ประวัติศาสตร์อังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อังกฤษ เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร ประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อังกฤษเริ่มขึ้นเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ภูมิภาคที่ตั้งปัจจุบันของอังกฤษ เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นีอันเดอร์ธอลราว 230,000 ปีมาแล้ว ขณะที่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ซึ่งเป็นมนุษย์สมัยใหม่ เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานราว 29,000 ปีมาแล้ว แต่การตั้งชุมชนอยู่ต่อเนื่องกันโดยตลอดเริ่มขึ้นราว 11,000 ปีมาแล้ว โดยมีร่องรอยของมนุษย์สมัยต่างๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เริ่มตั้งแต่ยุคหินกลาง, ยุคหินใหม่ และ ยุคสำริด เช่น สโตนเฮนจ์ และเนินดินที่เอฟบรี ในยุคเหล็กอังกฤษก็เช่นเดียวกับบริเตนทั้งหมดทางใต้ของเฟิร์ธออฟฟอร์ธ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชนเคลต์ที่เป็นกลุ่มชนที่เรียกว่า บริเตน (Briton) หรือเผ่าเบลแจ ในปี ค.ศ. 43 ชาวโรมันก็เริ่มเข้ามารุกรานบริเตน โรมันปกครองจังหวัดบริทายามาจนถึงคริสต์ศตวรรษที

ชาวบริตันและโรมัน[แก้]

บันทึกเกี่ยวกับหมู่เกาะบริเทนมีขึ้นครั้งแรกโดยพ่อค้าชาวกรีกโบราณในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล พีธีอาสแห่งมาสซิเลีย (Pytheas of Massilia) นักสำรวจชาวกรีกมาเยือนเกาะอังกฤษใน 325 ปีก่อน ค.ศ. พลีนีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักสำรวจชาวโรมันกล่าวว่าเกาะอังกฤษเป็นแหล่งดีบุกสำคัญ ทาซิตุส (Tacitus) ชาวโรมันเป็นคนแรกที่กล่าวถึงชาวบริตัน (Britons) ที่อาศัยบนหมู่เกาะบริเตน ว่าไม่มีความแตกต่างกับชาวโกล (Gaul) ในฝรั่งเศส (คือเป็นชาวเคลท์เหมือนกัน) ในด้านรูปร่างหน้าตาขนาดร่างกาย

จูเลียส ซีซาร์พยายามจะพิชิตอังกฤษในปีที่ 55 และ 54 ก่อน ค.ศ. แต่ไม่สำเร็จ จนจักรพรรดิคลอดิอุส ส่งทัพมาพิชิตอังกฤษใน ค.ศ. 43 ชาวโรมันปกครองทั้งอังกฤษ เวลส์ เลยไปถึงสกอตแลนด์ ตั้งเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น ลอนดอน แต่ชาวโรมันทนการรุกรานของเผ่าเยอรมันต่าง ๆไม่ไหว ถอนกำลังออกไปใน ค.ศ. 410 ชาวอังโกล ชาวซักซัน และชาวจูทส์ มาปักหลักตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ ต่อสู้กับชาวบริตันเดิม ผลักให้ถอยร่นไปทางตะวันตกและเหนือ

แองโกล-แซ็กซอนและไวกิง (ค.ศ. 410 ถึง ค.ศ. 1066)[แก้]

อาณาจักรต่างๆในศตวรรษที่ 8

ในตอนแรกเผ่าต่าง ๆ ในอังกฤษกระจัดกระจาย จนรวบรวมเป็นเจ็ดอาณาจักร (Heptarchy) ที่ประกอบด้วย นอร์ทธัมเบรีย, เมอร์เซีย, อีสต์แองเกลีย, เอสเซ็กซ์, เค้นท์, ซัสเซ็กซ์ และ เวสเซ็กซ์ คริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในอังกฤษในประมาณ ค.ศ. 600 โดยนักบุญออกัสตินแห่งแคนเตอร์บรี อาณาจักรเมอร์เซีย เรืองอำนาจตลอดศตวรรษที่ 8 ในสมัยพระเจ้าเพนดา พระเจ้าอาเธลเบิร์ต และพระเจ้าออฟฟา แห่งเมอร์เซีย จนเวสเซ็กซ์ขึ้นมามีอำนาจแทน

ชาวไวกิง หรือที่ชาวอังกฤษเรียกว่าเดนส์ (Danes) โจมตีอังกฤษครั้งแรกที่ลินดิสฟาร์น ตามพงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน แต่การคุกคามของชาวไวกิงน่าจะมีอยู่ก่อนหน้าแล้ว เพราะชาวไวกิงตั้งออร์คนีย์ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 865 ชาวไวกิ้งจากเดนมาร์กยกทัพป่าเถื่อนอันยิ่งใหญ่ (Great Heathen Army) มาบุกอังกฤษ ยึดอาณาจักรนอร์ทธัมเบรียใน ค.ศ. 866 อาณาจักรอีสต์แองเกลียใน ค.ศ. 870 และอาณาจักรเมอร์เซียใน ค.ศ. 871 แต่พระเจ้าอัลเฟรดมหาราชทรงสามารถเอาชนะไวกิงได้ในปี ค.ศ. 878 แบ่งอังกฤษระหว่างแองโกล-แซกซอน และไวกิง ดินแดนของไวกิงในอังกฤษเรียกว่า เดนลอว์ชาวไวกิงก็หลั่งไหลมาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษ

โอรสของอัลเฟรดมหาราช คือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสทรงต่อสู้เพื่อขับไล่พวกไวกิงให้พ้นจากอังกฤษ พระโอรส คือ พระเจ้าเอเธลสตันพระเจ้าอเธลสตาน (Athelstan) รวมอาณาจักรเมอร์เซีย (ที่หลงเหลือ) กับอาณาจักรเวสเซ็กซ์ ต่อมาพระเจ้าเอ็ดการ์ผู้รักสงบทรงยึดนอร์ทธัมเบรียจากเดนส์ และขับไล่ไวกิงออกไปได้ เป็นการรวมอังกฤษเป็นครั้งแรก

เดนลอว์ และเวสเซ็กซ์

ไวกิงบุกระลอกสอง[แก้]

อังกฤษสงบสุขมาได้อีกราวร้อยปี แต่ในปี ค.ศ. 980 ทัพของชาวไวกิ้งก็เดินทางบุกเข้ามาเป็นระลอกใหม่ นำโดยพระเจ้าพระเจ้าสเวน ฟอร์คเบียร์ดแห่งเดนมาร์ก พระเจ้าแอเธลเรด (Æthelred) ต้องทรงจ่ายเงินติดสินบนเพื่อไล่ทัพไวกิ้งกลับไป เรียกว่า เดนเกลด์ (Danegeld) แต่พวกไวกิ้งก็กลับมาอีกและเรียกเงินมากกว่าเดิม จนพระเจ้าสเวนยึดอังกฤษได้ใน ค.ศ. 1030 เนรเทศพระเจ้าแอเธลเรดไปฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1040 พระเจ้าคานูทมหาราชพระโอรสพระเจ้าสเวน ฟอร์คเบียร์ด ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ เป็นกษัตริย์ไวกิ้งพระองค์แรกในอังกฤษ แต่พระองค์ก็ทรงถูกพระเจ้าแอเธลเรดกลับมายึดบัลลังก์ปีเดียวกัน พระเจ้าคานูททรงหนีไปหาพระเชษฐา คือ พระเจ้าฮาราลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก สะสมกำลังมาบุกอังกฤษอีกใน ค.ศ. 1050 พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 (Edmund Ironside) พระโอรสพระเจ้าแอเธลเรด ทรงพยายามจะต้านพระเจ้าคานุทแต่ไม่สำเร็จ จนในปี ค.ศ. 1060 พระเจ้าเอ็ดมันด์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าคานุทจึงได้เป็นกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง

พระเจ้าคานุทยังทรงได้เป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์และเดนมาร์กอีกด้วย ทำให้อาณาจักรของพระเจ้าคานุทแผ่ขยายทั่วยุโรปเหนือ ราชวงศ์ไวกิ้งยังคงถูกทวงบัลลังก์จากพวกแองโกล-แซ็กซอนอยู่ ในปี ค.ศ. 1036 อัลเฟรด แอเธลลิง (Alfred Ætheling) พยายามจะยึดบัลลังก์จากพระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุตแต่ถูกจับได้และสังหาร พระเจ้าฮาร์ธาคานูท ทรงปกครองอังกฤษไม่ดี ชาวอังกฤษจึงเชิญน้องชายของอัลเฟรดคือเอ็ดวาร์ด มาครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดวาร์ผู้สารภาพ ในค.ศ. 1042

