วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ขวดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค | |
รายละเอียดวัคซีน | |
---|---|
โรคที่เป็นข้อบ่งชี้ | โควิด-19 |
ชนิด | เอ็มอาร์เอ็นเอ |
ข้อมูลทางคลินิก | |
การอ่านออกเสียง | Tozinameran /ˌtoʊzɪˈnæmərən/ TOH-zih-NAM-ər-ən โทซิแนเมแรน Comirnaty /koʊˈmɜːrnəti/ koh-MUR-nə-tee โคเมอร์เนที[4] |
ชื่อทางการค้า | Comirnaty[2][3] |
ชื่ออื่น | BNT162b2, Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine, COVID-19 mRNA vaccine (nucleoside-modified) |
AHFS/Drugs.com | Multum Consumer Information |
MedlinePlus | a621003 |
ข้อมูลทะเบียนยา | |
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ | |
ช่องทางการรับยา | ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ |
รหัส ATC |
|
กฏหมาย | |
สถานะตามกฏหมาย | [5][6]
|
ตัวบ่งชี้ | |
เลขทะเบียน CAS | |
PubChem SID | |
DrugBank | |
UNII | |
KEGG | |
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี | |
มวลต่อโมล | ~1388 kDa |
วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค (อังกฤษ: Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine) หรือ โทซิแนเมแรน (อังกฤษ: Tozinameran เป็นชื่อระหว่างประเทศที่ไม่มีเจ้าของ หรือ INN) หรือมีตราสินค้า โคเมอร์เนที (อังกฤษ: Comirnaty)[3] เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ใช้ฉีดให้แก่บุคคลอายุ 12 ปีหรือยิ่งกว่าในเขตปกครองบางที่และ 16 ปีหรือยิ่งกว่าในที่อื่น ๆ เพื่อสร้างภูมิต้านทานของร่างกายและป้องกันการติดไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ซึ่งก่อโรคโควิด-19[3][13][16][17][18] บริษัทไบออนเทคในเยอรมนีเป็นผู้พัฒนาวัคซีนในเบื้องต้น แล้วต่อมาจึงร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ในสหรัฐในด้านการทดลองทางคลินิก โลจิสติกส์ และการผลิตทั่วโลก[19][20] ในประเทศจีน ไบออนเทคร่วมมือกับบริษัทจีนคือโฟสันฟาร์มาซูทิคอล (Fosun Pharmaceutical) เพื่อพัฒนา วางตลาด และแจกจำหน่ายวัคซีน โดยวัคซีนเรียกในจีนว่า วัคซีนโควิด-19 ของโฟสัน-
วัคซีนใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นวัคซีนอาร์เอ็นเออันประกอบด้วยเอ็มอาร์เอ็นเอที่ดัดแปลงนิวคลีโอไซด์ (Nucleoside-modified messenger RNA หรือ modRNA) ให้เข้ารหัสโปรตีนหนาม (spike) ที่กลายพันธุ์ (mutated) ของไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) แล้วหุ้มด้วยอนุภาคนาโนที่เป็นลิพิด (lipid nanoparticle)[28] ในเบื้องต้น วัคซีนแนะนำให้ฉีดสองครั้งโดยห่างกัน 21 วัน[15][29][30][31] แต่ต่อมาได้ยืดออกไปเป็น 42 วันในสหรัฐ[15][32] และอาจยืดไปถึง 4 เดือนในแคนาดา[33][34]
การทดลองทางคลินิกได้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2020[29] เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2020 การทดลองก็ได้ดำเนินไปถึงระยะที่ 3 โดยมีอาสาสมัครเกิน 40,000 คน[35] การวิเคราะห์ผลการทดลองในระหว่าง (interim analysis) แสดงว่า วัคซีนมีประสิทธิศักย์ (efficacy) ที่ร้อยละ 91.3 เพื่อป้องกันการติดโรคแบบแสดงอาการโดยภูมิเกิดภายใน 7 วันหลังได้โดสที่สอง[31][36] ผลข้างเคียงสามัญที่สุดก็คือเจ็บปวดเล็กน้อยจนถึงปานกลางที่จุดฉีด ล้า และปวดศีรษะ[37][38] จนถึงเดือนธันวาคม 2020 ก็มีรายงานผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ปฏิกิริยาภูมิแพ้ น้อยมาก[A] และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงระยะยาว[3][40] ผลปฐมภูมิ (primary outcome) ต่าง ๆ ของวัคซีนจะเฝ้าติดตามไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2021 และผลทุติยภูมิจนถึงเดือนมกราคม 2023[29] โดยจะประเมินการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสโควิด-19 ไปด้วย[29]
วัคซีนนี้เป็นวัคซีนโควิด-19 แรกที่ได้รับอนุมัติจากองค์กรควบคุมที่องค์การอนามัยโลกจัดว่าเข้มงวดในการอนุมัติเวชภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นการฉุกเฉิน[41][42] และใช้โดยทั่วไป[2] ในเดือนธันวาคม 2020 สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน[40] ต่อมาได้อนุมัติให้ใช้ในประเทศต่าง ๆ โดยมากในโลก[43][44][45][46]
จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2021 ไฟเซอร์และไบออนเทคมีแผนผลิตวัคซีนประมาณ 2.5 พันล้านโดสในปี 2021[47][48] แต่ก็มีการสั่งจองล่วงหน้าแล้วถึง 3,000 ล้านโดสจากสหรัฐ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา เปรู สิงคโปร์ และเม็กซิโก[49][50] การแจกจำหน่ายและเก็บวัคซีนเป็นเรื่องท้าทายทางโลจิสติกส์เพราะวัคซีนต้องแช่แข็งในอุณหภูมิที่ต่ำมาก[51] บริษัทกำลังตรวจสอบวัคซีนแบบทำให้แห้งเยือกแข็ง (freeze-dried) ซึ่งไม่ต้องแช่แข็งในอุณหภูมิที่ต่ำมาก[52]
ในต้นเดือนพฤษภาคม 2021 อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยในขณะนั้น ระบุว่า บริษัทได้สำรองวัคซีนเพื่อส่งให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวน 10-20 ล้านโดสโดยจะจัดส่งให้ในไตรมาสที่ 3-4[53] ทั้งนี้ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม รัฐบาลไทยยังกำหนดจะให้วัคซีนนี้เฉพาะแก่เด็กอายุ 12-18 ปี (ประมาณ 10 ล้านคน)[54] ในปลายเดือนมิถุนายน อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้[55] ในกลางเดือนกรกฎาคม มีการลงนามสัญญาเพื่อจัดส่งวัคซีนให้ไทย 20 ล้านโดส
ในวันที่ 17 สิงหาคม 2021 ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 9,372 ล้านบาทสำหรับวัคซีน 20 ล้านโดสที่สั่งจองแล้ว โดยเป็นค่าวัคซีน 8,439 ล้านบาท[B] และค่าบริหารจัดการ 933 ล้านบาท[58][59] ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. กรมควบคุมโรคได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีกประมาณ 10 ล้านโดสรวมที่สั่งแล้วทั้งหมด 30 ล้านโดสโดยจะ "ทยอยจัดส่งได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป"[60] ต่อมาวันที่ 30 ปลายเดือน ครม. ก็ได้อนุมัติงบประมาณอีก 4,745 ล้านบาทสำหรับวัคซีน 9,998,820 โดส[61]
การแพทย์
[แก้]วัคซีนนี้ใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) โดยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อแอนติเจน S[3][13] วัคซีนใช้เพื่อลดอาการและความตายอันเนื่องกับโรค[15] วัคซีนบรรจุในขวดที่ใช้ฉีดได้หลายโดสโดยมีสีขาวหรือออกขาว ๆ ปลอดเชื้อ ไร้สารกันบูด เป็นสารแขวนลอยแช่แข็ง เพื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อ[13][14] โดยต้องละลายจนถึงอุณหภูมิห้องแล้วทำให้เจือจางด้วยน้ำเกลือธรรมดาก่อนจะฉีด[14]
ในเบื้องต้น วัคซีนให้ฉีดสองโดส[15] โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ระหว่างโดส การเลื่อนฉีดโดสที่สองไปจนถึง 12 สัปดาห์ทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองเพิ่มขึ้นแม้แต่ในคนชรา และสามารถต่อต้านสายพันธุ์โควิด-19 ที่น่าเป็นห่วง (Variant of concern ตัวย่อ VOC)[62] กลุ่มนักวิชาการที่ทำงานศึกษาหนึ่ง (Pitch study) ในสหราชอาณาจักรเชื่อว่า ระยะห่างการฉีดวัคซีนที่ดีสุดเพื่อต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ราว ๆ 8 สัปดาห์ แต่ถ้าเว้นห่างยิ่งกว่านั้นอาจทำให้เสี่ยงโรค[62] เพื่อลดอัตราการตายเมื่อมีวัคซีนจำกัด องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ยืดการฉีดวัคซีนโดสที่สองออกไปจนถึง 12 สัปดาห์เพื่อให้ฉีดวัคซีนโดสแรกแก่กลุ่มบุคคลเสี่ยงให้ได้เร็วขึ้น[63]
ประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล
[แก้]งานศึกษามีกลุ่มควบคุม (case-control study) ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เดือนพฤษภาคม 2021 พบว่า สำหรับคนที่ได้รับวัคซีนในประเทศกาตาร์ วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผล (effectiveness) ป้องกันการติดแล้วตรวจพบเชื้อสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) ที่ร้อยละ 89.5 และสายพันธุ์เบตา (B.1.351) ที่ร้อยละ 75 งานศึกษาเดียวกับรายงานว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง วิกฤติ หรือถึงชีวิตสำหรับโควิด-19 ทุก ๆ สายพันธุ์อยู่ที่ร้อยละ 97.4[64] ยกเว้นจะระบุ ค่าประสิทธิผลที่จะระบุต่อไปเป็นค่าหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ทั่วไปแล้ว วัคซีนจัดว่ามีประสิทธิภาพถ้ามีค่าประเมิน ≥50% และมีค่าล่างของช่วงความเชื่อมั่น (CI) แบบ 95% ขั้นต่ำ >30%[65]
โดส | ความรุนแรง | อัลฟา | เบตา | แกมมา | เดลตา | สายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยมี[a] |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | ไม่มีอาการ | 38% (29–45%)[67] | 17% (10–23%)[64] | ไม่มีรายงาน | 30% (17–41%)[67] | 60% (53–66%) |
มีอาการ | 27% (13–39%)[67] | 43% (22–59%)[68] | 33% (15–47%)[67] | 66% (57–73%) | ||
ต้องเข้า รพ. | 83% (62–93%)[b] | 0% (0–19%)[64] | 56% (−9 to 82%)[68] | 94% (46–99%)[b] | 78% (61–91%) | |
2 | ไม่มีอาการ | 92% (90–93%)[67] | 75% (71–79%)[64] | ไม่มีรายงาน | 79% (75–82%)[67] | 92% (88–95%) |
มีอาการ | 92% (88–94%)[67] | 88% (61–96%)[68] | 83% (78–87%)[67] | 94% (87–98%) | ||
ต้องเข้า รพ. | 95% (78–99%)[b] | 100% (74–100%)[64] | 100%[c][68] | 96% (86–99%)[b] | 87% (55–100%) |
- ↑ เป็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ในอิสราเอลระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2020 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2021[66] ข้อมูลจาก Nextstrain ระบุว่า ในช่วงนี้ สายพันธุ์หลักคือ B.1.1.50 แต่อัลฟาก็กำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 เป็นข้อมูลเบื้องต้นของประสิทธิภาพป้องกันการเข้า รพ. ที่สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) อ้างอิง[69][70]
- ↑ ช่วงความเชื่อมั่น (CI) ไม่ได้ระบุ จึงไม่สามารถรู้ความแม่นยำของค่านี้ได้จริง ๆ
กลุ่มประชากรโดยเฉพาะ ๆ
[แก้]อาศัยผลเบื้องต้นของการศึกษางานหนึ่ง ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐจึงแนะนำให้หญิงมีครรภ์ฉีดวัคซีนนี้[71][72]
ส่วนคำแถลงการณ์ของหน่วยงานสหราชอาณาจักรคือสำนักงานกำกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและยา (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency, MHRA) และคณะกรรมการเวชภัณฑ์มนุษย์ (Commission on Human Medicines, CHM) สรุปว่า วัคซีนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี[73][74]
ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2021 ผู้ชำนาญการผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานเวชภัณฑ์นอร์เวย์ (Norwegian Medicines Agency) สรุปว่า วัคซีนของไฟเซอร์น่าจะเป็นเหตุให้ผู้ป่วยชราที่อ่อนแอในสถานดูแลคนชราเสียชีวิตถึง 10 ราย แล้วจึงระบุว่า ผู้มีอายุเหลือน้อยไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน เพราะมีโอกาสเสี่ยงผลไม่พึงประสงค์รุนแรงในช่วงสุดท้ายของชีวิตและอาจทำให้เสียชีวิตก่อนถึงเวลา[75]
รายงานปี 2021 ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลียพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัยสำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunodeficiency) หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppression) แต่ก็ระบุว่า ข้อมูลสำหรับกลุ่มเหล่านีจำกัดเพราะเป็นกลุ่มที่กันไม่ให้เข้าร่วมงานทดลองวัคซีนต่าง ๆ ที่ทำในปี 2020 แล้วให้ข้อสังเกตว่า องค์การอนามัยโลกได้ระบุวัคซีนนี้เป็นหนึ่งในวัคซีน 3 ชนิด (รวมทั้งของโมเดอร์นาและของแอสตร้าเซนเนก้า) ที่ปลอดภัยสำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้คนกลุ่มนี้ฉีดวัคซีน รายงานระบุว่า วัคซีนก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของคนกลุ่มนี้ แม้จะในระดับน้อยกว่าคนปกติ และแนะนำให้คนไข้โดยเฉพาะ ๆ เช่น ที่เป็นมะเร็ง ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) และโรคตับต่าง ๆ ให้ได้ฉีดวัคซีนก่อนคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีพยาธิสภาพเช่นนั้น[76]
ผลไม่พึงประสงค์
[แก้]ผลไม่พึงประสงค์สำหรับวัคซีนนี้คล้ายกับวัคซีนที่ให้กับผู้ใหญ่อื่น ๆ[31] ในช่วงการทดลองทางคลินิก ผลข้างเคียงที่จัดว่าสามัญมาก[A] รวมทั้ง (ตามลำดับอัตราการเกิด) เจ็บและบวมที่จุดฉีด เหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสะท้าน ปวดข้อ และเป็นไข้[77] หลังจากฉีดวัคซีนครั้งที่สอง การเป็นไข้จะเกิดบ่อยขึ้น[77] ผลเยี่ยงนี้ปกติ จึงเป็นเรื่องควรรู้ล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน[78]
