อาสนวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาสนวิหาร
อาสนวิหารเซ็นต์บาร์บารา (St Barbara's church) เมือง Kutná Hora สาธารณรัฐเช็ก
อาสนะบิชอปที่อาสนวิหารโวลเทอร์รา (Volterra Cathedral) ประเทศอิตาลี

อาสนวิหาร[1] (อังกฤษ: Cathedral; ฝรั่งเศส: Cathédrale; เยอรมัน: Kathedrale/Dom; อิตาลี: Cattedrale/Duomo) คือคริสต์ศาสนสถานประเภทหนึ่งที่คริสต์ศาสนิกชนใช้ทำการนมัสการพระเจ้า (โดยเฉพาะในคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน) อาสนวิหารจะเป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งของมุขนายก ที่ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑลซึ่งเป็นเขตปกครองของบิชอป[2]

คำว่าอาสนวิหารใช้ได้หลายความหมาย บางอาสนวิหารของคริสตจักรปฏิรูปที่สกอตแลนด์ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ยังใช้คำเรียกตัวเองว่าอาสนวิหารอยู่ทั้งที่โบสถ์นั้นไม่มีตำแหน่งมุขนายกประจำ ฉะนั้นในบางกรณีคำว่าอาสนวิหารจึงใช้เรียกโบสถ์ที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งอาสนะของบิชอปแต่มีลักษณะใหญ่โตน่าประทับใจ

นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์จะไม่ใช้คำว่าอาสนวิหารแต่จะใช้คำว่าโบสถ์ใหญ่ (the great church) แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า “cathedral” เมื่อพูดถึงโบสถ์ใหญ่

นิกายออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์จะไม่มีอาสนวิหารอย่างที่ว่าแต่จะมีโบสถ์หลักเช่นโบสถ์เซนต์มาร์กที่ไคโรซึ่งก็เรียกกันว่า “cathedral” เช่นกัน

อาสนวิหารหลายแห่งในทวีปยุโรปไม่เรียกตัวเองว่าอาสนวิหารแต่จะเรียกตัวเองว่า Minster หรือ Münster เช่น ที่เมืองยอร์ก หรือ ลิงคอล์น ในประเทศอังกฤษ แต่คนทั่วไปก็ยังเรียกทั้งสองแห่งนี้ว่า “อาสนวิหาร” ในประเทศเยอรมนี ทั้งสองคำนี้มีรากมาจากคำว่า monasterium ใน ภาษาละติน เพราะแต่เดิมอาสนวิหารเหล่านี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของแคนัน (canon) ที่อยู่ในชุมชนนั้นหรืออาจจะเคยเป็นแอบบีย์มาก่อนการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์

ความหมาย[แก้]

คำว่า "cathedral" มาจากคำนามภาษาละติน "cathedra" (นั่ง หรือ เก้าอี้) ที่หมายถึงสถานที่ที่มี ที่นั่ง หรือ บัลลังก์ของมุขนายกหรืออัครมุขนายก ในสมัยโบราณเก้าอี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นบิชอปในฐานะที่เป็นผู้สอนศาสนาและมีหน้าที่การปกครองจึงมีบัลลังก์

คำว่า "cathedral" ถึงแม้ว่าจะใช้เป็นคำนามในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นคำคุณศัพท์ขยายคำว่าโบสถ์ เช่น "cathedral church" จากภาษาละตินว่า "ecclesia cathedralis" ที่นั่งของบิชอปในอาสนวิหารจะตั้งเด่นอยู่ภายในโบสถ์เพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอำนาจการปกครองของบิชอปเอง[3] บัลลังก์บิชอปบางหลังจะสลักเสลาอย่างสวยงาม เช่นที่ อาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นงานฉลุไม้ที่สูงใหญ่สามารถถอดเป็นชิ้น ๆ ได้ เป็นบัลลังก์อยู่ใต้ซุ้ม

ประวัติศาสตร์ และ องค์ประกอบ[แก้]

กฎหมาย[แก้]

ตามกฎหมายศาสนจักรของนิกายโรมันคาทอลิก ความสัมพันธ์ระหว่างบิชอปกับอาสนวิหารเปรียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างศิษยาภิบาลกับโบสถ์ประจำเขตแพริช ทั้งสองต่างก็มีอำนาจเหนือเขตที่กำหนดไว้ บิชอปมีอำนาจควบคุมมุขมณฑล ศิษยาภิบาลมีหน้าที่ควบคุมเขตแพริช ทั้งสองต่างก็มีความรับผิดชอบต่อสิ่งก่อสร้าง บิชอปมีความรับผิดชอบต่ออาสนวิหาร ศิษยาภิบาลมีความรับผิดชอบต่อโบสถ์ เมื่อใช้กฎการเปรียบเทียบที่ว่านี้เพื่อจะเปรียบเทียบว่าอาสนวิหารก็คือโบสถ์หนึ่งในเขตการปกครองหนึ่งซึ่งโบสถ์อื่น ๆ ในเขตนั้นก็จะมามีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วย

อัครมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี
การทำพิธีหน้าโบสถ์โดยพระคาร์ดินัลที่เวนิส

ฐานะของอาสนวิหาร[แก้]

ตามกฎหมายศาสนจักรคาทอลิก อาสนวิหารแบ่งเป็น

  • โบสถ์ประจำเขตแพริชที่เคยเป็นอาสนวิหารเรียกว่า Proto-cathedral (อดีตอาสนวิหาร)
  • โบสถ์ประจำเขตแพริชที่เคยเป็นอาสนวิหารชั่วคราวเรียกว่า Pro-cathedral
  • โบสถ์ที่เป็นอาสนวิหารร่วมกับอีกอาสนวิหารหนึ่งเรียกว่า Co-cathedral (อาสนวิหารร่วม)
  • โบสถ์ของมุขนายกประจำมุขมณฑลในปัจจุบันเรียกว่า Cathedral - อาสนวิหาร
  • โบสถ์ที่มีอาสนวิหารอื่นมาเป็นปริมุขมณฑลเรียกว่า Metropolitical cathedral (อาสนวิหารมหานคร)
  • โบสถ์ที่อยู่ภายใต้ Metropolitical cathedral และอาสนวิหารอื่นมาขึ้นด้วยเรียกว่า Primatial Cathedral
  • โบสถ์ประจำเขตแพริชที่มีอาสนวิหาร Metropolitical cathedral และ Primatial Cathedral อื่นมาขึ้นด้วยเรียกว่า Patriarchal cathedral

บางครั้งตำแหน่งของมุขนายกมหานครที่มีความสำคัญและความรับผิดชอบสูงและปริมุขนายกอื่นอยู่ในความรับผิดชอบก็จะเรียกว่า "Primate" เช่น บิชอปของอาสนวิหารแคนเทอร์เบอรีและอาสนวิหารยอร์กที่ประเทศอังกฤษ และอาสนวิหารรูอ็องที่ประเทศฝรั่งเศส แต่อาสนวิหารของ "Primate" ก็ยังคงเป็นอาสนวิหาร "Metropolitical Cathedral" มิได้เป็น "Primatial Cathedral" อย่างที่ตำแหน่งระบุไว้

อาสนวิหารที่อยู่ในระดับ Primatial Cathedral จริง ๆ ก็ได้แก่ อาสนวิหารลียง ที่ประเทศฝรั่งเศส ที่รู้จักกันในนามของ "La Primatiale" และ อาสนวิหารลุนด์ (Lund) ที่ ประเทศสวีเดน อาสนวิหารลิอองนอกจากจะปกครองมุขมณฑลของตนเองแล้วก็ยังมีความรับผิดชอบต่อบิชอปประจำมุขมณฑลเซ็นส์ (Sens) และอัครมุขมณฑลปารีสด้วย มาจนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ขณะที่อาสนวิหารลุนด์มี อาสนวิหารอุปป์ซาลา (Uppsala Cathedral) อยู่ในความรับผิดชอบนอกจากมุขมณฑลของตนเอง

นอกจากตำแหน่ง "Primate" แล้ว ก็ยังมีตำแหน่งอัครบิดร ซึ่งเป็นตำแหน่งของบิชอปประจำเขตอัครบิดรเวนิส ประเทศอิตาลี และเขตอัครบิดรลิสบอน ประเทศโปรตุเกส อาสนวิหารที่เป็นแต่อัครบิดรแต่ชื่อโดยไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอัครบิดรก็มี อัครมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ที่กรุงโรม เพราะที่นั่นถือว่าที่กรุงโรมมีพระสันตะปาปาเป็นอัครบิดรอยู่แล้ว แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงยกเลิกตำแหน่ง "อัครบิดรตะวันตก" ของท่านเอง

บางโบสถ์ที่ถูกยกเลิกการเป็นอาสนวิหารแล้วควรจะเรียกว่า "โปรโตคาธีดราล" แต่ก็ยังเรียกกันอยู่ว่า "อาสนวิหาร" ก็มี เพราะเรียกกันมาจนติด เช่นอาสนวิหารอันท์เวิร์พ(Antwerp) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ตำแหน่งบิชอปถูกยกเลิกไปตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส

