อาณาจักรล้านช้าง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
อาณาจักรล้านช้าง ອານາຈັກລ້ານຊ້າງ | |||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 1896–พ.ศ. 2250[1][2] | |||||||||||||||||
แผนที่อาณาจักรล้านช้างประมาณ พ.ศ. 1943 (สีเขียวเข้ม) | |||||||||||||||||
เมืองหลวง | หลวงพระบาง (1896-2103) เวียงจันทน์ (2103-2250) | ||||||||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาลาว, ภาษาไทยถิ่นอีสาน | ||||||||||||||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท | ||||||||||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||||||||||
พระมหากษัตริย์ | |||||||||||||||||
• 1896–1915 | พระเจ้าฟ้างุ้ม | ||||||||||||||||
• 1914–1959 | พระเจ้าสามแสนไท | ||||||||||||||||
• 2091–2114 | สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช | ||||||||||||||||
• 2180–2237 | พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช | ||||||||||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยกลางถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา | ||||||||||||||||
• สถาปนาโดยพระเจ้าฟ้างุ้ม | พ.ศ. 1896 | ||||||||||||||||
• แบ่งอาณาจักร | พ.ศ. 2250[1][2] | ||||||||||||||||
สกุลเงิน | Lat, Hoi | ||||||||||||||||
| |||||||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ประเทศลาว ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ประวัติศาสตร์ลาว | ||||||||||||||
ยุคนครรัฐ | ||||||||||||||
|
||||||||||||||
ยุคล้านช้าง | ||||||||||||||
|
||||||||||||||
ยุคแห่งความแตกแยก | ||||||||||||||
|
||||||||||||||
ยุคอาณานิคม | ||||||||||||||
|
||||||||||||||
ยุคสมัยใหม่ | ||||||||||||||
|
||||||||||||||
ดูเพิ่ม | ||||||||||||||
อาณาจักรล้านช้าง (ลาว: ອານາຈັກລ້ານຊ້າງ) เป็นอาณาจักรของชนชาติลาวซึ่งตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาวทั้งหมด ตลอดจนพื้นที่บางส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองการปกครอง ด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ที่มีพัฒนาการเคียงคู่มาพร้อมกันอาณาจักรอื่น ๆ ใกล้เคียง ทั้งล้านนา สยาม พม่า และเขมร
อาณาจักรแห่งนี้ได้สถาปนาขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่นมั่งคงอย่างแท้จริงใน พ.ศ. 1896 สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม มีความรุ่งเรืองสลับกับความร่วงโรยต่อมาหลายสมัย ซึ่งยุคที่นับได้ว่าเป็นยุคทองของอาณาจักรล้านช้างคือ รัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091- 2114) และรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2181 - 2238) หลังจากนั้นอาณาจักรลาวก็เสื่อมอำนาจลงและแตกแยกเป็น 3 ราชอาณาจักร และใน พ.ศ. 2321 ทั้ง 3 อาณาจักรก็ได้สูญเสียเอกราชแก่ราชอาณาจักรสยามในที่สุด
การสถาปนา
[แก้]นักประวัติศาสตร์ลาวเชื่อว่า ชาวลาวเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำแยงซีเกียงแถบมณฑลเสฉวนในประเทศจีนปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกจีนรุกรานจึงได้อพยพมาทางตอนใต้ของเสฉวนจนถึงยูนนาน ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหนองแสหรืออาณาจักรน่านเจ้าโดยได้มีความเจริญรุ่งเรืองและดำรงเอกราชมากว่าร้อยปี (ปัจจุบันมีการพิสูจน์ว่าอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของชนชาติต้าหลี่ ไม่ใช่ของชนชาติไท-ลาว) จนถึงสมัยของขุนบรมราชาธิราชพระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองใหม่ที่นาน้อยอ้อยหนู โดยให้ชื่อว่า "เมืองแถน" หรือ "เมืองกาหลง" (มหาสิลา วีระวงส์ เชื่อว่าคือเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูในดินแดนสิบสองจุไท ประเทศเวียดนามปัจจุบัน
ในพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่า ขุนบรมได้ทรงแผ่ขยายอาณาจักรออกไป โดยทรงส่งโอรส 7 องค์ไปปกครองเมืองต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในภูมิภาคอินโดจีนปัจจุบันดังนี้
- ขุนลอ ปกครองเมืองเซ่าหรือเมืองชวา (อ่านว่า เมืองซัวหรือเมืองซวา - ต่อมาเรียกว่าหลวงพระบาง)
- ท้าวผาล้าน ปกครองเมืองหอแต (ต้าหอ, สิบสองปันนา)
- ท้าวจุลง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม (ปัจจุบันคือเวียดนาม)
- ท้าวคำผง ปกครองเมืองเชียงใหม่
- ท้าวอิน ปกครองเมืองลานเพียศรีอยุธยา (ละโว้)
- ท้าวกม ปกครองเมืองมอน (อินทรปัต, หงสาวดี)
- ท้าวเจือง ปกครองเมืองพวน (เชียงขวาง – เชื่อกันว่าคือท้าวเจืองที่ปรากฏในวรรณกรรณเรื่อง “ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง”) [3]
ขุนลอผู้ทรงสร้างเมืองชวานี้ถือกันว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของชาวลาวทั้งปวง ในปี พ.ศ. 1300 โดยประมาณ พระองค์ได้ทรงตั้งให้เมืองชวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง พระราชทานนามราชธานีแห่งนี้ใหม่ว่า “เมืองเชียงทอง” พระองค์ได้ทรงขับไล่ชนชาติขอมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอยู่เดิมในบริเวณดังกล่าวสำเร็จ ทำให้อาณาจักรล้านช้างมีความมั่นคงต่อมายาวนาน และมีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายชั่วคน
การรวมชาติ
[แก้]ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรล้านช้างก็ได้มีกษัตริย์องค์สำคัญซึ่งชาวลาวยกย่องพระองค์ในฐานะ “พระบิดาของชาติลาว” ได้แก่ พระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช (พ.ศ. 1896 - พ.ศ. 1916, พระนามเต็มคือ “พระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี”) เนื่องจากพระองค์มีบทบาทในการรวบรวมแผ่นดินลาวให้เป็นปึกแผ่น ทั้งยังทรงวางรากฐานของพระพุทธศาสนาในลาวและทรงยกย่องให้เป็นศาสนาหลักของอาณาจักร
พระยาฟ้างุ้มเป็นพระราชโอรสของท้าวผีฟ้า และเป็นพระราชนัดดาของพระยาสุวรรณคำผง โดยในรัชสมัยของพระยาคำผง ท้าวผีฟ้า ซึ่งเป็นพระบิดาของพระยาฟ้างุ้มได้ถูกเนรเทศ จึงเสด็จหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์เขมร ในเวลาต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระยาสุวรรณคำผง อันเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรเขมรเริ่มเสื่อมอำนาจ ในขณะเดียวกันที่อาณาจักรสุโขทัยเข้มแข็งขึ้น ฝ่ายเขมรจึงต้องการคานอำนาจของสุโขทัย จึงได้สนับสนุนให้พระยาฟ้างุ้มซึ่งเสด็จติดตามพระราชบิดาไปประทับที่อาณาจักรเขมรนั้น นำกำลังเข้าแย่งชิงอำนาจจากพระยาฟ้าคำเฮียวซึ่งเป็นพระปิตุลา (อา) ผู้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระยาสุวรรณคำผง พระยาฟ้างุ้มสามารถเอาชนะพระยาฟ้าคำเฮียวได้ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้นอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้เจ้าฟ้างุ้มยังได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ อาทิ ล้านนา ตีได้เมืองเชียงแสนและเชียงใหม่เป็นเมืองส่วยบังคับส่งส่วยทุกปีซึ่งขึ้นตรงต่อเมืองหลวงพระบาง[4] มีการยอมอ่อนน้อมและส่งบรรณาการจากเมืองเชียงรุ่ง,เชียงตุง,แสนหวี,อยุธยา,ไดเวียด เป็นต้น เนื่องด้วยเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้ากรุงล้านช้าง กล่าวได้ว่าในยุคพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช ล้านช้างมีแสนยานุภาพแผ่อิทธิพลเหนือแว่นแคว้นอื่นๆได้หลายหัวเมืองใหญ่ๆและเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาณาจักร์ล้านช้างอีกด้วย
