โรคระบาดทั่ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรคระบาดทั่ว (อังกฤษ: pandemic; มาจากรากศัพท์ภาษากรีก παν pan ทั้งหมด + δήμος demos ประชาชน) เป็นการระบาดของโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายในประชากรมนุษย์ในบริเวณกว้าง (เช่น กระจายไปทั่วทวีป) หรือทั่วโลก

ความหมาย[แก้]

จากนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) โรคระบาดทั่วจะเกิดขึ้นเมื่อมีสามเงื่อนไข

  • การเกิดขึ้นของโรคใหม่ในประชากร
  • เกิดการติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ และทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง
  • เชื้อโรคแพร่กระจายได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างมนุษย์

มีโรคหรือสภาวะทางสุขภาพอื่นๆ ที่ไม่จัดเป็นโรคระบาดทั่วแม้ว่าจะเกิดการกระจายและการเสียชีวิตในประชากรจำนวนมาก แต่ไม่เข้าเกณฑ์เป็นโรคติดต่อ เช่น มะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของโลกแต่ไม่จัดเป็นโรคระบาดทั่วเพราะเป็นโรคไม่ติดต่อ (แม้ว่ามีสาเหตุของมะเร็งบางชนิดติดต่อกันได้)

โรคระบาดทั่วในปัจจุบัน[แก้]

เอดส์[แก้]

ไวรัสเอชไอวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์นั้นถ่ายทอดโดยตรงจากแอฟริกาไปยังประเทศเฮติ จากนั้นจึงแพร่กระจายในสหรัฐอเมริกาและส่วนอื่นๆ ของโลกตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) [1] ในปัจจุบันโรคเอดส์จัดเป็นโรคระบาดทั่ว โดยมีอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 25 ในภูมิภาคแอฟริกาใต้และตะวันออก ในปี พ.ศ. 2549 ความชุกของเชื้อเอชไอวีในสตรีมีครรภ์ในประเทศแอฟริกาใต้คือร้อยละ 29.1[2] การให้การศึกษาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและการระวังการติดเชื้อผ่านทางเลือดช่วยชะลออัตราการติดเชื้อในประเทศแถบแอฟริกาหลายประเทศ อัตราการติดเชื้อในเอเชียและอเมริกายังกลับเพิ่มขึ้นอีก จากการวิจัยประชากรโดยองค์การสหประชาชาติประมาณการณ์ว่าโรคเอดส์จะคร่าชีวิตประชาชนในอินเดียถึง 31 ล้านคน และในจีนถึง 18 ล้านคนในปี พ.ศ. 2568[3] ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์โดยรวมในแอฟริกาอาจสูงถึง 90–100 ล้านคนในปี พ.ศ. 2568[4]

โรคระบาดทั่วในประวัติศาสตร์[แก้]

ไข้หวัดใหญ่[แก้]

  • การระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 สายพันธุ์ใหม่ (Influenza A virus subtype H1N1) เป็นโรคระบาดทั่วชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2552 ในปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศระดับการเตือนภัยเพิ่มจากระดับที่ 3 เป็นระดับที่ 5 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ระดับการระบาดได้เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดคือระดับ 6[5] ซึ่งนับเป็นโรคระบาดทั่วชนิดแรกที่มีระดับการระบาดสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ดร. มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้กล่าวในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ยืนยันว่าไวรัสสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 เป็นโรคระบาดทั่ว โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วมากกว่า 30,000 รายทั่วโลก

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]