อาสนวิหารกูต็องส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Logo monument classe.svg อาสนวิหารแม่พระแห่งกูต็องส์
Coutances vue nord.jpg
อาสนวิหารฝั่งทิศเหนือยามใกล้ค่ำ
Map
49°02′51″N 1°26′39″W / 49.04750°N 1.44417°W / 49.04750; -1.44417
ที่ตั้งกูต็องส์ จังหวัดม็องช์
ประเทศFlag of France.svg ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิก
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 13
ความสูงอาคาร77 เมตร (253 ฟุต) (ยอดหอระฆัง)
ขนาดอื่น ๆยาว 95.17 เมตร (312.2 ฟุต)
กว้าง 33.70 เมตร (110.6 ฟุต)
Logo monument classe.svg อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1862)[1]

อาสนวิหารกูต็องส์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Coutances) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารแม่พระแห่งกูต็องส์ (Cathédrale Notre-Dame de Coutances) เป็นอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิก เป็นที่ตั้งของมุขนายก ประจำมุขมณฑลกูต็องส์และอาวร็องช์ ตั้งอยู่ในเมืองกูต็องส์ จังหวัดม็องช์ ในแคว้นนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระแม่มารี

อาสนวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 90 เมตร ซึ่งเป็นจุดสนใจที่สำคัญของตัวเมืองกูต็องส์ อีกทั้งยังสามารถมองเห็นได้จากทะเลอีกด้วย ตามตำนานกล่าวว่าสามารถมองเห็นได้จากเกาะเจอร์ซีย์ ที่อยู่ห่างไปถึง 40 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของอาคารที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใหม่กว่าตามแบบกอทิก จะพบว่าด้านข้างของบริเวณกลางโบสถ์และหอสูงซึ่งขนาบทั้งสองข้างของหน้าบันหลักนั้นยังเป็นโครงสร้างแบบโรมาเนสก์ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งยังเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณชั้นบนของวิหารในเวลาเยี่ยมชม

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยยอดสูงถึงสองยอดบริเวณหน้าบันด้านหน้าวิหาร และหอรับแสง (tour-lanterne) ตรงกลางระหว่างหอสูงทั้งสอง และยังถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของสถาปัตยกรรมกอทิกนอร์มัน (gothique normand) ซึ่งโดดเด่นด้วยเส้นสายที่ตรงและสูงชะลูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวดิ่ง

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862[2]

ประวัติ[แก้]

ประวัติการก่อสร้างเริ่มปรากฏในหลักฐานเมื่อปี ค.ศ. 430 มีการสร้างวิหารซึ่งเป็นบาซิลิกาแห่งแรกของเมือง โดยนักบุญเอเร็บติโอลัส ซึ่งเป็นมุขนายกองค์แรกของกูต็องส์ และต่อมาถูกทำลายลงโดยการรุกรานของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 866 ซึ่งทำให้เมืองกูต็องส์เว้นวรรคจากการมีอาสนวิหารไปค่อนข้างยาวนาน

ในสมัยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 รอแบร์ มุขนายกองค์ถัดมา ได้ตัดสินใจสร้างอาสนวิหารขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้แล้วเสร็จในสมัยมุขนายกอีกองค์ถัดไป ได้แก่ ฌอฟรัว เดอ มงแบร ซึ่งอาสนวิหารแห่งนี้ได้ประกอบพิธีเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1056 โดยมีดยุกกีโยมแห่งนอร์มัน (พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ สมัยก่อนพิธีราชาภิเษก) ร่วมในพิธี อาสนวิหารในขณะนั้นประกอบด้วยหอคู่แบบแปดเหลี่ยมขนาบบริเวณกลางโบสถ์ บริเวณเหนือจุดตัดกลางโบสถ์เป็นหอรับแสง และมีมุขโค้งด้านสกัด บริเวณร้องเพลงสวดในขณะนั้นยังไม่พบส่วนของจรมุข แต่ถูกขนาบด้วยทางเดินข้างสองชั้น

บริเวณภายใต้ส่วนของหินที่ตกแต่งในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก ยังพบส่วนที่เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ของอาสนวิหารในสมัยนั้น ได้แก่ บริเวณกลางโบสถ์ บริเวณทางเดินข้าง (ไม่พบชาเปลในบริเวณนั้น) รวมทั้งหน้าบันทางเข้าและหอคอยทั้งสอง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณร้องเพลงสวด บริเวณหอรับแสง และบริเวณแขนกางเขนของฝั่งทิศเหนือและใต้ซึ่งเคยเป็นแบบโรมาเนสก์ได้ถูกทำลายลงเพื่อทำการปรับปรุงให้เป็นแบบกอทิก ซึ่งในปัจจุบันยังพบส่วนที่เป็นโรมาเนสก์ได้ในบริเวณกำแพงด้านข้างของอาสนวิหาร

