สถานีย่อย:ทวีปยุโรป/บทความแนะนำประจำเดือน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Flag of Finland
Flag of Finland

ประเทศฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: suomi ซูโอมี; สวีเดน: Finland) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Suomen tasavalta; สวีเดน: Republiken Finland) เป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป เขตแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้จรดทะเลบอลติก ทางด้านใต้จรดอ่าวฟินแลนด์ ทางตะวันตกจรดอ่าวบอทเนีย ประเทศฟินแลนด์มีชายแดนติดกับประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และรัสเซีย สำหรับหมู่เกาะโอลันด์ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้นั้น อยู่ภายใต้การปกครองของฟินแลนด์ แต่เป็นเขตปกครองตนเอง เคยถูกรัสเซียยึดครองและเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ฟินแลนด์มีประชากรเพียง 5 ล้านคน ในพื้นที่ 338,145 ตารางกิโลเมตร นับว่ามีประชากรที่เบาบาง แต่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ตามสถิติของสหประชาชาติ พ.ศ. 2549 อยู่ในลำดับที่ 11 ฟินแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดนหลายศตวรรษ หลังจากนั้นก็อยู่ภายใต้จักรวรรดิรัสเซียจนถึงปี พ.ศ. 2460 ปัจจุบันฟินแลนด์เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย ภาษาฟินแลนด์เป็นหนึ่งในภาษาทางการไม่กี่ภาษาของสหภาพยุโรป ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดเป็นกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน ร่วมกับภาษาเอสโตเนีย ภาษาฮังการี และภาษามอลตา




ประเทศเบลเยียม
ประเทศเบลเยียม

ประเทศเบลเยียม (อังกฤษ: Belgium) หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรเบลเยียม (อังกฤษ: Kingdom of Belgium) เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และทะเลเหนือ เบลเยียมเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของสหภาพยุโรป และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ เช่นเดียวกับของอีกหลายองค์กรระหว่างประเทศรวมถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ทั้งนี้ ลักษณะของประเทศ ยังคล้ายกับ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

เบลเยียมมีความหลากหลายทางภาษาค่อนข้างสูง ส่งผลต่อระบบการปกครองที่ค่อนข้างซับซ้อน เบลเยียมแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคใหญ่ ๆ ได้แก่ฟลานเดอส์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ และวัลโลเนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศส บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เป็นเขตทวิภาษา ตั้งอยู่ในฟลานเดอส์ นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่พูดภาษาเยอรมันในทางตะวันออกของวัลโลเนียด้วย




Flag of Europe
Flag of Europe

สหภาพยุโรป (อังกฤษ: European Union: EU) เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป มีพื้นที่ 4,324,782 ตารางกิโลเมตร มีประชากรที่ประเมินกว่า 510 ล้านคน สหภาพยุโรปพัฒนาตลาดเดี่ยวภายในผ่านระบบกฎหมายทำให้เป็นมาตรฐานซึ่งใช้บังคับในรัฐสมาชิกทุกประเทศ นโยบายสหภาพยุโรปมุ่งประกันการเคลื่อนย้ายบุคคล สินค้า บริการและทุนอย่างเสรีในตลาดเดี่ยว ตรากฎหมายด้านยุติธรรมและกิจการในประเทศและธำรงนโยบายร่วมกันด้านการค้า เกษตรกรรม การควบคุมหนังสือเดินทางถูกเลิกภายในพื้นที่เชงเกน มีการตั้งสหภาพการเงินในปี 2542 และมีผลบังคับเต็มที่ในปี 2545 ประกอบด้วยรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 19 ประเทศซึ่งใช้สกุลเงินยูโร

สหภาพยุโรปดำเนินการผ่านระบบผสมระหว่างสหภาพเหนือชาติและความร่วมมือระหว่างรัฐบาล องค์กรตัดสินใจหลักเจ็ดองค์กร เรียก สถาบันของสหภาพยุโรป ได้แก่ คณะมนตรียุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป รัฐสภายุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรปและศาลผู้สอบบัญชียุโรป




