ยุครัฐในอารักขา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รัฐผู้พิทักษ์)
เครือจักรภพอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์

ค.ศ. 1653–ค.ศ. 1659
อาณาเขตของเครือจักรภพ ค.ศ. 1659
อาณาเขตของเครือจักรภพ ค.ศ. 1659
สถานะสาธารณรัฐ
เมืองหลวงลอนดอน
ภาษาทั่วไปอังกฤษ (ทางการ)
สกอต, ไอริช, เวลส์, คอร์นิช, เกลิกแบบสกอต
ศาสนา
พิวริตันนิซึม
การปกครองสาธารณรัฐแบบรัฐเดี่ยวที่มีรัฐสภา
เจ้าผู้อารักขา 
• ค.ศ. 1653–58
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์
• ค.ศ. 1658–59
ริชาร์ด ครอมเวลล์
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
สภาอื่น
(ค.ศ. 1658–59)
สภาสามัญชน
(ค.ศ. 1654-55/1656-58/1659)
ประวัติศาสตร์ 
16 ธันวาคม ค.ศ. 1653
25 พฤษภาคม ค.ศ. 1657
• การลาออกของริชาร์ด ครอมเวลล์
25 พฤษภาคม ค.ศ. 1659
สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง
ก่อนหน้า
ถัดไป
เครือจักรภพแห่งอังกฤษ
ราชอาณาจักรสกอตแลนด์
เครือจักรภพแห่งอังกฤษ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไอร์แลนด์
 สหราชอาณาจักร

รัฐในอารักขา (อังกฤษ: Protectorate) เป็นช่วงสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์เครือจักรภพอังกฤษซึ่งดินแดนอังกฤษและเวลส์, ไอร์แลนด์, และสกอตแลนด์ มีสถานะเป็นสาธารณรัฐ และมีผู้ปกครองเรียกว่า "เจ้าผู้อารักขา" (Lord Protector) เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1653 เมื่อมีการยุบเลิกรัฐสภารัมป์ (Rump Parliament) และรัฐสภาแบร์โบน (Barebone's Parliament) แล้วโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้อารักขาเครือจักรภพตามบทบัญญัติของตราสารการปกครอง (Instrument of Government) ต่อมาใน ค.ศ. 1659 คณะกรรมาธิการความปลอดภัย (Committee of Safety) เข้ายุบเลิกรัฐสภาอีกครั้ง เนื่องจากริชาร์ด ครอมเวลล์ (Richard Cromwell) ผู้สืบทอดตำแหน่งจากโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ไม่สามารถควบคุมรัฐสภาและกองทัพได้ เป็นจุดสิ้นสุดของรัฐในอารักขา ทำให้รัฐสภารัมป์กลับมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาแห่งรัฐ (Council of State) กลับมาเป็นฝ่ายบริหารอีกครั้ง

ภูมิหลัง[แก้]

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 มีการพิจารณาคดีและปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ต่อมา วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1649 มีการตรา "พระราชบัญญัติประกาศให้อังกฤษเป็นเครือจักรภพ" (An Act declaring England to be a Commonwealth) ซึ่งกำหนดให้อังกฤษและเมืองขึ้นทั้งหมดมีสถานะเป็นสาธารณรัฐ มีผู้ปกครอง คือ รัฐสภารัมป์เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาแห่งรัฐเป็นฝ่ายบริหาร

ภายหลังจากที่ตระกูลครอมเวลล์พิชิตไอร์แลนด์เป็นผลสำเร็จ ไอร์แลนด์ก็ตกอยู่ในการปกครองรูปแบบเดียวกัน โดยมีผู้ว่าการฝ่ายทหาร (military governor) เป็นผู้นำสูงสุด แต่งตั้งขึ้น ณ กรุงดับลิน ต่อมามีการรุกรานและยึดครองสกอตแลนด์ได้ ทำให้สกอตแลนด์ต้องอยู่ในการปกครองของผู้ว่าการ (governor) เช่นกัน ซึ่งแต่งตั้งครั้งแรกใน ค.ศ. 1651

แต่ไม่นานหลังจากที่กลุ่มนิยมราชวงศ์และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ถูกปราบราบคาบในยุทธการที่วุร์สเตอร์เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1651 ก็มีการริเริ่มให้ผู้ว่าการสกอตแลนด์มีวาระยาวขึ้น โดยในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1651 รัฐสภารัมป์ออกประกาศให้รวมรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน แต่กระบวนการมาลุล่วงเอาเมื่อมีการตรารัฐบัญญัติสหภาพ (Act of Union) ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1657

ระหว่างนั้น ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1653 ตระกูลครอมเวลล์ ซึ่งได้การสนับสนุนจากกลุ่มแกรนดี (Grandee) ในสภาทัพบก (Army Council) นำกำลังบุกเข้าห้องประชุมรัฐสภารัมป์และสั่งเลิกประชุม หลังจากได้ทราบมาว่า รัฐสภารัมป์พยายามจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้ตกลงกันแล้วว่า จะยุบรัฐสภา

