แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์  
ภาพปกหนังสือฉบับภาษาไทย
ผู้ประพันธ์เจ. เค. โรว์ลิง
ชื่อเรื่องต้นฉบับ'Harry Potter and the Philosopher's Stone'
ผู้แปลสุมาลี บำรุงสุข
ผู้วาดภาพประกอบแมรี กรองด์เปร (US)
ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
วันที่พิมพ์26 มิถุนายน พ.ศ. 2540
หน้า223 (UK)
309 (US)
372 (ไทย)
เรื่องถัดไปแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ 

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (อังกฤษ: Harry Potter and the Philosopher's Stone) เป็นนวนิยายเล่มแรกในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ และนวนิยายประเดิมของเจ. เค. โรว์ลิง โครงเรื่องติดตามแฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดหนุ่มผู้ค้นพบมรดกเวทมนตร์ของเขา พร้อมกับสร้างเพื่อนสนิทและศัตรูจำนวนหนึ่งในปีแรกที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ด้วยความช่วยเหลือของมิตร แฮร์รี่เผชิญกับความพยายามหวนคืนของพ่อมดมืด ลอร์ดโวลเดอมอร์ ซึ่งฆ่าบิดามารดาของแฮร์รี่ แต่ไม่สามารถฆ่าเขาได้เมื่ออายุหนึ่งขวบ

บลูมส์บิวรีในกรุงลอนดอนจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 ในปี 2541 บริษัทสกอลาสติกจัดพิมพ์ฉบับสำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาภายใต้ชื่อเรื่อง Harry Potter and the Sorcerer's Stone นวนิยายดังกล่าวชนะรางวัลหนังสืออังกฤษส่วนใหญ่ซึ่งตัดสินโดยเด็ก และรางวัลอื่นในสหรัฐอเมริกา หนังสือนี้แตะอันดับ 1 รายการบันเทิงคดีขายดีของนิวยอร์กไทมส์ ในเดือนสิงหาคม 2542 และอยู่ใกล้อันดับ 1 เป็นส่วนใหญ่ของปี 2542 และ 2543 มีการแปลเป็นภาษาอื่นอีกหลายภาษา และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

บทปริทัศน์ส่วนใหญ่ชื่นชอบมาก โดยออกความเห็นต่อจินตนาการ ความขบขัน ความเรียบง่าย ลีลาตรงไปตรงมาและการสร้างโครงเรื่องที่ฉลาดของโรว์ลิง แม้บ้างติว่า บทท้าย ๆ ดูรวบรัด มีการเปรียบเทียบงานนี้กับงานของเจน ออสเตน ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์คนโปรดคนหนึ่งของโรว์ลิง หรือโรอาลด์ ดาห์ล ซึ่งงานของเขาครอบงำเรื่องสำหรับเด็กก่อนมีแฮร์รี่ พอตเตอร์ และโฮเมอร์ นักเล่านิยายกรีกโบราณ แม้นักวิจารณ์บางส่วนคิดว่า หนังสือนี้ดูย้อนกลับไปเรื่องโรงเรียนกินนอนสมัยวิกตอเรียและเอ็ดเวิร์ด แต่นักวิจารณ์อื่น ๆ คิดว่า หนังสือนี้วางประเภทอยู่ในโลกสมัยใหม่อย่างแนบแน่นโดยมีลักษณะประเด็นจริยธรรมและสังคมร่วมสมัย

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ร่วมกับที่เหลือของชุดถูกกลุ่มศาสนาหลายกลุ่มโจมตีและห้ามในบางประเทศเพราะกล่าวหาว่านวนิยายนี้ส่งเสริมเวทมนตร์คาถา แต่นักวิจารณ์คริสตศาสนิกบางคนเขียนว่า หนังสือนี้ยกตัวอย่างมุมมองที่สำคัญของศาสนาคริสต์หลายอย่าง ซึ่งรวมอำนาจของการสละตนเองและวิธีซึ่งการตัดสินใจของบุคคลก่อเป็นบุคลิกภาพของเขา นักการศึกษาถือว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และหนังสือตามมาเป็นตัวช่วยพัฒนาการรู้หนังสือที่สำคัญเพราะความนิยม นอกจากนี้ ยังใช้หนังสือชุดนี้เป็นแหล่งตัวอย่างในเทคนิคการศึกษา การวิเคราะห์สังคมวิทยาและการตลาด

เรื่องย่อ[แก้]

โครงเรื่อง[แก้]

ก่อนนวนิยายเริ่ม ลอร์ดโวลเดอมอร์ซึ่งถือเป็นพ่อมดมืดที่ชั่วร้ายและทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ ฆ่าคู่สามีภรรยา เจมส์และลิลี่ พอตเตอร์ แต่หายไปอย่างลึกลับหลังพยายามฆ่าแฮร์รี่ บุตรทารกของพวกเขา ขณะที่โลกพ่อมดเฉลิมฉลองการหมดอำนาจของโวลเดอมอร์ ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ ศาสตราจารย์มักกอนนากัล และรูเบอัส แฮกริด ลูกครึ่งยักษ์ ส่งทารกวัยหนึ่งขวบไปอยู่ในการดูแลของป้าและลุงมักเกิ้ล (ผู้มิใช่พ่อมด) ซึ่งขี้หงุดหงิดและเย็นชาของเขา คือ เวอร์นอนและเพ็ตทูเนีย เดอร์สลีย์ กับดัดลีย์ บุตรที่ถูกตามใจและอันธพาลของพวกเขา

สิบปีต่อมา ขณะอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 4 ซอยพรีเว็ต แฮร์รี่ถูกครอบครัวเดอร์สลีย์ทรมาน คือ ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นทาสมากกว่าสมาชิกครอบครัว ไม่นานก่อนวันเกิดปีที่สิบเอ็ดของเขา มีจดหมายจำนวนมากจ่าถึงแฮร์รี่มาแต่เวอร์นอนทำลายพวกมันก่อนแฮร์รี่จะได้อ่าน แต่นำให้จดหมายไหลบ่ามามากขึ้น เพื่อหนีการไล่ล่าของจดหมาย ทีแรกเวอร์นอนพาครอบครัวไปโรงแรมแห่งหนึ่ง และเมื่อจดหมายยังมาถึงที่นั่น เขาขับรถพาทั้งหมดไปยังเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในเที่ยงคืนของวันเกิดครบรอบปีที่สิบเอ็ดของแฮร์รี่ แฮกริดพังประตูเข้ามาและมอบจดหมายให้แฮร์รี่และบอกสิ่งที่ครอบครัวเดอร์สลีย์ปิดบังไว้จากเขา คือ แฮร์รี่เป็นพ่อมดและฮอกวอตส์รับเขาเข้าเรียน แฮกริดพาแฮร์รี่ไปตรอกไดแอกอน บริเวณร้านค้าในกรุงลอนดอนที่ถูกปกปิดด้วยเวทมนตร์ ที่ซึ่งแฮร์รี่งุนงงเมื่อพบว่าเขามีชื่อเสียงท่ามกลางพ่อมดแม่มดในฉายา "เด็กชายผู้รอดชีวิต" เขายังพบว่าเขาค่อนข้างรวย เพราะทรัพย์จากบิดามารดาเขายังฝากไว้ที่ธนาคารมดกริงกอตส์ แฮร์รี่ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องใช้สำหรับปีแรกที่ฮอกวอตส์

สิ่งหนึ่งที่แฮร์รี่ต้องซื้อสำหรับปีที่จะถึงที่ฮอกวอตส์ คือ ไม้กายสิทธิ์ ที่ร้านไม้กายสิทธิ์ เขาพบว่าไม้กายสิทธิ์ที่เหมาะกับเขาที่สุดเป็นแฝดกับไม้กายสิทธิ์ของโวลเดอมอร์ คือ ไม้กายสิทธิ์ทั้งสองมีขนนกจากฟีนิกซ์ตัวเดียวกัน แฮร์รี่ยังไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยงใหม่ (และของขวัญวันเกิดจากแฮกริด) เป็นนกฮูกที่เขาตั้งชื่อว่า เฮ็ดวิก หนึ่งเดือนให้หลัง แฮร์รี่จากบ้านของครอบครัวเดอร์สลีย์เพื่อนั่งรถไฟด่วนสายฮอกวอตส์จากสถานีรถไฟคิงส์ครอส ที่นั่นเขาพบครอบครัววีสลีย์ซึ่งแสดงวิธีผ่านกำแพงเวทมนตร์ไปชานชาลาที่ 9¾ แก่เขา อันเป็นที่ที่รถไฟซึ่งจะพาพวกเขาไปฮอกวอตส์กำลังรออยู่ ขณะอยู่บนรถไฟ แฮร์รี่ผูกมิตรกับรอน วีสลีย์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเล่าให้เขาฟังว่ามีผู้พยายามปล้นห้องนิรภัยห้องหนึ่งที่กริงกอตส์ พวกเขาอภิปรายกันเรื่องปีการศึกษาที่จะถึงซึ่งแฮร์รี่ทั้งกังวลและตื่นเต้น ระหว่างการเดินทาง พวกเขาพบเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของพวกเขา แฮร์รี่ยังสร้างศัตรูบนเที่ยวนี้ด้วย เป็นปีหนึ่งเหมือนกับเขา คือ เดรโก มัลฟอย เดรโกกับเพื่อนเขลาของเขา วินเซนต์ แครบบ์และเกรกอรี กอยล์เสนอแนะนำแฮร์รี่ แต่แฮร์รี่ไม่ชอบเกรโกตรงความยโสและความเดียดฉันท์ของเขาและปฏิเสธข้อเสนอ "มิตรภาพ" ของเขา

