30 บาทรักษาทุกโรค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ลงนามภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
วันลงนาม18 พฤศจิกายน 2545
ผู้ลงนามรับรองพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
วันประกาศ18 พฤศจิกายน 2545
วันเริ่มใช้19 พฤศจิกายน 2545
ท้องที่ใช้ประเทศไทย
การร่าง
ผู้เสนอคณะรัฐมนตรีทักษิณ 1
ผู้ยกร่างสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 21
การยกร่างในชั้นสภาล่าง
วาระที่หนึ่ง22 พฤษจิกายน 2544
วาระที่สอง15 พฤษภาคม 2545
วาระที่สาม15 พฤษภาคม 2545
การยกร่างในชั้นสภาสูง
วาระที่หนึ่ง30 พฤษภาคม 2545
วาระที่สอง31 สิงหาคม 2545
วาระที่สาม31 สิงหาคม 2545
คำสำคัญ
หลักประกันสุขภาพ

30 บาทรักษาทุกโรค หรือชื่อทางการคือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[1] หรือต่อมามีคำเรียกว่า สิทธิบัตรทอง เป็นนโยบายของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตามมาตรา52 และ มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

มาตรา ๕๒

บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากศูนย์สาธารณสุขของรัฐได้ฟรี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การบริการสาธารณสุขของรัฐจะต้องให้บริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเท่าที่เป็นไปได้ด้วย

รัฐพึงป้องกันและขจัดโรคติดต่อที่เป็นอันตรายแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๘๒

รัฐต้องจัดให้มีและส่งเสริมการบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

[2] และ รับแนวคิดของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาจัดทำตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ2540 เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ โดยคนไทยทุกคนสามารถรับบริการรักษาโรค โดยจ่ายเพียงสามสิบบาท โดยภาครัฐจะให้ประชาชนลงทะเบียนกับโรงพยาบาลและรัฐจัดสรรงบประมาณลงในโรงพยาบาลตามจำนวนคน และแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า "บัตรทอง" ปัจจุบันดูแลโครงการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ภูมิหลัง[แก้]

ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาท ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วม 4 ระบบ อันได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ, ระบบประกันสังคม, ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือนหรือรายปี) และโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) หรือ บัตรอนาถา ซึ่งเมื่อรวมกับระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน (ประกันชีวิต) แล้ว เท่ากับว่าไทยมีระบบประกันสุขภาพจำนวน 5 ระบบ ทั้งห้าระบบนี้สามารถครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ จะเห็นได้ว่ายังมีประชากรอีกกว่า 20 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ นี่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้มีการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ตกหล่น

จุดเริ่มต้นมาจาก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชวน หลีกภัย ในขณะนั้นกลับไม่เห็นความสำคัญมากนัก ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป[3]

ภายหลังกฎหมายถูกตีตกไป นายแพทย์สงวนก็ยังทำการวิจัยความเป็นไปได้ต่อไป นายแพทย์สงวนพิมพ์สมุดปกเหลืองขึ้นมาเล่มหนึ่ง สรุปความถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหลักการความเป็นมาและโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการ[3] ซึ่งจะใช้งบประมาณแค่ราว 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น นายแพทย์สงวนใช้หนังสือปกเหลืองเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด มีเพียงพรรคไทยรักไทยที่มองว่ามีความเป็นไปได้[3] รัฐบาลพรรคไทยรักไทยนำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" และแต่งตั้งนายแพทย์สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก

นโยบายจริง[แก้]

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้แนวทางการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้สวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดของประเทศผ่าน "นโยบายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[4]

จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า" โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชนชาวไทย เมื่อนายแพทย์สงวนนำโครงการนี้ไปเสนอนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับการตอบรับ จนกลายมาเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น จนกลายเป็นนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในเวลาต่อมาเรียกขานกันในนาม "บัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว บัตรทองเริ่มต้นตั้งที่งบประมาณจากรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคมให้กับประชาชน แรกเริ่มมีงบประมาณให้หัวละ 1,250 บาท โดยไปขึ้นทะเบียนต่อกับโรงพยาบาลในเขตที่ตนอาศัยอยู่แล้ว เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารักษาตามที่ลงทะเบียนไว้ โรงพยาบาลก็ได้เงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยรักษาคนที่ป่วยลักษณะคล้ายกับการประกันสุขภาพ โดย สปสช.ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพเอาไว้ว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545[5] โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สิทธิหลักประกันสุขภาพ" หรือที่เคยรู้จักกันในนาม สิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพคือคนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างอื่นที่รัฐจัดให้

นอกจากนี้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ้านโครงการ 30 บาท ฯ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศ เช่น ตุรกี เกาหลีใต้ และเม็กซิโก ที่สามารถจัดให้มีสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนในประเทศ และแซงหน้าประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะมีความพยายามมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่สามารถจัดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดได้[4]

ข้อวิจารณ์[แก้]

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มภาระงานแก่ลูกจ้างสาธารณสุข จนทำให้แพทย์จำนวนมากลาออก การบริการเป็นไปได้อย่างล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพลง โดยในช่วงต้นของโครงการนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาต่อต้านโครงการนี้ โดยเรียกว่า 30 บาทตายทุกโรค[6]

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลลดลง โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหาแหล่งรายได้อื่นเพื่อมาชดเชยในส่วนที่ลดไป[7]

โครงการยกระดับ[แก้]

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ขึ้น เพื่อดำเนินโครงการยกระดับของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมีองค์ประกอบดังนี้[8]

ต่อมาได้มีการจัดทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการยกระดับของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ ในโรงพยาบาลในพื้นที่ที่กำหนดได้ทั้งหมด โดยนำร่องใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนราธิวาส และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ลานหน้าหอชมเมืองร้อยเอ็ด ในจังหวัดร้อยเอ็ด และมีการเปิดระบบออนไลน์ไปยังอีก 3 จังหวัดนำร่องด้วย[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า". สืบค้นเมื่อ 2019-10-17. จุดเริ่มต้นมาจากนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 จากการเสนอแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่พรรคการเมืองหลายพรรค ในช่วงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย เห็นถึงความเป็นไปได้ จึงนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียง และได้นำมาใช้เมื่อพรรคได้รับเลือกให้จัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชน ในชื่อ โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของรัฐบาล
  2. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/055/1.PDF
  3. 3.0 3.1 3.2 ย้อนรอย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พลิกโฉมระบบสุขภาพไทย hfocus
  4. 4.0 4.1 ตันมันทอง, สุนทร. "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค พ.ศ. 2545 – 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  5. "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕". สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 2016-07-20.
  6. "ลักษณะ ย้อนแย้ง 30 บาท ′รักษาทุกโรค′ อารมณ์ หงุดหงิด". matichon.co.th. มติชน. 29 ธันวาคม 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-31. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2017.
  7. "ปรากฏการณ์ "รัฐบาลพรรคเดียว" ไทยรักไทย ทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน". www.thairath.co.th. 2019-03-14.
  8. "นายกฯ เซ็นตั้งบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ดึง "อุ๊งอิ๊ง" นั่งรองประธาน". ผู้จัดการออนไลน์. 8 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "นายกฯ เศรษฐา ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมคิกออฟ "30 บาทรักษาทุกที่"". โพสต์ทูเดย์. 7 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]