ข้ามไปเนื้อหา

แนวคิดว่าด้วยขอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2501 นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ไทยได้มีการตีความว่า ชาวขอม คือ ชาวเขมร สอดคล้องกับหลักฐานจารึกวัดศรีชุมที่ได้ปรากฎคำว่า ขอม หลัง คำว่า เขมร แต่ภายหลังคดีปราสาทพระวิหารช่วงปี พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2505 ซึ่งประเทศไทยได้มีความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา ทำให้นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ไทยได้มีการตีความคำว่า ขอม ขึ้นมาใหม่พร้อมกับเสนอแนวคิดว่า ชาวขอม คือ กลุ่มชนชาติต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนบน ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ราบสูงอีสาน (ที่ลุ่มแม่น้ำมูล) ในดินแดนสุวรรณภูมิ (แหลมทอง) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1–14 โดยไม่เจาะจงว่าเป็นชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ปโตเลมีได้นิยามกลุ่มชนชาติที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงว่า Komedes (Κωμήδαι)[1]

ลักษณะเด่นของชาวขอม คือ มีศิลปวิทยาการเหนือชนชาวพื้นเมือง และเป็นชนชั้นปกครอง ปัจจุบันชาวขอมสูญสิ้นไปหมดแล้วคงเหลือเพียงสายเลือดขอมซึ่งปะปนกับชนชาติอื่น ๆ ที่ยังอยู่อาศัยในดินแดนสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้เมื่อ พ.ศ. 2496 ว่า:-

เขมรก็เป็นเขมร ไทยก็เป็นไทย และขอมก็เป็นขอม เป็นคนอีกชาติหนึ่งเผ่าหนึ่งที่เคยปกครองเมืองไทยและเมืองเขมรแต่บัดนี้สาบสูญไปแล้ว[2]

แผนที่แสดงการขยายเขตอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดีย และการอพยพของชาวอินเดียพลัดถิ่นสู่ดินแดนต่าง ๆ[3]


ทฤษฎีขอมรูปแบบต่างๆ

[แก้]

นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ไทยได้มีการเสนอแนวคิดว่าด้วยขอมหลากหลายทฤษฎี ดังต่อไปนี้

ชาวขอมดำ

[แก้]

ชาวขอมดำ[4] คือ ขอมที่เป็นชาวอินเดียเผ่าหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก ตระกูลภาษามอญ-เขมร อาศัยอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และใช้เครื่องมือหินใหม่เรียกว่า ขวานมีบ่า[4] ได้อพยพมาทางตะวันออก และมีสายหนึ่งของกลุ่มมนุษย์เผ่านี้เดินทางเข้ามายังภาคเหนือของดินแดนสุวรรณภูมิ บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย และหลวงพระบาง ประเทศลาวในปัจจุบัน เช่น ชาวขอมดำดินที่อาศัยอยู่ในเมืองอุโมงค์คเสลานคร (พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) เรียกว่า ชาวขอมเสลานคร[5] พระยากาฬวรรณดิศ หรือพระยาขอมดำซึ่งเป็นกษัตริย์โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น[5] ตามที่ปรากฏใน พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน รวมทั้งชนกลุ่มชาวกูยที่อาศัยริมแม่น้ำโขง (แม่น้ำขอมในชื่อเดิม) ซึ่งแต่เดิมอพยพมาจากภาคเหนือของดินแดนสุวรรณภูมิแล้วย้ายถิ่นฐานมายังดินแดนใต้แม่น้ำมูลในปัจจุบัน

ชาวขอมไทย

[แก้]

สมัยสุวรรณภูมิ–ทวารวดี

[แก้]

พงศาวดารไทยลว้า เมืองสวง เมืองแผน เมืองแมน เมืองทอง สุวรรณภูมิ ราชพลี ราชบุรี ตามกเบื้องจานไทย และ พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ ของพระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต ป.ธ.๖) วัดโสมนัสราชวรวิหาร มีบันทึกว่า ขอมฟ้าไทย ขุนสือไทย ขุนเลกไทย ขุนหญิงไทยงาม เป็นผู้สร้างลายสือไทยและลายเลข เรียกว่า ตัวบ้านตัวเมือง[6]: 8  ขอมฟ้าไทยกับขุนสือไทยร่วมกันจารลายสือขอมที่เรียกว่า หนังสือไทย เป็นอักษรคฤนถ์ตัวหนังสือขอมไทยที่ชาวขอมไทยสร้างขึ้นแต่ก่อนพุทธกาล[6]: 9  ใช้เป็นตัวจารึก (จาร) พระไตรปิฏก อรรถกถา ฎีกา โปฏฐปาทสูตร คันถธุระ คัมภีร์ ปกรณ์ หนังสือเทศน์ต่าง ๆ

ราชบุตรของขุนอินเขาเขียว นามว่า ขุนอินออมขอมแล้วไปเที่ยวถ้ำ นางกวักทองได้เข้ามาห้องถ้ำอยู่ 15 วัน (ออมขอม แปลว่า แปลงตัวให้เป็นขอม ขอมในที่นี้ คือ ชื่อตำแหน่งครูบาอาจารย์ ช่าง นักวิชาการ นักหนังสือในกเบื้องจารคูบัว แผ่นที่ 116 หน้า 1[7]) ต่อมาขุนอินถูกราชบิดาจับขังไว้ในถ้ำเขา นางกวักทองมาช่วยและปล่อยขุนอินแล้วพากันเดินในเวลากลางคืนไปจนถึงเมืองแผน พบในกเบื้องจารคูบัว แผ่นที่ 2 ลำดับอ่านที่ 93 หน้า 1[6]: 60 

ขอมทองเพลง และเมียมาลาวดี เมียทองไบศรี สร้างวัดตรงหน้าเขางู และลงหลักวัดเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีพุทธกาล 710 พบในกเบื้องจารคูบัว แผ่นที่ 389 ลำดับอ่านที่ 216 หน้า 1[6]: 191 

พงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) มีบันทึกว่า เมื่อ พ.ศ. 1599 รัชสมัยพระเจ้าอุทินนะ มีกองทัพคฺยวม (Gywom หรือ Gywan คือ Klom)[8] ("คฺยวม" เป็นคำภาษาพม่าเก่า แปลว่า ขอม)[9] เป็นกองทัพสยามได้ยกทัพไปตีเมืองสะเทิม (มนูหเมง หรือบูรณกาน ก็เรียก) ของชาวมอญ พระเจ้าสิริตริปวรธัมราชาธิปติโนรตา (พระเจ้าอโนรทาแห่งพุกาม) ทรงยกทัพมาช่วยป้องกันเมือง

ศิลาจารึกพม่า ณ สักกาลัมปะเจดีย์ จารึกที่รวบรวมได้ในรัชสมัยพระเจ้าปดุง ประดิษฐานใกล้กับเจดีย์อาระกัน (Arracan Pagoda) มัณฑะเลย์[10] กล่าวว่า:-

ศักราช ๔๑๘ พระเจ้าสิริตริปวรธัมราชาธิปติโนรตากลับจากทําสงครามกับพวกทหารคฺยวมแล้วได้ทรงสร้างคูหาเจดีย์ขึ้น[11]