ในรัชสมัยของพระยาฟ้างุ้ม แม้พระองค์จะได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 1899 เกิดปัญหาภายในหลวงพระบางส่งผลทำให้เจ้าฟ้างุ้มถูกเนรเทศออกจากเมืองหลวงพระบางและขุนนางได้อัญเชิญพระยาอุ่นเฮือนพระราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา ส่วนพระยาฟ้างุ้มได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองน่านกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1916
ในรัชสมัยของพระยาอุ่นเฮือน (พ.ศ. 1899 – 1916) และอีกสองรัชสมัยต่อมา คือในรัชสมัยของพระเจ้าสามแสนไทยไตรภูวนาถ (พ.ศ. 1916 – 1959) และพระยาล้านคำแดง (พ.ศ. 1959 – 1971) เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านช้างปลอดจากการรุกรานจากภายนอก เนื่องด้วยการเสื่อมอำนาจลงของอาณาจักรเขมรเป็นสำคัญ อีกทั้งฝ่ายสุโขทัยที่เข้มแข็งขึ้นก็มุ่งอยู่กับการปราบปรามอำนาจของเขมรที่เคยมีเหนือดินแดนตน ทางอาณาจักรจามปาซึ่งเพิ่งพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิมองโกลก็ยังไม่เข้มแข็ง การแข่งขันกันสร้างเสริมความมั่นคงของสุโขทัยและล้านนาอันเป็นอาณาจักรที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้อาณาจักรล้านช้างก็ต้องพยายามเสริมสร้างความมั่นคงของตนด้วย โดยได้มีการจัดทำบัญชีไพร่พลและปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ซึ่งด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ก็ทำให้อาณาจักรล้านช้างมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก
ความอ่อนแอภายใน
[แก้]หลังพระยาล้านคำแดงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1971 แล้ว อาณาจักรล้านช้างกลับตกอยู่ในสภาพระส่ำระสาย เพราะอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงได้ตกอยู่ในมือของพระนางมหาเทวีอามพัน (หรือนางแก้วพิมพา) ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระยาล้านคำแดง พระองค์ได้ทรงใช้อำนาจที่ทรงมีอยู่แต่งตั้งกษัตริย์ขึ้นปกครองราชอาณาจักรตามอำเภอใจ หากไม่พอใจพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนก็ปลดออกจากตำแหน่งหรือลอบปลงพระชนม์เสีย กษัตริย์ล้านช้างในช่วงนี้จึงไม่มีองค์ใดอยู่ในราชสมบัติได้นานนัก ส่วนมากทรงครองราชย์อยู่ได้ไม่ถึงปี สร้างความปั่นป่วนแก่ราชสำนักและยังความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 1981 บรรดาขุนนางทั้งหลายจึงปรึกษากันว่าจะเอาพระนางมหาเทวีไว้ไม่ได้จึงพร้อมใจกันจับตัวพระนางสำเร็จโทษ แล้วเชิญพระราชโอรสของพระยาล้านคำแดงขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว อาณาจักรล้านช้างจึงกลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง เป็นการยุติความยุ่งเหยิงซึ่งกินเวลานานถึงสิบกว่าปี
พ.ศ. 2023 จักรวรรดิเวียดนามซึ่งเริ่มมีกำลังกล้าแข็งจึงได้ทียกทัพเข้ามารุกรานและสามารถยึดครองเมืองเชียงทองอันเป็นเมืองหลวงไว้ได้ พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วต้องเสด็จหนีไปประทับอยู่ ณ เมืองเชียงคาน แล้วมอบพระราชสมบัติให้กับพระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ ซึ่งเป็นพระราชโอรส พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ทรงนำไพร่พลขับไล่ชาวเวียดนามออกไปได้ จากนั้นจึงทรงเวนพระราชสมบัติถวายแก่พระราชบิดา พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สอง กระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2022 พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาอีกครั้ง จวบจนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2029 พระยาหล้าแสนไทย พระอนุชาได้เสด็จขึ้นครองราชย์และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2039 โดยได้มอบพระราชสมบัติให้แก่เจ้าชมพูพระราชโอรส แต่เจ้าชมพูครองราชย์อยู่ได้ห้าปีก็ถูกบรรดาขุนนางร่วมกันก่อกบฏแล้วจับสำเร็จโทษเสีย จากนั้นก็อัญเชิญพระเจ้าวิชุลราช พระราชโอรสของพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2044 พระองค์โดยโปรดให้สร้างวัดวิชุลราชแล้วอัญเชิญพระบางมาประดิษฐาน ดังนั้นเมืองเชียงทองจึงถูกเรียกว่าหลวงพระบางนับแต่นั้นมา
