ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ (ฝรั่งเศส: France métropolitaine, la Métropole, l'Hexagone) คือประเทศฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่บนทวีปยุโรป รวมทั้งคอร์ซิกา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเล (DOM - TOM) ที่ประกอบด้วยจังหวัดโพ้นทะเล (Départements d'outre-mer : DOM), ดินแดนโพ้นทะเล (Territoires d'outre-mer : TOM) และอาณานิคมโพ้นทะเล (Collectivitiés d'outre-mer : COM)

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่และประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเลรวมกันเป็น สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งแผ่นดินใหญ่นั้นมีพื้นที่ 81.8% และประชากร 96% ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

จังหวัดโพ้นทะเลทั้งห้าแห่งได้แก่ มาร์ตีนิก กัวเดอลุป เรอูว์นียง เฟรนช์เกียนา และมายอต มีสถานะทางการเมืองเท่ากับจังหวัดในแผ่นดินใหญ่ เมื่อแผ่นดินใหญ่กับจังหวัดโพ้นทะเลทั้งห้ารวมกันมักจะถูกเรียกว่า "ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด" (France entière) โดยหน่วยงานบริหารของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะสถาบันอินซี (INSEE) แม้ว่า "ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด" (France entière) จะไม่รวมอาณานิคมโพ้นทะเลและดินแดนโพ้นทะเล ซึ่งมีอำนาจในการปกครองตนเองมากกว่าจังหวัดโพ้นทะเล

ในประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเล ชาวฝรั่งเศสที่มาจากประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่มักจะถูกเรียกว่า "เมโทร" (Métro) ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า "เมทรอปอลีแต็ง" (Métropolitain)

ที่มาของชื่อ

[แก้]

คำว่า "ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่" (France métropolitaine) นั้นมีที่มาตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 20) เมื่อประเทศฝรั่งเศสถูกเรียกว่า "la Métropole" (แปลว่า เมืองเอก, เมืองแม่, แผ่นดินใหญ่) เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างกับอาณานิคมและดินแดนอารักขา (les colonies หรือ l'Empire) คำเดียวกันนี้ยังเคยใช้กับประเทศยุโรปที่เคยมีอาณานิคมอีกด้วย (เช่น "Metropolitan Britain" หรือ "España metropolitana") ซึ่งคำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น "metropolis" หรือ "metropolitan" ต่างมาจากภาษากรีกโบราณ "metropolis" (จาก μήτηρ, mētēr = แม่ และ πόλις, pólis = เมือง) ซึ่งเคยใช้กับเมืองหรือรัฐที่มีอาณานิคมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (เช่น มาร์เซย์ เป็นเมืองขึ้นของโฟซา (Phocaea) ดังนั้นโฟซาเป็นเมืองแม่ (metropolis) ของมาร์เซย์ เป็นต้น) และต่อมาคำว่า "metropolis" และ "metropolitan" ได้มีความหมายว่า "เมืองแม่" หรือ "รัฐปกครองของอาณานิคม" ซึ่งใช้กับประเทศและชาติเพื่อให้ตรงกันข้ามกับอาณานิคม

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่

ในปัจจุบัน บางคนไม่ปรารถนาที่จะใช้คำว่า "ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่" (France métropolitaine) เนื่องจากความหมายเดิมของศัพท์ที่ใช้กับดินแดนอาณานิคม พวกเขาชอบที่จะเรียกว่า "ประเทศฝรั่งเศสในดินแดนยุโรป" (le territoire européen de la France) มากกว่า เหมือนที่ระบุในสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเขายังได้ต่อต้านการที่แบ่งประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่และประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเลในหลายๆ ด้านเช่น สถาบันอินซี (INSEE) เคยคำนวณสถิติประชากร เศรษฐกิจ ฯลฯ ให้กับประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แล้วค่อยทำสถิติของประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเลทีหลังและต่างหาก ซึ่งประชาชนก็ได้ต่อต้านการกระทำเช่นนี้เป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่าจังหวัดโพ้นทะเลทั้งห้าเป็นของประเทศฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลให้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สถาบันอินซี (INSEE) ได้ทำสถิติโดยรวมจังหวัดโพ้นทะเลทั้งห้าไว้ด้วย (เช่น จำนวนประชากรและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) สถาบันอินซีจึงเรียกประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่และจังหวัดโพ้นทะเลทั้งห้าเป็น "ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด" (France entière) ซึ่งจะไม่รวมอาณานิคมโพ้นทะเลและดินแดนโพ้นทะเลไว้ แต่เมื่อพูดถึงหน่วยงานบริหารในสาขาอื่นๆ แล้วนั้น ความหมายของคำว่า "ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด" (France entière) อาจจะแตกต่างไป เช่น เมื่อกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส ประกาศผลการเลือกตั้ง และใช้คำว่า "ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด" (France entière) นั่นหมายถึงสาธารณรัฐฝรั่งเศสทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่และประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเลตามความหมายของสถาบันอินซี (INSEE)

