ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
เกิด5 กันยายน พ.ศ. 2484 (82 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพนักเขียน, นักวิจัย, นักวิชาการ
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2505 - ปัจจุบัน
คู่สมรสจรรยา นาถสุภา
บุตร1 คน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2484) ผู้ร่วมริเริ่มแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. นักวิจัยดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่นแห่งชาติ และผู้แต่งตำราและบทความด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งทั่วไปและเศรษฐศาสตร์การเมืองแพร่หลายในจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานว่าด้วยชนชาติไท ถือว่าเป็นนักวิชาการคนแรก ที่ศึกษาเกี่ยวกับชนชาติไท ทั้งกว้างและลึกซึ้งอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี

ประวัติและการศึกษา[แก้]

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เกิดที่จังหวัดพระนคร ประเทศไทย เป็นบุตรชายคนเดียวของพลอากาศตรี นายแพทย์ ทิพย์ นาถสุภาและนางฉลวย (อิศรางกูร ณ อยุธยา) เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนมาแตร์เดอีและจบมัธยมศึกษาชั้น ม. 6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลเมื่อ พ.ศ. 2500 จากนั้นได้เข้าเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษาชั้น ม. 7 สายวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและสมัครสอบเทียบได้ชั้นมัธยม 8 ในปีนั้นและสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ โดยเลือกเรียนรัฐศาสตร์สาขาการต่างประเทศและการทูตได้รับพระราชทานปริญญาเมื่อ พ.ศ. 2505 และต่อด้วยปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถาบันเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2507 อาจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที่ที่จบการศึกษาปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2505

จากนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ The Fletcher School of Law and Diplomacy ที่มหาวิทยาลัยทัฟท์ สหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาโท (M.A.) เมื่อ พ.ศ. 2508 ตามด้วยปริญญาโทสาขากฎหมายและการทูต (M.L.A.D.) พ.ศ. 2509 และด้วยความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์จึงสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นในบอสตันขนานกันไปด้วยและได้รับปริญญา (M.A Econ.) ในปี พ.ศ. 2510 การมุ่งศึกษาระดับปริญญาโทหลายสาขาในเวลาใกล้ๆ กันก็เพื่อมุ่งหาความรู้มาเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องที่ท่านสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างเศรษฐศาตร์และการเมือง จากการค้นคว้าศึกษาที่ลงลึกและกว้างขวางทำให้ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ประสบความสำเร็จที่เห็นได้จากหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง "Foreign Trade, Foreign Finance and the Economic Development Of Thailand, 1956-1965"[1] ของมหาวิทยาลัยทัฟท์เมื่อ พ.ศ. 2511

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภาสมรสกับคุณจรรยา (สิริวาร) มีบุตรคนเดียวเป็นนายแพทย์หญิง 1 คน (คุณช่อทิพย์) ปัจจุบันท่านอาจารย์เกษียณอายุราชการแล้วและพักอยู่ที่บ้านเก่าแก่และร่มรื่นที่ถนนเศรษฐศิริ เขตพญาไท ท่านอาจารย์ยังคงแข็งขันในงานเขียนและงานให้วิทยาทานและมีความสุขกับหนังสือในห้องสมุดส่วนตัวในบ้านที่มีหนังสือที่มีคุณค่ามากมายและหลากหลายรวมทั้งความสุขจากการแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนจากมิตรสนิทและลูกศิษย์จำนวนมาก

ชีวิตการงาน[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2505 คือตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรี และเมื่อมีการก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2513 อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้ย้ายมาประจำที่คณะนี้และร่วมบุกเบิกช่วยวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่งแก่วงการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยและในนานาประเทศอย่างแข็งขันจนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2544 รวมเวลาราชการได้เกือบ 40 ปี

อาจารย์ฉัตรทิพย์เริ่มจากการเป็นอาจารย์ประจำในคณะฯ เลื่อนเป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2517 และเป็นคณบดีเมื่อ พ.ศ. 2522 ต่อจาก ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ด้านตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2514 เป็นรองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2519 และได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2538 ตลอดเวลารับราชการ อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้มีบทบาททางวิชาการอย่างสูงและเข้มข้นมาก โดยนอกจากด้านการสอนและการวิจัยในประเทศแล้ว ท่านอาจารย์ยังได้รับการเชิญจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่งให้ไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Visiting professor) บ้าง เมธีอาคันตุกะ (Visiting Guest Scholar) บ้าง รวมทั้งเมธีวิจัย (Visiting research fellow) ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เรื่อยมาจนเกษียณอายุ อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นบ่อยถึง 6 วาระด้วยกัน ระหว่าง พ.ศ. 2522 -2547

