เดนลอว์
เดนลอว์ | |||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||||||||||||
อังกฤษใน ค.ศ. 878 | |||||||||||||||||
สถานะ | สมาพันธรัฐภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก | ||||||||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษานอร์สเก่า, ภาษาอังกฤษเก่า | ||||||||||||||||
ศาสนา |
| ||||||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||||||
• สถาปนา | 865 | ||||||||||||||||
• ถูกพิชิต | 954 | ||||||||||||||||
| |||||||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศอังกฤษ |
บริเวณการปกครองของเดนส์ หรือ บริเวณเดนลอว์ (อังกฤษ: Danelaw, Danelagh; อังกฤษเก่า: Dena lagu;[1] เดนมาร์ก: Danelagen) ที่บันทึกใน “พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน” เป็นชื่อทางประวัติศาสตร์ของบริเวณในบริเตนใหญ่ที่ปกครองด้วยกฎหมายของ “เดนส์”[2] ที่อยู่เหนืออิทธิพลของกฎของแองโกล-แซ็กซอน บริเวณบริเตนใหญ่ที่อยู่ใต้การปกครองของเดนส์ในปัจจุบันอยู่ในบริเวณทางเหนือและตะวันออกของอังกฤษ ที่มาของบริเวณการปกครองของเดนส์มาจากการขยายตัวของไวกิงในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แม้ว่าคำนี้จะมิได้ใช้ในการบรรยายบริเวณทางภูมิศาสตร์มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 การขยายตัวของไวกิงมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในสแกนดิเนเวียที่ทำให้นักรบไวกิงมีความจำเป็นในการไปล่าทรัพย์สมบัติในอาณาบริเวณใกล้เคียงเช่นเกาะอังกฤษ
นอกจากจะใช้ในการบรรยายบริเวณทางภูมิศาสตร์แล้ว “บริเวณการปกครองของเดนส์” ก็ยังหมายถึงชุดกฎหมายและคำจำกัดความที่ระบุในสนธิสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราชและขุนศึกชาวเดนส์กูธรัมผู้อาวุโส (Guthrum the Old) ที่เขียนขึ้นหลังจากกูธรัมพ่ายแพ้ต่อพระเจ้าอัลเฟรดในยุทธการเอธาดัน (Battle of Ethandun) ในปี ค.ศ. 878
ในปี ค.ศ. 886 สนธิสัญญาอัลเฟรดและกูธรัม (Treaty of Alfred and Guthrum) ก็มีการลงนามอย่างเป็นทางการและเป็นการแบ่งเขตแดนระหว่างสองอาณาจักรบนพื้นฐานที่ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันสันติระหว่างอังกฤษและไวกิง[3]
กฎหมายเดนส์ใช้ในการปกครองราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรีย และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลีย และรวมทั้งอาณาบริเวณที่เรียกว่าห้าบะระห์ (Five Burghs) ที่รวมทั้งเลสเตอร์, น็อตติงแฮม, ดาร์บี, แสตมฟอร์ด และลิงคอล์น
ความรุ่งเรืองของบริเวณการปกครองของเดนส์โดยเฉพาะที่ยอร์วิค (ยอร์ค) ทำให้เป็นเป็นเป้าของผู้รุกรานชาวไวกิง นอกจากนั้นความขัดแย้งระหว่างเวสเซ็กซ์และเมอร์เซียก็ยังทำให้อำนาจการปกครองในบริเวณเดนส์เริ่มอ่อนตัวลง อำนาจทางการทหารที่อ่อนแอลงและความพ่ายแพ้จากการถูกโจมตีโดยไวกิงเป็นระยะ ๆ ทำให้บริเวณเดนส์ต้องมาเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสเพื่อให้พระองค์ช่วยป้องกันดินแดนเป็นการตอบแทน บริเวณเดนส์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเดนมาร์กอีกต่อไป
ประวัติศาสตร์
