อาสนวิหารออลอรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหารนักบุญมารีย์แห่งออลอรง
มุขทางเข้าอาสนวิหาร
แผนที่
43°11′16″N 0°36′57″W / 43.18778°N 0.61583°W / 43.18778; -0.61583
ที่ตั้งออลอรง จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะโบสถ์ประจำเขต
(อาสนวิหารจนกระทั่งปี ค.ศ. 1801)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
กอทิก
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 14
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1939)
มรดกโลก (ค.ศ. 1998)

อาสนวิหารออลอรง (ฝรั่งเศส: Cathédrale d'Oloron) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญมารีย์แห่งออลอรง (Cathédrale Sainte-Marie d'Oloron) ในปัจจุบันมีฐานะเป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งในอดีตเคยมีฐานะเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลออลอรงซึ่งต่อมาได้ถูกยุบลงเป็นส่วนหนึ่งของมุขมณฑลบายอนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 เป็นต้นมา (ตามความตกลง ค.ศ. 1801) ตั้งอยู่ที่เมืองออลอรง-แซ็งต์-มารี จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก แคว้นนูแวลากีแตน ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระนางมารีย์พรหมจารี

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1939[1] และยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998[2]

ประวัติ[แก้]

อาสนวิหารแห่งออลอรงประกอบด้วยซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าและมุขทางเข้าแบบโรมาเนสก์ โครงสร้างประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์และช่องทางเดินข้างขนาบสองข้าง ซึ่งแต่ละข้างเป็นที่ตั้งของชาเปลข้างและสักการสถาน บริเวณร้องเพลงสวดชั้นนอกซึ่งเป็นจรมุขยังเป็นที่ตั้งของชาเปลอีก 5 แห่ง

บริเวณกลางโบสถ์และทางเดินข้างสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 บริเวณจรมุขรวมทั้งชาเปลที่ตั้งอยู่ด้านในสร้างในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาเปลที่ตั้งอยู่บริเวณทางเดินข้างนั้นสร้างต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 15

จากการสำรวจโดยนักประวัติศาสตร์พบว่าแต่เดินอาสนวิหารแห่งนี้สร้างในทรงกางเขนแบบกรีก และยังพบฐานของบริเวณมุขโค้งด้านสกัดแบบครึ่งวงกลมซึ่งได้กลายมาเป็นฐานของสักการสถานซึ่งสร้างต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เพดานโค้งมีลักษณะเป็นช่องโค้งแบบครึ่งวงกลมและครีบยัน

บริเวณทางเข้าด้านหน้าเป็นส่วนที่สร้างในสมัยแรกของการก่อสร้างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 บริเวณซุ้มประตูมีลักษณะกว้างและลึก เป็นทรงโค้งแบบครึ่งวงกลมรับกับเสาฐานกลมเกลี้ยง ประตูแบ่งเป็นสองบานคู่ หน้าบันประตูโค้งรับน้ำหนักด้วยเสาซึ่งถูกสลักเป็นรูปยักษ์ถูกล่ามโซ่ทำท่าแบกเสา บัวแต่งโค้งเป็นลายดอกและใบไม้ และบุคคลทั้ง 24 ในหนังสือวิวรณ์ บริเวณฐานของหน้าบันประตูแบบครึ่งวงกลมมีรูปสลักนูนต่ำเป็นอัศวินอารักษ์ฝั่งละหนึ่ง

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  2. เว็บไซด์ขององค์การยูเนสโก