การแพ้อย่างรุนแรง (แอนาฟิแล็กซิส) เกิดราว ๆ 11 กรณีต่อวัคซีนล้านโดสที่ฉีด[79][80] ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ กรณีร้อยละ 71 เกิดภายใน 15 วันหลังฉีดวัคซีน และโดยมากคือร้อยละ 81 เกิดกับคนที่มีประวัติภูมิแพ้หรือเกิดปฏิกิริยาแพ้[79] สำนักงานควบคุมผลิตภัณฑ์การแพทย์และดูแลสุขภาพ (MHRA) แห่งสหราชอาณาจักรจึงแนะนำในวันที่ 9 ธันวาคม 2020 ว่า ผู้ที่มีประวัติเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างสำคัญ (significant) ไม่ควรรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค[81][82][83] ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม องค์กรควบคุมของแคนาดาจึงแนะนำเช่นเดียวกันโดยให้ข้อสังเกตว่า "บุคคลทั้งสองในสหราชอาณาจักรมีประวัติเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงและต้องมีเข็มฉีดเอพิเนฟรีนอยู่กับตัว ทั้งสองได้รักษาและฟื้นตัวแล้ว"[84]
สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ตรวจทบทวนข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนนี้อยู่เรื่อย ๆ[3] รายงานวันที่ 4 มีนาคม 2021 ขององค์กรสรุปว่า "ประโยชน์ของโคเมอร์เนทีในการป้องกันโควิด-19 ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยง จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้วัคซีนนี้ที่แนะนำ"[3] สำนักงานได้เพิ่มผื่นที่ผิวหนังและอาการคันว่าเป็นผลข้างเคียงที่ไม่สามัญ (เกิดน้อยกว่า 1 ใน 100 คน), ลมพิษและ angioedema (การบวมใต้ผิวหนังอย่างรวดเร็ว) ว่าเป็นผลข้างเคียงที่มีน้อย (เกิดน้อยกว่า 1 ใน 1,000 คน) ในเดือนเมษายน 2021[3][85]
ตามกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล การฉีดวัคซีนโดสที่สองอาจสัมพันธ์กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ในชายจำนวนน้อยอายุระหว่าง 16-30 ปี ในระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงพฤษภาคม 2021 มีกรณีเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 55 กรณีต่อคนล้านคนที่ฉีดวัคซีน โดยร้อยละ 95 จัดว่าเบา[86] ตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 มีรายงานเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยมีอัตราประมาณ 13 รายในเยาวชน 1 ล้านคน โดยมากเป็นชาย อายุยิ่งกว่า 16 ปี หลังจากได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือของโมเดอร์นา[87] และโดยมากฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อได้การรักษาและการพักผ่อนที่ควร[88]
เภสัชวิทยา
[แก้]เทคโนโลยีที่ใช้ในวัคซีนเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอที่ดัดแปลงนิวคลีโอไซด์ (modRNA) ซึ่งเข้ารหัสโปรตีนหนาม (spike protein) แบบยาวอย่างสมบูรณ์แต่กลายพันธุ์ ซึ่งพบที่ผิวของไวรัสโควิด-19[89] เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองเมื่อประสบกับโปรตีนของไวรัสช่วงติดเชื้อ[90]
ลำดับยีน
[แก้]โทซินาเมแรนมีลำดับ modRNA เป็นนิวคลีโอไทด์ยาว 4,284 ตัวโดยมีมวลโมเลกุลที่ประมาณ 1,388 kDa (กิโลดอลตัน)[91][92] ลำดับไม่มี uridine residues เพราะได้แทนที่ด้วย 1-methyl-3′-pseudouridine[92] การแทนที่ด้วย proline แบบ 2P (ดังจะกล่าวต่อไป) ในโปรตีนหนามดั้งเดิมทำขึ้นเพื่อวัคซีนโรคเมอร์สโดยนักวิจัยที่สถาบันภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases, NIAID) โดยร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน[93] ลำดับ modRNA ประกอบด้วย
- 5′ cap[C] หนึ่งส่วน
- 5′ untranslated region หนึ่งส่วนที่เป็นลำดับยีนอนุพัทธ์ของยีน "Hemoglobin, alpha 1" ในมนุษย์
- signal peptide[D] หนึ่งส่วนที่เบส 55-102 โดยมีการแทนที่ด้วย proline 2 ตำแหน่ง (K986P และ V987P ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า "2P") ซึ่งทำให้แสดงออกโปรตีนหนามโดยมีโครงร่างแบบก่อนที่จะทำให้เซลล์ติดเชื้อ (prefusion-stabilized conformation) จึงลดการรวมตัวเข้ากับเยื่อหุ้มเซลล์ เพิ่มการแสดงออกของโปรตีน และกระตุ้นให้เกิดสารภูมิต้านทานแบบกำจัดฤทธิ์ (neutralizing antibodies)[28]
- ลำดับยีนเต็มแต่ย่อสุด (codon-optimized) ที่เข้ารหัสลำดับยีนโปรตีนหนาม (spike portein) ของไวรัสโควิด-19 โดยอยู่ที่เบส 103-3,879[28][93]
- three prime untranslated region[E] หนึ่งส่วนที่เบส 3,880-4,174 ซึ่งรวมยีน AES และ mtRNR1 เพื่อเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนและเพิ่มเสถียรภาพของเอ็มอาร์เอ็นเอ[98]
- poly (A) tail หนึ่งส่วนที่ประกอบด้วยเรซิดิวอะดีโนซีน 30 เรซิดิว, 10-nucleotide linker sequence และเรซิดิวอะดีโนซีนอื่นอีก 70 เรซิดิว อยู่ที่เบส 4,175-4,284[92]
เคมี
[แก้]นอกเหนือจากโมเลกุลเอ็มอาร์เอ็นเอ วัคซีนมีส่วนประกอบ (ส่วนเติมเนื้อยา) ที่ไม่ออกฤทธิ์ดังนี้[10][84][77]
- ALC-0315 = ((4-hydroxybutyl)azanediyl)bis(hexane-6,1-diyl)bis(2-hexyldecanoate)
- ALC-0159 = 2-[(polyethylene glycol)-2000]-N,N-ditetradecylacetamide
- 1,2-distearoyl-sn-glycero-3-p*1,2-distearoyl-sn-glycero-3-phosphocholine (DSPC)
- คอเลสเตอรอล
- dibasic sodium phosphate dihydrate
- monobasic potassium phosphate
- โพแทสเซียมคลอไรด์
- โซเดียมคลอไรด์
- ซูโครส
- น้ำ
ส่วนประกอบ 4 อย่างแรกเป็นลิพิด ซึ่งประกอบกับ modRNA รวมตัวกันเป็นอนุภาคนาโน (nanoparticle) ซึ่งไม่เพียงเป็นตัวส่ง modRNA เข้าไปในเซลล์มนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเสริมยาที่ช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนอีกด้วย[99] ส่วน ALC-0159 เป็น polyethylene glycol conjugate (คือลิพิดแบบ PEGylated)[100]
การผลิต
[แก้]ไฟเซอร์และไบออนเทคผลิตวัคซีนในโรงงานของตน ๆ ในสหรัฐและยุโรป ส่วนโฟสันมีสิทธิผลิตและแจกจำหน่ายวัคซีนในจีนเพราะได้ลงทุนกับไบออนเทค[20][21] ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2020 บริษัทไฟเซอร์ระบุว่า อาจผลิตวัคซีนได้ถึง 50 ล้านโดสก่อนถึงสิ้นปี 2020 และอีก 1,300 ล้านโดสที่จะแจกจำหน่ายทั่วโลกในปี 2021[31] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ไบออนเทคประกาศว่า จะเพิ่มสมรรถภาพผลิตวัคซีนให้ได้ 2,000 ล้านโดสในปี 2021[101] โดยเพิ่มในเดือนมีนาคมเป็น 2,500 ล้านโดสสำหรับปี 2021[48]
กระบวนการผลิตวัคซีนมี 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการโคลนพลาสมิดดีเอ็นเอที่เข้ารหัสโปรตีนหนาม (spike protein) ของไวรัสโควิด-19 โดยใส่มันเข้าไปในแบคทีเรีย Escherichia coli สำหรับตลาดทั่วโลก ขั้นตอนนี้ทำในสหรัฐ[102] ในโรงงานนำร่องเล็ก ๆ ของไฟเซอร์ในเมืองเชสเตอร์ฟิลด์ใกล้ ๆ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี[103][104] หลังจากให้ไวรัสเพาะพันธุ์ในแบคทีเรียเป็นเวลา 4 วัน แบคทีเรียก็จะตายแล้วแตกออก สิ่งที่อยู่ในเซลล์ก็จะทำให้บริสุทธิ์เป็นเวลาสัปดาห์ครึ่งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเอที่ต้องการ แล้วเก็บไว้ในขวดเล็ก ๆ และแช่แข็งเพื่อส่ง การขนส่งดีเอ็นเออย่างปลอดภัยและรวดเร็วในขั้นนี้สำคัญจนกระทั่งต้องใช้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ของบริษัทเองช่วยขนส่ง[105]
ขั้นตอนที่สองทำที่โรงงานไฟเซอร์ในสหรัฐ (รัฐแมสซาชูเซตส์)[106] และโรงงานไบออนเทคในเยอรมนี[102] ดีเอ็นเอที่ได้จะใช้เป็นแบบสร้างสายเอ็มอาร์เอ็นเอที่ต้องการ[105] ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 วัน[102] เมื่อสร้างและทำให้บริสุทธิ์แล้ว ก็จะแช่เแข็งในถุงพลาสติกเท่ากับถุงช็อปปิ้งใหญ่ ซึ่งแต่ละถุงจะมีวัสดุที่ใช้ทำวัคซีนได้ถึง 10 ล้านโดส ถุงจะใส่บนชั้นวางพิเศษบนรถบรรทุกเพื่อส่งไปยังโรงงานลำดับต่อไป[105]
ขั้นตอนที่สามทำที่โรงงานไฟเซอร์ในสหรัฐ (ใกล้เมืองแคละมะซู รัฐมิชิแกน)[107] และประเทศเบลเยียม (เทศบาล Puurs ใกล้เมืองแอนต์เวิร์ปและกรุงบรัสเซลส์) ซึ่งรวมเอ็มอาร์เอ็นเอเข้ากับอนุภาคนาโนที่เป็นลิพิด (lipid nanoparticle) แล้วบรรจุใส่ขวด ใส่ขวดในกล่อง แล้วแช่แข็ง[105] บริษัทลูกของ Avanti Polar Lipids คือ Croda International เป็นผู้ผลิตลิพิดสำคัญดังที่ว่า[108] จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2020 จุดคอคอดในกระบวนการผลิตก็คือการรวมอาร์เอ็นเอกับลิพิดในขั้นนี้[105] ขั้นตอนนี้ใช้เวลาแค่ 4 วันในการประกอบเอ็มอาร์เอ็นเอกับลิพิดแล้วบรรจุขวด แต่วัคซีนแต่ละล็อตต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพถึง 40 ขั้นตอนเป็นเวลาหลายอาทิตย์โดยต้องเก็บแช่แข็งในอุณหภูมิต่ำมาก[102]
ก่อนเดือนพฤษภาคม 2021[109] โรงงานไฟเซอร์ในเบลเยียมบรรจุดขวดวัคซีนทั้งหมดสำหรับตลาดนอกสหรัฐ[102] ดังนั้น วัคซีนที่ใช้ในทวีปอเมริกานอกเหนือจากสหรัฐทั้งหมดต้องส่งทางเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 2 เที่ยว คือเพื่อส่งดีเอ็นเอสำหรับวัคซีนไปยังยุโรป แล้วส่งขวดวัคซีนกลับมายังทวีปอเมริกา[102]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ไฟเซอร์เปิดเผยว่า กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เวลา 110 วันโดยเฉลี่ย โดยบริษัทกำลังทำการเพื่อลดให้เหลือ 60 วัน[110] เวลาเกินครึ่งใช้เพื่อตรวจคุณภาพสำหรับการผลิตทั้ง 3 ขั้น[110] ไฟเซอร์ยังระบุด้วยว่า การผลิตมีองค์ประกอบ 280 อย่างโดยต้องอาศัยบริษัทอื่น ๆ เป็นผู้ส่ง 25 บริษัทในประเทศ 19 ประเทศ[102]
-
พนักงานบริษัทไฟเซอร์ในเบลเยียมใส่น้ำแข็งแห้งในกล่องเพื่อรักษาวัคซีนในระหว่างการขนส่ง
-
กล่องบรรจุวัคซีน ณ โรงงานของบริษัทไฟเซอร์ในเบลเยียม
-
ตู้แช่แข็งวัคซีนในโรงงานของบริษัทไฟเซอร์ในเบลเยียม
ผู้ผลิตวัคซีนปกติต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อปรับการผลิตวัคซีนให้เร็วสุดและมีค่าใช้จ่ายน้อยสุดก่อนจะเริ่มผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมาก ๆ[110] แต่เพราะความเร่งด่วนเนื่องกับการระบาดทั่วของโควิด-19 ไฟเซอร์และไบออนเทคจึงเริ่มผลิตทันทีโดยใช้กระบวนการตามที่ทำในแหล็บ ต่อมาจึงเริ่มหาวิธีเร่งความเร็วและเพิ่มผลผลิต[110]
ไบออนเทคประกาศในเดือนกันยายน 2020 ว่าได้ตกลงซื้อโรงงานในเมืองมาร์บวร์ค ประเทศเยอรมนีจากบริษัทยาโนวาร์ติสเพื่อเพิ่มสมรรถภาพการผลิตวัคซีน[111] ซึ่งเมื่อลงตัวแล้ว ก็จะสามารถผลิตวัคซีนถึง 750 ล้านโดสต่อปี หรือมากกว่า 60 ล้านโดสต่อเดือน เป็นโรงงานของไบออนเทคที่สามในยุโรปที่ผลิตวัคซีน โดยไฟเซอร์เองก็ยังมีโรงงานอีก 4 แห่งในสหรัฐและยุโรป[111]
โรงงานในมาร์บวร์คเคยผลิตเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษามะเร็งด้วยการก่อภูมิคุ้มกัน (cancer immunotherapy) ให้แก่บริษัทโนวาร์ติส[112] ณ ปลายเดือนมีนาคม 2021 ไบออนเทคก็ได้ปรับปรุงโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเสร็จสิ้น โดยได้หัดงานใหม่ให้แก่พนักงานเดิม 300 คน แล้วได้รับอนุมัติให้เริ่มผลิตวัคซีน[112] นอกจากจะผลิตเอ็มอาร์เอ็นเอเองแล้ว โรงงานนี้ยังรวมเอ็มอาร์เอ็นเอกับลิพิดให้เป็นอนุภาคนาโนที่เป็นลิพิด แล้วส่งผลผลิตไปยังโรงงานอื่น ๆ เผื่อใส่ขวด ปิดป้าย แล้วใส่ในบรรจุภัณฑ์[112]
ท้ายเดือนเมษายน 2021 สำนักงานการแพทย์ยุโรปอนุมัติให้เพิ่มจำนวนการผลิตในแต่ละรอบสำหรับโรงงานในเบลเยี่ยม ซึ่งคาดว่า จะมีผลอย่างสำคัญต่อจำนวนโดสวัคซีนที่ส่งให้สหภาพยุโรป[113][114] ท้ายเดือนเมษายนเช่นกัน มีรายงานว่า ไฟเซอร์เริ่มส่งวัคซีนจากโรงงานในสหรัฐไปยังเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งใกล้กว่าโรงงานในเบลเยียมที่เคยส่งวัคซีนไปยังประเทศทั้งสอง[109]
โลจิสติกส์
[แก้]วัคซีนต้น ๆ ส่งในขวดที่เมื่อทำให้เจือจางแล้ว ก็จะมีวัคซีน 2.25 มล. (คือ ส่วนที่แช่เข็ง 0.45 มล. บวกกับสารทำให้เจือจาง 1.8 มล.)[115] แต่ตามป้าย ขวดหนึ่งมีวัคซีน 5 โดสขนาด 0.3 มล. (รวมเป็น 1.5 มล.) ดังนั้น ก็ยังมีเศษเหลือใช้ได้อีก 1-2 โดส[115][116] ดังนั้น สำนักงานการแพทย์ยุโรปจึงแนะนำให้ใช้กระบอกฉีดยาที่เสียยาน้อย (low dead space syringe) เพื่อให้ได้โดสเพิ่มขึ้น โดยยาที่เหลือในขวดควรทิ้ง[115][117] สำนักงานการแพทย์อิตาลีได้อนุมัติอย่างเป็นทางการให้ใช้โดสที่เหลือจากขวดเดี่ยว ๆ[118] ส่วนสำนักงานสาธารณสุขของเดนมาร์กอนุญาตให้ผสมวัคซีนที่เหลือจากขวดสองขวด[119] ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม 2021 บริษัทจึงระบุว่าขวดหนึ่งมี 6 โดส[77][120][121][117] ส่วนในสหรัฐ ขวดวัคซีนหนึ่ง ๆ ถือว่ามี 5 โดสเมื่อส่งกับกระบอกฉีดยาธรรมดาและ 6 โดสเมื่อส่งกับกระบอกฉีดยาที่เสียยาน้อย[122] วัคซีนต้องเก็บและขนส่งโดยแช่แข็งที่อุณหภูมิระหว่าง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส[51][123][50][124][125] จนกระทั่ง 30 วันก่อนจะฉีด[50][51] แล้วจึงสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส โดยสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิยิ่งกว่านั้นจนถึง 25[126][13] หรือ 30[127][128] องศาเซลเซียสได้ถึงสอง ชม. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 องค์การอาหารและยาสหรัฐอัปเดตใบอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินโดยอนุญาตให้ส่งและเก็บขวดวัคซีนที่ได้แช่แข็งแต่ยังไม่ได้ทำให้เจือจางในอุณหภูมิระหว่าง -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้ถึง 2 อาทิตย์ก่อนจะใช้[115][129][130]
