ข้ามไปเนื้อหา

โรมโบราณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรมันโบราณ)
โรมโบราณ

Roma
753 ปีก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 476
Territories of the Roman civilization:
เมืองหลวงโรม
ภาษาทั่วไปภาษาละติน
การปกครองราชอาณาจักร (753–509 ปีก่อน ค.ศ.)
สาธารณรัฐ (509–27 ปีก่อน ค.ศ.)
จักรวรรดิ (27 ปี ก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 476)
ยุคประวัติศาสตร์สมัยโบราณ
• ก่อตั้งเมืองโรม
753 ปีก่อน ค.ศ.
509 ปีก่อน ค.ศ.
27 ปีก่อน ค.ศ.
ค.ศ. 476

โรมโบราณ (อังกฤษ: Ancient Rome) หรือ โรมันโบราณ หมายถึงอารยธรรมของชาวโรมันตั้งแต่การก่อตั้งเมืองโรมในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประกอบด้วย ยุคราชอาณาจักรโรมัน (753–509 ปีก่อนคริสตกาล), ยุคสาธารณรัฐโรมัน (509–27 ปีก่อนคริสตกาล) และยุคจักรวรรดิโรมัน (27 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 476)[1]

โรมโบราณเริ่มต้นจากการตั้งถิ่นฐานของชนชาวอิตาลิกในปี 753 ก่อนคริสตกาล ริมแม่น้ำไทเบอร์บนคามสมุทรอิตาลี เกิดการขยายถิ่นฐานเป็นเมืองจนสามารถควบคุมดินแดนเพื่อนบ้านผ่านสนธิสัญญาและยุทธการ กระทั่งในที่สุดสามารถปกครองทั้งคาบสมุทรอิตาลีและยึดครองดินแดนขนาดใหญ่และผู้คนในทวีปยุโรปและรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน นับว่าเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคโบราณ โดยมีประชากรประมาณ 50 ถึง 90 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรโลกในขณะนั้น และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ล้านตารางกิโลเมตร (1.9 ล้านตารางไมล์) ในช่วงที่ทรงอำนาจที่สุดใน ค.ศ. 117[2][3][4]

โรมโบราณมีระบบการปกครองที่หลายหลาย ตั้งแต่ราชาธิปไตยในระยะแรก สาธารณรัฐคณาธิปไตย และท้ายที่สุดระบบจักรวรรดิแบบอัตตาธิปไตย อารยธรรมโรมันเข้ามามีอิทธิพลต่อภูมิภาคยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้/คาบสมุทรบอลข่าน และบริเวณรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนโดยการพิชิตและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับท้องถิ่นที่เข้าไปปกครอง ก่อนที่จะเริ่มหมดอำนาจลงและแบ่งแยกเป็นสองอาณาจักร ได้แก่ "จักรวรรดิโรมันตะวันตก" ที่มีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง ก่อนที่จะล่มสลายลงด้วยสาเหตุความขัดแย้งภายในและการถูกรุกรานโดยชนกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานและการแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรอิสระน้อยใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 อันเป็นจุดสิ้นสุดของยุคโรมโบราณ และ "จักรวรรดิโรมันตะวันออก" (หรือที่เรียกว่า "จักรวรรดิไบแซนไทน์") ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ที่ประกอบด้วยกรีซ ดินแดนที่พิชิตโดยจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 อานาโตเลีย ซีเรีย และอียิปต์ ที่รอดจากวิกฤติการณ์ที่จักรวรรดิทางด้านตะวันตกประสบ และแม้ว่าจะเสียซีเรียและอียิปต์แก่อาณาจักรมุสลิมอาหรับ จักรวรรดิก็ดำรงสืบมาอีกหนึ่งสหัสวรรษ กระทั่งเสียเมืองให้กับจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1453

วัฒนธรรมโรมันมักจะจัดอยู่ใน “ยุคโบราณ” (classical antiquity) ร่วมกับกรีกโบราณ หรือที่เรียกว่า "เกรโก-โรมัน" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เป็นต้นตอและแรงบันดาลใจให้แก่วัฒนธรรมโรมโบราณ

โรมโบราณประสบความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจ เช่น การก่อสร้างท่อระบายน้ำและถนนทั่วทั้งจักรวรรดิ ตลอดจนอนุสาวรีย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่โอ่อ่า อีกทั้งยังมีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในการวิวัฒนการทางด้านกฎหมาย การสงคราม ศิลปะ วรรณคดี สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และภาษาของโลกตะวันตก และประวัติศาสตร์โรมันยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีผู้คนศึกษาและมีอิทธิพลต่อโลกจนทุกวันนี้

