โลกตะวันตก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ประเทศตะวันตก)

โลกตะวันตก (อังกฤษ: Western world และอาจเรียก The West หรือ Occident) เป็นคำที่ใช้หมายถึงประเทศได้หลายประเทศแตกต่างกันตามบริบทของการใช้คำศัพท์ นอกจากนี้เป็นคำซึ่งมีคำจำกัดความอยู่มากมาย[1]

แนวคิดส่วนของโลกซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกมีรากฐานมาจากอารยธรรมกรีกโรมันในยุโรปและการกำเนิดของศาสนาคริสต์[2][3][4][5][6] โลกตะวันตกในยุคปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากขนบธรรมเนียมของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ยุคเรืองปัญญา และ ลัทธิล่าอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึง 20 ในสมัยก่อนยุคสงครามเย็นมุมมองของชาวตะวันตกแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับโลกตะวันตกก็คือ กลุ่มประเทศทางตะวันตกที่ยึดถือขนบธรรมเนียมและนับถือศาสนาคริสต์ไม่ว่าจะเป็นนิกายโรมันคาทอลิกหรือโปรเตสแตนต์[7] ความหมายของคำว่าโลกตะวันตกได้เปลี่ยนไปเนื่องจากความเป็นปรปักษ์กันของนาๆประเทศซึ่งเกิดจากสงครามเย็นในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 (คศ. 1947-1991)45

แต่เดิมโลกตะวันตกมีความหมายทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจนด้วยการแยกยุโรปออกจากอารยธรรมตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ รวมไปจนถึงการแยกเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกไกลซึ่งชาวยุโรรปสมัยนั้นมองว่าเป็นโลกตะวันออก ปัจจุบันคำศัพท์นี้มีความเกี่ยวข้องทางภูมิศาสตร์เพียงเล็กน้อยเนื่องจากคำจำกัดความของโลกตะวันตกได้รับการขยายไปถึงประเทศซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของยุโรปในทวีปอเมริกา รัสเซียทางตอนเหนือของเอเชีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ในปัจจุบันคำว่า "โลกตะวันตก" จะหมายถึงยุโรปและประเทศต่างๆซึ่งมีจุดกำเนิดจากการเป็นอาณานิคมของยุโรปโดยที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นๆมีบรรพบุรุษซึ่งมาจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปอเมริกา เอเชียหรือโอเชียเนีย[8]

บทนำ[แก้]

โรงเรียนแห่งเอเธนส์ (ราฟาเอล) แสดงให้เห็นถึงการชุมนุมของนักคิดที่โดดเด่นที่สุดในสมัยคลาสสิก วาดขึ้นบนผนังปูนปลาสเตอร์เปียก โดยราฟาเอล, คศ. 1510-1511

วัฒนธรรมตะวันตกได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้โลกตะวันออกเช่น ฟินิเชีย คาร์เธจ ซูเมอร์ บาบิโลเนีย และ อียิปต์โบราณ วัฒนธรรมตะวันตกมีจุดกำเนิดอยู่ในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนและพื้นที่ใกล้เคียงโดยชาวกรีกและโรมันมักจะได้รับการอ้างอิงว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรม เมื่อเวลาผ่านไปจักรวรรดิต่างๆของกรีซและโรมได้ทำการขยายอาณาเขตไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกโดยทำการผนวกดินแดนรอบชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ ต่อมาจักรวรรดิเหล่านี้จึงขยายไปทางทิศเหนือของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งรวมถึงยุโรปตะวันตก กลางและตะวันออกเฉียงใต้ การเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนาของจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 (ในศตวรรษที่ 9) การเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนาของจักรวรรดิเคียฟรุส (รัสเซีย, ยูเครน, เบลารุส; ในศตวรรษที่ 10) การเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนาของชนชาติสแกนดิเนเวีย (ในศตวรรษที่ 12) และการเปลี่ยนเป็นคริสต์ศาสนาของชนชาติลิทัวเนีย (ในศตวรรษที่ 14) ได้นำดินแดนยุโรปส่วนที่เหลือเข้าสู่อารยธรรมตะวันตก