เรื่องราว ทหารคฺยวม มีบันทึกใน มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว (The Hmannan Yazawin) บรรพที่ 136 ว่า:-

[Kyanzittha saves Pegu.] One day it was reported: 'An host of Gywan warriors hath marched on Ussa Pegu. Send us help to fight them!' Said Anawrahtaminsaw 'Good horsemen, four hundred thousand, shall be sent to succour you!' So the messengers returned. And the king caused his four captains, Kyanzittha, Nga Htweyu, Nga Lonlephpè and Nyaung-u Hpi, to disguise them in the garb of spirits, and with their followers and fourscore Kalā footruners go to help in the war.[12]: 92  [...] When he heard their words of answer, he wrote thus on gold palmyra: ' Eastward the Panthe country, also called Sateittha; south-eastward the country of the Gywans, also called Ayoja; southward Nagapat Island in mid-ocean; south-westward the Kala country, also known as Pateikkara; in the north-west corner Katu-nganagyi-yepawmi; northward the Tarop country, also called Gandhala.[12]: 106 

— คณะกรรมการประวัติศาสตร์หลวงแห่งพม่า (1832), The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma (1923) Chapter 136 Vol. I, (แปลโดยหม่องทินอ่อง และลูซ).

มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว ฉบับแปลโดยหม่องทินอ่อง และลูซ อธิบายว่า ดินแดนของชาวคฺยวมที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพุกาม เรียกว่า อะรอซา[13] (Arawsa) หรือ อโยชะ[13] (Ayoja) หมายถึง อยุธยา[13] (AyudhyÄ) เป็นดินแดนของชาวสยาม[14] และ เจ้าราม[13][8] (Rham) หมายถึง ชาวคฺยวม เป็นพระนามของเจ้าผู้ครองแคว้นอโยธยาเดิม

ชาวคฺยวมนั้น คือ ชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากไทยวน (ไตยวน)[13] ซึ่งได้ร่วมทำสงครามกับพระเจ้าพรหมกุมารแห่งโยนกนครทำสงครามมีชัยชนะเหนือพวกขอม พระเจ้าพรหมกุมารทรงขับไล่ลงทางใต้จนถึงกำแพงแสน แสดงว่าแคว้นอโยชะ (อโยชชะปุระ) มีอยู่มาก่อนแล้ว[13] ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 นอกจากนี้ พระอัยการเบ็ดเสร็จ (อายการเบดเสรจ) มหาศักราช ๑๑๔๖ ปีมะแม (พ.ศ. 1768) ตราขึ้นก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา ระบุพระนามกษัตริย์เมืองอโยธยาเดิมว่า "พระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีวิสุทธิบุรุโสดมบรมจักรพรรดิธรรมิกกราชเดโชไชเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว"[15]

สมัยสุโขทัย-อยุธยา

[แก้]

อาณาจักรสุโขทัย

[แก้]

รัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุมทรงสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1781 บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยมดินแดนสุวรรณภูมิตอนบน มีการปะปนของพวกขอมกับชาวเมืองสุโขทัย เช่น ศิลาจารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 สมัยสุโขทัย มีคำจารึกว่า ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า "ขอมสบาด" คือ แม่ทัพฝ่ายขอมซึ่งปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่านของชนเผ่าขอม[16] หรือกรณีกษัตริย์ขอมเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) พระราชทานนางสุขรมหาเทวีกับพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่พ่อขุนผาเมือง[17] รวมถึงชื่อบรรดาศักดิ์ในศิลาจารึกสุโขทัย พ.ศ. 1835 ล้วนเป็นภาษาต่าง ๆ อาทิ บรรดาศักดิ์ภาษาขอม เช่น สมเด็จ กมรแตงอัญ (ขอให้สังเกตว่า แตง มิใช่ เตง) บรรดาศักดิ์ภาษาอินเดีย เช่น ราชกุมาร บรรดาศักดิ์ภาษาจีน เช่น ขุน บรรดาศักดิ์ภาษามอญ เช่น พญา และบรรดาศักดิ์ภาษาไทย เช่น เจ้า ท้าว แสดงถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรสุโขทัย[18]

คำ "ขอม" เก่าที่สุด พบในจารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 อายุราว พ.ศ. 1912 สมัยสุโขทัย (ภาพวาดจำลองจากภาพจริง)

อาณาจักรอยุธยา

[แก้]

รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนาอาณาจักรอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดินแดนข้างใต้ เป็นดินแดนชาวลวปุระ ชาวไทยวน ชาวขอม และชนชาติอื่นหลายชนชาติ สมัยนี้มีชาวขอมปะปนกับอยู่กับชนชาติชาวเมืองอู่ทองมาช้านาน มีความสัมพันธ์กับพวกขอมนานกว่ากลุ่มสุโขทัย

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ กล่าวว่า ชนชาติในอยุธยานั้นมีชนต่างชาติอยู่ถึง 40 ชาติ จึงออกจะเป็นความโอ่ตามแบบชาวชมพูทวีปอยู่มาก (ลา ลูแบร์ นับจริงจากตัวแทนชนชาติต่าง ๆ ที่มาต้อนรับคณะราชทูตฝรั่งเศสได้ 21 ชาติ) เฉพาะพวกมัวร์ก็แบ่งออกตั้ง 10 ชาติเสียแล้ว ส่วนนิโกลาส์ แชร์แวสกล่าวถึงชาวอยุธยาว่าเป็นคนต่างด้าวเสียกว่าหนึ่งในสาม แบ่งเป็นคนต่างด้าวที่กลายมาเป็นคนสยาม และคนต่างด้าวที่เข้ามาค้าขายในอยุธยา[19] แม้แต่ กฎมณเฑียรบาล จุลศักราช ๗๒๐ (พ.ศ. 1901) มาตรา 20 ก็ยังปรากฏชาวขอมว่า "อนึ่งพิริยหมู่แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแจงจีนจามชวานานาประเทศทังปวง แลเข้ามาเดิรในท้ายสนมก็ดี ทังนี้ไอยการขุนสนมห้าม" (พิริยหมู่แขกขอม... แปลว่า ครูผู้รู้หนังสือ)[20]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า:-