การก่อตั้งตามตำนานปรัมปรา

[แก้]
ตามตำนาน โรมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 753 ก่อนคริสต์ศักราชโดยโรมุลุสและแรมุส ที่ถูกเลี้ยงด้วยแม่หมาป่า

ตามตำนานการก่อตั้งกรุงโรม เมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 753 ปีก่อนคริสตกาล บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ทางตอนกลางของอิตาลี โดยพี่น้องฝาแฝดโรมุลุสและแรมุส ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายอีเนียสแห่งเมืองทรอย[5] นัดดาของกษัตริย์เชื้อสายละตินพระนามว่านูมิเตอร์ (Numitor) แห่งอัลบาลองกา กษัตริย์นูมิเตอร์ทรงถูกอะมูลิอุส (Amulius) พระอนุชาชิงบังลังก์ ในระหว่างที่รีอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) พระธิดาของนูมิเตอร์ทรงให้กำเนิดพระโอรสฝาแฝด[6][7] ที่ถือว่าเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพ เนื่องจากทั้งคู่เกิดจากที่มารดา รีอา ซิลเวียถูกเทพมาส์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมันข่มขืน

ด้วยเหตุที่กษัตริย์อะมูลิอุสเกรงว่าโรมุลุสและแรมุสจะยึดบัลลังก์ในอนาคต เขาจึงบัญชาให้จับทั้งสองไปทุ่มน้ำให้ตาย[7] แต่ด้วยหมาป่าตัวหนึ่ง (หรือภรรยาของคนเลี้ยงแกะในบางตำนาน) ช่วยชีวิตและเลี้ยงดูพวกเขาจนโต ทั้งสองจึงกลับมาทวงบัลลังก์แห่งอัลบาลองกาคืนแก่กษัตริย์นูมิเตอร์[8][7]

ในภายหลัง แฝดทั้งสองได้ก่อตั้งเมืองของตนเองขึ้น แต่โรมุลุสกลับสังหารแรมุสในการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับที่ตั้งของราชอาณาจักรโรมัน แม้ว่าบางตำนานระบุว่าเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับผู้ใดจะเป็นผู้ปกครองหรือให้ชื่อของเขาเป็นชื่อเมือง[9] ในท้ายที่สุด ชื่อโรมุลุสจึงเป็นที่มาของชื่อเมืองที่ก่อตั้งใหม่นี้[7] เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในเมือง โรมจึงสถาปนาเมืองให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ยากไร้ ผู้ถูกเนรเทศ และผู้ที่ไม่มีดินแดนใดต้องการ สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะเมืองมีประชากรชายจำนวนมากแต่ขาดผู้หญิง โรมุลุสจึงไปเยี่ยมเมืองและชนเผ่าใกล้เคียงเพื่อไปเจรจากับและหาสตรีมาสร้างครอบครัว แต่เนื่องจากโรมเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เขาจึงถูกปฏิเสธ ตำนานกล่าวว่าชาวละติน (โรมัน) เชิญชาวซาบีนเข้าร่วมงานเทศกาลและการข่มขืนสตรีชาวซาบีน ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มชนละตินกับซาบีน[10]

อีกตำนานหนึ่งซึ่งบันทึกโดยไดอะไนซัสแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวว่าเจ้าชายอีเนียสทรงนำชาวกรุงทรอยออกทะเลเพื่อค้นหาที่ตั้งกรุงทรอยแห่งใหม่หลังสิ้นสุดสงครามกรุงทรอย กระทั่งมาถึงริมฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ ไม่นานหลังจากที่เทียบเรือ บรรดาชายต้องการออกไปทะเลอีกครั้ง แต่หญิงที่เดินทางมาด้วยการไม่ต้องการจากไป โดยมีหญิงนางหนึ่ง นามว่า โรมา แนะให้ผู้หญิงเผาเรือเพื่อไม่ให้แล่นเรือจากไป ในตอนแรกพวกผู้ชายโกรธโรมา แต่ไม่นานพวกเขาตระหนักได้ว่าที่แห่งนี้คือสถานที่ที่เหมาะจะตั้งถิ่นฐาน จึงตั้งชื่อถิ่นฐานใหม่นี้ตามหญิงคนนี้[11]

เวอร์จิล กวีชาวโรมันเล่าถึงตำนานนี้ในบทกวีมหากาพย์เรื่อง อีนีอิด (Aeneid) ที่ซึ่งเจ้าชายอีเนียสแห่งทรอยถูกลิขิตโดยเทพเจ้าให้พบกรุงทรอยใหม่ ในมหากาพย์นี้ ผู้หญิงก็ปฏิเสธที่จะมุ่งกลับไปยังทะเล แต่ก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้บนแม่น้ำไทเบอร์ หลังจากไปถึงอิตาลี อีเนียสซึ่งต้องการแต่งงานกับลาวิเนีย ถูกบังคับให้ทำสงครามกับคนรักเก่าเทิร์นนัส ตามบทกวี กษัตริย์อัลบันสืบเชื้อสายมาจากอีเนียส ดังนั้น โรมุลุสผู้ก่อตั้งกรุงโรมจึงเป็นทายาทของเขา