อาสนวิหารแบบกอทิก[แก้]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1180 ได้เริ่มมีการปรับปรุงบูรณะบริเวณใต้หอทั้งสองเพื่อบรรจุออแกนขนาดใหญ่ในบริเวณระหว่างเสาของหอคอย[3] และเมื่อมีการแต่งตั้งมุขนายกองค์ใหม่ ได้แก่ อูก เดอ มอร์วีล ได้เริ่มการสร้างและบูรณะใหม่ในแบบกอทิกจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก[4] โดยบริเวณกลางโบสถ์ได้เริ่มในช่วงราวสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 13[5] โดยใช้โครงสร้างโรมาเนสก์เดิมและตกแต่งใหม่ในแบบกอทิก[6] ส่วนบริเวณแขนกางเขนควรจะต้องเริ่มราวปี ค.ศ. 1208 แต่ก็ล่าช้าโดยเริ่มในปี ค.ศ. 1218 ด้วยเหตุจากอัคคีภัย ซึ่งได้แล้วเสร็จต่อมาราวปี ค.ศ. 1225 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ยังได้พระราชทานเงินสำหรับการก่อสร้างชาเปลจำนวน 6 หลัง ซึ่งเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1209

บริเวณร้องเพลงสวดนั้นยังเป็นข้อถกเถียงกันถึงช่วงเวลาการก่อสร้าง นักประวัติศาสตร์อ็องเดร มูว์ซา และเอลี ล็องแบร์ สันนิษฐานว่าประมาณปี ค.ศ. 1220[7] โดยได้พิจารณาว่าการก่อสร้างมีแบบแผนเดียวกันกับอาสนวิหารบูร์โกส ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ. 1221 รอเบิร์ต แบรนเนอร์ สันนิษฐานว่าช่วงปี ค.ศ. 1230 และ ค.ศ. 1240[8] ส่วนฌ็อง บอนี และเออแฌน เลอแฟฟวร์-ปงตาลี เป็นช่วงปี ค.ศ. 1220-1255 และโจเอล เฮิร์ชมันน์ ได้สันนิษฐานว่าบริเวณจรมุขชั้นนอกและกำแพงของจรมุขชั้นในสร้างในช่วงปี ค.ศ. 1220-1235 และช่วงต่อมาเป็นการสร้างส่วนชั้นบนและเพดานโค้งของจรมุขชั้นใน ในช่วงปี ค.ศ. 1240[9]

ภาพร่างในปี ค.ศ. 1822

ในปี ค.ศ. 1223 มุขนายกอูก เดอ มอร์วีล สบทบทุนสร้างชาเปลอีก 2 หลัง ได้แก่ ชาเปลนักบุญจอร์จ และชาเปลนักบุญทอมัส แบ็กกิต[10] บริเวณร้องเพลงสวดน่าจะเสร็จสิ้นราวปี ค.ศ. 1238 ซึ่งตรงกับพิธีปลงศพของมุขนายกอูก เดอ มอร์วีล[11] มุขทางเข้าทิศใต้และตะวันตกเฉียงเหนือสันนิษฐานว่าเริ่มก่อสร้างราวปี ค.ศ. 1228 เนื่องจากใช้ช่างแกะสลักหินจากสำนักเดียวกับการก่อสร้างระเบียงคดของมง-แซ็ง-มีแชลที่แล้วเสร็จในปีเดียวกันคือ ค.ศ. 1228[12]

บริเวณกลางโบสถ์ (ราวปี ค.ศ. 1220–1235) เป็นแบบกอทิกนอร์มันเหมือนกับบริเวณร้องเพลงสวด กล่าวคือ ยอดหัวเสาแบบทรงกลมกลวง ช่องโค้งที่เรียวสูง และความกลมกลืนกันของสถาปัตยกรรมขององค์ประกอบที่ตกแต่งต่าง ๆ (เช่น บัวประดับ ลายหน้าบัน ลายหัวเสา เป็นต้น) เป็นหลักฐานให้เห็นถึงการต่อต้านสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศส และความเชื่อในประเพณีทางสถาปัตยกรรมแบบนอร์มอง ซึ่งยังเห็นได้ชัดบริเวณหน้าบันหลักของอาสนวิหาร ซึ่งประกอบด้วยเส้นตรงแนวดิ่งที่ปราศจากการประดับตกแต่งใด ๆ บริเวณเสา ต่อมาราวปี ค.ศ. 1270 ได้มีการเพิ่มชาเปลเข้าไปจำนวนหลายแห่งในช่องระหว่างเสาผนังของบริเวณกลางโบสถ์[13] ซึ่งมาสำเร็จในสมัยของมุขนายกฌ็อง แดแซ ชาเปลฝั่งทิศใต้ได้อุทิศให้มุขนายกรอแบร์ ดาร์กูร์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้มีการก่อสร้างชาเปลกลางขึ้นใหม่[14] อันเนื่องมาจากการปิดล้อมเมืองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1358 โดยกองทัพทำโดยฌอฟรัว ดาร์กูร์ ได้ทำให้อาสนวิหารชำรุดเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุให้มุขนายกในขณะนั้น คือ ซีลแว็สทร์ เดอ ลา แซร์แวล ได้ทำการเปิดกำแพงและทำลายเสาลง โดยในโอกาสนี้ได้เพิ่มชาเปลเข้าไปอีก 6 หลังบริเวณทางเดินข้างชั้นล่าง บริเวณชั้นบนซึ่งเป็นระเบียงแนบตกแต่งด้วยรูปดาวสี่แฉก (Quadriobe) พร้อมทั้งเพิ่มหน้าต่างกุหลาบบริเวณเหนือหน้าบัน รวมทั้งสร้างชาเปลขนาดใหญ่บริเวณจรมุขอีกด้วย