นักประวัติศาสตร์หลายคนยกตัวอย่างเช่น แครอล ควิกลีย์ ได้เขียนยืนกรานในหนังสือเรื่องวิวัฒนาการของอารยธรรม[9] ว่าอารยธรรมตะวันตกเกิดขึ้นเมื่อประมาณปีค.ศ. 500 หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกโดยการล่มสลายนี้ทำให้เกิดพื้นที่ว่างสำหรับการเบ่งบานของความคิดใหม่ๆที่เป็นไปไม่ได้ในสังคมสมัยคลาสสิก แต่ไม่ว่าอารยธรรมตะวันตกจะเกิดขึ้นเมื่อใดจะเห็นได้ว่าตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา โลกตะวันตกได้พบกับความเสื่อมที่มากพอสมควรในช่วงแรก[10] ตามด้วยการปรับตัว เปลี่ยนแปลงและท้ายที่สุดการพัฒนาทางวัตถุ เทคโนโลยีและการเมือง ช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้กินเวลาประมาณหนึ่งพันปีและได้ถูกเรียกว่ายุคสมัยกลาง โดยส่วนเริ่มต้นของสมัยกลางทำให้เกิด "ยุคมืด" และจุดจบของสมัยกลางถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

ความรู้เกี่ยวกับโลกตะวันตกโบราณได้รับการเก็บรักษาไว้ส่วนหนึ่งเนื่องจากการอยู่รอดของจักรวรรดิโรมันตะวันออกและคริสตจักรคาทอลิก และได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมจากการซึมซับอารยธรรมอาหรับ[11][12]โดยชาวกรีก-โรมันโบราณ และการรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านชาวอาหรับจากประเทศอินเดีย จีนและยุโรป[13][14] ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาโลกตะวันตกได้พัฒนาเกินอิทธิพลที่ได้รับจากชาวกรีก-โรมันโบราณและโลกอิสลาม เนื่องจากการพาณิชย์[15] วิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม[16] และการขยายตัวของประชาชนของจักรวรรดิยุโรปตะวันตกและยุโรปกลางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรวรรดิแห่งการล่าอาณานิคมของศตวรรษที่ 18 และ 19 และในหลายต่อหลายครั้งการขยายตัวเกี่ยวกับความรู้เกี่ยวของโลกตะวันตกนี้มาพร้อมกับมิชชันนารีชาวคริสต์ที่ต้องการเผยแผ่ศาสนา

โดยทั่วไปฉันทามติในปัจจุบันเวลาพูดถึงโลกตะวันตก จะหมายถึงวัฒนธรรมและประชาชนของยุโรป สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และบางส่วนของละตินอเมริกา ยังมีการโต้เถียงในปัจจุบันว่าละตินอเมริกาน่าจะถูกจัดในหมวดหมู่ของตัวเองหรือไม่[7][17][18] วัฒนธรรมรัสเซีย (โดยเฉพาะวรรณคดี ดนตรี ภาพวาด ปรัชญาและสถาปัตยกรรม) จัดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตก รัสเซียมักจะไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกในฐานะทางการเมือง เนื่องจากความโดดเดี่ยวทางการเมืองของประเทศ[19] และสงครามเย็นรอบใหม่ภายในสหพันธรัฐรัสเซียด้านหนึ่ง และกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ อีกด้านหนึ่ง[20]

วัฒนธรรมตะวันตก[แก้]

คำว่า "วัฒนธรรมตะวันตก" มักถูกนำมาใช้คร่าวๆเพื่อบอกถึงความเป็นตะวันตกเช่นในเรื่องของ วัฒนธรรม บรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยม จริยธรรมประเพณี ความเชื่อทางศาสนา ระบบการเมือง สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี

หากจะกล่าวให้ชัดเจนวัฒนธรรมตะวันตกอาจหมายถึง:

รูปแบบทางวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไปจะมีความเชื่อมโยงถึงคำนิยามแบบดั้งเดิมของของคำว่าโลกตะวันตก ในความหมายนี้วัฒนธรรมตะวันตกจะหมายถึง หลักการทาง วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ การเมือง ศิลปะและปรัชญาที่ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกความแตกต่างจากวัฒนธรรมของอารยธรรมอื่นๆ โดยรูปแบบเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้ในบัญญัติตะวันตก[21]