[แก้]เมื่อราว ค.ศ. 800 มีคลื่นชาวนอร์สเข้ามาโจมตีชายฝั่งของบริเตนกับไอร์แลนด์ จากนั้นใน ค.ศ. 865 ชาวเดนนำกองทัพขนาดใหญ่เข้ามายังอีสต์แองเกลีย โดยมีจุดประสงค์ในการพิชิตราชอาณาจักรแองโกล-แซกซัน 4 แห่งของอังกฤษ กองทัพของผู้นำเดนมาร์กหลายคนได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างกองกำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของหลายคน ซึ่งรวมฮาล์ฟดัน รากนาร์สสันกับไอวาร์เดอะโบนเลสส์ ทั้งคู่ผู้เป็นพระราชโอรสในรักนาร์ โลดโบรก ผู้นำไวกิงในตำนานด้วยเช่นกัน[4] ในพงศาวดารกล่าวถึงกองทัพที่รวมกันเป็นกองทัพ Great Heathen[5] หลังทำสนธิสัญญาสันติภาพกับกษัตริย์อีสต์แองเกลียเพื่อแลกกับม้า กองทัพ Great Heathen จึงเคลื่อนไปทางเหนือ โดยยึดครองนอร์ทัมเบรียกับยอร์ก เมืองหลวงของราชอาณาจักรใน ค.ศ. 867 โดยเอาชนะทั้งออสเบิร์ตแห่งนอร์ทัมเบรีย กษัตริย์ผู้ถูกถอดถอนไม่นาน กับแอลลาแห่งนอร์ทัมเบรีย ผู้ชิงราชบัลลังก์ ชาวเดนจึงแต่งตั้งเอ็คเบิร์ตที่ 1 แห่งนอร์ทัมเบรีย (Ecgberht I of Northumbria) ชาวอังกฤษ ขึ้นครองนอร์ทธัมเบรียเป็นหุ่นเชิดแทน[6]
พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดก็นำกองทัพขึ้นไปปราบปรามชาวเดนส์ที่น็อตติงแฮม แต่ชาวเดนส์ไม่ยอมทิ้งป้อม พระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียจึงทรงเข้าร่วมการเจรจาสงบศึกกับไอวาร์กับฝ่ายเดนส์โดยรักษาน็อตติงแฮมไว้เป็นการแลกเปลี่ยนกับการหยุดยั้งการทำลายเมอร์เซีย
ภายใต้การนำของไอวาร์เดอะโบนเลสส์ ชาวเดนส์ก็ยังคงรุกรานที่ต่าง ๆ ต่อไปใน ค.ศ. 869 โดยได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าเอ็ดมันด์แห่งอีสต์แองเกลียและพิชิตอีสต์แองเกลียทั้งหมด[7] พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และอัลเฟรด พระอนุชา ก็ทรงกลับมาพยายามปราบปรามไอวาร์อีกโดยการโจมตีชาวเดนส์ที่เรดดิงแต่ได้รับความพ่ายแพ้ ฝ่ายเดนส์ก็ติดตามและเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 871 เอเธลเรดและอัลเฟรดก็ได้รับชัยชนะต่อเดนส์ในยุทธการแอชดาวน์ (Battle of Ashdown) ฝ่ายเดนส์ถอยหนีไปยังเบซิง (ในแฮมป์เชอร์) ที่เอเธลเรดพยายามโจมตีแต่พ่ายแพ้ ไอวาร์สามารถเอาชนะได้อีกครั้งหลังจากนั้นในเดือนมีนาคมที่ในปัจจุบันคือมาร์ตันวิลท์เชอร์
เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 871 พระเจ้าเอเธลเรดเสด็จสวรรคต อัลเฟรดขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งเวสเซ็กซ์ต่อ กองทัพของพระองค์อ่อนแอจนต้องถูกบังคับให้ส่งส่วยให้แก่ไอวาร์เพื่อรักษาความสงบกับฝ่ายเดนส์ ระหว่างนี้ฝ่ายเดนส์ก็หันขึ้นเหนือไปโจมตีเมอร์เซียไปจนถึงปี ค.ศ. 874 ทั้งไอวาร์ผู้นำของฝ่ายเดนส์และเบอร์เรดผู้นำของเมอร์เซียต่างก็เสียชีวิตในการรณรงค์ครั้งนี้ หลังจากไอวาร์แล้วกูธรัมผู้อาวุโสก็ขึ้นครองราชย์ต่อผู้ทำการรณรงค์ต่อต้านเมอร์เซียจนประสบความสำเร็จ ระหว่างนั้นฝ่ายเดนส์ก็มีอำนาจในอีสต์แองเกลีย, นอร์ทธัมเบรีย และ เมอร์เซีย เหลืออยู่แต่เวสเซ็กซ์ที่ยังต่อต้านอยู่[8]
กูธรุมกับชาวเดนเจรจาสันติภาพกับเวสเซกซ์ใน ค.ศ. 876 เมื่อพวกเขายึดครองป้อมที่แวรัมกับเอ็กซิเตอร์ พระเจ้าอัลเฟรดทรงล้อมฝ่ายเดนส์ผู้ที่จำต้องยอมจำนนเมื่อกองหนุนถูกทำลายในพายุ สองปีต่อมา กูธรุมโจมตีอัลเฟรดอีกครั้งด้วยการจู่โจมกองกำลังของพระองค์ที่พักระหว่างฤดูหนาวอยู่ที่ชิพเพ็นนัมอย่างกระทันหัน พระเจ้าอัลเฟรดทรงรอดมาได้เมื่อกองทัพเดนส์ที่เข้าโจมตีทางด้านหลังถูกทำลายโดยกองทหารที่ด้อยกว่าในยุทธการที่ Cynuit[9][10] ที่ตั้งของ Cynuit ในพื้นที่สมัยใหม่ยังเป็นที่ถกเถียง แต่ข้อเสนอแนะได้แก่ เคานทิสบรีฮิลล์ใกล้Lynmouth เดวอน, หรือปราสาท Kenwith ที่บิดิเฟิร์ด เดวอน หรือแคนนิงตันใกล้กับBridgwater ซัมเมอร์เซต[11] พระเจ้าอัลเฟรดต้องเสด็จหลบหนีอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะเสด็จกลับมาในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 878 เพื่อรวบรวมกำลังและโจมตีอูธรุมที่อีดิงตัน ครั้งนี้ฝ่ายเดนส์พ่ายแพ้และถอยหนีไปยังชิพเพ็นนัมที่พระเจ้าอัลเฟรดเข้าล้อม และในที่สุดฝ่ายเดนส์ก็ยอมแพ้ โดยข้อแม้หนึ่งที่พระเจ้าอัลเฟรดต้องการคือกูธรุมจะต้องรับศีลจุ่มเป็นคริสเตียน โดยพระองค์เองเป็นพ่ออุปถัมภ์[12]