แนวคิด[แก้]

ได้ศึกษา หาสาเหตุการพัฒนาของประเทศไทยที่ล้าหลัง มีทิศทางตามประเทศอื่นๆอยู่เสมอ การศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประกอบด้วย ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว การศึกษาเปรียบเทียบนี้ได้แสดงให้เห็นภาพการพัฒนาของประเทศไทยได้อย่างดี

งานของ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ทำให้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ วิถีการดำรงชีวิต ลักษณะเศรษฐกิจสังคมของคนไทยในอดีต ตั้งแต่ก่อนเกิดขึ้นของรัฐ(สยาม) จนกระทั่งเป็นรัฐ ไทย โดยกระบวนการขูดรีดของรัฐไทยต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ ชุมชนอ่อนแอ และยังยากจน และตอบคำถามว่าเหตุใดผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศที่อุดมสมบรูณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยังต้องเผชิญกับความขัดสน ยากจน ขัดแย้ง สิ้นหวัง มีช่องว่างระหว่างความรวยกับความจนมากขึ้น และเหตุใดระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องตามประเทศพัฒนาอื่นๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้

จากความพยายามดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้เสนอแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นทางเลือกในการปลดแอกจากการตามขั้นตอนการพัฒนาที่เป็นแนวคิดจากภายนอกสังคมของเรา ก็คือ เราทุกคนควรมีพันธะและภาระที่ต้องร่วมทำให้ชุมชนของเราเข้มแข็ง ฟื้นจิตสำนึกที่ดีงามของเราขึ้นมา เพื่อร่วมกันใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน กล่าวคือ ชุมชนต้องเข็มแข็งเพียงพอที่จะต่อรองกับกลุ่มทุนและรัฐ ที่แปรเปลี่ยนตามกระแสโลก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกับรัฐ เพื่อพัฒนาประเทศไทยร่วมกัน

ผลงาน[แก้]

งานวิจัย[แก้]

  • เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527 ได้รับการพิมพ์ซ้ำรวม 5 ครั้งแล้ว)

บทความทางวิชาการ[แก้]

ตำราและงานแปล[แก้]

  • The Political Economy of Siam

งานบรรณาธิการและอื่นๆ[แก้]

เกียรติประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภาได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงได้รับรางวัลและเกียรติคุณมากมายโดยได้รับการยกย่องเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ได้รับเกียรติเป็นองค์ปาฐกของปฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พ.ศ. 2523) , องค์ปาฐกของปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2536) เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ช่วยบ่มเพาะสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพสูงแก่ประเทศ (พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2542) และด้วยความสนใจและการให้ความสำคัญต่อชนบทและท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยดีเด่นของทบวงมหาวิทยาลัย สาขาอาจารย์หรือนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการที่ก่อประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างชัดเจนปี พ.ศ. 2540

หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ยังคงแข็งขันทางด้านวิชาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุในลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชานของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในเวลาเดียวกันกับการเป็นกิตติเมธีประจำสาขาเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชด้วย (2548-2550) ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศอีก 2 แห่งคือ ปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2548) และปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2549) นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังได้รับเกียรติอย่างสูงอีกครั้งหนึ่งให้เป็นองค์ปาฐกของปาฐกถาชุดสิรินธรครั้งที่ 21 เมื่อปี พ.ศ. 2549

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Foreign trade, foreign finance and the economic development of Thailand, 1956-1965". Open Library.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๔, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๒๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๖๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔๗, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
  • 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. -- กรุงเทพ,:ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544 ISBN 974-7215-82-9
  • คือความภาคภูมิใจ. รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 60 ปี ศาสตราจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2545 ISBN 974-902221-5-7
  • คำประกาศเกียรติคุณศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2548
  • คำประกาศเกียรติคุณศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2549

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]