ถึงขั้นนี้สังเกตได้ว่าพวกไทยชาวเมืองอู่ทอง เคยได้รับความอบรมและเลื่อมใสในประเพณีขอมมากกว่าพวกเมืองสุโขทัย เพราะไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ได้อยู่ปะปนกับพวกขอมมาช้านาน ข้อนี้พึ่งจะเห็นได้ในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนี้ ขอมใช้ถ้อยคำภาษาเขมร และภาษาสันสกฤต ซึ่งพวกขอมชอบใช้ยิ่งกว่าหนังสือซึ่งแต่งครั้งกรุงสุโขทัย จารีตประเพณีก็ชอบใช้ตามคติขอมมากขึ้น มีข้อสำคัญเป็นอุทาหรณ์ เรื่องทาสกรรมกรในประเพณีไทยแต่เติมหามีไม่ พวกไทยที่มาอยู่ข้างใต้มารับประพฤติการใช้ทาสตามประเพณีขอม มีความปรากฏในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่งว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นไมตรีกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาหนีขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมาว่า เพราะ ‘เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกันแล้ว’ ดังนี้ แต่พระเจ้าอู่ทองหาทรงบัญชาตามไม่ ดำรัสสั่งให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกัน และมีคำซึ่งยังใช้กันมาปรากฏอยู่คำหนึ่งซึ่งเรียกจากผู้พ้นทาสว่า ‘เป็นไทย’ ดังนี้พึงสันนิษฐานได้ว่า เพราะเดิมชนชาติไทยไม่มีที่จะเป็นทาส และไทยมารับใช้ประเพณีทาสกรรมกรจากขอม ทาสจึงมีสืบมาในประเทศสยามจนกระทั่งพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้เลิกเสียเมื่อในรัชกาลที่ 5[21]

ส่วนตุรแปงกล่าวถึงเชื้อชาติชาวสยามว่า:-

ในกรุงสยามเลือดผสมปนกันมากจนเป็นที่เห็นได้ง่ายว่าชนชาตินี้ประกอบด้วยชนชาติอื่นหลายชาติ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการค้าขายที่ทําให้ชนชาติต่างๆ ในภาคตะวันออกได้รับผลประโยชน์ใหญ่หลวงนั้นได้ทําให้พ่อค้าต่างชาติหลายคนตัดสินใจมาตั้งสถานที่ค้าขายในกรุงสยาม[22]

ชาวขอมอินเดีย

[แก้]

ขอมอินเดีย[23] คือ ชนชาติมิลักขะ (ชาวทมิฬนาฑู) เป็นชนพื้นเมืองที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสุวรรณภูมิบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1–8 ชนชาติกลุ่มนี้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีพราหมณ์ได้ผสมปะปนกับชนชาติแขมร์พื้นเมืองกลายเป็นเชื้อชาติชาวอินเดีย[24] แล้วได้ปกครองแผ่ขยายอำนาจไปทั่วดินแดนสุวรรณภูมิจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14

มูลเหตุของการอพยพ

[แก้]

ประวัติศาสตร์เอเชียใต้[25] กล่าวว่า เมื่อ 2,400 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าอารยันได้อพยพจากภูฮินดูกูฏมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนชมพูทวีปทางตอนเหนือของอินเดีย แต่ถูกชนเผ่ามิลักขะ (ชาวทมิฬ) พื้นเมืองทำศึกต่อต้านแต่ชนเผ่ามิลักขะกลับพ่ายแก่ชนเผ่าอารยัน ชนเผ่าอารยันที่อยู่ทางเหนือจึงครอบครองดินแดนแล้วตั้งเป็นรัฐมคธ แล้วจับชนเผ่ามิลักขะไปเป็นทาส ชนเผ่ามิลักขะที่ลักลอบหนีออกมาได้จึงไปตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของอินเดีย ชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ตอนใต้ซึ่งไม่ถูกกับชนเผ่าอารยันต่างตั้งรัฐปกครองตนเองขึ้นหลายรัฐ มีอาณาเขตเป็นของตนเอง[25]

เมื่อ 304–232 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งแคว้นมคธได้ขยายดินแดนชนเผ่าอารยันจากทางเหนือลงมาสู่ทางใต้ของอินเดียทรงมีชัยชนะเหนือทุกชนเผ่า แล้วทรงรวบรวมดินแดนตอนใต้เข้ากับตอนเหนือของอินเดียทั้งหมด และยังบังคับให้ทุกชนเผ่านับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ชนเผ่ามิลักขะเป็นเผ่าที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู[25]

การสงครามของพระเจ้าอโศกมหาราชในครั้งนั้นส่งผลให้ชนเผ่ามิลักขะพื้นเมืองต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานแหลมสุวรรณภูมิ และหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณทะเลจีนใต้ การอพยพเริ่มมีมาตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล และระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1–8 มีจำนวนผู้อพยพมากที่สุด[25] ชนเผ่ามิลักขะที่อพยพมายังดินแดนสุวรรณภูมิส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานที่ปากแม่น้ำอิรวดี และปากแม่น้ำสาละวินผสมปะปนกับชนชาติพื้นเมืองแล้วกลายมาเป็นชนชาติมอญในเวลาต่อมา ส่วนชนเผ่ามิลักขะอีกกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กลุ่มนี้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พวกพราหมณ์บางท่านผสมปะปนกับชนชาติพื้นเมืองแล้วกลายเป็นชนชาติอินเดีย[26]

การตั้งถิ่นฐาน

[แก้]

คริสต์ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล มีชาวอินเดียนับถือศาสนาพุทธได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรอินโดจีน และดินแดนสุวรรณภูมิ[27]: 74  ซึ่งมีชนชาติพื้นเมืองอยู่มากมาย เช่น ชนชาติมอญ ชนชาติลาว ชนชาติจามปา ชนชาติขมุ ชนชาติแขมร์ (เขมร) ฯลฯ[28]: 111  อีกกลุ่มหนึ่งได้มาตั้งในดินแดนชนชาติมอญ[27]: 75  (พื้นที่อำเภอนครไชยศรี จังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน) อีกกลุ่มหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐานที่ดินแดนชนชาติจาม[27]: 75  (ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ชาวอินเดียกลุ่มนี้รอบรู้ศิลปวิทยาการต่าง ๆ ยิ่งกว่าชนชาติพื้นเมือง สามารถแสดงคุณวิเศษให้ชนชาติพื้นเมืองนิยมนับถือจนได้รับการยกย่องให้ชาวอินเดียกลุ่มนี้เป็นครูบาอาจารย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาที่มีการเผยแพร่เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่บัดนี้[27]: 75 

พงศาวดารเมืองชวา กล่าวว่า:-

ครั้นนานมาพวกชาวอินเดียที่อยู่ตามสถานีก็เลยตั้งภูมิลำเนาอยู่ประจำทำมาหากินในท้องที่ และเที่ยวค้าขายตั้งภูมิลำเนาตามถิ่นที่ห่างไกลสถานีออกไปเป็นลำดับ ไปอยู่ที่ไหนก็สมพงศ์กับชาวเมือง เกิดเชื้อสายชาวอินเดียมากขึ้นเป็นอันดับมา ก็ชาวอินเดียมีความรู้อารยธรรมฉลาดกว่าชาวเมืองในท้องถิ่น ไปตั้งอยู่ที่ไหนก็นำสาสนากับทั้งวิชาความรู้ต่าง ๆ ตามอารยธรรมในอินเดียไปสั่งสอนจนพวกชาวเมืองพากันนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ นานเข้าเชื้อสายของชาวอินเดียก็ได้เป็นมูลนาย และที่สุดได้ครอบบ้านครองเมือง ตั้งขนบธรรมเนียมและสร้างเจดียสถานต่าง ๆ ดังปรากฎอยู่ในนานาประเทศแถบนี้[29]