สายสัมพันธ์ระหว่างล้านช้างกับล้านนา
[แก้]ในรัชสมัยของพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. 2063 - พ.ศ. 2090) พระโพธิสารราชเจ้าขึ้นครองราชย์และรวบรวมแผ่นดินให้เกิดความเป็นปึกแผ่นประกาศยกเลิกไม่ให้ประชาชนนับถือผีสางให้มายึดมั่นในพระพุทธศาสนา ทรงสร้างวัดวาอารามต่างๆ มากมาย ให้การช่วยเหลือเวียดนามและเจริญสัมพันธไมตรีกับล้านนา (เชียงใหม่) ต่อมาเมื่อถึงปี พ.ศ. 2091 พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระโพธิสารราชเจ้าซึ่งประสูติกับพระมเหสีที่มีพระนามว่า “พระนางยอดคำทิพย์” (หรือเจ้านางหลวงคำผาย:พระธิดาในกษัตริย์ล้านนา) ได้ทรงขึ้นครองราชย์ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในรัชสมัยของพระองค์เกิดศึกพม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า กรุงสีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง แห่งนี้ชัยภูมิไม่เหมาะสมที่จะตั้งเป็นเมืองหลวงอีกต่อไปเพราะอยู่ใกล้กับศัตรู เมื่อพวกพม่าตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้วต่อไปภายภาคหน้าก็อาจยกทัพมารุกรานลาวล้านช้างก็เป็นได้ พระองค์จึงทรงย้ายเมืองหลวงจาก หลวงพระบาง มาสร้างเมืองนครเวียงจันทน์ และสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่โดยพระราชทานนามว่า กรุงศรีสัตตนาคะนะหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ นับได้ว่าเป็นรัชสมัยแห่งความรุ่งเรืองในด้านศิลปะและวรรณกรรมต่าง ๆ ในด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ได้ทรงประกาศห้ามให้มีการบูชาผีต่างๆ และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง โดยมีการรับอิทธิพลด้านพุทธศาสนามาจากอาณาจักรล้านนาซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับล้านช้างในเวลานั้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้อักษรธรรมล้านนาเป็นเครื่องมือศึกษาพระพุทธศาสนา (อักษรดังกล่าวนี้ได้พัฒนาเป็นอักษรธรรมล้านช้างในเวลาต่อมา)
การที่ล้านช้างมีความสัมพันธ์กับล้านนาอย่างใกล้ชิดก็ด้วยเหตุผลด้านการเมืองเป็นหลัก กล่าวคือ ในขณะนั้นอาณาจักรล้านนาได้อ่อนแอลงจากการทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ภัยธรรมชาติ และความล้มเหลวในการรุกรานเมืองเชียงตุง เปิดช่องให้อาณาจักรข้างเคียงอย่างล้านช้าง ตองอู และอยุธยาสร้างอิทธิพลแทรกแซงภายในอาณาจักร โดยล้านช้างได้เข้าเกี่ยวดองกับล้านนาผ่านการเสกสมรสของเจ้านายในเครือญาติของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้พระเจ้ากรุงล้านช้างได้เข้าไปมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองล้านนาทุกหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองแต่ละหัวเมืองได้ยอมอ่อนน้อมและอยู่ภายใต้อำนาจ จึงกล่าวได้ว่า ล้านนาเป็นรัฐในอารักขาของล้านช้างในยุคพระเจ้าโพธิสารราช
ต่อมาเมื่อพระเมืองเกษเกล้าแห่งล้านนาเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2088 อาณาจักรล้านนาก็เกิดความวุ่นวายจากการสรรหาผู้เหมาะสมที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ เหล่าขุนนางแห่งล้านนาจึงได้อัญเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชโอรสของพระเจ้าโพธิสารและเจ้าหญิงเชื้อสายล้านนา ให้เสวยราชสมบัติปกครองอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 2089 เพื่ออาศัยอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างคานอำนาจกับอาณาจักรตองอูที่นับวันจะกล้าแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จึงกล่าวได้ว่าล้านช้างเข้ามามีอิทธิพลต่อล้านนาเป็นอย่างมากในยุคนี้ ซึ่งพระเจ้าโพธิศาลราชเป็นจักรพรรดิที่อยู่เบื้องหลังของการรวมล้านนาเข้าไว้กับล้านช้างโดยให้บุตรชายได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ส่วนตนครองเมืองหลวงพระบางต่อไป ซึ่งเมืองหลวงพระบางในช่วงนี้มีอำนาจเหนือแคว้นล้านนาทุกหัวเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2091 พระเจ้าโพธิสารราชทรงตกช้างระหว่างเสด็จประพาสคล้องช้างป่าและเสด็จสวรรคต เจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร (เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา) และเจ้ากิจธนวราธิราช (เจ้าท่าเรือ) ผู้เป็นพระราชโอรสองค์รองต่างพยายามจะขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ขุนนางล้านช้างจึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับมานครหลวงพระบางเพื่อรับเถลิงถวัลยราชสมบัติระงับเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น โดยพระองค์ยังได้เชิญพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของล้านนามาสถิต ณ นครหลวงพระบางด้วย ขุนนางแห่งล้านนาจึงถวายราชสมบัติกษัตริย์ล้านนาให้แก่พระเมกุฏิ เจ้านายล้านนาเชื้อสายราชวงศ์มังรายจากเมืองนายขึ้นปกครองแทน
ความรุ่งเรืองและภัยคุกคามจากอาณาจักรตองอู
[แก้]รัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราช นับได้ว่าเป็นสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ลาวที่มีความรุ่งเรืองมากท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นรอบด้าน ชาวลาวล้วนนับถือพระองค์ว่าทรงเป็นมหาราชและทรงเป็นวีรกษัตริย์พระองค์สำคัญในประวัติศาสตร์ลาว พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่สำคัญไว้หลายประการ โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนาซึ่งได้รับการทำนุบำรุงอย่างกว้างขวาง โปรดให้มีการสร้างและบูรณะปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น ทรงสร้างหอพระแก้วเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตอันได้ทรงอัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านนา และทรงสร้างพระเจดีย์โลกจุฬามณี (พระธาตุหลวง) ที่นครเวียงจันทน์ ทรงสถาปนาพระธาตุศรีสองรักร่วมกับอาณาจักรอยุธยาที่เมืองด่านซ้าย ทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมที่เมืองนคร (นครพนม) เป็นต้น
ในระยะเวลานี้เองที่อาณาจักรตองอูในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองมีกำลังที่เข้มแข็งและทรงอิทธิพลอย่างมาก และพยายามจะขยายอาณาจักรมาทางทิศตะวันออก พระองค์จึงโปรดให้มีการย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาอยู่ที่นครเวียงจันทน์เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจอาณาจักรตองอูในปี พ.ศ. 2103 และพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "พระนครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตตมราชธานี" ทั้งยังทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นกำลังในการต่อต้านพม่าซึ่งเป็นศัตรูร่วมกัน
ในปี พ.ศ. 2107 ทัพพม่าได้ติดตามจับกุมขุนนางล้านนาเชียงใหม่มาถึงเวียงจันทน์ และสามารถตีกรุงเวียงจันทน์ได้ในขณะที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร พร้อมทั้งกวาดต้อนชาวเมืองและเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงกลับไปยังพม่าเป็นจำนวนมาก รวมถึงเจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา พระราชอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แล้วจึงถอยทัพกลับไป พระองค์ทรงคุมแค้นอยู่มาก เมื่อฝ่ายอยุธยาขอความช่วยเหลือให้ช่วยรบพม่าในช่วงปี พ.ศ. 2110 – 2112 พระองค์จึงทรงส่งกองทัพไปช่วยเหลืออยุธยาแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากถูกฝ่ายพม่าและพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกซ้อนกลจนแตกพ่าย หลังอาณาจักรตองอูพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้แล้วพระเจ้าบุเรงนองจึงทรงส่งกองทัพมาปราบปรามล้านช้างแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากพระเจ้าไชยเชษฐาได้ทรงนำกองทัพและชาวเมืองหลบภัยในป่าและคอยลอบโจมตีกองทัพพม่าอยู่เนือง ๆ จนกองทัพพม่าต้องถอนกำลังกลับไป