วินัยของเคลอจี[แก้]

อาสนวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี สร้างโดยพระเจ้าชาร์เลอมาญ เมื่อค.ศ. 800
อาสนวิหารปาร์มา ประเทศอิตาลีที่ Baptisty เป็นสิ่งก่อสร้างที่แยกจากตัวโบสถ์
ระเบียงฉันนบถของอาสนวิหารลิพารี ที่ (Lipari) เกาะซิซิลี

ต้นสมัยกลาง: คณะนักบวช[แก้]

ในสมัยกลางบิชอปและเคลอจีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาสนวิหาร จะอยู่ด้วยกันกันอย่างชุมชนซึ่งไม่เชิงเป็นอารามตามความหมายดั้งเดิมของคำนี้ แต่กระนั้นก็ยังเรียกตัวเองว่า “monasterium” การใช้คำนี้บางครั้งทำให้เกิดความสับสน อย่างเช่น อาสนวิหารยอร์กในประเทศอังกฤษที่ไม่มีบาทหลวงและเคลอจีประจำอยู่ แต่เรียกตัวเองว่า “โบสถ์ประจำเมือง” หรืออาราม ในสมัยนั้นเคลอจีมักจะมีที่อยู่เป็นของตนเองนอกบริเวณโบสถ์และบางครั้งอาจจะมีภรรยาด้วย

เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 8 Chrodegang (ค.ศ. 743 - ค.ศ. 766) บิชอปแห่งเมืองเม็ทซ (Metz) ประเทศฝรั่งเศส รวบรวมวินัยของเคลอจีของอาสนวิหาร ซึ่งเป็นที่เป็นที่ยอมรับเป็นข้อปฏิบัติกันทั่วไปที่ประเทศเยอรมนีและบริเวณอื่นของทวีปยุโรป แต่กฎนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันในประเทศอังกฤษ ตามกฎของ Chrodegang เคลอจีของอาสนวิหารควรจะอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันและต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่พิเศษที่แต่งตั้งขึ้น กฎของ Chrodegang ปรับปรุงมาจาก “วินัยของนักบุญเบเนดิกต์” (Rule of St Benedict) เมื่อ จีซา (Gisa) ชาวลอแรน (แขวงหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส) มาดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งเว็ลส์ (Wells) ในประเทศอังกฤษ ระหว่างปีค.ศ. 1061 - ค.ศ. 1088 ท่านก็พยายามเอากฎ Chrodegang เข้ามาใช้ปฏิบัติที่อาสนวิหารเว็ลส์ประเทศอังกฤษแต่ก็ไม่สำเร็จ

ปลายสมัยกลาง: อาสนวิหารแบบอารามและแบบเซคิวลาร์[แก้]

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 เคลอจีประจำอาสนวิหารแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชีวิตอยู่กันในอารามเป็นคณะนักพรต เช่น คณะเบเนดิกติน อาสนวิหารแบบนี้เรียกว่าอาสนวิหารแบบอาราม (Monastic) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นคณะเคลอจีที่ไม่ได้ถือคำปฏิญาณใด ๆ นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมายศาสนจักรโดยทั่วไป ฉะนั้นเคลอจีประจำอาสนวิหารประเภทหลังจึงเรียกกันว่า “แคนัน” (Canon) อาสนวิหารแบบหลังนี้รู้จักกันว่าอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ (secular)

เมื่อปลายยุคกลางอาสนวิหารในประเทศเยอรมนีและอังกฤษมักจะเป็นแบบอาราม ในประเทศเดนมาร์กเริ่มแรกก็อาสนวิหารทั้งหมดก็เป็นแบบอารามสังกัดคณะเบเนดิกติน ยกเว้นอาสนวิหาร Børglum ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะ Praemonstratensian ซึ่งเป็นคณะย่อยของคณะออกัสติเนียน หลังจากการปฏิรูปศาสนาอาสนวิหารเหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ เช่นเดียวกับเดนมาร์ก ที่ประเทศสวีเดนอาสนวิหารอุบสลาแต่เดิมขึ้นอยู่กับคณะเบเนดิกติน มาเปลี่ยนเป็นเซคิวลาร์ ประมาณปี ค.ศ. 1250 จากนั้นประเทศสวีเดนก็มีคำสั่งให้อาสนวิหารทุกแห่งในประเทศนั้นเลิกขึ้นกับอารามและเปลี่ยนมาเป็นเซคิวลาร์ และให้ตั้งสภาเคลอจี (Chapter) ที่มีแคนันอย่างน้อยสิบห้าคนต่อ