Byzantine EmpireWestern Roman EmpireRoman EmpireRoman RepublicRoman Kingdom

ยุคราชอาณาจักร

[แก้]
โลงศพของคู่สมรสชาวอิทรุสกัน (จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ห้องที่ 18)

เมืองโรมเติบโตขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ ที่ลุ่มริมแม่น้ำไทเบอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการจราจรและการค้า[8] ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดี หมู่บ้านแห่งโรมอาจก่อตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล แม้ว่าอาจย้อนกลับไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล โดยสมาชิกของชนเผ่าละตินในอิตาลีบนเนินเขาปาลาตีนุส[12][13]

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ชาวอิทรุสกันซึ่งตั้งรกรากอยู่ในเอทรูเรีย ดินแดนทางเหนือของโรมเป็นผู้ควบคุมทางการเมืองในภูมิภาคนี้ภายใต้การปกครองชนชั้นสูงและระบอบราชาธิปไตย พอถึงปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ชาวอิทรุสกันสูญเสียอำนาจ และ ณ จุดนี้ ชนเผ่าละตินและซาบีนดั้งเดิมกลับเป็นผู้ปกครองใหม่โดยการก่อตั้งสาธารณรัฐ โดยจำกัดคอำนาจของผู้ปกครองมากขึ้น[14]

หลักฐานทางโบราณคดีของโรมันชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนภายในจัตุรัสโรมัน ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของกษัตริย์และศาสนา นุมา ป็อมปิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์องค์ที่สองของกรุงโรมที่สืบต่อจากโรมุลุส เริ่มโครงการก่อสร้างของกรุงโรมด้วยพระราชวัง Regia และศาสนสถานสำหรับพรหมจารีเวสทัล

ยุคสาธารณรัฐ

[แก้]

ตามประเพณีและต่อมาวรรณกรรมของนักเขียน เช่น ลิวี สาธารณรัฐโรมันก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 509 ปีก่อนคริสตกาล[15] ตาร์กวินิอุสผู้หยิ่งทะนง (Lucius Tarquinius Superbus) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายจากเจ็ดพระองค์ของอาณาจักรโรมันถูก ลูกิอุส ยูนิอุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) โค่นบังลังก์ พร้อมกับการเปลี่ยนระบอบปกครองมาเป็นการเลือกตั้ง แมยิสเตร็ด (magistrate) ประจำปี ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งในทางบริหารและตุลาการ และการจัดตั้งสภาผู้แทนต่าง ๆ[16] มีการตรารัฐธรรมนูญเพื่อการตรวจสอบ ถ่วงดุลและการแยกใช้อำนาจของผู้ปกครอง บุคคลที่สำคัญที่สุดในบรรดาแมยิสเตร็ด คือ "กงสุล" จำนวนสองคน ซึ่งใช้อำนาจในทางบริหารร่วมกัน[17] เช่น การออกคำสั่งทางทหาร กงสุลต้องทำงานร่วมกับวุฒิสภาโรมัน (Senātus Rōmānus) ซึ่งเดิมเป็นสภาที่ปรึกษาของขุนนางชั้นสูง หรือ "แพทริเซียน (patricius)" แต่มีจำนวนและอำนาจที่เพิ่มขึ้น[18]

แมยิสเตร็ดคนอื่น ๆ ของสาธารณรัฐ ประกอบด้วย ทริบูนุส (tribunus), ไกวส์ตอร์ (qvaestor; ขุนคลัง), เอดีลิส (aedīlis), พรีตอร์ (praetor) และ เซนซอร์ (censor)[19] ซึ่งแต่เดิม แมยิสเตร็ดถูกจำกัดไว้สำหรับบรรดาแพทริเซียน แต่ภายหลังเปิดให้ประชาชนทั่วไป หรือ "พลีเบียน (plebeian)" เข้าร่วมได้[20] การชุมนุมลงคะแนนของสาธารณรัฐเกิดขึ้นใน comitia centuriata (สภาราษฎร/สภาสามัญ/สภาเซนจูรี/สภาร้อยคน) ซึ่งลงคะแนนในเรื่องสงครามและสันติภาพ รวมถึงการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งที่สำคัญมาก และ comitia tributa (สภาชนเผ่า) ซึ่งจะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญน้อยกว่า[21]

