เยกาเจรีนามหาราชินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Catherine the Great)
เยกาเจรีนามหาราชินี
พระบรมสาทิสลักษณ์ โดย
อาแล็กซ็องดร์ โรสบิน ป. ประมาณ 1780
จักรพรรดินีนาถแห่งรัสเซียทั้งปวง
ครองราชย์9 กรกฎาคม 1762 – 17 พฤศจิกายน 1796
ราชาภิเษก12 กันยายน 1762
ก่อนหน้าจักรพรรดิปิออตร์ที่ 3
ถัดไปจักรพรรดิปัฟเวลที่ 1
จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ดำรงพระยศ5 มกราคม – 9 กรกฎาคม 1762
พระราชสมภพเจ้าหญิงโซฟีแห่งอันฮัสท์-แซบสท์
2 พฤษภาคม [ตามปฎิทินเก่า: 27 เมษายน] ค.ศ. 1729
ชเตททิน, พอเมอเรเนีย, ปรัสเซีย, จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
(ปัจจุบันชแชชิน, ประเทศโปแลนด์)
สวรรคต17 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 6 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1796 (67 พรรษา)
พระราชวังฤดูหนาว, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก, จักรวรรดิรัสเซีย
ฝังพระศพมหาวิหารปีเตอร์และพอล, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
  • เยอรมัน: โซฟี ฟรีเดอรีเคอ เอากุสเทอ
  • รัสเซีย: เยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา โรมานอฟา
  • อังกฤษ: แคทเทอรีน อเล็กเซเยฟนา โรมานอวา
ราชวงศ์
พระราชบิดาคริสทีเออ เอากุสท์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์
พระราชมารดาโยฮันนา เอลีซาเบ็ทแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททร็อพ
ศาสนา
ลายพระอภิไธย

จักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2[a] หรือ ซึ่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า เยกาเจรีนามหาราชินี[b] หรือพระนามเดิมคือ โซฟี เอากุสเทอ ฟรีเดอรีเคอ แห่งอัลฮัลท์-แซบสท์ (เยอรมัน: Sophie Auguste Friederike von Anhalt- Zerbst; 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1729 – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1796) ทรงเป็นเจ้าหญิงชาวเยอรมันโดยกำเนิด และต่อมาได้อภิเษกเข้าสู่ราชวงศ์รัสเซีย ต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติรัสเซียต่อจากพระสวามี พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินีนาถมีชื่อเสียงและครองราชย์ยาวนานที่สุดของรัสเซีย ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากการรัฐประหารและการปลงพระชนม์จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 พระราชสวามีของพระองค์เอง (ไม่นานหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเจ็ดปี) จนกระทั่งเสด็จสวรรคต การปกครองของพระองค์เป็นการอธิบายถึงการเป็น พระประมุขผู้ทรงภูมิธรรม (enlightened despot) ทั้งยังทรงฟื้นฟูจักรวรรดิรัสเซียให้แข็งแกร่งและมีอาณาเขตกว้างกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนรัสเซียกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจที่สำคัญมากที่สุดชาติหนึ่งในยุโรปในยุคนั้น

ในการเข้าถึงขุมอำนาจและปกครองจักรวรรดิของพระองค์ พระนางเยกาเจรีนา มักจะทรงพึ่งพาอำนาจจากเหล่าขุนนางที่ทรงโปรดปราน และผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเช่นกริกอรี ออโลฟ และกริกอรี โปเตมคิน หรือเหล่านายพลผู้มีอำนาจบารมีสูงเช่น ปิออตร์ รูเมียนเซฟ และอะเลคซันดร์ ซูโวรอฟ หรือแม้แต่พลเรือเอกเช่น ฟิโอดอร์ อูชาคอฟ พระนางปกครองรัสเซียในช่วงเวลาที่จักรวรรดิได้ทำการแผ่ขยายอาณาเขตของตนโดยทั้งการศึกสงครามและการทูต ทางทิศใต้, อาณาจักรข่านแห่งไครเมียร์ถูกบดขยี้และตามมาด้วยชัยชนะเหนือจักรวรรดิออตโตมันในสงครามรัสเซีย-ตุรกี ต่อมารัสเซียได้ทำการเข้ายึดครองดินแดนอันว่างเปล่าแห่งโนโวรอสซิยาตลอดจนชายฝั่งทะเลดำและทะเลอะซอฟ ทางทิศตะวันตก, เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียซึ่งถูกปกครองโดยอดีตคนรักของพระนาง พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี ในที่สุดก็ถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยรัสเซียได้ส่วนแบ่งของดินแดนมากที่สุด ทางทิศตะวันออก, รัสเซียเริ่มเข้ายึดครองอะแลสกาในรูปแบบของอาณานิคมจนนำไปสู่การก่อตั้งอเมริกาของรัสเซีย

พระองค์ทรงทำการปฏิรูประบบราชการภายในของเขตกูเบอร์นิยา รวมไปถึงมีรับสั่งให้สถาปนาเมืองและหมู่บ้านขึ้นมากมาย และในฐานะที่ทรงเป็นผู้นิยมชมชอบพระราชกรณียกิจของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช พระองค์จึงได้ดำเนินพระราโชบายตามแนวทางของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชโดยการปฏิรูปรัสเซียให้เข้าสู่ความทันสมัยตามแบบฉบับชาติยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตามการเข้ารับราชการในกองทัพและระบบเศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องพึ่งพาระบบทาสอยู่ต่อไป ในขณะที่ความต้องการใช้แรงงานของประเทศและของเหล่าผู้ครอบครองที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้แรงงานทาสดำเนินไปถึงขั้นกดขี่แรงงานทาส และระบบทาสดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในเหตุผลประการสำคัญของการก่อกบฏหลายต่อหลายครั้ง ดังเช่นกบฏปูกาเชฟที่มีกองทหารม้าและชาวนาจำนวนมากมายเข้าร่วมการกบฏ

ตลอดระยะเวลาในการครองราชย์หรือ สมัยเยกาเจรีนา ถูกพิจารณาว่าเป็นยุคทองของจักรวรรดิรัสเซียและของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัสเซีย แถลงการณ์ว่าด้วยเสรีภาพของขุนนางซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันในรัชสมัยของจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ก็ได้รับการยินยอมในช่วงรัชสมัยของพระนางเยกาเจรีนา โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ได้ให้อิสรภาพแก่บรรดาขุนนางไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพหรือการรับราชการสนองคุณประเทศ ให้อิสรภาพในการครอบครองที่อยู่อาศัย เช่น แมนชันรูปแบบคลาสสิก โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวเป็นที่นิยมและได้รับการสนับสนุนโดยพระนางเจ้าเยกาเจรีนาอย่างมาก ก่อให้เกิดตึกรามบ้านช่องอันหรูหราขึ้นจำนวนมาก ซึ่งตลอดช่วงการครองราชย์ของพระองค์ได้ทรงทำให้โฉมหน้าของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงกล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระนางคือยุคเรืองปัญญาของรัสเซียก็ว่าได้

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

ภาพวาดพระนางเยกาเจรีนาไม่นานหลังเสด็จถึงรัสเซีย โดยหลุยส์ การาวาก

พระบิดาของพระนางแคทเธอรีนมีพระนามว่า คริสทีอัน เอากุสท์ เจ้าชายแห่งอันฮัลท์-แซบสท์ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองอันฮัลท์ แต่รับราชการในปรัสเซียเพียงแค่ผู้ว่าราชการแห่งชเตทติน (ปัจจุบัน: ชเกซช์ชิน, สาธารณรัฐโปแลนด์) ประสูติในพระนาม โซฟี เอากุสเทอ ฟรีเดอรีเคอ มีพระนามเล่นว่า ไฟจ์เคิน ที่เมืองชเตทติน มณฑลพอเมอราเนีย พระญาติองค์ใหญ่สองพระองค์แรกของเจ้าหญิงโซฟีได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน: พระเจ้ากุสตาฟที่ 3และพระเจ้าคาร์ลที่ 13 สอดคล้องกับช่วงเวลาเดียวที่ราชวงศ์ของพระนางก้าวขึ้นเป็นราชวงศ์ปกครองเยอรมนี พระนางทรงได้รับการศึกษาส่วนมากจากข้าราชสำนักหญิงชาวฝรั่งเศสและจากอาจารย์ผู้สอนพิเศษ พระชนม์ชีพในวัยเยาว์ไม่ทรงประสบกับเหตุการณ์สำคัญใดดังเช่นที่ครั้งหนึ่งทรงเคยเขียนถึงผู้เขียนข่าวส่วนพระองค์นามว่าบารอนกริมม์ ว่า "เราไม่เห็นสิ่งใดอันเป็นที่น่าสนใจเลย"[1] ซึ่งแม้ว่าพระนางจะประสูติในฐานะเจ้าหญิง แต่ราชตระกูลของพระนางกลับมีทรัพย์สินและบริวารน้อย และการที่พระนางก้าวขึ้นสู่อำนาจต่างๆ ก็ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดากับเหล่าสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้มั่งคั่ง[2][3]

การสมรสขึ้นเป็นชายาของพระญาติลำดับที่สองอย่าง เจ้าชายเพเทอร์ ดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ผู้ซึ่งต่อมาขึ้นเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิ เป็นผลมาจากการจัดการด้านการทูตที่ซึ่ง ฌ็อง อาร์ม็อง เดอ เลสตอคก์, แห่งรัสเซีย พระมาตุจฉาของเจ้าชายเพเทอร์ และพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้อง เลสตอคก์และพระเจ้าฟรีดริชมีประสงค์ร่วมกันในการเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างปรัสเซียและรัสเซีย และขัดขวางอิทธิพลของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออสเตรียและการบ่อนทำลายมุขมนตรีคนสนิทของจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตา ในงานทรงพระอักษรของเจ้าหญิงโซฟีอ้างว่าการพบกันครั้งแรกของพระนางและเจ้าชายเพเทอร์เกิดขึ้นเมื่อพระนางมีพระชันษาสิบพรรษา ระหว่างทรงพบปะกัน พระนางกล่าวว่าปีเตอร์เป็นที่น่ารังเกียจและน่าชิงชัง ทรงไม่โปรดผิวพรรณอันซีดเผือกและความชื่นชอบในเครื่องดื่มมึนเมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ของปีเตอร์[4]