ก่อนอาหารเย็นมื้อแรกของภาคเรียนในห้องโถงใหญ่ของโรงเรียน นักเรียนปีหนึ่งถูกหมวกคัดสรรคัดสรรไปบ้านต่าง ๆ ขณะที่แฮร์รี่กำลังถูกคัดสรร หมวกแนะให้เขาไปบ้านสลิธีรินซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านของพ่อมดแม่มดมืด แต่เมื่อแฮร์รี่ปฏิเสธ หมวกก็ส่งเขาไปบ้านกริฟฟินดอร์ซึ่งเป็นบ้านคู่แข่งของสลิธีริน รอนและเฮอร์ไมโอนี่ก็ถูกคัดสรรเข้าบ้านกริฟฟินดอร์เช่นกัน เกรโกถูกคัดสรรเข้าบ้านสลิธีรินซึ่งตามประเพณีครอบครัวของเขาถูกคัดสรรเข้าบ้านนั้นเป็นเวลาหลายสมัยแล้ว ระหว่างมื้อ แฮร์รี่จับตาศาสตราจารย์เซเวอร์รัส สเนปและรู้สึกเจ็บที่แผลเป็นที่โวลเดอมอร์ทิ้งไว้บนหน้าผากเขา

หลังชั้นเรียนปรุงยาคาบแรกกับสเนปอันเลวร้าย แฮร์รี่และรอนไปเยี่ยมแฮกริด (ผู้รักษาที่ดินฮอกวอตส์) ซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมตรงชายป่าต้องห้าม จากนั้น พวกเขาทราบว่า ความพยายามปล้นที่กริงกอตส์เกิดขึ้นวันเดียวกับที่แฮร์รี่ถอนเงินจากห้องนิรภัยของเขา แฮร์รี่จำได้ว่าแฮกริดนำถุงเล็ก ๆ จากห้องนิรภัยซึ่งถูกบุก

ระหว่างชั้นเรียนขี่ไม้กวาดครั้งแรกของปีหนึ่ง เพื่อนกริฟฟินดอร์ เนวิลล์ ลองบัตท่อมทำข้อมือหักและถูกอาจารย์พาไปห้องพยาบาล เดรโกฉวยโอกาสโยนลูกแก้วเตือนความจำของเนวิลล์ขี้ลืม ซึ่งเนวิลล์ทำตกไว้เพราะอุบัติเหตุ ขึ้นไปในอากาศ แฮร์รี่ไล่ตามบนไม้กวาด และจับลูกแก้วได้เหนือพื้นไม่กี่ฟุต แฮร์รี่ไม่ทราบว่าศาสตราจารย์มักกอนนากัล หัวหน้าบ้านกริฟฟินดอร์ สังเกตความสามารถบนไม้กวาดของเขา เธอเร่งรุดมาและแต่งตั้งเขาเป็นซีกเกอร์คนใหม่ของทีมควิดดิชกริฟฟินดอร์

เมื่อเดรโกลวงแฮร์รี่และรอน ร่วมกับเนวิลล์และเฮอร์ไมโอนี่ สู่การเดินทางยามเที่ยงคืน พวกเขาเข้าโถงต้องห้ามโดยอุบัติเหตุและพบหมาสามหัวตัวมหึมา ทั้งกลุ่มรีบถอย และเฮอร์ไมโอนี่สังเกตว่าหมานั้นกำลังยืนเหนือประตูกล แฮร์รี่สรุปว่า สัตว์ประหลาดนั้นกำลังเฝ้าหีบห่อที่แฮกริดนำมาจากกริงกอตส์

หลังรอนวิจารณ์ความสามารถเกินหน้าของเฮอร์ไมโอนี่ในวิชาคาถา เธอก็ไปซ่อนอยู่ในห้องน้ำหญิงและร้องไห้ ที่งานเลี้ยงฮาโลวีน ศาสตราจารย์ควีเรลล์รายงานว่า โทรลล์ตัวหนึ่งเข้าคุกใต้ดิน ระหว่างที่ทุกคนกลับไปยังหอพักของพวกตน แฮร์รี่และรอนเร่งไปเตือนเฮอร์ไมโอนี่ ซึ่งไม่อยู่ที่งานเลี้ยงเพื่อฟังประกาศ โทรลล์ตนนั้นต้อนเฮอร์ไมโอนี่จนในห้องน้ำแต่แฮร์รี่และรอนช่วยเธอไว้ได้อย่างเงอะงะ จากนั้น เฮอร์ไมโอนี่ยอมรับผิดแทนสำหรับการต่อสู้ และกลายเป็นมิตรเหนียวแน่นของสองเด็กชาย

#เย็นก่อนการแข่งขันควิดดิชครั้งแรกของแฮร์รี่ เขาเห็นสเนปรับการรักษาจากฟิลช์สำหรับรอยกัดที่เท้าเขาอันเกิดจากหมาสามหัว ระหว่างเกม ไม้กวาดของแฮร์รี่อยู่เหนือการควบคุม ทำให้ชีวิตเขาอยู่ในอันตราย และเฮอร์ไมโอนี่สังเกตว่าสเปนจ้องแฮร์รี่และกำลังพึมพำ โดยสรุปว่าสเนปรับผิดชอบต่อไม้กวาดพยศของแฮร์รี่ เธอรีบไปยังอัฒจรรย์ของศาสตราจารย์ น็อกควีเรลล์ในระหว่างที่เร่งด่วน แล้วจุดไฟใส่เสื้อคลุมของสเนป แฮร์รี่กลับควบคุมไม้กวาดของเขาและจับลูกสนิชสีทอง และคว้าชัยชนะให้กริฟฟินดอร์ แฮกริดปฏิเสธจะเชื่อว่าสเนปเป็นตัวการทำให้แฮร์รี่ตกอยู่ในอันตราย แต่แย้มว่า เขาซื้อหมาสามหัว (ชื่อ ปุกปุย) และสัตว์ประหลาดนั้นกำลังเฝ้าความลับอันเป็นของดัมเบิลดอร์และพ่อมดนาม นิโคลัส เฟลมเมล#

เมื่อปิดเทอมคริสต์มาส แฮร์รี่และครอบครัววีสลีย์อยู่ในฮอกวอตส์ ขณะที่เฮอร์ไมโอนี่กลับบ้าน ของขวัญชิ้นหนึ่งที่แฮร์รี่ได้ คือ ผ้าคลุมล่องหนจากผู้ให้นิรนามซึ่งเป็นของบิดาเขา และขลุ่ยจากแฮกริด แฮร์รี่ใช้ผ้าคลุมค้นเขตหวงห้ามของห้องสมุดเพื่อหาสารสนเทศเกี่ยวกับเฟลมเมลผู้ลึกลับ และบังเอิญเจอห้องที่มีกระจกเงาแห่งเอริเซด ซึ่งแสดงให้เห็นบิดามารดาและบรรพบุรุษของพวกเขาหลายคน แฮร์รี่กลายมาติดภาพของกระจก โดยเลือกใช้เวลากับ "ครอบครัว" เขา มากกว่าเพื่อนเขาที่ฮอกวอตส์ จนศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์มาช่วยเขา ผู้อธิบายว่ามันเพียงแสดงให้ผู้ชมเห็นสิ่งที่เขาปรารถนาที่สุด

เมื่อนักเรียนที่เหลือกลับมาสำหรับเทอมหน้า เดรโกแกล้งเนวิลล์ และแฮร์รี่ปลอบเนวิลล์ด้วยขนมหวาน การ์ดสะสมที่ห่อด้วยขนมหวานนั้นระบุว่าเฟลมเมลเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ ไม่นาน เฮอร์ไมโอนี่พบว่าเขาอายุ 665 ปี และครอบครองสิ่งที่เรียก ศิลาอาถรรพ์ ซึ่งสามารถสกัดน้ำอมฤตได้ ไม่กี่วันให้หลัง แฮร์รี่สังเกตว่าสเนปย่องเข้าชายป่าต้องห้าม ที่นั่น เขาแอบได้ยินการสนทนาลับ ๆ ล่อ ๆ เกี่ยวกับศิลาอาถรรพ์ระหว่างสเนปกับควีเรลล์ แฮร์รี่สรุปว่าสเนปกำลังพยายามขโมยศิลาและควีเรลล์ช่วยเตรียมชุดการป้องกัน ซึ่งเป็นความผิดพลาดแทบร้ายแรง

สามสหายพบว่าแฮกริดกำลังเลี้ยงมังกรทารกอันขัดต่อกฎหมายมด และจัดการลักลอบขนออกนอกประเทศราว ๆ เที่ยงคืน เดรโก ด้วยหวังก่อความเดือดร้อนแก่พวกเขา แจ้งต่อศาสตราจารย์มักกอนนากัล แม้มังกรถูกส่งไปอย่างปลอดภัย แต่พวกเขาถูกจับได้นอกหอพัก แฮร์รี่ เฮอร์ไมโอนี่ เดรโกและเนวิลล์ถูกทำโทษ และมอบหมายงานช่วยแฮกริด คือ ช่วยยูนิคอร์นที่บาดเจ็บหนักในป่าต้องห้าม พวกเขาแบ่งเป็นสองกลุ่มและออกเดินทางเข้าไปในป่า ซึ่งแฮร์รี่และเดรโกพบบุคคลใส่หมวกคลุมกำลังดื่มเลือดจากยูนิคอร์นที่บาดเจ็บ เมื่อทราบว่าพวกเขาอยู่ คน ๆ นั้นเข้าหาเด็กชายทั้งสองแต่เซนทอร์นาม ฟีเรนซี ช่วยแฮร์รี่ไว้ และเสนอให้เขาขี่กลับโรงเรียน ฟีเรนซีบอกแฮร์รี่ว่า การดื่มเลือดของยูนิคอร์นจะช่วยชีวิตของผู้ที่บาดเจ็บถึงตาย แต่ต้องแลกกับการมีชีวิตต้องสาปนับแต่ขณะนั้น ฟีเรนซีแนะว่า โวลเดอมอร์นั่นเองที่ดื่มเลือดยูนิคอร์นเพื่อให้มีกำลังเพียงพอทำน้ำอมฤต (จากศิลาอาถรรพ์) และได้สุขภาพบริบูรณ์จากการดื่มน้ำนั้น

