เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด SET:WORK
ก่อตั้ง11 กันยายน พ.ศ. 2532 (34 ปี)
สำนักงานใหญ่99 หมู่ 2 ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย
บุคลากรหลัก
ปัญญา นิรันดร์กุล-ประธานกรรมการ
ประภาส ชลศรานนท์-รองประธานกรรมการ
พาณิชย์ สดสี -ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม GROUP CEO
ชลากรณ์ ปัญญาโฉม-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล
วิชนี ศรีสวัสดิ์-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด
ชยันต์ จันทวงศาทร-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตและบริหารศิลปิน
สุรการ ศิริโมทย์-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงินการลงทุน
ธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ
คณิต วัฒนประดิษฐ์-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและควบคุมภายใน.[1]
ผลิตภัณฑ์รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ค่ายเพลง คอนเสิร์ตและละครเวที อีเว้นท์ แอพลิเคชั่น และ ขายสินค้าและบริการ
รายได้2,277.19 ล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2563) [2]
เว็บไซต์www.workpoint.co.th

บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทสื่อของไทย บริษัทและบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ การสร้างภาพยนตร์ การจัดการกิจกรรม แอนิเมชั่น สิ่งพิมพ์ การตลาดและค่ายเพลง[3] บริษัทก่อตั้งขึ้นในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2532 โดยปัญญา นิรันดร์กุลและประภาส ชลศรานนท์ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547 บริษัทซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศไทย" โดย Hollywood Reporter[4] ผลิตรายการโทรทัศน์มากกว่า 80 รายการ โดย 15 รายการออกอากาศทางฟรีทีวีทุกสัปดาห์ในปี พ.ศ. 2554 โดยเน้นรายการเกมโชว์เป็นหลัก รายการทีวีรายการแรกของเวิร์คพอยท์คือเวทีทองซึ่งออกอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2550 ในไม่ช้าก็ขยายไปสู่ประเภทอื่น ๆ เช่น การผลิตรายการวาไรตี้ ละคร ซิทคอม แอนิเมชัน และภาพยนตร์สารคดี รวมถึงผลงานได้รับความนิยม ได้รางวัล Asian Television Award มาโดยตลอดเกือบทุกปี เช่น เกมจารชน แฟนพันธุ์แท้ เกมทศกัณฐ์เด็ก หลานปู่ กู้อีจู้ วิทยสัประยุทธ์ ล่าสุดที่เพิ่งได้รับรางวัลคือ แฟนฉันวัดป่ะล่ะ? MY BOYFRIEND IS BETTER และนักร้อง2ชั้น [5] ส่วนรายการ หลานปู่ กู้อีจู้ ,ตลก 6 ฉาก,วิทยสัประยุทธ์,แฟนพันธุ์แท้,The Mask singer และหัวหน้าห้าขวบได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล International Emmy Awards และยังมี รายการ 10 fight 10 และปัญญาปันสุขที่ได้รับรางวัล Asian Academy Creative Awards [6]

ประวัติ[แก้]

เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.​ 2532​ โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงและสื่อต่าง ๆ ประกอบด้วยสาระและความบันเทิง โดยรายการ เวทีทอง เป็นรายการแรกของบริษัท ได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ช่อง 7HD ในปัจจุบัน) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง และนับเป็นก้าวแรกในธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ จากนั้นได้มีการผลิตรายการโทรทัศน์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ ชิงร้อยชิงล้าน, ระเบิดเถิดเทิง, เกมแก้จน, เกมจารชน, แฟนพันธุ์แท้, เกมทศกัณฐ์, เกมทศกัณฐ์เด็ก, คุณพระช่วย, ชิงช้าสวรรค์, กล่องดำ, สู้เพื่อแม่, โคกคูนตระกูลไข่ และรายการอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นรูปแบบรายการประเภท เกมโชว์, ควิซโชว์, เรียลลิตี้, วาไรตี้โชว์, ซิทคอม, ละคร, ละคร, ละครเทิดพระเกียรติ, รายการวัฒนธรรมและสารคดีโทรทัศน์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7 และช่อง 9 ซึ่งการดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ในระยะแรก ยังคงเป็นการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการโทรทัศน์จากสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ

เวิร์คพอยท์ฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2547 และใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “WORK”[7]