ต่อมาอุบายทางการทูตล้มเหลว ส่วนมากเป็นผลมาจากการเข้าแทรกแซงโดยพระมารดาของเจ้าหญิงโซฟีนามว่า โยฮันนา เอลีซาเบทแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ บัญชีทางประวัติศาสตร์มากมายฉายภาพนางว่าเป็นสตรีที่เยือกเย็นและปากร้ายผู้รักการติฉินนินทาและเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในราชสำนัก ความกระหายในชื่อเสียงเกียรติภูมิของโยฮันนาถูกรวบรวมไว้ในโอกาสในการขึ้นเป็นจักรพรรดินีรัสเซียของเจ้าหญิงโซฟีผู้เป็นธิดา แต่นางเป็นผู้ทำให้พระนางเยลีซาเวตาฉุนเฉียวจนในที่สุดกีดกันนางออกจากจักรวรรดิรัสเซีย ฐานที่นางเป็นสายสืบให้แก่พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ด้านพระนางเจ้าเอลิซาเบททรงรู้จักมักคุ้นกับราชตระกูลของโซฟีเป็นอย่างดี: พระนางเคยหมั้นหมายให้เสกสมรสกับอนุชาของโยฮันนานามว่า คาร์ล เอากุสท์ แกรนด์ดยุกแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซนัค (คาร์ล เอากุสท์ ฟ็อน ฮ็อลชไตน์) ผู้ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงจากฝีดาษในปี ค.ศ. 1727 ก่อนการเสกสมรสจะเกิดขึ้น กระนั้นพระนางเจ้าเยลีซาเวตาก็ยังทรงโปรดปรานเจ้าหญิงโซฟีเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่เจ้าหญิงเสด็จมาถึงรัสเซียโดยปราศจากความประจบสอพลอและความกระหายเกียรติภูมิ ไม่เพียงแต่กับพระจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตา แต่รวมถึงกับพระสวามีของตนและประชาชนชาวรัสเซียอีกด้วย เจ้าหญิงทรงเข้ารับการศึกษาภาษารัสเซียด้วยความกระตือรือร้นอย่างมาก ถึงขนาดที่ทรงลุกจากพระบรรทมในยามวิกาลแล้วเสด็จดำเนินรอบห้องบรรทมด้วยพระบาทเปล่าเปลือยขณะทรงทบทวนบทเรียนที่ทรงได้รับไปมา (แม้จะทรงเชี่ยวชาญในภาษารัสเซียแล้ว แต่ก็ยังทรงฝึกฝนสำเนียงของพระนางเองด้วย) จนนำไปสู่พระอาการประชวรจากโรคปอดบวมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1744 ในบันทึกความทรงจำส่วนพระองค์กล่าวว่าทรงเตรียมพระทัยไว้แต่หนก่อนจะถึงรัสเซียแล้วว่าจะทรงทำทุกอย่างที่จำเป็น และทรงยอมรับที่จะเชื่อในสิ่งใดก็ตามที่ทรงต้องเชื่อ เพื่อที่จะขึ้นสวมมงกุฏแห่งราชวงศ์รัสเซียได้อย่างสมพระเกียรติ

พระบิดาของเจ้าหญิงทรงศรัทธาในนิกายลูเทอแรนของเยอรมัน จึงทรงต่อต้านการเปลี่ยนไปเข้ารีตอีสเติร์นออร์ทอดอกซ์ของธิดา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้เป็นพระบิดา แต่ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1744 ทางโบสถ์ออรทอดอกซ์รัสเซียก็ได้รับเอาเจ้าหญิงโซเฟียเข้ารีตด้วยพระนามใหม่ว่า เยกาเจรีนา และชื่อที่ตั้งตามบิดาใหม่ว่า "อะเลคเซยีฟนา" (รัสเซีย: Алексеевна; ธิดาผู้ประสูติแด่อะเลคเซย์) วันถัดมาพระราชพิธีหมั้นอย่างเป็นทางการก็เกิดขึ้น ในที่สุดแผนการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์อันยาวนานก็เกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1745 ณ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในช่วงที่เจ้าหญิงโซฟีมีพระชนมายุครบสิบหกพรรษา ด้านพระบิดามิได้เสด็จมายังรัสเซียเพื่อร่วมพระราชพิธี เจ้าบ่าวผู้ซึ่งในขณะนั้นมีนามว่าเจ้าชายเพเทอร์แห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนีใกล้กับพรมแดนเดนมาร์ก) ในปี ค.ศ. 1739

ในตอนที่พระนางระลึกถึงตนเองในความทรงจำ ทันทีที่เสด็จถึงรัสเซียพระนางประชวรด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบซึ่งเกือบจะทำให้พระนางสิ้นพระชนม์ ทรงดำริว่าการรอดพระชนม์ครั้งนี้ทรงเป็นหนี้บุญคุณของการถ่ายพระโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ในหนึ่งวันทรงทำการถ่ายพระโลหิตถึงสี่ครั้งด้วยกัน พระมารดาของพระนางผู้ซึ่งต่อต้านวิธีการรักษาเช่นนี้กลายเป็นผู้ที่พระจักรพรรดินีนาถไม่โปรดปราน ในช่วงที่พระอาการประชวรของเจ้าหญิงทรุดหนักจนดูน่าสิ้นหวัง พระมารดาก็ทรงประสงค์จะให้เจ้าหญิงเข้าสารภาพบาปกับพระในนิกายลูเทอแรน หากแต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงทรงตื่นขึ้นจากพระอาการหมดสติและดำริว่า "เราไม่ต้องการพระลูเทอแรนใด, เราต้องการพระบิดาออร์ทอดอกซ์ของเรา" และเหตุการณ์นี้ก็ได้ยกระดับพระสถานะของเจ้าหญิงในพระราชหฤทัยของจักรพรรดินีนาถ

คู่เสกสมรสใหม่เข้าพำนักในพระราชวัง ณ พระราชวังอารานีเยนบาม ซึ่งกลายเป็นรโหฐานสำหรับ "เยาวราชนิกุล" ทั้งสองสืบเนื่องต่อมาหลายปี

เคาท์อันเดร ซูวาลอฟ มหาดเล็กส่วนพระองค์ของพระนางเยกาเจรีนา ผู้ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับเจมส์ บอสเวลล์ พนักงานจดบันทึกส่วนพระองค์เป็นอย่างดี และบอสเวลล์รายงานว่าซูวาลอฟเป็นผู้ให้ข้อมูลลับเกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนัก มีข่าวลือหลุดออกมาเช่นว่าเจ้าชายปีเตอร์ทรงได้รับการปรนนิบัติจากโสเภณีชั้นสูงนางหนึ่ง (เยลีซาเวตา วอรอนสวา) ในขณะที่เจ้าหญิงเยกาเจรีนามีพระสัมพันธ์แนบชิดกับเซียร์เกย์ ซัลตีคอฟ, กรีกอรี กรีกอร์เยวิช ออร์ลอฟ (ค.ศ. 1734 – 1783), สตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี, อะเลคซันดร์ วาซิลกิคอฟ และอื่นๆ เจ้าหญิงมีพระสหายใหม่เป็นเจ้าหญิงเยกาเจรีนา โรมานอฟนา วารอนสวา-ดัชโกวา ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของเยลิซาเวตา วอรอนสวา เยกาเจรีนาได้นำพาเจ้าหญิงเข้าสู่กลุ่มอำนาจทางการเมืองซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าชายปีเตอร์หลากหลายกลุ่ม พระจริยวัตรของปีเตอร์ที่หุนหันพลันแล่นชวนให้รู้สึกเหลืออดเหลือทนสำหรับผู้ที่พำนักอยู่ในพระราชวัง ปีเตอร์ทรงประกาศว่าจะฝึกซ้อมเหล่าข้าราชบริพารชายในช่วงเช้า ก่อนที่จะทรงประสงค์ให้เข้าร่วมการเต้นรำร้องเพลงในห้องส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงเยกาเจรีนาในยามวิกาล[5] ต่อมาเจ้าหญิงเยกาเจรีนาทรงให้ประสูติกาลแก่พระธิดาองค์ที่สองนามว่าอันนา แต่พระธิดาองค์น้อยกลับมีพระชนม์ชีพต่อมาได้เพียงสี่เดือนก็สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1759 สืบเนื่องจากข่าวลือของเจ้าหญิงกับบุรุษมากมาย เจ้าชายปีเตอร์ถูกชักนำให้ทรงเชื่อว่าพระองค์มิใช่พระบิดาที่แท้จริงของอันนา และได้ทรงประกาศไว้ว่าจะมิทรงรับอันนาว่าเป็นเชื้อพระโลหิตของพระองค์ เจ้าหญิงทรงกล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาของปีเตอร์อย่างโกรธกริ้วว่า "จงไปสู่ขุมมารนรกเถิด!" ด้วยเหตุนี้พระนางจึงทรงใช้เวลาส่วนมากประทับอยู่แต่ในห้องส่วนพระองค์เพื่อหลีกหนีจากท่าทางขูดลอกของเจ้าชายปีเตอร์และกลยุทธย์ด้านพิชัยสงครามอันย่ำแย่[6]

ช่วงเวลาก่อนที่พระนางจะขึ้นเสวยราชบัลลังก์รัสเซีย พระนางมีดำริไว้ว่า "ความสุขและความทุกข์ล้วนแล้วแต่สถิตย์อยู่ในหทัยของพวกเราทุกผู้ทุกคน: หากเจ้ารู้สึกเป็นทุกข์ จงละตัวเจ้าไว้เหนือความทุกข์นั้น และทำตนราวกับว่าความสุขของเจ้ามิได้ขึ้นอยู่กับเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง"[7]

รัชสมัยจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 และการรัฐประหาร[แก้]

จักรพรรดิปิออตร์ที่ 3 ขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงหกเดือนก็ทรงถูกรัฐประหาร เสด็จสวรรคต ณ วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1762

ภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดินีนาถเยลีซาเวตาในวันที่ 5 มกราคม [ตามปฎิทินเก่า: 25 ธันวาคม ค.ศ. 1761] ค.ศ. 1762 แกรนด์ดยุคปีเตอร์แห่งฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ ก็ขึ้นเสวยราชบัลลังก์รัสเซียเป็นจักรพรรดิปิออตร์ที่ 3 และเยกาเจรีนาขึ้นเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์แปรพระราชฐานไปพำนัก ณ พระราชวังฤดูหนาว, กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก

พระจริยวัตรและพระราโชบายของจักรพรรดิองค์ใหม่ถูกมองว่าแปลกพิลึก เช่น ความนิยมเทิดทูนต่อพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ซึ่งผิดแปลกไปจากที่พระนางเยกาเจรีนาทรงได้รับการปลูกฝังมา นอกจากนี้จักรพรรดิยังทรงทำการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างดัชชีแห่งฮ็อลชไตน์ของพระองค์กับเดนมาร์กในเรื่องการแย่งดินแดนดัชชีแห่งชเลสวิช

มีทฤษฎีกล่าวว่าในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1762 พระนางเยกาเจรีนาต้องทรงลุกจากพระบรรทมกะทันหันและทรงได้รับข่าวว่าหนึ่งในผู้สบคบคิดการกบฏของพระนางถูกจับโดยพระราชสวามีผู้เหินห่าง และทรงได้รับคำชี้แนะว่าแผนการกบฏจำเป็นต้องดำเนินการโดยทันที พระนางเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระราชวังที่ประทับไปยังกรมทหารอิสมาอีลอฟสกี ที่ซึ่งทรงกล่าวต่อคณะนายทหารให้ช่วยปกป้องพระนางจากจักรพรรดิผู้เป็นพระราชสวามี จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกองทหารไปยังค่ายซีเมนอฟสกีที่ซึ่งคณะนักบวชรอคอยพระนางอยู่แล้ว คณะนักบวชได้ทำพิธีสถาปนาเยกาเจรีนาขึ้นเป็นผู้ครองราชบัลลังก์รัสเซียแต่เพียงผู้เดียว พระนางบัญชาให้เข้าจับกุมตัวจักรพรรดิปีเตอร์มาลงพระนามาภิไธยในเอกสารการสละราชสมบัติเพื่อไม่ให้มีข้อกังขาเรื่องสิทธิ์อันชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของพระนาง ไม่นานหลังจากถูกจับกุม อดีตจักรพรรดิถูกประหารชีวิตด้วยการรัดคอโดยราชองครักษ์ส่วนพระองค์ มีการคาดการณ์ว่าการประหารนี้เป็นพระราชโองการของพระนางเยกาเจรีนา ซึ่งยังไม่มีหลักฐานได้ใช้อ้างอิงทฤษฎีนี้ได้อย่างสมบูรณ์[8][9]

รัสเซียและปรัสเซียเข้าประหัตประหารกันในสงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756 – 1763) จนกระทั่งจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงยืนกรานที่จะสนับสนุนพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ทอดพระเนตรการเข้ายึดกรุงเบอร์ลินของกองทัพรัสเซียในปี ค.ศ. 1760 แต่บัดนี้ทรงชี้แนะว่ารัสเซียและปรัสเซียควรมีการปักปันพื้นที่ของโปแลนด์ร่วมกัน ทำให้แรงสนับสนุนพระองค์จากเหล่าขุนนางลดลงไปมาก

ภาพวาดแกรนด์ดัชเชสเยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา ขณะทรงม้า

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1762 เป็นเวลาเพียงหกเดือนที่จักรพรรดิปีเตอร์ทรงก่อความผิดพลาดทางการเมืองไว้แล้วเสด็จหลีกหนีจากข้าราชบริพารและพระญาติจากฮ็อลชไตน์ไปยังพระราชวังอารานีเยนบาม พระมเหสีเยกาเจรีนาเองก็ทรงละไว้เบื้องหลัง ณ กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในวันที่ 8 และ 9 กรกฎาคม ราชองครักษ์แห่งราชสำนักรัสเซียก่อนการกบฏ ขับจักรพรรดิออกจากราชบัลลังก์ และราชาภิเษกแกรนด์ดัชเชสพระมเหสีขึ้นเป็นจักรพรรดินีนาถ การรัฐประหารปราศจากการหลั่งเลือดครั้งนี้จึงสำเร็จลุล่วง

วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1762 เพียงแปดวันหลังจากการรัฐประหารและหกเดือนหลังจากขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 เสด็จสวรรคต ณ พระราชวังร็อบชา ด้วยน้ำมือของอะเลคเซย์ ออร์ลอฟ (น้องชายของกริกอรี ออร์ลอฟ นายทหารคนโปรดของพระจักรพรรดินีนาถและผู้ร่วมก่อการรัฐประหาร) นักประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐานถึงการมีส่วนร่วมในการปลงพระชนม์ครั้งนี้ของพระนางเจ้าเยกาเจรีนา[10] นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีผู้อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์อื่นด้วยนั่นคือ อดีตจักรพรรดิอีวานที่ 6 (ค.ศ. 1740 – 1764) ซึ่งถูกจองจำอยู่ ณ คุกชลึสเซลเบิร์กกลางทะเลสาบลาโดกาตั้งแต่มีพระชนมายุ 6 พรรษา และเจ้าหญิงทาราคานอวา (ค.ศ. 1753 – 1775) อีวานที่ 6 ถูกปลงพระชนม์ระหว่างความพยายามในการปลดปล่อยพระองค์โดยฝ่ายกบฏต่อต้านพระนางเจ้าเยกาเจรีนาซึ่งต่อมาประสบความล้มเหลว เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าองค์พระจักรพรรดินีนาถทรงมีรับสั่งอย่างเข้มงวดให้ปลงพระชนม์พระบรมวงศ์องค์ใดก็ตามที่ตกเป็นเฉลยฝ่ายต่อต้านพระนาง ดังนั้นความบริสุทธิ์ของพระนางจากการปลงพระชนม์อีวานที่ 6 นี้จึงยังเป็นที่กังขา (อีวานที่ 6 ทรงเคยถูกมองว่าวิกลจริตเพราะถูกคุมขังอย่างโดดเดียวเป็นเวลาหลายปี หลายฝ่ายจึงเกรงว่าอาจไม่เหมาะที่จะขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง แม้จะสามารถให้ขึ้นเป็นเพียงแค่ประมุขโดยไร้ซึ่งพระราชอำนาจก็ตาม)

แม้ว่าพระนางเยกาเจรีนาจะมิได้สืบเชื้อพระโลหิตจากจักรพรรดิรัสเซียองค์ก่อนพระองค์ใดเลย และสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชสวามีในฐานะพระจักรพรรดินีนาถ โดยรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับจักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 1 มาแล้ว ซึ่งพระองค์ประสูติเป็นสตรีจากชนชั้นแรงงานในดินแดนฝั่งทะเลบอลติกตะวันออกของสวีเดน แล้วได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชผู้เป็นพระสวามีในปี ค.ศ. 1725

นักประวัติศาสตร์พากันถกเถียงถึงพระราชฐานะทางเทคนิคของพระนางเจ้าเยกาเจรีนาว่าทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนหรือผู้ช่วงชิงพระราชอำนาจ ในช่วง ค.ศ. 1770 - 1779 กลุ่มขุนนางผู้สนิทชิดเชื้อกับพระราชโอรสของพระนาง แกรนด์ดยุคพอล (นิกิตา ปายิน และคณะของเขา) เคยพิจารณาที่จะก่อรัฐประหารล้มราชบัลลังก์พระนางเยกาเจรีนาแล้วราชาภิเษกแกรนด์ดยุคพอลขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ ซึ่งวาดฝันให้จักรพรรดิองค์ใหม่อยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[11] อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง และพระนางเจ้าเยกาเจรีนาครองราชสมบัติจวบจนพระองค์เสด็จสวรรคต

ครองราชย์[แก้]

พระปรมาธิไภยย่อ

การต่างประเทศ[แก้]

ระหว่างที่ทรงครองราชย์ พระองค์ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตรัสเซียออกไปทางทิศใต้และตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยการยึดรวมเอาโนโวรอสซิยา (รัสเซียใหม่), ไครเมีย, คอเคซัสตอนเหนือ, ยูเครนฝั่งตะวันออก, เบลารุส, ลิทัวเนีย และคูร์แลนด์ โดยที่ดินแดนเหล่านี้ส่วนมากเคยเป็นดินแดนของสองชาติหลักๆ คือ จักรวรรดิออตโตมัน และเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ที่ต่างก็กล่าวว่าพระนางได้ผนวกดินแดนเข้าสู่จักรวรรดิของพระนางกว่า 520,000 ตารางกิโลเมตร

รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของพระนางนามว่า นิกิตา อีวาโนวิช ปายิน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1779 – 1781) เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินพระราชหฤทัยในราชการของพระนางเจ้าแคทเธอรีนตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว รัฐบุรุษผู้ฉลาดหลักแหลมผู้นี้ทุ่มเทแรงกายและทรัพย์สินหลายล้านรูเบิลไปกับการก่อตั้ง ข้อตกลงเหนือ (Northern Accord) ระหว่างรัสเซีย, ปรัสเซีย, โปแลนด์ และสวีเดน เพื่อเป็นการตอบโต้อิทธิพลจากสัมพันธภาพระหว่างราชวงศ์บูร์บงฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออสเตรีย ต่อมาเมื่อความพยายามครั้งนี้ของเขาประสบความล้มเหลว พระนางเจ้าเยกาเจรีนาก็ลดบทบาทและความสนพระราชหฤทัยในตัวของปายินลง ซึ่งพระนางแทนที่เขาด้วยอีวาน ออสเตียร์มัน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1781 – 1797)