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แฮร์รี่ทราบจากแฮกริดว่าเขาได้ไข่มังกรนั้นมาจากคนแปลกหน้าสวมชุดคลุมศีรษะ ผู้ถามวิธีผ่านปุกปุย ซึ่งแฮกริดยอมรับว่ามันง่าย คือ ดนตรีทำให้มันหลับ ด้วยตระหนักว่าการป้องกันศิลาอาถรรพ์อย่างหนึ่งไม่ปลอดภัยอีกต่อไป แฮร์รี่จึงไปแจ้งดัมเบิลดอร์ แต่พบว่าอาจารย์ใหญ่เพิ่งออกเดินทางไปประชุมในกรุงลอนดอน แฮร์รี่สรุปว่าสเนปแปลงสารซึ่งเรียกดัมเบิลดอร์ไปและจะพยายามขโมยศิลาคืนนั้น แฮร์รี่ตัดสินใจว่าพวกเขาต้องพิทักษ์ศิลาเองระหว่างที่ดัมเบิลดอร์ไม่อยู่ ทั้งสามคลุมผ้าคลุมล่องหน เข้าห้องของปุกปุย ซึ่งแฮร์รี่ทำให้สัตว์นั้นหลับโดยการเป่าขลุ่ยที่แฮกริดส่งให้แฮร์รี่เป็นของขวัญคริสต์มาส หลังยกประตูกล พวกเขาพบชุดอุปสรรค ซึ่งแต่ละด่านต้องอาศัยทักษะพิเศษซึ่งหนึ่งในสามมี และในอุปสรรคหนึ่ง รอนต้องเสียลละตัวเองในเกมหมากรุกพ่อมดขนาดเท่าจริง

แม้ฝืนใจทิ้งรอนไว้เบื้องหลัง แต่แฮร์รี่และเฮอร์ไมโอนี่มาถึงห้องที่เต็มไปด้วยน้ำยาขนาดและสีต่าง ๆ หลังเฮอร์ไมโอนี่ไขคำทายที่กำหนดให้ เธอสั่งแฮร์รี่ให้ดื่มน้ำยาขวดใด แฮร์รี่กลืนยานั้น ทำให้เขาผ่านไฟเวทมนตร์ได้อย่างปลอดภัยและเข้าห้องสุดท้าย ส่วนเฮอร์ไมโอนี่ย้อนกลับไปช่วยรอนและแจ้งเหตุการณ์คืนนี้ให้ดัมเบิลดอร์

ในห้องสุดท้าย แฮร์รี่เพียงลำพัง พบควีเรลล์ซึ่งยอมรับว่าเขาพยายามฆ่าแฮร์รี่ในการแข่งขันควิดดิชนัดพบกับสลิธีริน เขายังยอมรับว่าเขาปล่อยโทรลล์เข้าฮอกวอตส์ ซึ่งหมายความว่า สเนปพยายามปกป้องแฮร์รี่มาตลอด และมิได้พยายามฆ่าเขา ควีเรลล์เป็นสาวกคนหนึ่งของโวลเดอมอร์ และหลังขโมยศิลาอาถรรพ์ล้มเหลวในคราวแรก เขาให้เจ้านายสิงสู่เขาเพื่อโวลเดอมอร์จะได้ศิลาเอง ทว่า งานนี้ดูเป็นงานยากเพราะวัตถุเดียวในห้อง คือ กระจกเงาแห่งเอริเซด ซึ่งไม่เปิดเผยที่อยู่ของศิลาแก่ควีเรลล์ ควีเรลล์ให้แฮร์รี่ยืนประจัญกระจกตามคำสั่งของโวลเดอมอร์ กระจกแสดงภาพแฮร์รี่พบศิลา ควีเรลล์ถอดผ้าโพกหัว เผยให้เห็นใบหน้าของโวลเดอมอร์หลังศีรษะเขา โวลเดอมอร์/ควีเรลล์พยายามฉวยศิลาจากแฮร์รี่ แต่ล้มเหลว หลังต่อสู้ยาวนาน แฮร์รี่หมดสติไป เขาตื่นขึ้นในห้องพยาบาล ซึ่งดัมเบิลดอร์อธิบายว่าเขารอดชีวิตเพราะมารดาเขาสละชีพเพื่อพิทักษ์เขา และทั้งโวลเดอมอร์และควีเรลล์ไม่สามารถเข้าใจอำนาจความรักได้ โวลเดอมอร์ทิ้งควีเรลล์ให้ตายและน่าจะหวนคืนด้วยวิธีอื่น ตอนนี้ศิลาถูกทำลายแล้ว ปีการศึกษาจบด้วยงานเลี้ยง ซึ่งกริฟฟินดอร์ชนะถ้วยประจำบ้าน แฮร์รี่กลับบ้านครอบครัวเดอร์สลีย์ในวันหยุดฤดูร้อน แต่ไม่บอกเขาว่าพ่อมดอายุต่ำกว่าเกณฑ์ถูกห้ามมิให้ใช้เวทมนตร์นอกฮอกวอตส์

ตัวละครหลัก[แก้]

  • แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นเด็กกำพร้าซึ่งโรว์ลิงจินตนาการว่าเป็น "เด็กชายหุ้มกระดูก มีผมดำ สวมแว่นตาซึ่งไม่รู้ว่าตัวเป็นพ่อมด"[1] เธอพัฒนาเรื่องและตัวละครของชุดเพื่ออธิบายว่าแฮร์รี่มาอยู่ในสถานการณ์นี้ได้อย่างไรและชีวิตของเขาคลี่ออกจากตรงนั้นอย่างไร[2] นอกจากบทแรก เหตุการณ์ในหนังสือนี้เกิดขึ้นก่อนวันเกิดปีที่สิบเอ็ดของแฮร์รี่ไม่นานและในปีหลังจากนั้น การโจมตีของโวลเดอมอร์ทิ้งแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผากของแฮร์รี่[2] ซึ่งให้ความเจ็บปวดทิ่มแทงเมื่อโวลเดอมอร์มีอารมณ์รุนแรงใด ๆ แฮร์รี่มีความสามารถธรรมชาติอย่างยิ่งสำหรับควิดดิชและความสามารถโน้มน้าวเพื่อนโดยสุนทรพจน์ลึกซึ้ง
  • รอน วีสลีย์มีอายุไล่เลี่ยกับแฮร์รี่ และโรว์ลิงอธิบายเขาเป็นเพื่อนสนิทสุดยอด "อยู่ตรงนั้นเสมอเมื่อคุณต้องการเขา"[3] เขาเป็นกระ มีผมแดงและค่อนข้างสูง" เขาเติบโตในครอบครัวเลือดบริสุทธิ์ค่อนข้างใหญ่ เป็นลูกคนที่หกจากเจ็ดคน แม้ครอบครัวเขาค่อนข้างยากจน แต่ยังอยู่กันสบายมากและมีความสุข ความภักดีและความกล้าของเขาเมื่อเผชิญกับเกมหมากรุกพ่อมดเป็นส่วนสำคัญในการพบศิลาอาถรรพ์
  • เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ธิดาของครอบครัวมักเกิ้ลล้วน เป็นเด็กหญิงจอมบงการซึ่งดูเหมือนจะจำตำราส่วนใหญ่ได้ก่อนเปิดเทอม โรว์ลิงอธิบายเฮอร์ไมโอนี่ว่าเป็นตัวละครที่ "มีเหตุผล ซื่อตรงและดีมาก"[4] โดยมี "การขาดความมั่นคงมากและกลัวความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวงภายใต้การเป็นคนเรียนหนักของเธอ"[4] แม้ความพยายามน่ารำคาญของเธอเพื่อกันแฮร์รี่และรอนจากปัญหา แต่เธอกลายเป็นเพื่อนสนิทของเด็กชายทั้งสองเมื่อพวกเขาช่วยเธอจากโทรล และทักษะเวทมนตร์และการวิเคราะห์ของเธอมีส่วนสำคัญในการค้นหาศิลาอาถรรพ์ เธอมีผมสีน้ำตาลดกและฟันหน้าค่อนข้างใหญ่
  • เนวิลล์ ลองบัตท่อมเป็นเด็กท้วมขี้อาย ขี้ลืมเสียจนย่าของเขาให้ลูกแก้วเตือนความจำมา ความสามารถเวทมนตร์ของเนวิลล์อ่อนมากและดูมาทันเวลาช่วยชีวิตเขาเมื่อตอนแปดขวบพอดี แม้ความขลาดของเขา เนวิลล์จะสู้กับทุกคนหลังได้รับการสนับสนุนบ้างหรือหากเขาคิดว่าถูกต้องและสำคัญ
  • รูเบอัส แฮกริด ลูกครึ่งยักษ์สูงเกือบ 12 ฟุต (3.7 เมตร) มีผมและเคราสีดำยุ่งเหยิง ถูกไล่ออกจากฮอกวอตส์และไม้กายสิทธิ์ของเขา แต่ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ปล่อยให้เขาอยู่ในฐานะคนดูแลสัตว์ของโรงเรียน ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำให้เขาขยายความรักและเรียกชื่อสัตว์แม้สิ่งมีชีวิตเวทมนตร์อันตรายที่สุด แฮกริดภักดีต่อดัมเบิลดอร์อย่างดุดันและกลายเป็นเพื่อนใกล้ชิดของแฮร์รี่ รอน และต่อมา เฮอร์ไมโอนี่ แต่ความไม่ระวังของเขาทำให้เขาพึ่งพาไม่ได้
  • ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ ชายสูงผอมผู้สวมแว่นตารูปจันทร์ครึ่งเสี้ยว มีผมสีเงินและเคราที่สอดเข้าเข็มขัด เป็นอาจารย์ใหญ่ฮอกวอตส์ และคิดกันว่าเป็นพ่อมดคนเดียวที่โวลเดอมอร์กลัว ดัมเบิลดอร์ แม้ขึ้นชื่อสำหรับความสำเร็จทางเวทมนตร์ สามารถหักห้ามใจกินขนมหวานได้ยากและมีอารมณ์ขันระหลาด แม้เขาปัดคำชม แต่เขาทราบความปราดเปรื่องของเขาเอง โรว์ลิงอธิบายเขาว่าเป็น "ภาพย่อของความดี"[5]
  • ศาสตราจารย์มักกอนนากัล เป็นหญิงร่างสูงดูเข้มงวด มีผมดำมัดเป็นมวยแน่น สอนวิชาแปล่งร่าง และสามารถแปลงร่างเป็นแมวได้ เธอเป็นอาจารย์ประจำบ้านกริฟฟินดอร์ และตามผู้ประพันธ์ "ใต้ภายนอกหยาบ ภายในค่อนข้างเป็นคนชราอ่อนไหว"[6]
  • เพ็ตทูเนีย เดอร์สลีย์ พี่สาวของลิลี่ มารดาของแฮร์รี่ เป็นหญิงผอมคอยาวที่เธอใช้สอดแนมเพื่อนบ้าน เธอถือว่าน้องสาวมีเวทมนตร์ของเธอเป็นตัวประหลาดและพยายามแสร้างว่าเธอไม่เคยมีอยู่ เวอร์นอน สามีของเธอ เป็นชายอ้วนซึ่งการแผดเสียงฉุนเฉียวของเขาปกปิดจิตใจคับแคบและความกลัวสิ่งผิดปกติทุกอย่าง ดัดลีย์ บุตรของทั้งสอง เป็นอันธพาลถูกตามใจ มีน้ำหนักเกิน
  • เดรโก มัลฟอย เป็นเด็กชายผิวสีซีด รูปร่างเพรียว เขาทะนงเกี่ยวกับทักษะของเขาในควิดดิช และชังทุกคนที่มิได้เป็นพ่อมดเลือดบริสุทธิ์ และพ่อมดผู้เห็นไม่ตรงกับเขา บิดามารดาเขาสนับสนุนโวลเดอมอร์ แต่แปรพักตร์หลังพ่อมดมืดนั้นหายตัวไป โดยอ้างว่าต้องมนต์ เดรโกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง และพยายามนำให้แฮร์รี่และเพื่อนเขาให้ประสบปัญหา
  • ศาสตราจารย์ควีเรลล์ อาจารย์สอนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด พูดตะกุกตะกัก ลือกันว่าเขาเคยเป็นนักวิชาการผู้ปราดเปรื่อง แต่เสียขวัญเมื่อเผชิญกับแวมไพร์ ควีเรลล์สวมผ้าโพกหัวเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า เขายอมถูกโวลเดอมอร์สิง ซึ่งใบหน้าปรากฏอยู่หลังศีรษะของควีเรลล์
  • ศาสตราจารย์สเนป ผู้มีจมูกงุ้ม ผิวซีดและผมสีดำเป็นมัน อาจารย์สอนวิชาปรุงยา แต่ปรารถนาสอนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด สเนปยกย่องนักเรียนบ้านสลิธีริน บ้านของเขาเอง แต่ฉวยทุกโอกาสทำให้นักเรียนอื่นอับอาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฮร์รี่ หลายเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่ความเจ็บปวดเฉียบพลันที่แผลเป็นของแฮร์รี่ระหว่างงานเลี้ยงเปิดเทอม นำให้แฮร์รี่และเพื่อนเขาคิดว่าสเนปเป็นสาวกของโวลเดอมอร์
  • ฟิลช์ ภารโรงของโรงเรียน รู้จักทางลับในโรงเรียนดีกว่าใคร ๆ ซึ่งบางทีอาจยกเว้นฝาแฝดวีสลีย์ แมวของเขา คุณนายนอร์ริส ช่วยเขาล่านักเรียนทำผิดกฎอยู่สม่ำเสมอ สมาชิกบุคลากรคนอื่นมีศาสตราจารย์สเปราต์ อาจารย์สอนวิชาสมุนไพรศาสตร์และหัวหน้าบ้านฮัฟเฟิลพัฟร่างม่อต้อ ศาสตราจารย์ฟลิตวิก อาจารย์สอนวิชาคาถาและอาจารย์ประจำบ้านเรเวนคลอร่างจิ๋วและขี้ตื่น ศาสตราจารย์บินส์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์เวทมนตร์อันมีน้ำเสียงชวนง่วง เป็นผีที่ดูไม่สังเกตว่าตัวตายแล้ว และมาดามฮูช โค้ชควิดดิช ผู้เคร่งครัดแต่เป็นอาจารย์ที่เห็นใจผู้อื่นและมีแบบแผน พีฟส์ โพลเทอร์ไกสท์ที่ตระเวนไปรอบปราสาท คอยสร้างปัญหาทุกที่ที่ทำได้

การพัฒนา การพิมพ์และการตอบรับ[แก้]

การพัฒนา[แก้]

หนังสือนี้ซึ่งเป็นนวนิยายประเดิมของโรว์ลิง เขียนระหว่างประมาณเดือนมิถุนายน 2533 ถึงประมาณปี 2538 ในปี 2533 โจ โรว์ลิง อันเป็นชื่อที่เธอชอบให้รู้จัก ต้องการย้ายกับแฟนหนุ่มไปแฟลตแห่งหนึ่งในแมนเชสเตอร์ และตามคำของเธอ "สุดสัปดาห์หนึ่งหลังการตระเวนหาแฟลต ฉันนั่งรถไฟกลับกรุงลอนดอนด้วยตัวเองแล้วความคิดแฮร์รี่ พอตเตอร์ตกมาในหัวของฉัน ... เด็กชายผอมหุ้มกระดูก ตัวเล็ก ผมสีดำ และสวมแว่นตากลายเป็นพ่อมดมากขึ้นทุกที ๆ สำหรับฉัน... ฉันเริ่มเขียนศิลาอาถรรพ์ เย็นนั้นเอง แม้ว่าหน้าแรก ๆ ดูไม่เหมือนผลงานสมบูรณ์เลย"[7] แล้วมารดาของโรว์ลิงเสียชีวิต เพื่อรับมือกับความเจ็บปวดของเธอ โรว์ลิงถ่ายโอนความระทมของเธอไปยังแฮร์รี่กำพร้า[7] โรว์ลิงใช้เวลาหกปีเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และหลังจากบลูมส์บิวรีตอบรับ เธอได้เงินอุดหนุน 8,000 ปอนด์จากสภาศิลปะสกอต ซึ่งทำให้เธอสามารถวางแผนภาคต่อ[8] เธอส่งหนังสือให้ตัวแทนและสำนักพิมพ์ แล้วตัวแทนที่สองที่เธอเข้าหาใช้เวลาหนึ่งปีพยายามขายหนังสือให้สำนักพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่คิดว่ายาวเกินไป คือ ประมาณ 90,000 คำ แบร์รี คันนิงแฮม ซึ่งกำลังสร้างแฟ้มผลงานแฟนตาซีโดดเด่นโดยผู้ประพันธ์ใหม่สำหรับหนังสือเด็กบลูมส์บิวรี แนะนำให้รับหนังสือ[9] และธิดาของประธานบริหารของบลูมส์บิวรีวัยแปดขวบกล่าวว่า มัน "ดีกว่าเล่มอื่นมาก"[10]

การพิมพ์และการตอบรับในสหราชอาณาจักร[แก้]

การเลียนแบบชานชาลาที่ 9¾ ในบันเทิงคดีที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส โดยรถลากสัมภาระที่ดูทะลุกำแพงมนตราได้ครึ่งทาง

บลูมส์บิวรีตอบรับหนังสือ โดยจ่ายโรว์ลิงล่วงหน้า 2,500 ปอนด์[11] และคันนิงแฮมส่งสำเนาต้นฉบับถึงผู้ประพันธ์ นักวิจารณ์และผู้ขายหนังสือที่ได้รับเลือกอย่างระวังเพื่อเอาความเห็นที่จะสามารถยกมาเมื่อวางขายหนังสือ[9] เขากังวลถึงความยาวหนังสือน้อยกว่าชื่อผู้ประพันธ์ เพราะชื่อเรื่องฟังคล้ายหนังสือเด็กชาย และเด็กชายนิยมหนังสือผู้ประพันธ์ชาย ฉะนั้น โรว์ลิงจึงใช้นามปากกา เจ.เค. โรว์ลิง ไม่นานก่อนพิมพ์[9] ในเดือนมิถุนายน 2540 บลูมส์บิวรีจัดพิมพ์ศิลาอาถรรพ์ ทีแรกจำนวน 500 เล่มเป็นปกแข็ง ซึ่งสามร้อยเล่มถูกจำหน่ายไปห้องสมุดต่าง ๆ[12] ชื่อเดิม "โจแอนน์ โรว์ลิง" ของเธอ พบเป็นตัวพิมพ์เล็ก ๆ ในหน้าลิขสิทธิ์ของฉบับพิมพ์ในอังกฤษครั้งแรกนี้ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ปี 2541 ตัดการพาดพิงถึง "โจแอนน์" อย่างสิ้นเชิง)[13] การพิมพ์ครั้งแรกเป็นจำนวนน้อยนั้นเป็นเรื่องปกติสำหรับนวนิยายเล่มแรก และคันนิงแฮมหวังว่าผู้ขายหนังสือจะอ่านหนังสือ และแนะนำให้ลูกค้า[9] ตัวอย่างจากการพิมพ์ครั้งแรกนี้ที่มีมูลค่าสูง คือ ในการประมูลเฮอริเทจปี 2550 ขายได้ราคาถึง 33,460 ดอลลาร์สหรัฐ[14]