แต่พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงไม่มีทายาท เมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1066 ก็เกิดการช่วงชิงบัลลังก์ระหว่างเอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ (Earl of Wessex) พระเจ้าฮาราล์ดแห่งนอร์เวย์ และดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีจากฝรั่งเศส (สองคนหลังเป็นทายาทของพระเจ้าคานุท) เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ครองราชย์เป็นพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน (Harold Godwinson) ชนะพระเจ้าฮาราล์ดแห่งนอร์เวย์ที่สะพานสแตมฟอร์ด (Stamford Bridge) แต่แพ้ดยุกวิลเลียมที่เฮสติงส์ (Hastings) ดยุกวิลเลียมขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่หนึ่งแห่งอังกฤษ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์นอร์มัน

สมัยกลาง (ค.ศ. 1066 ถึง ค.ศ. 1485)[แก้]

พรมผืนบายอซ์ (Bayeux Tapestry) แสดงการรบที่เฮสติงส์

พระเจ้าวิลเลียมทรงนำระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) มาสู่อังกฤษ ทรงกีดกันขุนนางแองโกล-แซกซอนเดิมและให้ขุนนางนอร์มันมาปกครองอังกฤษ พระเจ้าวิลเลียมทรงเป็นดยุกแห่งนอร์ม็องดีด้วย ในทางทฤษฎีจึงทรงเป็นขุนนางฝรั่งเศสคนหนึ่ง แต่ก็ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษด้วย ทรงให้มีการสำรวจที่ดินและสำมะโนประชากรไว้ในหนังสือบันทึกทะเบียนราษฎรดูมสเดย์ (Domesday Book) ใน ค.ศ. 1086 เพื่อสะดวกแก่การเก็บภาษีและเกณฑ์แรงงาน ทรงให้มีการสร้างปราสาทต่างๆมากมายทั่วอังกฤษ อันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบศักดินา แต่ระบอบศักดินาไม่ได้ทำให้อังกฤษแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยเหมือนฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าวิลเลียมทรงมีอำนาจควบคุมขุนนางอังกฤษได้มากกว่าที่กษัตริย์ฝรั่งเศสควบคุมพระองค์ซึ่งเป็นขุนนางฝรั่งเศส

พระเจ้าเฮนรีที่ 1 ทรงมีทายาทแต่สิ้นพระชนม์ไปเสีย สตีเฟนแห่งบลัวส์ (Stephen of Blois) ลูกชายของเคานท์แห่งบลัวส์ ซึ่งแต่งงานกับพระธิดาของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสตีเฟน แต่พระนางมาทิลดา (Empress Matilda) พระธิดาของพระเจ้าเฮนรี ซึ่งสามีของพระนางคือเจฟฟรีย์ เคานท์แห่งอังชู (Geoffrey, Count of Anjou) ยกทัพมาทวงสิทธิในบัลลังก์ใน ค.ศ. 1139 ทำให้อังกฤษตกอยู่ในอนาธิปไตย (Anarchy) จนพระนางมาทิลดาทรงถูกขับออกไปใน ค.ศ. 1147 แต่พระเจ้าสตีเฟนทรงมีทายาทแต่ก็สิ้นพระชนม์อีก ใน ค.ศ. 1153 จึงทรงเจรจากับพระนางมาทิลดา ให้พระโอรสของพระนาง ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2

เนื่องจากพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงเป็นเคานท์แห่งอังชูมาก่อน เมื่อทรงครองอังกฤษ จึงเท่ากับผนวกแคว้นอังชูกับอังกฤษ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พลันตาจาเนต (Plantaganet) หรือ อังชู และเนื่องจากทรงอภิเษกกับอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน (Eleanor of Aquitaine) ซึ่งครองแคว้นอากีแตน ทำให้แคว้นอากีแตนอันกว้างใหญ่ตกมาเป็นของอังกฤษ เมื่อพระเจ้าเฮนรีทรงขึ้นครองราชย์ ทรงมิได้ปกครองแต่อังกฤษเท่านั้น แต่ดินแดนอันกว้างใหญ่ในฝรั่งเศสอีกด้วย พระเจ้าเฮนรีทรงช่วยเหลือเจ้าชายจากไอร์แลนด์ นำทัพไปทวงบัลลังก์คืน แต่สุดท้ายก็ทรงยึดดินแดนในไอร์แลนด์เป็นของพระองค์เอง ทรงปราบดาภิเษกพระองค์เองเป็น ลอร์ดแห่งไอร์แลนด์ (Lord of Ireland) เป็นครั้งแรกที่อังกฤษได้ดินแดนในไอร์แลนด์

พระเจ้าริชาร์ดที่ 1ทรงให้เวลาในรัชสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่หมดไปกับสงครามครูเสดครั้งที่สาม ทรงได้รับฉายาว่าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart) เพราะทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญและทำสงครามกับซาลาดินเพื่อแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าริชาร์ดทรงปราบปรามสังหารพวกยิวในอังกฤษจนเกือบหมด พระอนุชาคือพระเจ้าจอห์น ทรงอภิเษกกับอิซาเบล แห่งอองกูแลม (Isabel of Angoulême) ซึ่งหมั้นหมายกับผู้อื่นก่อนแล้ว ซึ่งการกระทำของพระเจ้าจอห์นผิดหลักคริสต์ศาสนา พระเจ้าฟิลิปจึงเรียกพระเจ้าจอห์นมาเฝ้าให้ยกเลิกการแต่งงานของพระองค์กับอิซาเบล แต่พระเจ้าจอห์นทรงปฏิเสธ พระเจ้าฟิลิปจึงทรงอ้างว่าพระเจ้าจอห์นมีความผิดในฐานะลูกน้อง (vassal) ที่ไม่ฟังคำสั่งของนาย (lord) ตามหลักศักดินาสวามิภักดิ์ จึงยกทัพยึดนอร์ม็องดี และอากีแตน ทำให้อังกฤษเสียดินแดนในฝรั่งเศสไปเหลือแต่แคว้นกาสโคนี

พระเจ้าจอห์นทรงลงพระปรมาภิไธยมหากฎบัตร

พระเจ้าจอห์นทรงพ่ายแพ้พระเจ้าฟิลิปและสูญเสียดินแดนมากมาย ทำให้บรรดาขุนนางเห็นว่าพระองค์ทรงใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ควร จึงร่วมกันบีบบังคับให้พระองค์ทรงพระปรมาภิไธยในมหากฎบัตร (Magna Carta) ใน ค.ศ. 1215 จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษว่าจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและพวกขุนนางต้องยินยอม ทำให้อังกฤษเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประเทศแรกเป็นต้นมา แต่พระเจ้าจอห์นก็มิได้ทรงให้เสรีภาพตามสัญญาเพราะทรงถูกบังคับทำ บรรดาขุนนางจึงก่อกบฏทำสงครามบารอน (Barons' War) จะยกบัลลังก์ให้องค์ชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส องค์ชายหลุยส์นำทัพบุกอังกฤษแต่ไม่สำเร็จ

พระเจ้าเฮนรีที่สาม ครองราชย์ต่อจากพระบิดาพระเจ้าจอห์น ทรงเคร่งศาสนามาก และโปรดปรานขุนนางต่างชาติ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ทำให้บรรดาขุนนางอังกฤษตำหนิพระองค์ ซิโมน เดอ มงฟอร์ต (Simon de Montfort) ขุนนางฝรั่งเศสในอังกฤษ ใช้อำนาจบาตรใหญ่เกินพระเจ้าเฮนรีในการปกครองแคว้นกาสโคนี ทำให้พระเจ้าเฮนรีไม่ทรงพอพระทัย ฝ่ายมงฟอร์ตก็รวบรวมขุนนางก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรี เกิดสงครามบารอนอีกครั้ง จนต้องทรงถูกบังคับให้ย้ำมหากฎบัตร พระราชอำนาจก็ถูกลดลงไปอีก รัฐสภาอังกฤษ (Parliament) ยังประชุมกันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1236 ในสมัยพระเจ้าเฮนรี

พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 1 พระโอรสพระเจ้าเฮนรี ทรงยึดแคว้นเวลส์ในปี ค.ศ. 1277 เหลือดินแดนเล็กน้อยให้กษัตริย์เวลส์ปกครอง และถูกลดขั้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) แต่ก็ยึดตำแหน่งมาให้พระโอรสในที่สุด กลายเป็นตำแหน่งรัชทายาทอังกฤษในปัจจุบัน และยังทรงยึดสกอตแลนด์เป็นเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1293 แต่ชาวสกอตไม่ยอม สองอาณาจักรจึงขับเคี่ยวกันในสงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์ (War of Scottish Independence) แต่ทรงพ่ายแพ้วิลเลียม วาเลซ (William Wallace) วีรบุรุษสกอต ทำให้สกอตแลนด์แยกตัวออกไป พระโอรสคือพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 2 ทรงพ่ายแพ้พระเจ้าโรเบิร์ตแห่งสกอตแลนด์ที่บันนอคเบิร์น (Bannockburn) ในปี ค.ศ. 1314 ทำให้สกอตแลนด์เป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์

พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 3 ทรงเริ่มสงครามครั้งใหม่กับสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1333 แต่ไม่ประสบผลเท่าที่ควร ทรงเล็งเห็นว่าเป็นเพราะฝรั่งเศสให้การสนับสนุนสกอตแลนด์ตามสัญญาพันธมิตรเก่า (Auld Alliance) ระหว่างสกอตแลนด์กับฝรั่งเศส ในฝรั่งเศสราชวงศ์กาเปเชียงสิ้นสุด พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงมีสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศสผ่านทางพระมารดา แต่ขุนนางฝรั่งเศสอ้างกฎบัตรซาลลิคกันพระเจ้าเอ็ดวาร์ดมิให้ครองฝรั่งเศส สงครามร้อยปี (Hundred Years' War) จึงเริ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1337 พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงนำทัพบุกขึ้นบกฝรั่งเศส ถูกพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสโจมตีแต่ไม่สามารถต้านได้ ทำให้พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงตั้งมั่นบนฝรั่งเศสได้ แต่สงครามก็หยุดชั่วคราว เมื่อกาฬโรคระบาดมาถึงอังกฤษในปี ค.ศ. 1349 ทำให้ประชากรลดลงมาก จนในปี ค.ศ. 1358 องค์ชายเอ็ดวาร์ด (Edward, the Black Prince) พระโอรสพระเจ้าเอ็ดวาร์ด นำทัพบุกยึดฝรั่งเศสได้เกือบทั้งประเทศ ในปี ค.ศ. 1360 สนธิสัญญาบริติญญี (Bretigny) ยกฝรั่งเศสครึ่งประเทศให้อังกฤษ

แต่ในปี พ.ศ. 1912 (ค.ศ. 1369) พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศสทรงสามารถยึดดินแดนคืนแก่ฝรั่งเศสได้จนเกือบหมด จนทำสัญญาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1375 อังกฤษเหลือแต่ดินแดนตามชายฝั่ง สงครามที่หนักหน่วงทำให้รัฐสภาขึ้นภาษีอย่างมาก ชาวบ้านและทาสก่อจลาจลในปี พ.ศ. 1924 (ค.ศ. 1381) เรียกว่ากบฏชาวนา (Peasant's revolt) นำโดยวัต ไทเลอร์ (Wat Tyler) โจมตีกรุงลอนดอน พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ทรงปกครองอังกฤษอย่างอ่อนแอ ทำให้ทรงถูกยึดอำนาจในปี พ.ศ. 1942 โดยดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ (Lancaster) ขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แต่รัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยการกบฏ โดยเฉพาะกบฏเวลส์ นำโดยโอเวน กลินดอร์ (Owain Glyndwr) ในปี พ.ศ. 1943 และยังทรงถูกพระโอรสคือพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ยึดอำนาจไปจากพระองค์ในปี พ.ศ. 1953

ในฝรั่งเศส ตระกูลเบอร์กันดีและตระกูลอาร์มัญญัคขัดแย้งกันแย่งอำนาจ ตระกูลเบอร์กันดีขอให้พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงช่วยเหลือ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงนำทัพบุกฝรั่งเศสอีกครั้งในปี ค.ศ. 1415 จนยึดฝรั่งเศสทางเหนือไว้ได้หมดในปี ค.ศ. 1419 และบังคับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสที่ทรงพระสติไม่สมประกอบ ให้ยกบัลลังก์ให้พระโอรส พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงขึ้นครองราชย์แต่พระเยาว์ ทางฝรั่งเศสก็พลิกขึ้นมาชนะในปี ค.ศ. 1429 และยึดดินแดนคืน พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงพระสติไม่สมประกอบอีกเช่นกัน ทำให้ดยุกแห่งยอร์ค (Duke of York) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนในปี ค.ศ. 1453

ดอกกุหลาบสีแดงของลางคัสเตอร์
ดอกกุหลาบสีขาวของยอร์ค เมื่อสองตระกูลนี้ทำสงครามกันจึงเรียกว่า สงครามดอกกุหลาบ

ในปี ค.ศ. 1453 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อังกฤษในการรบที่คาสติลโลญ สิ้นสุดสงครามร้อยปี ในปี ค.ศ. 1455 พระเจ้าเฮนรีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระราชินีมาร์กาเรตแห่งอังชู (Margaret of Anjou) ทำให้ฝ่ายพระเจ้าเฮนรี หรือฝ่ายลางคัสเตอร์ นำโดยพระนางมาร์กาเรต และฝ่ายยอร์ค นำโดยดยุกแห่งยอร์ค ทำสงครามดอกกุหลาบ (War of the Roses) พวกยอร์คชนะพวกลังคาสเตอร์ที่นอร์แธมตันในปี ค.ศ. 1460 ดยุกแห่งยอร์คปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1460 แต่สิ้นชีวิตในการรบในปี ค.ศ. 1461 ยังไม่ทันจะขึ้นครองราชย์ ลูกชายคือเอ็ดวาร์ด ขึ้นครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 4 และชนะพวกลางคัสเตอร์ที่ทาวตัน (Towton) ทำให้พระนางมาร์กาเรตและพระเจ้าเฮนรีทรงหลบหนีไปสกอตแลนด์และฝรั่งเศส แต่เอิร์ลแห่งวาร์วิค (Earl of Warwick) พระอาจารย์ของพระเจ้าเอ็ดวาร์ดเองก่อกบฏ แต่ไม่สำเร็จ หนีไปฝรั่งเศส

เอิร์ลแห่งวาร์ลิคนำทัพมาบุกอังกฤษในปี ค.ศ. 1470 ทำให้พระเจ้าเอ็ดวาร์ดทรงหลบหนีไปแคว้นเบอร์กันดี พระเจ้าเฮนรีกลับมาครองบัลลังก์ แต่ไม่นานพระเจ้าเอ็ดวาร์ดก็กลับมายึดบัลลังก์อีกในปี ค.ศ. 1471 พระโอรสในพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 5 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1483 แต่พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 5 ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลวูดวิลล์ (Woodwille) ทำให้บรรดาขุนนางอื่น ๆ ไม่พอใจ พระอนุชาคือ เอิร์ลแห่งกลอสเตอร์ (Earl of Gloucester) จับพระเจ้าเอ็ดวาร์ดมาขังที่หอคอยลอนดอน ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ฝ่ายลางคัสเตอร์ที่เงียบไปนาน ก็โผล่ขึ้นมาอีกภายใต้การนำของเฮนรี ทิวดอร์ (Henry Tudor) กลับมาอังกฤษสังหารพระเจ้าริชาร์ดที่ทุ่งบอสวอร์ธ (Bosworth Field) ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ทิวดอร์

ราชวงศ์ทิวดอร์ (ค.ศ. 1485 ถึง ค.ศ. 1603)[แก้]