คริสต์ศตวรรษที่ 1 สมัยจักรวรรดิคุปตะมีชาวอินเดียใต้ (มัทราส หรือเจนไน) อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอพยพมาจากดินแดนเอเชียใต้โดยแล่นเรือเลียบฝั่งทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง[27]: 75  บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ของชนชาติจาม ต่อมาชาวอินเดียฝ่ายชายได้เกี่ยวดองร่วมสายเลือดกับชนเผ่าพื้นเมืองฝ่ายหญิง[27]: 75  แล้วบังคับให้ชนชาติท้องถิ่นรับเอาลัทธิ ศาสนา และประเพณีตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ[27]: 75  กลายเป็นเชื้อชาติอินเดีย ชนเหล่านี้เรียกว่า ขอม หรือ ขอมอินเดีย เป็นชนชาติเลือดผสมระหว่างอินเดียฝ่ายชายกับชนเผ่าพื้นเมืองฝ่ายหญิง[27]: 75 [28]: 94  แตกแขนงออกเป็นอีกชนเผ่าหนึ่ง

ประกอบ ผลงาม กล่าวว่า ชาวอินเดียเป็นผู้ที่ริเริ่มใช้คําว่ากัมพูชา (Kambuja) เป็นชาติแรก[30] และพราหมณ์กัมพูสวยัมภูวะเป็นบรรพบุรุษของเผ่ากัมพุชมีต้นกำเนิดในดินแดนอินเดียใต้

การขยายอิทธิพล

[แก้]

คริสต์ศตวรรษที่ 1 พวกพราหมณ์ และขอมอินเดียสถาปนาอาณาจักรฟูนันเพื่อเป็นทางผ่านการค้าระหว่างพ่อค้าชาวจีน ชวา และอินเดีย หลังการสถาปนาอาณาจักรส่งผลให้ขอมอินเดียเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจึงแผ่ขยายอาณาเขตจากดินแดนปากแม่น้ำโขงขึ้นมายังโตนเลสาบ[28]: 94  (ทะเลสาบเขมรในปัจจุบัน) ขับไล่ชนพื้นเมือง อาทิ ชนชาติจามปา และชนชาติลาวจนแตกหนีไปยังดินแดนตอนเหนือแล้วจึงย้ายศูนย์การปกครองอาณาจักรฟูนันเดิมมาที่บริเวณนี้มีชื่อว่า อาณาจักรเจนละ เป็นอาณาจักรขอมอินเดีย และแผ่ขยายอาณาเขตของตนเองไปถึงดินแดนชนชาติลาว เรียกว่า อาณาจักรโคตรบูร[28]: 94  และดินแดนชนชาติมอญ เรียกว่า อาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีอยู่มาแต่ก่อน

หลังจากขอมอินเดียแผ่ขยายอทธิพลจนได้ครอบครองดินแดนบางส่วนที่ลุ่มแม่น้ำมูลแล้วจึงสร้างเมืองบนดินแดนที่ราบสูงโคราช (The Khorat Plateau เช่น ดินแดนเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี[30]) ชื่อว่า เมืองโคราทะปุระ (โคราชในปัจจุบัน) ตามชื่อเมืองเดิมที่อพยพมา[28]: 94  และด้วยอาณาจักรเจนละของขอมอินเดียซึ่งเป็นทางผ่านของพ่อค้าอินเดียและจีนมากมายมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว มีพราหมณ์ พ่อค้าชาวอินเดียจำนวนหลากหลายได้อภิเษกกับชนชาติพื้นเมืองแล้วยังรับเอาวัฒนธรรมอินเดียเข้ามามากมายโดยเฉพาะจากรัฐปัลลวะ[28]: 112 

คริสต์ศตวรรษที่ 7–8 ขอมอินเดียเข้ายึดครอบครองอาณาจักรทวาราวดีของชนชาติมอญได้ทั้งหมด จึงเกณฑ์ผู้คนไปเป็นแรงงานที่เมืองนครธม และเป็นช่วงวัฒนธรรมรัฐปัลลวะหลั่งไหลเข้ามาสู่อาณาจักรเจนละมากมาย มีระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจคือ นายปกครองบ่าว (Autocratic Government) พวกขอมอินเดียเริ่มสร้างปราสาท วัง วิหาร สระน้ำ กำแพง และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มากมาย และยังแผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อตั้งถิ่นฐานได้เป็นที่มั่นคงแล้วขอมอินเดียจึงสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันออกของที่ราบสูงโคราชเพื่อค้ำยันอิทธิพลของอาณาจักรโคตรบูรของชนชาติลาว มีชื่อว่า เมืองวิมายะปุระ[28]: 94  ซึ่งชนชาติลาวเรียกตามสำเนียงลาวว่า เมืองพิมาย[28]: 94  ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของขอมอินเดียของราชวงศ์มหิธรปุระจนกระทั่งสิ้นอำนาจแก่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในภายหลัง


กลุ่มโบราณสถานแห่งมหาพลิปุรัม อิทธิพลศิลปะอินเดียใต้ต่อศิลปะขอมในดินแดนสุวรรณภูมิ

คริสต์ศตวรรษที่ 10 อิทธิพลขอมอินเดียแผ่ขยายไปถึงดินแดนอีสานตอนบน พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า ชนเผ่าขอมอินเดียได้พุ่งรบกับชนชาติพม่าเพื่อแย่งชิงอาณาเขตของชนชาติลาว[31] อาณาจักรโคตรบูรจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลขอมอินเดียเรื่อยมา พบหลักฐานการก่อสร้างในเขตภูดอย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นศาสนสถานแบบศิลปะอินเดีย และมอญบ่งชี้ว่า ดินแดนบริเวณนี้เคยมีพ่อค้า พราหมณ์ ปุโรหิตจากดินแดนอินเดีย และอาณาจักรทวาราวดีเข้ามาทำการค้าและเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์ในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนพุทธศตวรรษที่ 16[28]: 96  กระทั่งขุนบรมราชาธิราชได้ยกทัพจากเมืองแถนลงมาขับไล่พวกขอมแล้วยึดอาณาเขตของชนชาติลาวคืนได้เรื่อยมาจนถึงเมืองเชลียง หรือเมืองสวรรคโลก (จังหวัดนครสวรรค์ในปัจจุบัน)[31]

คริสต์ศตวรรษที่ 12 รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราชวงศ์มหิธรปุระ เป็นราชวงศ์ขอมซึ่งมีเมืองวิมายะปุระดินแดนที่ราบสูงโคราชเป็นศูนย์การปกครองในขณะนั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปตามสายภูปันน้ำ ภูสามเส้าดงพญาไฟ (ดงพญาเย็นในปัจจุบัน) และภูพญาผ่อ (เทือกเขาเพชรบูรณ์) แล้วสร้างฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองลวปุระ (จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปตามรอยต่อของเขตแดนทวาราวดี และโยนก แล้วไปตั้งเมืองสุโขทัยเป็นที่มั่นเพื่อเตรียมขยายอิทธิพลต่อไป[28]: 100  ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 อิทธิพลขอมอินเดียแผ่ขยายไปถึงแม่น้ำโขง เขตเมืองเวียงจันทร์ เมืองทรายฟอง พบร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พวกขอมทิ้งไว้ คือ รูปหินแกะสลักจำลองชัยวรมันที่ 7 ศิลาจารึกอักษรขอม รูปเทวบาล และศิวลึงค์[28]: 96  เป็นการยืนยันว่าอาณาจักรโคตรบูร และอาณาจักรโยนกเป็นอาณาจักรที่มีมาก่อนขอม มีความเข้มแข็งสามารถต่อต้านการรุกรานพวกขอมไว้ได้มาก

