินในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยมี นายปัจจัย บุนนาค เป็นประธานผู้ตัดสิน ผลการตัดสินให้ใช้ชื่อช้างนำโชคว่า "ช้างไชโย" ซึงเมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายถึงความแข็งแรง ความฉลาด ความสุขและความสนุกสนาน

เพลงประจำการแข่งขัน

[แก้]

เพลงหลักประจำการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 มีทั้งสิ้น 4 เพลง ได้แก่

  • เพลง บิน เพลงนี้จัดทำขึ้น 2 ภาษา คือ รูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร เรียบเรียงเสียงประสานโดยอุกฤษณ์ พลางกูร ขับร้องโดยชัชชัย สุขาวดี รูปแแบบภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า เพลง FLY ขับร้องโดยฉันทนา กิติยาพันธ์
  • เพลง ช้างไชโย ประพันธ์คำร้องโดยอภิชาติ ดำดี เรียบเรียงเสียงประสานโดยบรูซ แกสตัน และ สุริยา เดชบุญพบ ขับร้องโดยอาภาพร นครสวรรค์
  • เพลง แชมเปี้ยนเอเชียนเกมส์ เพลงนี้จัดทำขึ้น 2 ภาษา คือ รูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รูปแบบภาษาไทย ประพันธ์คำร้องและทำนองและเรียบเรียงโดยยืนยง โอภากุล เรียบเรียงดนตรีไทยโดยบรูซ แกสตัน ขับร้องโดยยืนยง โอภากุล
  • เพลง Asian Games In 98 ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยบรูซ แกสตัน

ผู้ให้การสนับสนุน

[แก้]

การถ่ายทอดสด

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Past Asian Games - Bangkok 1998 Asian Games". OCA. beijing2008.cn (official website of 2008 Beijing Olympics). November 22, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-30. สืบค้นเมื่อ May 26, 2011.
  2. "13th Asian Games Bangkok 1998 - Chai-Yo". GAGOC. gz2010.cn (official website of 2010 Asian Games). April 27, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-28. สืบค้นเมื่อ May 26, 2011.
  3. คณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13. รายงานการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13. กรุงเทพมหานคร:
  4. https://www.otp.go.th/uploads/tiny_uploads/MainGroup/2537(1-19)/18-2537(%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AF).PDF[ลิงก์เสีย]
  5. http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-41/12-03-%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%20%E0%B8%AA%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B9%8C.pdf
  6. "Sadec Asiad 1998 venues". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-20. สืบค้นเมื่อ 2017-10-17.
  7. "Thailand's King Bhumibol Adulyadej ('BOOM-ee-pon Ah-doon-ya-det') formally opened the..." upi.com. 6 December 1998.
  8. "part 8 Opening Ceremony Asian Game 1998(bangkok)". YouTube.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เอเชียนเกมส์ 1998 ถัดไป
เอเชียนเกมส์ 1994
(ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น)

การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์
(6 - 20 ธันวาคม ค.ศ. 1998)
เอเชียนเกมส์ 2002
(ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้)