พระเจ้าพรหมมหาราช
![]() | บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
พระเจ้าพรหมมหาราช พระองค์พรหมราช หรือ พรหมกุมาร เป็นราชบุตรของ พระองค์พังคราช กษัตริย์เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น ราว พ.ศ. 1480 ถึง พ.ศ. 1541 ซึ่งเป็นเมืองในลุ่มน้ำแม่กก แต่มีหลักฐานท้องถิ่นระบุว่าพระองค์ประสูติใน พ.ศ. 1655 ที่เวียงสี่ทวง และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1732 พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการรบ สามารถตีเอาเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น คืนได้จากพระยาขอม (ขอมดำ จากเมืองอุโมงคเสลานคร) ซึ่งยกทัพมาชิงเมืองโยนกในสมัยพระองค์พังคราช
พระราชประวัติ[แก้]
พระเจ้าพรหมมหาราช (พระองค์พรหมกุมาร) เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของพระองค์พังคราช กษัตริย์เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น องค์ที่ 42
ตามตำนานสิงหนติกุมาร (ไม่ใช่สิงหนวัติ หรือ สิงหนวติ เพราะไม่ปรากฏในเอกสารใบลานชั้นต้น ซึ่งปรากฏเพียง สิงหนติ) กล่าวว่า ภายหลังจากพระองค์พังคราชเสียเมืองให้พระยาขอมและถูกขับไปเป็นแก่บ้านเวียงสี่ทวง ต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ 4 ทวงหมากพินน้อย(คือมะตูมลูกเล็ก นำมาผ่าซีก 4 ส่วน นำทองคำหลอมลงไปเพียง 1 ซีก) และมีโอรสองค์แรกชื่อ ทุกขิตะกุมาร ต่อมาได้มีสามเณรชาวเวียงสี่ทวง เดินเข้ามาบิณฑบาตรในคุ้มหลวงของพระยาขอม เมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น พระยาขอมเห็นจึงถามว่ามาจากไหน เมื่อได้ทราบว่าเป็นชาวสี่ทวงจึงโกรธและสั่งให้ไล่สามเณรออกไป สามเณรได้ยินจึงรู้สึกโกรธ เลยเดินออกจากเมืองขึ้นไปยังพระธาตุดอยกู่แก้ว แล้วเจาะบาตรใส่หัวถวายข้าวให้พระธาตุ แล้วอธิษฐานขอให้ตัวเองได้เกิดเป็นลูกของพระองค์พังคราชและได้ปราบพวกขอมให้พ่ายแพ้ไป แล้วจึงลงไปที่ตีนดอยกู่แก้วนั่งใต้ต้นไม้อดอาหาร 7 วันจนมรณภาพ แล้วไปเกิดเป็นลูกคนที่ 2 ของพระองค์พังราช ชื่อ พรหมกุมาร
เมื่อพรหมกุมารอายุได้ 13 ปี เทวดาได้มาเข้าฝันว่าพรุ่งนี้ให้ไปที่แม่น้ำโขง จะมีช้างเผือก 3 ตัวล่องตามน้ำมา จับได้ตัวแรกจะปราบได้ทวีปทั้ง 4 จับได้ตัวที่สองจะปราบได้ชมพูทวีป จับได้ตัวที่สามจะปราบพวกขอมดำได้ พรหมกุมารพร้อมกับบริวาร 50 คนจึงไปแม่น้ำโขง เห็นมีงูสองตัวล่องมาตามน้ำแล้วผ่านไป เมื่อเห็นงูตัวที่สาม พรหมกุมารจึงสั่งให้จับงูตัวนั้น งูก็พลันกลับร่างเป็นช้าง แต่ไม่ยอมขึ้นมาบนฝั่ง พระองค์พังคราชจึงเอาทองคำพันหนึ่งตีเป็นพาน (พาน อ่านว่าปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง คล้ายฆ้องแต่ไม่มีโหม่ง ใช้ตี) แล้วให้ทุกขิตะกุมารนำมาส่งให้พรหมกุมารตี เมื่อช้างได้ยินเสียงพานคำจึงเดินตามเสียงพานคำ ช้างตัวนั้นจึงชื่อ ช้างพานคำ และทำการขุดคูเมือง ปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสี่ทวงเป็น เวียงพานคำ (สันนิษฐานว่าเวียงสี่ทวงและเวียงพานคำควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่าเวียงแก้ว บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และเวียงสี่ทวงกับเวียงพานคำไม่ควรอยู่บริเวณเมืองโบราณที่ อ.แม่สาย เพราะตำนานหลายฉบับกล่าวว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองหิรัญนครเงินยาง) และทำการซ่องสุมผู้คน แข็งเมืองต่อพระยาขอม