Union Flag
Union Flag

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (อังกฤษ: United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland) หรือโดยทั่วไปรู้จักกันว่า สหราชอาณาจักร (อังกฤษ: United Kingdom: UK) และ บริเตน (Britain) เป็นรัฐเอกราชตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปภาคพื้นทวีป ประเทศนี้ประกอบด้วยเกาะบริเตนใหญ่ ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไอร์แลนด์ และเกาะที่เล็กกว่าจำนวนมาก ไอร์แลนด์เหนือเป็นเพียงส่วนเดียวของสหราชอาณาจักรที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกับรัฐอื่น คือ ประเทศไอร์แลนด์ นอกเหนือจากนี้แล้ว สหราชอาณาจักรล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกและเหนือ ทะเลเหนือทางทิศตะวันออก ช่องแคบอังกฤษทางทิศใต้ และทะเลไอร์แลนด์ทางทิศตะวันตก

รูปแบบการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีระบบรัฐสภา เมืองหลวง คือ กรุงลอนดอน ประกอบด้วยสี่ประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศนั้น ๆ คือ เอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟัสต์ตามลำดับ ส่วนเกิร์นซีย์ เจอร์ซีย์ และเกาะแมนเป็นบริติชคราวน์ดีเพนเดนซี และมิใช่ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักรมีดินแดนโพ้นทะเล 14 แห่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งขณะที่รุ่งเรืองที่สุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ครอบคลุมพื้นดินของโลกเกือบหนึ่งในสี่ และเป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อิทธิพลของอังกฤษยังสามารถพบเห็นได้จากความแพร่หลายของภาษา วัฒนธรรมและระบบกฎหมายในอดีตอาณานิคมหลายแห่ง




Union Flag
Union Flag

ประเทศรัสเซีย (อังกฤษ: Russia; รัสเซีย: Росси́я) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (อังกฤษ: Russian Federation; รัสเซีย: Росси́йская Федера́ция) เป็นประเทศในยูเรเชียเหนือ และเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในโลก กว่า 10,000,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัยของโลกถึงหนึ่งในแปด รัสเซียยังเป็นชาติมีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีประชากร 143 ล้านคน รัสเซียปกครองด้วยระบอบสหพันธ์สาธารณรัฐกึ่งประธานาธิบดี ประกอบด้วย 83 เขตการปกครอง ไล่จากตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้

รัสเซียมีพรมแดนติดกับนอร์เวย์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ (ทั้งสองผ่านมณฑลคาลินินกราด) เบลารุส ยูเครน จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน จีน มองโกเลียและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ยังมีพรมแดนทางทะเลติดกับญี่ปุ่นโดยทะเลโอฮอตสก์ และสหรัฐอเมริกาโดยช่องแคบแบริง อาณาเขตของรัสเซียกินเอเชียเหนือทั้งหมดและ 40% ของยุโรป แผ่ข้ามเก้าเขตเวลาและมีสิ่งแวดล้อมและธรณีสัณฐานหลากหลาย รัสเซียมีปริมาณทรัพยากรแร่ธาตุและพลังงานสำรองใหญ่ที่สุดของโลก รัสเซียมีป่าไม้สำรองใหญ่ที่สุดในโลกและทะเลสาบในรัสเซียบรรจุน้ำจืดประมาณหนึ่งในสี่ของโลก




Flag of France
Flag of France

ประเทศฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: France [fʀɑ̃s] ฟร็องส์) หรือ สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: République française) เป็นประเทศที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก ทั้งยังประกอบไปด้วยเกาะและดินแดนอื่น ๆ ในต่างทวีป ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ทอดตัวตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงช่องแคบอังกฤษและทะเลเหนือ และจากแม่น้ำไรน์จนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก ชาวฝรั่งเศสมักเรียกแผ่นดินใหญ่ว่า หกเหลี่ยม (L'Hexagone) เนื่องจากรูปทรงทางกายภาพของประเทศ ประเทศฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบกึ่งประธานาธิบดี โดยยึดอุดมการณ์จากปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง

ประเทศฝรั่งเศสมีพรมแดนติดกับประเทศเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี โมนาโก อันดอร์ราและสเปน และเนื่องจากประเทศฝรั่งเศสมีดินแดนโพ้นทะเลไว้ในครอบครอง ทำให้มีอาณาเขตติดกับประเทศบราซิล ซูรินาม (ติดกับเฟรนช์เกียนา) และซินต์มาร์เตินของเนเธอร์แลนด์ (ติดกับแซ็ง-มาร์แต็ง) อีกด้วย นอกจากนั้นประเทศฝรั่งเศสยังเชื่อมกับสหราชอาณาจักรทางอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษอีกด้วย




Flag of Germany
Flag of Germany

ประเทศเยอรมนี (อังกฤษ: Germany; เยอรมัน: Deutschland [ˈdɔʏtʃlant] ดอยฺช ลันฺท) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (อังกฤษ: Federal Republic of Germany; เยอรมัน: Bundesrepublik Deutschland) เป็นประเทศที่มีการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐแบบมีรัฐธรรมนูญในทวีปยุโรปตอนกลาง โดยเป็นการรวมตัวของรัฐทั้งหมด 16 รัฐ ประเทศนี้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเชิงเสรีภาพและรัฐสวัสดิการ

พรมแดนทางทิศเหนือติดทะเลเหนือ เดนมาร์ก และทะเลบอลติก ทิศตะวันออกติดโปแลนด์และเช็กเกีย ทิศใต้ติดออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ทิศตะวันตกติดฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ มีเมืองหลวงและเมืองใหญ่ของประเทศคือเบอร์ลิน เยอรมนีมีประชากรประมาณ 80 ล้านคนและเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นประชากรสูงสุดแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีคนย้ายถิ่นมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเยอรมนีเป็นปลายทางการย้ายถิ่นที่สองได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก




Flag of the Czechia
Flag of the Czechia

ประเทศเช็กเกีย (อังกฤษ: Czechia; เช็ก: Česko) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเช็ก (อังกฤษ: Czech Republic; เช็ก: Česká republika) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง พรมแดนทางตอนเหนือจรดประเทศโปแลนด์ ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือจรดเยอรมนี ทางใต้จรดออสเตรีย และทางตะวันออกจรดสโลวาเกีย

นับตั้งแต่การยุบเลิกประเทศเชโกสโลวาเกียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2535 กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐเช็กได้สนับสนุนให้ใช้ชื่อประเทศแบบสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า "เช็กเกีย" (Czechia) แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนกระทั่งในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ชื่อ "เช็กเกีย" เป็นชื่อเรียกประเทศแบบสั้นอย่างเป็นทางการ




Flag of the Ukraine
Flag of the Ukraine

ประเทศยูเครน (อังกฤษ: Ukraine; ยูเครน: Україна, Ukrayina [ukraˈjina]) เป็นประเทศในยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตทางตะวันออกติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทางเหนือติดต่อกับเบลารุส ทางตะวันตกติดต่อกับโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ทางตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับโรมาเนียและมอลโดวา ทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้จรดทะเลดำและทะเลอะซอฟตามลำดับ ยูเครนมีพื้นที่ 603,628 กม.2ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด

พื้นที่ประเทศยูเครนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมสลาฟตะวันออกในยุคกลาง ซึ่งส่งผลให้เกิดรัฐที่มีอำนาจในแถบนั้นในชื่อ เคียฟรุส (Kievan Rus') อีกหลายศตวรรษหลังจากนั้นจึงถูกแบ่งไประหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะรัสเซีย โปแลนด์ และจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีเอกราชระยะสั้น ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2464 อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย จากนั้นได้กลายเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2465 ชายแดนในปัจจุบันเพิ่งได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2497 ยูเครนเป็นเอกราชอีกครั้งหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534