เวิร์คพอยท์ฯ ได้เข้าร่วมการประมูลทีวีดิจิทัล และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ เพื่อประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ภายใต้ชื่อ "ช่องเวิร์คพอยท์"

กลุ่มธุรกิจและบริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ฯ[แก้]

บมจ.เวิร์คพอยท์ฯ มีบริษัทร่วมลงทุนและบริษัทย่อย ภายใต้กลุ่มบริษัทดังนี้

กลุ่มธุรกิจสถานีโทรทัศน์และผลิตรายการโทรทัศน์[แก้]

ดำเนินธุรกิจในการประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “ช่อง Workpoint” โดยได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ปี 2557

ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิต รวมถึงควบคุมการผลิตและรายการโทรทัศน์ และรายการออนไลน์ต่างๆ

ธุรกิจรายการโทรทัศน์[แก้]

สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ธุรกิจรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ภายใต้ชื่อ ช่องเวิร์คพอยท์ หมายเลข 23
  2. ธุรกิจรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่องทางออนไลน์
  3. ธุรกิจการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ (Licensing)
1. ธุรกิจรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล[แก้]

บริษัทดำเนินธุรกิจโดยผลิตรายการและซื้อลิขสิทธิ์รายการเพื่อนำมาออกอากาศในช่องโทรทัศน์ของบริษัท ซึ่งได้แก่ “ช่องเวิร์คพอยท์” โดยมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณาและจากการโปรโมทสินค้าและบริการในช่วงเวลาต่างๆ ที่ออกอากาศ

ทั้งนี้ ช่องเวิร์คพอยท์ นั้นดำเนินการออกอากาศในระบบดิจิทัลภายใต้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ ซึ่งถือใบอนุญาตโดยบริษัทย่อย และออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งก่อนที่จะออกอากาศในระบบดิจิทัลนั้น ช่อง WORKPOINT ได้ออกอากาศมาแล้วภายใต้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดาวเทียมตั้งแต่ปี 2555 นับได้ว่าช่อง WORKPOINT นั้นได้ดำเนินการออกอากาศมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี รายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในช่อง WORKPOINT สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 รายการผลิตเอง (Local Content)

  • Light Entertainment เป็นรายการประเภทวาไรตี้ ควิซโชว์ เกมโชว์ และเรียลลิตี้โชว์ เป็นรายการที่มุ่งเน้นให้ผู้ร่วมรายการและผู้ชมรายการได้รับทั้งความบันเทิงและสาระ โดยการสอดแทรกเนื้อหา แง่คิด และความรู้ต่าง ๆไว้ในรายการผ่านคำถามที่ถามผู้เล่นเกม หรือการสัมภาษณ์ผู้ร่วมรายการหรือวิทยากรรับเชิญ โดยผู้ชมรายการโทรทัศน์จะได้รับทั้งสาระและความบันเทิงผ่านการนำเสนอที่หลากหลาย สนุกสนาน ทั้งนี้ รายการ Light Entertainment ที่บริษัทผลิตเองนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.รายการที่พัฒนาเอง คือ รายการที่บริษัทสร้างสรรค์ พัฒนาและผลิตรายการเองมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น รายการ ปัญญาปันสุข, ร้องข้ามกำแพง, 10 fight 10, นักร้องสองไมค์, เพลงเอก, กล่องของขวัญ, ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว, The Rapper, ไมค์ทองคำ, ไมค์หมดหนี้ เป็นต้น

2.รายการ Format เป็นรายการที่บริษัทซื้อลิขสิทธิ์ Format รายการจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในต่างประเทศเพื่อมาผลิตตามรูปแบบที่กำหนด แต่อาจจะปรับเปลี่ยนเนื้อหาในรายการให้เหมาะสมตามรสนิยมของผู้ชมรายการในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น The Mask Singer, I Can See Your Voice Thailand นักร้องซ่อนแอบ, We Kid Thailand เด็กร้องก้องโลก, 1 2 3 Ranking Show และ Let me in Thailand เป็นต้น