แม้ประเทศรายได้สูงก็ยังมีสมรรถภาพจำกัดในการบริหาร "โซ่เย็น" คือการต้องขนส่งและเก็บวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิต่ำมาก[50] วัคซีนต้องเก็บและขนส่งโดยแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำมากระหว่าง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส[51][123][50][131][132] ซึ่งเย็นกว่าวัคซีนโควิด-19 ของโมเดิร์นาอันเป็นวัคซีนที่คล้ายกันมาก จนกระทั่งผู้บริหารบริษัทยารัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซียคือไบโอฟาร์มาระบุว่า การซื้อวัคซีนนี้จากไฟเซอร์เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศ เพราะไม่มีสมรรถภาพโซ่เย็นที่จำเป็นเลย เช่นเดียวกัน เครือข่ายโซ่เย็นของอินเดียก็สามารถรับรองอุณหภูมิได้เพียงระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าที่จำเป็นในการเก็บและขนส่งวัคซีนนี้มาก[133][134]
ประวัติ
[แก้]ก่อนโรคโควิด-19 วัคซีนสำหรับโรคติดต่อปกติต้องใช้เวลาพัฒนาหลายปี เมื่อเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในมนุษย์โดยประการทั้งปวงอีกด้วย[135] หลังจากที่ตรวจพบไวรัสโควิดในเดือนธันวาคม 2019[136] บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเยอรมันคือไบออนเทคก็เริ่มพัฒนาวัคซีนในวันที่ 10 มกราคม 2021 เมื่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีนได้ตีพิมพ์ลำดับยีนของไวรัสโควิด[137][138][139] ซึ่งจุดชนวนให้นานาชาติเตรียมตอบสนองต่อโรคระบาดและเร่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค[140][141]
การพัฒนาวัคซีนเริ่มขึ้นเมื่อผู้จัดตั้งบริษัทไบออนเทคแห่งเยอรมนีผู้มีเชื้อสายชาวตุรกีคือ อูเออร์ ซาฮิน (Uğur Şahin) ได้อ่านบทความในวารสารการแพทย์ The Lancet ซึ่งทำให้เขาเชื่อว่า โรคโควิด-19 จะก่อเหตุการณ์ระบาดทั่วโลกอีกไม่นาน เขาจึงขอให้นักวิทยาศาสตร์บริษัทยกเลิกการลาหยุดงานแล้วเริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมกราคม 2020[142] ไบออนเทค ได้เริ่มโปรแกรมความเร็วแสง (Lightspeed) เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่บริษัทมีอยู่แล้ว[35] ซึ่งบริษัทได้ยพยายามพัฒนาขึ้นตั้งแต่นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหญิงทางเอ็มอาร์เอ็นเอคือ แคแทลิน คาริโก ได้เข้าร่วมงานกับบริษัทในปี 2013[143] วัคซีนแปรหลายรูปแบบได้ทำขึ้นในแหล็บเมืองไมนทซ์แล้วจึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันเพาล์แอร์ลิช (Paul-Ehrlich-Institute) ในรัฐเฮ็สเซินตรวจวิเคราะห์[144]
การลงทุน
[แก้]ตามไฟเซอร์ การวิจัยและพัฒนาวัคซีนนี้มีค่าใช้จ่ายเกือบถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 31,000 ล้านบาท)[145]
ในเดือนมีนาคม 2020 บริษัท Fosun (จีน) ได้ลงทุน 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,200 ล้านบาท) กับบริษัทไบออนเทคโดยแลกเปลี่ยนกับหุ้น 1.58 ล้านหุ้น และสิทธิในการพัฒนาและวางตลาดขายวัคซีนในประเทศจีน[21] ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน[146]
ในเดือนเมษายน 2020 ไฟเซอร์ลงทุน 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,800 ล้านบาท) กับไบออนเทคโดยเป็นการซื้อหุ้น 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[147][148][149]
ในเดือนมิถุนายน 2020 ไบออนเทคได้รับเงินกู้ 200 ล้านยูโร (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) จากคณะกรรมาธิการยุโรปและธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป[150] ธนาคารเริ่มคุยกับบริษัทตั้งแต่ตอนต้น ๆ ของเหตุการณ์ระบาดทั่ว เมื่อพนักงานของธนาคารทบทวนการลงทุนเดิมของธนาคารแล้วพบว่า ไบออนเทคเป็นบริษัทหนึ่งที่อาจพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาได้ โดยธนาคารได้เคยลงทุนในบริษัทนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 แล้ว[151][152]
ในเดือนกันยายน 2020 รัฐบาลเยอรมันได้ให้เงินทุนแก่ไบออนเทค 375 ล้านยูโร (ประมาณ 13,000 ล้านบาท) โดยเป็นส่วนของโปรแกรมพัฒนาวัคซีนของชาติ[153]
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ประธานบริหารบริษัทไฟเซอร์ระบุว่า เขาตัดสินใจไม่รับเงินทุนจากโปรแกรมปฏิบัติการความเร็วเหนือแสง (Operation Warp Speed) ของรัฐบาลกลางสหรัฐในการพัฒนาวัคซีนก็ "เพราะผมต้องการป้องกันนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทจากระเบียบราชการ เช่น ต้องให้รายงาน ต้องตกลงว่าจะใช้จ่ายเงินทุนแบบขนานหรือร่วมกับบริษัทอื่น ๆ เป็นต้น" แต่บริษัทก็ได้ตกลงกับสหรัฐในการแจกจำหน่ายวัคซีนเหมือนกับที่ทำกับประเทศอื่น ๆ[154]
การทดลองทางคลินิก
[แก้]การทดลองระยะที่ 1-2 ได้เริ่มในเยอรมนีวันที่ 23 เมษายน 2020 และในสหรัฐในวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 โดยมีวัคซีนแคนดิเดต 4 อย่างเข้าสู่การทดลอง[29][35] แล้วจึงเลือกวัคซีนแคนดิเดต BNT162b2 ว่ามีอนาคตดีที่สุดในบรรดาวัคซีนซึ่งใช้เทคโนโลยีคล้ายกัน 3 อย่างที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น[156][29][90] ก่อนจะเลือก ไบออนเทคและไฟเซอร์ได้ทำการทดลองระยะที่ 1 ในเยอรมนีและสหรัฐ และบริษัทโฟสันก็ได้ทำในจีน[28][157] แล้วพบว่า วัคซีนนี้ปลอดภัยกว่าวัคซีนแคนดิเดต 3 อย่างอื่น ๆ ของบริษัท[157][156][158]
ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1-2 เบื้องต้นที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม 2020 แสดงว่า วัคซีน BNT162b2 อาจมีประสิทธิศักย์และความปลอดภัย[28][156] ในเดือนเดียวกัน สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency, EMA) ก็เริ่มตรวจทบทวนข้อมูลของ BNT162b2 แบบทำเป็นระยะ ๆ[159]
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 การทดลองวัคซีนยังอยู่ในระยะที่ 3[29] เป็นการทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุมโดยใช้ยาหลอก อำพรางผู้สังเกตการณ์ เพื่อหาขนาดยา (dose-finding) และตรวจประสิทธิศักย์ (efficacy) ในบุคคลที่สุขภาพดี[29] การทดลองเบื้องต้นตรวจความปลอดภัยและหาขนาดยา โดยเริ่มขยายการทดลองในกลางปี 2020 เพื่อประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้นจนถึงเป็นหมื่น ๆ คน ในประเทศหลายประเทศที่ร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์และโฟสัน[31][21]
การทดลองระยะที่ 3 ตรวจสอบความปลอดภัย ประสิทธิศักย์ ความอดทนรับยาได้ (tolerability) และการก่อภูมิคุ้มกัน (immunogenicity) สำหรับยาขนาดกลาง ๆ ฉีดสองครั้งห่างกัน 21 วัน มีอาสาสมัครแบ่งเป็น 3 วัยคือ 12-15 ปี, 16-55 ปี และเกิน 55 ปี[29] ผลการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 95 ได้ตีพิมพ์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2020[35] สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency, EMA) ได้ยืนยันประสิทธิศักย์ของวัคซีนที่ร้อยละ 95 เมื่อให้อนุมัติวัคซีน[160] โดยภายหลังชี้แจงว่า โดสที่สองควรฉีด 3 สัปดาห์หลังโดสแรก[161]
วันที่ 14 หลังจากได้โดสที่ 1 อาการเกิดโรคโควิด-19 แบบสะสมเริ่มต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้วัคซีนกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก ความเข้มข้นของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibodies) ถึงระดับสูงสุดที่ 7 วันหลังจากได้โดสที่สองสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปและ 14 วันหลังจากโดสที่สองสำหรับคนชรา[160]
กลุ่ม | ประสิทธิศักย์ของวัคซีน (ช่วงความเชื่อมั่นที่ 95%) [%] |
---|---|
ทุกช่วงอายุ | 95.0% (90.0–97.9%) |
อายุ 12-17 ปี | ประเมินไม่ได้เพราะไม่มีผู้มีอาการในกลุ่มยาหลอก |
อายุ 18-64 ปี | 95.1% (89.6–98.1%) |
อายุ 65-74 ปี | 92.9% (53.1–99.8%) |
อายุ ≥75 | 100.0% (−13.1 to 100.0%) |
ทุกช่วงอายุหลังโดส 1 แต่ก่อนได้โดส 2 | 52.4% (29.5–68.4%) |
ทุกช่วงอายุ ≥10 วันหลังโดส 1 แต่ก่อนได้โดส 2 | 86.7% (68.6–95.4%) |
ทุกช่วงอายุ <7 วันหลังโดส 2 | 90.5% (61.0–98.9%) |
ทุกช่วงอายุ ≥7 วันหลังโดส 2 | 94.8% (89.8–97.6%) |
ทุกช่วงอายุในสหรัฐ | 94.9% (88.6–98.2%) |
ทุกช่วงอายุในอาร์เจนตินา | 97.2% (83.3–99.9%) |
ทุกช่วงอายุในบราซิล | 87.7% (8.1–99.7%) |
การทดลองระยะที่ 3 ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2020-2022 ทำเพื่อประเมินสมรรถภาพป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดภูมิคุ้มกัน[31][162][123]
ฤทธิ์ระดับสูงของแอนติบอดียังคงอยู่อย่างน้อย 3 เดือนหลังจากฉีดโดสที่สอง โดยมีค่าประเมินครึ่งชีวิตที่ 55 วัน ตามข้อมูลนี้ งานศึกษาหนึ่งจึงเสนอว่า อาจยังสามารถตรวจเจอแอนติบอดีได้ถึงราว ๆ 554 วัน[163]
ผลงานเบื้องต้นจากงานทดลองทางคลินิกที่ทำในประเทศหลายประเทศพบว่า ประสิทธิศักย์ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการลดลงจาก 96% (95% CI, 93–98%) เหลือ 84% (75–90%) หลังจากได้วัคซีนโดสที่สอง 4 เดือน[164]
กลุ่มโดยเฉพาะ ๆ
[แก้]ไฟเซอร์และไบออนเทคได้เริ่มการทดลองระยะที่ 2-3 ที่จัดกลุ่มโดยสุ่มและมีกลุ่มควบคุมสำหรับหญิงมีครรภ์ผู้มีสุขภาพดีและมีอายุ 18 ปีหรือยิ่งกว่า[165] งานศึกษาจะตรวจการให้วัคซีนขนาด 30 ไมโครกรัมหรือให้ยาหลอก ซึ่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อสองโดสโดยห่างกัน 21 วัน งานศึกษาระยะ 2 จะมีหญิงมีครรภ์ในระหว่าง 27-34 สัปดาห์ 350 คนเป็นอาสาสมัคร ครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีน อีกครึ่งจะได้ยาหลอก งานศึกษาระยะ 3 จะตรวจความปลอดภัย ความอดทนรับยาได้ และการก่อภูมิคุ้มกันของวัคซีนเทียบกับยาหลอกสำหรับหญิงมีครรภ์ในระหว่าง 24-34 สัปดาห์ บริษัทประกาศในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ว่า อาสาสมัครคนแรกได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว[166]
งานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอเมริกัน (AJOG) สรุปว่า วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสำหรับโควิด-19 รวมทั้งของไฟเซอร์-ไบออนเทคและของโมเดอร์นา ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสำหรับหญิงมีครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตร อนึ่ง แอนติบอดีที่ระบบภูมิคุ้มกันของมารดาสร้างขึน ยังส่งต่อไปให้ทารกผ่านรกหรือผ่านนมของมารดา ทำให้ทารกมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรค งานศึกษายังพบด้วยว่า ภูมิคุ้มกันเนื่องกับวัคซีนที่เกิดขึ้นยังมีกำลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเหนือกว่าภูมิคุ้มกันที่ได้เมื่อหายจากโรคที่ติดโดยธรรมชาติ งานศึกษายังรายงานอีกว่า ผลข้างเคียงทั้งโดยโอกาสเกิดและความรุนแรงในหญิงมีครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตร ก็คล้ายกับคนทั่วไปอื่น ๆ คือโดยทั่วไปเล็กน้อยและอดทนได้ดี ส่วนมากเป็นการเจ็บที่จุดฉีด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือล้า โดยเป็นน้อยและในระยะเวลาสั้น ๆ[167]
ในปลายเดือนมกราคม 2021 ไฟเซอร์ระบุว่าได้รับสมัครเด็กอาสามัครอายุระหว่าง 12-15 ปี 2,259 คนเรียบร้อยแล้วเพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิศักย์กับกลุ่มนี้[168] ในวันที่ 31 มีนาคม 2021 ผลเบื้องต้นจากการทดลองระยะที่ 3 แสดงว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพเต็มร้อยสำหรับเด็กกลุ่มนี้โดยกำลังทดลองกับเด็กอายุน้อยกว่านั้นต่อไป[169]
จดหมายเชิงวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA รายงานว่า วัคซีนดูเหมือนจะปลอดภัยสำหรับผู้ที่ได้รับปลูกถ่ายอวัยวะที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ แต่การตอบสนองของแอนติบอดีก็แย่กว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอย่างพอควรเมื่อได้รับวัคซีนเพียงแค่หนึ่งโดส จดหมายยอมรับว่า ได้ตรวจข้อมูลหลังจากได้วัคซีนเพียงแค่โดสเดียวจากวัคซีนที่ปกติต้องได้สองโดส[170]