มีแนวโน้มบางประการที่กำหนดให้สังคมตะวันตกในสมัยใหม่มีความเกี่ยวข้องกับพหุนิยมทางการเมือง การแยกศาสนาออกจากการปกครอง ความแพร่หลายของชนชั้นกลาง ความโดดเด่นของวัฒนธรรมย่อยหรือวัฒนธรรมต่อต้าน การเพิ่มขึ้นของการผสานความเชื่อทางด้านวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์และการย้ายถิ่นของมนุษย์ รูปแบบของสังคมสมัยใหม่เหล่านี้มีรากฐานมากจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและปัญหาซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกันของคน (ความแตกต่างของชนชั้น) และสิ่งแวดล้อม (มลพิษ) รวมไปจนถึงการเกิดปฏิกิริยากับกับสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วเช่น สหการนิยม และ สิ่งแวดล้อมนิยม

การแบ่งแยกโลกตะวันตกในประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย[แก้]

การแบ่งจักรวรรดิโรมันหลังจากปีค.ศ. 395 ออกเป็นภาคตะวันตกและตะวันออก การแบ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปซึ่งทำให้เกิดฝ่ายตะวันตกและตะวันออกนั้นมีต้นกำเนิดจากจักรวรรดิโรมัน[22]

การแบ่งยุโรปในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทำให้เกิดฝ่าย ตะวันตก และ ตะวันออก มีต้นกำเนิดจากจักรวรรดิโรมัน[22] ในสมัยนั้นด้านตะวันออกของบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนจะเป็นสังคมเมืองซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าผู้มีวัฒนธรรมสูงและใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลาง (โดยเป็นผลมาจากการปกครองของในอดีตของอเล็กซานเดอร์มหาราชและผู้สืบทอดอำนาจในสมัยเฮลเลนิสติก) ในขณะที่ฝั่งตะวันตกจะมีรูปแบบเป็นสังคมชนบทและนิยมใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลาง หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจะเห็นได้ว่าดินแดนยุโรปตะวันตกและยุโรปกลางนั้นถูกตัดออกจากฝั่งตะวันออกโดยสิ้นเชิงโดยที่ จักรวรรดิไบแซนไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก ซึ่งมีวัฒนธรรมกรีกและนับถือศาสนาคริสต์ตะวันออก กลายเป็นผู้เริ่มเผยแพร่อิทธิพลให้กับชนชาติอาหรับ/ประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามและชาวสลาฟซึ่งอาศัยทางตะวันออกและใต้ของยุโรป ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกซึ่งตั้งอยู่บริเวณตะวันตกและกลางของยุโรปยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ศาสนจักรเริ่มที่กลับมาพัฒนาตัวเองใหม่ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และแม้กระทั่งภายหลังจากการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ชาวโปรเตสแตนต์ในยุโรปก็ยังคงเห็นว่าตัวเองนั้นมีความผูกพันกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกโรมันคาทอลิกในยุโรปมากกว่ามากกว่าชนชาติอื่นๆ

คำว่า โลกตะวันตก ได้เริ่มถูกนำไปใช้ในในการบอกวัฒนธรรมและภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในช่วงยุคแห่งการสำรวจซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปได้แพร่กระจายวัฒนธรรมของตนไปยังส่วนอื่นๆของโลก ในอดีตสองศตวรรษที่ผ่านมาคำว่า โลกตะวันตก และ โลกของชาวศาสนาคริสต์ มักจะสามารถถูกใช้แทนกันเนื่องจากจำนวนของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์มากกว่าจำนวนของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ รวมถึงผู้ที่ยังคงนับถือความคิดโรมันแบบโบราณและความเชื่อนอกรีต ในขณะที่ความเชื่อยึดติดกับศาสนาของคนเริ่มเสื่อมคลายลงในยุโรปและที่อื่นๆในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 คำว่า ตะวันตก จึงมีความหมายในแง่ของศาสนาน้อยลงและเริ่มมีความหมายทางการเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็น นอกจากนั้นความใกล้ชิดที่มากขึ้นระหว่าง ตะวันตก กับเอเชียและส่วนอื่นๆ ของโลกในเร็วๆนี้ก็มีผลให้ความหมายของคำไม่ชัดเจนเหมือนก่อน

ยุคเฮลเลนิสติก[แก้]