พระนางเจ้าทรงเห็นชอบสนธิสัญญาการค้ากับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในปี ค.ศ. 1766 แต่ทรงล้มเลิกการเป็นพันธมิตรทางการทหารต่อกัน[12] แม้ว่าจะทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรของอังกฤษ แต่ก็ทรงระมัดระวังอำนาจทางการเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้นของอังกฤษจากชัยชนะในสงครามเจ็ดปี ซึ่งสั่นคลอนดุลยภาพแห่งอำนาจของชาติในทวีปยุโรป

สงครามรัสเซีย-ตุรกี[แก้]

ภาพวาดขณะทรงม้าในฉลองพระองค์เครื่องแบบกรมทหารเปรโอบราเซนสกี

ใขณะที่จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชทรงทำสงครามได้รับดินแดนเพียงบางส่วนทางตอนใต้ที่ติดกับทะเลดำในการบุกอาซอฟ พระนางเยกาเจรีนาทรงประสบผลสำเร็จในการยึดครองดินแดนทางตอนใต้ ทำให้รัสเซียยกสถานะของตนเป็นชาติมหาอำนาจหลักในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้จากการทำสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่หนึ่งกับจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นการพ่ายแพ้มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตุรกี เช่นใน สมรภูมิเชสมา (5 – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1770) และ สมรภูมิคากูล (21 กรกฎาคม ค.ศ. 1770)

ชัยชนะของรัสเซียในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลสามารถเปิดชายแดนเข้าไปยังทะเลดำและสามารถไปยึดเอาบริเวณที่ปัจจุบันเป็นตอนใต้ของยูเครนได้ ซึ่ง ณ ที่นั้นเองที่รัสเซียตั้งเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า โอเดสซา, นีโคลาเยฟ, เยกาเจรีโนสลาฟ (แปลตรงว่า "เกียรติยศแห่งเยกาเจรีนา" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ดนีโปรเปตรอฟสค์) และเคอร์สัน ต่อมาสนธิสัญญาคูชุคไคนาร์จีถูกลงนามในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1774 ทำให้รัสเซียได้ดินแดนจากออตโตมันเพิ่มเติม สนธิสัญญายังอนุญาตให้รัสเซียสามารถเดินเรือทั้งพลเรือและทหารในทะเลอะซอฟได้ และยังตั้งให้รัสเซียเป็นผู้ปกป้องชาวคริสต์อีสเติร์นออร์ทอด็อกซ์ในจักรวรรดิออตโตมัน การทำสนธิสัญญาในครั้งนี้ยังรวมเอาไครเมียมาเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซียอีกด้วย

พระนางเยกาเจรีนาผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียในปี ค.ศ. 1783 เป็นเวลาเก้าปีหลังจากที่อาณาจักรข่านไครเมียได้รับเอกราชบางส่วนจากออตโตมัน ซึ่งเป็นผลมากจากการที่รัสเซียสามารถทำสงครามเอาชนะพวกเติร์กในสงครามรัสเซีย-ตุรกีได้ พระราชวังหลวงของข่านตกเป็นของชาวรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1786 พระนางเยกาเจรีนาได้ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมชัยชนะขึ้นในไครเมียซึ่งกระตุ้นให้เกิดสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สองตามมา

จักรวรรดิออตโตมันเริ่มสงครามกับรัสเซียอีกครั้งในสงครามรัสเซีย-ตุรกีครั้งที่สอง (ค.ศ. 1787 - 1792) และจบลงด้วยสนธิสัญญาจาสซี (ค.ศ. 1792) ซึ่งให้สิทธิ์โดยธรรมแก่รัสเซียในการปกครองไครเมียและภูมิภาคเยดิซาน ทำให้แม่น้ำนีสเตอร์กลายเป็นพรมแดนระหว่างสองจักรวรรดิ

ความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตก[แก้]

ภาพการ์ตูนล้อเลียนในปี ค.ศ. 1781 วาดโดยชาวอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างพระนางเยกาเจรีนา (ด้านขวาของภาพ, ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรียและฝรั่งเศส) กับตุรกี

พระนางเยกาเจรีนาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประมุขผู้ทรงภูมิธรรมมาอย่างยาวนาน พระองค์ทรงนำรัสเซียเข้าสู่บทบาทผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจจะหรือได้นำไปสู่การทำสงครามแล้ว และบทบาทนี้เองที่อังกฤษได้ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระองค์ทรงวางจนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในสงครามสืบราชบัลลังก์บาวาเรีย (ค.ศ. 1778 - 1779) ระหว่างรัฐเยอรมันปรัสเซียกับออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1780 พระองค์ทรงสถาปนาสันนิบาตกองกำลังไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (League of Armed Neutrality) เพื่อใช้เป็นกองกำลังให้ความคุ้มครองเรือสินค้าที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจากราชนาวีอังกฤษในช่วงระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกัน

ช่วงปี ค.ศ. 1788 - 1790 รัสเซียทำสงครามรัสเซีย-สวีเดน สงครามครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่พระญาติของพระนางเยกาเจรีนา พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน ผู้ที่ทรงคาดการณ์ว่าจะสามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้โดยง่าย ยังทรงเกี่ยวข้องอยู่กับการทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันและหวังว่าจะทรงสามารถบุกโจมตีกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กได้โดยตรง แต่กองทัพเรือรัสเซียในน่านน้ำทะเลบอลติกก็สามารถเอาชนะกองทัพเรือสวีเดนได้ในสมรภูมิฮอกแลนด์ ค.ศ. 1788 กองทัพสวีเดนจึงประสบความล้มเหลวในการบุก เดนมาร์กประกาศสงครามต่อสวีเดนในปีเดียวกัน (สงครามเธียเตอร์) ภายหลังได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพเรอรัสเซีย ณ สมรภูมิสเวนสกุนด์ในปี ค.ศ. 1790 คู่สงครามได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาเวเรเล (14 สิงหาคม ค.ศ. 1790) ซึ่งคืนดินแดนที่สามารถยึดมาได้ทั้งหมดแก่เจ้าของเดิมและเป็นเครื่องยืนยันสนธิสัญญาเตอร์คู สันติภาพเกิดขึ้นเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1792

การปักปันโปแลนด์[แก้]

จักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2 โดยโยฮัน บัปติสต์ ฟอน ลัมปิ ผู้อาวุโส

ในปี ค.ศ. 1764 พระนางทรงเลือกสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี อดีตคนรักของพระองค์ ขึ้นครองราชบัลลังก์โปแลนด์ แม้ว่าแนวคิดการปักปันโปแลนด์นี้จะถูกริเริ่มโดยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย แต่พระนางเยกาเจรีนาก็ทรงรับบทบาทหลักในการแบ่งส่วนดินแดนนี้ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1790 ในปี ค.ศ. 1768 พระองค์ทรงเฉลิมพระอิสริยยศเป็นองค์อธิปัตย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดกบฏสหพันธ์บาร์ (Bar Confederation; ค.ศ. 1768 - 1772) ซึ่งเป็นความเกลียดชังและการลุกฮือต่อต้านรัสเซียในโปแลนด์ ต่อมาทรงปราบปรามและบดขยี้กลุ่มกบฏแล้วทรงบีบบังคับให้โปแลนด์-ลิทัวเนียกลับมาใช้ระบอบเครือจักรภพ (Rzeczpospolita) ซึ่งทำให้รัฐบาลโปแลนด์ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จโดยจักรวรรดิรัสเซียผ่านทางคณะมนตรีถาวรภายใต้การกำกับดูแลของเอกอัครราชทูตและราชทูตส่วนพระองค์

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 พระองค์ทรงปฏิเสธแนวคิดและหลักการมากมายจากยุคเรืองปัญญาซึ่งครั้งหนึ่งทรงโปรดปราน ทรงเกรงว่ารัฐธรรมนูญแห่งโปแลนด์ (ค.ศ. 1792) อาจจะนำไปสู่การฟื้นคืนอำนาจของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย นอกจากนี้ยังทรงเกรงอีกว่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นนี้จะกลายมาเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงของระบอบกษัตริย์ในทวีปยุโรป พระองค์จึงทรงเข้าแทรกแซงโปแลนด์โดยให้การสนับสนุนกลุ่มชาวโปแลนด์ที่ต่อต้านการปฏิรูปที่เรียกว่า สมาพันธ์ทาร์กอวิซา (Targowica Confederation) ต่อมารัสเซียได้ปราบปรามกลุ่มผู้ภักดีต่อโปแลนด์-ลิทัวเนียในเหตุการณ์การลุกฮือโคสซิอุสซ์โค ค.ศ. 1794 ทำให้รัสเซียสามารถเข้าปักปันโปแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์ และแบ่งแยกดินแดนของเครือจักรภพร่วมกับปรัสเซียและออสเตรียในปี ค.ศ. 1795

ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น[แก้]

ในภาคตะวันออกไกล รัสเซียกระตือรือร้นอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องขนสัตว์บนคาบสมุทรคัมชัตคาและบนเกาะคูริล กระตุ้นให้รัสเซียมีความสนใจในการค้าในทางใต้กับญี่ปุ่นเพื่อสรรหาวัตถุดิบและอาหาร ในปี ค.ศ. 1783 พายุได้พัดเรือของกัปตันไดโคคุยะ โคดะยู ล่มในทะเลจนเขาลอยมาขึ้นฝั่งบนเกาะอะลูเชียนซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นดินแดนของรัสเซีย ทางการท้องถิ่นของรัสเซียช่วยไดโคคุยะและคณะของเขาไว้ รัฐบาลรัสเซียจึงตัดสินใจใช้เขาเป็นราชทูตติดต่อทำการค้ากับญี่ปุ่น ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1791 พระนางเยกาเจรีนาพระราชทานโอกาสให้ไดโคคุยะเข้าเฝ้า ณ พระราชวังทีซาร์สกี ซีโล (Tsarskoye Selo) ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 รัฐบาลรัสเซียส่งคณะทูตไปเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นภายใต้การนำของอดัม แลกซ์แมน รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะให้การตอนรับคณะทูตแต่การเจรจาประสบความล้มเหลว

การธนาคารและการเงิน[แก้]