ในปลายเดือนกรกฎาคม 2021 กลุ่มนักวิจัยประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยก่อนจะทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันซึ่งพบว่า วัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาซึ่งเป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเช่นเดียวกับของไฟเซอร์ สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังอย่างปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางแอนติบอดีสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนอายุระหว่าง 18-30 ปี งานศึกษาพบว่า ระดับความเข้มข้นของแอนติบอดี (antibody titer) ของผู้ที่ได้รับวัคซีนใต้ชั้นผิวหนังขนาด 10 หรือ 20 ไมโครกรัม (เทียบกับปกติต้องฉีด 100 ไมโครกรัมต่อโดส) ต่อโดส โดยฉีดสองโดส จะสูงกว่าผู้ที่หายจากการติดโรคโดยธรรมชาติถึง 14-20 เท่า อนึ่ง ผู้ที่ได้วัคซีนใต้ใช้ผิวหนังทั้งสองขนาดดังที่ว่า หรือผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเพียง 20 ไมโครกรัมเข้ากล้ามเนื้อ ยังมีระดับแอนติบอดีเท่ากับผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อในขนาดปกติที่ 100 ไมโครกรัมอีกด้วย[171][172] นี่มีข้อดีคือใช้ปริมาณในการฉีดน้อยลง 5-10 เท่า โดยทั้งหมดนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย[173]
การอนุมัติ
[แก้]เป็นการเร่งด่วน
[แก้]ในวันที่ 2 ธันวาคม 2020 สำนักงานควบคุมผลิตภัณฑ์การแพทย์และดูแลสุขภาพ (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency, MHRA) แห่งสหราชอาณาจักรได้ให้อนุมัติวัคซีนอย่างชั่วคราวโดยทำอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญเช่นโรคระบาดทั่วตามอำนาจกฎหมายที่ให้ในปี 1968[174] เป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนนี้หลังจากได้ทำการทดลองขนาดใหญ่[175] เป็นประเทศตะวันตกแรกที่ให้อนุมัติเป็นการฉุกเฉินแก่วัคซีนโควิด[174][176][177] เป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอแรกที่อนุมัติให้ใช้ในมนุษย์[176] แม้การตัดสินใจให้อนุมัติที่เร็วแบบนี้ก็ถูกวิจารณ์โดยผู้เชี่ยวชาญบางท่าน[178]
ต่อมาประเทศต่าง ๆ จึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทครวมทั้ง ออสเตรเลีย[179] แคนาดา[9][180] ฮ่องกง[181] อิสราเอล[182] มาเลเซีย[183] ฟิลิปปินส์[184] สิงคโปร์[185] เกาหลีใต้[186][187] และสหรัฐ[12]
องค์การอนามัยโลกก็ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้เป็นการฉุกเฉินเมื่อปลายเดือนธันวาคมแล้ว[188]
องค์การอาหารและยาสหรัฐระบุว่า การอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน (emergency use authorization, EUA) เป็น "กลไกที่อำนวยการทำให้มีและการใช้วิธีแก้ปัญหาทางแพทย์รวมทั้งวัคซีน ในช่วงความฉุกเฉินทางสาธารณสุข เช่น การระบาดทั่วของโควิด-19 ในปัจจุบัน"[189] เมื่ออนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินแล้ว ผู้พัฒนาวัคซีนก็ยังต้องดำเนินการทดลองระยะที่ 3 ต่อไปเพื่อบูรณาการข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิศักย์ของวัคซีน โดยในที่สุดก็จะยื่นคำขออนุมัติแบบเต็ม[189][190][191] ในวันที่ 14 ธันวาคม คณะที่ปรึกษาเรื่องแนวปฏิบัติสร้างภูมิคุ้มกันแห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ก็แนะนำให้อนุมัติใช้วัคซีนนี้สำหรับคนที่อายุ 16 ปีหรือยิ่งกว่า[192][193]
ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2021 กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) อนุมัติให้ใช้วัคซีนกับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี[194] ในวันที่ 10 ต่อมา องค์การอาหารและยาสหรัฐจึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนกับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี[195][196][115][197][116] ในวันที่ 18 ต่อมา สำนักงานวิทยาศาสตร์ทางสาธารณสุข (Health Sciences Authority) ของสิงค์โปร์จึงอนุมัติให้ใช้วัคซีนกับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี[198] ต่อมาวันที่ 28 สำนักงานการแพทย์ยุโรปจึงได้อนุมัติเช่นเดียวกัน[199]
ในวันที่ 4 มิถุนายน 2021 สำนักงานควบคุมผลิตภัณฑ์การแพทย์และดูแลสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนกับเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี[73][74]
ให้ใช้ทั่วไป
[แก้]วันที่ 19 ธันวาคม สำนักงานควบคุมผลิตภัณฑ์การรักษา (Swissmedic) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้อย่างเต็มตัว โดยทำภายในสองเดือนที่ได้รับคำขอ และระบุว่า วัคซีนผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย ประสิทธิศักย์ และคุณภาพอย่างสมบูรณ์ นี่เป็นการอนุมัติตามกระบวนการปกติโดยเกิดเป็นประเทศแรก เพราะสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน[2][200]
วันที่ 21 ธันวาคม คณะกรรมการเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในมนุษย์ (Committee for Medicinal Products for Human Use) ของสำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) แนะนำการให้อนุมัติวัคซีนนี้เพื่อวางตลาดอย่างมีเงื่อนไขโดยมีตราสินค้าว่า Comirnaty (โคเมอร์เนที)[3][201][202] ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปก็ตกลงยอมรับในวันเดียวกัน[201][203]
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021 องค์กรควบคุมสุขภาพแห่งบราซิลลงทะเบียนให้ใช้วัคซีนนี้ตามกระบวนการอนุมัติให้วางตลาดตามปกติ สำหรับบราซิล นี้เป็นวัคซีนโควิด-19 แรกที่ได้ลงทะเบียนตามปกติ ไม่ใช่แค่เพื่อใช้เป็นการฉุกเฉิน[204] ในเดือนธันวาคม ก็อนุมัติขยายให้ใช้กับเด็กอายุ 12 ปีและยิ่งกว่า[205][206]
ในเดือนกรกฎาคม 2021 องค์การอาหารและยาสหรัฐจัดคำขออนุมัติทั่วไป (biologics license application) สำหรับวัคซีนให้ได้รับการพิจารณาก่อน (priority review) โดยมุ่งหมายจะตัดสินใจในเดือนมกราคม 2022[207][208]
พัฒนาการอื่น
[แก้]การฉีดบูสต์ด้วยวัคซีนชนิดเดียวกัน
[แก้]ในกลางเดือนสิงหาคม 2021 องค์การอาหารและยาสหรัฐและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐได้อนุญาตให้ฉีดวัคซีนเป็นโดสที่สามแก่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[209][210]
ประเทศไทย
[แก้]วันที่ | รายละเอียด |
---|---|
ก่อน เม.ย. 64 | กระทรวงสาธารณสุขของไทยติดต่อกับไฟเซอร์ |
16 เม.ย. | ประชุม ศบค. มีมติให้จัดหาวัคซีน |
20 เม.ย. | ครม. รับทราบมติการเร่งจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ตามที่ ศบค. เสนอ |
29 เม.ย. | ลงนามสัญญาการเก็บรักษาความลับระหว่างกัน |
3 พ.ค. | คร. ส่งร่างข้อตกลงผูกพันในการจองวัคซีนให้ อสส. พิจารณา |
25 พ.ค. | คร. ส่งร่างข้อตกลงผูกพันในการจองวัคซีนที่เจรจาเพิ่มเติมให้ อสส. พิจารณา |
28 พ.ค. | อสส. แจ้งผลการพิจารณา |
10 มิ.ย. | ลงนามในข้อตกลงการจองซื้อวัคซีน |
11 มิ.ย. | ไฟเซอร์ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนต่อ อย. |
24 มิ.ย. | อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีน |
26 มิ.ย. | ไฟเซอร์ส่งร่างความตกลงการผลิตและการจัดหาวัคซีน |
28 มิ.ย. | คร. ส่งร่างความตกลงการผลิตและการจัดหาวัคซีนให้ อสส. พิจารณา |
5 ก.ค. | อสส. ส่งร่างความตกลงการผลิตและการจัดหาวัคซีนที่พิจารณาแล้วกลับให้ คร. |
6 ก.ค. | สธ. นำเข้าให้ ครม. พิจารณาซึ่งมีมติให้ลงนามในความตกลงดังกล่าวได้ |
20 ก.ค. | ลงนามเซ็นสัญญาจัดหาวัคซีน 20 ล้านโดส |
30 ก.ค. | วัคซีน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาบริจาคได้มาถึงประเทศไทย |
9 ส.ค. | เริ่มฉีดวัคซีน |
17 ส.ค. | ครม. อนุมัติงบประมาณเพื่อสั่งซื้อวัคซีน 20 ล้านโดส |
20 ส.ค. | ลงนามเซ็นสัญญาเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 10 ล้านโดส |
30 ส.ค. | ครม. อนุมัติงบประมาณ 4,745 ล้านบาทสำหรับวัคซีนอีก 9,998,820 โดส |
ไตรมาส 4 (2021) | เริ่มทยอยจัดส่งวัคซีน[60] คาดว่า ก.ย. จะได้ 2 ล้านโดส, ต.ค. 8 ล้านโดสและ พ.ย. กับ ธ.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส[214] |
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 รมว. กระทรวงสาธารณสุขไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ระบุว่า ไฟเซอร์ได้ยืนยันว่า ได้สำรองวัคซีนเพื่อส่งให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวน 10-20 ล้านโดสโดยจะจัดส่งให้ในไตรมาสที่ 3-4 และบริษัทจะยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนแก่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังสามารถตกลงกับรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถเปิดเผยราคาวัคซีนได้เพราะเหตุผลทางการค้า ในเบื้องต้น บริษัทจะส่งวัคซีนให้แก่รัฐบาลก่อน หลังจากนั้น เอกชนก็จะสามารถเจรจาซื้อได้[53] ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม รัฐบาลยังกำหนดจะให้วัคซีนนี้เฉพาะแก่เด็กอายุ 12-18 ปี (ประมาณ 10 ล้านคน) เพราะตอนนี้ สำหรับบุคคลผู้มีอายุเกิน 18 ปี รัฐมีวัคซีนของซิโนแว็กและของแอสตร้าเซนเนก้าเพียงพอสำหรับแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน[54]
ในวันที่ 24 มิถุนายน อย. ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้แล้ว[55]
ในวันที่ 20 กรกฎาคม มีการลงนามสัญญาเพื่อจัดส่งวัคซีนให้ไทย 20 ล้านโดสโดยจะจัดส่งในไตรมาสที่ 4 คือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม[56] ในวันที่ 30 กรกฎาคม วัคซีน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาบริจาคได้มาถึงประเทศไทย[57] นี้เป็นความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดิน ที่จะบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 500 ล้านโดสให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี[215] ศบค. ได้จัดสรรวัคซีนชุดนี้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า (ให้ฉีดเป็นเข็มที่ 3) 700,000 โดส
- บุคคลเสี่ยงรวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง (รวมเด็กอายุ 12 ปีขึ้น) และหญิงตั้งครรภ์ 645,000 โดส
- ชาวต่างชาติในไทยโดยเฉพาะผู้มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ต้องไปต่างประเทศรวมนักศึกษา 150,000 โดส
- เพื่อการศึกษาและการวิจัย 5,000 โดส
- การสำรองส่วนกลางและการเตรียมตอบโต้เชื้อกลายพันธุ์ 40,000 โดส
ในวันที่ 17 สิงหาคม ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 9,372 ล้านบาทสำหรับวัคซีน 20 ล้านโดสที่สั่งจองโดยเป็นค่าวัคซีน 8,439 ล้านบาท (ประมาณ 422 บาทต่อโดสหรือ 12.65 ดอลลาร์สหรัฐ)[B] และค่าบริหารจัดการ 933 ล้านบาท[58][59] ต่อมาวันที่ 20 กรมควบคุมโรคได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีกประมาณ 10 ล้านโดสรวมที่สั่งแล้วทั้งหมด 30 ล้านโดสโดยจะ "ทยอยจัดส่งได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป"[60] ในวันที่ 30 ต่อมา ครม. ก็ได้อนุมัติงบประมาณอีก 4,745 ล้านบาทสำหรับวัคซีน 9,998,820 โดส (ประมาณ 475 บาทต่อโดสรวมค่าบริหารจัดการ)[61] โดยตั้งเป้าฉีดให้บุคคลเป้าหมาย 6 กลุ่มหลักคือ[218]
- เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-17 ปี
- หญิงมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้น
- บุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเพื่อกระตุ้นภูมิ
- ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวชนิดเสี่ยง 7 กลุ่ม
- ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
- ผู้ที่ต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักศึกษาและทูตเป็นต้น
สังคมและวัฒนธรรม
[แก้]ชื่อ
[แก้]BNT162b2 เป็นชื่อรหัสเมื่อกำลังพัฒนาและทดสอบวัคซีน[28][219] ส่วน tozinameran เป็นชื่อระหว่างประเทศที่ไม่มีเจ้าของ (INN)[220] และ Comirnaty ก็เป็นตราสินค้า[2][3] ซึ่งตามบริษัท ชื่อ Comirnaty รวมมาจากคำว่า COVID-19, mRNA, community (ชุมชน) และ immunity (ภูมิคุ้มกัน)[221][4]
วัคซีนยังมีชื่อสามัญว่า "COVID-19 mRNA vaccine (nucleoside-modified)"[3] ในสหรัฐ วัคซีนอาจติดป้าย Pfizer‑BioNTech COVID‑19 Vaccine[222]
เศรษฐกิจ
[แก้]ไฟเซอร์ได้รายงานรายรับ 154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,800 ล้านบาท) จากวัคซีนที่ขายในปี 2020[149]
ในเดือนกรกฎาคม 2020 โปรแกรมปฏิบัติการความเร็วเหนือแสง (Operation Warp Speed) ของสหรัฐได้สั่งวัคซีนล่วงหน้าเป็นมูลค่า 1,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 61,000 ล้านบาท) เพื่อวัคซีน 100 ล้านโดสเมื่อวัคซีนพบว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผล[20][223][224][225] ในกลางเดือนธันวาคม ไฟเซอร์ยังตกลงส่งวัคซีน 300 ล้านโดสให้สหภาพยุโรป[226], 120 ล้านโดสให้ญี่ปุ่น[227], 40 ล้านโดสให้สหราชอาณาจักร (โดย 10 ล้านโดสจะส่งก่อนปี 2021)[123], 20 ล้านโดสให้แคนาดา[228], ส่งวัคซีนไม่ระบุจำนวนให้สิงค์โปร์[229] และ 34.4 ล้านโดสให้เม็กซิโก[230]