ในยุคกลางที่ประเทศฝรั่งเศสอาสนวิหารมักจะเป็นแบบอาราม แต่ก็มาเปลี่ยนเป็นอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ กันเกือบหมดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาสนวิหารสุดท้ายที่เปลี่ยนคืออาสนวิหารซีส์ (Seez) ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับคณะออกัสติเนียน มาจนถึงปี ค.ศ. 1547 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ทรงอนุญาตให้เปลี่ยนอาสนวิหารที่เหลือก็มาเปลี่ยนเป็นแบบเซคิวลาร์กันหมดระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์

ในกรณีของอาสนวิหารแบบอาราม การปกครองจะขึ้นกับคณะนักบวชที่อารามนั้นสังกัด และสมาชิกทุกคนของอารามจะต้องอาสัยอยู่แต่ภายในอารามเท่านั้น ส่วนการปกครองของอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์จะมาจากสภาเคลอจี เช่น Dean, Precentor, Chancellor และ Tresurer

ประมุขของอาสนวิหาร[แก้]

ยกเว้นเกาะอังกฤษประมุขของอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์จะมีดำรงตำแหน่ง “Provost” (หรือ praepositus, Probst, อื่น ๆ) Provost นอกจะมีหน้าที่รักษากฎภายในโบสถ์แล้วก็ยังมีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในสภาเคลอจีของอาสนวิหาร หน้าที่เกี่ยวกับศาสนพิธี และที่ดินที่เป็นของโบสถ์ หน้าที่หลังนี้ทำให้ Provost บางคนละเลยหน้าที่ ทำให้เกิดมีการตั้งตำแหน่งใหม่ขึ้นที่เรียกว่า Dean ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องหลังนี้ บางกรณีทางโบสถ์ก็จะยุบตำแหน่ง Provost แต่อาสนวิหารที่ยังมี Provost เป็นประมุข บางทีก็ดำรงตำแหน่ง Archdeacon ด้วยและเป็นหัวหน้าของสภาเคลอจี

ตำแหน่ง Provost นี้ใช้กันแพร่หลายในประเทศเยอรมัน แต่ไม่ใช้กันในประเทศอังกฤษบิชอป จีซา (Gisa) พยายามเอาตำแหน่งนี้มาใช้ที่อาสนวิหารเวลส์ในฐานะหัวหน้าของสภาเคลอจี แต่ต่อมาตำแหน่ง Provost นี้ก็ไปขึ้นกับเคลอจีอื่น ตำแหน่ง Provost ที่อาสนวิหารเบเวอร์ลี (Beverley Minster) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของตำแหน่งนี้ แต่ Provost ที่เบเวอร์ลีเป็นเจ้าหน้าที่ภายนอกที่มีอำนาจปกครองโบสถ์แต่ไม่มีที่นั่งในบริเวณที่สวดมนต์ภายใน (choir) และไม่มีสิทธิออกเสืยง

ในประเทศเยอรมนีและสแกนดิเนเวียและบางโบสถ์ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งสำหรับหัวหน้าของสภาเคลอจี ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีอาสนวิหาร 136 อาสนวิหาร แต่เพียง 38 แห่งที่อยู่ใกล้เยอรมนีหรือทางใต้ที่สุดเท่านั้นที่มีตำแหน่ง Provost เป็นหัวหน้ากลุ่มเจ้าหน้าที่ปกครองโบสถ์ ที่อาสนวิหารอื่นตำแหน่ง Provost เป็นตำแหน่งย่อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น อาสนวิหารโอเทิง อาสนวิหารลียง อาสนวิหารชาทร์ ต่างก็มี Provost สองคนที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอื่น

ประวัติอาสนวิหารในประเทศอังกฤษ[แก้]

อาสนวิหารเดอรัมอาสนวิหารคณะเบเนดิกติน
ซากปรักหักพังของวังของบาทหลวงที่อาสนวิหารลิงคอล์นซึ่งปกครองโดยเคอลจีแบบเซคิวลาร์
อาสนวิหารเวลส์ปกครองระยะหนึ่งโดย Provost
หอประชุมนักบวชที่อาสนวิหารลิงคอล์น

ประวัติของอาสนวิหารในประเทศอังกฤษแตกต่างกันเป็นบางอย่างจากประวัติของอาสนวิหารในประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป อังกฤษมีอาสนวิหารน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเช่นฝรั่งเศสหรืออิตาลี แต่ตัววิหารจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เมื่อสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีอาสนวิหาร 136 อาสนวิหารในขณะที่อังกฤษมีเพียง 27