แผนที่ดินแดนบนคาบสมุทรอิตาลีเมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล

ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล สาธารณรัฐโรมันถูกโจมตีโดยชาวกอล ซึ่งได้ขยายอำนาจมาถึงคาบสมุทรอิตาลีออกบริเวณหุบเขาโปและผ่านเอทรูเรีย ในวันที่ 16 กรกฎาคม 390 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพกอลภายใต้การนำของหัวหน้าเผ่าเบรนนุส ได้เผชิญหน้ากับทัพโรมันที่ริมฝั่งแม่น้ำอัลเลีย สิบไมล์ทางเหนือของกรุงโรม เบรนนัสเอาชนะทัพโรมันและเดินทัพไปยังกรุงโรม ชาวโรมันส่วนใหญ่หนีออกจากเมือง แต่บางคนก็ยืนหยัดหลบซ่อนบนเนินเขาคาปิโตลีน ทัพกอลได้ปล้นและเผาเมืองและทำการล้อมเนินเขาคาปิโตลีน การปิดล้อมกินเวลาเจ็ดเดือน กระทั่งพวกกอลตกลงที่จะคือความสงบสุขแก่ชาวโรมันเพื่อแลกกับทองคำหนัก 1,000 ปอนด์[22] ตามตำนานที่เล่าขานต่อมา ชาวโรมันที่ดูแลการชั่งน้ำหนักสังเกตเห็นว่าชาวกอลใช้ตาชั่งปลอม จึงจับอาวุธและเอาชนะกอลได้ นายพลมาร์กุส ฟูริอุส คามิลุส (Marcus Furius Camillus) ผู้ชัยกล่าวว่า "ด้วยเหล็ก ไม่ใช่ด้วยทองคำ ที่โรมได้ซื้ออิสรภาพของเธอ"[23]

ในเวลาต่อมา ชาวโรมันค่อย ๆ พิชิตดินแดนของชนชาติอื่น ๆ บนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งรวมถึงชาวอิทรุสกัน[24] ภัยคุกคามสุดท้ายต่ออำนาจของโรมันบนคาบสมุทรอิตาลีเกิดขึ้นเมื่อ ตารันตุม (ตารันโตในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาณานิคมที่สำคัญของกรีกได้ขอความช่วยเหลือจากนายพลเลื่องชื่อชาวกรีกไพรุสแห่งอีไพรุสใน 281 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของโรมัน[25] ชาวโรมันรักษาชัยชนะของตนโดยการก่อตั้งอาณานิคมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่ได้สร้างการควบคุมที่มั่นคงเหนือภูมิภาคที่พวกเขาพิชิตได้[24]

สงครามพิวนิก

[แก้]

ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สาธารณัฐโรมันได้เผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ใหม่ที่น่าเกรงขาม คือ คาร์เทจ นครรัฐของชาวฟินิเชียที่ร่ำรวยและเจริญรุ่งเรือง และหมายมุ่งจะครอบครองพื้นที่ริมฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งสองเป็นพันธมิตรในสมัยสงครามกับนายพลไพรุส ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทั้งคู่ แต่ด้วยความเป็นเจ้าแห่งกรุงโรมในแผ่นดินใหญ่ และเจ้าแห่งทะเลของคาร์เทจ ความขัดแย้งเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกนำมาซึ่งสงคราม[26][27]

การเปลี่ยนแปลงของอาณาเขตโรมันและคาร์เธจในช่วงสงครามพิวนิก
  ดินแดนคาร์เทจ
  ดินแดนโรมัน

สงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 264 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อเมืองเมสซีนาขอความช่วยเหลือจากคาร์เทจในการสู้รบกับเฮียรอนที่ 2 แห่งซีรากูซา หลังจากการเข้าสกัดของคาร์เทจ เมสซีนากลับขอให้ชาวโรมันขับไล่ชาวคาร์เทจ โรมเข้าสู่สงครามครั้งนี้เพราะซีรากูซาและเมสซีนาอยู่ใกล้เมืองกรีกที่เพิ่งพิชิตใหม่ทางตอนใต้ของอิตาลีมากอีกทั้งคาร์เทจยังสามารถโจมตีดินแดนของโรมันได้ ด้วยเหตุนี้ โรมจึงสามารถขยายอาณาเขตของตนเหนือเกาะซิซิลี[28]