ส่วนบริษัทโฟสันยังตกลงส่งวัคซีน 10 ล้านโดสให้แก่ฮ่องกงและมาเก๊า[231] โดยรัฐบาลฮ่องกงระบุว่า จะได้รับวัคซีนล้านโดสแรกในไตรมาสแรกปี 2021[232]
ไบออนเทคร่วมกับโฟสันตกลงจะส่งวัคซีนให้จีนแผ่นดินใหญ่ 100 ล้านโดสในปี 2021 โดยขึ้นอยู่กับการได้รับอนุมัติจากองค์กรควบคุม[23][233] และจะเริ่มส่งจากโรงงานของไบออนเทคในเยอรมนี[23][233]
วันที่ 8 ธันวาคม 2020 หญิงจากเทศมณฑลเฟอร์แมนาอายุ 90 ปี คือ มาร์กาแร็ต "แมกกี้" คีนาน เป็นผู้ได้รับวัคซีนเป็นคนแรกนอกการทดลองทางคลินิก[234] โดยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในนครลอนดอนได้เก็บขวดและเข็มวัคซีนไว้สำหรับนิทรรศการในอนาคต[235] จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม ผู้อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร 521,594 รายได้รับวัคซีนโดยเป็นส่วนของโปรแกรมให้วัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยผู้ได้ร้อยละ 70 มีอายุ 80 ปีหรือยิ่งกว่า[236]
ในวันที่ 23 ธันวาคม หญิงเมืองลูเซิร์นอายุ 90 ปี เป็นบุคคลแรกที่ได้รับวัคซีนในสวิตเซอร์แลนด์[237] เป็นการเริ่มฉีดวัคซีนนี้ให้แก่ประชาชนในแผ่นดินใหญ่ยุโรป[238]
ในเดือนมกราคม 2021 บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทคได้เสนอขายวัคซีน 50 ล้านโดสให้แก่บุคลากรทางแพทย์ทั่วแอฟริการะหว่างเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นปี 2021 ในราคาที่ลดลงเหลือเป็น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส (ประมาณ 313 บาท)[239] แอฟริกาใต้จึงสั่งวัคซีน 20 ล้านโดสซึ่งคาดว่าจะได้เป็นล็อต ๆ หลังเดือนมีนาคม[240]
ในวันที่ 23 เมษายน 2021 สหภาพยุโรปประกาศสัญญาฉบับที่ 3 กับไฟเซอร์-ไบออนเทคเพือให้ส่งวัคซีนจนถึง 1,800 ล้านโดสเพื่อแจกจำหน่ายใน 2 ปี[241]
ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2021 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่อาสาสมัคร พนักงาน และนักกีฬาที่เข้าร่วมงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2020ซึ่งจัดทำในนครโตเกียว[242]
ในวันที่ 9 มิถุนายน ประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดิน ได้สัญญาว่าจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดสให้แก่ประเทศประมาณ 100 ประเทศโดยจะส่งให้เสร็จสิ้นภายในปีหนึ่ง[215]
ข้อมูลผิด
[แก้]ในเดือนพฤษภาคม 2021 มีวิดีโอที่กระจายไปตามสื่อสังคมซึ่งแสดงบุคคลที่มีแม่เหล็กติดอยู่ที่แขนหลังฉีดวัคซีน เพื่อยืนยันทฤษฎีสมคบคิดว่าวัคซีนมีไมโครชิป แต่วิดีโอเหล่านี้ก็ถูกลบล้างว่าไม่จริงแล้ว[243][244][245][246][247]
ดูเพิ่ม
[แก้]- MRNA-1273 ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19อีกอย่างที่ใช้เทคโนโลยี modRNA
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ตามหนังสืออ้างอิงอังกฤษคือ British National Formulary และพจนานุกรมศัพท์แพทย์คือ MedDRA ผลข้างเคียงจัดว่าสามัญมาก (very common) เมื่อเกิด 1/10, สามัญ (common) เมื่อเกิดระหว่าง 1/100-1/10, ไม่สามัญ (uncommon) ระหว่าง 1/1,000-1/100, น้อย (rare) ระหว่าง 1/10,000-1/1,000 และน้อยมาก (very rare) เมื่อเกิดน้อยกว่า 1/10,000[39]
- ↑ 2.0 2.1 ถ้าวัคซีน 20 ล้านโดสมีราคา 8,439 ล้านบาท[58] วัคซีนโดสหนึ่งก็จะมีราคาประมาณ 422 บาทหรือประมาณ 12.65 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสหภาพยุโรปที่ได้วัคซีนในราคาประมาณ 420 บาท[216] และกับที่สหรัฐได้ในราคาประมาณ 650 บาท[217]
- ↑ ในอณูชีววิทยา five-prime cap (5′ cap) เป็นนิวคลีโอไทด์ที่แปลงไปโดยเฉพาะ ๆ ที่ส่วนสุดด้าน 5′ ของ primary transcript บางชนิดเช่น precursor mRNA กระบวนการนี้ ซึ่งเรียกว่า mRNA capping ต้องควบคุมเป็นอย่างดี และสำคัญยิ่งเพื่อให้สร้างเอ็มอาร์เอ็นเอได้อย่างเสถียรและสมบูรณ์อันสามารถเข้าร่วมกับกระบวนการแปลรหัสเมื่อสังเคราะห์โปรตีน เอ็มอาร์เอ็นเอของไมโทคอนเดรีย[94] และคลอโรพลาสต์[95] จะไม่ผ่านกระบวนการนี้
- ↑ signal peptide หรือ signal sequence หรือ targeting signal หรือ localization signal หรือ localization sequence หรือ transit peptide หรือ leader sequence หรือ leader peptide เป็นเพปไทด์สั้น ๆ ปกติมีกรดอะมิโนต่อกันยาว 16-30 ตัว[96] อยู่ที่ปลายเอ็น (N-terminus) ของโปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่โดยมากที่จะใช้ใน secretory pathway[97] โปรตีนเหล่านี้รวมทั้งที่อยู่ในออร์แกเนลล์บางอย่าง (เช่น endoplasmic reticulum, Golgi apparatus หรือเอนโดนโซม), โปรตีนที่หลั่งออกจากเซลล์ หรือที่สอดเข้าไปในเยื่อหุ้มเซลล์โดยมาก
- ↑ ในอณูพันธุศาสตร์ three prime untranslated region (3'-UTR) เป็นส่วนของเอ็มอาร์เอ็นเอที่อยู่ถัดไปจาก translation termination codon
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Comirnaty". Therapeutic Goods Administration (TGA). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2021-01-25.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 "Comirnaty EPAR". European Medicines Agency (EMA). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-17. สืบค้นเมื่อ 2020-12-23.
- ↑ 4.0 4.1 Bulik, Beth Snyder (2020-12-23). "The inside story behind Pfizer and BioNTech's new vaccine brand name, Comirnaty". FiercePharma. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-12-25.
- ↑ "Comirnaty (BNT162b2 [mRNA]) COVID-19 Vaccine Product Information" (PDF). Therapeutic Goods Administration (TGA). สืบค้นเมื่อ 2021-01-25.
- ↑ Australian Public Assessment Report for BNT162b2 (mRNA) (PDF) (Report). Therapeutic Goods Administration (TGA). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-01-25.
- ↑ "Vacina da Pfizer é a 1ª contra a Covid a obter registro definitivo no Brasil". G1 (ภาษาโปรตุเกสแบบบราซิล). 2021-02-23. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
- ↑ "Regulatory Decision Summary - Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine". Health Canada. 2020-12-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-09.
- ↑ 9.0 9.1 "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine (tozinameran)". Health Canada. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-10. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
- ↑ 10.0 10.1 "Information for Healthcare Professionals on Pfizer/BioNTech COVID-19 vaccine". Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-10. สืบค้นเมื่อ 2020-12-21.
- ↑ "Conditions of Authorisation for Pfizer/BioNTech COVID-19 vaccine". Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2021-01-08.
- ↑ 12.0 12.1 "FDA Takes Key Action in Fight Against COVID-19 By Issuing Emergency Use Authorization for First COVID-19 Vaccine" (Press release). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2020-12-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-12-11. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 "Pfizer-Biontech COVID-19 Vaccine- bnt162b2 injection, suspension". DailyMed. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2020-12-14.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Emergency Use Authorization Review Memorandum (PDF). U.S. Food and Drug Administration (FDA) (Report). 2020-12-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2020-12-14. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Standing Orders for Administering Vaccine to Persons 12 Years of Age and Older" (PDF). Centers for Disease Control and Prevention (CDC). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-02. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.
- ↑ "First COVID-19 vaccine approved for children aged 12 to 15 in EU". European Medicines Agency (EMA) (Press release). 2021-05-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-28. สืบค้นเมื่อ 2021-05-29.
- ↑ "Information for UK recipients on Pfizer/BioNTech COVID-19 vaccine". Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-30. สืบค้นเมื่อ 2021-05-29.
- ↑ "Regulatory Decision Summary - Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine". Health Canada. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-12. สืบค้นเมื่อ 2021-05-11.
- ↑ Browne, Ryan (2020-11-11). "What you need to know about BioNTech - the European company behind Pfizer's Covid-19 vaccine". CNBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-30. สืบค้นเมื่อ 2021-01-14.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Thomas, K; Gelles, D; Zimmer, C (2020-11-09). "Pfizer's early data shows vaccine is more than 90% effective". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-23. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 Burger, L (2020-03-15). "BioNTech in China alliance with Fosun over coronavirus vaccine candidate". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-14. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ "Fosun Pharma and BioNTech form COVID-19 vaccine strategic alliance in China" (Press release). Fosun Pharma. 2020-03-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-15. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 "BioNTech and Fosun Pharma to Supply China with mRNA-based COVID-19 Vaccine" (Press release). Fosun Pharma. 2020-12-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-18. สืบค้นเมื่อ 2021-04-18.
- ↑
"BioNTech in China alliance with Fosun over potential coronavirus vaccine". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2021-03-19.
BioNTech struck a collaboration deal with Shanghai Fosun Pharmaceutical over the German biotech firm's rights in China to an experimental coronavirus vaccine, the latest gambit in a global race to halt the pandemic.
- ↑
"BioNTech, Fosun start Phase II trial of COVID-19 vaccine in China". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
BioNTech and Shanghai Fosun Pharmaceutical said on Wednesday they would launch a Phase II clinical trial of BioNTech's experimental COVID-19 vaccine in China.
- ↑ "BioNTech and Fosun Pharma Jointly Announce the Arrival of the First Batch of COVID-19 mRNA Vaccine in Hong Kong and Macau" (Press release). Fosun Pharma. 2021-02-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-15. สืบค้นเมื่อ 2021-04-15.
- ↑ "BioNTech and China partner, not Pfizer, to produce HK shots". The Standard. 2020-12-14.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 Walsh, EE; Frenck, RW; Falsey, AR; Kitchin, N; Absalon, J; Gurtman, A; และคณะ (October 2020). "Safety and Immunogenicity of Two RNA-Based Covid-19 Vaccine Candidates". The New England Journal of Medicine. 383 (25): 2439–50. doi:10.1056/NEJMoa2027906. PMC 7583697. PMID 33053279.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 "Study to Describe the Safety, Tolerability, Immunogenicity, and Efficacy of RNA Vaccine Candidates Against COVID-19 in Healthy Individuals". ClinicalTrials.gov. 2020-04-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-11. สืบค้นเมื่อ 2021-07-09.
- ↑ Palca, J (2020-11-09). "Pfizer says experimental COVID-19 vaccine is more than 90% effective". NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 31.5 Herper, M (2020-11-09). "Covid-19 vaccine from Pfizer and BioNTech is strongly effective, early data from large trial indicate". STAT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ Ellis, Ralph. "CDC: Gap Between Vaccine Doses Could Be 6 Weeks". WebMD. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-04. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.