ดอกกุหลาบทิวดอร์

พระเจ้าเฮนรีที่ 7 เป็นพระโอรสของเอิร์ลแห่งริชมอนด์ (Earl of Richmond) ซึ่งเป็นพระโอรสของโอเวน ทิวดอร์ (Owen Tudor) ขุนนางชาวเวลส์ กับพระนางคัทเทอรีนแห่งวาลัวส์ (Catherine of Valois) ราชินีของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 จึงมักจะกล่าวกันว่าราชวงศ์ทิวดอร์มาจากเวลส์ พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงอภิเษกกับอลิซาเบธแห่งยอร์ค (Elizabeth of York) พระธิดาของพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 4 เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างตระกูลลางคัสเตอร์และยอร์ก เพื่อยุติสงครามดอกกุหลาบ แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงต้องปราบกบฏของผู้ที่อ้างว่าเป็นองค์ชายตระกูลยอร์คที่ถูกขังอยู่ในหอคอยลอนดอน แต่ก็ทรงสามารถปราบได้ในปี ค.ศ. 1487 (สโต๊ก) และปี ค.ศ. 1499

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (ค.ศ. 1509 ถึง ค.ศ. 1547)[แก้]

พระเจ้าเฮนรีที่ 8

รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 การฟื้นฟูศิลปวิทยาการจากอิตาลีมาถึงอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1511 ทรงเข้าร่วมสันนิบาตศักดิ์สิทธิเพื่อต้านการรุกรานอิตาลีของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1513 พระเจ้าเฮนรียกทัพบุกฝรั่งเศส ชนะฝรั่งเศสที่ Battle of the Spurs ทำให้ฝ่ายสกอตแลนด์ยกทัพมาบุกอังกฤษเพื่อช่วยฝรั่งเศส แต่พ่ายแพ้ที่ทุ่งฟลอดเดน (Flodden Field)

ในปี ค.ศ. 1525 เมื่อพระนางคัทเธอรีนแห่งอรากอน (Catherine of Aragon) ไม่สามารถจะให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบทอดบัลลังก์ได้ มีแต่พระธิดาคือแมรี พระเจ้าเฮนรีจึงทรงวางแผนจะหย่าจากพระนางคัทเธอรีน และไปอภิเษกใหม่กับนางแอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) พระเจ้าเฮนรีทรงส่งทูตไปหาองค์พระสันตะปาปาเพื่อขออนุญาตหย่า (จะแต่งงานหรือหย่ากษัตริย์ยุโรปต้องทรงขออนุญาตพระสันตะปาปาก่อน เพราะทรงเป็นเสมือนบาทหลวงผู้ประกอบพิธีแห่งยุโรป) แต่ขณะนั้นกรุงโรมถูกทัพของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยึดไว้อยู่ ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระนางคัทเธอรีน จึงกดดันพระสันตะมิให้ยอมให้พระเจ้าเฮนรีทรงหย่าจากพระมาตุจฉา

เมื่อพระสันตะปาปาไม่ทรงยอม พระเจ้าเฮนรีก็ทรงทำเองเสียเลย ทรงปลดพระนางคัทเธอรีนในปี ค.ศ. 1531 และอภิเษกกับนางแอนน์ โบลีนในปี ค.ศ. 1533 ขณะทรงพระครรภ์ ให้กำเนิดองค์หญิงอลิซาเบธ พระเจ้าเฮนรีทรงเลิกเชื่อฟังพระสันตะปาปาที่กรุงโรม และทรงห้ามมิให้ขุนนางคนใดติดต่อกับโรม เรียกว่า การหย่าขาดจากโรม (Divorce from Rome) ในปี ค.ศ. 1534 ทรงออกพระราชบัญญัติประมุขสูงสุด (Act of Supremacy) มอบอำนาจให้พระองค์ทรงเป็นประมุขสูงสุดของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์

พระเจ้าเฮนรีทรงทำลายอิทธิพลขององค์การศาสนาในอังกฤษ โดยประหารชีวิตที่ปรึกษาที่เป็นบาทหลวง เผาทำลายโบสถ์วิหารตามพระราชกฤษฎีกายุบอาราม (Dissolution of Monasteries) ยึดทรัพย์สินของศาสนาเข้าพระคลัง ทำให้ประชาชนไม่พอใจก่อจลาจล พระเจ้าเฮนรีทรงเข้าปราบปราม ในปี ค.ศ. 1536 พระนางคัทเธอรีนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเฮนรีทรงสั่งให้ทั้งประเทศเฉลิมฉลองใหญ่โต เป็นวันเดียวกับที่นางแอนน์ โบลีน แท้งพระโอรสที่ใกล้จะคลอด ในปี ค.ศ. 1536 พระนางแอนน์ โบลีน ซึ่งกลัวที่จะแจ้งความจริงให้กับพระเจ้าเฮนรี่ จึงวางแผนร่วมหลับนอนกับพี่ชายของตน (จอร์จ โบลีน) ระหว่างที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันในห้อง นางเจน โบลีน ภรรยาของพี่ชายของพระนางแอนน์ โบลีน มาพบเข้าจึงนำความเข้าทูลกับพระเจ้าเฮนรี่ พี่ชายของพระนาง และพระนาง จึงถูกสำเร็จโทษ แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองมิได้ร่วมหลับนอนกันจริง เพราะไม่สามารถกระทำได้ ระหว่างรอนิรโทษกรรมพระนางแอนน์ โบลีน นางแมรี่ โบลีน น้องสาวของพระนางแอนน์ โบลีน มาเข้าเฝ้าพระเจ้าเฮนรี่ เพื่อขอชีวิตพี่สาวของตน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ท้ายที่สุดพระนางแอนน์ โบลีนก็ถูกประหารชีวิต และพระเจ้าเฮนรีจะได้ทรงอภิเษกใหม่กับนางเจน เซมัวร์ (Jane Seymour)

ในปี ค.ศ. 1535 พระเจ้าเฮนรีทรงผนวกเวลส์กับอังกฤษ และทรงนำทัพเข้าบุกยึดไอร์แลนด์ จนปราบดาภิเษกพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1542 พระนางเจน ซีย์มอร์ ให้กำเนิดพระโอรสในที่สุดคือเอ็ดวาร์ด แต่นางเจนเสียชีวิตจากการตั้งพระครรภ์ ในปี ค.ศ. 1540 ทรงส่งอภิเษกกับแอนน์แห่งคลีฟส์ แต่เพราะพระนางทรงพระโฉมไม่งามจึงทรงอภิเษกใหม่กับนางคัทเธอรีน โฮวาร์ด (Catherine Howard) แต่ทรงจับได้ว่านางมีความสัมพันธ์กับชายอื่นจึงทรงประหารชีวิตเสียและอภิเษกกับนางคัทเธอรีน พาร์ (Catherine Parr) ในปี ค.ศ. 1543 ในปี ค.ศ. 1547 พระเจ้าเฮนรีจึงสิ้นพระชนม์

พระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 6 (ค.ศ. 1547 ถึง ค.ศ. 1553) และพระนางแมรี (ค.ศ. 1553 ถึง ค.ศ. 1558)[แก้]

องค์ชายเอ็ดวาร์ดที่ประสูติกับนางเจน เซย์มูร์ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ 6 แต่ยังพระเยาว์ ทำให้พระปิตุจฉาคือดยุกแห่งโซเมอร์เซต (Duke of Somerset) มีอำนาจ พวกคาทอลิกก่อกบฏในปี ค.ศ. 1549 ดยุกแห่งโซเมอร์เซตถูกลอร์ดนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ (Lord Northumberland) ยึดอำนาจไปในปี ค.ศ. 1553 พระเจ้าเอ็ดวาร์ดสิ้นพระชนม์ ลอร์ดนอร์ธัมเบอร์แลนด์วางแผนจะให้เจน เกรย์ (Lady Jane Grey) ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระนางแมรี พระธิดาพระเจ้าเฮนรีที่ประสูติกับพระนางคัทเธอรีนแห่งอรากอน ทรงยึดบัลลังก์ไปในอีกเก้าวันต่อมา

พระนางแมรีทรงเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด อันเป็นอิทธิพลจากพระญาติฝ่ายสเปนของพระมารดา ในปี ค.ศ. 1554 พระนางแมรีทรงอภิเษกกับพระญาติ คือ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างยิ่งเกรงว่าประเทศอังกฤษจะตกแก่สเปน พระนางแมรีทรงกวาดล้างและลงโทษพวกโปรเตสแตนต์ และดำเนินนโยบายกลับกับพระบิดา คือ พระเจ้าเฮนรี โดยการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1558 ฝรั่งเศสยึดเมืองคาเลส์ (Calais) คืนจากอังกฤษที่ยึดไปตั้งแต่สงครามร้อยปี เป็นที่มั่นสุดท้ายของอังกฤษในฝรั่งเศส