โลกในสมัยกรีกโบราณ, 550 ปีก่อนคริสตกาล

การแบ่งแยกระหว่างอนารยชนและชาวกรีกในสมัยเฮลเลนิสติกเป็นการเทียบความแตกต่างระหว่างอารยธรรมของชนชาติที่พูดภาษากรีกซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเมดิเตอร์เรเนียน และอารยธรรมของชนชาติที่ไม่ได้พูดภาษากรีกซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบนอก เฮอรอโดทัสมองว่าสงครามเปอร์เซียในช่วงต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เป็นความขัดแย้งระหว่างยุโรปกับเอเชีย (ซึ่งตามความคิดของเขาคือการต่อสู้ระหว่างชาวยุโรปซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของทะเลมาร์มารากับชาวเอเชียซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเล) คำว่าฝ่าย "ตะวันตก" หรือ "ตะวันออก" มิได้ถูกนักเขียนชาวกรีกในสมัยนั้นนำมาใช้อธิบายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อคำว่าฝ่าย "ตะวันตก" ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกกลับหมายถึงผู้ที่ต่อต้านชาวกรีกและอารยธรรมของชนชาติที่พูดภาษากรีก

สังคมตะวันตกมักชี้ให้เห็นว่าต้นกำเนิดของอารยธรรมของตัวเองมีพื้นฐานจากแนวคิดของชาวกรีกและศาสนาคริสต์ ดังนั้นสังคมตะวันตกในปัจจุบันจึงเป็นเพียงการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของสังคมใน​​กรีกโบราณและเลแวนต์ซึ่งผ่านเข้าสู่จักรวรรดิโรมันและแพร่กระจายไปทั่วยุโรป อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดของชาวกรีกซึ่งเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ และ ศิลปะนั้นยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ในสังคมตะวันตก ดังที่จะเห็นได้จากการที่แนวคิดกรีกยังทรงอิทธิพลต่อสังคมตะวันตกหลังหมดยุคเฮลเลนิสติกและยุคมืด การฟื้นตัวใหม่ของแนวคิดกรีกในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และการที่แนวคิดนี้ยังคงมีบทบาทอย่างกว้างขวางในสังคมตะวันตกยุคปัจจุบัน

โลกตะวันตกยุคใหม่ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในฐานะอารยธรรมใหม่ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการตีความแนวคิดกรีก ซึ่งได้รับการเก็บรักษาโดยจักรวรรดิโรมันและโลกของชาวอิสลามในช่วงยุคมืดและได้รับการสืบทอดต่อมาโดยการอพยพของนักวิชาการกรีก การแต่งงานและการแปลภาษาละติน

จักรวรรดิโรมัน[แก้]

จักรวรรดิโรมันภายใต้การปกครองของจักรพรรดิทราจันในปีค.ศ. 117

โรมโบราณ (510 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 476) เป็นอารยธรรมที่พัฒนามาจากนครรัฐบนคาบสมุทรอิตาลีซึ่งถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล และภายหลังกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่กินเนื้อที่รอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ในช่วงเวลา 12 ศตวรรษของอารยธรรมโรมันได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยเป็นสาธารณรัฐโรมันและในที่สุดระบอบเผด็จการในรูปแบบจักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิโรมันได้เข้ามามีอิทธิพลทางภาคตะวันตก กลางและตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปรวมไปถึงบริเวณโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมดโดยการใช้กำลังจากกองทหารโรมันและการผสานกลืนทางวัฒนธรรมด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวโรมันและในที่สุดการให้สัญชาติพลเมืองโรมันกับอาณาจักรที่ยอมสวามิภักดิ์

การขยายตัวของอาณาจักรโรมันเริ่มมีมานานก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นจักรวรรดิและถึงจุดสูงสุดในสมัยของจักรพรรดิทราจันด้วยการยึดครองดาเซียในปีค.ศ. 106 ในช่วงสูงสุดของอารยธรรมจักรวรรดิโรมันครอบครองเขตพื้นที่บนบกประมาณ 5,900,000 ตารางกิโลเมตร (2,300,000 ตารางไมล์) และมีประชากรถึง 100 ล้านคน จากสมัยของจูเลียส ซีซาร์จนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจักรวรรดิโรมันครอบครอบดินแดนส่วนตะวันตกของยูเรเซียเกือบทั้งหมด (เช่นเดียวกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือของแอฟริกา) รวมไปถึงประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ภายในและทำการค้ากับประชากรที่อาศัยอยู่รอบนอกผ่านเส้นทางสายอำพัน กรุงโรมโบราณมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนากฎหมาย สงคราม ศิลปะ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม เทคโนโลยีและภาษาของโลกตะวันตก และประวัติศาสตร์โรมยังคงมีอิทธิพลสำคัญกับโลกยุคปัจจุบัน