- ↑ "Canada vaccine panel recommends 4 months between COVID doses". ABC News. 2021-03-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-09.
- ↑ Canada, Public Health Agency of (2021-07-02). Recommendations on the use of COVID-19 vaccines (PDF). Health Canada (Report). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-07-09.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 "Update on our COVID-19 vaccine development program with BNT162b2" (PDF) (Press release). Mainz, Germany: BioNTech. 2020-12-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-03. สืบค้นเมื่อ 2020-12-12.
- ↑ "Pfizer and BioNTech Confirm High Efficacy and No Serious Safety Concerns Through Up to Six Months Following Second Dose in Updated Topline Analysis of Landmark COVID-19 Vaccine Study". BioNTech (Press release). 2021-04-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-04. สืบค้นเมื่อ 2021-04-11.
- ↑ Polack, FP; Thomas, SJ; Kitchin, N; Absalon, J; Gurtman, A; Lockhart, S; และคณะ (December 2020). "Safety and Efficacy of the BNT162b2 mRNA Covid-19 Vaccine". N Engl J Med. 383 (27): 2603–2615. doi:10.1056/NEJMoa2034577. PMC 7745181. PMID 33301246.
- ↑ "Questions and Answers About Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine". Pfizer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-24. สืบค้นเมื่อ 2020-12-16.
- ↑ "Adverse reactions to drugs". British National Formulary. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ 40.0 40.1 "Coronavirus vaccine". National Health Service. 2020-12-07. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-07. สืบค้นเมื่อ 2020-12-07.
- ↑ "UK medicines regulator gives approval for first UK COVID-19 vaccine" (Press release). Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ Boseley, S; Halliday, J (2020-12-02). "UK approves Pfizer/BioNTech Covid vaccine for rollout next week". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-12-14.
- ↑ "COVID-19 Vaccine Tracker: Pfizer/BioNTech: BNT162b2". McGill University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine". U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2021-02-03.
- ↑ Thomas, K (2020-11-20). "F.D.A. Clears Pfizer Vaccine, and Millions of Doses Will Be Shipped Right Away". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-12.
- ↑ Australian Government Department of Health (2021-01-24). "About the Pfizer/BioNTech COVID-19 vaccine". Australian Government Department of Health (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "Pfizer and BioNTech to Supply the European Union with 200 Million Additional Doses of Comirnaty" (Press release). BioNTech. 2021-02-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ 48.0 48.1 "BioNTech Raises Covid Vaccine Target to 2.5 Billion Doses". bloomberg. 2021-03-30.
- ↑ "Securing Singapore's access to COVID-19 vaccines". gov.sg. Government of Singapore. 2020-12-14. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
- ↑ 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4
"Deep-freeze hurdle makes Pfizer's vaccine one for the rich". Bloomberg. 2020-11-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-22. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
Vaccine goes bad five days after thawing, requires two shots; Many nations face costly ramp up of cold-chain infrastructure
- ↑ 51.0 51.1 51.2 51.3 "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Vaccination Storage & Dry Ice Safety Handling". Pfizer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-24. สืบค้นเมื่อ 2020-12-17.
- ↑ "Pfizer to Test Covid-19 Vaccine That Doesn't Need Ultracold Storage". Wall Street Journal. 2021-03-30.
- ↑ 53.0 53.1 "'ไฟเซอร์' ตอบรับสำรองวัคซีนโควิดให้ไทย 10 - 20 ล้านโดส". Thai PBS News. 2021-05-07.
- ↑ 54.0 54.1 "อนุทิน ชี้ รพ.เอกชน สั่งโมเดอร์นาได้แล้ว ย้ำซื้อไฟเซอร์ให้กลุ่มเด็ก". ข่าวสด. 2021-05-14.
- ↑ 55.0 55.1 "อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีน "ไฟเซอร์"". Thai PBS News. 2021-06-22.
- ↑ 56.0 56.1 56.2 "'ไฟเซอร์' เซ็นขายวัคซีน 20 ล้านโดสให้ไทย ส่งไตรมาส 4 ของปี 64". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-07-20.
- ↑ 57.0 57.1 57.2 "สรุปไทม์ไลน์ 'วัคซีนโควิด-19' อย่าง 'วัคซีนไฟเซอร์' 1.5 ล้านโดส ได้ฉีดเมื่อไหร่". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-07-31.
- ↑ 58.0 58.1 58.2 58.3 "รัฐบาลอนุมัติงบกว่า 9.3 พันล้าน จ่ายค่าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส หาเพิ่มอีก 10 ล้านโดส". sanook. 2021-08-17.
- ↑ 59.0 59.1 "วัคซีนโควิด-19: เปิดแผนนำเข้าวัคซีนโควิดของ ม.ธรรมศาสตร์ กับเป้าหมายวัคซีนเข็มกระตุ้น". BBC ไทย. 2021-08-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-18.
- ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 "สธ.เซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 10 ล้านโดส". สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. 2021-08-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
- ↑ 61.0 61.1 61.2 "โควิด-19: นับถอยหลังคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยติดท็อป 20 ของโลก". BBC News ไทย. 2021-08-30.
- ↑ 62.0 62.1 "Pfizer vaccine second dose has 'sweet spot' after eight weeks, UK scientists say". 2021-07-23. สืบค้นเมื่อ 2021-07-26.
- ↑ Interim recommendations for use of the Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine, BNT162b2, under Emergency Use Listing (Guidance). World Health Organization. 2021-06-15. WHO/2019-nCoV/vaccines/SAGE_recommendation//BNT162b2/2021.2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-29. สืบค้นเมื่อ 2021-07-03.
- ↑ 64.0 64.1 64.2 64.3 64.4 Abu-Raddad, LJ; Chemaitelly, H; Butt, AA (2021-05-05). "Effectiveness of the BNT162b2 Covid-19 Vaccine against the B.1.1.7 and B.1.351 Variants". New England Journal of Medicine. 385 (2). Table 1. doi:10.1056/NEJMc2104974. PMC 8117967. PMID 33951357.
- ↑ Krause, P; Fleming, TR; Longini, I; Henao-Restrepo, AM; Peto, R; Dean, NE; และคณะ (2020-09-12). "COVID-19 vaccine trials should seek worthwhile efficacy". The Lancet. 396 (10253): 741–743. doi:10.1016/S0140-6736(20)31821-3. ISSN 0140-6736. PMC 7832749. PMID 32861315.
WHO recommends that successful vaccines should show an estimated risk reduction of at least one-half, with sufficient precision to conclude that the true vaccine efficacy is greater than 30%. This means that the 95% CI for the trial result should exclude efficacy less than 30%. Current US Food and Drug Administration guidance includes this lower limit of 30% as a criterion for vaccine licensure.
- ↑ Dagan, N; Barda, N; Kepten, E; Miron, O; Perchik, S; Katz, MA; และคณะ (April 2021). "BNT162b2 mRNA Covid-19 Vaccine in a Nationwide Mass Vaccination Setting". New England Journal of Medicine. 384 (15). Table 2. doi:10.1056/NEJMoa2101765. PMC 7944975. PMID 33626250.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 67.3 67.4 67.5 67.6 67.7 Sheikh, A; McMenamin, J; Taylor, B; Robertson, C (2021-06-14). "SARS-CoV-2 Delta VOC in Scotland: demographics, risk of hospital admission, and vaccine effectiveness". The Lancet. 397 (10293). Table S4. doi:10.1016/S0140-6736(21)01358-1. ISSN 0140-6736. PMC 8201647. PMID 34139198.
- ↑ 68.0 68.1 68.2 68.3 Chung, H; He, S; Nasreen, S; Sundaram, ME; Buchan, SA; Wilson, SE; และคณะ (2021-07-26). "Effectiveness of BNT162b2 and mRNA-1273 COVID-19 vaccines against symptomatic SARS-CoV-2 infection and severe COVID-19 outcomes in Ontario, Canada: a test-negative design study". medRxiv (Preprint). eTables 6 and 7. doi:10.1101/2021.05.24.21257744. S2CID 235219084. SSRN 3845993. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
- ↑ Stowe, J; Andrews, N; Gower, C; Gallagher, E; Utsi, L; Simmons, R; และคณะ (2021-06-14). Effectiveness of COVID-19 vaccines against hospital admission with the Delta (B.1.617.2) variant (Preprint). Public Health England. Table 1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-06-25 – โดยทาง Knowledge Hub.
- ↑ SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England, technical briefing 17 (PDF) (Briefing). Public Health England. 2021-06-25. GOV-8576. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-25. สืบค้นเมื่อ 2021-06-26.
- ↑ Smith, K (2021-04-24). "New CDC guidance recommends pregnant people get the COVID-19 vaccine". CBS News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-24. สืบค้นเมื่อ 2021-04-24.
- ↑ Shimabukuro, TT; Kim, SY; Myers, TR; Moro, PL; Oduyebo, T; Panagiotakopoulos, L; และคณะ (April 2021). "Preliminary Findings of mRNA Covid-19 Vaccine Safety in Pregnant Persons". N Engl J Med. 384 (24): 2273–2282. doi:10.1056/NEJMoa2104983. PMC 8117969. PMID 33882218.
- ↑ 73.0 73.1 "UK regulator approves Pfizer Covid vaccine for 12- to 15-year-olds". The Guardian. 2021-06-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
- ↑ 74.0 74.1 Reynolds, J. "Pfizer vaccine approved for use in children aged 12 to 15 in the UK". The Times. ISSN 0140-0460. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
- ↑ Torjesen, Ingrid (2021-05-27). "Covid-19: Pfizer-BioNTech vaccine is "likely" responsible for deaths of some elderly patients, Norwegian review finds". The BMJ. 373: n1372. doi:10.1136/bmj.n1372. ISSN 1756-1833. PMID 34045236. S2CID 235204094. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-04. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.
- ↑ "Immunocompromised patients and COVID-19 vaccines" (PDF). New South Wales government. 2021-04-28. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-20. สืบค้นเมื่อ 2021-06-02.
- ↑ 77.0 77.1 77.2 77.3 Comirnaty: Product Information (PDF) (Report). European Medicines Agency (EMA). สืบค้นเมื่อ 2020-12-23.
- ↑ McKenna, Maryn (2020-12-17). "Vaccines Are Here. We Have to Talk About Side Effects". Wired. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-17. สืบค้นเมื่อ 2020-12-23.
- ↑ 79.0 79.1 CDC COVID-19 Response Team, ((Food; Drug Administration)), undefined (January 2021). "Allergic Reactions Including Anaphylaxis After Receipt of the First Dose of Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine - United States, December 14-23, 2020" (PDF). MMWR. Morbidity and Mortality Weekly Report. 70 (2): 46–51. doi:10.15585/mmwr.mm7002e1. PMC 7808711. PMID 33444297.
- ↑ "COVID-19 vaccine safety update: Comirnaty" (PDF). European Medicines Agency. 2021-01-28.
- ↑ Bostock, Nick (2020-12-09). "MHRA warning after allergic reactions in NHS staff given COVID-19 vaccine". GP. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-09. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
- ↑ Booth, William; Cunningham, Erin (2020-12-09). "Britain warns against Pfizer vaccine for people with history of 'significant' allergic reactions". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-09. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
- ↑ Cabanillas, Beatriz; Akdis, Cezmi; Novak, Natalija (2020). "Allergic reactions to the first COVID‐19 vaccine: A potential role of Polyethylene glycol?". Allergy. doi:10.1111/all.14711. PMID 33320974. S2CID 229284320.
- ↑ 84.0 84.1 "Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine: Health Canada recommendations for people with serious allergies". Health Canada. 2020-12-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26.
- ↑ "COVID-19 vaccine safety update: COMIRNATY: BioNTech Manufacturing GmbH" (PDF). Europa. 2021-04-14.
- ↑ Heller, J (2021-06-02). "Israel sees probable link between Pfizer vaccine and myocarditis cases". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-25. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
- ↑ "Clinical Considerations: Myocarditis after mRNA COVID-19 Vaccines". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-27. สืบค้นเมื่อ 2021-06-27. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ National Center for Immunization and Respiratory Diseases (2021-06-23). "Myocarditis and Pericarditis Following mRNA COVID-19 Vaccination". CDC.gov. Centers for Disease Control and Prevention. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-03. สืบค้นเมื่อ 2021-07-02.
- ↑ Vogel, AB; Kanevsky, I; Che, Y; Swanson, KA; Muik, A; Vormehr, M; และคณะ (April 2021). "BNT162b vaccines protect rhesus macaques from SARS-CoV-2". Nature. 592 (7853): 283–289. Bibcode:2021Natur.592..283V. doi:10.1038/s41586-021-03275-y. PMID 33524990.
- ↑ 90.0 90.1 Gaebler, C; Nussenzweig, MC (October 2020). "All eyes on a hurdle race for a SARS-CoV-2 vaccine". Nature. 586 (7830): 501–2. Bibcode:2020Natur.586..501G. doi:10.1038/d41586-020-02926-w. PMID 33077943. S2CID 224808629.
- ↑ "INN: Tozinameran". WHO MedNet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-09. สืบค้นเมื่อ 2020-12-01.
- ↑ 92.0 92.1 92.2 "Messenger RNA encoding the full-length SARS-CoV-2 spike glycoprotein" (DOC). WHO MedNet. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2020-12-16.
- ↑ 93.0 93.1 Pallesen, J; Wang, N; Corbett, KS; Wrapp, D; Kirchdoerfer, RN; Turner, HL; และคณะ (August 2017). "Immunogenicity and structures of a rationally designed prefusion MERS-CoV spike antigen". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 114 (35): E7348–E7357. doi:10.1073/pnas.1707304114. PMC 5584442. PMID 28807998.
- ↑ Weaver, Robert F (2005). Molecular Biology. New York, NY: McGraw-Hill. pp. 432-448. ISBN 0-07-284611-9.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "The Spliceosome: Design Principles of a Dynamic RNP Machine". 2009. doi:10.1016/j.cell.2009.02.009.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help); ตรวจสอบค่า|doi=
(help) - ↑ Kapp, Katja; Schrempf, Sabrina; Lemberg, Marius K.; Dobberstein, Bernhard (2013-01-01). Post-Targeting Functions of Signal Peptides. Landes Bioscience.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Transfer of proteins across membranes. I. Presence of proteolytically processed and unprocessed nascent immunoglobulin light chains on membrane-bound ribosomes of murine myeloma". 1975. PMID 811671.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ von Niessen AG, Orlandini; Poleganov, MA; Rechner, C; Plaschke, A; Kranz, LM; Fesser, S; และคณะ (April 2019). "Improving mRNA-Based Therapeutic Gene Delivery by Expression-Augmenting 3' UTRs Identified by Cellular Library Screening". Molecular Therapy. 27 (4): 824–836. doi:10.1016/j.ymthe.2018.12.011. PMC 6453560. PMID 30638957.