พระราชินีนาถอลิซาเบธ (ค.ศ. 1558 ถึง ค.ศ. 1603)[แก้]

พระราชินีนาถอลิซาเบธ ขณะทัพเรืออาร์มาดาสเปนบุก ทรงเอาพระหัตถ์กุมลูกโลก แสดงถึงพระแสนยานุภาพระดับโลก

พระนางอลิซาเบธ เป็นพระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ประสูติกับแอนน์ โบลีน ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1558 รัชสมัยของพระนางเป็นสมัยที่อังกฤษรุ่งเรืองและสงบสุขเป็นส่วนใหญ่ บุคคลในสมัยของพระนางที่มีชื่อเสียงคือ วิลเลียม เช็คสเปียร์

พระราชินีนาถอลิซาเบธทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในอังกฤษ โดยทรงก่อตั้งนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (Church of England) เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ที่ใกล้เคียงกับคาทอลิกมากที่สุด เพื่อความสมานฉันท์ระหว่างพวกคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในอังกฤษ เป็นศาสนาของอังกฤษ ไม่ขึ้นกับพระสันตะปาปา โดยทรงออกพระราชบัญญัติพระราชอำนาจ (Act of Supremacy) ในปี ค.ศ. 1559 ปราบดาภิเษกพระนางเองเป็นผู้ปกครองสูงสุดของนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ แต่พระนางก็ยังทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์โปรเตสแตนต์ และเป็นที่เกลียดชังของพวกคาทอลิกอยู่ดี

รัฐสภาต้องการให้พระนางอลิซาเบธทรงอภิเษก แต่พระนางทรงมีความสามารถปกครองประเทศได้โดยไม่อาศัยผู้ชาย ทำให้ทรงได้รับฉายาว่า ราชินีพรหมจรรย์ (The Virgin Queen) แม้จะมีผู้เสนอตัวหลายคน เช่น พระเจ้าฟิลิปแห่งสเปน พระราชสวามีของพระนางแมรี แต่พระนางอลิซาเบธทรงปฏิเสธ ในด้านการต่างประเทศ พระนางอลิซาเบธทรงสนับสนุนกบฏต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นอ่อนแอลง เช่น กบฏฮอลันดาที่จะแยกตัวจากสเปน และพวกอูเกอโนต์ในสงครามศาสนาของฝรั่งเศส โดยเฉพาะสเปน พระนางส่งเซอร์ ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) เดินทางรอบโลกเพื่อโจมตีอาณานิคมต่างๆของสเปน เมื่อพระนางแมรีแห่งสกอต (Mary, Queen of Scots) กลับจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1565 พระนางอลิซาเบธทรงเกรงว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสจะแผ่มาถึงสดอตแลนด์ จึงทรงทำสงครามขับเคี่ยวกับพระนางแมรีแห่งสกอต จนพระนางแมรีถูกจับและประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1587

พระเจ้าฟิลิปทรงเห็นว่าพระนางอลิซาเบธเป็นภัยต่อสเปน จึงทำสงครามอังกฤษ-สเปน ในปี ค.ศ. 1588 ส่งทัพเรือมหึมาเรียกว่าอาร์มาดาสเปน (Spanish Armada) มาบุกอังกฤษ แต่ฟรานซิสเดรกก็ทำลายทัพเรือสเปนได้เพราะทิศลมเข้าข้างอังกฤษ ทางไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นคาทอลิกและต่อต้านพระนางอย่างหนัก พระนางจึงให้ทัพอังกฤษเข้าบุกกวาดล้างและปราบปรามไอร์แลนด์ ทำให้ในที่สุดไอร์แลนด์ก็ตกเป็นของอังกฤษ

ราชวงศ์สทิวเวิร์ต (ค.ศ. 1603 ถึง ค.ศ. 1707)[แก้]

แม้พระเจ้าเฮนรีที่ 8 จะตัดชาวสก็อตออกไปมิให้สืบบัลลังก์อังกฤษ แต่พระนางอลิซาเบธทรงมิได้อภิเษกและไม่มีทายาท พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ ราชวงศ์สทิวเวิร์ต (Stuart) พระญาติที่ใกล้ชิดที่สุด จึงได้ครองบัลลังก์อังกฤษ เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เป็นการรวมสองอาณาจักร (Union of Crowns) แต่ในทางปฏิบัติแล้วสองอาณาจักรนี้ยังแยกกันอยู่ มีรัฐสภาเป็นของตน เพียงแต่มีกษัตริย์องค์เดียวกัน

แต่ทรงครองราชย์ได้ไม่นานพระเจ้าเจมส์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ถึงสามครั้ง คือ Main Plot , Bye Plot และที่สำคัญที่สุดคือ Gunpowder Plot ในปี ค.ศ. 1605 โดยพวกคาทอลิก พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามจะรวมสองอาณาจักร แต่ก็ถูกรัฐสภาทั้งสองอาณาจักรคัดค้าน ในปี ค.ศ. 1611 ทรงให้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิลพระเจ้าเจมส์ (King James' Bible) ในค.ศ. 1607 ชาวอังกฤษตั้งอาณานิคมเจมส์ทาวน์ (Jamestown ตั้งชื่อตามพระนาม) เป็นจุดเริ่มต้นของอาณานิคมอเมริกา พระเจ้าเจมส์ทรงเชื่อในเทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ (Divine Rights of Kings) ว่ากษัตริย์นั้นเป็นดั่งพระเจ้า ทรงถูกเสมอและไม่เป็นที่สงสัย

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในสามมุมมอง

พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ก็ทรงได้รับความเชื่อนี้จากพระบิดา และพระองค์นั้นก็ทรงอภิเษกกับเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ (Henriette-Marie) พระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1625 ทำให้บรรดาขุนนางเกรงว่าองค์รัชทายาทนั้นจะเป็นคาทอลิคตามพระมารดา พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต้องการจะเข้าร่วมสงครามสามสิบปี แต่เงินที่จะใช้นั้นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ที่ไม่เห็นด้วยจะให้อังกฤษทำสงครามที่ตนไม่เกี่ยวเลย เมื่อรัฐสภาไม่ให้ ก็ทรงส่งดยุกแห่งบัคกิงแฮมไปบุกฝรั่งเศสเอง แต่พ่ายแพ้ ทำให้รัฐสภาจะปลดท่านดยุก พระเจ้าชาร์ลส์จึงชิงยุบรัฐสภาเสียในปี ค.ศ. 1627

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงตั้งองค์การเรียกร้องสิทธิ (Petition of Right) เพื่อรีดทรัพย์สินจากประชาชนมาใช้ ทรงไม่เรียกประชุมรัฐสภาอีกเลย เรียกว่าสมัยการปกครองส่วนพระองค์ แม้จะทรงพยายามทุกวิธีทางเพื่อจะหารายได้ แต่ก็ไม่พอพระองค์ใช้อยู่ดี และพระองค์ยังสนับสนุนนิกายแองกลิกันสูง (High Anglican) เป็นเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ที่เอียงไปทางคาทอลิก แต่พระองค์ทรงผิดพลาด โดยทรงพยายามจะบังคับให้สกอตแลนด์นับถือนิกายนี้ด้วย แต่สกอตแลนด์นั้นเป็นอิสระมาหลายร้อยปี คงไม่ยอมง่ายๆ พระเจ้าชาร์ลส์ทรงสั่งให้พิมพ์ Book of Common Prayer แจกในสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1637 ชาวสก็อตก็ลุกฮือ พระเจ้าชาร์ลส์ทรงนำทัพเข้าปราบแต่ไม่สำเร็จ จนทรงยอมจำนนต่อสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1640

ทรงต้องการเงินไปปราบสกอตแลนด์ ถึงเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้ง แต่รัฐสภาก็ฉวยโอกาสตำหนิการใช้พระราชอำนาจอันเกินควรของพระองค์ ทำให้พระองค์ยุบสภาไปทันที เรียกว่า รัฐสภาสั้น (Short Parliament) แต่ก็ทรงพ่ายแพ้สกอตแลนด์อีก จึงทรงเรียกประชุมสภาอีกครั้ง เป็นรัฐสภายาว คราวนี้รัฐสภาออกกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจหลายประการ ในปี ค.ศ. 1641 พวกไอริชที่เป็นคาทอลิกก่อจลาจล

สงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1642) ถึง ค.ศ. 1649[แก้]