เมื่อพระยาขอมทราบจึงโกรธและยกทัพมาสู้กันที่ทุ่งสันทราย พรหมกุมารขี่ช้างพานคำต่อสู้และได้รับชัยชนะ ไล่ตามตีกองทัพพระยาขอมแตกและสามารถชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ ถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช เมื่อเสร็จศึกแล้ว พรหมกุมารได้เดินทางกลับเวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้างพานคำ ช้างพานคำได้หนีออกจากเมืองและกลับร่างเป็นงูเช่นเดิม เลื้อยหายเขาไปในดอยแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกชื่อดอยนั้นว่า ดอยช้างงู ต่อมาชาวอาข่าเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)
พระองค์พังคราชจะตั้งให้พรหมกุมารเป็นอุปราช แต่พรหมกุมารไม่รับ กลับยกให้ผู้พี่ทุกขิตะกุมารเป็นแทน พระองค์พังคราชได้จัดการสู่ขอนางแก้วสุภา ลูกพญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล ให้กับพระองค์พรหมราช พระองค์พรหมราชได้กลัวว่าจะมีข้าศึกมาอีก จึงไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (สันนิษฐานว่าควรอยู่บริเวณ บ้านร่องห้า (ร่องห้าทุ่งยั้ง) ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย)
ต่อมา พระพุทธโฆษาจารย์ หลังจากเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฏ (หน้าผาก) 16 องค์ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพญาเรือนแก้ว ได้สร้างโกศเงิน โกศทอง โกศแก้ว บรรจุพระธาตุ ได้แบ่งให้พญาเรือนแก้วนำไปบรรจุในพระธาตุจอมทอง(คือวัดพระธาตุดอยจอมทอง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย) ส่วนพระธาตุที่เหลือ พระองค์พังคราช พระองค์พรหมราช และพระพุทธโฆษาจารย์ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บนดอยน้อย (คือวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)
พระองค์พรหมราช ครองราชย์ในเวียงไชยปราการได้ 77 ปี ก็สิ้นพระชนม์ไป พระองค์ไชยสิริ พระโอรสได้ครองเวียงไชยปราการต่อมา แต่ถูกเมืองสุธรรมวดีเข้ามาคุกคามอีก พระองค์ไชยสิริจึงพาชาวเมืองอพยพลงไปทางใต้ และตั้งเมืองที่เมืองกำแพงเพชร[1][2][3]
ข้อสันนิษฐาน[แก้]
อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า พระเจ้าพรหมมหาราชไม่น่าจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการแต่งขึ้นเพื่อสร้างวีรบุรุษของแคว้นโยนก โดยได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง วีรบุรุษในตำนานที่มีการเผยแพร่อยู่อย่างหลากหลายก่อนหน้านั้นแล้ว ต่อมาเมื่อมีการรับพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ลัทธินับถือผีดั้งเดิม จึงได้หยิบเอาพระพรหม หนึ่งในตรีมูรติของศาสนาฮินดูมาเป็นวีรบุรุษของตนเอง และยกย่องให้เป็นมหาราชเหนือกษัตริย์อื่น ๆ ใด ๆ ก่อนหน้านี้รวมถึงท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ด้วย[4]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ . ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
- ↑ . ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
- ↑ อภิชิต ศิริชัย. วิเคราะห์ตำนานจากเอกสารพื้นถิ่น ว่าด้วย โยนกนคร เวียงสี่ตวง เวียงพานคำ เมืองเงินยาง และ ประวัติวัดพระธาตุจอมกิตติ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย:ล้อล้านนา, 2560.
- ↑ พระเจ้าพรหม “มหาราช” ในประวัติศาสตร์ไทย “ไม่มีจริง”พระเจ้าพรหม “มหาราช” ในประวัติศาสตร์ไทย “ไม่มีจริง”
ก่อนหน้า | พระเจ้าพรหมมหาราช | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าพังคราช ราชวงศ์สิงหนวัติ |
![]() |
กษัตริย์แคว้นโยนกเชียงแสน (พ.ศ. 1480 - พ.ศ. 1541) |
![]() |
พระเจ้าชัยศิริ ราชวงศ์สิงหนวัติ |