- ↑ de Vrieze, J (2020-12-21). "Suspicions grow that nanoparticles in Pfizer's COVID-19 vaccine trigger rare allergic reactions". Science Magazine News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-07. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
- ↑ Public Assessment Report Authorisation for Temporary Supply COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 (BNT162b2 RNA) concentrate for solution for injection (PDF). Regulation 174 (Report). Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-15. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-16.
- ↑ "Statement on Manufacturing". BioNTech. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-07. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.
- ↑ 102.0 102.1 102.2 102.3 102.4 102.5 102.6 Rabson, M (2021-02-27). "From science to syringe: COVID-19 vaccines are miracles of science and supply chains". CTV News. Bell Media. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-02-28.
- ↑ Gray, B (2020-11-23). "Pfizer's Chesterfield workforce playing a key role in coronavirus vaccine development". St. Louis Post-Dispatch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
- ↑ Gosk, S (2021-04-01). "Inside Lab Where Every Pfizer Dose Originates". NBC Nightly News With Lester Holt. NBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05. Via YouTube. Gosk's segment on Pfizer begins at 7:10 of the video file.
- ↑ 105.0 105.1 105.2 105.3 105.4 Johnson, Carolyn Y. (2020-11-17). "A vial, a vaccine and hopes for slowing a pandemic — how a shot comes to be". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-31. สืบค้นเมื่อ 2020-12-21.
- ↑ Hughes, M (2020-12-20). "Andover's piece of the vaccine: Pfizer". The Eagle-Tribune. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
- ↑ Shamus, KJ (2020-12-13). "Historic journey: Pfizer prepares to deliver 6.4 million doses of COVID-19 vaccines". Detroit Free Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
- ↑ Mullin, Rick (2020-11-25). "Pfizer, Moderna ready vaccine manufacturing networks". Chemical & Engineering News. Washington, D.C.: American Chemical Society. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2020-12-21.
- ↑ 109.0 109.1 Panetta, A (2021-04-30). "Canada to start receiving U.S. shipments of Pfizer-BioNTech vaccine next week". CBC News. CBC/Radio-Canada. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-05. สืบค้นเมื่อ 2021-05-04.
- ↑ 110.0 110.1 110.2 110.3 Weise, E (2021-02-07). "Pfizer expects to cut COVID-19 vaccine production time by close to 50% as production ramps up, efficiencies increase". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-02-17.
- ↑ 111.0 111.1 "BioNTech to Acquire GMP Manufacturing Site to Expand COVID-19 Vaccine Production Capacity in First Half 2021". BioNTech. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-07. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.
- ↑ 112.0 112.1 112.2 Solomon, E (2021-04-01). "'Where the magic happens' - inside BioNTech's innovative vaccine plant". Financial Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-04. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05.
- ↑ "EU approves ramp-up of Pfizer vaccine manufacturing site in Belgium". Reuters. 2021-04-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-25. สืบค้นเมื่อ 2021-04-25.
- ↑ "Increase in vaccine manufacturing capacity and supply for COVID-19 vaccines from BioNTech/Pfizer and Moderna". European Medicines Agency. 2021-04-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-25. สืบค้นเมื่อ 2021-04-25.
- ↑ 115.0 115.1 115.2 115.3 115.4 "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine EUA Fact Sheet for Healthcare Providers" (PDF). Pfizer. สืบค้นเมื่อ 2021-02-25.
- ↑ 116.0 116.1 "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Frequently Asked Questions". U.S. Food and Drug Administration. 2020-12-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-29. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ 117.0 117.1 "Extra dose from vials of Comirnaty COVID-19 vaccine". European Medicines Agency (EMA). 2021-01-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-30. สืบค้นเมื่อ 2021-01-08.
- ↑ "AIFA, possibile ottenere almeno 6 dosi da ogni flaconcino del vaccino BioNTech/Pfizer". aifa.gov.it (ภาษาอิตาลี). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2020-12-29.
- ↑ "Sundhedsstyrelsen opdaterer retningslinje for håndtering af vaccination mod COVID-19 i det generelle vaccinationsprogram" [The Danish Health Authority updates guidelines on handling of vaccination against COVID-19 in the general vaccination program]. The Danish Health Authority (ภาษาเดนมาร์ก). 2021-05-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-20. สืบค้นเมื่อ 2021-05-21.
- ↑ "Global information about Comirnaty". Comirnaty IE. 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-01-16.
- ↑ "Comirnaty Package Insert" (PDF). BioNTech Manufacturing GmbH. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-02-02.
- ↑ Rowland, C (2021-01-22). "Biden wants to squeeze an extra shot of vaccine out of every Pfizer vial. It won't be easy". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2021-01-29.
- ↑ 123.0 123.1 123.2 123.3 Gallagher, J (2020-11-09). "Covid vaccine: First 'milestone' vaccine offers 90% protection". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ Kollewe, J. "Pfizer and BioNTech's vaccine poses global logistics challenge". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ Newey, S (2020-09-08). "Daunting task of distribution exposed as it emerges some vaccines must be 'deep frozen' at −70C". The Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ "Information for Healthcare Professionals on Pfizer/BioNTech COVID-19 vaccine". Government of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 2021-01-29.
- ↑ "Recommendation for an Emergency Use Listing of Tozinameran (Covid-19 Mrna Vaccine (Nucleoside Modified)) Submitted by Biontech Manufacturing Gmbh" (PDF). World Health Organization. 2021-01-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-12. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ "Australian Product Information - Comirnaty (BNT162b2 [mRNA]) COVID-19 Vaccine" (PDF). Therapeutic Goods Administration. Australian Government.
- ↑ "Coronavirus (COVID-19) Update: FDA Allows More Flexible Storage, Transportation Conditions for Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine" (Press release). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2021-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-02-25. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ "Pfizer and BioNTech Submit COVID-19 Vaccine Stability Data at Standard Freezer Temperature to the U.S. FDA". Pfizer (Press release). 2021-02-19. สืบค้นเมื่อ 2021-02-19.
- ↑ Kollewe, J. "Pfizer and BioNTech's vaccine poses global logistics challenge". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ Newey, S (2020-09-08). "Daunting task of distribution exposed as it emerges some vaccines must be 'deep frozen' at −70C". The Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ "How China's COVID-19 could fill the gaps left by Pfizer, Moderna, AstraZeneca". Fortune. 2020-12-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-12-05.
- ↑ "Pfizer's Vaccine Is Out of the Question as Indonesia Lacks Refrigerators: State Pharma Boss". Jakarta Globe. 2020-11-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-07. สืบค้นเมื่อ 2020-12-05.
- ↑ Gates, Bill (2020-04-30). "The vaccine race explained: What you need to know about the COVID-19 vaccine". The Gates Notes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-14. สืบค้นเมื่อ 2020-05-02.
- ↑ "World Health Organization timeline - COVID-19". World Health Organization. 2020-04-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-02.
- ↑
Polack, FP; Thomas, SJ; Kitchin, N; Absalon, J; Gurtman, A; Lockhart, S; และคณะ (December 2020). "Safety and Efficacy of the BNT162b2 mRNA Covid-19 Vaccine". The New England Journal of Medicine. 383 (27): 2603–2615. doi:10.1056/NEJMoa2034577. PMC 7745181. PMID 33301246.
development of BNT162b2 was initiated on 10 January 2020, when the SARS-CoV-2 genetic sequence was released by the Chinese Center for Disease Control and Prevention and disseminated globally by the GISAID (Global Initiative on Sharing All Influenza Data) initiative
- ↑ Bohn, MK; Mancini, N; Loh, TP; Wang, CB; Grimmler, M; Gramegna, M; และคณะ (October 2020). "IFCC Interim Guidelines on Molecular Testing of SARS-CoV-2 Infection". Clinical Chemistry and Laboratory Medicine. 58 (12): 1993–2000. doi:10.1515/cclm-2020-1412. PMID 33027042.
- ↑
"CEPI's collaborative task force to assess COVID-19 vaccines on emerging viral strains". BioSpectrum - Asia Edition. 2020-11-23.
the first SARS-CoV-2 viral genomes were shared via GISAID on 10 January 2020
- ↑ T, Thanh Le; Andreadakis, Z; Kumar, A; R, Gómez Román; Tollefsen, S; Saville, M; Mayhew, S (May 2020). "The COVID-19 vaccine development landscape". Nature Reviews. Drug Discovery. 19 (5): 305–306. doi:10.1038/d41573-020-00073-5. PMID 32273591.
- ↑ Fauci, AS; Lane, HC; Redfield, RR (March 2020). "Covid-19 - Navigating the Uncharted". The New England Journal of Medicine. 382 (13): 1268–1269. doi:10.1056/nejme2002387. PMC 7121221. PMID 32109011.
- ↑ Gelles, D (2020-11-10). "The Husband-and-Wife Team Behind the Leading Vaccine to Solve Covid-19". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-13. สืบค้นเมื่อ 2020-11-17.
- ↑ "The story of mRNA: From a loose idea to a tool that may help curb Covid". Stat News. 2020-11-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-15. สืบค้นเมื่อ 2021-05-16.
- ↑ Papadopoulos, C (2020-12-14). "Chronologie - So entstand der Corona-Impfstoff von Biontech" [Chronology - That's how the Covid-vaccine of Biontech was being developed] (ภาษาเยอรมัน). Südwestrundfunk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-20.
- ↑ "The Price Tags on the COVID-19 Vaccines". Managed Healthcare Executive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-06-20.
- ↑ "Fosun Pharma and BioNTech form COVID-19 vaccine strategic alliance in China". Fosun Phrama News Content. 2020-03-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-14.
- ↑ Staff, Reuters (2020-04-09). "Pfizer and BioNTech Announce Further Details on Collaboration to Accelerate Global COVID-19 Vaccine Development". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.
- ↑ "Pfizer and BioNTech announce further details on collaboration to accelerate global COVID-19 vaccine development" (Press release). Pfizer. 2020-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-04-19.
- ↑ 149.0 149.1 "Pfizer Inc. 2020 Form 10-K Annual Report" (PDF). Pfizer.
- ↑ "Germany: Investment Plan for Europe - EIB to provide BioNTech with up to €100 million in debt financing for COVID-19 vaccine development and manufacturing". European Investment Bank. 2020-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ "Press corner". European Commission - European Commission (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-25. สืบค้นเมื่อ 2021-06-30.
- ↑ "BioNTech moves to head of pack for COVID-19 vaccine with EU finance". European Investment Bank (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-06-30.
- ↑ "BioNTech gets $445 million in German funding for vaccine". Bloomberg.com. 2020-09-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-10.
- ↑ "Pfizer CEO says he would've released vaccine data before election if possible". Axios. 2020-11-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-11.
- ↑ "FDA Briefing Document: Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine" (PDF). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2020-12-10. สืบค้นเมื่อ 2021-01-01.
- ↑ 156.0 156.1 156.2 Mulligan, MJ; Lyke, KE; Kitchin, N; Absalon, J; Gurtman, A; Lockhart, S; และคณะ (October 2020). "Phase I-II study of COVID-19 RNA vaccine BNT162b1 in adults". Nature. 586 (7830): 589–593. Bibcode:2020Natur.586..589M. doi:10.1038/s41586-020-2639-4. PMID 32785213. S2CID 221126922.
- ↑ 157.0 157.1 "China's Fosun to end BioNTech's COVID-19 vaccine trial, seek approval for another". Reuters. 2020-11-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-12. สืบค้นเมื่อ 2020-11-21.
- ↑ Herper, M (2020-08-20). "Pfizer and BioNTech's favored Covid-19 vaccine has fewer side effects than their first". Stat News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-11. สืบค้นเมื่อ 2021-06-11.
- ↑ Hannah, B (2020-10-07). "EMA begins rolling review of BNT162b2 COVID-19 vaccine". European Pharmaceutical Review. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-11. สืบค้นเมื่อ 2020-11-11.
- ↑ 160.0 160.1 160.2 "EMA Assessment Report" (PDF). www.ema.europa.eu. 2020-12-21. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-28. สืบค้นเมื่อ 2020-12-29.
- ↑ "Clarification of Comirnaty dosage interval". European Medicines Agency (EMA). 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
- ↑ Edwards, E (2020-11-09). "Pfizer's Covid-19 vaccine promising, but many questions remain". NBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-22. สืบค้นเมื่อ 2020-11-12.
- ↑ Favresse, J; Bayart, J; Mullier, F; Elsen, M; Eucher, C; Eeckhoudt, S; และคณะ (2021-07-07). "Antibody titers decline 3-month post-vaccination with BNT162b2". Emerging Microbes & Infections. 10 (1): 1495–1498. doi:10.1080/22221751.2021.1953403. PMID 34232116. S2CID 235757143.
- ↑ Mahase, Elisabeth (2021-07-30). "Covid-19: Pfizer vaccine's efficacy declined from 96% to 84% four months after second dose, company reports". BMJ. 374: n1920. doi:10.1136/bmj.n1920. ISSN 1756-1833. PMID 34330713.
- ↑ "Study to Evaluate the Safety, Tolerability, and Immunogenicity of SARS CoV-2 RNA Vaccine Candidate (BNT162b2) Against COVID-19 in Healthy Pregnant Women 18 Years of Age and Older". ClinicalTrials.gov. สืบค้นเมื่อ 2021-02-21.
- ↑ "Pfizer and BioNTech Commence Global Clinical Trial to Evaluate COVID-19 Vaccine in Pregnant Women". Pfizer (Press release). 2021-02-18. สืบค้นเมื่อ 2021-02-21.
- ↑ Gray, KJ; Bordt, EA; Atyeo, C; Deriso, E; Akinwunmi, B; Young, N; และคณะ (March 2021). "Coronavirus disease 2019 vaccine response in pregnant and lactating women: a cohort study". American Journal of Obstetrics & Gynecology. doi:10.1016/j.ajog.2021.03.023. PMC 7997025. PMID 33775692.
- ↑ "Pfizer says its Covid vaccine trial for kids ages 12 to 15 is fully enrolled". CNBC. 2021-01-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-11.
- ↑ "BioNTech-Pfizer say COVID-19 vaccine 100% effective on 12- to 15-year-olds". CNA. 2021-03-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-31. สืบค้นเมื่อ 2021-03-31.
- ↑ Boyarsky, BJ; Werbel, WA; Avery, RK; Tobian, AA; Massie, AB; Segev, DL; และคณะ (May 2021). "Immunogenicity of a Single Dose of SARS-CoV-2 Messenger RNA Vaccine in Solid Organ Transplant Recipients". JAMA. 325 (17): 1784–86. doi:10.1001/jama.2021.4385. PMC 7961463. PMID 33720292.