ในปี ค.ศ. 1768 ธนาคารแอสไซเนชัน (Assignation Bank) ได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์ธนบัตรรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก ธนาคารเปิดทำการที่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและมอสโกในปี ค.ศ. 1768 หลังจากนั้นจึงขยายไปตามเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิ การพิมพ์ธนบัตรนี้ถูกจัดทำขึ้นจากค่าใช้จ่ายในราคาเดียวกับธนบัตรโดยถูกชำระในรูปของเงินตราที่ทำมาจากทองแดง การเกิดขึ้นของธนบัตรรูเบิลในลักษณะนี้มีความจำเป็นอย่างมากต่อรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหาร ซึ่งนำมาสู่การคลาดแคลนโลหะเงินในท้องพระคลังหลวง เพราะการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการค้ากับต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เงินตราในรูปของโลหะเงินและโลหะทองคำเกือบทั้งหมด ธนบัตรรูเบิลจึงถูกใช้งานอย่างทัดเทียมกับรูเบิลที่เป็นโลหะเงิน นอกจากนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องสำหรับเงินทั้งสองรูปแบบอีกด้วย ธนบัตรรูเบิลประเภทนี้ถูกใช้งานไปจนถึงปี ค.ศ. 1849

ศิลปะและวัฒนธรรม[แก้]

พระนางเยกาเจรีนามีพระเกียรติยศอย่างมากจากการทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วงการศิลปะ, วรรณกรรม และการศึกษา พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจ ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของพระราชวังฤดูหนาว, เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เป็นอาคารจัดแสดง ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการสะสมผลงานศิลปะส่วนพระองค์ แล้วด้วยการยุยงส่งเสริมของก้นกุฏิคนคนสนิท พระนางได้พระราชนิพนธ์ตำราเรียนพระราชทานให้ใช้สำหรับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน ซึ่งพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดของนักปรัชญานามว่า จอห์น ล็อก เป็นหลัก และยังทรงสถาปนาสถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) อันโด่งดังในปี ค.ศ. 1764 ขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เหล่าธิดาของขุนนางอีกด้วย

พระนางพระราชนิพนธ์บันเทิงคดี, นวนิยาย และบันทึกความจำไว้มากมาย ในขณะเดียวกันก็ทรงปลูกฝังแนวคิดของวอลแตร์, ดีเดอโร และดาล็องแบร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นนักประพันธ์สารานุกรม (Encyclopédist) ชาวฝรั่งเศสผู้ปะติดปะต่อพระเกียรติยศของพระนางในเวลาต่อมา ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในยุคสมัยนั้น เช่น อาร์เธอร์ ยัง และ ฌักส์ เน็กแกร์ ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชาวต่างประเทศในสมาคมเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Society) ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากพระราชดำริของพระนางในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ค.ศ. 1765 และพระนางยังได้ทรงเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์อย่าง เลออนฮาร์ด ออยเลอร์, ปีเตอร์ ซีมอน พาลลัส จากเบอร์ลิน และ อันเดอร์ส โจวัน เลกเซลล์ จากสวีเดน มาสู่เมืองหลวงของรัสเซีย

พระนางยังทรงมีความสนิทสนมกับวอลแตร์ ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 15 ปี นับตั้งแต่ที่พระนางแคทเธอรีนเสด็จขึ้นครองราชย์ไปจนถึงการถึงแก่อสัญกรรมของวอลแตร์ในปี ค.ศ. 1778 วอลแตร์สรรเสริญพระนางว่าทรงเป็น "ดวงดาราแห่งทิศอุดร" และ "พระนางเซมิรามิสแห่งรัสเซีย" (เป็นการอ้างถึงพระนางเซมิรามิส กษัตรีย์แห่งบาบิโลเนียในตำนาน ซึ่งวอลแตร์ได้ตีพิมพ์เรื่องราวโศกนาฏกรรมของพระนางในปี ค.ศ. 1768) และแม้ว่าวอลแตร์จะมิเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระนางเยกาเจรีนาแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อทรงทราบข่าวการถึงแก่กรรมของเขา พระนางเยกาเจรีนาก็ทรงรู้สึกอาลัยอย่างขมขื่น ทรงได้รับชุดหนังสือสะสมของวอลแตร์มาจากทายาทของเขา แล้วมีพระราชประสงค์ให้เก็บหนังสือเหล่านั้นไว้ในหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย

เป็นเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1762 พระนางเยกาเจรีนาทรงทราบข่าวการคุกคามของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะให้มีการหยุดตีพิมพ์ "อองซีโกลเปดี" อันโด่งดังด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหานอกศาสนา พระนางจึงมีพระราชประสงค์ให้ดีเดอโรมาพำนักและประพันธ์งานของเขาในรัสเซีย ภายใต้การปกป้องของพระนาง

สี่ปีถัดมาในปี ค.ศ. 1766 พระนางทรงพยายามที่จะก่อตั้งสภานิติบัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดแห่งยุคเรืองปัญญาที่ทรงศึกษามาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ทรงเรียกที่ประชุม ณ กรุงมอสโก โดยองค์รวมว่า "คณะกรรมาธิการใหญ่" ซึ่งเปรียบเสมือนกับรัฐสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ประกอบไปด้วยสมาชิก 652 คนจากทุกชนชั้น (ข้าราชการ, ขุนนาง, กระฎุมพี และชาวนา) และจากนานาประเทศ คณะกรรมาธิการใหญ่นี้มีหน้าที่พิจารณาถึงสิ่งที่จักรวรรดิรัสเซียต้องการและสิ่งที่สนองความต้องการนั้น พระจักรพรรดินีนาถทรงตระเตรียม "ข้อแนะนำสำหรับแนวทางแห่งที่ประชุม" (นาคาซ) ซึ่งช่วงชิง (ทรงยอมรับอย่างตรงไปตรงมา) เอานักปรัชญาจากยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะมงแต็สกีเยอ และซีจักรพรรดิ เบ็คคาเรีย

เนื่องด้วยหลักการทางประชาธิปไตยทำให้ที่ปรึกษาผู้สุขุมและมีประสบการณ์กว่าของพระองค์เกรงกลัว พระนางเลี่ยงที่จะประกาศบังคับใช้แนวคิดต่างๆ ในทันที และภายหลังที่เหนี่ยวรั้งญัตติการประชุมมากกว่า 200 ครั้ง คณะกรรมาธิการใหญ่ก็ยุบสลายลงไปโดยปริยาย มิได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกเหนือไปจากการเป็นรัฐบาลที่เพ้อฝันแต่ในทฤษฎีต่างๆ

ภาพการเปิดทำการของศิลป์สมาคมแห่งรัสเซีย โดย วาเลรี จาคอบี

แม้กระนั้นก็ตาม พระนางทรงเริ่มออกราชบัญญัติลงในนาคาซของพระองค์เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในปี ค.ศ. 1775 ทรงออกธรรมนูญว่าด้วยการปกครองส่วนจังหวัดแห่งจักรวรรดิรัสเซีย ธรรมนูญนี้เป็นความพยายามที่จะปกครองรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเพิ่มจำนวนประชากรและแบ่งแยกจักรวรรดิออกเป็นจังหวัดและเขตต่างๆ ในช่วงท้ายของการครองราชย์ จักรวรรดิรัสเซียมีจังหวัดต่างๆ 50 จังหวัด และเขตต่างๆ เกือบ 500 เขต ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของจำนวนข้าราชการของประเทศ และใช้จ่ายงบประมาณมากกว่ารัฐบาลท้องถื่นแบบก่อนหน้าถึง 6 เท่า ในปี ค.ศ. 1785 ทรงหารือกับขุนนางเกี่ยวกับการพระราชทานกฏบัตรแก่ขุนนางเพื่อเพิ่มอำนาจและอิทธิพลของเจ้าของที่ดิน ซึ่งขุนนางในแต่และเขตจะทำการเลือกหัวหน้าคณะขุนนางในนามของจักรพรรดินีนาถ รับผิดชอบเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเป็นกังวลโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในปีเดียวกันนั้น พระนางทรงออกกฏบัตรแห่งเมือง ซึ่งเป็นการจำแนกประชาชนออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อจำกัดอำนาจของขุนนางและเพิ่มพูนชนชั้นกลาง นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1781, ยังทรงออกราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือสินค้าและราชบัญญัติว่าดวยการค้าเกลือ, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการตำรวจ ค.ศ. 1782 และธรรมนูญว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ค.ศ. 1786 ในปี ค.ศ. 1777 พระนางทรงอธิบายกับวอลแตร์ว่านวัตกรรมทางกฎหมายของพระนางภายในจักรวรรดิรัสเซียอันล้าหลังนั้นดำเนินไปแบบ "ทีละเล็กทีละน้อย"

ระหว่างรัชสมัยของพระองค์ ชาวรัสเซียศึกษาและรับเอาอิทธิพลยุคคลาสสิกและอิทธิพลยุโรปซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย กา-วริลา เดร์ชาวิน, เดนิส ฟอนวิซิน และอิปปอลิต บอกดานอวิช ได้วางรากฐานให้แก่เหล่านักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะสำหรับ อเลคซันดร์ พุชกิน ต่อมาพระนางเยกาเจรีนาได้ทรงกลายเป็นผู้อุปถัมภ์องค์สำคัญของวงการอุปรากรรัสเซีย

ต่อมาเมื่ออะเลคซันดร์ ราดิชเชฟ ตีพิมพ์หนังสือ การเดินทางจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์กสู่มอสโก ในปี ค.ศ. 1790 (หนึ่งปีหลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส) และกล่าวเตือนถึงการก่อจลาจลจากสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมอันน่าสังเวชของเหล่าชาวนาที่ตกเป็นข้าติดที่ดิน พระนางเยกาเจรีนาจึงทรงเนรเทศเขาไปยังไซบีเรีย

การศึกษา[แก้]

เยกาเจรีนา วอรอนสโตวา-ดาชโกวา พระสหายคนสนิทและบุคคลสำคัญจากยุคเรืองปัญญาของรัสเซีย