บ้านเมืองมีความสงบอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. 884 เมื่อกูธรัมโจมตีเวสเซ็กซ์อีกแต่ก็พ่ายแพ้ ครั้งนี้สัญญาการสงบศึกเขียนเป็นกฎหมายระหว่างพระเจ้าอัลเฟรดและกูธรัม[13] สนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างบริเวณการปกครองของเดนส์และอนุญาตให้ชาวเดนส์ปกครองตนเองในบริเวณนั้น บริเวณการปกครองของเดนส์เป็นการรวมอำนาจของพระเจ้าอัลเฟรดในดินแดนส่วนของพระองค์และการเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียนต่อมาของกูธรัมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุดมการณ์ที่มีผลต่อดุลย์อำนาจของอังกฤษและเดนส์ต่อมา
เหตุผลของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเดนส์ในเกาะอังกฤษเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นส่วนหนึ่งของสถานะการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของสแกนดิเนเวีย นอกจากนั้นก็เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวไวกิงไปตั้งถิ่นฐานในที่อื่น ๆ ที่รวมทั้งเฮบเบดรีส์ (Hebrides), ออร์คนีย์, หมู่เกาะฟาโร, ไอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์, กรีนแลนด์, นอร์ม็องดี, และยูเครน[14]
แต่ฝ่ายเดนส์ก็มิได้ยุติความต้องการที่จะมีอิทธิพลในอังกฤษและระหว่าง ค.ศ. 1016 ถึง ค.ศ. 1035 ราชอาณาจักรอังกฤษก็ปกครองโดยสมเด็จพระเจ้าคานูทมหาราชเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิทะเลเหนือแห่งเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1066 ก็เกิดการแก่งแย่งราชบัลลังก์อังกฤษที่เป็นผลให้ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา (Harald Hardrada) ยกทัพมารุกรานอังกฤษ ทรงยึดยอร์คได้แต่ต่อมาทรงพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์ กอดวินสันผู้ครองราชบัลลังก์อังกฤษในขณะนั้นในยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ (Battle of Stamford Bridge) แต่ฮาโรลด์ กอดวินสันก็มาพ่ายแพ้ต่อดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีและกองทัพนอร์มันในยุทธการเฮสติงส์ (Battle of Hastings) ในซัสเซ็กซ์
บริเวณการปกครองของเดนส์ปรากฏในกฎหมายมาจนถึงต้น คริสต์ศตวรรษที่ 12 ด้วย “Leges Henrici Prime” ที่หมายถึงกฎหมายหนึ่งที่บ่งถึงการแบ่งระหว่างเวสเซ็กซ์และเมอร์เซีย
ความขัดแย้งระหว่างชาวนอร์สและชาวเดนส์ในทะเลเหนือ
[แก้]ในช่วงเวลาระหว่างการปล้นสดมลินดิสฟาร์น (Lindisfarne) ในปี ค.ศ. 793 และการรุกรานของเดนส์ในอีสต์แองเกลียในปี ค.ศ. 865 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเดนส์ก็ไปตั้งถิ่นฐานในที่ที่ปัจจุบันคือดับลินและต้องต่อสู้ในสงครามกับชนเผ่าไอริชหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็กลายเป็นพันธมิตรกันโดยการแต่งงานระหว่างชนสองกลุ่ม กองเรือเดนส์รุ่นต่อมาเข้ามาโจมตีกลุ่มไฮเบอร์โน-นอร์สผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วแต่ก็พ่ายแพ้ บางตำนานกล่าวว่าไอวาร์เดอะโบนเลสส์มิได้เสียชีวิตในสงครามในเมอร์เซียแต่จมน้ำตายระหว่างการต่อสู้ในทะเลไอริช