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงนำทัพเข้าบุกรัฐสภา เพื่อจับกุมขุนนางบางคน แต่ไม่สำเร็จ จึงทรงหลบหนีออกไปจากลอนดอนไปทางเหนือ เป็นจุดเริ่มต้นของ 'สงครามกลางเมืองอังกฤษ' เมืองต่างๆในอังกฤษประกาศตนเข้าฝ่ายรัฐสภาหรือกษัตริย์ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้ทำสงครามกัน ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยม และฝ่ายรัฐสภา (Parliamentarian) ในปี ค.ศ. 1645 ฝ่ายรัฐสภาปรับปรุงกองทัพเป็นกองทัพตัวแบบใหม่ พระเจ้าชาร์ลส์ทรงพ่ายแพ้ยับเยิน จนทรงหนีไปสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1646

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเจรจากับพวกสก็อต แต่ก็ทรงถูกส่งพระองค์ให้ฝ่ายรัฐสภา ในปี ค.ศ. 1648 ทัพสกอตจึงบุกอังกฤษ แต่ก็แพ้ฝ่ายรัฐสภา ถึงตอนนี้พวกรัฐสภาแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ยังต้องการให้พระเจ้าชาร์ลส์ครองราชย์ต่อกับฝ่ายที่จะล้มล้างพระองค์ ในปีเดียวกัยนายพลไพรด์ (Colonel Pride) นำทัพยึดอำนาจจากพวกที่ผ่อนปรนพระเจ้าชาร์ลส์ กลายเป็นรัฐสภารัมพ์ ประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์และตั้ง เครือจักรภพแห่งอังกฤษ ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงถูกสำเร็จโทษโดยการบั่นพระศอหน้าพระราชวังไวท์ฮอลล์ ในปี ค.ศ. 1649

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์นำกำลังเข้าปราบปรามกบฏไอร์แลนด์อย่างดุร้ายในปี ค.ศ. 1649 ในสกอตแลนด์ พวกรักษาสัญญา (Covenanters ดูประวัติศาสตร์สกอตแลนด์) เกรงว่าอังกฤษจะเข้าควบคุมประเทศ จึงอัญเชิญพระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ แห่งสกอตแลนด์ ทำให้โอลิเวอร์ครอมเวลล์ออกจากไอร์แลนด์มาทำศึกกับสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1650 เรียกว่า สงครามสามอาณาจักร (War of the Three Kingdoms) พระเจ้าชาร์ลส์และพวกสกอตพ่ายแพ้และถอยหนี ครอมเวลล์จึงตามไปในสกอตแลนด์ แต่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงฉวยโอกาสนำทัพหลบหนีมาบุกอังกฤษในปี ค.ศ. 1651 สมทบกับพวกสนับสนุนกษัตริย์ แต่ครอมเวลล์ก็ตามมาทันและตีทัพพระเจ้าชาร์ลส์พ่ายแพ้ไป ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงหลบหนีไปฝรั่งเศส จบสงครามกลางเมือง

เครือจักรภพอังกฤษ และรัฐผู้พิทักษ์ (ค.ศ. 1649 ถึง ค.ศ. 1660)[แก้]

เมื่อระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างไปแล้ว รัฐสภาที่เหลือจึงกุมอำนาจไว้ทั้งหมด จัดตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐ ครอมเวลล์นำอังกฤษทำสงครามกับฮอลันดาในปี ค.ศ. 1652 ในสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ (Anglo-Dutch Wars) เพราะเนเธอร์แลนด์กำลังแผ่ขยายอาณานิคม แต่ในปี ค.ศ. 1653 ครอมเวลล์นำทัพยึดอำนาจจากรัฐสภาที่เหลือ ตั้งรัฐสภาแบร์โบนส์ และตั้ง รัฐผู้พิทักษ์ (Protectorate) โดยมีครอมเวลล์เองมีตำแหน่งเป็น เจ้าผู้พิทักษ์ แต่ครอมเวลล์ก็เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1659

ลูกชายของโอลิเวอร์ คือ ริชาร์ด ครอมเวลล์ (Richard Cromwell) ขึ้นเป็น เจ้าผู้พิทักษ์ แต่ถูกกองทัพตัวแบบใหม่ยึดอำนาจตั้งรัฐสภาที่เหลือขึ้นมาเหมือนเดิม และจอร์จ มองค์ ก็นำกองทัพจากสกอตแลนด์มาบุกยึดรัฐสภาอังกฤษในปี ค.ศ. 1660 ทำให้รัฐสภายุบตัวเองไป และตั้งรัฐสภาคอนเว็นท์ชั่น (Convention Parliament) พระเจ้าชาร์ลส์ทรงประกาศว่าจะทรงยอมจำนนแต่ให้พระองค์เป็นกษัตริย์ มองค์จึงอัญเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 กลับมาขึ้นครองราชย์

ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์[แก้]

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งออกกฎหมายบังคับให้นับถือนิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ และกดขี่นิกายอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1662 ทรงอภิเษกสมรสกับแคทเธอรีนแห่งบรากังซา (Catherine of Braganza) จากโปรตุเกส ได้เมืองบอมเบย์ในอินเดียเป็นสินสมรส และทรงให้ตั้งอาณานิคมคาโรไลนา (Carolina) ตามพระนามในปี ค.ศ. 1663 ในรัชสมัยของพระองค์อาณานิคมอังกฤษเริ่มเติบโต โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเทน (British East India Company) ทำให้ทำสงครามกับฮอลันดาหลายครั้ง โดยพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส โดยทรงสัญญาอย่างลับๆว่าจะเข้ารีตคาทอลิก ในปี ค.ศ. 1665 กรุงลอนดอนเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ พระราชวงศ์และรัฐสภาต้องหนีออกจากลอนดอน และในปี ค.ศ. 1666 กรุงลอนดอนก็วอดวายด้วยเหตุการณ์ที่รู้จักกันในนาม “เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน” ในปี ค.ศ. 1670 ก่อตั้งบริษัทอ่าวฮัดสัน (Hudson Bay Company) ไปตั้งอาณานิคมแคนาดา

แต่อังกฤษก็กลับมาทำสงครามขยายดินแดนของฝรั่งเศส (War of Devolution) กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1668 เพราะฝรั่งเศสกำลังมีอำนาจมากไป ในอังกฤษพระเจ้าชาร์ลส์ทรงผ่อนปรนพวกคาทอลิก ทำให้รัฐสภาไม่พอใจ ในปี ค.ศ. 1678 พวกแองกลิกันสร้างข่าวลือว่าพวกคาทอลิกวางแผนการคบคิดพ็อพพิชเพื่อลอบสังหารพระองค์ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว และพระอนุชาของพระองค์ คือองค์ชายเจมส์ ก็กลายเป็นพวกคาทอลิกในปี ค.ศ. 1679 รัฐสภาจะตัดองค์ชายเจมส์ออกจากการสืบสันติวงศ์ แต่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงชิงยุบสภาเสียก่อน

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์[แก้]

เมื่อองค์ชายเจมส์ครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ก็ทรงต้องเผชิญกับกบฏหลายครั้ง ในปี ค.ศ. 1687 พระเจ้าเจมส์ทรงออกกฎหมายการใช้พระราชอำนาจขัดขวางการกดขี่ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก และในปี ค.ศ. 1688 เจ้าชายเจมส์พระโอรสที่เป็นคาทอลิกก็ประสูติ ทำให้ชาวอังกฤษกลัวว่าราชวงศ์คาทอลิกจะปกครองประเทศ จึงอัญเชิญพระสวามีขององค์หญิงแมรีพระธิดาพระเจ้าเจมส์ คือ เจ้าชายวิลเลิมที่ 3 แห่งออเรนจ์ ผู้ครองฮอลันดา มาบุกอังกฤษ พระเจ้าเจมส์ทรงหลบหนีไปฝรั่งเศส เจ้าหญิงแมรีและเจ้าชายแห่งออเรนจ์ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เรียกเหตุการณ์นี้ว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