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สืบสันตติวงศ์จากพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 1 และพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างพระนครวัดในราชวงศ์มหิธรปุระตามลำดับ แต่เดิมทรงครองราชย์อยู่ในดินแดนที่ราบสูงโคราชลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน (ดินแดนอีสานตอนบน) พบว่ามีจารึกมากที่สุดปรากฏที่ ปราสาทหินพนมวัน (รัตนปุระ) ปราสาทหินพิมาย (วิมายปุระ) ปราสาทหินพนมรุ้ง (รัมปุระ) และปราสาทเขาพระวิหาร (ศรีศิกเรษวร) โดยแผ่ขยายอำนาจจากที่ราบสูงโคราชลงมายังพระนครวัดนครธมช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12–13[32] นอกจากนี้ราชวงศ์มหิธรปุระยังรับศาสนาพุทธมหายานจากเมืองวิมายะปุระซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน[33] เข้าไปประดิษฐาน และเผยแพร่จากดินแดนที่ราบสูงโคราชลงไปยังที่เมืองพระนครหลวง (นครธม) ในดินแดนกัมพุชใต้ลำน้ำมูล ขณะที่ราชวงศ์ยโศธรปุระนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย[34]

ภายหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต อาณาจักรขอมจึงเริ่มเสื่อมอำนาจลง แต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ราชวงศ์มหิธรปุระ ยังคงแผ่ขยายอำนาจมาถึงอู่ทอง และนครปฐม[13]: 58 

อาณาจักรขอมสิ้นสุด

[แก้]

คริสต์ศตวรรษที่ 14 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระเจ้าอู่ทอง ครองแคว้นอโยธยาเดิมสืบต่อจากพระเจ้าอู่ทอง ผู้ครองแคว้นอโยธยาเดิม พระองค์ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่เวียงเล็ก แขวงเมืองอโยธยา แล้วทรงสร้างไมตรีกับแคว้นรอบข้างรวมทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ราชวงศ์มหิธรปุระด้วย นับเป็นช่วงที่อาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ถูกตระซ็อกประแอม หัวหน้าสวนหลวง ลอบปลงพระชนม์ อาณาจักรขอมจึงสิ้นสุดลงอำนาจลง[28]: 101  เนื่องจากถูกชนชาติอื่นทำศึกสงครามต่อต้านการรุกรานดินแดนที่ขอมได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ต่อมาบรรดาดินแดนของอาณาจักรขอมทั้งหลาย อาทิ เมืองวิมายปุระ (พิมาย) พนมรุ้ง และพระนครหลวงถูกสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ยกทัพเข้าโจมตีล้วนตกอยู่ในภายใต้อำนาจของอยุธยาทั้งสิ้นตั้งแต่ พ.ศ. 1974 และกวาดต้อนชาวเมืองพระนครหลวง (นครธม) ถึง 40,000 ครัว (ราว 70,000 คน) อพยพไปยังกรุงศรีอยุธยา[35] ราชวงค์ขอมที่ปกครองดินแดนกำพุช (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) จึงได้สูญสิ้นให้แก่กรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 (พ.ศ. 1974) เป็นต้นมา[36]

จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ ด้านที่ 2 จารเมื่อ พ.ศ. 1974 กล่าวว่า:-

สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราชเป็นเจ้าให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอาจตุรงค์ช้างม้ารี้พลไปโจมจับพระนครพิมายพนมรุ้งเป็นราชเสมาแลราบทาบดังพระมโนสากัลป์แลจึงจะละพระราชเสาวนีย์หาขุนศรีไชยราชมงคลเทพแดฝูงมวยลูกขุนทั้งหลาย เอาช้างม้ารี้พลถอยคืนมา มาลุเถิงเมสบรธานจรดบรรณศาลาประดิษฐาสีลาประสัสนี้ไว้จุ่งเป็นเกียรติยศสบบดลพระราชอาญาว่าขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอกมนตรีพิเสส[37]

สอดคล้องกับ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวว่า:-

สักราช 793 กุนสก (พ.ส. 1974) สมเด็ดพระบรมราชาเจ้าสเด็ดไปเอาเมือง(นครหลวง)ได้ แลท่านจึงไห้พระราชกุมารท่านพระนครอินทร์เจ้าเสวยราชสมบัตินะเมืองนครหลวงนั้น[38]

ส่วน พงศาวดารโยนก กล่าวว่า ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนาเรืองอำนาจมากขึ้นจึงทำสงครามมีชัยแก่พวกขอมที่แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงล้านนา ชนชาติไทล้านนาจึงขยายอิทธิพลลงมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนแล้วตั้งอาณาจักรสุโขทัย ภายใต้การนำของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ส่วนแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คือ แคว้นอโยธยาเดิมเป็นดินแดนชนชาติไทเชื้อสายไทยวน ศรีวิชัย และขอม แต่ก่อนเคยเป็นแคว้นประเทศราชของอังวะ[39] ต่อมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 และดินแดนที่ราบสูงอีสานแต่เดิมเป็นดินแดนของชนชาติลาว พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราชทรงสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ณ เมืองเชียงทอง เมื่อ พ.ศ. 1896 บรรดาทหารขอมที่เคยปกครองดินแดนต่างถูกชนชาติอื่นต่อต้านโจมตี ถูกขับไล่ บ้างก็ถูกผนวกปะปนอยู่กับสายเลือดชนชาติอื่น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ว่า:-