การโจมตีอย่างรีบร้อนของเดนส์อีกครั้งต่อชนนอร์สในดับลินก่อนที่จะพยายามสร้างความแข็งแกร่งในการควบคุมชาวแซ็กซอนในอังกฤษทำให้เชื่อกันว่าการรุกรานของเดนส์มิใช่แต่เพียงเพื่อการมีอำนาจเหนือชาวแซ็กซอนในอังกฤษเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความมั่นคงในทะเลเหนือด้วย เพื่อจะใช้เป็นฐานในการต่อสู้ทางการค้ากับคู่อรินอร์เวย์ผู้ครอบครองเส้นทางการค้าขายส่วนใหญ่ในออร์คนีย์, เฮบเบดรีส์, ไอล์ออฟแมน, ไอล์ออฟไวท์ และไอร์แลนด์ ที่ใช้ในการส่งสินค้าจากทางตะวันตกเฉียงไต้ของหมู่เกาะบริติชไปยังคีวานรุส (Kievan Rus) และต่อไปยังคอนสแตนติโนเปิล และแบกแดดตามลำแม่น้ำดเนียพเพอร์ (Dnieper River) จากทะเลบอลติกไปยังทะเลดำ
เมื่อพระเจ้าแม็กนัสที่ 1 แห่งนอร์เวย์ทรงได้รับนอร์เวย์เป็นอิสระจากสมเด็จพระเจ้าคานูทมหาราช สนธิสัญญาบ่งว่าถ้าผู้ใดเสียชีวิตก่อนระหว่างพระเจ้าแม็กนัสที่ 1 และ ฮาร์ธาคานูท อีกผู้หนึ่งก็จะได้เป็นผู้ครองราชอาณาจักรของผู้ที่เสียชีวิตไป
เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพขึ้นครองราชบัลลังก์เดนส์-แซ็กซอน กองทัพนอร์สก็รวบรวมกำลังกันจากอาณานิคมของนอร์เวย์ต่าง ๆ ในหมู่เกาะบริติชเข้ามาโจมตีอังกฤษในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อสนับสนุนพระเจ้าแม็กนัส และหลังจากที่พระเจ้าแม็กนัสสิ้นพระชนม์ พระอนุชาฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาก็อ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ เมื่อฮาโรลด์ กอดวินสันขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดาก็รุกรานนอร์ทธัมเบรียโดยการสนับสนุนของทอสติก กอดวินสัน (Tostig Godwinson) พระอนุชาของฮาโรลด์ กอดวินสัน แต่ก็ได้รับความพ่ายแพ้ต่อฮาโรลด์ กอดวินสันในยุทธการแสตมฟอร์ดบริดจ์ อาทิตย์เดียวก่อนที่ฮาโรลด์ กอดวินสันจะพ่ายแพ้ในยุทธการเฮสติงส์ต่อดยุควิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1066
ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับประวัติบริเวณการปกครองของเดนส์
[แก้]ค.ศ. 800 ชาวเดนส์ก็เข้ามาโจมตีชายฝั่งหมู่เกาะบริติชเป็นระลอก ๆ และตามด้วยผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ค.ศ. 865 ผู้รุกรานชาวเดนส์เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอังกฤษนำโดยพี่น้องฮาล์ฟดัน รากนาร์สสันและไอวาร์เดอะโบนเลสส์ที่มาพำนักในช่วงฤดูหนาวที่ในบริเวณอีสต์แองเกลียโดยการเรียกร้องและได้รับส่วยเพื่อแลกกับความสงบชั่วคราว จากนั้นทั้งสองคนก็เดินทางขึ้นเหนือไปโจมตีนอร์ทธัมเบรียซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามกลางเมืองระหว่างพระเจ้าออสเบิร์ตแห่งนอร์ทธัมเบรียผู้ถูกโค่นราชบัลลังก์และเอลลานอร์ทธัมเบรียผู้เป็นกบฏ ฝ่ายเดนส์ใช้ความระส่ำระสายในการเป็นโอกาสในการยึดเมืองยอร์คแล้วปล้นและเผาเมือง
ค.ศ. 867 หลังจากยอร์คเสียเมืองออสเบิร์ตและเอลลาก็หันไปเป็นพันธมิตรต่อกันและโจมตีฝ่ายเดนส์ แต่ทั้งสองคนถูกสังหารจากนั้นทางฝ่ายเดนส์ก็ตั้งชาวอังกฤษเอ็คเบิร์ตที่ 1 แห่งนอร์ทธัมเบรียขึ้นครองนอร์ทธัมเบรียเป็นหุ่นเชิดแทน การขยายอำนาจของเดนส์ทำให้พระเจ้าเอเธลเรดแห่งเวสเซ็กซ์และพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดก็นำกองทัพขึ้นไปปราบ ณ ที่มั่นที่น็อตติงแฮมแต่ไม่สามารถดึงเดนส์ออกมาต่อสู้ได้ เพื่อที่จะรักษาความสงบพระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียก็ยกน็อตติงแฮมให้เดนส์เป็นการแลกเปลี่ยนกับการไม่รุกรานเมอร์เซีย
ค.ศ. 869 ไอวาร์เดอะโบนเลสส์หันไปรีดค่าธรรมเนียมจากพระเจ้าเอ็ดมันด์แห่งอีสต์แองเกลียอีก
ค.ศ. 870 พระเจ้าเอ็ดมันด์ปฏิเสธ ไอวาร์รุกรานและได้รับชัยชนะต่ออีสต์แองเกลียและจับตัวพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ฮ็อกซ์เนและสังหารพระองค์อย่างทารุณโดยควักหัวใจสังเวยเทพโอดินในประเพณีทีเรียกว่า “blood eagle” ในขณะเดียวกันก็รวมอีสต์แองเกลียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณของเดนส์ พระเจ้าเอเธลเรดและพระอนุชาพระเจ้าอัลเฟรดโจมตีเดนส์ที่เรดดิงแต่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ฝ่ายเดนส์ติดตาม