รัฐสภาออกกฎหมายห้ามมิให้พวกคาทอลิกขึ้นบัลลังก์อังกฤษ พระเจ้าเจมส์ทรงไปไอร์แลนด์ที่เป็นคาทอลิกเพื่อระดมพลมาสู้ แต่พระเจ้าวิลเลียมก็เอาชนะพระองค์ได้ที่บอยน์ (Boyne) ทำให้พระเจ้าเจมส์หนีกลับไปฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1689 รัฐสภาออกพระราชบัญญัติสิทธิ (Bill of Rights) ริดรอนพระราชอำนาจมิให้ทรงขัดขวางการออกกฎหมายหรือใช้พระราชทรัพย์และกำลังพลตามพระทัย ทำให้กษัตริย์อังกฤษทรงตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐสภามาถึงทุกวันนี้ พระเจ้าวิลเลียมทรงเกลียดชังฝรั่งเศสตั้งแต่ยังทรงครองฮอลันดา ทำให้ทรงนำอังกฤษเข้าร่วมสงครามมหาสัมพันธมิตร (War of the Grand Alliance) ในสกอตแลนด์เกิดกบฏจาโคไบต์ (Jacobite Rebellion) เพื่อนำพระเจ้าเจมส์กลับสู่บัลลังก์ ทำให้พระเจ้าวิลเลียมทรงนำทัพเข้าปราบปราม โดยเฉพาะการสังหารหมู่ที่เกลนโค (Massacre of Glencoe) สังหารชาวสกอตอย่างโหดร้าย

บนภาคพื้นทวีปทัพอังกฤษและฮอลันดาพ่ายแพ้ฝรั่งเศส และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังทรงสนับสนุนพระเจ้าเจมส์อีกด้วย แต่ในปี ค.ศ. 1697 พระเจ้าหลุยส์ทรงยอมรับพระเจ้าวิลเลียม เพื่อให้ได้ดินแดนตอบแทน ในปี ค.ศ. 1700 พระเจ้าวิลเลียมทรงให้ใช้ลอนดอนเป็นที่หารือว่าสเปน (ราชวงศ์แฮปสบูร์กสิ้นสุด) จะตกเป็นของใคร แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งสเปน ก่อนสิ้นพระชนม์ยกสเปนและดินแดนอื่นๆทั้งหมดให้พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน พระนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทำให้ชาติต่าง ๆ รวมทั้งอังกฤษ ทำสงครามสืบราชสมบัติสเปน (War of the Spanish Succession)

การสืบราชสมบัติอังกฤษก็สำคัญไม่แพ้กัน ทรงมอบบัลลังก์ให้องค์หญิงแอนน์ พระขนิษฐาของพระนางแมรี และออกพระราชบัญญัติการสืบราชสมบัติ (Act of Settlement) ในปี ค.ศ. 1701 ว่าหากราชวงศ์โปรเตสแตนต์สิ้นไป ให้พระนางโซฟี ภริยาของอิเลกเตอร์แห่งแฮนโนเวอร์ (Sophie, Electress of Hannover) ในเยอรมนี พระนัดดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ครองบัลลังก์อังกฤษ

ก่อตั้งบริเตนใหญ่[แก้]

หลังจากที่เจ้าหญิงแอนน์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่แล้วพระองค์ก็ทรงส่งพระสวามีดยุกคัมเบอร์แลนด์และจอห์น เชอร์ชิลล์ ดยุกแห่งมาร์ลเบรอผู้เป็นบรรพบุรุษของวินสตัน เชอร์ชิลไปทำสงครามต่อต้านการขยายตัวของฝรั่งเศสและสเปน ในรัชสมัยของพระองค์รัฐสภาแบ่งออกเป็นฝ่ายวิก (Whig) และฝ่ายโทรี (Tory) อย่างชัดเจน พระองค์เองโปรดพรรคโทรีมากกว่า แต่เมื่อดยุกแห่งมาร์ลเบรอได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศสในยุทธการเบล็นไฮม์ ในปี ค.ศ. 1704 แล้วฝ่ายวิกก็มีอำนาจมากขึ้น

เมื่ออังกฤษแก้ปัญหาการสืบสันติวงศ์โดยการออกพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 โดยมิได้ปรึกษารัฐสภาสกอตแลนด์ ที่เป็นผลทำให้รัฐสภาสกอตแลนด์ผู้ต้องการจะรักษาราชวงศ์สจวตไว้ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัย ค.ศ. 1704 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าเมื่อสิ้นสุดจากพระราชินีนาถแอนน์แล้ว สกอตแลนด์มีอำนาจที่จะเลือกประมุขพระองค์ต่อไปสำหรับราชบัลลังก์สกอตแลนด์จากผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์ของสกอตแลนด์ ทางรัฐสภาอังกฤษเกรงว่าสกอตแลนด์จะหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสถ้าสกอตแลนด์ได้รับเอกราช ทางการอังกฤษจึงได้ขู่ว่าจะออกพระราชบัญญัติต่างด้าว ค.ศ. 1705 (Alien Act 1705) เป็นการตอบโต้ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าอังกฤษจะต่อต้านสกอตแลนด์ทางเศรษฐกิจและจะประกาศให้ชาวสกอตแลนด์เป็นคนต่างด้าวทั้งหมด (ซึ่งเป็นการทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของชาวสกอตแลนด์ในอังกฤษ) เว้นแต่สกอตแลนด์จะยกเลิกพระราชบัญญัติรักษาความปลอดภัยและเข้ารวมตัวกับอังกฤษ รัฐสภาสกอตแลนด์เลือกการรวมตัว เมื่อตกลงกันได้แล้วก็มีการออกพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ที่รวมอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นอาณาจักรเดียวกันในชื่อ “บริเตนใหญ่” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1707 [1]

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท เจ้าชายจอร์จแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นพระโอรสของเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ผู้เป็นรัชทายาทตามพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 แต่มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน ก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮาโนเวอร์

ราชวงศ์ฮาโนเวอร์ - สมัยจอร์เจียน[แก้]

พระเจ้าจอร์จที่ 1 (ค.ศ. 1714 ถึง ค.ศ. 1727)[แก้]

ในค.ศ. 1715 พวกวิกชนะการเลือกตั้ง ออกพระราชบัญญัติเจ็ดปี (Septennial Act) ให้รัฐสภามีอายุอย่างน้อยเจ็ดปี เป็นรากฐานให้พวกวิกมีอำนาจไปอีก 50 ปี แต่องค์ชายเจมส์ เอ็ดวาร์ด สจ๊วต (James Edward Stuart) หรือ The Old Pretender พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เป็นราชวงศ์สจ๊วตที่เป็นคาทอลิกที่กยึดบัลลังก์ไปในเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ มาทวงบัลลังก์เรียกว่า กบฏจาโคไบต์ (Jacobite) พวกโทรีแอบไปเข้าพวกจาโคไบต์ พระเจ้าจอร์จทรงมีความขัดแย้งกับพระโอรส คือ จอร์จ ออกุสตุส เจ้าชายแห่งเวลส์ (George Augustus, Prince of Wales) ในค.ศ. 1717 พระเจ้าจอร์จทรงนำอังกฤษเข้าสงครามจตุรสัมพันธมิตร (War of the Quadraple Alliance) เพื่อทำสงครามกับสเปน สเปนจึงสนับสนุนกบฏจาโคไบต์ แต่ไม่สำเร็จ

ในค.ศ. 1719 บริษัทเซาธ์ซีเสนอรัฐสภาว่าจะแบกรับภาระการใช้หนี้พันธบัตรจากรัฐบาล โดยขอความปลอดภัยของหุ้นเป็นการแลกเปลี่ยน บริษัทเซาธ์ซีเสนอให้เจ้าของพันธบัตรต่างๆ เปลี่ยนพันธบัตรเป็นหุ้น ทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐสภาต้องออกพระราชบัญญัติห้ามการแลกเปลี่ยน ผลคือการซื้อขายพันธบัตรกลายเป็นตลาดใต้ดิน เมื่อหาซื้อกันได้ง่ายๆ ราคาจึงตกวูบ บรรดาขุนนางก็ขาดทุนกันมหาศาล เรียกว่า เหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี

พระเจ้าจอร์จที่ 2 (ค.ศ. 1727 ถึง ค.ศ. 1760)[แก้]

เจ้าชายแห่งเวลส์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 เช่นเดียวกับพระบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงมีความขัดแย้งกับพระโอรสคือเฟรเดอริค เจ้าชายแห่งเวลส์ (Frederick, Prince of Wales) ในรัชสมัยของพระองค์ เซอร์ โรเบิร์ต วาลโพล (Sir Robert Walpole) มีอำนาจมากจนได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรก พระเจ้าจอร์จทรงนำอังกฤษเข้าสงครามหูของเจงกินส์ (War of Jenkin's Ear) กับสเปน และสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย เมื่อพระเจ้าฟรีดรีชมหาราชแห่งปรัสเซีย (เป็นพระนัดดาของพระเจ้าจอร์จ) ต้องการจะแย่งบัลลังก์ออสเตรีย พระเจ้าจอร์จก็ทรงนำทัพไปปกป้องแคว้นแฮนโนเวอร์