ประเทศอังกฤษตามกฎแล้วจะห้ามสร้างอาสนวิหารในหมู่บ้าน ฉะนั้นสถานที่มีอาสนวิหารจึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นเมืองไม่ว่าจะเป็นสถานที่ขนาดไหน บางครั้งเราจึงพบว่าอาสนวิหารบางอาสนวิหารจะตั้งอยู่ในเมืองที่ค่อนข้างเล็กแต่จะเรียกตัวเองว่า "นครอาสนวิหาร" ("cathedral city") เช่น "เมืองอาสนวิหารเว็ลส์" ที่เป็นที่ตั้งของอาสนวิหารเว็ลส์ ตัวเมืองเวลส์จะไม่ใหญ่ไปกว่าเมืองเล็ก ๆ หรือเมืองอีลี ที่ตั้งอาสนวิหารอีลีซึ่งเป็นอาสนวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างแบบศิลปะยุคกลาง

ระบบการปกครอง[แก้]

ระบบการปกครองระยะแรก[แก้]

การที่เกาะอังกฤษ (British Isles) เป็นเกาะที่มีเนื้อที่น้อย แทนที่จะแบ่งมุขมณฑลอย่างชัดเจนเช่นประเทศอื่นในทวีปยุโรป อังกฤษใช้ระบบ "มุขมณฑลเคลื่อนที่" โดยจะแบ่งมุขมณฑลตามที่ตั้งของกลุ่มชน เช่น บิชอปของชาวแซกซันใต้ หรือชาวแซกซันตะวันตก "คาเทดรา" จะเป็นแบบที่ย้ายไปไหนมาไหนได้ตามการเคลื่อนย้ายของชุมชน

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงมุขมณฑลจะเห็นได้จากการการประชุมบิชอปที่ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1075 ที่อาร์ชบิชอปลองฟรอง (Lanfranc) เป็นประธาน ผลจากการประชุมทำให้มีการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงมุขมณฑลในบางเขต เช่น มีคำสั่งให้บิชอปของกลุ่มชนแซ็กซอนใต้ย้ายจากมุขมณฑลเซลซี (Selsey) ไปอยู่ที่ชิคเชสเตอร์ ให้บิชอปแห่งวิลท์เชอร์และดอร์เซ็ทย้ายคาเทดรา" จากแชร์บอร์น (Sherborne) ไปโอลด์เซรัม (Old Sarum) (ใกล้เมืองซอลส์บรี (Salisbury)) และให้บิชอปแห่งเมอร์เซีย (Mercia) ย้ายอาสนวิหารจากลิคฟิลด์ (Lichfield) ไปเชสเตอร์ (Chester) การย้ายบิชอปเหล่านี้ทำให้เราเห็นร่องรอยการย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น การแบ่งมุขมณฑลที่ไอร์แลนด์ของมีธ (Meath) ซึ่งมีผลทำให้เขตมีธไม่มีอาสนวิหาร และออสซอรี (Ossory) ที่อาสนวิหารอยู่ที่คิลเค็นนี (Kilkenny) มุขมณฑลสกอตแลนด์ก็เช่นเดียวกันเป็นมุขมรฑลแบบเคลื่อนที่

ระบบการปกครองปลายยุคกลาง[แก้]

ระหว่างปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อังกฤษมีอาสนวิหารแบบอารามปกครองโดยนักพรตพอ ๆ กับอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ที่ปกครองโดยสภาเคลอจีที่ประกอบด้วย แคนัน นำโดยดีน อาสนวิหารบาธ (Bath) มีมุขมณฑลร่วมกับเวลส์ และอาสนวิหารโคเว็นทรี (Coventry) มีมุขมณฑลร่วมกับ ลิคฟิลด์เป็นต้น

การปฏิรูปศาสนา[แก้]

ระบบการปกครองอาสนวิหารมีผลกระทบกระเทือนมากที่สุดเมื่อมีการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ (English Reformation) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศอังกฤษแยกตัวมาจากการปกครองของนิกายโรมันคาทอลิก โบสถ์ที่เคยขึ้นตรงต่อคริสตจักรคาทอลิกก็ย้ายมาขึ้นกับคริสตจักรแห่งอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อสถานภาพของอาสนวิหารทั่วทั้งเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือรูปการปกครองของอาสนวิหาร

หลังจากอังกฤษแยกตัวออกมาเป็นนิกายอิสระจากคาทอลิก พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ก็มีพระราชโองการสั่งให้ยุบอารามและยึดทรัพย์อารามทั้งหมดในประเทศอังกฤษตามการยุบอาราม ยกเว้นอาสนวิหารบาธและอาสนวิหารโคเว็นทรีซึ่งได้รับการสถาปนาใหม่ให้เป็นอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ โดยมี Dean เป็นผู้ปกครองและมีแคนันระหว่าง 12 คน อย่างเช่นที่ อาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี และอาสนวิหารเดอร์แรม จนลงไปถึง 4 คนที่ อาสนวิหารคาร์ไลส์ (Carlisle Cathedral) ตำแหน่ง “Precentor” ที่เคยเป็นตำแหน่งสำคัญของ “ระบบเก่า” (Old Foundation) ก็ถูกลดความสำคัญลงมา

นอกจากยุบอาสนวิหารเดิมแล้วพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสร้างอาสนวิหารขึ้นใหม่ 6 แห่งจากอารามเดิม แต่ละแห่งปกครองโดยแคนันประจำมุขมณฑล (secular canon) ทั้ง 6 แห่งมี เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เท่านั้นที่มิได้รักษาฐานะอาสนวิหารเอาไว้

โบสถ์ใหญ่ ๆ ที่ต่อมาได้รับเลื่อนฐานะเป็นอาสนวิหารหลังจากการปฏิรูปศาสนาก็มี อาสนวิหารเซาท์เวลล์ (Southwell cathedral) อาสนวิหารซัทเธิร์ค (Southwark cathedral) อาสนวิหารริพอน (Ripon cathedral) อาสนวิหารเซนต์อัลบัน

การบริหาร[แก้]

อาสนวิหารเซ็นต์โซเฟีย (Sophia Cathedral) ที่เมืองคิเอฟ (Kiev) ประเทศยูเครน
ชเตฟันสโดม (St. Stephen Cathedral) ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ที่ฝังศพใต้อาสนวิหารแบบโรมาเนสก์ที่ อาสนวิหารแคนเตอร์บรี ประเทศอังกฤษ
พีธีสวดมนต์เย็น (Evensong) ที่ อาสนวิหารยอร์ก ประเทศอังกฤษ
อาสนวิหารโคโลญ
อาสนวิหารเซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอลที่ประเทศศรีลังกา

ตามปกติแล้วสภาเคลอจีของอาสนวิหารแบบเซคิวลาร์ จะมีตำแหน่งสำคัญสี่ตำแหน่งหรือมากกว่านอกเหนือไปจากแคนัน สี่ตำแหน่งดังกล่าวนี้คือ Dean, Precentor, Chancellor และ Treasurer ผู้ถือตำแหน่งทั้งสี่นี้เรียกรวมกันว่า quatuor majores personae จะมีที่นั่งประจำตำแหน่งเฉพาะในบริเวณที่พิธีภายในโบสถ์

  • Dean ตำแหน่ง Dean (หรือที่เรียกว่า decanus) มาจากตำแหน่งในคณะเบเนดิกติน Dean ปกครองนักพรตอีก 10 องค์ ตำแหน่งนี้ตั้งขึ้นมาสำหรับช่วยแบ่งเบาภารกิจของ Provost ในด้านการบริหาร ในประเทศอังกฤษ Dean จะเป็นประธานสภาเคลอจี มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องศาสนพิธี และเป็นผู้ร่วมทำศาสนพิธีบางส่วนด้วย ตามปกติแล้วเมื่อเริ่มศาสนพิธี Dean จะเป็นผู้ที่เดินเข้ามาทางขวาเมื่อเข้ามาในบริเวณที่ทำพิธี
  • Precentor ตำแหน่งรองจาก Dean ก็คือ Precentor (หรือที่เรียกว่า primicerius, cantor, อื่นๆ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับดนตรีและพิธีศาสนา Precentor จะทำหน้าที่แทน Dean ในกรณีที่ Dean ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีที่นั่งทางซ้ายตรงข้ามกับ Dean แต่บางครั้งก็มีข้อยกเว้นเช่นที่อาสนวิหารเซนต์พอลที่ตำแหน่งรองจาก Dean คือ archdeacon และ มีที่นั่งซึ่งตามปกติจะเป็นที่นั่งของ Precentor
  • Chancellor ตำแหน่งสำคัญตำแหน่งที่สามของอาสนวิหารคือ Chancellor (หรือที่เรียกว่า scholasticus, écoldtre, capiscol, หรือ magistral, อื่นๆ) มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษา และมักจะเป็นเลขานุการและบรรณารักษ์ของวัดด้วย ในกรณีที่ Dean และ Precentor ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะทำหน้าที่เป็นประธานแทน Chancellor จะมีที่นั่งทางด้านตะวันออกสุดด้านเดียวกับ Dean
  • Treasurer ตำแหน่งสำคัญตำแหน่งที่สี่ของอาสนวิหารคือ Treasurer (หรือที่เรียกว่า custos, sacrisla, cheficier) หรือ เหรัญญิก รับผิดชอบเรื่องเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งของโบสถ์ และเป็นผู้เตรียม ขนมปัง เหล้าองุ่น ธูป และเทียน สำหรับพิธีศีลมหาสนิท และควบคุมขั้นตอนของการทำพิธี เช่น การสั่นกระดิ่ง ที่นั่งของ Treasurer จะอยู่ตรงข้ามกับ Chancellor

นอกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วบางอาสนวิหารก็อาจจะมีตำแหน่งอื่นเช่น Praelector, รอง dean, รอง chancellor, Succentor-canonicorum และอื่นๆ นอกจากตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ก็มีแคนันที่ไม่มีตำแหน่งอะไร แคนันส่วนใหญ่แล้วจะมีที่อยู่นอกโบสถ์ฉะนั้นทำให้มีความแตกต่างระหว่างแคนันในโบสถ์ และแคนันที่ไม่อยู่ในโบสถ์ แคนันที่อยู่นอกโบสถ์รู้จักกันว่า prebendaries ถึงแม้จะไม่อยู่ในโบสถ์แต่ แคนันก็ยังมีตำแหน่งเป็นแคนันและยังสามารถออกเสียงในการประชุมได้

ระบบการอยู่นอกโบสถ์เช่นนี้ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Vicars choral แคนันแต่ละคนจะมี Vicar ที่ทำหน้าแทน จะนั่งประจำที่ของแคนนอนในที่ทำพิธีในกรณีที่แคนันไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะนั่งที่นั่งต่ำกว่าถ้าแคนนอนปฏิบัติหน้าที่ได้ Vicar ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมและเป็นตำแหน่งที่ปลดไม่ได้ ความสำคัญของ Vicar คือเป็นผู้ทำหน้าที่แทนแคนันเมื่อแคนนอนไม่อยู่ Vicar บางที่ก็จะจัดเป็น สภาเคลอจีของตนเอง ภายใต้การปกครองของ Dean และ สภาเคลอจีของอาสนวิหาร

ความสัมพันธ์ระหว่างมุขนายกและนักบวช[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างมุขนายกและสภาเคลอจีของอาสนวิหารแบบ“เซ็คคิวลาร์” ก็ไม่ต่างกับ ความสัมพันธ์ระหว่างมุขนายกและมุขมณฑลของอาสนวิหารแบบอาราม ทั้งสองกรณีเคลอจีจะทำหน้าที่เป็นปรึกษาของมุขนายกฉะนั้นโยบายทุกอย่างของมุขนายกก่อนที่จะนำมาปฏิบัติได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากนักบวชก่อน

สถาปัตยกรรมของอาสนวิหาร[แก้]

ในปัจจุบันเมื่อเรานีกถึงอาสนวิหารเราจะนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตโอฬารโดยเฉพาะอาสนวิหารที่สร้างในยุคกลางหรือยุคเรอเนซองส์ แต่ขนาดหรือความใหญ่โตมิได้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในการสร้างอาสนวิหารโดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งถือว่าความสำคัญเหนือสุดคือความมีประโยชน์ในการใช้สอยเช่น อาสนวิหารของชนเคลต์ และชนแซ็กซอน ซึ่งมักจะค่อนข้างเล็ก เช่นเดียวกับ อาสนวิหารแบบไบแซนไทน์ที่เอเธนส์ ที่บางทีเรียกกันว่า Little Metropole Cathedral of Athens

แผนผังของอาสนวิหารส่วนใหญ่ถ้ามองจากด้านบนจะเป็นรูปกางเขน (Latin cross) หรือ กากบาท (Greek cross) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ของอาสนวิหารที่เป็นสถานที่คริสต์ชนใช้เป็นที่สักการบูชา นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างจะประกอบด้วยที่สำหรับบุคลากร ที่ทำคริสต์ศาสนพิธี ชาเปล ออร์แกน และสึ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทางศาสนาและการบริหารอาสนวิหาร