ค.ศ. 871 เมื่อวันที่ 7 มกราคมเอเธลเรดและอัลเฟรดก็ตั้งมั่นอยู่ที่แอชดาวน์ในอีสซัสเซ็กซ์ปัจจุบัน เอเธลเรดและอัลเฟรดไดัรับชัยชนะต่อเดนส์ ระหว่างสองฝ่ายก็เสียขุนนางเอิร์ลไปห้าคน ฝ่ายเดนส์ถอยไปตั้งตัวที่เบซิงในแฮมป์เชอร์เพียงยีสิบสามกิโลเมตรจากเรดดิง เอเธลเรดโจมตีป้อมของฝ่ายเดนส์แต่ทรงพ่ายแพ้และมาทรงพ่ายแพ้อีกครั้งที่มาร์ตันในวิลท์เชอร์ปัจจุบัน
เอเธลเรดสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 เมษายน อัลเฟรดขึ้นครองราชย์หลังที่ทรงครุ่นคิดว่าจะสละราชบัลลังก์เพราะสถานะการณ์อันเลวร้ายซึ่งจะยิ่งซ้ำหนักขึ้นหลังจากที่ฝ่ายเดนส์ส่งกองหนุนมาจากยุโรป ในปีนั้นก็ทรงใช้วิธีโจมตีกองกำลังย่อยของฝ่ายเดนส์ที่ตั้งอยู่ห่างจากกองหลักและขาดการสนับสนุน ทรงได้รับความสำเร็จบ้างแต่กองกำลังของพระองค์ก็เป็นกองกำลังที่อ่อนแอและเกือบแทบจะไม่เป็นกองทัพ อัลเฟรดจึงใช้วิธีติดสินบนฝ่ายเดนส์ไม่ให้มารุกราน ระหว่างที่ไม่ได้โจมตีเวสเซ็กซ์ฝ่ายเดนส์ก็หันไปโจมตีเมอร์เซียทางด้านเหนือได้สำเร็จ ระหว่างทางก็ยึดลอนดอนไปด้วย พระเจ้าเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียพยายามต่อต้านไอวาร์แต่ก็ไม่สำเร็จจนในที่สุดก็ทรงต้องหนีไปยุโรป ระหว่างที่รณรงค์อยู่ในเมอร์เซียไอวาร์ก็เสียชีวิต กูธรัมผู้อาวุโสขึ้นครองราชย์ต่อ กูธรัมก็ได้รับชัยชนะต่อเบอร์เรดแห่งเมอร์เซียอย่างรวดเร็วและแต่งตั้งผู้ครองหุ่นขึ้นครองเมอร์เซีย เดนส์ครอบครองอีสต์แองเกลีย, นอร์ทธัมเบรีย และเมอร์เซีย ยกเว้นก็แต่เวสเซ็กซ์ที่ยังเป็นอิสระอยู่
ค.ศ. 875 ชาวเดนส์ตั้งถิ่นฐานในมณฑลดอร์เซ็ทลึกเข้าไปภายในราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ของพระเจ้าอัลเฟรดผู้ทรงทำสัญญาสันติภาพอย่างรวดเร็วกับเดนส์
ค.ศ. 876 ฝ่ายเดนส์ฝ่าฝืนสัญญาโดยการยึดป้อมเวเร็มในดอร์เซ็ทและเอ็กซิเตอร์ในเดวอนในปี ค.ศ. 877
ค.ศ. 877 พระเจ้าอัลเฟรดล้อมเมือง ฝ่ายเดนส์รอกองหนุนจากสแกนดิเนเวียแต่กองหนุนโดนพายุและเสียเรือไปกว่าร้อยลำ ฝ่ายเดนส์จำต้องถอยกลับไปอีสต์เมอร์เซียทางตอนเหนือของอังกฤษ
ค.ศ. 878 ในเดือนมกราคมกูธรัมนำกองทัพเข้าโจมตีเวสเซ็กซ์ระหว่างที่พระเจ้าอัลเฟรดทรงพักทัพระหว่างฤดูหนาวอยู่ที่ชิพเพ็นนัม กองทัพของเดนส์อีกกองหนึ่งขึ้นฝั่งที่ทางไต้ของเวลส์และเดินทัพไปทางไต้เพื่อจะไปดักพระเจ้าอัลเฟรดถ้าทรงหนีจากการโจมตีของกูธรัม แต่ระหว่างทางกองทัพนี้ก็หยุดทัพที่เคานทิสบรีฮิลล์ที่เป็นของเอิร์ลออดดาแห่งเดวอน (Odda of Devon) เพื่อที่จะพยายามยึดป้อมที่นั่น ฝ่ายแซ็กซอนนำโดยออดดาเข้าโจมตีฝ่ายเดนส์ขณะที่กำลังนอนหลับและได้รับชัยชนะต่อกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าซึ่งเป็นการช่วยให้พระเจ้าอัลเฟรดทรงรอดพ้นจากการถูกบีบโดยกองทัพสองด้าน แต่พระองค์ก็ยังทรงต้องหนีจากภัยของกองทัพเดนส์ไปซ่อนตลอดฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิในซัมเมอร์เซ็ทมาร์เชส (Somerset marshes) ระหว่างฤดูใบไม้ผลิพระเจ้าอัลเฟรดก็ทรงสามารถรวบรวมกำลังและโจมตีกูธรัมที่เอธานดัน ฝ่ายเดนส์พ่ายแพ้และถอยหนีไปยังชิพเพ็นนัม ฝ่ายอังกฤษตามไปล้อมในที่สุดกูธรัมก็ยอมแพ้ ข้อแม้หนึ่งในของการยอมแพ้คือกูธรัมต้องทรงยอมเป็นคริสเตียนโดยพระเจ้าอัลเฟรดเป็นพ่ออุปถัมภ์ กูธรัมทรงยอมรับ กูธรัมย้ายกลับไปตั้งถิ่นฐานในอีสต์แองเกลียอยู่ชั่วขณะหนึ่ง