ลินซีย์ เฟรเซอร์ (Lindsey Fraser) หนึ่งในผู้ให้ความเห็นในคำนิยม[9] เขียนสิ่งที่คาดว่าเป็นบทปริทัศน์จัดพิมพ์ชิ้นแรก ในเดอะสกอตส์แมน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 เธออธิบายแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ว่า "เรื่องตื่นเต้นน่าบันเทิงมาก" และโรว์ลิงว่า "ผู้เขียนสำหรับเด็กชั้นหนึ่ง"[9][15] บทปริทัศน์ช่วงแรก ๆ อีกบทหนึ่ง ในเดอะเฮรัลด์ ว่า "ฉันยังไม่เจอเด็กที่วางมันลงได้" หนังสือพิมพ์นอกสกอตแลนด์เริ่มสังเกตหนังสือ โดยมีบทปริทัศน์ยกย่องในเดอะการ์เดียน เดอะซันเดย์ไทมส์ และเดอะเมลออนซันเดย์ และในเดือนกันยายน 2540 บุ๊กส์ฟอร์คีพส์ นิตยสารซึ่งว่าด้วยหนังสือเด็กโดยเฉพาะ ให้นวนิยายนี้สี่ดาวเต็มห้า[9] เดอะเมลออนซันเดย์ ประเมินว่า "การประเดิมอันเปี่ยมจินตนาการที่สุดนับแต่โรอาลด์ ดาห์ล" ซึ่งเป็นความเห็นที่ประสานกับเดอะซันเดย์ไทมส์ ("คราวนี้ การเปรียบกับดาห์ลชอบแล้ว") ขณะที่เดอะการ์เดียนเรียกว่า "นวนิยายเนื้อดีซึ่งอัจฉริยะสร้างสรรค์ปล่อยทะยาน" และเดอะสกอตส์แมน กล่าวว่า "มีคุณสมบัติของคลาสสิกทุกประการ"[9]

ฉบับสหราชอาณาจักรปี 2540 ได้รางวัลหนังสือแห่งชาติและเหรียญทองรางวัลหนังสือเนสเล่ สมาร์ตีส์หมวด 9 ถึง 11 ปี[16] รางวัลสมาร์ตีส์ ซึ่งเด็กเป็นผู้ออกเสียง ทำให้หนังสือดังภายในหกเดือนของการพิมพ์ ขณะที่หนังสือเด็กส่วนใหญ่ต้องรอเป็นปี ๆ[9] ปีต่อมา ศิลาอาถรรพ์กวาดรางวัลอังกฤษซึ่งเด็กเป็นผู้ตัดสินใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมด[9] นอกจากนี้ ยังอยู่ในรายการท้าชิงรางวัลหนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ตัดสิน[17] แต่ไม่ชนะ ซานดรา เบ็กเคตต์ออกความเห็นว่า หนังสือซึ่งได้รับความนิยมกับเด็กถือว่าต้องใช้ความพยายามน้อย (undemanding) และไม่อยู่ในมาตรฐานวรรณกรรมสูงสุด ตัวอย่างเช่น สถาบันวรรณกรรมรังเกียจงานของโรอาลด์ ดาห์ล แต่เป็นที่นิยมท่วมท้นของเด็กก่อนหนังสือของโรว์ลิงปรากฏ[18] ในปี 2546 นวนิยายนี้อยู่ในรายการที่อันดับ 22 ในการสำรวจเดอะบิ๊กรีดของบีบีซี[19]

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้สองรางวัลอุตสาหกรรมจัดพิมพ์ซึ่งให้สำหรับการขายมากกว่าคุณค่าวรรณกรรม คือ หนังสือเด็กแห่งปีของรางวัลหนังสืออังกฤษ และผู้ประพันธ์แห่งปีของสมาคมผู้ขายหนังสือ / บุ๊กเซลเลอร์[9] เมื่อเดือนมีนาคม 2542 ฉบับสหราชอาณาจักรขายได้กว่า 300,000 เล่ม[20] และเรื่องนี้ยังเป็นหนังสือขายดีที่สุดของสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม 2544[21] ฉบับอักษรเบรลล์จัดพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2541 โดยสำนักพิมพ์เบรลล์สกอตแลนด์[22]

ชานชาลาที่ 9¾ อันเป็นที่ซึ่งรถไฟด่วนสายฮอกวอตส์ออกจากกรุงลอนดอน มีการอนุสรณ์ในสถานีรถไฟคิงส์ครอสในชีวิตจริงด้วยสัญลักษณ์และรถเข็นที่ดูเหมือนกำลังผ่านทะลุกำแพง[23]

การพิมพ์และการตอบรับในสหรัฐอเมริกา[แก้]

ตัวอย่างการแปลสำเนียงบริเตนเป็นอเมริกัน[24][25]
บริเตน อเมริกัน
mum, mam mom
sherbet lemon lemon drop
motorbike motorcycle
chips fries
crisp chip
jelly Jell-O
jacket potato baked potato
jumper sweater

บริษัทสกอลาสติกซื้อสิทธิ์การพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาที่เทศกาลหนังสือโบโลญญาเมื่อเดือนเมษายน 2540 เป็นเงิน 105,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นจำนวนเงินสูงผิดปกติสำหรับหนังสือเด็ก[9] พวกเขาคาดว่าเด็กจะไม่อยากอ่านหนังสือที่มีคำว่า "นักปราชญ์" (philosopher) ในชื่อเรื่อง[26] และหลังอภิปรายบ้าง ก็ได้มีการจัดพิมพ์ฉบับอเมริกันในเดือนกันยายน 2541[27] ภายใต้ชื่อเรื่องที่โรว์ลิงเสนอ คือ Harry Potter and the Sorcerer's Stone[9] (แปลตามอักษรว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาผู้วิเศษ") โรว์ลิงอ้างว่าเธอเสียใจการเปลี่ยนแปลงนี้และจะสู้หากเธออยู่ในฐานะที่แข็งแรงกว่าตอนนั้น[28] ฟิลิป เนลชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เสียความเชื่อมโยงกับการเล่นแร่แปรธาตุ และมีการเปลี่ยนคำอื่นบางคำในการแปล ตัวอย่างเช่น จาก "crumpets" ในภาษาอังกฤษแบบบริติชเป็น "muffin" ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน แม้โรว์ลิงยอมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจาก "mum" ในภาษาอังกฤษแบบบริติชและ "mam" แบบภาษาไอริชที่เชมัส ฟินนิกันใช้ เป็น "mom" ใน Harry Potter and the Sorcerer's Stone แต่เธอคัดค้านการเปลี่ยนแปลงนี้ในเล่มต่อ ๆ มา ทว่า เนลมองว่าการแปลของสกอลาสติกค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าการแปลส่วนใหญ่ที่กำหนดตามหนังสือภาษาอังกฤษแบบบริติชขณะนั้น และการเปลี่ยนแปลงอื่นบางอย่างอาจถือได้ว่าเป็นการพิสูจน์อักษรที่มีประโยชน์[24] เพราะฉบับสหราชอาณาจักรเล่มแรก ๆ ในชุดจัดพิมพ์สองสามเดือนก่อนฉบับอเมริกัน ผู้อ่านชาวอเมริกันบางคนจึงคุ้นเคยกับรุ่นภาษาอังกฤษแบบบริติชหลังซื้อหนังสือทางอินเทอร์เน็ต[29]

ทีแรกผู้วิจารณ์ทรงเกียรติที่สุดละเลยหนังสือ โดยปล่อยให้สิ่งพิมพ์เผยแพร่ขายหนังสือและห้องสมุด เช่น เคอร์คัสรีวิวส์ (Kirkus Reviews) และบุ๊กลิสต์ ซึ่งพิจารณาหนังสือเฉพาะเกณฑ์ที่เน้นความบันเทิงของบันเทิงคดีเด็ก ทว่า บทปฏิทัศน์ผู้ชำนัญพิเศษที่เจาะลึกขึ้น (เช่น โดยโคออเพอเรทีฟชิลเดรนส์บุ๊กเซ็นเตอร์ชอยส์ ซึ่งชี้ความซับซ้อน ความลึกและความต่อเนื่องของโลกที่โรว์ลิงสร้าง) ดึงดูดความสนใจของนักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์หลัก ๆ[30] แม้เดอะบอสตันโกลบ และ Michael Winerip ในเดอะนิวยอร์กไทมส์ บ่นว่าบทท้าย ๆ เป็นส่วนที่อ่อนที่สุดของหนังสือ[15][31] พวกเขาและนักวิจารณ์ชาวอเมริกันอื่นส่วนมากให้การยกย่อง[9][15] ปีต่อมา ฉบับสหรัฐอเมริกาได้รับเลือกเป็นหนังสือเด่นของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี 2541 ของพับลิเชอส์วีกลี และหนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี 2541 ของหอสมุดสาธารณะนิวยอร์ก และคว้ารางวัลหนังสือแห่งปี 2541 ของนิตยสารเพเรนติง[16] หนังสือยอดเยี่ยมแห่งปีของวารสารห้องสมุดโรงเรียน และหนังสือยอดเยี่ยมสำหรับผู้ใหญ่ตอนต้นของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน[9]

ในเดือนสิงหาคม 2542 Harry Potter and the Sorcerer's Stone แตะอันดับ 1 รายการบันเทิงคดีขายดีที่สุดของนิวยอร์กไทมส์[32] และอยู่ใกล้อันดับ 1 เป็นเวลาส่วนใหญ่ของปี 2542 และ 2543 จนนิวยอร์กไทมส์ แบ่งรายการออกเป็นส่วนหนังสือเด็กและผู้ใหญ่ภายใต้แรงกดดันจากสำนัดพิมพ์อื่นที่ใคร่เห็นหนังสือของตนได้อันดับดีขึ้น[18][30] รายงานของพับลิเชอร์วีกลีเมื่อเดือนธันวาคม 2544 ว่าด้วยยอดขายสะสมของบันเทิงคดีเด็กได้จัดอันดับ Harry Potter and the Sorcerer's Stone ในอันดับที่ 19 ในหมวดปกแข็ง (กว่า 5 ล้านเล่ม) และอันดับที่ 7 ในหมวดปกอ่อน (กว่า 6.6 ล้านเล่ม)[33]

