ศาสนาในประเทศติมอร์-เลสเต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสนาในติมอร์-เลสเต (พ.ศ. 2553)[1]
ศาสนา ร้อยละ
โรมันคาทอลิก
  
96.9%
โปรเตสแตนต์
  
2.2%
อิสลาม
  
0.3%
อื่น ๆ
  
0.5%
คริสต์ศาสนิกชนภายในอาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล ดิลี
ชาวติมอร์เชื้อสายจีนภายในวัดจีนในดิลี

ศาสนาในประเทศติมอร์-เลสเต มีศาสนาหลักคือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่โดดเด่นแม้มิใช่ศาสนาประจำชาติก็ตาม[2] นอกจากนี้ยังมีผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์และศาสนาอิสลามนิกายซุนนีกลุ่มย่อม ๆ อาศัยในประเทศ[2] รัฐธรรมนูญติมอร์-เลสเตได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้งโรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ และอิสลามล้วนมีศาสนสัมพันธ์อันดี[3]

ประชากรติมอร์-เลสเตส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นมรดกจากยุคอาณานิคมโปรตุเกส ส่วนศาสนาพื้นเมืองเดิมเป็นคติวิญญาณนิยมที่มีเทพเจ้าหลายองค์ ลักษณะเดียวกันกับชาวพอลินีเชียและชาวมาดากัสการ์[4] มีคติความเชื่อที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น การบูชาจระเข้เฒ่า[5] จากการรายงานของธนาคารโลกเมื่อ พ.ศ. 2548 พบว่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 98 นิกายโปรเตสแตนต์ร้อยละ 1 และศาสนาอิสลามน้อยกว่าร้อยละ 1[2] ทว่าประชากรส่วนใหญ่ปฏิบัติตนตามคติวิญญาณนิยม ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าศาสนา[2] ในยุคที่ติมอร์-เลสเตถูกผนวกเป็นจังหวัดของประเทศอินโดนีเซีย จำนวนโบสถ์คริสต์เพิ่มจำนวนขึ้น จากเดิมที่มีโบสถ์เพียง 100 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2517 เพิ่มขึ้นเป็น 800 แห่ง ใน พ.ศ. 2537[6] ส่วนหนึ่งก็เพราะคติวิญญาณนิยมที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ไม่สอดคล้องกับปรัชญาปัญจศีลของอินโดนีเซียที่เชื่อเรื่องเทพเจ้าเพียงองค์เดียว จึงมีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แพร่หลายขึ้น บาทหลวงโปรตุเกสถูกแทนที่ด้วยบาทหลวงอินโดนีเซีย และบทสวดภาษาโปรตุเกสและละตินถูกแทนที่ด้วยบทสวดภาษาอินโดนีเซีย[7] ก่อนถูกอินโดนีเซียเข้ายึดครอง มีประชากรเพียงร้อยละ 20 ที่แสดงตนเป็นคริสตัง แต่ช่วง พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ประชากรส่วนใหญ่ระบุตัวตนว่าเป็นคริสตังมากถึงร้อยละ 95[7][8] ทำให้ติมอร์-เลสเตกลายเป็นชาติที่มีผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกหนาแน่นที่สุดชาติหนึ่งของโลก[9]

กองกำลังทหารอินโดนีเซียผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ที่เคยมาประจำการในพื้นที่ล้วนมีบทบาทในการสร้างโบสถ์โปรเตสแตนต์ แต่หลังเดือนกันยายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์และศาสนาอิสลามในติมอร์-เลสเตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะชนเหล่านี้บางส่วนเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนให้ติมอร์-เลสเตรวมเข้ากับอินโดนีเซีย บางส่วนเป็นรัฐการหรือพลเรือนอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในติมอร์-เลสเต หลัง พ.ศ. 2542 ส่วนใหญ่พวกเขาอพยพไปติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย[2]

ในช่วงที่ถูกอินโดนีเซียยึดครองนั้น มีชาวมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ เช่นชาวอาหรับที่เข้ามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่ศาสนิกชนที่มากสุดจะเป็นชาวมลายูที่อพยพมาจากเกาะแก่งอื่น ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็มีอยู่ไม่มากนักหากเทียบกับประชากรทั้งหมดในประเทศ[2] ซีไอเอเวิลด์แฟกต์บุ๊กประมาณการไว้ว่ามีผู้นับถือศาสนาอิสลามเพียงร้อยละ 0.2[10]

สมาคมบันทึกสถิติศาสนา (Association of Religion Data Archives) รายงานโดยอิงตามฐานข้อมูลคริสต์ศาสนิกชนโลกพบว่า ประเทศติมอร์-เลสเตมีผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 3.6 อไญยนิยมร้อยละ 0.4 ศาสนาพุทธและศาสนาพื้นบ้านจีนร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ยังมีศาสนาบาไฮ ศาสนาฮินดู และศาสนาเกิดใหม่รวมกันมีไม่ถึงร้อยละ 0.1[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Volume 2: Population Distribution by Administrative Areas" (PDF). Population and Housing Census of Timor-Leste, 2010. Timor-Leste Ministry of Finance. p. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-12-24. สืบค้นเมื่อ 2019-10-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 International Religious Freedom Report 2007: Timor Leste. United States Bureau of Democracy, Human Rights and Labor (14 September 2007). This article incorporates text from this source, which is in the public domain.
  3. International Religious Freedom Report 2017 Timor-Leste, US Department of State: Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor.
  4. Lee Haring, Stars and Keys: Folktales and Creolization in the Indian Ocean, Indiana University Press, 19/07/2007
  5. Wise, Amanda (2006), Exile and Return Among the East Timorese, Philadelphia, PA: University of Pennsylvania Press, pp. 211–218, ISBN 0-8122-3909-1
  6. Robinson, G. If you leave us here, we will die, Princeton University Press 2010, p. 72.
  7. 7.0 7.1 Taylor, Jean Gelman (2003). Indonesia: Peoples and Histories. Yale University Press. p. 381. ISBN 978-0-300-10518-6.
  8. Head, Jonathan (2005-04-05). "East Timor mourns 'catalyst' Pope". BBC News.
  9. East Timor slowly rises from the ashes ETAN 21 September 2001 Online at etan.org. Retrieved 22 February 2008
  10. CIA World Factbook เก็บถาวร 2018-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 12 December 2015.
  11. "The Association of Religion Data Archives | National Profiles". www.thearda.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-16. สืบค้นเมื่อ 2017-10-16.