แต่ฝรั่งเศสก็ปลุกปั่นกบฏจาโคไบต์ในสกอตแลนด์ในค.ศ. 1745 นำโดยเจ้าชายชาลส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต (Charles Edward Stuart) หรือบอนนี่ ปริ้นซ์ ชาร์ลี (Bonnie Prince Charlie) หรือ The Young Pretender เป็นพระโอรสของ The Old Pretender นำทัพสกอตบุกอังกฤษ พระเจ้าจอร์จทรงส่งพระโอรสคือ เจ้าชายวิลเลียม ออกุสตุส ดยุกแห่งคัมเบอร์แลนด์ ไปปราบเจ้าชายชาลส์ในยุทธการที่คัลโลเดน (Culloden) เป็นสงครามครั้งสุดท้ายบนหมู่เกาะบริเทน ตลอดไป ในค.ศ. 1757 พันเอกรอเบิร์ต ไคลฟ์ มีชัยในยุทธการที่ปลาศีและได้แคว้นเบงกอลมาครอบครอง เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองอนุทวีปอินเดียของบริเตน

ในค.ศ. 1754 การแข่งขันในการแผ่ขยายอาณานิคมในอเมริกาทำให้บริเตนทำสงครามกับฝรั่งเศสในอเมริกา แต่ฝรั่งเศสได้ชาวอินเดียนพื้นเมืองมาเป็นพวก เรียกว่าสงครามฝรั่งเศสและอินเดียน (French and Indian War) และในค.ศ. 1756 การแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้าเฟรเดอริคแห่งปรัสเซียทำให้ชาติต่างๆที่เคยเป็นศัตรูกันรวมตัวกันทำสงครามกับปรัสเซีย แต่สงครามอาจทำให้แคว้นฮาโนเวอร์ตกอยู่ในอันตราย ฝรั่งเศสอาจยึด บริเตนจึงเข้าพวกปรัสเซีย เพื่อทำสงครามเจ็ดปี (Seven Years' War) บริเตนจึงต้องทำสงครามสองที่ ทั้งในยุโรปและอเมริกา

พระเจ้าจอร์จที่ 3 (ค.ศ. 1760 ถึง ค.ศ. 1801)[แก้]

ปลายศตวรรษที่ 18 เป็ยสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในบริเตน

บริเตนทำสงครามกับฝรั่งเศสตามอาณานิคมต่างๆทั่วโลก ขุนพลวอล์ฟ (Wolfe) ชนะทัพฝรั่งเศสในการรบที่ที่ราบอับราฮัม (Plains of Abraham) ฝรั่งเศสยึดเกาะมินอร์กา แต่บริเตนยึดเซเนกัล ในค.ศ. 1758 วอล์ฟนำบริเตนยึดเมืองคิวเบก เมืองหลวงของอาณานิคมฝรั่งเศสได้ ในค.ศ. 1763 สนธิสัญญาปารีส ยกแคนาดาของฝรั่งเศสทั้งหมดให้บริเตน และได้ฟลอริดาจากสเปน ทำให้อาณานิคมของบริเตนในอเมริกาแผ่ขยายมหาศาล จอร์จ เกรนวิลล์ (George Grenville) หัวหน้าพวกวิกเป็นนายกรัฐมนตรี ออกพระราชบัญญัติอ้างเขตดินแดน (Royal Proclaimation) ในอาณานิคมเพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างอาณานิคมกับที่ดินของชาวพื้นเมือง เพื่อหยุดสงครามกับชาวพื้นเมือง

ในค.ศ. 1765 เกรนวิลล์ออกพระราชบัญญัติแสตมป์ (Stamp Act) เพื่อให้ติดแสตมป์อากรในเอกสารราชการทุกอย่างของบริเตนในอาณานิคม ทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจอย่างมาก พระเจ้าจอร์จจึงทรงปลดเกรนวิลล์และทรงตั้งวิลเลียม พิตต์ผู้พ่อ (William Pitt the Elder) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเชตแฮม (Earl of Chetham) ถอนพระราชบัญญัติแสตมป์ ทำให้ชาวอเมริกาสร้างอนุสาวรีย์ให้ทั้งพระเจ้าจอร์จและเชตแฮม

เอิร์ลแห่งเชตแฮมล้มป่วย ทำให้พวกโทรีขึ้นมามีอำนาจนำโดยลอร์ดนอร์ธ (Lord North) ลอร์ดนอร์ธยกเลิกภาษีทุกประการเพื่อเอาใจชาวอเมริกา แต่ยกเว้นภาษีชา เพื่อรักษาพระเดชานุภาพในการเก็บภาษี ใน ค.ศ. 1773 เกิดเหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาบอสตัน (Boston Tea Party) โยนชาทิ้งทะเล ทำให้ลอร์ดนอร์ธออกพระราชบัญญัติลงทัณฑ์ (Punitive Act) ปิดท่าเรือบอสตันและยกเลิกเสรีภาพของอาณานิคมอ่าวแมซซาชูเซตต์ (Massachusette Bay) ชาวอเมริกาก็ยิ่งลุกฮืออีก เกิดเป็นการปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) สงครามจึงเริ่มใน ค.ศ. 1775 ใน ค.ศ. 1776 ปีต่อมาอาณานิคมจึงประกาศเอกราชเป็นสหรัฐอเมริกา (United States of America) บริเตนพ่ายแพ้ทัพอาณานิคมที่ซาราโทกา (Saratoga) ใน ค.ศ. 1778 ฝรั่งเศสเห็นโอกาสจึงเข้าฝ่ายอาณานิคม ใน ค.ศ. 1781 บริเตนเข้ายึดเมืองยอร์คทาวน์ (Yorktown) ไม่สำเร็จ พระเจ้าจอร์จจึงทรงยอมรับความพ่ายแพ้ สนธิสัญญาปารีสใน ค.ศ. 1783 ทำให้อังกฤษสูญเสียอาณานิคมสิบสามรัฐในอเมริกา กลายเป็นสหรัฐอเมริกา และยกฟลอริดาให้สเปน เหลือแต่แคนาดาที่ยังเป็นของบริเตน

สงครามเสียอเมริกาทำให้ลอร์ดนอร์ธเสียอำนาจ จึงคบคิดกับฟอกซ์ (Charles James Fox) เพื่อรักษาอำนาจ พระเจ้าจอร์จทรงไม่พอพระทัยจึงอาศัยอำนาจจากสภาขุนขางทำลายอำนาจของนอร์ธ ตั้งวิลเลียม พิตผู้ลูก (William Pitt the Younger) เป็นนายกฯแทน

พระเจ้าจอร์จทรงเริ่มมีพระอาการทางพระสติในค.ศ. 1765 แม้จะทรงพยายามจะรักษาพระองค์ แต่พระอาการก็ทรุดหนักใน ค.ศ. 1788 ใน ค.ศ. 1789 พระโอรส เจ้าชายแห่งเวลส์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน

ก่อตั้งสหราชอาณาจักร[แก้]

ในค.ศ. 1789 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ระบอบกษัตริย์ถูกลบล้าง และกำลังแผ่ขยายอำนาจ บริเตนเข้าสงครามกับฝรั่งเศสในสัมพันธมิตรครั้งที่ 1 (First Coalition) กับชาติอื่นๆในยุโรป ใน ค.ศ. 1793 แต่พ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1798 การขยายอำนาจของนโปเลียนทำให้ชาติต่างๆเข้าร่วมสัมพันธมิตรครั้งที่ 2 (Second Coalition) อีกครั้งแต่สัมพันธมิตรก็พ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1800 เหลือเพียงบริเตนที่ยังคงทำสงครามกับฝรั่งเศส

สงครามที่วุ่นวายทำให้ไอร์แลนด์ฉวยโอกาสก่อกบฏ วิลเลียม พิตต์จึงออกพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ผนวกไอร์แลนด์เข้ากับบริเตน เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland)

อ้างอิง[แก้]

  1. Benians, pp.90–91