อาสนวิหารก็เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์อื่นๆ จะประกอบด้วย แท่นบูชา หรือแท่นที่ใช้ในการประกอบพิธีศีลมหาสนีท, “แท่นอ่านคัมภีร์ไบเบิล” (Lectern) และ แท่นเทศน์ บางแห่งก็ยังมีอ่างศีลจุ่ม สำหรับทำพิธีล้างบาปเพี่อเป็นเครื่องหมายการยอมรับผู้ที่ถูกจุ่มหรือเจิมด้วยน้ำมนต์เข้าสู่คริสตจักร ซึ่งมักจะทำกับเด็ก การทำพิธีศึลจุ่มในบางประเทศอาจจทำในสิ่งก่อสร้างนอกตัววัดที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับพิธีนี้ เช่นที่ หอล้างบาป เมืองปิซาในประเทศอิตาลี ถ้าอ่างสำหรับพิธีศีลจุ่มอยู่ในวัดก็มักจะอยู่ทางด้านตะวันตกใกล้ประตูทางเข้าวัด และจะมีที่นั่งสำหรับพระราชาคณะและที่ทำพิธีสวด

อาสนวิหารแบบอารามและอาสนวิหารแบบ “เซ็คคิวลาร์” บางทีจะมีระเบียงคดยื่นออกมาทางด้านข้างของวัด กันผู้ใช้จากลมและฝน เช่นที่ อาสนวิหารกลอสเตอร์ เดิมบริเวณนี้ใช้เป็นที่ทำวัตร เช่น ลอกหนังสือ หรือใช้เป็นที่เดินวิปัสนา นอกจากนั้นบางอาสนวิหารก็ยังมีหอประชุมนักบวช สำหรับเคลอจี ห้องประชุมที่ยังพบกันอยู่ที่ประเทศอังกฤษมักจะเป็นรูปแปดเหลี่ยม เช่นที่อาสนวิหารเวลส์ บางครั้งด้านหน้าอาสนวิหารจะเป็นจัตุรัสสำคัญของเมืองที่ตั้งอยุ่เช่นที่เมืองฟลอเรนซ์ หรืออาจจะตั้งอยู่ในบริเวณของอาสนวิหารเองที่มีกำแพงล้อมรอบ เช่นที่อาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี หรือ อาสนวิหารซอลสบรี ที่ยังเห็นกำแพงบางส่วน นอกจากตัวอาสนวิหารแล้วก็อาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่นที่เป็นของอาสนวิหารอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย เช่นโรงเรียน

คุณค่าของอาสนวิหาร[แก้]

อาสนวิหารหลายแห่งมีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จนทำให้ได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มาจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 อาสนวิหารจะเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เพราะความใหญ่โตและส่วนใหญ่จะมีหอสูงทำให้มองเห็นได้แต่ไกล แต่ในปัจจุบันอาสนวิหารส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างหรือถูกบังโดยตึกระฟ้า นอกจากอาสนวิหารบางแห่งที่ชุมชนต่อต้านทางกฎหมาย โดยห้ามสิ่งก่อสร้างสูงใกล้อาสนวิหารอย่างอาสนวิหารโคโลญ ที่ประเทศเยอรมนี

นอกเหนือจากการเป็นสถานที่สำหรับการสักการบูชาแล้วอาสนวิหารยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมากเพราะอาสนวิหารหลายแห่งใช้เวลาหลายร้อยปีจึงสร้างเสร็จ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงการวิวัฒนาการของศิลปะ เช่นเราจะเห็นการพัฒนาของสถาปัตยกรรมกอธิคได้อย่างชัดเจนที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ นอกจากสิ่งก่อสร้างแล้วอาสนวิหารก็ยังเป็นที่สะสมวัตถุที่มีค่าเช่นหน้าต่างประดับกระจกสี ประติมากรรมไม้และหิน อนุสาวรีย์สำหรับสำหรับผู้เสียชีวิตที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลัก และเรลิก ต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญทั้งทางศาสนาและศิลปะ เช่นที่อาสนวิหารอาเคิน ที่เป็นที่เก็บเสื้อที่เชื่อกันว่าเป็นเสื้อที่นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ ใส่วันที่ท่านถูกตัดหัว นอกจากนั้นอาสนวิหารยังเป็นที่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนที่อาสนวิหารตั้งอยู่เพราะอาสนวิหารเป็นที่รวบรวมสิ่งของเช่น ป้าย ข้อเขียน กระจกสี หรือภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองนั้น

ความสวยงามและความสำคัญดังกล่าวนี้ทำให้อาสนวิหารเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเป็นเวลาหลายร้อยปี บางอาสนวิหารที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจะมีระบบเก็บค่าผ่านประตูสำหรับผู้ที่เข้าชมอาสนวิหารที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนพิธี บางทีก็จะมีบริการมัคคุเทศก์ ร้านขายหนังสือ หรือร้านกาแฟเล็ก ๆ เช่นที่ อาสนวิหารแห่งชาติที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2554, หน้า 28
  2. New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c
  3. New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page C-172/3


ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาสนวิหาร

สมุดภาพ[แก้]