ครั้นเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช (พระเจ้าอโนรธามังช่อ) อำนาจเมืองพุกามเสื่อมลง พวกไทยก็มีอำนาจขึ้นในประเทศสยามเป็นลำดับมา ถึงสมัยนี้ในแดนสยามข้างใต้ พวกขอมกับพวกลาวได้สมพงศ์ปะปนกันมาช้านาน พวกลาวหย่อนอริยธรรมกว่าพวกขอมก็กลายเป็นพวกขอมโดยมาก ยังคงเป็นลาวอยู่อย่างเดิมแต่พวกซึ่งอยู่ตามบ้านป่าเมืองดอน ครั้นชนชาติไทยลงมาอยู่ในประเทศสยามทางข้างเมืองเหนือมากขึ้น พวกลาวหย่อนอริยธรรมกว่าไทยก็กลายเป็นไทยอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นเหตุ ให้ชนชาติลาวลดน้อยลงเป็นอันดับมา จนเหลืออยู่แต่เป็นชาวป่า ซึ่งพวกไทยข้างเหนือเรียกว่า “ลวะ” พวกไทยข้างใต้เรียกว่า “ละว้า" อยู่เป็นแห่ง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีแทบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย เมื่อไทยแผ่อาณาเขตลงมาปกครองถึงเมืองสุโขทัยซึ่งพวกขอมได้ขึ้นไปตั้งอยู่ช้านาน ได้นำลัทธิพระพุทธศาสนาอย่างมหายานและลัทธิศาสนาพราหมณ์ตลอดจนการใช้อักษรและภาษาขอมขึ้นไปประดิษฐานไว้ ไทยมาได้ปกครองพลเมืองซึ่งนิยมประพฤติขนบธรรมเนียมอย่างขอมอยู่โดยมาก แต่วิสัยไทยรู้จักเลือกเห็นขนบธรรมเนียมของชาวต่างประเทศอย่างใดดี ถ้าและมิได้ฝ่าฝืนต่อประโยชน์ของตนก็มักประพฤติตามหรือแก้ไขให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ดังแก้อักษรขอมเป็นอักษรไทย เป็นต้น อาศัยเหตุนี้พวกไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ตั้งแต่สุโขทัยตงมาถึงรับถือลัทธิบางอย่างในศาสนาและขนบธรรมเนียมตลอดจนใช้ภาษาและศาสตราคมซึ่งไต้มาจากขอมผิดกับพวกไทยที่ตั้งอยู่อาณาเขตลานนาหรือล้านช้างด้วยประการฉะนี้[40]

ความสัมพันธ์ชาวขอมกับชาวไทยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

[แก้]

จารึก

[แก้]

คำจารึกปราสาทพระวิหาร 4 (พ.ศ. 1581) กล่าวว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พระราชนัดดาในพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มอบดินแดนให้ชาวไทดำที่จงรักภักดีต่อ คือ พระกมรเสตงิ และย้าย กัมเสตงศรีมหิธรวรมัน ซึ่งเป็นญาติชนชาติไทดำที่มีนิสัยดุร้ายไปอยู่ดินแดนรังโคล ซึ่งเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หมายความว่า ดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถูกปกครองโดยข้าราชการชนชาติไทดำ จึงน่าเชื่อว่า กัมเสตงศรีมหิธรวรมัน หรือ กัมเสตงศรีมหิธรปุระ เป็นชนชาติไทดำ หลักฐานนี้แสดงว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นเครือญาติกับชนชาติไทยดำอีกด้วย[41]

คำจารึกปราสาทพระวิหาร 4 (ศ.ก. ๖) (พ.ศ. 1581) ด้านที่ 2 อักษรขอม ภาษาเขมร-สันสกฤต :-

  • (บรรทัด ๖๑): ตฺวนฺ อญฺ นุ ปฺรคลฺภ ต สนฺตาน อฺนกฺ ปาสฺ เขฺมา เลยฺ คิ ปิ วฺวํ ปฺรคลฺภ มนฺ สนฺตาน อฺนกฺ ปาสฺ เขฺมา สฺยงฺ ต สาห-
  • (บรรทัด ๖๒): สิก สปฺปฺ วฺระ ราชฺย โลฺวะ ต วฺระ กฺมฺรเตงิ ปาสฺ เขฺมา ใทยฺ เนะ คิ รุวฺ กมฺรเตงฺ กฺตฺวนฺ อญฺ เปฺร นิรฺณย

(คำแปล): กัมตวนอัญ ได้มอบให้แก่ญาติ ชนผิวดำสืบไป แต่ไม่มอบให้ญาติชนผิวดำ ที่มีนิสัยดุร้าย (กบฏ) มาทุกรัชกาล จนกระทั่ง พระกัมรเสตงิ ชาวไทยดำโดยกำเนิด ที่พระกัมรเตงกัมตวนอัญ พิจารณาตัดสิน[42]

— สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร (แปลโดย ชะเอม แก้วคล้าย), ศิลาจารึกปราสาทพระวิหาร 4 (ศ.ก. ๖) ด้านที่ 2


คำว่า ปาสฺ เขฺมา ใทยฺ แปลว่า ชาวไทยดำโดยกำเนิด[42]

เอกสาร

[แก้]

หลักฐานชั้นต้น ชื่อ ตำราทูตตอบ เป็นหนังคู่มือทูตตอบเขียนเป็นภาษาไทยสำหรับคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุุเกส เมื่อ พ.ศ. 2227 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งว่าหากคณะราชทูตสยามได้รับคำถามเกี่ยวกับเชื้อสายกษัตริย์และสิ่งก่อสร้างโบราณของสยาม ให้คณะราชทูตตอบว่าทรงสืบสายลงมาตั้งแต่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ปรากฏใน ตำราทูตตอบ ว่า:-

"...ให้ตอบถึงกษัตริย์โดยอ้างลงมาตั้งแต่สมเด็จพระปทุมสุริยนรนิสสวรบพิตร... (Sommedethia Ppra Pattarma Souria Naaranissavoora Boppitra Seangae) (พระปทุมสุริยวงค์?) ชึ่งเป็นผู้สร้างเมืองชัยบุรีมหานคร (?) ใน พ.ศ. ๑๓๐๐ และกษัตริย์ที่ครองราชย์สืบมาอีกสิบพระองค์ ต่อมาสมเด็จพระยโศธรธเรนทร์เทพราชอติ (Sommedethia Prayasouttora Ttarrena Ttepperaraacchaatti) (พระเจ้ายโศธรวรมัน?) ผู้สร้างเมืองยโศธรนครหลวง (Yassouttora Nacoora Louang) และกษัตริย์ ๑๒ พระองค์ที่ครองราชย์ที่นั่น ต่อมาเมื่อกษัตริย์สมเด็จพระพนมไชยศิริมเหศวรินทธิราชบพิตร เสด็จไปประทับในสุโขทัย และในปี พ.ศ. ๑๗๓๑ พระองค์สร้างเมืองเพชรบุรี ที่นี้มีกษัตริย์ครองราชย์มาสี่พระองค์ เป็นเวลา ๑๖๓ ปี ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีบพิตร (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สร้างพระนครของสยามในปี พ.ศ. ๑๘๙๔ ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรและเรียกว่า กรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา และพระองค์ครองราชย์มา ๒๗ ปี ดังนั้นจึงมีกษัตริย์ ๕๐ พระองค์ ใน ๙๖๒ ปี..."[43]

ซึ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ผู้สร้างเมืองนครธมนี้ พงศาวดารชาติไทย ของพระบริหารเทพธานี (เฉลิม) พ.ศ. 2508 กล่าวว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2[44] เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1652–95 (หลักฐานเรื่องพระแสงขรรค์ชัยศรีใน คำให้การชาวกรุงเก่า แย้งว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2[45] (ชัยวรมเทวะ) ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1345-93 มากกว่า ส่วนพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สืบวงศ์จากพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์อีกทีหนึ่ง)

