ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารเลอปุย-อ็อง-เวอแล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารแม่พระรับสาร
แห่งเลอปุย-อ็อง-เวอแล
ทัศนียภาพของเมืองและอาสนวิหาร
แผนที่
45°02′44″N 3°53′05″E / 45.04556°N 3.88472°E / 45.04556; 3.88472
ที่ตั้งเลอปุย-อ็อง-เวอแล จังหวัดโอต-ลัวร์
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์http://www.cathedraledupuy.org/
สถานะอาสนวิหาร
บาซิลิกา
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 13
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
(ค.ศ. 1862)

มรดกโลก(ค.ศ.1998)

อาสนวิหารเลอปุย-อ็อง-เวอแล (ฝรั่งเศส: Cathédrale du Puy-en-Velay) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระรับสารแห่งเลอปุย-อ็อง-เวอแล (Cathédrale Notre-Dame-de-l'Annonciation du Puy-en-Velay) เป็นอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิก เป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลเลอปุย-อ็อง-เวอแล ตั้งอยู่ที่เมืองเลอปุย-อ็อง-เวอแล จังหวัดโอต-ลัวร์ แคว้นโอแวร์ญ-โรนาลป์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่แม่พระรับสาร และยังได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นบาซิลิกาเมื่อปีค.ศ. 1856 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9

อาสนวิหารเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และศิลปะโรมาเนสก์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในฝั่งตะวันตกของคริสตจักร และยังเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญของชาวคริสต์มาตั้งแต่สมัยก่อนจักรพรรดิชาร์เลอมาญ

อาสนวิหารเลอปุย-อ็อง-เวอแลได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862[1] รวมทั้งยังอยู่ในมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998

ประวัติ

[แก้]

ภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ อาสนวิหารนี้ตั้งอยู่บนตีนเขาซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟในอดีต ซึ่งบริเวณยอดเป็นที่ตั้งของรูปปั้นพระนางมารีย์พรหมจารีตั้งเด่นอยู่กลางเมืองซึ่งทำจากโลหะหลอมจากปืนใหญ่เก่าของรัสเซียซึ่งยึดมาได้จากยุทธการ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้มาจากเมืองเซวัสโตปอล

แผนผังของอาสนวิหาร (ทิศเหนืออยู่ด้านล่าง)

ตัวอาคารสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 และมีความพิเศษยิ่งจากความหลายหลายทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรื่องของสถาปัตยกรรมในยุคโรมาเนสก์ อีกทั้งยังมีป้อมปราการที่ก่อสร้างในอิทธิพลแบบศิลปะไบแซนไทน์ซึ่งสอดคล้องกันกับสถาปัตยกรรมทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งสร้างจากหินภูเขาไฟหลากสี ดังที่เห็นบริเวณหน้าบันทิศตะวันตก ซึ่งสร้างจากหินย้อมสี พื้นลานด้านหน้าปูด้วยงานโมเสก ซุ้มทางเดินช่องโค้งแบบครึ่งวงกลม ยอดหน้าบันขนาดเล็กทั้งสามแห่ง มุขทางเข้าแบบสามช่องที่ตั้งตระหง่านจากตัวเมืองด้านล่างด้วยบันไดจำนวน 134 ขั้น ด้านในของอาสนวิหารนั้นตกแต่งด้วยงานโมเสกสีทองอร่าม โดยตรงกันข้ามกับหินที่ใช้สร้างซึ่งมีสีดำสนิทซึ่งให้ความรู้สึกที่มืดครึ้มภายในของอาสนวิหาร แต่ก็ยังคงรับกันกับความโอ่อ่าของโถงภายใต้หอหลังคาโดมจำนวน 6 หอ ซึ่งปราศจากเพดานโค้งที่มักจะเห็นตามปกติในอาสนวิหารยุคเดียวกัน

บริเวณร้องเพลงสวดเนื่องจากถูกสร้างขึ้นบนเนินผาหิน ซึ่งต่อมาเพื่อทำการขยายอาสนวิหารในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11–12 เพื่อรับกับจำนวนของผู้แสวงบุญที่เพิ่มขึ้นตลอดทุก ๆ ปี จึงได้มีการการสร้างส่วนขยายอีก 4 ช่วงเสาในบริเวณที่ต่ำกว่า จึงได้มีการเพิ่มขนาดของเสาและโครงสร้างเพื่อให้สามารถเสริมยอดโดมให้เสมอกันกับช่วงที่สูงกว่า โดยเพิ่มความสูงในส่วนที่ต่ำกว่าถึง 17 เมตร