เพื่อรับมือกับการหลั่งไหลของผู้แสวงบุญที่อาสนวิหารแห่งนี้ จึงเป็นผลให้มีการขยายต่อเติมเพื่อเพิ่มขนาดของวิหารขึ้นหลายครั้งครา ตัวอย่างสำคัญได้แก่ จรมุขที่ซ้อนกันสองชั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาเปลมากมาย โดยลักษณะคล้ายคลึงกับวิหารเก่าในเมืองอ็องบี (Hambye)

ขนาด[แก้]

แผนผังของอาสนวิหาร
  • ความยาวรวมด้านนอก : 95.17 เมตร (312.2 ฟุต)
  • ความยาวด้านใน : 87 เมตร (285 ฟุต)
  • ความยาวของบริเวณกลางโบสถ์ : 38.70 เมตร (127.0 ฟุต)
  • ความกว้างของบริเวณกลางโบสถ์ (ระหว่างช่วงเสา): 8 เมตร (26 ฟุต)
  • ความกว้างของบริเวณกลางโบสถ์ (รวมกลางเสาถึงกลางเสา) : 15 เมตร (49 ฟุต)
  • ความกว้างของทางเดินข้าง (ระหว่างช่วงเสา) : 4 เมตร (13 ฟุต)
  • ความกว้างรวม : 33.70 เมตร (110.6 ฟุต)
  • ความยาวของแขนกางเขน : 31 เมตร (102 ฟุต)
  • ความยาวของแขนกางเขน (ระยะที่อยู่ใต้หอแสงสว่าง) : 11 เมตร (36 ฟุต)
  • ความสูงของหอแสงสว่าง (ภายในจรดเพดาน) : 40.85 เมตร (134.0 ฟุต)
  • ความสูงของหอแสงสว่าง (ด้านนอก) : 57.45 เมตร (188.5 ฟุต)
  • ความสูงของบริเวณกลางโบสถ์ (วัดถึงหมุดเพดาน) : 21.90 เมตร (71.9 ฟุต)
  • ความสูงของยอดแหลม (รวม 3 เมตรของยอดกางเขนแล้ว) : 77 เมตร (253 ฟุต)
  • ความกว้างของบริเวณร้องเพลงสวด : 9.3 เมตร (31 ฟุต)
  • ความกว้างโดยรวมของมุขโค้งด้านสกัด : 31.15 เมตร (102.2 ฟุต)
  • ยอดแหลมฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ : 75 เมตร (246 ฟุต)
  • ยอดแหลมฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ : 77 เมตร (253 ฟุต)

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] Base Merimée ref. PA00110375 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  2. [2] Base Merimée ref. PA00110375 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  3. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  4. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  5. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  6. Maylis Baylé, « Coutances : cathédrale Notre-Dame » dans L’architecture normande au Moyen Âge, tome 2 : les étapes de la création, Editions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2e édition 2001, (ISBN 2-84133-134-2 et 2-85480-950-5), p. 161-163.
  7. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  8. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  9. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  10. Maylis Baylé, « Coutances : cathédrale Notre-Dame » dans L’architecture normande au Moyen Âge, tome 2 : les étapes de la création, Editions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2e édition 2001, (ISBN 2-84133-134-2 et 2-85480-950-5), p. 161-163.
  11. Maylis Baylé, « Coutances : cathédrale Notre-Dame » dans L’architecture normande au Moyen Âge, tome 2 : les étapes de la création, Editions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2e édition 2001, (ISBN 2-84133-134-2 et 2-85480-950-5), p. 161-163.
  12. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152
  13. Maylis Baylé, « Coutances : cathédrale Notre-Dame » dans L’architecture normande au Moyen Âge, tome 2 : les étapes de la création, Editions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2e édition 2001, (ISBN 2-84133-134-2 et 2-85480-950-5), p. 161-163.
  14. Lindy Grant, L’architecture normande au Moyen- Âge : regards sur l’art de bâtir, t. 1, Luneray, Éditions Charles Corlet/Presses Universitaires de Caen, 2001 (ISBN 2-84133-135-0 et 2-85480-949-1), « Le chœur de la cathédrale de Coutances et sa place dans l’architecture gothique du sud-ouest de la Normandie », p. 137-152