ค.ศ. 884 กูธรัมกลับมาโจมตีเค้นท์แต่พ่ายแพ้ การพ่ายแพ้ครั้งนี้นำไปสู่สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าอัลเฟรดและกูธรัม ที่ระบุเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์และบริเวณการปกครองของเดนส์และอนุญาตให้ชาวเดนส์ปกครองตนเองในบริเวณนั้น
ค.ศ. 902 เอสเซ็กซ์เข้าสวามิภักดิ์ต่อเอเธลโวลด์แห่งเวสเซ็กซ์ (Æthelwold of Wessex)
ค.ศ. 903 เอเธลโวลด์ปลุกปั่นให้ชนเดนส์ในอีสต์แองเกลียให้ละเมิดสัญญาสงบศึก ชนเดนส์รุกรานและทำลายก่อนที่จะได้รับชัยชนะที่ทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ทุกฝ่าย (pyrrhic victory) ด้วยการสิ้นพระชนม์ของเอเธลโวลด์ของฝ่ายเวสเซ็กซ์และพระเจ้าเอโอห์ริคของฝ่ายเดนส์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสได้รวบรวมอำนาจ
911 อังกฤษได้รับชัยชนะต่อเดนส์ในยุทธการยุทธการเท็ทเท็นฮอลล์ (Battle of Tettenhall) นอร์ทธัมเบรียเข้าทำลายเมอร์เซียแต่ถูกหยุดยั้งโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด
ค.ศ. 917 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับความสันติและการพิทักษ์จากการรุกรานราชอาณาจักรเอสเซ็กซ์และราชอาณาจักรอีสต์แองเกลียก็ยอมรับเป็นประเทศราช (Suzerainty) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด
เอเธลเฟลด (Æthelflæd) เลดี้แห่งเมอร์เซียยึดบะระห์ดาร์บี
ค.ศ. 918 บะระห์เลสเตอร์ยอมอยู่ใต้การพิทักษ์ของเอเธลเฟลด ชาวยอร์ครับเอเธลเฟลดเป็นโอเวอร์ลอร์ดแต่เอเธลเฟลดเสียชีวิตเสียก่อน ราชอาณาจักรเมอร์เซียรวมตัวกับราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ภายใต้การปกครองของพระเชษฐาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด
ค.ศ. 919 ไวกิงนอร์เวย์ภายใต้การนำของพระเจ้าแรกนาลด์ (Rægnold พระราชโอรสของ Eadulf) จากดับลินยึดเมืองยอร์ค
ค.ศ. 920 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้นำสูงสุดโดยพระเจ้าแผ่นดินสกอตแลนด์โดยพระเจ้าแรกโนลด์ (Rægnold พระราชโอรสของ Eadulf I of Bernicia), อังกฤษ, นอร์ส, เดนส์, นอร์ทธัมเบรีย และราชอาณาจักรสตรัธไคลด์ (Kingdom of Strathclyde)
ค.ศ. 954 เอริค บรูดแดกซ์ (Eric Bloodaxe) ถูกขับจากนอร์ทธัมเบรีย ความตายของบรูดแดกซ์เป็นการสิ้นสุดของอำนาจของไวกิงที่มีต่อบริเวณยอร์คไปถึงดับลินและเกาะต่าง ๆ
ที่ตั้ง
[แก้]บริเวณการปกครองของเดนส์โดยทั่วไปตั้งอยู่ทางเหนือระหว่างลอนดอนกับเชสเตอร์ที่ไม่รวมบางส่วนของนอร์ทธัมเบรียทางตะวันออกของเทือกเขาเพ็นไนน์ (Pennines)
เมืองห้าเมืองที่มีป้อมปราการป้องกันกลายเป็นส่วนสำคัญในบริเวณการปกครองของเดนส์: เลสเตอร์, น็อตติงแฮม, ดาร์บี, แสตมฟอร์ด และลิงคอล์น ที่ในปัจจุบันคืออีสต์มิดแลนด์ และทั้งห้าเมืองรวมกันเรียกว่า “ห้าบะระห์” (Five Burghs) “Burgh” มาจากภาษาอังกฤษเก่า “burg” ที่มาจากคกเดียวกันในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “ปราสาท” ที่หมายถึงชุมนุมชนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหรือป้อม—ตั้งแต่ชุมชนเล็ก ๆ ไปจนถึงเมืองใหญ่ที่มีป้อมปราการป้องกัน คำนี้ก็วิวัฒนาการต่อไปจนมีความหมายกว้างขึ้น
ความหมายทางกฎหมาย
[แก้]บริเวณการปกครองของเดนส์มีความสำคัญในการสร้างความสันติสุขในบริเวณข้างเคียงทั้งในบริเวณแองโกล-แซ็กซอนและไวกิง การใช้กฎหมายของเดนเป็นการสร้างอาณาบริเวณที่มีระบบกฎหมายในการปกครองที่ระบุข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเป็นทางการเช่นการกำหนดจำนวน “ค่าชดเชยเวร์กิลด์” (weregild) ในกรณีที่มีการฆาตกรรมเป็นต้น