  • Sitcom เป็นรายการที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ โดยจะเป็นแนวสนุกสนาน เลือกที่จะมองชีวิตมนุษย์ในแง่ขบขัน ล้อเลียน เอามาทำเป็นเรื่องตลกให้คนดูหัวเราะ โดยผูกเรื่อง สร้างสถานการณ์ให้เกิดอารมณ์ขันสนุกสนาน ตัวอย่างเช่น หกฉากครับจารย์, ตลกหกฉาก, ระเบิดเถิดเทิง ซอยข้าใครอย่าแตะ, จ่าเริงเซิ้งยับ, ขวัญใจไทยแลนด์, หกฉากครับจารย์ และ พ่อบ้านใจกล้า เป็นต้น
  • Drama เป็นละครที่นำเสนอเนื้อหาที่สนุกสนามและแตกต่างจากคู่แข่ง โดยส่วนใหญ่เป็นละครซีรีส์ เช่น หน้ากากนางเอก, แรงชัง, ยุทธการสลัดนอ, เจ็ดวันจองเวร, เกมริษยา, ดอกไม้ลายพาดกลอน และ สาวน้อยร้อยหม้อ เป็นต้น
  • News เป็นรายการข่าวที่นำเสนอข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งข่าวอาชญากรรม เศรษฐกิจ การเมือง สังคม บันเทิง รวมทั้งกีฬาทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทมีสตูดิโอข่าวอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อการออกอากาศในทุกช่วงเวลา ตัวอย่างเช่น ข่าวสดจากที่จริง, คุยให้จบข่าว, ติ่งข่าว, ข่าวเช้า-เที่ยงเวิร์คพอยท์, บรรจงชงข่าว, ตลาดข่าว, ห้องข่าวบันเทิง และข่าวเวิร์คพอยท์สุดสัปดาห์ เป็นต้น
  • รายการกีฬา เป็นรายการนำเสนอกีฬาประเภทต่าง ๆ ในรูปแบบรายการที่แปลกใหม่ด้วยการจัดโปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มวยไทยไฟต์ถล่มโลก เป็นต้น
  • รายการขายสินค้า เป็นรายการที่นำเสนอสินค้าผ่านรายการแนะนำสินค้า โดยมีพิธีกรหรือผู้เชี่ยวชาญในสินค้าชนิดนั้นเป็นผู้ดำเนินรายการ ตัวอย่างเช่น ของมันต้องมี, เลดี้พลาซ่า และ Beautiholic สวยเข้าเส้น เป็นต้น

1.2 รายการลิขสิทธิ์

  • ลิขสิทธิ์รายการพร้อมออกอากาศ (Finished Program) เป็นการซื้อลิขสิทธิ์รายการที่หลากหลายรูปแบบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งรายการอาหาร รายการสุขภาพ การ์ตูน เกมโชว์ และละครซีรีส์ เป็นต้น
  • รายการลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ได้แก่ รายการถ่ายทอดสดกีฬาและกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดสดการแข่งขัน ROV(เกมส์ออนไลน์), มหกรรมมวยไทยนานาชาติ, WLF World Boxing Championship, คุนหลุนไฟต์, การแข่งขันวอลเล่ย์บอล Women’s World Championship 2018 และถ่ายทอดสดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2018 ณ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

1.3 รายการที่บุคคลภายนอกเช่าเวลาออกอากาศ เป็นรายการที่บุคคลภายนอกทำการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศทาง ช่อง WORKPOINT ตัวอย่างเช่น กิ๊กไลฟ์, พ่อบ้านงานเข้า, ก่อนบ่ายคลายเครียด, กินได้ก็กิน, The Big Kitchen, Super 10, Super 100, Make Awake คุ้มค่าตื่น, อายุน้อยร้อยล้าน, ณัชชาแอนด์เดอะแก๊ง และหนีเที่ยวกัน เป็นต้น

2. ธุรกิจรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่องทางออนไลน์[แก้]

แต่เดิมนั้น ธุรกิจรายการโทรทัศน์ของบริษัท มีรูปแบบการผลิตรายการและซื้อลิขสิทธิ์รายการ เพื่อนำมาออกอากาศทางช่อง WORKPOINT เท่านั้น อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาบริษัทเพิ่มช่องทางการออกอากาศรายการต่าง ๆ ทางช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม อาทิเช่น Youtube, Facebook, Twitter, Line และ Website/Application ของบริษัท ควบคู่กับการออกอากาศทางช่อง WORKPOINT เพื่อรองรับและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ยุคสมัย และพฤติกรรมการรับชมรายการของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่บริษัทได้ออกอากาศคู่ขนาน ทั้งในช่อง WORKPOINT และช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้กับรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางช่อง WORKPOINT แล้ว ยังเป็นการสร้างกระแสและรายได้บนโลก Social Media ให้เติบโต ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดตาม (Subscribers/ Followers) ในทุกช่องทาง Online Platform อีกด้วย ช่องทางการออกอากาศทางออนไลน์ของรายการโทรทัศน์ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทหลัก ดังนี้