ในเดือนพฤษภาคม 2551 สกอลาสติกประกาศการสร้างฉบับครบรอบปีที่ 10 ของหนังสือ[34] ซึ่งออกจำหน่ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2551[35] เพื่อเป็นสัญลักษณ์วันครบรอบปีที่สิบการวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาดั้งเดิม[34] สำหรับวันครบรอบปีที่สิบห้าของหนังสือ สกอลาสติกออก Sorcerer's Stone ใหม่ กับนวนิยายอีกหกเล่มในชุด กับภาพปกใหม่โดยคะซุ คิบุอิชิ ในปี 2556[36][37][38]

การแปล[แก้]

เมื่อกลางปี 2551 มีการจัดพิมพ์การแปลหนังสืออย่างเป็นทางการใน 67 ภาษา[39][40] บลูมส์บิวรีจัดพิมพ์การแปลในภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[41][42] ซึ่งฉบับภาษากรีกโบราณนี้ได้รับอธิบายว่าเป็น "ร้อยแก้วภาษากรีกโบราณชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่เขียนในหลายศตวรรษ"[43]

ลีลาและแก่นเรื่อง[แก้]

ฟิลิป เนลเน้นอิทธิพลของเจน ออสเตน ซึ่งโรว์ลิงเทิดทูนอย่างสูงตั้งแต่อายุสิบสองขวบ ผู้ประพันธ์ทั้งสองกระตุ้นให้อ่านซ้ำ เพราะรายละเอียดที่ดูด้อยความสำคัญเกริ่นการณ์สำคัญหรือตัวละครในเนื้อเรื่องภายหลัง ตัวอย่างเช่น มีการพาดพิงถึงซิเรียส แบล็กสั้น ๆ ใกล้ตอนต้นของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แล้วกลายเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งในหนังสือเล่มที่สามถึงห้า เช่นเดียวกับวีรสตรีของออสเตน แฮร์รี่มักต้องกลับทบทวนความคิดของเขาในช่วงท้ายเล่ม พฤติกรรมสังคมบางอย่างในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ชวนให้นึกถึงออสเตน เช่น การอ่านจดหมายสาธารณะอย่างตื่นเต้น ผู้ประพันธ์ทั้งสองเสียดสีพฤติกรรมสังคมและให้ชื่อตัวละครซึ่งแสดงบุคลิกภาพของพวกเขา ทว่า ในความเห็นของเนล ความขบขันของโรว์ลิงยึดภาพล้อมากกว่า และชื่อที่เธอประดิษฐ์นั้นคล้ายกับที่พบในนิยายของชาร์ลส์ ดิกคินส์มากกว่า[15]: 13–15  และอะแมนดา ค็อกเรล (Amanda Cockrell) สังเกตว่า ชื่อเหล่านี้จำนวนมากแสดงลักษณะตัวละครผ่านการอ้างถึงซึ่งไล่ตั้งแต่เทพปกรณัมโรมันโบราณจนถึงวรรณคดีภาษาเยอรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18[44] โรว์ลิงคิดว่าไม่มีความแตกต่างตายตัวระหว่างนิยายสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับ ซี. เอส. ลิวอิส ผู้ประพันธ์ชุดนาร์เนีย เนลยังสังเกตว่า โรว์ลิงประสมวรรณคดีหลายประเภท เช่น แฟนตาซี บันเทิงคดีผู้ใหญ่ตอนต้น นิยายโรงเรียนกินนอน บิลดุงซโรมัน (Bildungsroman) และอื่น ๆ อีกมาก[15]: 51–52 

นักวิจารณ์บางส่วนเปรียบเทียบศิลาอาถรรพ์ กับนิยายของโรอาลด์ ดาห์ล ผู้เสียชีวิตในปี 2533 มีการยกย่องผู้เขียนหลายคนนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ว่าเป็นผู้สืบทอดเขา แต่ไม่มีผู้ใดเทียบเคียงความนิยมของเขากับเด็กได้เลย และในการสำรวจความเห็นไม่นานหลังศิลาอาถรรพ์ ออก หนังสือเด็กยอดนิยมสิบอันดับเป็นของดาห์ลเสียเจ็ดเล่ม รวมทั้งอันดับหนึ่ง ผู้ประพันธ์เด็กซึ่งเป็นที่นิยมจริง ๆ อีกคนหนึ่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 คือ อาร์. แอล. สตีน ชาวอเมริกัน ส่วนเรื่องบางส่วนในศิลาอาถรรพ์ คล้ายกับเรื่องของดาห์ล ตัวอย่างเช่น พระเอกเรื่อง เจมส์กับพีชยักษ์ (James and the Giant Peach) เสียบิดามารดาและต้องอยู่กับป้าไม่พึงปรารถนาคู่หนึ่ง คนหนึ่งอ้วนคนหนึ่งผอมคล้ายคุณและคุณนายเดอร์สลีย์ ผู้ซึ่งปฏิบัติต่อแฮร์รี่เยี่ยงคนรับใช้ ทว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นการสร้างสรรค์เห็นได้ชัด คือ สามารถรับความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ขณะภายในยังเป็นเด็ก[9]

บรรณารักษ์ Nancy Knapp และศาสตราจารย์การตลาด สตีเฟน บราวน์ สังเกตความมีชีวิตชีวาและรายละเอียดการพรรณนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากร้านค้าอย่างตรอกไดแอกอน[16][45] แทด เบรนแนนออกความเห็นว่า การเขียนของโรว์ลิงคล้ายกับของโฮเมอร์ คือ "รวดเร็ว เรียบง่ายและแสดงออกตรง"[43] สตีเฟน คิงยกย่องว่า "รายละเอียดขี้เล่นประเภทที่มีเฉพาะนักแฟนตาซีอังกฤษเท่านั้นที่ดูสามารถ" และสรุปว่า พวกมันได้ผลเพราะโรว์ลิงชอบหัวเราะคิก ๆ เร็ว ๆ แล้วเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างกระฉับกระเฉง[46]

นิโคลัส ทักเคอร์อธิบายหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรก ๆ ว่าดูย้อนไปนิยายเด็กสมัยวิกตอเรียและเอ็ดเวิร์ด โดยฮอกวอตส์เป็นโรงเรียนกินนอนแบบเก่าซึ่งครูเรียกนักเรียนอย่างเป็นทางการด้วยนามสกุล แลกังวลมากสุดกับชื่อเสียงของบ้านที่สังกัด บุคลิกภาพของตัวละครแสดงอย่างเรียบ ๆ โดยลักษณะภายนอกของพวกเขา เริ่มจากครอบครัวเดอร์สลีย์ ตัวละครชั่วร้ายหรือมุ่งร้ายจะถูกกำจัดมากกว่าเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมคุณนายนอร์ริส แมวของฟิลช์ และพระเอก เด็กกำพร้าซึ่งถูกข่มเหงผู้พบสถานที่แท้จริงของเขาในชีวิต มีเสน่ห์และเล่นกีฬาเก่ง แต่เห็นใจผู้อื่นและปกป้องผู้อ่อนแอ[47] ผู้ให้ความเห็นหลายคนยังแถลงว่าหนังสือนำเสนอสังคมจัดช่วงชั้นอย่างสูงซึ่งรวมภาพลักษณ์สังคมจำนวนมาก[48] ทว่า คาริน เวสเตอร์แมนลากเส้นขนานกับบริเตนสมัยคริสต์ทศวรรษ 1990 คือ ระบบชนชั้นซึ่งกำลังพังทลายแต่ถูกผู้ที่มีอำนาจและสถานภาพสนับสนุนป้องกัน องค์ประกอบหลายชาติพันธุ์ของนักเรียนฮอกวตอส์ ความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติระหว่างหลายสปีชีส์ทรงปัญญา และการแกล้งในโรงเรียน[49]

ซูซาน ฮอลเขียนว่าไม่มีหลักนิติธรรมในหนังสือ จากการกระทำของข้าราชการกระทรวงเวทมนตร์ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ภาระความรับผิดหรือการคัดค้านทางกฎหมายทุกชนิด จึงเป็นโอกาสสำหรับโวลเดอมอร์ที่เสนอระเบียบแบบน่ากลัวของเขา แฮร์รี่และเฮอร์ไมโอนี่ซึ่งถูกเลี้ยงในโลกมักเกิ้ลที่มีการวางระเบียบสูงได้รับผลข้างเคียง คือ หาทางออกโดยคิดในวิถีซึ่งมดไม่คุ้นชิน ตัวอย่างเช่น เฮอร์ไมโอนี่สังเกตว่าอุปสรรคหนึ่งในการหาศิลาอาถรรพ์เป็นการทดสอบตรรกะมิใช่อำนาจเวทมนตร์ และมดส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสแก้ได้[50]

เนลเสนอว่า การสร้างลักษณะสัญนิยม รู้จักฐานะและวัตถุนิยมสุดขีดของครอบครัวเดอร์สลีย์เป็นปฏิกิริยาของโรว์ลิงต่อนโยบายครอบครัวของรัฐบาลอังกฤษช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งถือคู่สมรสต่างเพศเป็น "บรรทัดฐานพึงปรารถนา" ขณะที่โรว์ลิงเป็นแม่คนเดียว ความสัมพันธ์ของแฮร์รี่กับมดผู้ใหญ่และวัยรุ่นยึดความชอบและความภักดี ซึ่งสะท้อนเป็นความสุขของเขาเมื่อเขาเป็นสมาชิกชั่วคราวของครอบครัววีสลีย์ตลอดชุด และในการปฏิบัติต่อรูเบียส แฮกริดทีแรก และรีมัส ลูปินและซิเรียส แบล็กเป็นเสมือนพ่อในเวลาต่อมา[15]: 13–15, 47–48 [44]

มรดก[แก้]