แม้ว่าชาวโรมันจะมีประสบการณ์ในการต่อสู้ทางบก การเอาชนะศัตรูใหม่นี้จำเป็นต้องมีการต่อสู้ทางเรือ คาร์เทจเป็นมหาอำนาจทางทะเลและการขาดเรือรบและประสบการณ์ทางเรือของโรมันทำให้เส้นทางสู่ชัยชนะนั้นยาวนานและยากลำบากสำหรับสาธารณรัฐโรมัน แม้กระนั้น หลังจากการต่อสู้ที่ยืดยื้อกว่า 20 ปี โรมสามารถเอาชนะคาร์เทจได้ และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ที่ในอนาคตจะนำมาสู่เหตุผลหนึ่งของการก่อสงครามพิวนิกครั้งที่สอง[29] จากการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามของคาร์เทจอันเนื่องมาจากการสิ้นสุดสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่ง[30]

สงครามพิวนิกครั้งที่สองมีชื่อเสียงในด้านนายพลที่เก่งกาจ เช่น แฮนนิบัล (Hannibal) และแฮสดรูบัล (Hasdrubal) ของคาร์เทจ และมาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุส (Marcus Claudius Marcellus), กวินตุส ฟาบิอุส มักซิมุส (Quintus Fabius Maximus Verrucosus) และปุบลุส กอร์เนลิอุส สกิปิโอ (Publius Cornelius Scipio) ของโรมัน การศึกเริ่มต้นด้วยการรุกรานของฮิสปาเนียอย่างกล้าหาญโดยแฮนนิบัล บุตรชายของฮามิลการ์ บาร์ซา นายพลคาร์เทจ ซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการในซิซิลีในช่วงสิ้นสุดสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่ง แฮนนิบัลเดินทัพอย่างรวดเร็วผ่านฮิสปาเนียไปยังเทือกเขาแอลป์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่พันธมิตรของโรม วิธีที่ดีที่สุดเพื่อเอาชนะแฮนนิบัลคือการชะลอการมาถึงของทัพคาร์เทจด้วยสงครามกองโจร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของนายพลกวินตุส ฟาบิอุส มักซิมุส ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของแฮนนิบัลในการยึดกรุงโรมจึงไม่สำเร็จ เขาไม่สามารถทำให้เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรให้กบฏต่อโรมและเสริมกำลังกองทัพที่ลดน้อยลงของเขาได้มากพอ จึงขาดยุทโธปกรณ์และกำลังพลในการล้อมกรุงโรม

กระนั้น การรุกรานของแฮนนิบัลกินเวลานานถึง 16 ปี ทำลายล้างดินแดนคาบสมุทรอิตาลี จนในที่สุดเมื่อชาวโรมันรับรู้ถึงการขาดเสบียงของทัพคาร์เทจ พวกเขาจึงส่งนายพลสกิปิโอซึ่งเอาชนะแฮสดรูบัล น้องชายของแฮนนิบัลในดินแดนที่เป็นประเทศสเปนในปัจจุบัน ให้ไปบุกพื้นที่ห่างไกลของคาร์เทจที่ไม่มีการป้องกัน และบังคับให้แฮนนิบาลยกทัพกลับไปปกป้องคาร์เทจเอง ผลที่ได้คือการสิ้นสุดของสงครามพิวนิกครั้งที่สอง ในศึกแห่งซามาในเดือนตุลาคม 202 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้สกิปิโอได้สมญานามว่า Africanus

ช่วงปลายสาธารณรัฐ

[แก้]

ยุคจักรวรรดิ

[แก้]

การล่มสลายของโรมันตะวันตก

[แก้]

วัฒนธรรม

[แก้]

ชีวิตในโรมันโบราณหมุนรอบกรุงโรมซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาทั้งเจ็ด เมืองนี้มีอาคารและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากมาย เช่น โคลอสเซียม จัตุรัสทราจัน และวิหารแพนธีอัน มีโรงละคร โรงยิม ตลาด ท่อระบายน้ำที่ใช้งานได้ โรงอาบน้ำพร้อมห้องสมุดและร้านค้า และน้ำพุที่มีน้ำดื่มสะอาดที่ส่งมาจากท่อส่งน้ำหลายร้อยไมล์ ทั่วทั้งอาณาเขตภายใต้การควบคุมของกรุงโรมโบราณ สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยมีตั้งแต่บ้านแบบเรียบง่ายไปจนถึงวิลล่าในชนบท

ในนครหลวงกรุงโรม มีที่ประทับของจักรพรรดิบนเนินปาลาตีนุสอันสง่างาม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า palace หรือ "พระราชวัง" ในภาษาอังกฤษกับอีกหลายภาษา ชนชั้นล่างและกลางอาศัยอยู่ใจกลางเมือง อัดแน่นอยู่ในอพาร์ตเมนต์ หรือ อินซูเล (insulae) คล้ายสลัมในยุคปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้มักให้เช่าและสร้างโดยชนชั้นสูงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน

เนินเขาทั้งเจ็ด

ภาษา

[แก้]