พระนางเยกาเจรีนาทรงรับเอาปรัชญาและวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกไว้แนบพระราชหฤทัย และประสงค์จะให้ในรัสเซียมีบุคคลที่มีแนวความคิดเดียวกับพระองค์รายล้อมอยู่รอบพระวรกาย[13] ทรงเชื่อว่าจะสร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' (new kind of people) ขึ้นมาได้ด้วยการปลูกฝังเยาวชนชาวรัสเซียตามแบบการศึกษาของยุโรป ทรงเชื่ออีกว่า ด้วยการศึกษาแบบนี้จะช่วยเปลี่ยนทั้งจิตและใจของชาวรัสเซียให้ห่างไกลจากความล้าหลัง ซึ่งก็หมายถึงการพัฒนาในแต่ละปัจเจกชนทั้งทางด้านสติปัญญาและคุณธรรม, มอบทั้งความรู้และทักษะควบคู่กัน รวมไปถึงการปลูกฝังความมีจิตสาธารณะ[14]

พระนางทรงแต่งตั้ง อีวาน เบตสกอย เป็นที่ปรึกษาพระราชกิจด้านการศึกษา[15] ทรงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาในรัสเซียและประเทศอื่นๆ ผ่านทางอิวาน และยังทรงตั้งคณะกรรมาธิการอันประกอบไปด้วย ที.เอ็น. เทปลอฟ, ที. คอน คลิงสเตดต์, เอฟ.จี. ดิลธี และนักประวัติศาสตร์ จี. มุลเลอร์ ทรงปรึกษาหารือกับนักบุกเบิกทางการศึกษาชาวอังกฤษ โดยเฉพาะสาธุคุณแดเนียล ดูมาเรสก์ และ ดร. จอห์น บราวน์[16] ในปี ค.ศ. 1764 พระนางทรงเชิญสาธุคุณแดเนียลมายังรัสเซียแล้วทรงแต่งตั้งเขาเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา คณะกรรมาธิการนี้ศึกษาถึงโครงการปฏิรูปที่ริเริ่มโดย ไอ.ไอ. ชูวาลอฟ ในรัชสมัยพระนางเจ้าเยลีซาเวตาและจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 จากนั้นจึงส่งร่างคำแนะนำให้จัดตั้งระบบการศึกษาทั่วไปสำหรับชาวรัสเซียนิกายออร์โธด็อกซ์วัย 5 ถึง 18 ปี ยกเว้นกลุ่มทาสที่ไม่ถูกรวมเข้าไปด้วย[17] อย่างไรก็ตาม ร่างคำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นผลขึ้นจริงเนื่องจากคณะกรรมาธิการนิติบัญญัติขัดขว้างไว้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1765 สาธุคุณแดเนียลเขียนจดหมายถึง ดร. จอห์น บราวน์ เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาของคณะกรรมาธิการฯ และได้รับจดหมายตอบอันยาวเหยียดกลับมา จดหมายมีใจความถึงคำแนะนำอย่างคร่าวๆ และทั่วไปมากๆ สำหรับการปฏิรูปการศึกษาและสังคมในรัสเซีย ดร. จอห์น บราวน์ โต้แย้งว่าในประเทศประชาธิปไตย การศึกษาควรจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ข้อกำหนด ดร. จอห์นยังเน้นย้ำเป็นอย่างมากถึงความสำคัญของ "การศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับสตรีเพศ"; สองปีถัดมา พระนางเจ้าเยกาเจรีนาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อีวาน เบตสกอยร่าง "ระเบียบวาระทั่วไปสำหรับการศึกษาของเยาวชนทั้งสองเพศ" ขึ้นมา[18]ซึ่งระเบียบวาระฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการสรรค์สร้าง 'บุคคลกลุ่มใหม่' ซึ่งจะถูกเลี้ยงดูให้ห่างไกลจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมอันล้าหลังของรัสเซีย[19] การจัดตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามอสโก (บ้านเด็กกำพร้ามอสโก) เป็นความพยายามแรกที่จะผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เริ่มต้นด้วยการรับเด็กผู้ยากไร้และเด็กที่เกิดจากการคบชู้ของบุพการีเข้ามาดูแลเพื่อที่จะให้การศึกษาในอย่างที่รัฐเห็นควรว่าเหมาะสม และเนื่องจากการที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้านี้ไม่ได้ถูกก่อตั้งในฐานะองค์กรที่รัฐให้เงินสนับสนุน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของโอกาสและการทดลองริเริ่มด้วยทฤษฎีการศึกษาแนวใหม่ อย่างไรก็ตาม บ้านเด็กกำพร้ามอสโกกลับประสบความล้มเหลว โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากอัตราการตายของเด็กที่สูงเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่สามารถเติบใหญ่ไปเป็นกลุ่มบุคคลผู้เรืองปัญญาได้อย่างที่รัฐปรารถนาไว้[20]

บ้านเด็กกำพร้ามอสโก
สถาบันสโมลนีย์ (Smolny Institute) สถาบันสำหรับขุนนางสตรีแห่งแรกของรัสเซียและสถาบันอุดมศึกษาสำหรับสตรีแห่งแรกของยุโรป

ไม่นานหลังจากที่ทรงก่อตั้งบ้านเด็กกำพร้ามอสโก พระนางเยกาเจรีนาสถาปนาสถาบันสโมลนีย์เพื่อให้สตรีชนชั้นสูงได้รับการศึกษาและนำไปเผยแพร่แก่สตรีชาวรัสเซียคนอื่นๆ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสตรีแห่งแรกๆ ในรัสเซีย โดยในช่วงแรกสถาบันรับเฉพาะสตรีชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ในภายหลังก็ได้เปิดรับสตรีจากชนชั้นกระฎุมพีด้วยเช่นกัน[21] หญิงสาวที่เข้าศึกษาในสถาบันสโมลนีย์หรือที่เรียกว่า สโมลยานกี (Smolyanki) มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โง่เขลาและไม่รู้เรื่องราวภายนอกกำแพงสถาบันอยู่บ่อยครั้ง ภายในสถาบันสโมลนีย์ พวกเธอจะได้รับความรู้ขนานแท้เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส การดนตรี การเต้นรำ และความน่าเกรงขามของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในสถาบันนี้เองมีกฎระเบียบและมารยาทที่ถูกยึดถืออย่างเคร่งครัด การวิ่งและการละเล่นต่างๆ ถูกห้าม นอกจากนี้ภายในตัวอาคารยังถูกรักษาให้มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำเนื่องจากเชื่อว่าอุณหภูมิที่สูงจนอุ่นเกินไปจะมีผลเสียต่อพัฒนาการของร่างกาย[22]

ระหว่างปี ค.ศ. 1768 – 1774 กระบวนการจัดตั้งระบบสถานศึกษาแห่งชาติไม่มีความคืบหน้า[23] แต่พระนางเยกาเจรีนายังทรงพิจารณาในทฤษฎีการศึกษาและตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทรงปฏิรูปการศึกษาหลายครั้งแต่ยังคงไม่มีระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงเรียนนายร้อยทหารในปี ค.ศ. 1766 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปหลากหลายครั้ง โดยเริ่มจากการกำหนดให้เด็กเล็กที่มีอายุน้อยเข้ารับการศึกษาจนกระทั่งมีอายุรวม 21 ปี ทั้งนี้หลักสูตรทหารอาชีพที่ใช้ในโรงเรียนดังกล่าวมีเนื้อหาที่เปิดกว้างและบรรจุไว้หลากหลายวิชา อาทิเช่น วิทยาศาสตร์ ปรัชญา จริยธรรม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงกฎหมายระหว่างประเทศ นโยบายในโรงเรียนนายร้อยทหารนี้เองที่มีอิทธิพลต่อการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยทหารเรือและในโรงเรียนวิศวกรรมและทหารปืนใหญ่ ภายหลังจากสงครามและความพ่ายแพ้ของปูกาชอฟ พระนางทรงวางพันธกิจในการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ใน กูเบอร์นียา (guberniya; ระบบการปกครองเทียบเท่า "จังหวัด" ในรัสเซีย โดยมีผู้ว่าราชการเป็นผู้ปกครอง) ผ่านคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม โดยมีผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากทั้งสามฐานันดรอิสระเข้าร่วมด้วย[24]

ในปี ค.ศ. 1782 พระนางทรงจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่รวบรวมมาจากประเทศต่างๆ[25] ระบบการศึกษาที่ถูกคิดค้นโดยนักคณิตศาสตร์ ฟรันซ์ เอพินุส มีความโดดเด่นอย่างมาก เขาชื่นชอบและรับเอารูปแบบการศึกษาสามขั้นของออสเตรีย อันได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็ก (trivial school) โรงเรียนขนาดกลาง (real school) และโรงเรียนขนาดใหญ่ (normal school) ในระดับหมู่บ้าน เมือง และเมืองเหลวงของจังหวัดตามลำดับ นอกจากนี้พระนางเยกาเจรีนายังทรงจัดตั้งคณะกรรมาธิการสถานศึกษาแห่งชาติภายใต้การนำของปีตอร์ ซาวาดอฟสกี เพิ่มเติมในคณะที่ปรึกษาอีกด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการนี้รับผิดชอบบริหารจัดการระบบสถานศึกษาแห่งชาติ ฝึกฝนครูอาจารย์ และจัดทำแบบเรียน ดังนั้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจึงเกิดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1786[26] พระราชบัญญัติดังกล่าวจัดตั้งระบบสองขั้นแก่โรงเรียนประถมและโรงเรียนในเมืองหลวงของแต่ละกูเบอร์นียาที่เปิดรับนักเรียนจากทุกชนชั้นเสรี (ไม่รวมข้าแผ่นดิน [serfs]) นอกจากนี้พระราชบัญญัติยังวางกฎระเบียบในรายละเอียดเกี่ยวกับวิชาที่จะได้รับการสอนในทุกๆ ช่วงชั้นและรูปแบบในการสอนอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากแบบเรียนที่ได้รับการแปลจากคณะกรรมาธิการแล้ว ยังมีคู่มือสำหรับครูประกอบกันไว้อีกด้วย ซึ่งคู่มือนี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ รูปแบบวิธีการสอน รายวิชาที่จะต้องสอน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของครู และการบริหารจัดการโรงเรียน[26]

การตัดสินจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นรุนแรง โดยอ้างว่าพระนางเยกาเจรีนาทรงไม่สามารถจัดหาทุนเพื่อใช้สำหรับดำเนินงานด้านการศึกษาของพระองค์ได้อย่างเพียงพอ[27] สองปีหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มขึ้น สมาชิกของคณะกรรมาธิการแห่งชาติได้ไล่ตรวจสอบสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ตรวจสอบไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทั้งรัสเซียมากนัก และแม้ว่าเหล่าขุนนางให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สถาบันทางการศึกษาเหล่านี้มากพอสมควร แต่ก็ยังคงนิยมส่งลูกหลานของตนไปร่ำเรียนในสถาบันของเอกชนที่มีเกียรติมากกว่า เช่นเดียวกับชาวเมืองท้องถิ่นที่มีท่าทีต่อต้านโรงเรียนประถมและรูปแบบการเรียนสอน ประมาณการณ์กันว่าในช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ มีเด็กราว 62,000 คนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ 549 แห่ง โดยมีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรชาวรัสเซียทั้งหมด[28]

การศาสนา[แก้]

จักรพรรดินาถเยกาเจรีนาที่ 2 ในฉลองพระองค์ประจำชาติรัสเซีย

ความสนพระทัยอย่างมากต่อความเป็นรัสเซีย (รวมถึงศาสนจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์) ของพระนางเยกาเจรีนาอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงไม่แยแสในกิจการด้านศาสนา พระนางยึดเอาที่ดินของฝ่ายศาสนจักรมาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับการศึกสงคราม ส่งผลให้บรรดาศาสนสถานต่าง ๆ ถูกทิ้งร้าง และเป็นการบีบบังคับให้เหล่านักบวชต้องหาทางรอดด้วยการทำเกษตรกรรม บ้างก็หารายได้จุนเจือจากค่าธรรมเนียมการประกอบพิธีบัพติศมาและพิธีอื่น ๆ นอกจากนี้บรรดาขุนนางชนชั้นสูงยังไม่นิยมเข้าโบสถ์กันอีกด้วย ยิ่งทำให้บทบาทของศาสนจักรเสื่อมลงยิ่งไปกว่าเดิม พระนางยังทรงห้ามปรามมิให้ผู้ที่คัดค้านในพระราโชบายของพระองค์ได้สร้างโบสถ์ต่าง ๆ และทรงปราบปรามพวกเคร่งศาสนา หลังจากเกิดกรณีตัวอย่างของความวุ่นวายในการปฏิวัติฝรั่งเศส[29]

อย่างไรก็ตาม พระนางทรงสนับสนุนและส่งเสริมศาสนาคริสต์ในพระราโชบายต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์ ทรงส่งเสริมการพิทักษ์และอุปถัมภ์คริสต์ศาสนิกชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกตุรกี ทั้งนี้พระนางทรงจำกัดสิทธิ์ของชาวคริสต์โรมันคาทอลิก (ยูกาซฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1769) โดยเฉพาะกับชาวโปแลนด์ และทรงพยายามที่จะสอดแทรกและขยายขอบเขตการควบคุมของรัฐเหนือชาวโปแลนด์ในช่วงต้นของการแบ่งแยกโปแลนด์อีกด้วย[30] ทั้งนี้ทั้งนั้น รัสเซียในสมัยพระนางแคทเธอรีนยังได้เอื้อเฟื้อที่ลี้ภัยและฐานการรวมกลุ่มแก่คณะเยสุอิต หลังจากที่มีการปราบปรามอย่างหนักเกือบทั่วทั้งยุโรปในปี ค.ศ. 1773[30]

อิสลาม[แก้]

พระนางเยกาเจรีนาทรงปฏิบัติต่อศาสนาอิสลามอย่างหลากหลายแนวทางตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1773 ชาวมุสลิมถูกห้ามปรามไม่ให้มีข้าทาสชาวคริสต์ออร์โธดอกซ์ไว้ในครอบครอง ทั้งยังถูกกดดันให้แปรเปลี่ยนมาเข้ารีตออร์โธดอกซ์ผ่านข้อเสนอทางด้านการเงิน[31] นอกจากนี้ยังทรงให้สัญญาแก่ชาวมุสลิมผู้เปลี่ยนศาสนาว่าจะทรงอนุญาตให้ครอบครองข้าทาสจากทุกศาสนาเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาทุกราย (ที่เป็นมุสลิม) อีกด้วย[32]


ยูดาห์[แก้]

จักรวรรดิรัสเซียมักจะมองศาสนายูดาห์เป็นเอกเทศจากทุกศาสนา ชาวยิวในรัสเซียมีกฎหมายและระบบราชการแยกต่างหาก ถึงแม้รัฐบาลรัสเซียจะรับรู้มีประชากรชาวยิวอาศัยอยู่ในจักรวรรดิ แต่พระนางแคทเธอรีนและที่ปรึกษาของพระองค์ก็ไม่มีนิยามอย่างชัดเจนต่อชาวยิว ตลอดรัชกาลของพระนางเยกาเจรีนา พระองค์ทรงมีนิยามที่หลากหลายสำหรับชาวยิว[33] ศาสนายูดาห์เป็นศาสนาขนาดเล็กและมีผู้นับถือน้อยในรัสเซีย จนกระทั่ง ค.ศ. 1792 เมื่อพระนางเยกาเจรีนาเห็นชอบกับการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง ประชากรยิวจำนวนมากจากเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียเดิม จึงตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งถูกดูแลต่างหาก แยกจากศาสนาอื่น พระนางเยกาเจรีนาทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวยิวอาศัยอยู่ต่างหากจากประชากรออร์ทอดอกซ์ทั่วไป โดยมีข้อแม้บางประการ เช่น การเก็บภาษีพิเศษสำหรับครอบครัวชาวยิว หากครอบครัวนั้นเข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์ ครอบครัวนั้นก็ไม่ต้องจ่ายภาษีพิเศษอีกต่อไป[34]ประชากรชาวยิวจำเป็นต้องจ่ายภาษีมากกว่าชาวออร์ทอดอกซ์ โดยจะจ่ายภาษีเป็นสองเท่าของภาษีชาวออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่ชาวยิวที่เข้ารีตในนิกายออร์ทอดอกซ์จะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพพ่อค้า หรือเป็นชาวนาอิสระได้เช่นกัน[35][36]

ในความพยายามที่จะนำชาวยิวเข้ามามีส่วนในเศรษฐกิจรัสเซีย พระนางเยกาเจรีนาทรงประกาศ "โองการนคร ค.ศ. 1782" (Charter of the Towns of 1782) ซึ่งมีผลรวมไปถึงชาวยิวด้วย[37]ชาวรัสเซียที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ไม่ค่อยพอใจชาวยิวนัก โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องเศรษฐกิจ พระนางเยกาเจรีนาเองก็พยายามจะกีดกันชาวยิวจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบางประการ โดยการอ้างความเท่าเทียมทางการค้า ในปี ค.ศ. 1790 พระองค์ทรงห้ามชาวยิวทำอาชีพของชนชั้นกลางในกรุงมอสโก[38]

ในปี ค.ศ. 1785 พระนางเยกาเจรีนาทรงประกาศว่าชาวยิวเป็นชาวต่างชาติ โดยทั้งนี้พระนางยังทรงรับรองสิทธิสำหรับชาวยิวในฐานะชาวต่างชาติ[39] นี้ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกที่ศาสนายูดาย์ที่จะคงอยู่ในรัสเซียตลอดยุคเรืองปัญญาของชาวยิว (Haskalah) พระนางยังทรงออกพระราชโอการว่าด้วยการปฏิเสธว่าชาวยิวมีสิทธิเทียบเท่าชาวออร์ทอดอกซ์และชาวรัสเซีย อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีมากขึ้นสำหรับผู้มีเชื้อสายยิวด้วย ในปี ค.ศ. 1794 พระนางแคทเธอรีนทรงประกาศว่าชาวยิวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับชาวรัสเซีย

ออร์โธดอกซ์รัสเซีย[แก้]

ช่วงท้ายพระชนม์ชีพและการสวรรคต[แก้]

ภาพวาดพระนางเยกาเจรีนาในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ

แม้ว่าในระหว่างการดำรงพระชนม์ชีพและการครองราชย์ของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างมากมายจนเป็นที่จดจำ แต่ช่วงท้ายของพระชนม์ชีพกับจบสิ้นลงด้วยความล้มเหลวสองประการ เริ่มต้นด้วยการเสด็จเยือนของพระเจ้ากุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟแห่งสวีเดน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1796 ผู้ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ พระนางเยกาเจรีนามีพระราชประสงค์ให้พระนัดดาของพระองค์ แกรนด์ดัชเชสอะเลคซันดรา อภิเษกกับกษัตริย์กุสตาฟและเสวยราชย์เป็นราชินีแห่งสวีเดนในภายหลัง งานเลี้ยงเต้นรำในราชสำนักจึงถูกจัดขึ้นในพระราชวังในวันที่ 11 กันยายน แต่ก่อนที่พิธีหมั้นจะถูกประกาศออกไป กษัตริย์กุสตาฟทรงรู้สึกถึงแรงกดดันที่ต้องทรงยอมรับว่าแกรนด์ดัชเชสอะเลคซันดราอาจจะไม่ทรงยอมเปลี่ยนศาสนาไปเป็นลัทธิลูเทอแรนและจากการที่พระองค์ต้องประสงค์กับหญิงสาวที่อ่อนวัยกว่า กษัตริย์กุสตาฟจึงไม่ไปปรากฏพระองค์ในงานเลี้ยงเต้นรำและเสด็จนิวัติสวีเดน พระนางเยกาเจรีนาทรงขุ่นเคืองพระทัยเป็นอย่างมากถึงกับประชวรในเวลาต่อมา แต่ไม่นานนักพระนางก็ทรงฟื้นพระวรกายพอที่จะทรงวางแผนงานเลี้ยงอีกงาน ที่ซึ่งพระนางจะประกาศให้พระนัดดาสุดรัก แกรนด์ดยุกอะเลคซันดร์ ขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทนที่แกรนด์ดยุคพอล พระราชโอรสเจ้าปัญหา แต่ก่อนที่พระนางจะได้มีพระราชเสาวนีย์ออกมาก็สวรรคตจากโรคหลอดเลือดสมองเสียก่อน เป็นเวลาเพียงแค่สองเดือนหลังจากงานเลี้ยงกษัตริย์กุสตาฟที่ 4 อดอล์ฟ