2.1 ช่องทาง Youtube เป็นแพลตฟอร์ม Online Community ชั้นนำของโลก ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถอัปโหลด แชร์คลิปวิดีโอ และถ่ายทอดสด (Live Streaming) เนื้อหารายการต่าง ๆได้ โดยบริษัทใช้ชื่อช่องบนแพลตฟอร์ม Youtube ว่า “WorkpointOfficial” เป็นการนำเสนอทั้งคลิปรายการย้อนหลัง คลิปรายการตัดต่อใหม่ และการถ่ายทอดสด (Live Streaming) รายการโทรทัศน์ในเวลาเดียวกันแบบคู่ขนานกับการออกอากาศทางช่อง WORKPOINT โดยบริษัทจะได้รับรายได้จากการขายโฆษณาให้แก่ลูกค้าโดยตรงและส่วนแบ่งรายได้จากการขายโฆษณาในวิดีโอคลิปต่าง ๆ ตามสัดส่วนที่ตกลงกันกับทาง Youtube โดยที่ผ่านมา ช่อง “WorkpointOfficial” มีจำนวนผู้ติดตาม(Subscribers) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากกระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้ได้รับรางวัลปุ่มเพชร Diamond Play Button จาก Youtube ซึ่งเป็นการการันตีในความสำเร็จ ในฐานะช่อง Entertainment ใน Youtube ช่องแรกที่มีผู้ติดตาม (Subscribers) มากกว่าสิบล้านคน และ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ช่อง WorkpointOfficial มีจำนวนผู้ติดตามบนช่องทาง Youtube มากกว่า 32 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นอันดับ 1 ของ Thailand Top 100 Most Subscribe Channel List

นอกเหนือจากการนำเสนอคลิปรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง ผ่านช่อง “Workpoint Official” แล้ว บริษัทได้มีการนำเสนอรายการใหม่ ๆ ที่ออกอากาศเฉพาะทางออนไลน์ บนช่องอื่น ๆ ใน Youtube ของบริษัท ซึ่งได้แก่ ช่อง Workpoint Today และ Workpoint Today Play 2.2 ช่องทาง Facebook เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ชั้นนำของโลก โดย Page ของบริษัทบน Facebook ใช้ชื่อว่า “Workpoint Entertainment” เป็นการนำเสนอคลิปวิดีโอ ข่าวสารประชาสัมพันธ์จากบริษัทบนหน้า feed ของ Facebook รวมถึงการถ่ายทอดสด (Live Streaming) รายการโทรทัศน์ของบริษัทในเวลาเดียวกันแบบคู่ขนานกับการออกอากาศทางช่อง WORKPOINT ทั้งนี้รูปแบบรายได้ของบริษัทจาก Facebook นั้น จะมีทั้งรูปแบบการขายพื้นที่ feed ต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าโดยตรง และรูปแบบการรับส่วนแบ่งรายได้ตามอัตราที่ตกลงกันกับทาง Facebook โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทของวิดีโอต่าง ๆ ที่บริษัทเป็นคนกำหนด ทั้งนี้ Facebook Page ของบริษัท ได้รับกระแสความนิยมไม่น้อยไปกว่าช่องทางอื่นๆ จน ณ ปัจจุบันมีผู้กดติดตาม จำนวนมากกว่า 20 ล้าน follow สูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย

นอกจากนี้บริษัทยังได้นำรายการใหม่ที่ออกอากาศเฉพาะออนไลน์ ซึ่งมีช่องบน Youtube มาออกอากาศบนแพลตฟอร์ม Facebook ควบคู่กันไป

2.3 ช่องทาง Website/ Application ของบริษัท นอกเหนือจากช่องทาง Youtube และ Facebook แล้วนั้น บริษัทยังออกอากาศรายการของบริษัทบน Website และ Application ของบริษัท ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการรับชมให้แก่ผู้ชมในกลุ่มต่าง ๆ โดย ณ ปัจจุบัน Application ของบริษัท มีผู้ดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 3 ล้านครั้ง