ภาษาพื้นเมืองของชาวโรมันคือ ละติน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาอิตาลิก[31] ตัวอักษรมีพื้นฐานมาจากอักษรอิทรุสกันซึ่งพัฒนามาจากชุดตัวอักษรกรีก[32] แม้ว่าวรรณคดีละตินที่หลงเหลืออยู่ประกอบด้วยภาษาละตินคลาสสิกเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นภาษาเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นและขัดเกลาในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ภาษาพูดที่ใช้อยู่ทั่วไปในจักรวรรดิโรมันคือภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin) ซึ่งแตกต่างจากภาษาละตินคลาสสิกอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านไวยากรณ์ คำศัพท์ และการออกเสียง[33] ผู้พูดภาษาละตินสามารถเข้าใจทั้งสองจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่อภาษาละตินที่พูดเริ่มแตกต่างจากภาษาเขียนออกไปมากจนต้องเรียนรู้ภาษา 'คลาสสิก' หรือ 'ละตินที่ดี' เป็นภาษาที่สอง[34]

ในขณะที่ภาษาละตินยังคงเป็นภาษาเขียนหลักของจักรวรรดิโรมัน ภาษากรีกกลายเป็นภาษาพูดของชนชั้นสูงที่มีการศึกษาดี เนื่องจากวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่ชาวโรมันศึกษานั้นเขียนเป็นภาษากรีก แต่ในอีกครึ่งหนึ่งของโรมันทางตะวันออก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออก ภาษาละตินไม่สามารถแทนที่ภาษากรีก และหลังจากการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 (จักรพรรดิจัสติเนียน) ภาษากรีกกลายเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิ[35] การขยายตัวของจักรวรรดิโรมันได้แพร่ภาษาละตินทั่วทั้งยุโรป และภาษาละตินสามัญได้พัฒนาเป็นภาษาถิ่นในสถานที่ต่าง ๆ กัน ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์ที่แตกต่างกันมากมาย

ศาสนา

[แก้]
เทวสถานแห่งอันโตนินัสและฟาอัสตินาในกรุงโรม

ศาสนาโรมันโบราณไม่ได้ประกอบขึ้นจากการเล่าเรื่องเทพเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์[36] ต่างจากตำนานเทพเจ้ากรีก เทพเจ้าเหล่านี้ไม่มีลักษณะเป็นตัวตน แต่เป็นจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันคลุมเครือที่เรียกว่า "นูมินา (numina)" ชาวโรมันยังเชื่อด้วยว่าทุกคน สถานที่ หรือสิ่งของล้วนมี "genius" หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นของตัวเอง

ในช่วงสาธารณรัฐโรมัน ศาสนาโรมันได้รับการจัดระเบียบภายใต้ระบบที่เคร่งครัดของตำแหน่งนักบวชที่มีตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก Collegium Pontificum เป็นองค์กรระดับบนสุดในลำดับชั้นนี้ และมี ปอนติเฟ็กซ์ มักซีมุส (Pontifex maximus) คือ หัวหน้านักบวชประจำชาติ[37][38]

เมื่อมีการติดต่อกับชาวกรีก เทพเจ้าโรมันโบราณก็มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้ากรีกมากขึ้น[39] เห็นได้จากเทพจูปิเตอร์ถูกมองว่าเป็นเทพองค์เดียวกับเทพซูส เทพมาส์เกี่ยวข้องกับเทพแอรีส และเทพเนปจูนกับเทพโพไซดอน เป็นต้น เมื่อถึงสมัยจักรวรรดิ ชาวโรมันได้ซึมซับตำนานเทพที่ตนพิชิตได้และมักนำไปสู่สถานการณ์ที่วัดและนักบวชของเทพเจ้าโรมันดั้งเดิมตั้งอยู่เคียงข้างกับเทพเจ้าต่างชาติ[40]

ในรัชสมัยจักรพรรดิแนโรในคริสต์ศตวรรษที่ 1 นโยบายทางการของโรมันที่มีต่อศาสนาคริสต์เป็นไปในทางลบ การเป็นคริตศาสนิกชนเพียงอย่างเดียวอาจถูกลงโทษถึงตาย มาถึงรัชกาลจักรพรรดิดิออเกลติอานุสที่การกดขี่ข่มเหงชาวคริสต์ถึงจุดสูงสุด อย่างไรก็ตาม ศาสนาคริสต์กลับกลายเป็นศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการของโรมันภายใต้จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช จากการประกาศพระราชกฤษฎีกามิลานในปี ค.ศ. 313 กับพระราชบัญชาของจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1ในปี ค.ศ. 391 ที่ทุกศาสนายกเว้นศาสนาคริสต์ถูกสั่งห้าม[41]