- ↑ "Intradermal administration of low-dose mRNA COVID-19 vaccine induces strong immune response, study finds". News Medical. 2021-08-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-02.
- ↑ Roozen, Geert V.T.; Prins, Margaretha L.M.; van Binnendijk, Rob; Hartog, Gerco den; Kuiper, Vincent P.; Prins, Corine; Janse, Jacqueline J.; Kruithof, Annelieke C.; Feltkamp, Mariet C.W.; Kuijer, Marjan; Rosendaal, Frits R.; Roestenberg, Meta; Visser, Leo G.; Roukens, Anna H.E. (2021-07-28), Tolerability, safety and immunogenicity of intradermal delivery of a fractional dose mRNA-1273 SARS-CoV-2 vaccine in healthy adults as a dose sparing strategy, Cold Spring Harbor Laboratory, doi:10.1101/2021.07.27.21261116
- ↑ "หมอมานพ เผย นักวิจัยเนเธอร์แลนด์ โชว์ผลศึกษาฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังได้ภูมิสูง แถมใช้วัคซีนน้อย". มติชน. 2021-07-31. สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
- ↑ 174.0 174.1 "UK medicines regulator gives approval for first UK COVID-19 vaccine". Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). 2020-12-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ Neergaard, L; Kirka, D (2020-12-02). "Britain OKs Pfizer vaccine and will begin shots within days". Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-06. สืบค้นเมื่อ 2020-12-06.
- ↑ 176.0 176.1 Mueller, Benjamin (2020-12-02). "U.K. Approves Pfizer Coronavirus Vaccine, a First in the West". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ Roberts, Michelle (2020-12-02). "Covid Pfizer vaccine approved for use next week in UK". BBC (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-12-02.
- ↑ Henley, Jon; Connolly, Kate; Jones, Sam (2020-12-03). "European and US experts question UK's fast-track of Covid vaccine". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-09. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
- ↑ "TGA provisionally approves Pfizer COVID-19 vaccine". Therapeutic Goods Administration (Press release). 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
- ↑ "Drug and vaccine authorizations for COVID-19: List of applications received". Health Canada. 2020-12-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-30. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
- ↑ "SFH authorises COVID-19 vaccine by Fosun Pharma/BioNTech for emergency use in Hong Kong". The Government of Hong Kong (Press release). 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-01-26.
- ↑ "Israeli Health Minister 'pleased' as FDA approves Pfizer COVID-19 vaccine". The Jerusalem Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-31. สืบค้นเมื่อ 2020-12-28.
- ↑ "Malaysia's NPRA Approves Pfizer Covid-19 Vaccine". CodeBlue. 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-02-25.
- ↑ "PH authorizes Pfizer's COVID-19 vaccine for emergency use". CNN Philippines. 2021-01-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-05-13.
- ↑ "Singapore approves use of Pfizer's COVID-19 vaccine". AP News. 2020-12-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-10. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
- ↑ Lim, Jeong-yeo (2021-02-03). "South Korea approves special import of Pfizer vaccine". The Korea Herald. สืบค้นเมื่อ 2021-02-28.
- ↑ Lee, Kyung-eun (2021-02-27). "S. Korea begins rolling out Pfizer vaccines on second day of national vaccination program". Arirang News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2021-02-28.
- ↑ "WHO issues its first emergency use validation for a COVID-19 vaccine and emphasizes need for equitable global access". World Health Organization (WHO) (Press release). 2020-12-31. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-29. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.
- ↑ 189.0 189.1 "Emergency Use Authorization for vaccines explained". U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2020-11-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-20. สืบค้นเมื่อ 2020-11-20. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine EUA Letter of Authorization" (PDF). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2020-12-11. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine EUA Fact Sheet for Healthcare Providers" (PDF). Pfizer. 2020-12-11.
- ↑ Sun, Lena H.; Stanley-Becker, Isaac. "CDC greenlights advisory group's decision to recommend Pfizer vaccine for use". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-13. สืบค้นเมื่อ 2020-12-14.
- ↑ Oliver, SE; Gargano, JW; Marin, M; Wallace, M; Curran, KG; Chamberland, M; และคณะ (December 2020). "The Advisory Committee on Immunization Practices' Interim Recommendation for Use of Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine — United States, December 2020" (PDF). MMWR. 69 (50): 1922–24. doi:10.15585/mmwr.mm6950e2. PMID 33332292.
- ↑ Aiello, Rachel (2021-05-05). "Children 12 and older now cleared to receive Pfizer vaccine: Health Canada". CTV News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Coronavirus (COVID-19) Update: FDA Authorizes Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine for Emergency Use in Adolescents in Another Important Action in Fight Against Pandemic". U.S. Food and Drug Administration (FDA) (Press release). 2021-05-10. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-10. สืบค้นเมื่อ 2021-05-11. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ "Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine EUA Letter of Authorization" (PDF). U.S. Food and Drug Administration (FDA). 2020-12-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-19. สืบค้นเมื่อ 2020-12-16. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
- ↑ Saltzman, J; Weisman, R (2021-05-10). "FDA authorizes Pfizer COVID-19 vaccine for adolescents 12 to 15 years old". The Boston Globe. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-11. สืบค้นเมื่อ 2021-05-11.
- ↑ Ang, HM (2021-05-18). "Children aged 12 to 15 years to receive Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine in Singapore". CNA. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-05-18.
- ↑ "EU regulator backs Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine for children aged 12 to 15". CNA. 2021-05-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
- ↑ "COVID-19: Switzerland can start vaccinating vulnerable groups already in December" (Press release). Federal Office of Public Health. 2020-12-19. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-10. สืบค้นเมื่อ 2020-12-19.
- ↑ 201.0 201.1 "EMA recommends first COVID-19 vaccine for authorisation in the EU". European Medicines Agency (EMA) (Press release). 2020-12-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-30. สืบค้นเมื่อ 2020-12-21.
- ↑ "Comirnaty". Union Register of medicinal products. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-24. สืบค้นเมื่อ 2021-01-08.
- ↑ "Statement by President von der Leyen on the marketing authorisation of the BioNTech-Pfizer vaccine against COVID-19". European Commission. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-12-21.
- ↑ Cancian, Natália (2021-02-23). "Anvisa aprova registro da vacina da Pfizer contra Covid". Folha de S. Paulo (ภาษาโปรตุเกส). สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.
- ↑ "Brazil approves Pfizer COVID-19 vaccine for children over 12". Reuters. 2021-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-07-18.
- ↑ "Anvisa autoriza vacina da Pfizer para crianças com mais de 12 anos". Agência Nacional de Vigilância Sanitária - Anvisa (ภาษาโปรตุเกส). 2021-06-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-23. สืบค้นเมื่อ 2021-07-18.
- ↑ "U.S. FDA Grants Priority Review for the Biologics License Application for Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine". BioNTech (Press release). 2021-07-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-07-18.
- ↑ "U.S. FDA sets January target to decide on approval of Pfizer's COVID-19 shot". Reuters. 2021-07-16. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.
- ↑ "Coronavirus (COVID-19) Update: FDA Authorizes Additional Vaccine Dose for Certain Immunocompromised Individuals". U.S. Food and Drug Administration (FDA) (Press release). 2021-08-12. สืบค้นเมื่อ 2021-08-13.
- ↑ "COVID-19 Vaccines for Moderately to Severely Immunocompromised People". Centers for Disease Control and Prevention. 2021-08-13. สืบค้นเมื่อ 2021-08-13.
- ↑ "ศบค. เปิดไทม์ไลน์นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์". ไทยโพสต์. 2021-07-04.
- ↑ "ไทม์ไลน์การอนุมัติซื้อ วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส". สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี. 2021-07-15. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
- ↑ "ไทม์ไลน์จัดหาวัคซีน "ไฟเซอร์"". สำนักข่าวไทย. 2021-07-20.
- ↑ "สธ.อัปเดตปีนี้มีจำนวนวัคซีนของรัฐ 124 ล้านโดส เดือน พ.ย. เริ่มฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่เสี่ยง". sanook. 2021-08-30.
- ↑ 215.0 215.1 LaFraniere, S; Stolberg, SG; Weiland, N (2021-05-06). "Biden to Send 500 Million Doses of Pfizer Vaccine to 100 Countries Over a Year". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-10. สืบค้นเมื่อ 2021-06-11.
- ↑ "European vaccine prices revealed in Belgian Twitter blunder". The Brussels Times (ภาษาอังกฤษ). 2020-12-18.
- ↑ "Pfizer, U.S. strike 100 million COVID-19 vaccine deal with 70 million due by June". Reuters. 2020-12-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17.
- ↑ "ครม.เคาะอนุมัติงบ 4,745 ล้าน ซื้อวัคซีนไฟเซอร์เกือบ 10 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีด 6 กลุ่มหลัก". sanook. 2021-08-30.
- ↑ Polack, FP; Thomas, SJ; Kitchin, N; Absalon, J; Gurtman, A; Lockhart, S; และคณะ (December 2020). "Safety and Efficacy of the BNT162b2 mRNA Covid-19 Vaccine". N Engl J Med. 383 (27): 2603–2615. doi:10.1056/NEJMoa2034577. PMC 7745181. PMID 33301246.
- ↑ "International Nonproprietary Names for Pharmaceutical Substances (INN). Proposed INN: List 124 - COVID-19 (special edition)" (PDF). WHO Drug Information. 34 (3): 666. 2020. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2020-11-23.
- ↑ "Pfizer and BioNTech Receive Authorization in the European Union for COVID-19 Vaccine" (Press release). BioNTech. 2020-12-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-26. สืบค้นเมื่อ 2020-12-26 – โดยทาง GlobeNewswire.
- ↑ "Comirnaty COVID-19 mRNA Vaccine". Comirnaty Global. สืบค้นเมื่อ 2020-12-31.
- ↑ Erman, M; Ankur, B (2020-07-22). "U.S. to pay Pfizer, BioNTech $1.95 bln for millions of COVID-19 vaccine doses". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-22. สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
- ↑ "U.S. Government Engages Pfizer to Produce Millions of Doses of COVID-19 Vaccine". US Department of Health and Human Services. 2020-07-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-22. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
- ↑ Nazaryan, A (2020-11-09). "So is Pfizer part of Operation Warp Speed or not? Yes and no". Yahoo Financial News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ Pleitgen, F (2020-11-11). "EU agrees to buy 300 million doses of the Pfizer/BioNTech Covid-19 vaccine". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ 2020-11-26.
- ↑ "Japan and Pfizer reach COVID-19 vaccine deal to treat 60 million people". The Japan Times. 2020-08-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-10. สืบค้นเมื่อ 2020-11-21.
- ↑ Tasker, JP (2020-11-09). "Trudeau says promising new Pfizer vaccine could be 'light at the end of the tunnel'". CBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
- ↑ "Pfizer and BioNTech to Supply Singapore with their BNT162b2 mRNA-based Vaccine Candidate to Combat COVID-19". pfizer.com.sg. Pfizer Singapore. 2020-12-14. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
- ↑ de Salud, Secretaría. "233. Firma secretario de Salud convenio con Pfizer para fabricación y suministro de vacuna COVID-19". gob.mx (ภาษาสเปน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-24. สืบค้นเมื่อ 2020-12-17.
- ↑ Ng, Eric (2020-08-27). "Fosun Pharma to supply Covid-19 vaccine to Hong Kong, Macau once approved". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-20. สืบค้นเมื่อ 2020-11-21.
- ↑ Ting, Victor; Lau, Chris; Wong, Olga (2020-12-11). "Hong Kong buys 15 million Covid-19 vaccine doses from Sinovac, Pfizer". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-11. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
- ↑ 233.0 233.1 "BioNTech and Fosun Pharma to Supply China with mRNA-based COVID-19 Vaccine" (Press release). BioNTech. 2020-12-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-16. สืบค้นเมื่อ 2020-12-16.
- ↑ "First patient receives Pfizer Covid-19 vaccine". BBC. 2020-12-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-12-08.
- ↑ "Vaccine vials and a virtual hug: a history of coronavirus in 15 objects". The Guardian. 2021-02-21. สืบค้นเมื่อ 2021-02-22.
- ↑ "COVID-19 Vaccination Statistics - Week ending Sunday 20 December 2020" (PDF). NHS. 2020-12-24.
- ↑ Erni, S (2020-12-23). "90-jährige Luzernerin als erste Person in der Schweiz gegen Corona geimpft". Neue Luzerner Zeitung. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-12-23.
- ↑ Pralong, J (2020-12-23). "La piqûre de l'espoir pratiquée à Lucerne". Heidi.news. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-10. สืบค้นเมื่อ 2020-12-23.
- ↑ "Pfizer Has Offered South Africa Discounted Covid-19 Vaccines". Bloomberg. 2021-01-04. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.
- ↑ "SA has secured more than 40 million Covid-19 vaccine doses - Ramaphosa". www.iol.co.za. สืบค้นเมื่อ 2021-03-18.
- ↑ "COVID-19 tracker: U.S. pulls Inovio vaccine funding; Pfizer scores EU supply deal". FiercePharma. 2021-04-28.
- ↑ "Pfizer and BioNTech to Provide COVID-19 Vaccine Doses for Olympic Athletes at the 2020 Tokyo Games" (Press release). Pfizer. 2021-05-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-18. สืบค้นเมื่อ 2021-05-18.
- ↑ Lee, J (2021-05-14). "Do Videos Show Magnets Sticking to People's Arms After COVID-19 Vaccine?". Snopes.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-19. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ Wade, N (2021-05-13). "Covid-19 vaccines do not contain magnetic microchips". Fact Check. Agence France-Presse. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ Fauzia, M (2021-05-12). "Fact check: COVID-19 vaccines don't cause magnetic reactions or contain tracking devices". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-19. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ Fichera, A (2021-05-14). "Magnet Videos Refuel Bogus Claim of Vaccine Microchips". FactCheck.org. Annenberg Public Policy Center. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
- ↑ Thompson, S (2021-05-12). "Fact Check: Video Does NOT Prove COVID-19 Vaccine Contains A Magnetic Microchip". Lead Stories. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Tozinameran". Drug Information Portal. U.S. National Library of Medicine.
- Global Information About Pfizer‑BioNTech COVID‑19 Vaccine (also known as BNT162b2)
- A phase 1/2/3, placebo-controlled, randomized, observer-blind, dose-finding study to evaluate the safety, tolerability, immunogenicity, and efficacy of SARS-COV-2 RNA vaccine candidates against COVID`-19 in healthy individuals เก็บถาวร 2020-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Original study protocol (by Pfizer)
- Pfizer and BioNTech Announce Vaccine Candidate Against COVID-19 Achieved Success in First Interim Analysis from Phase 3 Study(press release by Pfizer, 2020-11-09)
- Information for UK Healthcare Professionals on COVID-19 mRNA Vaccine BNT162b2 concentrate for solution for injection