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2566 ที่ประชุมมติให้ บริษัท ไทยบรอดคาสติง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้าซื้อหุ้นจำนวน 49% ของ บริษัท โคตรคูล จำกัด ของนักร้อง นักแสดงชื่อดังคือ โอ๊ต–ปราโมทย์ ปาทาน ในวงเงิน 216 ล้านบาทโดยจุดประสงค์ของการเข้ามาลงทุนในครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจรายการต่างๆ ในช่องทางออนไลน์ และเพิ่มความหลากหลายของการดำเนินธุรกิจ[8]

3. ธุรกิจการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ (Licensing)[แก้]

นอกจากการดำเนินธุรกิจโดยการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศทางช่อง WORKPOINT และออกอากาศทางช่องทางออนไลน์ เพื่อขายเวลาโฆษณาและโปรโมทสินค้าในรายการแล้วนั้น บริษัทยังดำเนินธุรกิจการจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของบริษัท (Licensing) ให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา บริษัทจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการไปแล้วกว่า 35 รายการ ใน 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินเดีย ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย เป็นต้น โดยมีรายละเอียดรูปแบบการจำหน่ายดังนี้ https://www.workpointworldwide.com/default.aspx เก็บถาวร 2021-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

3.1 การจำหน่ายรูปแบบรายการ Format บริษัทจำหน่ายลิขสิทธิ์รูปแบบรายการ (Format) ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศเพื่อนำไปผลิตเอง โดยบริษัทให้คำแนะนำในการผลิตรายการนั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น รายการ The Rapper, กล่องของขวัญ, ปริศนาฟ้าแลบ, ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว, ตลก 6 ฉาก, ราชรถมาเกย, ไมค์หมดหนี้, แฟนพันธุ์แท้, คดีสีชมพู, คนอวดผี และ The Band เป็นต้น

3.2 การจำหน่ายรายการ Finished Program

บริษัทจำหน่ายรายการ (Finished Program) โดยเป็นการจำหน่ายรายการให้แก่ลูกค้า เพื่อนำไปออกอากาศ โดยผู้ซื้อสามารถนำไปพากษ์เสียงของแต่ละประเทศได้ ตัวอย่างเช่น รายการสปอร์ตวาไรตี้ “10 Fight 10”, ละคร “แรงชัง”, ละคร “นางแค้น”, ละคร “เกมริษยา”, ตลกหกฉาก, ละคร “หน้ากากนางเอก”, ละคร “7 วันจองเวร”, ละคร “ชะนีผีผลัก”, ละคร “ดอกไม้ลายพาดกลอน”, ซิทคอม “Love Blood จัดรักให้ตรงกรุ๊ป”, ซิทคอม “ระเบิดเถิดเทิงสิงโตทอง” และซิทคอม “ระเบิดเถิดเทิงแดนเซอร์ทะลวงไส้” เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจบันทึกเสียงและผลิตผลงานเพลง[แก้]

ดำเนินธุรกิจบันทึกเสียงและผลิตผลงานเพลง  บันทึกเสียงละคร บันทึกเสียงภาพยนตร์ และโฆษณา รวมถึงการบันทึกเสียงพากย์บันทึกเสียง

ค่ายเพลง

กลุ่มธุรกิจรับจ้างจัดงาน[แก้]

ธุรกิจรับจ้างจัดงานเป็นธุรกิจที่ให้บริการด้านการจัดงานกิจกรรมแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการและจุดมุ่งหมายของลูกค้า โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับความไว้วางใจให้จัดงานสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มากมายให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น World Expo 2015 ณ ประเทศอิตาลี, โครงการอาชีวะสู่อนาคตซึ่งจัดให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, งานมหกรรมเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูกซึ่งจัดให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, งานประชาสัมพันธ์งานราชพฤกษ์ รวมใจภักดิ์ รักพ่อหลวงซึ่งจัดให้แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, งาน Money Me Show ซึ่งจัดให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), งานประเพณีวิ่งควาย ชลบุรี ซึ่งจัดให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม, โครงการวิ่งกระตุกหัวใจ และงานกาชาดซึ่งจัดให้แก่สภากาชาดไทย, งานสุพรรณหงส์ ซึ่งจัดให้แก่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, งานมหกรรมโขนและงานรวมศิลป์แผ่นดินสยาม ซึ่งจัดให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, งานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งจัดให้กับรัฐบาลไทย, งานกาชาด ประจำปี 2563, โครงการหยุดเชื้อเพื่อชาติ “สวัสดีบ้านเรา สุขใดเล่าจะเท่าอยู่บ้าน”, คอนเสิร์ต “Giving Life Music” ให้ด้วยใจ, รายการเรียลลิตี้โชว์ออนไลน์ “ท้าไม่ทิ้ง กับกาแฟเขาช่อง” และแคมเปญ “แอปพลิเคชันและเงินออมทรัพย์ทวีโชค” เป็นต้น