บาซิลิกาแห่งนี้ผ่านการสร้างและบูรณะต่อเติมหลายครั้งด้วยกัน ครั้งสำคัญ ๆ คือในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในบริเวณส่วนของมุขโค้ง จุดตัดกลางโบสถ์ และสองช่วงเสาสุดท้าย อย่างไรก็ตามในคริสต์ศตวรรษที่ 19 บาซิลิกาแห่งนี้เหลือเพียงซากปรักหักพัง จึงได้มีโครงการรื้อและบูรณะใหม่ขึ้นในแบบเดิมในช่วงปี ค.ศ. 18441870 ต่างกันเพียงแค่บริเวณมุขโค้งด้านสกัด และหอหลังคาโดมบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์ ซึ่งได้สร้างในแบบที่แตกต่างจากของเดิม

ศิลปะแบบอาหรับแห่งเลอปุย

[แก้]

องค์ประกอบแบบตะวันออก (อาหรับ) ที่พบได้ตามสถาปัตยกรรมโดยรอบบริเวณเมืองนั้นเป็นที่แปลกประหลาดใจของผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหมือนกันอย่างน่าประหลาดใจระหว่างมัสยิด-อาสนวิหารกอร์โดบากับบริเวณวิหารคดของอาสนวิหารนี้ ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยใช้วัตถุดิบผสมระหว่างอิฐสีแดงและหินสีขาว (ที่พบในมัสยิด-อาสนวิหารกอร์โดบา) และของที่นี่ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟสีดำและหินสีขาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับศิลปะอาหรับกับประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1095 ในโอกาสการเฉลิมฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ซึ่งพิธีจัดขึ้นที่เลอปุย สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ได้ประกาศสงครามครูเสดครั้งที่ 1 และทรงแต่งตั้งให้มุขนายกอาเดมาร์ เดอ มงเตย เป็นผู้นำทางศาสนาแทนองค์พระสันตะปาปาและหนึ่งในแม่ทัพร่วมในสงครามด้วย พร้อมกับชาวเมืองกว่าสี่ร้อยคนมุ่งหน้ายังแผ่นดินตะวันออกร่วมกัน ต่อมาได้บาดเจ็บเกือบมรณภาพในยุทธการล้อมเมืองแอนติออก ซึ่งในที่สุดก็นำมาซึ่งชัยชนะของฝ่ายคริสเตียน ซึ่งผู้ที่กลับจากสงครามได้นำศิลปะแบบอาหรับเข้ามาปูรากฐานให้กับสถาปัตยกรรมของเมืองจนถึงยุคปัจจุบันอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน เลอปุยได้เป็นศูนย์กลางของผู้แสวงบุญที่เพิ่งกลับและกำลังมุ่งหน้าไปยังซานเตียโกเดกอมโปสเตลาซึ่งในขณะนั้นอยู่ในปกครองของเหล่ามุสลิม จึงได้เป็นแหล่งที่รวบรวมงานศิลปะต่าง ๆ ในแบบอาหรับ และยังรับมาประกอบเข้ากับเลอปุยได้อย่างแพร่หลายในยุคนั้น

หน้าบันทิศตะวันตก

[แก้]
หน้าบันทิศตะวันตก

หน้าบันทางเข้าของอาสนวิหารนั้นตังอยู่ด้านบนของบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่ หน้าบันประกอบไปด้วยโครงสร้างแบ่งเป็นห้าชั้นซึ่งตกแต่งด้วยหินวางเรียงกันอย่างสลับสีราวกับงานโมเสก ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นศิลปะแบบผสมคริสเตียนและอาหรับแบบอัลอันดะลุส ซึ่งนิยมบูชาแม่พระฉวีดำในสมัยยุคกลาง นอกจากนี้ยังรับมาจากสงครามครูเสดบางส่วน การตกแต่งจะประกอบด้วยบานหน้าต่างช่องโค้งแบบครึ่งวงกลมเป็นหลัก ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 12

