ข้ามไปเนื้อหา

ขุนศรีไชยราชมงคลเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เป็นขุนศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และเป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังพลไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1962

ประวัติ[แก้]

ขุนศรีไชยราชมงคลเทพ ไม่ปรากฏนามเดิม บุตรชื่อ ขุนศรีบาท น้องชายชื่อ ขุนประชานน หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เสด็จการศึกสงครามมีชัยชนะเหนือเมืองพระนครหลวง (นครธม) โปรดให้สร้างจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เป็นเกียรติยศ

การสงคราม[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 1962 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) ทัพของพระองค์เป็นทัพหลวง โปรดให้ทัพขุนนางเป็นทัพหน้าให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเป็นแม่ทัพมีรี้พลไปตีเมืองพิมาย (วิมายะปุระ) เมืองพนมรุ้ง (รัมปุระ) และเมืองพระนครศรียโศธรปุระ (เมืองพระนครหลวง หรือนครธม) ในรัชสมัยพระเจ้าธรรมโศรกราช พร้อมกับแม่ทัพนายกองซึ่งเป็นกลุ่มราชมนตรี อาทิ ขุนไตรคำแหง ขุนคำแหงนารายณ์ ขุนคำแหงพระพรหม ขุนคำแหงพระพุธ ขุนมโนรมย์ ขุนปทยม ขุนไทยอาจ นายมโนไมย นายเพาพระบันทม เจ้านครไชย เจ้าสามชื่น เจ้าเพชดา และเจ้าหาว[1]

การรี้พลสงครามครั้งนี้ เริ่มมีรี้พลจากกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไปตามลำแม่น้ำป่าสัก ข้ามช่องเขาลำพญากลางไปยังด่านขุนทด เมืองโคราชทะปุระ (โคราช) มุ่งตรงไปยังเมืองพิมายเป็นจุดแรก เมื่อตีได้พิมายแล้วจึงเคลื่อนทัพลงใต้ไปตีเมืองพนมรุ้ง แล้วเคลื่อนทัพผ่านเทือกเขาพนมดงรักไปยังดินแดนที่ราบลุ่มกัมพุชอันเป็นที่ตั้งเมืองพระนครศรียโศธรปุระ (เมืองพระนครหลวง) แล้วจึงล้อมเมืองพระนครหลวงไว้ 7 เดือนจึงตีได้เมือง กวาดต้อนเอาชาวเมืองพระนครหลวงได้ 40,000 ครัวอพยพไปยังกรุงศรีอยุธยา[2]

การศึกครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงมีชัยชนะเหนือทุกเมือง และฝีมือการรบของขุนศรีไชยราชมงคลเทพ แม่ทัพใหญ่ยังเป็นที่โปรดปรานของพระองค์อย่างมาก หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จกลับจากการสงครามแล้ว โปรดให้สร้างจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เมื่อวัน ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุนตรีศกจุลศักราช ๗๙๓ (พ.ศ. 1974)[3]: 256  ประดิษฐาน ณ บรรณศาลาไว้เป็นเกียรติยศแล้วพระราชทานตั้งตำแหน่งขุนศรีไชยราชมงคลเทพเป็นเอกมนตรีพิเสส (คือตำแหน่งพฤธามาตย์ เสมอออกญาอุปราช) มีฐานะสูงเสมอเจ้าเมืองระดับอนุวงศ์[1]

ศิลาจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ (นม. ๗๘) ด้านที่ 2 จารด้วยอักษรขอม ภาษาเขมรโบราณเมื่อ พ.ศ. 1974 ว่า:-

สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราชเป็นเจ้าให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอาจตุรงค์ช้างม้ารี้พลไปโจมจับพระนครพิมายพนมรุ้งเป็นราชเสมาแลราบทาบดังพระมโนสากัลป์แลจึงจะละพระราชเสาวนีย์หาขุนศรีไชยราชมงคลเทพแดฝูงมวยลูกขุนทั้งหลาย เอาช้างม้ารี้พลถอยคืนมา มาลุเถิงเมสบรธานจรดบรรณศาลาประดิษฐาสีลาประสัสนี้ไว้จุ่งเป็นเกียรติยศสบบดลพระราชอาญาว่าขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอกมนตรีพิเสส[3]: 69 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวว่า:-

อยู่ปีหนึ่งท่านก็ให้ตกแต่งช้างม้ารี้พลทั้งปวงจะยกไปเมืองพิมายพนมรุ้งไสร้ พอเจ้าเมืองทั้งหลาย (มา) ถวายบังคมพระบาทผู้เป็นเจ้าๆ ก็ให้พระราชทานรางวัลแล้วคืนไปอยู่ตามภูมิลำเนา[4]

ประวัติของขุนศรีไชยราชมงคลยังปรากฏว่าเป็นพระยาเทพมงคล เคยเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่เคยยกทัพไปปราบพระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ) หรือ พระแก้วฟ้า ได้ล้มป่วยจึงกลับไปอยู่บ้านฉทิง (จังหวัดฉะเชิงเทราในปัจจุบัน) เมื่อถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้ทำโกศสร้างด้วยทอง ให้บุตรชายของขุนศรีไชยราชมงคลเทพรับมรดก และโปรดตั้งขุนประชานน ผู้เป็นน้องชายของขุนศรีไชยราชมงคลเป็นพฤธามาตย์ เสมอออกญาอุปราชสืบต่อจากขุนศรีไชยราชมงคลเทพผู้พี่ต่อไป

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวว่า:-

อยู่มา พระยาเทพมงคล อันเป็นพฤธามาตย์ป่วย ออกไปอยู่บ้านฉทิงก็ถึงกรรม จึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าก็ให้เอาทองในพระคลังดุนหนึ่งทำโกศ ส่งสการศพนั้น แล้วท่านให้หาขุนศรีบาทผู้เป็นบุตรมาแต่เมืองพระนครหลวงเอามรดก ส่วนขุนประชานนผู้น้องไซร้ ท่านให้รับราชการเป็นพฤธามาตย์แทน[5]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร. "จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพกับรัชกาลสมเด็จพระอินทรา บรมราชาธิราชที่ ๒ แห่งสมัย “ศรีอโยธยา”ตอนต้น", วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 7(1)(มกราคม - มิถุนายน 2562):5–7.
  2. ศานติ ภักดีคำ. (2554). เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 339 หน้า. หน้า 116. ISBN 978-974-0-20810-5
  3. 3.0 3.1 ศานติ ภักดีคำ. (2557). ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทยเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 978-974-0-21342-0
  4. จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. (2531). ข้อมูลประวัติศาสตร์ในรอบทศวรรษ (พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๐). กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. หน้า 72, 84. ISBN 978-974-4-63033-9
  5. วินัย พงศ์ศรีเพียร และประเสริฐ ณ นคร. (2552). อาจารยบูชา. โครงการวิจัย "๑๐๐ เอกสารสําคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย" ในความสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว). กรุงเทพฯ: สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. หน้า 102. ISBN 978-974-6-42582-7
    • วินัย พงศ์ศรีเพียร และภัทรา ศักดิ์ศรีพาณิชย์. (2555). 100 เอกสารสําคัญ: สรรพสาระประวิตศาสต์รไทย เล่ม 10. กรุงเทพฯ: สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. หน้า 135.