อีกทั้งยังมีงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางบริษัทเป็นผู้จัดงานเอง นอกเหนือจากกิจกรรมรับจ้างจัดให้กับหน่วยงานภายนอก ในรูปแบบการจัดหาสปอนเซอร์สนับสนุนงานกิจกรรมต่าง ๆ โดยกิจกรรมบางส่วนจะเป็นการต่อยอดจากรายการโทรทัศน์ของบริษัท ซึ่งเป็นการพัฒนาและผสมผสานเพื่อให้เกิดงานกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ได้แก่ งานร้านเด็ดแฟร์ ครั้งที่ 4 และงานคอนเสิร์ตไมค์ม่วนซื่น เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจคอนเสิร์ตและละครเวที[แก้]

บริษัทดำเนินธุรกิจจัดการแสดงทั้งในรูปคอนเสิร์ตและละครเวที โดยรูปแบบคอนเสิร์ตและละครเวทีของบริษัทที่ผ่านมานั้นจะมีลักษณะเป็นการแสดงโดยนักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม และมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบ ฉาก แสง สี เสียง และ ทีมนักเต้นมืออาชีพ ที่ผ่านมาจะเช่าสถานที่จัดงานแสดงต่าง ๆ จากบุคคลภายนอกเป็นหลัก อย่างไรก็ดีในปี 2558 บริษัท สยามพิฆเนศ จำกัด (“สยามพิฆเนศ”) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงละคร ภายใต้ชื่อว่า “โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ” เปิดให้บริการครั้งแรกในเดือนเมษายน 2558

หลังจากนั้นกลุ่มบริษัท จึงเริ่มดำเนินการจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีผ่านโรงละครของกลุ่มบริษัทเป็นหลัก โดยคอนเสิร์ตและละครเวทีสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 ภายใต้การบริหารจัดการของสยามพิฆเนศเอง ได้แก่ คอนเสิร์ตนั่งใกล้เจี๊ยบจุ้ย และคอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสด เพลงดังหนังละคร โดยคอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสดนั้น บริษัทได้ดำเนินการให้ผู้ชมบางส่วน สามารถรับชมผ่านระบบ Live Steaming ได้ด้วย อีกทั้งมีงานประชุมสัมมนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเช่าพื้นที่และการจัดกิจกรรมทางการตลาด (Organize)ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย ได้แก่ งานประชุม BREC meeting "ร่วมตอกย้ำความสำคัญระบบหลักประกันสุขภาพคนไทย", งาน Tech the Next Step, งาน Games & Learning 2020 และงานสัมมนา Humanica “HR Trends 2020 Leadership in Crisis” เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจภาพยนตร์[แก้]

ดำเนินการผลิตภาพยนตร์

ดำเนินธุรกิจผลิตภาพยนตร์ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์ต่าง ๆ ออกมาหลายเรื่อง อาทิเช่น หม่ำเดียว หัวเหลี่ยม หัวแหลม, เท่ง โหน่ง คนมาหาเฮีย, สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก, แคทอ่ะแว้บ แบบว่ารักอ่ะ, ไทยแลนด์โอนลี่ ฯลฯ

กลุ่มธุรกิจขายสินค้าและบริการ[แก้]