ความหมายทางกฎหมายหลายข้อตรงกับความหมายเช่น “wapentake” ของไวกิง ซึ่งเป็นหน่วยมาตรฐานการแบ่งดินแดนในบริเวณการปกครองของเดนส์ที่ใช้แลกเปลี่ยนกันได้กับ “ฮันเดรด” (hundred) การใช้สถานที่ประหารชีวิตและสุสานในวอล์คคิงตันโวลด์ (Walkington Wold Burials) ในอีสต์ยอร์คเชอร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากฎหมายนี้ใช้ต่อเนื่องกันมา[16]
อิทธิพลของการปกครอง
[แก้]อิทธิพลของการตั้งถิ่นฐานของสแกนดิเนเวียยังคงเห็นได้ในบริเวณอีสต์มิดแลนด์ โดยเฉพาะจากชื่อสถานที่ (British toponymy) เช่นชื่อที่ลงท้ายด้วย “by” หรือ “thorp” ที่หมายถึงว่ามี่ที่มาจากนอร์ส
ภาษานอร์สโบราณและภาษาอังกฤษเก่ายังพอที่จะเข้าใจได้บ้าง การผสมระหว่างภาษาจากบริเวณการปกครองของเดนส์ทำให้เกิดการใช้คำภาษานอร์สหลายคำในภาษาอังกฤษที่รวมทั้งคำว่า “law” เองด้วย หรือคำอื่น ๆ เช่น “sky” หรือ “window” และพหูพจน์ของบุรุษที่สาม และที่แสดงความเป็นเจ้าของเช่นในคำว่า “they” หรือ “them” หรือ “their” ภาษานอร์สโบราณยังคงมีใช้อยู่บ้างในภาษาสำเนียงท้องถิ่นทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ
สี่ในห้าบะระห์กลายมาเป็นเมืองมณฑลของ: เลสเตอร์เชอร์, น็อตติงแฮมเชอร์, ดาร์บีเชอร์ และลิงคอล์นเชอร์ ยกเว้นแสตมฟอร์ดที่อาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้รัทแลนด์
พันธุกรรม
[แก้]ในปี ค.ศ. 2000 บีบีซีทำการสำรวจทางพันธุกรรมของหมู่เกาะบริติชสำหรับรายการ “เลือดของไวกิง” โดยจูเลียน ริชาร์ดส (Julian Richards) ซึ่งสรุปว่าผู้รุกรานชาวนอร์สตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในหมู่เกาะบริติชแต่ที่หนาแน่นก็เป็นบางบริเวณเช่นออร์คนีย์และเช็ทแลนด์ (Shetland)[17] แต่การสำรวจเป็นการสำรวจเฉพาะไวกิงนอร์เวย์ เพราะผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานที่เป็นไวกิงที่เป็นชาวเดนส์ไม่สามารถแยกจากผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากแองโกล-แซ็กซอนได้
ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดี
[แก้]ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดีที่สำคัญ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงบริเวณการปกครองของเดนส์มีเพียงไม่กี่แห่ง ที่ตั้งที่พบที่สำคัญที่สุดคือที่ยอร์ค ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากคำว่า “Jórvík” ในภาษานอร์สโบราณ (ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษเก่า “Eoforwic” สระประสมสองเสียง “eo” เท่ากับสระประสมสองเสียงของนอร์ส “jo”, (เสียง)ระหว่างสระ “f” ของภาษาอังกฤษเก่าออกเสียงนุ่มเช่นเดียวกับอักษร “v” ในปัจจุบัน และ “wic” ของภาษาอังกฤษเก่ามาจาก “vik” ของนอร์ส) “Eoforwic” เองก็เพี้ยนมาจากชื่อเมืองก่อนหน้านั้นที่สะกดเป็นภาษาละตินว่า “Eboracum”
ที่ตั้งที่พบทางโบราณคดีอีกที่หนึ่งคือบริเวณที่เผาศพที่ฮีธวูด (Heath Wood) ที่อิงเกิลบีในดาร์บีเชอร์
หลังฐานที่ตั้งทางโบราณคดีมิได้บ่งถึงอาณาบริเวณที่เป็นบริเวณที่เฉพาะเจาะจงทางประชากรหรือทางการค้าขายซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการระบุที่คลาดเคลื่อนของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเป็นของแองโกล-แซ็กซอน หรือนอร์ส หรืออาจจะเป็นได้ว่าการตั้งถิ่นฐานอาจจะมีการโยกย้ายกันอย่างเสรีระหว่างบริเวณต่าง หรืออาจจะเป็นเพียงว่าหลังจากที่ลงนามตกลงกันเรื่องเขตแดนแล้วต่างฝ่ายต่างละเลยข้อตกลง
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ M. Pons-Sanz (2007). Norse-derived Vocabulary in late Old English Texts: Wulfstan's Works. A Case Study. Amsterdam: John Benjamins Publishing Company. p. 71. ISBN 978-87-7674-196-9.
