กระบวนพยุหยาตราชลมารค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เรือพระราชพิธี)
ภาพกระบวนเรือ ในช่วงพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

กระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค[1] เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ จะเคลื่อนขบวนตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ "กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง" ดังปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา

ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่าง ๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะ การเห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค

ประวัติ[แก้]

สมัยเริ่มแรกของกระบวนเรือ[แก้]

กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการแห่พระกฐินในอดีต หน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

การเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้นมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง (วันลอยกระทง)

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่ ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น 4 สาย แล้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100 ลำ

ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[แก้]

ด้วยเหตุที่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ มากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้น จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูตและแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยา มายังเมืองลพบุรี

ในช่วงปี พ.ศ. 2199-2231 ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราฯที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ตำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อ ๆ มา

การจัดการกระบวนพยุหยาตรลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กล่าวมานี้ จัดได้ว่าเป็นริ้วกระบวนใหญ่แสดงความมั่งคั่งของราชสำนักไทยในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับริ้วกระบวนเรือในสมัยต่อมา จะพบว่าค่อย ๆ ตัดทอนลงไปเรื่อย ๆ เพราะเรือชำรุดไปตามกาลเวลาบ้าง ไม่มีผู้รู้จักทำขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแผนโบราณบ้างจึงเหลืออยู่เท่าที่พอจะรักษาไว้ได้เท่านั้น จนกระทั่งถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

บันทึกของนิโคลาส แชแวร์[แก้]

ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ถึงกระบวนเรือไว้ว่า

"ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน"

บันทึกของกวีย์ ตาชาร์ด[แก้]

ในปี พ.ศ. 2228 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทย พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิดซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่งคือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า

"มีเรือบังลังก์ขนาดใหญ่ 4 ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง 80 คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน 2 ลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ 2 นายมาในเรือทั้ง 2 ลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออก ไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำได้เลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง และเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น"

บาทหลวง ตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองลพบุรีไว้อีกว่า

"ขบวนอันยึดยาวของเรือบังลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง 150 ลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งนัก เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชาพลเมืองมาคอยชมขบวนเรือยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"

สมัยกรุงธนบุรี[แก้]

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงคราม โดยมีการแห่เรือสำคัญ คือ ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเมื่อ พ.ศ. 2324[2] ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนากระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน 246 ลำ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์[แก้]

ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญ ๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาอีก

จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรืออีกจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยเรือที่สำคัญ ๆ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ 6, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6

ในรัชกาลที่ 7[แก้]

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 2 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2469 เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2469
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

ในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระที่นั่งที่ปากคลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นจึงมีการซ่อมแซมเรือและโอนเรือพระราชพิธี 36 ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว 32 ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง ซึ่งกองทัพเรือเก็บรักษาไว้

ในรัชกาลที่ 9[แก้]

ภาพขบวนเรือพระราชพิธี ในงานประชุมเอเปค 2003

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 17 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
  2. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502
  3. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
  4. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505
  5. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2507
  6. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2508
  7. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510
  8. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริย์เจ้า ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2525
  9. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (น้อย) แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2525
  10. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
  11. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2530
  12. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
  13. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
  14. ขบวนเรือพระราชพิธี ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
  15. ขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยกระบวนเรือ)
  16. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
  17. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลแรง)

สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และพิธีสำคัญต่าง ๆ สำหรับงานเอเปค 2003 และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นั้น เป็นเพียงการสาธิตแห่กระบวนเรือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในกระบวน

ในรัชกาลปัจจุบัน[แก้]

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค 1 ครั้ง ดังนี้

  1. กระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี พระราชวังดุสิต ไปยังท่าราชวรดิฐ พระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา‬)


เส้นทางเดินเรือ[แก้]

จุดเริ่มต้นของกระบวนเรือนั้นคือบริเวณท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ วัดอรุณราชวราราม และไปจอดเรือที่หน้าวัดกัลยาณมิตร

เรือพระราชพิธี[แก้]

ภาพแสดงแผนผังกระบวนพยุหยาตราชลมารค