ดำเนินธุรกิจขายสินค้าและบริการอื่น ภายใต้บริษัท นาโนนีเซีย จำกัด (เดิมคือบริษัท ซิกส์ ดีกรี จำกัด) โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. ธุรกิจขายสินค้า สินค้าภายใต้แบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของสิทธิ์และสินค้าฝากขาย โดยครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัว ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและเครื่องประดับ สินค้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ Let Me In Beauty กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าเพื่อผิวขาวกระจ่างใส อ่อนกว่าวัย เริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2560 โดยเป็นการต่อยอดธุรกิจจากรายการ Let Me In Thailand ที่บริษัทผลิตและออกอากาศทางช่อง Workpoint จากความสำเร็จของรายการ และความชำนาญจากการคลุกคลีในวงการดังกล่าว ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความงามเป็นอย่างดี โดยได้ศึกษาคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งใช้นวัตกรรมระดับสากลและผ่านกระบวนการจากสถาบันและผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์ Let Me In Beauty มีจำนวน 14 SKU ได้แก่

  • เซรั่มบำรุงผิว Absolute Renewal and Hydrating Serum ขนาด 8 ml. และ 30 ml.
  • ครีมบำรุงผิว Absolute Renewal and Radiance Cream ขนาด 8 ml. และ 30 ml.
  • มูสโฟสล้างหน้า Absolute Purifying Foaming Cleanser ขนาด 75 ml. และ 150 ml.
  • ครีมกันแดด Absolute Sunscreen Serum SPF 50+ PA++ ขนาด 40 ml.
  • โลชั่นบำรุงผิวกาย Ultimate Brightening Body Serum ขนาด 50 ml. และ 350 ml.
  • แผ่นมาส์กหน้า Serum Mask Sheet สูตร Age Fighter และ Glowing Lover
  • แผ่นมาส์กหน้า Ampoule Mask Sheet สูตร Age Pro และ Med White
  • สเปรย์น้ำพุแร่ Pollublock Facial Mist ขนาด 50 ml.

โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 24 – 35 ปี อาศัยในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นในสินค้าเกาหลี และได้ติดตามรายการ Let Me In Thailand โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายทาง Modern Trade, Call Center และช่องทางออนไลน์ https://www.facebook.com/LetMeInBEAUTY/

สำหรับสินค้าในกลุ่มฝากขายนั้น บริษัทได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2561 เป็นต้นมา โดยสินค้าที่บริษัทรับฝากขายนั้น จะออกอากาศเพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่อง WORKPOINT และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ เช่น Facebook, Youtube, Instagram, Line และ Website จะหมุนเวียนสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายแตกต่างกันไป โดยบริษัทมีบริการรับคำสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง และจัดส่งฟรีถึงบ้านอีกด้วย

โลโก้ของโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ

2. ธุรกิจให้บริการอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจการให้เช่าบริการสถานที่ ซึ่งได้แก่ พื้นที่ของโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศเป็นหลัก โดยพื้นที่ของโรงละครสามารถจัดแบ่งพื้นที่การให้บริการได้ดังนี้

  • The Theatre โรงละครขนาด 1,069 ที่นั่ง
  • The Playhouse ห้องขนาด 200 ที่นั่ง (สามารถจัดเวทีการแสดง หรือทำการสัมมนาได้)
  • The Studio ห้องขนาด 40 ที่นั่ง (สามารถใช้สำหรับทำการแสดงละครเวทีโรงเล็กได้)

ทั้งนี้ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ชมการแสดงและผู้ประกอบการที่สนใจจัด การแสดง เนื่องจากมีขนาดและจำนวนที่นั่งอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศ รวมถึงรูปแบบการใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหรือละครเวทีก็ตาม อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่เหมาะสมใจกลางเมือง การคมนาคมสะดวก อีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "ความเป็นมาบริษัท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-09. สืบค้นเมื่อ 2016-08-19.
  2. รายได้หุ้นบริษัท
  3. "About Workpoint". Workpoint Entertainment. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-10. สืบค้นเมื่อ 10 March 2012.
  4. Gershon, Joel (29 August 2006). "Work space: new digs let producer spread out". Hollywood Reporter.
  5. https://workpointtoday.com/wp-asian-television-awards-28/
  6. https://www.facebook.com/10fight10/posts/1470567149764625
  7. "WORK : บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-22. สืบค้นเมื่อ 2015-09-02.
  8. โอ๊ต ปราโมทย์ ยิ้มแก้มปริ เวิร์คพอยท์ ทุ่มเงิน 216 ล้าน ซื้อหุ้นโคตรคูล

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]