- ↑ "The Old English word Dene ("Danes") usually refers to Scandinavians of any kind; most of the invaders were indeed Danish (East Norse speakers), but there were Norwegians (West Norse [speakers]) among them as well." Lass, Roger, Old English: A Historical Linguistic Companion, p. 187, n. 12. Cambridge University Press, 1994.
- ↑ "Danelaw Heritage". The Viking Network. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2021. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
- ↑ Sawyer. The Oxford Illustrated History of the Vikings. pp. 52–55 [ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]
- ↑ ASC 865 – English translation at project Gutenberg เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 16 January 2013
- ↑ Flores Historiarum: Rogeri de Wendover, Chronica sive flores historiarum, pp. 298–299. ed. H. Coxe, Rolls Series, 84 (4 vols, 1841–42)
- ↑ Haywood, John. The Penguin Historical Atlas of the Vikings, p. 62. Penguin Books. 1995. [ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]
- ↑ Carr, Michael. "Alfred the Great Strikes Back", p. 65. Military History Journal. June 2001.
- ↑ Abels, Richard (1998). Alfred the Great: War, Kingship and Culture in Anglo-Saxon England. Abingdon: Routledge. pp. 153–154. ISBN 0-582-04047-7.
- ↑ ASC 878 – English translation at project Gutenberg เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 9 June 2014
- ↑ Kendrick, T.D. (1930). A History of the Vikings. New York: Charles Scribner's Sons. p. 238. OCLC 314512470.
- ↑ Hadley, D. M. The Northern Danelaw: Its Social Structure, c. 800–1100. p. 310. Leicester University Press. 2000. [ไอเอสบีเอ็น ไม่มี]
- ↑ The Kalender of Abbot Samson of Bury St. Edmunds, ed. R.H.C. Davis, Camden 3rd ser., 84 (1954), xlv-xlvi.
- ↑ "The Viking expansion". hgo.se. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 May 2009. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018.
- ↑ Falkus & Gillingham and Hill
- ↑ Buckberry, J.L.; Hadley, D.M. (2007), "An Anglo-Saxon Execution Cemetery at Walkington Wold, Yorkshire", Oxford Journal of Archaeology, 26 (3): 325, doi:10.1111/j.1468-0092.2007.00287.x, hdl:10454/677, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2020, สืบค้นเมื่อ 30 August 2020
- ↑ "ENGLAND | Viking blood still flowing". BBC News. 3 December 2001. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2008. สืบค้นเมื่อ 23 April 2010.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Abrams, Lesley (2001). "Edward the Elder's Danelaw". ใน Higham, N. J.; Hill, D. H. (บ.ก.). Edward the Elder 899–924. Abingdon, UK: Routledge. pp. 128–143. ISBN 0-415-21497-1. Discusses definitions of "Danelaw".
- Types of Manorial Structure in the Northern Danelaw, Frank M. Stenton, London, 1910.
- The Anglo-Saxon Chronicles, Tiger Books International version translated and collated by Anne Savage, 1995.
- Community archaeology at Thynghowe, Birklands, Sherwood Forest by Lynda Mallett, Stuart Reddish, John Baker, Stuart Brookes and Andy Gaunt; Transactions of the Thoroton Society of Nottinghamshire, Volume 116 (2012)
- Mawer, Allen (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 7 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 803–804.
- Heen-Pettersen, Aina Margrethe (2021). "Evidence of Viking trade and 'Danelaw' connections? Inset lead weights from Norway and the western Viking World". Internet Archaeology (56). doi:10.11141/ia.56.10.
- Stattel, Jake A. (2019). "Legal culture in the Danelaw: a study of III Æthelred". Anglo-Saxon England. 48: 163–203.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- News Item: BBC Blood of the Vikings
- BBC Viking History Links
- According to Ancient Custom: Research on the possible Origins and Purpose of Thynghowe Sherwood Forest