จักรวรรดิโรมันเป็นที่ที่แนวคิด "ตะวันตก" กำเนิดขึ้นมา เนื่องจากทำเลที่ตั้งของกรุงโรมนั้นถือเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมันคำว่า "ตะวันตก" และ "ตะวันออก" จึงถูกใช้เพื่อกล่าวถึงหัวเมืองทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของกรุงโรม ดังนั้นไอบีเรีย (โปรตุเกสและสเปน), กอล (ฝรั่งเศส), ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของทวีปแอฟริกา (ตูนิเซีย แอลจีเรียและโมร็อกโก) และอังกฤษจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของ "ตะวันตก" ในขณะที่กรีซ ไซปรัส อนาโตเลีย เลบานอน ซีเรีย อิสราเอล ปาเลสไตน์ อียิปต์และลิเบียเป็นส่วนหนึ่งของ "ตะวันออก" ส่วนอิตาลีได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนกลางจนถึงสมัยการปฏิรูปโดยจักรพรรดิไดโอคลีเชียน ซึ่งมีความคิดที่จะแบ่งจักรวรรดิแบ่งออกสองส่วนอย่างเป็นทางการคือ ตะวันออกและตะวันตก

ในค.ศ. 395 จักรวรรดิโรมันได้แยกเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตกและตะวันออกอย่างเป็นทางการโดยแต่ละฝ่ายมีจักรพรรดิ เมืองหลวงและรัฐบาลของตัวเองแม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงถือเป็นหนึ่งอาณาจักร การสลายตัวของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (ซึ่งเกิดในปีค.ศ. 476 และจบลงในปีค.ศ. 500) ทำให้เหลือเพียงจักรวรรดิโรมันตะวันออก อย่างไรก็ดีการยึดครองจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ล่มสลายโดยกลุ่มชนเจอร์แมนิก และการปกครองในระบบพระสันตะปาปาโดยคริสตจักรโรมันคาทอลิก (ซึ่งเป็นการรวมอำนาจทางการเมืองและทางจิตวิญญาณที่ไม่สามารถพบได้ในอารยธรรมของกรีก) ในเวลาต่อมาส่งผลให้การใช้ภาษาละตินร่วมกับการมีแนวคิดแบบกรีกมีอันต้องให้แยกออกจากกัน[23] การแบ่งแยกครั้งใหญ่ซึ่งถือเป็นจุดแตกแยกระหว่างคริสต์จักรโรมันคาทอลิกและชาวคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์และสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ถือเป็นการยืนยันข้อสมมติฐานนี้

ยุคล่าอาณานิคมของฝั่ง "ตะวันตก"[แก้]

การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มขึ้นในบริเตนใหญ่ในช่วงกลางทศวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล

การปฏิรูปและการล่มสลายของคริสตจักรตะวันตกในฐานะรูปแบบทางการเมืองอย่างหนึ่งก่อให้เกิดสงครามสามสิบปี สงครามนี้สิ้นสุดลงด้วยการทำสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ซึ่งเป็นการบัญญัติแนวคิดของรัฐชาติและหลักการอธิปไตยของประเทศไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ

แนวคิดของโลกที่เต็มไปด้วยรัฐชาติควบคู่กับอุดมการณ์ของยุคเรืองปัญญา การมาถึงของยุคแห่งความทันสมัย​​ การป​​ฏิวัติทางวิทยาศาสตร์[24] และการปฏิวัติอุตสาหกรรม[25]ได้สร้างสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและทรงอิทธิพลต่อนานาประเทศในโลกปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์[26]

การขยายแนวคิดและอุดมการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นจากการเดินทางเพื่อ การค้นพบ การล่าอาณานิคม การยึดครอง และการหาประโยชน์ของประเทศโปรตุเกสและสเปน ซึ่งได้รับการสานต่อโดยความก้าวหน้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์รวมถึงการสร้างและขยายอาณานิคมของจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิฝรั่งเศส เนื่องจากการขยายตัวของจักรวรรดิเหล่านี้ขนบธรรมเนียมต่างๆของชาติตะวันตกจึงแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมของโลกและยังคงหลงเหลืออยู่ในหลายๆประเทศแม้ประเทศเหล่านั้นจะได้ประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกแล้วก็ตาม หนึ่งในตัวอย่างของธรรมเนียมที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือความต้องการของสังคมหลังยุคล่าอาณานิคมที่จะสร้างรูปแบบของรัฐชาติ (ตามประเพณีตะวันตก) ด้วยการปักหลักและสร้างเส้นแบ่งเขตประเทศโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความเหมือนหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคน เชื้อชาติและวัฒนธรรม และสิ่งนี้คงยังเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน แม้ว่ายุคสมัยของการล่าอาณานิคมจะได้ผ่านพ้นไปแล้วประเทศตะวันตกซึ่งมีความมั่งคั่งในเรื่องของเงิน อาวุธและวัฒนธรรมยังคงสามารถรักษาความมีอิทธิพลต่อโลกใบนี้ได้อยู่

สงครามเย็น[แก้]

โลก ตะวันตก และ ตะวันออก ในค.ศ. 1980 ซึ่งถูกนิยามโดยสงครามเย็น สงครามเย็นได้แบ่งยุโรปออกเป็นส่วนตะวันตกและตะวันออกโดยมีม่านเหล็กกั้นกลาง

คำว่าโลกตะวันตกมีความหมายเปลี่ยนไปในช่วงสงครามเย็น ในสมัยดังกล่าวโลกได้ถูกแบ่งออกเป็นสามใบ โลกที่หนึ่งซึ่งถูกเรียกว่าโลกตะวันตกในสมัยนั้นประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโตและประเทศอื่นๆที่เป็นพัทธมิตรของสหรัฐอเมริกา โลกที่สองคือสหภาพโซเวียต (ประกอบไปด้วย 15 สาธารณรัฐ ปัจจุบันเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนียขอแยกออกมาแล้ว) ประเทศในกลุ่มตะวันออกอื่นๆ (ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต) และประเทศที่ร่วมทำสนธิสัญญาวอร์ซอเช่นโปแลนด์ บัลแกเรีย ฮังการี โรมาเนีย เยอรมนีตะวันออก (ซึ่งขณะนี้รวมกับเยอรมนีตะวันตก) สโลวาเกีย (ตอนนี้แยกออกเป็นสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกีย)

โลกที่สามประกอบด้วยประเทศต่างๆซึ่งไม่เข้ากับฝ่ายใดๆ สมาชิกที่สำคัญของโลกที่สามประกอบไปด้วยอินเดีย ยูโกสลาเวีย ฟินแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ การจัดสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ากับกลุ่มประเทศโลกที่สามได้รับการโต้แย้งในบางโอกาสเนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมีระบอบปกครองแบบคอมมิวนิสต์และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียตอีกทั้งยังมีความสำคัญในการเมืองระดับโลก

ฟินแลนด์อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลทางการทหารของสหภาพโซเวียตแต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง ฟินแลนด์ไม่ได้มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เป็นสมาชิกของประเทศที่ร่วมทำสนธิสัญญาวอร์ซอหรือสภาขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่เป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือเอฟตาและอยู่ทางตะวันตกของม่านเหล็ก ออสเตรียได้รับเอกราชในฐานะสาธารณรัฐในปีค.ศ. 1955 ภายใต้เงื่อนไขไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ออสเตรียอยู่ทางตะวันตกของม่านเหล็กและอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของสหรัฐ สเปนไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มนาโตจนกระทั่งปีค.ศ. 1982 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของสงครามเย็นและเกิดขึ้นภายหลังการตายของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโกถึง 7 ปี

นิยามในสมัยปัจจุบัน[แก้]