ภาคต่อ[แก้]

เล่มสอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ เดิมจัดพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 และในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2542[51][52] จากนั้น แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน จัดพิมพ์อีกหนึ่งปีให้หลังในสหราชอาณาจักรเมื่อ 8 กรกฎาคม 2542 และในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 8 กันยายน 2542[51][52] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี จัดพิมพ์เมื่อ 8 กรกฎาคม 2543 พร้อมกันทั้งบลูมส์บิวรีและสกอลาสติก[53] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ เป็นเล่มที่ยาวที่สุดในชุด รุ่นสหราชอาณาจักรมี 766 หน้า และรุ่นสหรัฐอเมริกามี 870 หน้า[54] จัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษทั่วโลกเมื่อ 21 มิถุนายน 2546[55] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม จัดพิมพ์เมื่อ 16 กรกฎาคม 2548 และขายได้ 11 ล้านเล่มในการวางขายทั่วโลก 24 ชั่วโมงแรก[56][57] นวนิยายเล่มที่เจ็ดและเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต จัดพิมพ์เมื่อ 21 กรกฎาคม 2550[58] หนังสือขายได้ 11 ล้านเล่มในการวางขาย 24 ชั่วโมงแรกเช่นกัน[59]

ฉบับภาพยนตร์[แก้]

ในปี 2542 โรว์ลิงขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้วอร์เนอร์บราเธอร์สเป็นมูลค่าที่รายงาน 1 ล้านปอนด์ (1,982,900 ดอลลาร์สหรัฐ)[60] โรว์ลิงต้องการให้ตัวละครหลักเป็นชาวอังกฤษอย่างเข้มงวดแต่อนุญาตให้คัดเลือกนักแสดงชาวไอร์แลนด์อย่างริชาร์ด แฮริสวัยชราและนักแสดงต่างประเทศเป็นสัญชาติเดียวกับตัวละครในเล่มหลัง ๆ[61] หลังการคัดตัวอย่างกว้างขวาง[62] การถ่ายทำเริ่มในเดือนตุลาคม 2543 ที่สตูดิโอภาพยนตร์ลีเวสเดนและในกรุงลอนดอน โดยการถ่ายทำจบในเดือนกรกฎาคม 2544[63] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ฉายในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544[64][65] ความเห็นของนักวิจารณ์เป็นบวก สะท้อนโดยเฟรชเรตติง 80% ทางรอตเทินโทเมโทส์ (Rotten Tomatoes)[66] และคะแนน 64% ที่เมตาคริติก ซึ่งแสดง "บทปริทัศน์ชื่นชอบโดยทั่วไป"[67]

วิดีโอเกม[แก้]

วิดีโอเกมที่ยึดหนังสืออย่างหลวม ๆ ออกจำหน่ายระหว่างปี 2544 ถึง 2546 โดยทั่วไปภายใต้ชื่อเรื่องอเมริกัน Harry Potter and the Sorcerer's Stone ส่วนมากจัดจำหน่ายโดยอิเล็กทรอนิก อาตส์ แต่ก็มีที่ผลิตโดยผู้ผลิตอื่นบ้าง

ผู้ผลิต ปี แพลตฟอร์ม ประเภท คะแนนเมตาคริติก หมายเหตุ
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2544 ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ เกมสวมบทบาท[68] 65%[69]
อัสไพร์ 2545 แม็ก โอเอส 9 เกมสวมบทบาท[70][71] (ไม่มีข้อมูล)[72] เกมเดียวกับรุ่นวินโดวส์[71]
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2544 เกมบอยคัลเลอร์ เกมสวมบทบาท[73] (ไม่มีข้อมูล)[72]  
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2544 เกมบอยแอดแวนซ์ เกม "ผจญภัย/ปริศนา"[74] 64%[75]  
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2546 เกมคิวบ์ "แอ็คชันผจญภัย"[76] 62%[77]  
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2544 เพลย์สเตชัน เกมสวมบทบาท[78] 64%[79]  
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2546 เพลย์สเตชัน 2 "แอ็คชันผจญภัย"[80] 56%[81]  
อิเล็กทรอนิก อาตส์ 2546 เอกซ์บอกซ์ "แอ็คชันผจญภัย"[82] 59%[83]  

การใช้ในการศึกษาและธุรกิจ[แก้]

นักการศึกษาพบว่า การรู้หนังสือของเด็กสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนคำที่อ่านต่อปี และเด็กนั้นจะยิ่งอ่านมากหากพบสื่อที่ชอบ การสำรวจปี 2544 โดยนิวยอร์กไทมส์ ประเมินว่า เด็กสหรัฐเกือบ 60% อายุระหว่าง 6 ถึง 17 ปีเคยอ่านหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเล่ม การสำรวจในประเทศอื่น ซึ่งรวมประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ พบว่า เด็กกระตือรือร้นเกี่ยวกับนวนิยายชุดนี้ เพราะกระทั่งหนังสือสองเล่มแรกยังค่อนข้างยาว เด็กที่อ่านสี่เล่มแรกจะอ่านกว่าสี่เท่าของจำนวนหน้าของหนังสืออ่านของโรงเรียนทั้งปี ซึ่งเพิ่มทักษะและแรงจูงใจการอ่านของเด็กอย่างสูง[16]

ผู้เขียนในหัวข้อการศึกษาและธุรกิจใช้หนังสือนี้เป็นบทเรียนวัตถุ (object lesson) การเขียนเกี่ยวกับการสอนทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์ เจนนิเฟอร์ คอนน์เปรียบเทียบความชำนาญเทคนิคของสเนปกับพฤติกรรมข่มขู่ของเขาต่อนักเรียน กับอีกด้านหนึ่ง มาดามฮู้ช โค้ชควิดดิช ที่แสดงเทคนิคมีประโยชน์ในการสอนทักษะกายภาพ ซึ่งรวมการแบ่งการกระทำซับซ้อนออกเป็นลำดับการกระทำง่าย ๆ และช่วยนักเรียนให้เลี่ยงข้อผิดพลาดพบบ่อย[84] จอยซ์ ฟีลดส์ เขียนว่า หนังสือแสดงหัวข้อหลักสี่ในห้าหัวข้อในชั้นเรียนสังคมวิทยาปีหนึ่งตรงแบบ ได้แก่ มโนทัศน์สังคมวิทยาซึ่งรวมวัฒนธรรม สังคมและการขัดเกลาทางสังคม การจัดช่วงชั้นในสังคมและความเหลื่อมล้ำทางสังคม สถาบันสังคม และทฤษฎีสังคม"[48]

สตีเฟน บราวน์สังเกตว่า หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เป็นความสำเร็จนอกเหนือการควบคุมแม้มีการตลาดไม่เพียงพอและจัดระเบียบอย่างเลว บราวน์แนะนำผู้บริหารการตลาดให้หมกมุ่นกับการวิเคราะห์สถิติอย่างเคร่งครัดและแบบจำลอง "วิเคราะห์ วางแผน นำไปปฏิบัติและควบคุม" ของการจัดการ เขาแนะนำว่าพวกเขาควรถือเรื่องนี้เป็น "มาสเตอร์คลาส (masterclass) การตลาด" ซึ่งเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์และชื่อตราสินค้าน่าจูงใจแทน[45] ตัวอย่างเช่น มีการริเริ่มสิ่งคล้ายคลึงในโลกจริงของถั่วทุกรสของเบอร์ตีบอตต์ภายใต้ใบอนุญาตในปี 2543 โดยผู้ผลิตของเล่น แฮสโบร[45][85]

อ้างอิง[แก้]