บันไดทางเข้าประกอบด้วยขั้นบันไดขนาดใหญ่จำนวน 102 ขั้น ซึ่งยาวติดต่อกันผ่านมุขทางเข้าเข้าไปในอาสนวิหารถึงลึกถึงสองช่วงเสาของบริเวณกลางโบสถ์ และกินพื้นที่เต็มความกว้างของโถงจำนวนสองช่วงแรกอีกด้วย ซึ่งต่อไปจะแคบลงในสองช่วงเสาถัดไปและจรดกำแพงและประตูไม้แกะสลักซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหน้าบันทางเข้าในสมัยก่อนการขยายอาสนวิหาร ซึ่งเป็นการอธิบายได้ดีของการขาดแคลนพื้นที่เนื่องมาจากจำนวนของผู้แสวงบุญในอดีต และพื้นที่ที่จำกัดของบริเวณเนินหิน ทำให้สถาปนิกจำต้องออกแบบอาคารให้ยื่นกลับลงไปบริเวณส่วนที่ต่ำกว่า

บันไดซึ่งจะไปสุดที่ประตูไม้แกะสลักปิดทอง ซึ่งด้านหลังประตูจะเป็นขั้นบันไดอีก 17 ขั้นเพื่อนำขึ้นไปถึงตรงกลางของบริเวณกลางโบสถ์ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเสาที่เป็นที่ตั้งของรูปปั้นนักบุญหลุยส์และนักบุญโยนออฟอาร์ค ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรงกันข้ามกับแท่นบูชาเอกพอดี จึงเป็นที่ขนานนามโดยชาวคริสต์ว่า "เราเข้าสู่อาสนวิหารบริเวณสะดือ และออกจากอาสนวิหารจากบริเวณหูทั้งสองข้าง"

มุขทางเข้าฟอรัม

[แก้]
Le porche du For

มุขทางเข้าฟอรัม (Le porche du For) เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามสมบูรณ์แบบ เป็นงานสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นส่วนมุขทางเข้าของจัตุรัสในชื่อเดียวกัน (forum) ซึ่งเป็นระเบียงทางเดินซึ่งอยู่สูงบนชั้นดาดฟ้าเปิดเห็นถึงเมืองเก่าเบื้องล่าง นอกเหนือจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแบบโรมาเนสก์แล้ว ยังค้นพบเพดานโค้งแบบโค้งแหลมอีกด้วย ทางเดินบริเวณชั้นล่างเป็นช่องโค้งแบบครึ่งวงกลม ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่บริเวณบัวแต่งโค้งซึ่งฐานแยกจากกันโดยเชื่อมกันเพียงหินแกะสลักเพียงสามซี่ ส่วนบริเวณชั้นบนเป็นที่ตั้งของชาเปลสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งให้แสงสว่างด้วยบานหน้าต่างทรงกอทิกที่ฝังอยู่ภายใต้โครงช่องโค้งทรงประทุนทั้งสี่ด้าน

ภายใต้มุขทางเข้าประกอบด้วยประตูทางเข้าแบ่งซึ่งเป็นสองแห่ง แห่งที่เล็กกว่านั้นเรียกว่า (Porte Papale) สงวนไว้สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาเท่านั้น ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 1846 ได้มีการค้นพบบริเวณทับหลังซึ่งสลักเป็นประโยคภาษาละตินว่า (Scrutari papa Vive Deo) ประตูอีกแห่งหนึ่งเป็นแบบโรมาเนสก์และบานประตูทำด้วยทองแดงฉลุเป็นลายหัวสิงโต ซึ่งโดยรวมแล้วกลมกลืนกันได้อย่างสวยงาม

บริเวณกลางโบสถ์

[แก้]

อาสนวิหารนี้สร้างขึ้นในรูปแบบกางเขนละตินประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์จำนวนหกช่วง ขนาบข้างด้วยทางเดินข้างซึ่งสูงในระดับเดียวกัน บริเวณปลายของแขนกางเขนทั้งสองเป็นที่ตั้งของชาเปลข้างละสองแห่ง ด้านบนของชาเปลจะเป็นระเบียงทางเดิน สุดปลายของบริเวณร้องเพลงสวดจะเป็นมุขโค้งทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเป็นที่ตั้งของชาเปลอีกสองแห่งซึ่งมีผนังมองจากด้านนอกเรียบสนิท