ข้อมูลและสถิติ

[แก้]

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 551,695 กม.² (213,011 ตร.ไมล์) ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเลครอบคลุมพื้นที่ 123,148 กม.² (47,548 ตร.ไมล์) โดยรวมกันเป็น 674,843 กม.² (260,558 ตร.ไมล์) (ซึ่งไม่รวมกับดินแดนอาเดลีในแอนตาร์กติกาที่มีปัญหา) ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว พื้นที่ของประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่นั้นเท่ากับ 81.8% ของพื้นที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส

สถิติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 มีประชากรกว่า 61,875,822 คนอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่ 2,597,318 อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเล โดยรวมเป็นประชากร 64,473,140 คน ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว ประชากรของประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่เท่ากับ 96% ของประชากรทั้งหมดของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ในการเลือกตั้งรอบสองของการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2550 ประชาชนกว่า 37,342,004 คนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (83.97% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) โดยที่ประชาชน 35,907,015 คน (96.16% ของผู้ลงคะแนนเสียง) ลงคะแนนเสียงในแผ่นดินใหญ่ (85.31%) อีก 1,088,679 (2.91% ของผู้ลงคะแนนเสียง) ลงคะแนนเสียงในประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเล (69.85%) และ 346,310 (0.93 ของผู้ลงคะแนนเสียง) ลงคะแนนเสียงในต่างประเทศ (ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ - 42.13%)[1]

สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสประกอบด้วยสมาชิก 577 คน โดยที่ 555 คน (96.2% จากทั้งหมด) ได้รับเลือกตั้งในแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่อีก 22 คน (3.8% จากทั้งหมด) ได้รับเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสโพ้นทะเล

ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีป

[แก้]
ภาพ l'Hexagone ที่ทับด้วยประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่บนเหรียญ 1 ฟรังก์ที่ระลึกชาร์ล เดอ โกลใน ค.ศ. 1988 เมื่อเรียงตามมุมหกเหลี่ยมทวนเข็มนาฬิกา เป็นไปตามนี้: 1. ชายฝั่งช่องแคบ, 2. ชายฝั่งแอตแลนติก, 3. เทือกเขาพิรินี (ชายแดนประเทศสเปน), 4. ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน, 5. ชายแดนตะวันออก (แอลป์, ฌูรา และไรน์ตอนบน; ประเทศโมนาโกถึงคาลส์รูเออ) และ 6. ชายแดนทางเหนือ (ไรน์ลันของเยอรมนีถึงเบลเยียม; คาลส์รูเออถึงเดิงแกร์ก)

ประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ เมื่อไม่รวมกับคอร์ซิกา (กอร์ส) จะถูกเรียกว่า "ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีป" (La France continentale) หรือ "ทวีป" (le continent) ในคอร์ซิกา (กอร์ส) ชาวฝรั่งเศสที่มาจากประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปจะถูกเรียกว่า "ชาวทวีป" (les continentaux)

ชาวฝรั่งเศสส่วนมากมักจะเรียกประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปว่า "หกเหลี่ยม" (L'Hexagone) ซึ่งมาจากรูปทรงของประเทศ โดยภาพฝรั่งเศสในรูปหกเหลี่ยมปรากฏครั้งแรกในหนังสือภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสในคริสต์ทศวรรษ 1850[2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Government of France; Minister of the Interior. "RESULTATS DE L'ELECTION PRESIDENTIELLE" (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 2007-06-02.
  2. Peter Sahlins, "Natural Frontiers Revisited: France's Boundaries since the Seventeenth Century", The American Historical Review, Vol. 95, No. 5 (Dec., 1990), p. 1451


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]