ธงนาซีเยอรมนี
ธงนาซีเยอรมนี

นาซีเยอรมนี หรือ จักรวรรดิไรช์ที่สาม เป็นชื่อสามัญเรียกประเทศเยอรมนี สมัยที่ถูกปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคชาติสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน นาซีเยอรมนีตั้งอยู่ในทวีปยุโรป มีกรุงเบอร์ลินเป็นเมืองหลวง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า จักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsches Reich) และ มหาจักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Großdeutsches Reich) นับตั้งแต่ ค.ศ. 1943 เป็นต้นมา วันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และกำจัดคู่แข่งและขึ้นปกครองเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว รัฐยกย่องฮิตเลอร์ว่าเป็นฟือแรร์ ("ผู้นำ") ผู้รวมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ ภายใต้ "หลักผู้นำ" คำสั่งของฟือแรร์อยู่เหนือกฎหมายใด ๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายงานต่อฮิตเลอร์และปฏิบัติตามนโยบายของเขา แต่ยังมีอิสระอยู่พอสมควร รัฐบาลมิได้เป็นหน่วยงานที่ประสานร่วมมือกัน หากเสมือนเป็นฝ่ายต่าง ๆ ที่แก่งแย่งกันสั่งสมอำนาจและประจบประแจงฟือแรร์มากกว่า

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และอีกหลายปัจจัย ส่งผลให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ใน ค.ศ. 1933 รัฐบาลนาซีฟื้นฟูความรุ่งเรืองและยุติการว่างงานขนานใหญ่โดยทุ่มรายจ่ายทางทหารอย่างหนักและใช้เศรษฐกิจแบบผสมระหว่างตลาดเสรีกับการวางแผนจากส่วนกลาง มีการดำเนินการการโยธาสาธารณะอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการก่อสร้างออโตบาห์น การที่ประเทศกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมมหาศาล จนถือได้ว่า เยอรมนีเป็นชาติมหาอำนาจหนึ่งของโลก นาซียังได้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างหนัก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 เป็นต้นมา ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศของนาซีเยอรมนีอยู่บนพื้นฐานแนวคิด เลเบนสเราม์ (เยอรมัน: Lebensraum) อันเป็นนโยบายก้าวร้าวซึ่งถือได้ว่านำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง




Flag of the Soviet Union
Flag of the Soviet Union

สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (รัสเซีย: Сою́з Сове́тских Социалисти́ческих Респу́блик - CCCP; อังกฤษ: Union of Soviet Socialist Republics - USSR) หรือย่อเป็น สหภาพโซเวียต (อังกฤษ: Soviet Union) เป็นประเทศอภิมหาอำนาจในอดีตบนทวีปยูเรเชีย ปกครองโดยลัทธิมากซ์–เลนนิน มีอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1922 ถึง 1991 ปกครองแบบรัฐพรรคการเมืองเดียวโดยพรรคคอมมิวนิสต์ มีกรุงมอสโกเป็นเมืองหลวง เป็นสหภาพของหลายสาธารณรัฐโซเวียตต่ำกว่าประเทศ (subnational) การปกครองและเศรษฐกิจรวมศูนย์อย่างมาก

