สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

เกิด18 มีนาคม พ.ศ. 2495
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต18 มกราคม พ.ศ. 2551 (55 ปี)
โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สัญชาติไทย
การศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต (พ.บ.)
ศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อาชีพแพทย์
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2520 – 2551
มีชื่อเสียงจากแพทย์ผู้ผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย
คู่สมรสอพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (18 มีนาคม พ.ศ. 2495 – 18 มกราคม พ.ศ. 2551) เป็นแพทย์ชาวไทย อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เขาเป็นแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิกและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลที่รับเอานโยบายนี้ไปปฏิบัติคือรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ใช้ชื่อนโยบายว่า "30 บาทรักษาทุกโรค"

กลุ่มแพทย์ชนบทและผู้เคยร่วมงานกับสงวน เช่น เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 22 และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ยกย่องสงวนว่าเป็น "รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย"[1][2]

ประวัติ[แก้]

สงวนเกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2495 เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 6 คนในครอบครัวชาวจีนในจังหวัดพระนคร ศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย สงวนเป็นนักกิจกรรม ได้ออกค่ายในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ซึ่งทำให้ได้พบประสบการณ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน นอกจากกิจกรรมออกค่ายแล้ว จากนิสัยรักการอ่าน ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือ "มหิดลสาร" ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย หนังสือที่เขาชอบอ่านคือ วารสารสังคมปริทัศน์ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน และ หนังสือพิมพ์มหาราช

หลังจากเรียนจบในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 บรรยากาศความตื่นตัวของนักศึกษามีอยู่ทั่วไป นักศึกษาด้านการแพทย์จบใหม่ล้วนมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และอยากไปทำงานชนบท สงวนก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น จึงเข้าทำงานที่โรงพยาบาลวชิระ กรุงเทพมหานคร อยู่ 1 ปี ก่อนจะออกไปเป็นแพทย์ชนบท ที่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ 5 ปี

บั้นปลายชีวิต สงวนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และมีอาการทรุดหนักด้วยอาการน้ำท่วมปอดและไตไม่ทำงานหนึ่งสัปดาห์ ก่อนเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.15 น. ของวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี อายุ 55 ปี

ประวัติการศึกษา[แก้]

รางวัลและเกียรติยศดีเด่น[แก้]

ละครโทรทัศน์[แก้]

เรื่องราวของ นายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในชื่อ หมอหงวน...แสงดาวแห่งศรัทธา ออกอากาศวันแรกในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ทางทีวีไทย โดยมี จิรายุส วรรธนะสิน รับบทเป็น สงวน ร่วมด้วย ร่มฉัตร ขำศิริ และ ทราย เจริญปุระ[3] กำกับการแสดงโดย วีระศักดิ์ แสงดี [4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif08210151&day=2008-01-21&sectionid=0132
  2. http://prachatai.com/05web/th/home/10944
  3. หมอหงวน...แสงดาวแห่งศรัทธา [ลิงก์เสีย]
  4. https://www.youtube.com/watch?v=6E-VrKlD19g&list=PLFFu7E482rIdbj9DxoZt96dceb_Ctku12 [1]
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๔, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันอันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

  • Puaksom, D. 2023. Thailand's rural doctor society in the 1970s-80s and its struggles to improve health in the countryside. In V. Neelakantan (ed.), The Geopolitics of Health in South and Southeast Asia: Perspectives from the Cold War to COVID-19 (pp. 98-119). London: Routledge.