ภายในหนึ่งเดือนหลังจากยุบเลิกรัฐสภารัมป์ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งได้คำแนะนำจากทอมัส แฮร์ริสัน (Thomas Harrison) และเสียงสนับสนุนจากนายทหารคนอื่น ๆ ในกองทัพบก ก็ส่งคำร้องขอไปยังชุมนุมศาสนจักร (congregational church) ในทุกเทศมณฑล เพื่อให้เสนอชื่อบุคคลที่ศาสนจักรเห็นว่า สมควรเข้าเป็นผู้บริหารการแผ่นดินคณะใหม่ ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1653 มีการนำรายชื่อดังกล่าวมาจัดตั้งรัฐสภา เรียกว่า "รัฐสภาแบร์โบน" แต่กลุ่มแกรนดีเห็นว่า ควบคุมยาก ทั้งยังตกเป็นเป้าการล้อเลียนอยู่เสมอ สมาชิกรัฐสภาแบร์โบนที่สนับสนุนโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ จึงจัดการให้รัฐสภาถูกยุบ โดยยื่นญัตติขอยุบเลิกรัฐสภาในเวลาที่มีสมาชิกไม่กี่คนมาประชุม สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวก็ถูกทหารขับออกจากห้องประชุม ในที่สุด กลุ่มแกรนดีก็ออกตราสารการปกครองเพื่อปูทางให้เกิดการปกครองแบบรัฐในอารักขา

การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์[แก้]

เมื่อยุบเลิกรัฐสภาแบร์โบนแล้ว จอห์น แลมเบิร์ต (John Lambert) นายทหารผู้หนึ่ง เสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า "ตราสารการปกครอง" ซึ่งใช้รูปแบบส่วนใหญ่ตามหัวข้อคำเสนอ (Heads of Proposals) ตราสารดังกล่าวทำให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้เป็นเจ้าผู้อารักขาไปชั่วชีวิต โดยมีสถานะเป็นประธานแมจิสเตรต (magistrate) และดำเนินการปกครอง มีอำนาจเรียกประชุมและยุบเลิกรัฐสภา แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากสภาแห่งรัฐด้วย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1653

การปกครองของกลุ่มพลตรี[แก้]

รัฐสภาชุดแรกของรัฐในอารักขาเปิดประชุมในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1654 และหลังจากรัฐสภาแสดงท่าทีบางประการในเบื้องต้นเพื่อเป็นนัยว่า ยอมรับบุคคลที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่งตั้งเอาไว้ รัฐสภาก็เริ่มกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1655 โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐบัญญัติบางฉบับ ก็ประกาศยุบเลิกรัฐสภาเสียทีเดียว แทนที่จะยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ เซอร์จอห์น เพนรัดด็อก (John Penruddock) จึงนำกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง เป็นเหตุให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แบ่งเขตการปกครองทั่วอังกฤษออกเป็นเขตทหาร (military district) ให้มีหัวหน้าเขตเป็นทหารชั้นพลตรี 15 คนซึ่งขึ้นตรงต่อเขาเท่านั้น รวมกันเรียกว่า "ผู้ว่าการผู้ทรงธรรม" (godly governor) และมีอำนาจควบคุมกองทหาร เก็บภาษี ตลอดทั้งสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากท้องที่ต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์ นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งข้าหลวงรักษาความสงบแห่งจักรภพ (commissioner for securing the peace of the commonwealth) ขึ้นทุกเทศมณฑลเพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าการดังกล่าว ข้าหลวงเหล่านี้บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยเคยคร่ำหวอดในวงการเมือง แต่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกลัทธิพิวริตันนิซึมซึ่งอ้าแขนต้อนรับกลุ่มพลตรีและสนับสนุนกิจการของพวกเขาด้วยความเปรมปรีดิ์ อย่างไรก็ดี หลายคนเกรงว่า กลุ่มพลตรีจะเป็นภัยต่ออำนาจหน้าที่ของตนและต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ ประกอบกับเมื่อพลตรี จอห์น เดสเบอระ (John Desborough) ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเพื่อให้มีการสนับสนุนทางการเงินต่อการดำเนินงานของกลุ่มพลตรี แต่รัฐสภาชุดที่สองของรัฐในอารักขา ซึ่งแต่งตั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ลงคะแนนไม่เห็นชอบ เพราะประหวั่นว่า ประเทศจะกลายเป็นรัฐทหารเป็นการถาวร ทำให้กลุ่มพลตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี นอกจากนี้ กิจกรรมของกลุ่มพลตรีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1655 จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ยังส่งผลให้ผู้คนเกลียดชังระบอบการปกครองนี้ยิ่งขึ้นไปอีก[1]

บทบาทของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์[แก้]

เมื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญดำเนินมาจนถึง ค.ศ. 1657 ปรากฏว่า รัฐสภาเสนอให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้เขาคิดไม่ตก เพราะตัวเขาเองเป็นโต้โผในการล้มล้างระบอบกษัตริย์มาก่อน เขาทนหนักใจเพราะข้อเสนอนี้มาถึง 6 สัปดาห์ จนวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1657 จึงแถลงว่า ไม่รับเป็นกษัตริย์[2] แต่กระนั้น ก็รับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาอีกครั้ง ซึ่งมีอำนาจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามที่ระบุไว้ในเอกสาร "ฎีกาและคำแนะนำอันนอบน้อม" (Humble Petition and Advice) อันประกาศใช้แทนที่ตราสารการปกครอง แม้ไม่ยอมเป็นกษัตริย์ แต่ก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา ณ ท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ด้วยการขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์ราชาภิเษกที่สั่งให้ยกมาจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ พิธีรับตำแหน่งของเขายังคล้ายกับพิธีราชาภิเษก มีการใช้ราชสัญลักษณ์และกกุธภัณฑ์หลายอย่าง เช่น เครื่องทรงสีม่วง, ดาบแห่งความยุติธรรม, คทา, และจุลมงกุฏ แต่ไม่ได้ใช้มงกุฏหรือลูกโลก ซึ่งเอามาใส่ไว้ในตราประจำแหน่งของเขาแทน กระนั้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ "ไม่เคยได้รับความยินยอมพร้อมใจจากชนในชาติ และรัฐในอารักขาก็ดำเนินไปโดยตั้งอยู่บนการใช้กำลังทหาร"[3]

การปกครองของริชาร์ด ครอมเวลล์[แก้]

เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1658 ริชาร์ด ครอมเวลล์ บุตรชายคนที่สามของเขา ก็สืบตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาต่อ ริชาร์ดพยายามขยายรากฐานของการปกครองแบบรัฐในอารักขาจากการใช้กำลังทหารไปยังกลุ่มพลเรือน เขาเรียกประชุมรัฐสภาใน ค.ศ. 1659 แต่สมาชิกพากันประณามการปกครองของบิดาเขาว่า เป็น "ยุคสมัยแห่งเผด็จการและความถดถอยทางเศรษฐกิจ" ทั้งโจมตีสถานะของเจ้าผู้อารักขาว่า ไม่ใช่กษัตริย์ ก็เหมือนเป็นกษัตริย์ ทั้งพยายามถ่วงการประชุมด้วยการต่อต้านไม่รู้จบและกลเม็ดเด็ดพรายต่าง ๆ[4]

เมื่อริชาร์ด ครอมเวลล์ เห็นว่า ตนไม่สามารถควบคุมใด ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาหรือกองทัพ จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1658 เพื่อแทนที่สภาแห่งรัฐของรัฐในอารักขา แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1658 ก็จัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้นอีกครั้งเพื่อแทนที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัย ตัวริชาร์ดเองนั้นไม่ได้ถูกถอดจากตำแหน่งหรือจับกุมอย่างโจ่งแจ้ง แต่มีการยอมให้เขาจางตัวเองออกไปจากหน้าการเมือง นับเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐในอารักขา[5]

ผลพวง[แก้]

หลังจากความวุ่นวายในช่วงสั้น ๆ แห่งการรื้อฟื้นเครือจักรภพ ก็มีการยอมรับตามประกาศเบรดา (Declaration of Breda) ให้นำระบอบกษัตริย์กลับคืนมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1660 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการริเริ่มของพลเอก จอร์จ มองก์ (George Monck)

อ้างอิง[แก้]

  1. Durston 1998, pp. 18–37.
  2. Roots 1989, p. 128.
  3. Jones 1978, p. 113.
  4. Jones 1978, pp. 117, 118.
  5. Jones 1978, p. 120.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Durston, Christopher (1998). "The Fall of Cromwell's Major-Generals". English Historical Review. 113 (450): 18–37. doi:10.1093/ehr/cxiii.450.18. ISSN 0013-8266.
  • Hirst, Derek (1990). "The Lord Protector, 1653–8". ใน Morrill (บ.ก.). Oliver Cromwell and the English Revolution. p. 137. Call Number: DA426 .O45 1990.
  • Hutton, Ronald (2000). The British Republic 1649–1660 (2nd ed.). Macmillan. pp. 116–118.
  • Jones, J.R. (1978). Country and Court: England 1658–1714. Edward Arnold. pp. 113–120.
  • Roots, Ivan (1989). Speeches of Oliver Cromwell. Everyman classics. p. 128. ISBN 0-460-01254-1.

ดูเพิ่ม[แก้]