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็นกษัตริย์ขอม[46] แต่พระราชมารดาของพระองค์เป็นเขมร[46] และยังทรงมีวัฒนธรรมไทยแบบไศเลนทร์อย่างอาณาจักรตามพรลิงค์จากการส่งไพร่พลไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างเมืองนครธม และได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธศาสนาไว้ที่เมืองพระนครให้เป็นปึกแผ่นตาม ตำนานพระแก้วมรกต สอดคล้องกับ ตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา ใน จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่ากษัตริย์พระองค์แรกของชาวสยามมีชื่อว่า พระปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งปกครองนครไชยบุรีมหานครเป็นพระองค์แรกแต่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ไม่รู้แน่ชัดว่านครไชยบุรีตั้งอยู่ที่ใด :-

"ปฐมบรมกษัตริย์ของชาวสยามนั้นทรงพระนามว่า พระปฐมสุริยเทพนรไทยสุวรรณบพิตร (Pra Poathonne Sourittep pennaratui sonanne bopitra) (พระปทุมสุริยวงศ์?) พระมหานครแห่งแรกที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น ชื่อว่า ไชยบุรีมหานคร (Tchai pappe Mahanacon) ซึ่งข้าพเจ้าไม่แจ้งว่าตั้งอยู่ที่ไหน เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชย์นั้นพระพุทธศาสนยุกาลล่วงแล้ว ๑,๓๐๐ พรรษา นับตามศักราชสยาม และมีพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก ๑๐ ชั่วกษัตริย์ องศ์สุดท้ายทรงพระนามว่า พญาสุนทรเทศมหาราชเทพ (Ipoïa Sanne Thora Thesma Teperat) (ยโศธรเทศมหาเทพราช?) ย้ายพระนครหลวงมาสร้างราชธานีใหม่ที่เมืองธาตุนครหลวง (Tasôo Nacorà Loüang) (ยโศ (ธร) นครหลวง ?)..."[43]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. Liccardo S. (2024). Old names, New Peoples: Listing Ethnonyms in Late Antiquity. Leiden, The Netherlands: Koninklijke Brill nv. p. 126. ISBN 978-90-04-68589-5 ISSN 1878-4879 LCCN 2023-37557 cited in Ptol., Heog. 6.13.3. "an ethnonym recorded by Ptolemy as Komedes (Κωμήδαι). This name defines also the highlands inhabited by the ethnic group, as recorded by Ammianus Marcellinus (mons Comedos)"
  2. บุญชัย ใจเย็น. (2556). คิดแบบอาจารย์หม่อม...ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชหลากมิติ หลายมุมมองที่มากด้วยประสบการณ์. กรุงเทพฯ: ปราชญ์. หน้า 134. ISBN 978-616-3-44140-9
    • สุจิตต์ วงศ์เทศ. "พจนานุกรมฉบับมติชน", ศิลปวัฒนธรรม 20(1)(พฤศจิกายน 2541):17.
    • คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. (2533). ถกเขมร. กรุงเทพฯ: สยามรัฐ. ISBN 978-974-8-57372-4
  3. Kulke, Hermann (2004). A history of India. Rothermund, Dietmar, 1933– (4th ed.). New York: Routledge. ISBN 0-203-39126-8. OCLC 57054139.
  4. 4.0 4.1 กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 29.
  5. 5.0 5.1 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑(ต่อ)-๖๒) พงศาวดารเมืองเงินยาง (ต่อ) เชียงแสน ว่าด้วยเรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512. หน้า 23–24.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 พระธรรมวงศ์เวที (อ่ำ ธมฺมทตฺโต). (2510). พงศาวดารไทยลว้า เมืองสวง เมืองแผน เมืองแมน เมืองทอง สุวรรณภูมิ ราชพลี ราชบุรี ตามกเบื้องจานไทย (ฉบับร่าง) อันได้จาก ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช พิมาย ตามกเบื้องจานไทย (ฉบับร่าง) เก็บถาวร 2024-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. พิมพ์เป็นอนุสรณ์บรรณาการในการพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว. สอน สุประดิษฐ์ (รองเสวกเอก จ่าโชนเชิดประทีปใน) นางชุบศรี สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา จัดพิมพ์ ณ เมรุฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐. พระนคร: พพิธ (แผนกการพิมพ์).
  7. พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทต์โต ป.ธ.๖). (2535). พุทธสาสนสุวัณภูมิปกรณ ราชบุรีวัตถุกถา ตำนานเมืองขุนไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 424.
  8. 8.0 8.1 Asiatic Society of Bengal, Royal Asiatic Society of Bengal, Kolkata, India. (1986). Journal of the Asiatic Society. p. 55. "Rham=Gywom or Gywam or Gywan=Klom. These would appear to be variants of the same word."
  9. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2529). คนไทยอยู่ที่นี่. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม. หน้า 70. ISBN 978-974-8-35060-8. "(จิตร ภูมิศักดิ์:๒๕๒๕ อ้างถึง ลูซ และอธิบายว่า "คฺยวม" เป็นคำพม่าหมายถึง "ขอม")".
  10. Archaeological Survey of Burma (ed.). (1897). Inscriptions copied from the stones collected by King Bodawpaya and placed near the Arakan Pagoda, Mandalay, Vol. II. Rangoon: SGP, 1897. p. 627.
  11. วินัย ผู้นำพล. (2552). วัฒนธรรมผสมในศิลปกรรมสยาม. นครปฐม: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 458. ISBN 978-974-6-41261-2
  12. 12.0 12.1 The Text Publication Fund of the Burma Research Society. (1923). The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma. (Translated by Pe Maung Tin and G.H. Luce). LONDON: Oxford University Press.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 ธนิต อยู่โพธิ์, กรมศิลปากร. (2503). เรื่องเมืองไตรตรึงส์ อู่ทอง และอโยธยา และเมืองอู่ทอง. ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นางรัตนา มานิตยกุล ณ เมรุวัดธาตุทอง อำเภอพระโขนง พระนคร วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๓. พระนคร: รุ่งเรืองธรรม. หน้า 49–50.
  14. Cœdès, G. (1925). "Documents sur l'histoire politique et religieuse du Laos occidental," Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient, 25(1925). p 24:footnote (1). doi:10.3406/befeo.1925.3044 "Le Hmannan Yazawin (trad. Maung Tin et Luce, pp. 99 et 106) place les Gywam au Sud-Est des Birmans et dit que leur contrée est aussi appelée Arawsa ou Ayoja, c’est-à-dire Ayudhya - le Siam. Le même texte (p. 92) mentionne l'invasion des Gywam au Pégou, sans donner de date."
  15. ธนโชติ เกียรติณภัทร. "อโยธยา ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ ความทรงจำจากเอกสารและตำนาน (กฎหมาย ๔ ฉบับ และปีที่สร้างพระเจ้าแพนงเชิง)," ศิลปวัฒนธรรม 44(10)(สิงหาคม 2566):20. อ้างใน กฏหมายตราสามดวง เล่ม ๓. หน้า 173.
  16. สุทัศน์ สิริสวย. (2509). พระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงในการก่อตั้งสถาบันการปกครองของชาติไทย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรุงเทพฯ. NIDA Wisdom Repository: http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/1168. 141 หน้า.
  17. ศานติ ภักดีคำ. (2554). "ขอมสบาดโขลญลำพง : เขมรรบสุโขทัย?", เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 339 หน้า. หน้า 43. ISBN 978-974-0-20810-5
  18. คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2553). ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 53.
  19. กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติช่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 7.
  20. เยี่ยมยง ส. สุรกิจบรรหาร. (2523). "พระหลักเมืองสงขลา", ศิลปากร 24(2)(พฤษภาคม 2523):86.