จริยธรรมและคุณธรรม

[แก้]

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมโบราณอื่น ๆ แนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมและศีลธรรมนั้นมีความคล้ายคลึงสังคมสมัยใหม่ในบางส่วน และแตกต่างกันอย่างมากในแง่มุมที่สำคัญหลายประการ เนื่องจากโรมอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างต่อเนื่องของการโจมตีจากชนเผ่าที่ปล้นสะดม วัฒนธรรมของพวกเขาจึงจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งทางทหารโดยยึดทักษะการต่อสู้เป็นคุณลักษณะที่มีค่า ในขณะที่สังคมสมัยใหม่ถือว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นคุณธรรม สังคมโรมันถือว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นรอง ถึงขนาดเป็นข้อบกพร่องทางศีลธรรม อันที่จริง จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของการแข่งขันกลาดิเอเตอร์คือเพื่อป้องกันชาวโรมันจากจุดอ่อนนี้[42][43][44] ชาวโรมันยังยกย่องคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญและความเชื่อมั่น (virtus) ความรู้สึกของหน้าที่ต่อประชาชน ความพอประมาณและการหลีกเลี่ยงส่วนเกิน (moderatio) การให้อภัยและความเข้าใจ (clementia) ความเป็นธรรม (severitas) และความจงรักภักดี (pietas)[45]

สังคมโรมันมีบรรทัดฐานที่มั่นคงและเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องเพศ แม้ว่าเช่นเดียวกับหลาย ๆ วัฒนธรรม ความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงตกอยู่กับผู้หญิง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าจะมีคู่สมรสเพียงคนเดียว โดยมีสามีเพียงคนเดียวในช่วงชีวิตของพวกเขา (univira) แม้ว่าจะไม่ค่อยได้รับการยกย่องจากชนชั้นสูงโดยเฉพาะภายใต้จักรวรรดิ ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้รักษาเนื้อรักษาตัวในที่สาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวที่ยั่วยุ และแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ต่อสามีของพวกเขา (pudicitia) และสวมผ้าคลุมหน้าเป็นแสดงอย่างหนึ่งถึงการรักษาความสุภาพเรียบร้อย การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสมักถูกเพิกเฉยสำหรับผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิงแล้วและถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสมัยจักรวรรดิ[46] อย่างไรก็ตาม การค้าประเวณีกลับถูกมองว่าเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับและอยู่ภายใต้การควบคุม[47]

ศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม

[แก้]

ภาพวาดโรมันแสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมกรีก และตัวอย่างที่หลงเหลือถึงปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นภาพเฟรสโกที่ใช้ประดับผนังและเพดานของวิลล่าในชนบท แม้ว่าวรรณคดีโรมันจะกล่าวถึงภาพวาดบนไม้ งาช้าง และวัสดุอื่น ๆ[48][49] ตัวอย่างภาพวาดโรมันหลายตัวอย่างพบได้ที่ปอมเปอี ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้แบ่งประวัติศาสตร์ของภาพวาดโรมันออกเป็นสี่ช่วงเวลา

อาหาร

[แก้]

การละเล่นและสันทนาการ

[แก้]

วิทยาการ

[แก้]