สหภาพโซเวียตมีรากเหง้าในการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 ซึ่งโค่นจักรวรรดิรัสเซีย จากนั้น พรรคบอลเชวิก กลุ่มแยกฝ่ายข้างมากของพรรคแรงงานสังคมนิยมประชาธิปไตยรัสเซีย นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน นำการปฏิวัติที่สองซึ่งโค่นรัฐบาลชั่วคราวและสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (เปลี่ยนชื่อเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียใน ค.ศ. 1936) เปิดฉากสงครามกลางเมืองระหว่างรัสเซียแดงนิยมการปฏิวัติและรัสเซียขาวซึ่งค้านการปฏิวัติ กองทัพแดงเข้าทลายดินแดนของอดีตจักรวรรดิรัสเซีย และช่วยนักคอมมิวนิสต์ท้องถิ่นยึดอำนาจผ่านสภาโซเวียตซึ่งกระทำการแทนคนงานและชาวนาในนาม ใน ค.ศ. 1922 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัย ตั้งสหภาพโซเวียตโดยรวมสาธารณรัฐรัสเซีย ทรานส์คอเคซัส ยูเครนและไบโลรุสเซีย




Harry Potter wordmark
Harry Potter wordmark

แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นชุดนวนิยายแฟนตาซีจำนวนเจ็ดเล่ม ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอังกฤษ เจ. เค. โรว์ลิง เป็นเรื่องราวการผจญภัยของพ่อมดวัยรุ่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเพื่อนสองคน รอน วีสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ โครงเรื่องหลักเกี่ยวกับภารกิจของแฮร์รี่ในการเอาชนะพ่อมดศาสตร์มืดที่ชั่วร้าย ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ที่ต้องการจะมีชีวิตอมตะ มีเป้าหมายเพื่อพิชิตมักเกิ้ล หรือประชากรที่ไม่มีอำนาจวิเศษ พิชิตโลกพ่อมดและทำลายทุกคนที่ขัดขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์

หนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540 และนับแต่นั้น หนังสือก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทั้งได้รับการยกย่องอย่างสำคัญและประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ทั่วโลก อย่างไรก็ดี ชุดนวนิยายดังกล่าวก็มีข้อวิจารณ์บ้าง รวมถึงความกังวลถึงโทนเรื่องที่มืดมนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ชุดหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ทำยอดขายไปมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ซึ่งเป็นชุดหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดตลอดกาล และมีการแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ รวม 73 ภาษา หนังสือสี่เล่มสุดท้ายของชุดยังได้สร้างสถิติเป็นหนังสือที่จำหน่ายออกหมดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยหนังสือเล่มสุดท้ายของชุดมียอดขายกว่า 11 ล้านเล่มในสหรัฐและสหราชอาณาจักรภายในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกที่วางขาย




กษัตริย์อาเธอร์
กษัตริย์อาเธอร์

กษัตริย์อาเธอร์ เป็นกษัตริย์อังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในตำนานเล่าขานในฐานะวีรบุรุษในยุคกลาง ซึ่งได้ปกป้องเกาะบริเตนจากการรุกรานของชาวแซ็กซอนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 รายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าขาน ตำนานพื้นบ้าน และวรรณกรรมที่แต่งขึ้น นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ากษัตริย์อาเธอร์มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาเธอร์ค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น Annales Cambriae, Historia Brittonum และในบันทึกของนักบุญกิลดาส นอกจากนี้ชื่อของ อาเธอร์ ยังปรากฏอยู่ในบทกวีเก่าแก่หลายแห่ง เช่นในกวีนิพนธ์ Y Gododdin เป็นต้น ไม่สามารถระบุได้ว่า บทกวี Y Gododdin อยู่ในยุคสมัยใด บทกวีบรรยายถึงเหตุการณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่ใช้รูปแบบการสะกดแบบยุคคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 ส่วนต้นฉบับที่รอดมาถึงปัจจุบันมีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13