  1. "J.K. Rowling Official Site: Biography". J.K. Rowling. 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 11 January 2009.
  2. 2.0 2.1 Rowling, J.K. (20 October 1999). "Interview with J.K. Rowling" (Interview). สัมภาษณ์โดย Diane Rehm. Accio Quote. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-30. สืบค้นเมื่อ 2 March 2009. I saw Harry very very very clearly ... And I knew he didn't know he was a wizard ... And so then I kind of worked backwards from that position to find out how that could be, that he wouldn't know what he was ... When he was one year old, the most evil wizard for hundreds and hundreds of years attempted to kill him. He killed Harry's parents, and then he tried to kill Harry ... but for some mysterious reason, the curse didn't work on Harry. So he's left with this lightning bolt-shaped scar on his forehead and the curse rebounded upon the evil wizard, who has been in hiding ever since.
  3. "Harry Potter and Me". Accio Quote. สืบค้นเมื่อ 1 August 2013.
  4. 4.0 4.1 Fraser, Lindsey (15 August 2004). "J.K. Rowling at the Edinburgh Book Festival". Accio Quote. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  5. Solomon, Evan (13 July 2000). "J.K. Rowling Interview". CBCNewsWorld Hot Type. Accio Quote. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  6. "About the Books: transcript of J.K. Rowling's live interview on Scholastic.com". Scholastic.com. Accio Quote. 16 October 2000. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  7. 7.0 7.1 Riccio, Heather (1995–2009). "Interview with JK Rowling, Author of Harry Potter". Hilary Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-31. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  8. Kirk, Connie Ann (January 1, 2003). "Early Career". J.K. Rowling: A Biography. Greenwood Publishing Group. p. 62. ISBN 0313322058. สืบค้นเมื่อ March 14, 2014.
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 9.15 Eccleshare, Julia (2002). "The Publishing of a Phenomenon". A guide to the Harry Potter novels. Continuum International. pp. 7–14. ISBN 0-8264-5317-1. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  10. "Revealed: the eight-year-old girl who saved Harry Potter". The Independent. London. 3 July 2005. สืบค้นเมื่อ 20 May 2009.
  11. Lawless, John (29 May 2005). "Nigel Newton". Bloomberg Businessweek. McGraw-Hill. สืบค้นเมื่อ 9 September 2006.
  12. Elisco, Lester. "The Phenomenon of Harry Potter". TomFolio.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-12. สืบค้นเมื่อ 22 January 2009.
  13. "Harry Potter and the Mystery of the Author's Name". Cotsen Children's Library. Princeton University. สืบค้นเมื่อ 16 September 2014.
  14. "J.K. Rowling: The Rare True First Edition of the First Harry Potter Book, Harry Potter and the Philosopher's Stone". Heritage Auctions. 26 October 2007. สืบค้นเมื่อ 9 September 2010.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Nel, Philip (2001). "Reviews of the Novels". J.K. Rowling's Harry Potter novels: a reader's guide. Continuum International. pp. 53–55. ISBN 0-8264-5232-9. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Knapp, N.F. (2003). "In Defense of Harry Potter: An Apologia" (PDF). School Libraries Worldwide. International Association of School Librarianship. 9 (1): 78–91. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-09. สืบค้นเมื่อ 14 May 2009.
  17. "Awards". Arthur A. Levine Books. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-29. สืบค้นเมื่อ 21 May 2006.
  18. 18.0 18.1 Beckett, Sandra L. (2008). "Child-to-Adult Crossover Fiction". Crossover Fiction. Taylor & Francis. pp. 112–115. ISBN 0-415-98033-X. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  19. "BBC – The Big Read". BBC. April 2003, Retrieved 12 December 2013
  20. "Children's Books: Bestsellers". The Independent. UK. 27 March 1999. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  21. Jury, J. (22 December 2001). "Harry Potter hides fall in number of books sold a downturn in book sales". The Independent. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-07. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  22. Thomas, Scott (2007). The Making of the Potterverse: A Month-by-Month Look at Harry's First 10 Years. ECW Press. p. 5. ISBN 1-55022-763-7. สืบค้นเมื่อ 28 May 2009.
  23. "Platform alteration for Hogwarts Express as King's Cross upgrade steps up a gear". London: Network Rail. 17 February 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-22. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  24. 24.0 24.1 Nel, Philip (2004). "You Say "Jelly", I Say "Jell-O"?". ใน Whited, Lana A. (บ.ก.). The ivory tower and Harry Potter. University of Missouri Press. pp. 261–269. ISBN 0-8262-1549-1. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  25. "Differences in the UK and US Versions of Four Harry Potter Books". University of Tampere. 7 May 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-19. สืบค้นเมื่อ 17 August 2008.
  26. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone". The Harry Potter Lexicon. 2 April 2006. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  27. "Meet Author J.K. Rowling". Scholastic Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.
  28. "BBC "Red Nose Day" Online Chat Transcript". BBC. MuggleNet. 12 March 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14. สืบค้นเมื่อ 2 August 2013.
  29. Cowell, Alan (18 October 1999). "Harry Potter and the Magic Stock; A Children's Book Series Helps Rejuvenate a British Publisher". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  30. 30.0 30.1 Unsworth, John M. "20th-Century American Bestsellers". UIUC Graduate School of Library and Information Science. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-20. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  31. Winerip, Michael (14 February 1999). "Children's Books". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  32. "New York Times Best Seller Number Ones Listing Fiction By Date". Hawes Publications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-09. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  33. "All-Time Bestselling Children's Books". Publishers Weekly. 248 (51). 17 December 2001. สืบค้นเมื่อ 22 January 2009.
  34. 34.0 34.1 "Scholastic Reveals Sorcerer's Stone Anniversary Edition". MuggleNet. 20 May 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-31. สืบค้นเมื่อ 12 January 2009.
  35. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone, 10th Anniversary Edition". Amazon.com (US), Amazon.com, Inc. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.
  36. Derschowitz, Jessica (13 February 2013). ""Harry Potter" gets new book covers for 15th anniversary". CBS News. CBS Interactive Inc. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.
  37. "Scholastic Reveals New Book Cover For 'Harry Potter And The Sorcerer's Stone'". The Huffington Post. AOL Lifestyle. 13 February 2013. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.
  38. Liu, Jonathan (13 February 2013). "New Harry Potter Covers by Kazu Kibuishi". Wired Magazine. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.
  39. "Rowling 'makes £5 every second'". BBC. 3 October 2008. สืบค้นเมื่อ 17 October 2008.
  40. Dammann, Guy (18 June 2008). "Harry Potter breaks 400m in sales". London: Guardian News and Media Limited. สืบค้นเมื่อ 17 October 2008.
  41. Rowling, J.K.; Needham, P. (2003). Harrius Potter et Philosophi Lapis (ภาษาละติน). Bloomsbury USA Children's Books. ISBN 1-58234-825-1.
  42. Rowling, J.K.; Wilson, A. (2004). Άρειος Ποτηρ καὶ ἡ τοῦ φιλοσόφου λίθος (ภาษากรีกโบราณ). Bloomsbury USA Children's Books. ISBN 1-58234-826-X.
  43. 43.0 43.1 Brennan, Tad (7 August 2005). "J. K. Rowling, Harry Potter and the Philosopher's Stone. Translated into Ancient Greek by Andrew Wilson". Bryn Mawr Classical Review. Bryn Mawr College. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  44. 44.0 44.1 Cockrell, Amanda (2004). "Harry Potter and the Secret Password". ใน Whited, Lana A. (บ.ก.). The ivory tower and Harry Potter. University of Missouri Press. pp. 23–24. ISBN 0-8262-1549-1. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  45. 45.0 45.1 45.2 Brown, Stephen (2002). "Marketing for Muggles: The Harry Potter way to higher profits". Business Horizons. 45 (1): 6–14. doi:10.1016/S0007-6813(02)80004-0.
  46. King, Stephen (23 July 2000). "Wild About Harry". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 May 2009.
  47. Tucker, Nicholas (December 1999). "The Rise and Rise of Harry Potter". Children's Literature in Education. 30 (4): 221–234. doi:10.1023/A:1022438704330.
  48. 48.0 48.1 Fields, Joyce W. (2007). "Harry Potter, Benjamin Bloom, and the Sociological Imagination" (PDF). International Journal of Teaching and Learning in Higher Education. 19 (2): 167–177. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  49. Westman, Karin E. (2004). "Specters of Thatcherism". ใน Whited, Lana A. (บ.ก.). The ivory tower and Harry Potter. University of Missouri Press. pp. 306–308. ISBN 0-8262-1549-1. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  50. Hall, Susan (2003). "Harry Potter and the Rule of Law". ใน Anatol, Giselle Liza (บ.ก.). Reading Harry Potter. Greenwood Publishing. pp. 147–162. ISBN 0-313-32067-5. สืบค้นเมื่อ 15 May 2009.
  51. 51.0 51.1 "A Potter timeline for muggles". Toronto Star. 14 July 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  52. 52.0 52.1 "Harry Potter: Meet J.K. Rowling". Scholastic Inc. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-22. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  53. "Speed-reading after lights out". The Guardian. London: Guardian News and Media Limited. 19 July 2000. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  54. Harmon, Amy (14 July 2003). "Harry Potter and the Internet Pirates". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
  55. Cassy, John (16 January 2003). "Harry Potter and the hottest day of summer". The Guardian. London: Guardian News and Media Limited. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  56. "July date for Harry Potter book". BBC. 21 December 2004. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  57. "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC News. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
  58. "Rowling unveils last Potter date". BBC. 1 February 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  59. "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 20 August 2008.
  60. "WiGBPd About Harry". The Australian Financial Review. Accio Quote. 19 July 2000. สืบค้นเมื่อ 26 May 2007.
  61. "Harry Potter and the Philosopher's Stone". The Guardian. UK. 16 November 2001. สืบค้นเมื่อ 26 May 2007.
  62. "Daniel Radcliffe, Rupert Grint and Emma Watson bring Harry, Ron and Hermione to life for Warner Bros. Pictures' 'Harry Potter and the Sorcerer's Stone'". Warner Brothers. 21 August 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-04. สืบค้นเมื่อ 26 May 2007.
  63. Schmitz, Greg Dean. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (2001)". Yahoo! Movies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-29. สืบค้นเมื่อ 30 May 2007.
  64. "Potter Casts Spell at World Premiere". BBC News. 15 November 2001. สืบค้นเมื่อ 23 September 2007.
  65. Linder, Brian (17 May 2000). "Bewitched Warner Bros. Delays Potter". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-09. สืบค้นเมื่อ 8 July 2007.
  66. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (2001)". Rotten Tomatoes. สืบค้นเมื่อ 8 July 2007.
  67. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-11. สืบค้นเมื่อ 20 July 2007.
  68. Casamassina, Matt (16 November 2001). "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (PC)". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-07. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  69. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (PC)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  70. "Harry Potter and The Sorcerer's Stone (Mac)". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-15. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  71. 71.0 71.1 "Harry Potter and the Philosopher's Stone (Mac)". Future Publishing Limited. 15 April 2002. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-04. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  72. 72.0 72.1 "Search results: Harry Potter and the Sorcerer's Stone (games)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  73. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (GBC)". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-09. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  74. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (GBA)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-26. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  75. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (GBA)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  76. "Harry Potter and the Philosopher's Stone (GameCube)". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-28. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  77. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (Cube)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  78. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (PS)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-24. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  79. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (PSX)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  80. "Harry Potter and the Philosopher's Stone (PS2)". IGN. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  81. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (PS2)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  82. "Harry Potter and the Philosopher's Stone (Xbox)". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-30. สืบค้นเมื่อ 25 May 2009.
  83. "Harry Potter and the Sorcerer's Stone (Xbox)". Metacritic. สืบค้นเมื่อ 26 May 2009.
  84. Conn, Jennifer J. (2002). "What can clinical teachers learn from Harry Potter and the Philosopher's Stone?". Medical Education. 36 (12): 1176–1181. doi:10.1046/j.1365-2923.2002.01376.x. PMID 12472752.
  85. "Hasbro Wins Wide Range of Rights for Harry Potter from Warner Bros. Consumer Products". Burbank, California: Time Warner. 11 February 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-29. สืบค้นเมื่อ 14 May 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]