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 5 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1796 พระนางเสด็จลงจากห้องพระบรรทมเช้ากว่าปกติและเสวยพระสุธารสชา (กาแฟ) ตามปกติ ไม่นานหลังจากนั้นก็ทรงพระอักษรในพระราชกรณียกิจประจำวัน และเมื่อมาเรีย เปเรกุสิกินา ข้าราชบริพารส่วนพระองค์ได้ทูลถามถึงการบรรทม ซึ่งตามรายงานพระนางก็ทรงตอบกลับไปว่าบรรทมไม่ค่อยดีมาเป็นเวลานานแล้ว

ช่วงหลังเวลา 9:00 นาฬิกาเช้าวันเดียวกัน พระนางเยกาเจรีนาเสด็จไปยังห้องฉลองพระองค์และทรงล้มลงบนพื้น และเมื่อเวลาผ่านไป ซาฮาร์ โซตอฟ ข้าราชบริพารในวังผู้ซึ่งเกิดความกังวลใจที่พระนางยังมิเสด็จออกมา จึงได้เปิดประตูเข้าไปและจ้องมองไปรอบๆ และพบกับพระนางเยกาเจรีนาที่พระวรกายอยู่ในท่านอนกางแขนกางขาบนพื้น, พระพักตร์เป็นสีม่วง, ชีพจรอ่อน, ลมหายใจแผ่วเบาและเห็นได้ชัดว่าพระนางกำลังทรงพยายามหายใจอยู่ ซาฮาร์จึงยกพระนางขึ้นและพาไปยังห้องบรรทม ประมาณ 45 นาทีต่อมา แพทย์ประจำราชสำนักชาวสก็อตนามว่า ดร.จอห์น โรเกอร์สัน มาถึงยังห้องบรรทมและตัดสินว่าพระนางทรงมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง แม้ว่าจะพยายามประคองพระอาการของจักพรรดินีนาถเอาไว้มากเท่าไหร่ก็ตาม พระอาการก็ยังคงทรุดหนักจนเข้าขั้นโคม่าและอาการก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย พระนางพระราชทานพิธีกรรมครั้งสุดท้ายก่อนจะเสด็จสวรรคตในเวลาประมาณ 21:45 นาฬิกาของวันนั้น การชันสูตรพระศพมีขึ้นในวันถัดมาและยืนยันว่าพระนางเสด็จสวรรคตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง

พระราชประสงค์ของพระนางเจ้าเยกาเจรีนาซึ่งไม่ได้ถูกลงวันที่ไว้ ถูกค้นพบในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1792 โดยราชเลขานุการส่วนพระองค์ อะเลคซันดร์ วาซิลีวิช คราโปวิตสกี ซึ่งอยู่ในของเอกสารส่วนพระองค์ โดยใจความเฉพาะเจาะจงถึงพิธีการและรูปแบบของงานถวายเพลิงพระศพดังนี้

จัดเตรียมศพของเราแต่งในชุดสีขาวและสวมมงกุฎทองบนหัว พร้อมกับสลักชื่อคริสเตียนของเราลงบนมงกุฎ ให้สาธารณชนแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลาหกเดือน อย่าให้ไว้ทุกข์นานไปกว่านี้ : ยิ่งสั้นเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี

ในท้ายที่สุดจักรพรรดินีนาถก็ถูกวางทอดพระวรกายพร้อมกับมงกุฎทองบนพระเศียรและฉลองพระองค์ในชุดไหมเงิน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน โลงพระศพที่ถูกตกแต่งอย่างหรูหราด้วยผ้าแพรสีทองก็ถูกนำไปตั้งไว้บนแท่น ณ ท้องพระโรงห้องแกรนด์แกลเลอรีเพื่อการไว้ทุกข์ ซึ่งออกแบบและตกแต่งโดย อันโตนิโอ รินาลดิ ภายหลังพระศพถูกฝังไว้ ณ โบสถ์ปีเตอร์แอนด์พอลในนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก

คำกล่าวอ้างที่ว่าสาเหตุการสวรรคตมาจากพฤติการณ์ทางเพศอันเกี่ยวข้องกับม้ายังคงเป็นปริศนาและไม่มีหลักฐานอ้างอิง

พระราชโอรส-ธิดา[แก้]

พระฉายาลักษณ์ พระนาม ช่วงพระชนม์ชีพ หมายเหตุ
จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย 1 ตุลาคม ค.ศ. 1754 – 23 มีนาคม ค.ศ. 1801 โดยนิตินัยเป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แต่ถูกกล่าวอ้างโดยพระนางเยกาเจรีนาว่าเป็นบุตรจากคนรักคนหนึ่งของพระนางคือ เคานต์เซียร์เกย์ ซัลทีกอฟ
อันนา เปตรอฟนา แกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย 9 ธันวาคม ค.ศ. 1757 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1759 โดยนิตินัยเป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แต่สันนิฐานว่าเป็นพระราชธิดาของพระนางเยกาเจรีนากับสตาญิสวัฟ เอากุสตุส ปอญาตอฟสกี พระมหากษัตริย์แห่งโปแลนด์ในอนาคต
เยลิซาเวตา กริกอรีวา เทมคีนา] ค.ศ. 1775 – ค.ศ. 1854 ราชธิดาของพระนางเยกาเจรีนากับเจ้าชายกริกอรี โพเทมคีน
เคาน์อะเลคเซย์ กริกอรีวิช โบบรินสเกย์ 11 เมษายน ค.ศ. 1762 – 20 มิถุนายน ค.ศ. 1813 ราชโอรสของพระนางเยกาเจรีนากับเคาน์กริกอรี กริกอรีวิช โอลอฟ

สมุดภาพ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. รัสเซีย: Екатери́на Алексе́евна, อักษรโรมัน: Yekaterina Alekseyevna
  2. รัสเซีย: Екатерина Великая, อักษรโรมัน: Yekaterina Velikaya

อ้างอิง[แก้]

  1. Sergeant, Philip W. The Courtships of Catherine the Great (Kessinger Publishing, 2004), 5.
  2. Streeter, Michael. Catherine the Great (Haus Publishing, 2007), 3.
  3. Massie 2011, pp. 10–19
  4. Streeter, Michael. Catherine the Great (Haus Publishing, 2007), 6.
  5. Sergeant, Philip W. The Courtships of Catherine the Great (Kessinger Publishing, 2004), 34.
  6. Sergeant, Philip W. The Courtships of Catherine the Great (Kessinger Publishing, 2004), 62.
  7. Troyet biografi in Swedish by Harald Bohrn, p. 127
  8. Alexander, John (1989). Catherine the Great: Life and Legend. New York, New York: Oxford University Press.
  9. Erickson, Carolly (1994). Great Catherine: The life of Catherine the Great, Empress of Russia. New York, New York: Crown Publishers, Inc.
  10. Rounding 2006
  11. Memoirs of Decembrist Michael Fonvizin (nephew of writer Denis Fonvizin who belonged to the constitutionalists' circle in the 1770s) ; see: Фонвизин М.А. Сочинения и письма: Т. 2. – Иркутск, 1982. С. 123 [Fonvizin, M.A.: Works and letters, volume 2. Irkutsk:1982, page 123]
  12. Rodger 2005, p. 328
  13. Max, "If these walls....Smolny's Repreated Roles in History," Russian Life (2006) : 19–24.
  14. Nicholas V. Riasanovsky, A History of Russia (New York: Oxford University Press, 2011).
  15. Isabel De Madariaga, "The Foundation of the Russian Educational System by Catherine II", Slavonic and East European Review (1979) : 369–395.
  16. N. Hans, "Dumaresq, Brown and Some Early Educational Projects of Catherine II", Slavonic and East European Review (1961) : 229–235.
  17. Madariaga, “Foundation”, 374.
  18. Hans, “Dumaresq”, 233.
  19. Dixon 2009, p. 130
  20. Catherine Evtuhov, A History of Russia: Peoples, Legends, Events, Forces (Boston: Houghton Mifflin, 2004).
  21. Max, “If these walls”, 20.
  22. Max, “If these walls”, 21.
  23. Madariaga, “Foundation”, 379.
  24. Madariaga, “Foundation,” 380.
  25. Madariaga, “Foundation”, 383.
  26. 26.0 26.1 Madariaga, “Foundation”, 385.
  27. Madariaga, “Foundation”, 391.
  28. Madariaga, “Foundation”, 394.
  29. Isabel de Madariaga, Russia in the Age of Catherine the Great (Yale U.P., 1981), pp 111–22.
  30. 30.0 30.1 "The Religion of Russia". สืบค้นเมื่อ 24 March 2007.
  31. Fisher 1968, p. 544
  32. Fisher 1968, p. 545
  33. Klier 1976, p. 505
  34. Klier 1976, pp. 506–507
  35. Klier 1976, p. 507
  36. Madariaga 1981, pp. 504–508
  37. Klier 1976, p. 511
  38. Klier 1976, p. 512
  39. Klier 1976, p. 515
ก่อนหน้า เยกาเจรีนามหาราชินี ถัดไป
จักรพรรดิปิออตร์ที่ 3
จักรพรรดินีนาถแห่งรัสเซีย
(9 กรกฎาคม ค.ศ. 1762 – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1796)
จักรพรรดิปัฟเวลที่ 1
มาร์ธา สคาฟรอนสกายา
(เยกาเจรีนา อะเลคเซยีฟนา)

จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ใน จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3

(5 มกราคม ค.ศ. 1762 – 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1762)
เจ้าหญิงโซฟี โดโรเทอาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
(มารีเยีย เฟโอโดรอฟนา)