กษัตริย์อาเธอร์ในตำนานได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นบุคคลที่น่าสนใจในระดับนานาชาติก็ด้วยผลงานเขียนอันเปี่ยมด้วยจินตนาการและความเหนือจริงของเจฟฟรีย์แห่งมอนมอธ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เรื่อง Historia Regum Britanniae (ประวัติกษัตริย์แห่งบริเตน) แต่ก็มีนิทานและกวีนิพนธ์ของเวลส์และไบรตันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ และมีอายุเก่าแก่กว่างานชิ้นดังกล่าว ในงานเหล่านั้น อาเธอร์เป็นทั้งนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ปกป้องบริเตนไว้จากศัตรูทั้งที่เป็นมนุษย์และสิ่งเหนือมนุษย์ บางครั้งก็เป็นผู้วิเศษในตำนานพื้นบ้าน ทั้งมีเรื่องเล่าถึงโลกหลังความตายในตำนานเวลส์ (คือ Annwn) ด้วย แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าผลงานของเจฟฟรีย์ (ซึ่งเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1138) ได้ดัดแปลงมาจากตำนานเก่าแก่ดั้งเดิมเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด




ภาพร่างสตรีและเด็ก ซึ่งบรรยายความยากเข็ญของบริจิต โอดอนเนล จากลอนดอนนิวส์ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1849
ภาพร่างสตรีและเด็ก ซึ่งบรรยายความยากเข็ญของบริจิต โอดอนเนล จากลอนดอนนิวส์ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1849

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ เป็นสมัยที่เกิดทุพภิกขภัย โรคระบาด และการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1852 ที่ทำให้จำนวนประชากรลดลงไปถึงราวระหว่าง 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ชาวไอร์แลนด์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเสียชีวิตไปราวหนึ่งล้านคน และอีกกว่าล้านคนอพยพหนีความยากเข็ญออกนอกประเทศ สาเหตุของวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยมาจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคมันฝรั่งที่รู้จักกันว่ารามันฝรั่ง (Potato blight หรือ Phytophthora infestans) ทำลายผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ แม้ว่าเชื้อราเดียวกันนี้จะทำลายผลผลิตของมันฝรั่งไปทั่วยุโรปในระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 แต่ผลกระทบกระเทือนที่มีต่อชีวิตของประชากรในไอร์แลนด์—ซึ่งเป็นประเทศที่หนึ่งในสามของประชากรบริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก—รุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ในยุโรป แต่สาเหตุที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่รวมทั้งสภาวะทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นหัวข้อทางประวัติศาสตร์ที่แม้ในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่




พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย
พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย

พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย (เยอรมัน: Friedrich II) หรือพระเจ้าฟรีดริชมหาราช (24 มกราคม ค.ศ. 1712 - 17 สิงหาคม ค.ศ. 1786) เป็นพระมหากษัตริย์ปรัสเซียในราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1740 ถึงปี ค.ศ. 1786 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามและพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรปรัสเซีย นอกจากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้คัดเลือกแห่งบรันเดนบูร์กในพระนามว่า “ฟรีดริชที่ 4” ต่อมาพระองค์ทรงได้รับพระนามว่า “พระเจ้าฟรีดริชมหาราช” และมีพระนามเล่นว่า “เจ้าฟริทซ์แก่” (der alte Fritz)

พระเจ้าฟรีดริชทรงมีความสนพระทัยทางศิลปะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงพยายามหนีจาการควบคุมจากพระบิดาครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 พระราชบิดาทรงเข้มงวดจนได้รับสมญานามว่า “กษัตริย์ทหาร” เมื่อยังทรงพระเยาว์ฟรีดริชทรงถูกบังคับให้ดูการประหารชีวิตอย่างทารุณของพระสหายที่ทรงรู้จักกันมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปีแรกทรงโจมตีราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีและยึดครองบริเวณไซลีเซีย ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ปัจจุบันซึ่งเป็นดินแดนยึดครองที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานในการขยายดินแดนของปรัสเซียและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ราชอาณาจักรปรัสเซีย ในบั้นปลายของชีวิตพระเจ้าฟรีดริชทรงรวมอาณาจักรต่าง ๆ ที่เคยเป็นราชรัฐเล็กของปรัสเซียเข้าด้วยกันรวมทั้งดินแดนที่ทรงได้มาจากการแบ่งแยกโปแลนด์