ความหมายของคำว่า "โลกตะวันตก" มักจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ว่าต้องการที่จะสื่อความหมายแบบใดไม่ว่าจะเป็นในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ จิตวิญญาณหรือการเมือง

เนื่องจากคำว่า "โลกตะวันตก" ไม่มีนิยามระหว่างประเทศที่ชัดเจน รัฐบาลของหลายๆประเทศจึงไม่ใช้คำว่าโลกตะวันตกในการเขียนสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเลือกที่จะใช้คำอื่นๆซึ่งให้นิยามที่ชัดเจนมากกว่า

แม้ว่าสงครามเย็นจะได้สิ้นสุดลงแล้วและประเทศซึ่งเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มตะวันออกได้มีแนวโน้มในการเปลี่ยนการปกครองมาทางเสรีนิยมประชาธิปไตยร่วมกับการมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกลุ่มประเทศตะวันตก ประเทศเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาให้ถือเป็นกลุ่มประเทศตะวันตกเนื่องจากการปฏิรูปสังคมและการเมืองที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยและการที่ประเทศเหล่านี้ยังคงมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มตะวันตก เช่น สหรัฐ แคนาดา สหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ความหมายทางด้านวัฒนธรรม[แก้]

ในทางวัฒนธรรมและสังคมวิทยาโลกตะวันตกหมายถึงวัฒนธรรมใดๆก็ตามที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากจากวัฒนธรรมของชาวยุโรปเช่น ยุโรปตะวันตก (ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เบลเยียม), ยุโรปกลาง (เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์), ยุโรปเหนือ (สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์), ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ โรมาเนีย) ยุโรปใต้ (หรือตะวันตกเฉียงใต้) (สเปน, อิตาลี, โปรตุเกส, มอลตา), ยุโรปตะวันออก (รัสเซีย ยูเครน เบลารุส มอลโดวา), ทวีปอเมริกา (อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ชิลี คอสตาริกา คิวบา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย เวเนซุเอลา ปานามา โคลัมเบีย เอกวาดอร์), แอฟริกาใต้และโอเชียเนีย (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ประเทศเหล่านี้รวมกันเป็นสังคมตะวันตก. [8][27][28]

ความหมายทางด้านการเมือง[แก้]

สหภาพยุโรปและสมาคมการค้าเสรียุโรป
  ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (ปี 2013)
  ประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป

ประเทศในโลกตะวันตกส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนๆกันเช่น เสรีนิยมประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ (แต่มีข้อยกเว้นบางอย่างในเรื่องการกำหนดนโยบายต่างประเทศ) สำหรับประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจำเป็นจะต้องผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ ดังนั้นจากมุมมองทางการเมืองสมัยใหม่รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก

ความหมายทางเศรษฐศาสตร์[แก้]

คนในปัจจุบันมักใช้คำว่า "โลกตะวันตก" ควบคู่หรือแทนคำว่าโลกที่หนึ่งซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจระหว่างโลกที่หนึ่ง(ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว) กับโลกที่สาม (ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา) การใช้คำศัพท์แทนกันในลักษณะนี้เกิดขึ้นแม้หลายๆประเทศที่เข้าข่ายการเป็น "โลกตะวันตก" (โดยพิจารณาจากภูมิรัฐศาสตร์และวัฒนธรรม) จะยังคงเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศในทวีปอเมริกาเข้าข่ายของการเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกแต่ในขณะเดียวกันยังถูกจัดว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆประเทศเช่นญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ก็ไม่ได้รับการจัดว่าส่วนหนึ่งของ "โลกตะวันตก"

อ้างอิง[แก้]