  21. ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2534). ชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. หน้า 79.
  22. ตุรแปง, ฟรังซัวส์ อังรี. (2539). ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม = Histoire du Royaume de Siam, tome premier. (แปลโดย นายปอล ซาเวียร์). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 3. ISBN 974-419-094-9
  23. มานิต วัลลิโภดม. (2521). สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน. กรุงเทพฯ: การเวก. หน้า 108.
  24. ลําจุล ฮวบเจริญ. (2550). เกร็ดพงศาวดารกรุงสุโขทัย. กรุงเทพฯ: ดวงกมล. หน้า 5. ISBN 978-974-8-28235-0
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 ถนอม อานามวัฒน์. (2527). ประวัติศาสตร์เอเชียใต้อดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: บางลำพูการพิมพ์. หน้า 23–24.
  26. กรมศิลปากร, คณะกรรมการอํานวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 211.
    • หอสมุดแห่งชาติ. (2507). ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๖. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า. หน้า 263.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 27.7 ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒-๒๕). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507.
  28. 28.00 28.01 28.02 28.03 28.04 28.05 28.06 28.07 28.08 28.09 28.10 28.11 บุนมี เทบสีเมือง. (2566). ความเป็นมาของชนชาติลาว เล่ม 1 การตั้งถิ่นฐานและสถาปนาอาณาจักร. (แปลโดย ไผท ภูธา). กรุงเทพฯ: บุ๊ค ไทม์. ISBN 978-616-1-40496-3
  29. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2480). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗. เล่าเรื่องไปชะวา ครั้งที่ ๓. พระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภาโปรดให้ตีพิมพ์ในงานฉลองพระชัณษาครบ ๔ รอบปี และในงานฉลองอายุเจ้าจอมมารดาอ่อน รัชกาลที่ ๕ ครบ ๗๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๐. พระนคร: พระจันทร์.
  30. 30.0 30.1 ประกอบ ผลงาม. (2538). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธ์เขมรถิ่นไทย Encyclopedia of ethnic groups in Thailand Khmer. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 14.
  31. 31.0 31.1 ประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญ-หลง), พระยา. (๒๔๘๔). พงศาวดารเมืองล้านช้าง และลำดับสกุลสิทธิสารบุตร. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). นางนนทปัญญา (สงวน มกรานนท์) พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพคุณหญิงชลปทานธนารักษ์ (พอน โหตรภวานนท์) ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ณเมุรวัดไตรมิตต์วิทยาราม. พระนคร: โรงพิมพ์สาสนศึกษา. หน้า 4.
  32. ไรท, ไมเคิล. (2551). ฝรั่งหายคลั่ง(หรือยัง?). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 210–212. ISBN 978-974-0-20131-1 อ้างใน Briggs, L.P. (1951). "The Ancient Khmer Empire", Transactions of The American Philosophical Society 41(February 1951). Part 1. ISBN 978-125-8-10377-4
  33. กรมศิลปากร, กองโบราณคดี. (2531). อดีตอีสาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 39. ISBN 978-974-7-93632-2
  34. กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทยอักษร ฉ ช ซ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 142. ISBN 978-974-4-17258-7
  35. ศานติ ภักดีคำ. (2554). เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 339 หน้า. หน้า 116. ISBN 978-974-0-20810-5
  36. กระทรวงมหาดไทย. (2509). พระแสงราชศัสตรา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก มังกร พรหมโยธี ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. 172 หน้า. หน้า 18.
  37. ศานติ ภักดีคำ. (2557). ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทยเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 69. ISBN 978-974-0-21342-0
  38. พระราชพงสาวดารกรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสิด). เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงสพ พันเอก พร้อม มิตรภักดี (พระยานรินทร์ราชเสนี). พระนคร: บริสัทการพิมพ์ไทย. หน้า 21.
  39. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2503). ตํานานพระพุทธเจดีย์ เล่ม ๒ : พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 126.
  40. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2503). ตํานานพระพุทธเจดีย์ เล่ม ๒ : พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 125.
  41. ดุสิต ทุมมากรณ์, สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น. (2565). ราชวงศ์มหิธรปุระ: ข้อสันนิษฐานใหม่. ขอนแก่น: ดุสิต ทุมมากรณ์.
  42. 42.0 42.1 ชะเอม แก้วคล้าย. "จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๔", ศิลปากร 50(5)(กันยายน-ตุลาคม 2550):29, 33, 43, 49. ISSN 0125-0531
  43. 43.0 43.1 ศานติ ภักดีคำ. (2563). นครวัดทัศนะสยาม (eBook). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 34-35. ISBN 978-974-0-21712-1
    • ศานติ ภักดีคำ. (2554). เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 92. ISBN 978-974-0-20810-5
  44. บริหารเทพธานี (เฉลิม), พระ. (2508). พงศาวดารชาติไทย ความเป็นมาของชาติตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์. รวบรวมโดย พระบริหารเทพธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ลพบุรี ตราด และข้าหลวงประจำจังหวัดนนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (รวม ๒ เล่มจบบริบูรณ์)]. พระนคร: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี. หน้า 133
  45. กำพล จำปาพันธ์. "เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์", ศิลปวัฒนธรรม 44(6)(เมษายน 2566):83, เชิงอรรค ๑๖. อ้างใน คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546. หน้า 6–7.
    • สมบัติ พลายน้อย. (2515). เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ: โบราณสาส์น. หน้า 14.
    • ฉวีงาม มาเจริญ. (2528). พระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 30. ISBN 978-974-7-92530-2
    • ธรรมทาส พานิช. (2533). นิพพานธรรมในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 40.
    • มารอาคเนย์. (2566). ภูตหมอกควัน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: พบสันต์ รุกขรังสฤษฏ์. หน้า 159. (เชิงอรรถท้ายหน้า). ISBN 9786165989268
    • ธรรมทาส พานิช. (2541). ประวัติศาสตร์ไชยา-นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: ธรรมทานมูลนิธิ. หน้า 76.
  46. 46.0 46.1 ธรรมทาส พานิช. (2533). นิพพานธรรมในประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 40. "พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เป็กษัตริย์ขอม (มารดาเป็นเขมร) เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๔๓ พระองค์สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงไว้ เป็นปึกแผ่นในเมืองพระนคร"
    • ธรรมทาส พานิช, มูลนิธิธรรมทาน. (2542). "พระปทุมสุริยวงศ์องค์ที่ได้พระแก้วมรกตไปไว้ท่านเป็นขอมมีวัฒนธรรมไทยแบบไศเลนทร์", วัฒนธรรมพุทธศาสนาของชาวไทยในตํานานพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา. หน้า 155. ISBN 978-974-8-66851-2