วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์
รองศาสตราจารย์ วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ (15 มีนาคม พ.ศ. 2480 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550) นักเศรษฐศาสตร์ นักการศึกษา นักวิจัย อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน นักเขียนและนักคิดที่ได้รับการยกย่องจากผู้อยู่ในวงการเดียวกันและจากบุคคลทั่วไป บรรณาธิการของนิตยสาร ชาวบ้าน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม[1]
ประวัติ
[แก้]การศึกษา
[แก้]รองศาสตราจารย์ วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ เป็นบุตรชายคนโตของนายหลงและนางฉวีวรรณ มีพี่น้องรวม 5 คน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2504 ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐฯ จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2508 ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกสาขาเดียวกันที่มหาวิทลัยเดิมได้รับปริญญา Ph.D. (Economics) เมื่อ พ.ศ. 2513
การทำงาน
[แก้]รศ.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ได้เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยการตลาดในบริษัทคอลเกต-ปาล์มโอลิฟ (ประเทศไทย) มาตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาปริญญาตรีและจนถึง พ.ศ. 2505 จึงได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ เมื่อได้รับปริญญาโทแล้วได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลันนอร์ทแคโลไลนา อยู่ 2 ปี พร้อมกันนั้นก็ได้ศึกษาปริญญาเอกไปด้วย เมื่อจบการศึกษาได้กลับประเทศไทยและรับราชการในตำแหน่งอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2517 เป็นของคณะฯ จนถึง พ.ศ. 2518 จึงได้โอนไปเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการไทย-ญี่ปุ่นศึกษา ในสถาบันเอเซียศึกษาด้วยพร้อมๆ กับการเป็นผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเศรษฐศาสตร์ไปด้วย ระหว่าง พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2522 ได้ดำรงตำแหน่งคณบดี
หลังจากหมดวาระ รศ.วารินทร์ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 ปีจึงลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2531 ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 มาทำงานด้านที่ปรึกษาและวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมเป็นอิสระ และด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สูงจึงได้จัดตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลคอนซัลแทนซี่เน็ตเวิร์ค จำกัด รับงานศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นบริษัท โซซิโอ-เอคโคโนมิค คอนซัลแทน จำจัด เมื่อ พ.ศ. 2545 ดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้อาจารย์วารินทร์ยังเป็นผู้อำนวยการโครงการ MBA ของ มหาวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์ กรรมการมูลนิธิสถาบันที่ดิน กรรมการมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด กรรมการปรับปรุงชุดวิชาเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคและเมือง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อนุกรรการพิจารณาศึกษากฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ผลงาน
[แก้]งานเขียน
[แก้]รองศาสตราจารย์ ดร. วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์มีงานเขียนตำรา หนังสือและบทความทั้งบทความวิชาการและบทความทั่วไปจำนวนมาก งานตำราได้แก่ เศรษฐมิติแบบง่าย (2514), เศรษมิติมูลฐาน (2521) หนังสือได้แก่ สงครามความคิด (2516), เศรษฐกิจจีนจากประสบการณ์และการค้นคว้า (2519), การค้าระหว่างประเทศ (2520), และ Mekong: Spring of Life. (Yunan, 2005) เป็นต้น สำหรับงานบทความ อาจารย์วารินทร์เขียนเพียงช่วงระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2529 มีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้ อาจารย์วารินทร์ยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในช่วงรับราชการเป็นอาจารย์อีกด้วย
งานวิจัย
[แก้]ผลงานที่มากที่สุดของอาจารย์วารินทร์คืองานวิจัยซึ่งนับได้ไม่น้อยกว่า 120 เรื่องในช่วง 36 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2549 เฉลี่ยปีละ 3-4 เรื่อง จึงอาจกล่าวได้อาจารย์วารินทร์เป็นนักวิจัยโดยแท้ งานวิจัยของอาจารย์วารินทร์ครอบคลุมกว้างขวางทั้งระเบียบวิธีวิจัยและเนื้อหา งานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาที่เป็นงานจริง
งานที่ปรึกษา
[แก้]นับตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา อาจารย์วารินทร์ได้เป็นที่ปรึกษาในวาระต่างๆ แก่ทั้งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2516-17) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2517-19) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2531-32) เป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและหน่วยงานนานาชาติมากกว่า 10 วาระ รวมทั้งที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา (พ.ศ. 2548)
แนวคิด
[แก้]ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภาได้กล่าวถึงแนวคิดและอุดมการณ์ของอาจารย์วารินทร์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์วารินทร์ไว้ว่า “ในแง่คิดอุดมการณ์ ท่านอาจารย์ ดร.วารินร์ มีอุดมการณ์โน้มเอียงสังคมนิยมประชาธิปไตย เชิดชูอุดมคติ ความเสมอภาคและเสรีภาพ จาจารย์วารินทร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายประชาชน ฝ่ายผู้คนสามมัญ ไม่ได้อยู่กับฝ่ายนายทุนหรือฝ่ายเจ้าขุนมูลนาย” นอกจากนี้อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังกล่าวเสริมต่ออีกว่า “ผมเป็นรุ่นน้องของอาจารย์วารินร์ ผมชื่นชมอาจารย์มากที่อาจารย์วิพากษ์ระบบทุนนิยมและระบบศักดินา ต่างจากนักเศรษฐศาสตร์แบบเท็คนิเชียน ซึ่งไม่สนใจแนวคิดและระบบเศรษฐกิจ สนใจอธิบายแต่การเจริญเติบโตแบบระบบทุน แม้ว่าการเจริญนั้นจะอำนวยประโยชน์ให้บุคคลเพียงกลุ่มเดียว”
อาจารย์วารินทร์เป็นผู้มัความกล้าอย่างปัญญาชน มีอิสระในการคิดและยึดเหตุและผล ไม่กลัวเกรงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมซึ่งเห็นได้จากการออกวารสาร “เพื่อน” วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างไม่เกรงกลัว อาจารย์วารินทร์มีบทบาทในสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีก็ได้ชักชวนเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์หลายคน อาทิ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ซึ่งเป็นอาจารย์ใหม่มาจับกลุ่มกับอาจารย์แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองเดิม เช่น ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ดร.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ รวมทั้งอาจารย์ ดร.ฉัตรทิพย์ก่อตั้งสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและตั้งสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์สุภา ศิริมานนท์และคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งต่อมาคือสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ ดร.วารินท์ วงษ์หาญเชาว์ เป็นผู้เอาจริงเอาจังกับงาน แม้เคยผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจตีบมาแล้ว 2 ครั้งก็ยังไม่ลดละการทำงาน งานชิ้นสุดท้ายที่อาจารย์วารินทร์เกี่ยวข้องได้แก่โครงการศึกษากรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างไทย-ลาวในฐานะที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งทำให้อาจารย์วารินทร์เดินทางไปประเทศลาวบ่อยครั้ง และได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายที่โรงแรมแห่งหนึ่งในสุวรรณเขต ประเทศลาว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2530 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[2]
- พ.ศ. 2527 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-06-19. สืบค้นเมื่อ 2017-03-16.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๕, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖๗๙, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ รศ.ดร. วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ป.ม, ท.ช. ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550