หอหลังคาโดม

บริเวณหกช่วงเสานั้นคลุมด้วยหอหลังคาโดมในแต่ละช่วงซึ่งแบ่งรับน้ำหนักบริเวณมุมทั้งสี่โดยช่องโค้งทรงก้นกระทะ บริเวณจุดตัดกลางโบสถ์นั้นมีด้านบนเป็นหอทรงแปดเหลี่ยมซึ่งรายรอบด้วยหน้าต่างทั้งหมดสองชั้นและปิดยอดบนสุดด้วยหอหลังคาโดม ซึ่งหอหลังคาโดมนี้ตั้งอยู่บนโครงเสาขนาดใหญ่จำนวนสี่เสา ซึ่งบริเวณฐานเสานั้นเป็นเสาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่สูงถึง 2 เมตร บริเวณมุมของช่วงเสาแบบสี่เหลี่ยมนี้ยังถูกตกแต่งด้วยช่องโค้งทรงก้นกระทะ หอโดมแห่งนี้ยังเรียกกันด้วยว่า le clocher angélique

บริเวณทางเดินข้างถูกสร้างในเพดานแบบเพดานโค้งทรงประทุนซ้อน ยกเว้นบริเวณสองช่วงสุดท้ายฝั่งทิศตะวันตกซึ่งจะเป็นแบบโค้งสัน

เฉพาะช่วงที่สามและสี่นั้น รวมถึงหอระฆังสร้างในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในขณะที่ช่วงที่เหลืออื่น ๆ และบริเวณหน้าบันใหญ่นั้นสร้างช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12

สิ่งที่ห้ามพลาด

[แก้]
มุมมองจากบริเวณกลางโบสถ์ไปยังบริเวณร้องเพลงสวดซึ่งมีแม่พระฉวีดำเป็นองค์ประธาน

หอระฆัง

[แก้]

ด้วยความสูงถึง 56 เมตร หอระฆังแห่งนี้สร้างแยกส่วนกันกับตัววิหาร มีลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยชั้นทั้งหมดเจ็ดชั้น แต่ละชั้นตกแต่งคล้ายคลึงกัน แต่มีขนาดลดหลั่นกันไปในแต่ละระดับชั้น ทำให้มีความรู้สึกเหมือนเป็นลูกเต๋าหลายขนาดวางซ้อนกัน ช่วงบนของหอจะรับน้ำหนักผ่านทางช่องโค้งแบบตัน ซึ่งแต่ละช่องจะผ่านน้ำหนักลงบนเสาที่แยกกัน ซึ่งตั้งแต่ชั้นที่สี่เป็นต้นไปน้ำหนักของหินจะกดลงโดยตรงบริเวณเสา

หอระฆังแห่งนี้มีลักษณะที่ยิ่งสูงจะยิ่งมีช่องมากขึ้นจนสุดที่บริเวณยอดหอ ชั้นล่างสุดมีหลุมฝังศพจำนวนสามแห่ง หนึ่งแห่งเป็นของมุขนายก อีกสองแห่งเป็นของนักบวชเคนัน ซึ่งทั้งหมดสามารถรอดจากการถูกทำลายในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ชั้นบนเป็นที่ตั้งของระฆังขนาดใหญ่จำนวน 4 ลูก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Notice n°00092734 Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส

บรรณานุกรม

[แก้]
  • (ฝรั่งเศส) Pierre Cubizolles, Le diocèse du Puy-en-Velay des origines à nos jours, Éditions Créer, 2005 (ISBN 2-84819-030-2)  ;
  • (ฝรั่งเศส) La cathédrale Notre-Dame du Puy-en-Velay, Monum., Éditions du patrimoine, Paris (France), (ISBN 2-85822-866-3), 2004 ;
  • (ฝรั่งเศส) Dictionnaire des églises de France, Belgique, Luxembourg, Suisse, tome II-B, Robert Laffont, Paris, pp. 112–117 ;
  • (ฝรั่งเศส) Olivier Beigbeder, Forez - Velay roman, Éditions Zodiaque, La Pierre-qui-Vire (France), 1962, pp. 31–86 ;
  • (ฝรั่งเศส) François Collombet, Les Plus Belles Cathédrales de France, Sélection du Readers' Digest, Paris (France), (ISBN 2-7098-0888-9), 1997, pp. 78–83 ;
  • (ฝรั่งเศส) Eugène Lefèvre-Pontalis, « Les Dates de la cathédrale du Puy », Congrès archéologique de France, LXXIe session : séances générales tenues au Puy en 1904, Paris/Caen, A. Picard / H. Delesques, vol. 70, 1905, p. 158-162 (ISSN 00698881)