  1. Western Civilization, Our Tradition; James Kurth; accessed 30 August 2011
  2. Religions in Global Society – Page 146, Peter Beyer – 2006
  3. Cambridge University Historical Series, An Essay on Western Civilization in Its Economic Aspects, p.40: Hebraism, like Hellenism, has been an all-important factor in the development of Western Civilization; Judaism, as the precursor of Christianity, has indirectly had had much to do with shaping the ideals and morality of western nations since the christian era.
  4. Caltron J.H Hayas, Christianity and Western Civilization (1953),Stanford University Press, p.2: That certain distinctive features of our Western civilization — the civilization of western Europe and of America— have been shaped chiefly by Judaeo–Graeco–Christianity, Catholic and Protestant.
  5. Horst Hutter, University of New York, Shaping the Future: Nietzsche's New Regime of the Soul And Its Ascetic Practices (2004), p.111:three mighty founders of Western culture, namely Socrates, Jesus, and Plato.
  6. Fred Reinhard Dallmayr, Dialogue Among Civilizations: Some Exemplary Voices (2004), p.22: Western civilization is also sometimes described as "Christian" or "Judaeo- Christian" civilization.
  7. 7.0 7.1 [1]|Google books results in English language between the 1800–1960 period
  8. 8.0 8.1 Thompson, William; Hickey, Joseph (2005). Society in Focus. Boston, MA: Pearson. 0-205-41365-X.
  9. "The Evolution of Civilizations – An Introduction to Historical Analysis (1979)". Archive.org. 10 March 2001. p. 84. สืบค้นเมื่อ 31 January 2014.
  10. Middle Ages

    Of the three great civilizations of Western Eurasia and North Africa, that of Christian Europe began as the least developed in virtually all aspects of material and intellectual culture, well behind the Islamic states and Byzantium.

  11. H. G. Wells, The Outline of History, Section 31.8, The Intellectual Life of Arab Islam

    For some generations before Muhammad, the Arab mind had been, as it were, smouldering, it had been producing poetry and much religious discussion; under the stimulus of the national and racial successes it presently blazed out with a brilliance second only to that of the Greeks during their best period. From a new angle and with a fresh vigour it took up that systematic development of positive knowledge, which the Greeks had begun and relinquished. It revived the human pursuit of science. If the Greek was the father, then the Arab was the foster-father of the scientific method of dealing with reality, that is to say, by absolute frankness, the utmost simplicity of statement and explanation, exact record, and exhaustive criticism. Through the Arabs it was and not by the Latin route that the modern world received that gift of light and power.

  12. Lewis, Bernard (2002). What Went Wrong. Oxford University Press. p. 3. ISBN 978-0-06-051605-5.

    For many centuries the world of Islam was in the forefront of human civilization and achievement ... In the era between the decline of antiquity and the dawn of modernity, that is, in the centuries designated in European history as medieval, the Islamic claim was not without justification.

  13. "Science, civilization and society". Es.flinders.edu.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  14. Richard J. Mayne, Jr. "Middle Ages". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  15. InfoPlease.com, commercial revolution
  16. Eric Bond, Sheena Gingerich, Oliver Archer-Antonsen, Liam Purcell, Elizabeth Macklem (17 February 2003). "Innovations". The Industrial Revolution. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. Cf., Arnold J. Toynbee, Change and Habit. The challenge of our time (Oxford 1966, 1969) at 153-156; also, Toynbee, A Study of History (10 volumes, 2 supplements).
  18. Auster, Lawrence (3 April 2006). "Are Hispanics Westerners? The Debate Continues". Amnation.com. สืบค้นเมื่อ 31 January 2014.
  19. "Russia: Between interventionism and isolationism | Opinions | RIA Novosti". En.ria.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-18. สืบค้นเมื่อ 31 January 2014.
  20. "Welcome to Cold War II". Foreign Policy. March 4, 2014. สืบค้นเมื่อ 10 November 2014.
  21. Duran 1995, p.81
  22. 22.0 22.1 Bideleux,Robert; Jeffries, Ian. A history of eastern Europe: crisis and change. Routledge. p. 48. ISBN 978-0-415-16112-1.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. Charles Freeman. The Closing of the Western Mind. Knopf, 2003. ISBN 1-4000-4085-X
  24. "Modern West Civ. 7: The Scientific Revolution of the 17 Cent". Fordham.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  25. "The Industrial Revolution". Mars.wnec.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-12-14. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  26. Industrial Revolution and the Standard of Living: The Concise Encyclopedia of Economics, Library of Economics and Liberty
  27. "Embassy of Brazil – Ottawa". Brasembottawa.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  28. Falcoff, Mark. "Chile Moves On". AEI. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-17. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

V. 1. From the earliest times to the Battle of Lepanto; ISBN 0-306-80304-6.
V. 2. From the defeat of the Spanish Armada to the Battle of Waterloo; ISBN 0-306-80305-4.
V. 3. From the American Civil War to the end of World War II; ISBN 0-306-80306-2.