มรดกตกทอด

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ancient Rome | Facts, Maps, & History". Encyclopædia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 September 2017.
  2. Chris Scarre, The Penguin Historical Atlas of Ancient Rome (London: Penguin Books, 1995).
  3. There are several different estimates for the population of the Roman Empire.
  4. * Taagepera, Rein (1979). "Size and Duration of Empires: Growth-Decline Curves, 600 B.C. to 600 A.D.". Social Science History. 3 (3/4): 125. doi:10.2307/1170959. JSTOR 1170959.
  5. Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 3. ISBN 978-0-19-512332-6.
  6. Cavazzi, F. "The Founding of Rome". Illustrated History of the Roman Empire. สืบค้นเมื่อ 8 March 2007.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Livius, Titus (Livy) (1998). The Rise of Rome, Books 1–5. แปลโดย Luce, T.J. Oxford: Oxford World's Classics. pp. 8–11. ISBN 978-0-19-282296-3.
  8. 8.0 8.1 Durant, Will; Durant, Ariel (1944). The Story of Civilization – Volume III: Caesar and Christ. Simon and Schuster, Inc. pp. 12–14. ISBN 978-1567310238.
  9. Roggen, Hesse, Haastrup, Omnibus I, H. Aschehoug & Co 1996
  10. Myths and Legends- Rome, the Wolf, and Mars. Retrieved 8 March 2007.
  11. Mellor, Ronald and McGee Marni, The Ancient Roman World p. 15 (Cited 15 March 2009)
  12. Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. p. 19. ISBN 978-0-500-05121-4.
  13. Duiker, William; Spielvogel, Jackson (2001). World History (Third ed.). Wadsworth. p. 129. ISBN 978-0-534-57168-9.
  14. Ancient Rome and the Roman Empire by Michael Kerrigan. Dorling Kindersley, London: 2001. ISBN 0-7894-8153-7. p. 12.
  15. Langley, Andrew and Souza, de Philip, "The Roman Times", Candle Wick Press, Massachusetts
  16. Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. pp. 43–44. ISBN 978-0-500-05121-4.
  17. 2. การปกครองของโรม
  18. Hooker, Richard (6 June 1999). "Rome: The Roman Republic". Washington State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 May 2011.
  19. Magistratus by George Long, M.A. Appearing on pp. 723–724 of A Dictionary of Greek and Roman Antiquities by William Smith, D.C.L., LL.D. Published by John Murray, London, 1875. Website, 8 December 2006. Retrieved 24 March 2007.
  20. Livius, Titus (Livy) (1998). "Book II". The Rise of Rome, Books 1–5. แปลโดย Luce, T.J. Oxford: Oxford World's Classics. ISBN 978-0-19-282296-3.
  21. Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 39. ISBN 978-0-19-512332-6.
  22. These are literally Roman librae, from which the pound is derived.
  23. [1] Plutarch, Parallel Lives, Life of Camillus, XXIX, 2.
  24. 24.0 24.1 Haywood, Richard (1971). The Ancient World. United States: David McKay Company, Inc. pp. 350–358.
  25. Pyrrhus of Epirus (2) เก็บถาวร 14 เมษายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and Pyrrhus of Epirus (3) เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Jona Lendering. Livius.org. Retrieved 21 March 2007.
  26. Goldsworthy 2006, pp. 25–26.
  27. Miles 2011, pp. 175–176.
  28. [2] Cassius Dio, Roman History, XI, XLIII.
  29. New historical atlas and general history By Robert Henlopen Labberton. p. 35.
  30.  Caspari, Maximilian Otto Bismarck (1911). "Punic Wars § The Interval between the First and Second Wars" . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 22 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 850.
  31. Latin Online: Series Introduction เก็บถาวร 2015-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Winfred P. Lehmann and Jonathan Slocum. Linguistics Research Center. The University of Texas at Austin. 15 February 2007. Retrieved 1 April 2007.
  32. Calvert, J.B. (8 August 1999). "The Latin Alphabet". University of Denver. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2007.
  33. Classical Latin Supplement. p. 2. Retrieved 2 April 2007.
  34. József Herman, Vulgar Latin, English translation 2000, pp. 109–114 ISBN 978-0271020013
  35. Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 203. ISBN 978-0-19-512332-6.
  36. Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. p. 24. ISBN 978-0-500-05121-4.
  37. Edward Gibbon (1787). The history of the decline and fall of the Roman Empire. printed for J.J. Tourneisen. p. 91.
  38. The Encyclopedia Americana: A Library of Universal Knowledge. Encyclopedia Americana Corporation. 1919. p. 644.
  39. Willis, Roy (2000). World Mythology: The Illustrated Guide. Victoria: Ken Fin Books. pp. 166–168. ISBN 978-1-86458-089-1.
  40. willis
  41. Theodosius I (379–395 AD) by David Woods. De Imperatoribus Romanis. 2 February 1999. Retrieved 4 April 2007.
  42. Annual Editions: Western Civilization. Vol. 1 (12 ed.). McGraw-Hill/Dushkin. 2002. p. 68. ... where compassion was regarded as a moral defect ...
  43. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ HuffPo: Bread
  44. Jackson, Michael Anthony (2004). Look Back to Get Ahead: Life Lessons from History's Heroes. Arcade Publishing. p. 174. ISBN 9781559707275. Gladatorial games were popular because the Romans actually believed that compassion was a vice and a weakness
  45. Harvey, Brian K., บ.ก. (2016). Daily Life in Ancient Rome: A Sourcebook. Hackett Publishing Company. pp. 21–28. ISBN 9781585107964.
  46. Langlands, Rebecca (2006). Sexual Morality in Ancient Rome. Cambridge University Press. pp. 3–20. ISBN 9780521859431.
  47. Mathew Dillon and Lynda Garland (2005). Ancient Rome: From the Early Republic to the Assassination of Julius Caesar. Taylor & Francis, 2005. p. 382. ISBN 9780415224598.
  48. Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. pp. 350–352. ISBN 978-0-19-512332-6.
  49. Roman Painting from Timeline of Art History. Department of Greek and Roman Art, The Metropolitan Museum of Art. 2004–10. Retrieved 22 April 2007.

ดูเพิ่ม

[แก้]