ลุถึงปี พ.ศ. 2114 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จออกปราบกบฏ ณ เมืองรามรักโองการ (เชื่อกันว่าอยู่ในพื้นที่แขวงอัตตะปือในปัจจุบัน) แล้วสูญหายไปในศึกนั้น ในเวลานั้นพระองค์มีพระราชโอรสพระองค์เดียวคือพระหน่อแก้วกุมาร ซึ่งประสูติจากบาทบริจาริกาผู้เป็นธิดาของพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย และเพิ่งประสูติได้ไม่นาน
ความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติ
[แก้]หลังการหายสาบสูญพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในกรุงเวียงจันทน์ก็เกิดสงครามกลางเมืองจากการแก่งแย่งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระหน่อแก้วกุมารระหว่างเสนาบดีผู้ใหญ่ 2 คน คือ พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย อัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้ายผู้มีสถานะเป็นพระอัยกาของพระราชกุมาร กับพระยาจันทสีหราช อัครมหาเสนาบดีฝ่ายขวา ที่สุดแล้วพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยเป็นฝ่ายชนะ จึงสถาปนาตนเองเป็นพระสุมังคละอัยโกโพธิสัตว์ราชา เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระหน่อแก้วกุมารผู้ทรงพระเยาว์ คนทั่วไปเรียกว่า “พระเจ้าปู่หลาน”
พ.ศ. 2118 ฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ได้ จึงคุมตัวพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยกลับหงสาวดี แล้วแต่งตั้งให้เจ้ามหาอุปราชศรีวรวงษา พระอนุชาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งถูกคุมตัวไปหงสาวดีตั้งแต่ครั้งที่พม่าตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแรก ขึ้นปกครองเมือง พระนามว่า พระเจ้าศรีวรวงษาธิราช
พ.ศ. 2123 ได้เกิดกบฏขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าศรีวรวงษาธิราชสู้ไม่ได้จึงเสด็จหนีแต่ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทาง เมื่อพม่าได้ยกทัพมาปราบกบฏได้ จึงแต่งตั้งให้พระยาแสนสุรินทร์ลือชัยขึ้นปกครองเมืองอีกครั้ง กระทั่งถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2125 จากนั้น พระยานครน้อย บุตรของพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยได้ขึ้นปกครองเมืองสืบต่อจากบิดา แต่ไม่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองจึงถูกขุนนางร่วมกันปลดออกจากราชสมบัติ นับแต่นั้นเมืองเวียงจันทน์ก็อยู่ในสภาพไร้ผู้ปกครองถึงแปดปี ขุนนางทั้งหลายจึงได้แต่งตั้งให้คณะสงฆ์เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองเพื่อทูลขอตัวพระหน่อแก้วกุมารมาครองเมือง พระหน่อแก้วจึงได้ขึ้นครองเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งในปีพ.ศ. 2134
พ.ศ. 2139 พระหน่อแก้วกุมารสวรรคต ทำให้พระวรวงศาธรรมิกราชซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระหน่อแก้วกุมาร ได้รับการอัญเชิญให้ปกครองเมืองเวียงจันทน์
พ.ศ. 2164 พระวรวงศาธรรมิกราชเกิดข้อขัดแย้งกับพระอุปยุวราช พระราชโอรส จนถึงขั้นเข้าต่อสู้กัน พระวรวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตในการต่อสู้ พระอุปยุวราชจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ทรงครองราชย์ได้เพียงปีกว่าก็เสด็จสวรรคต ประชาชนก็ได้ร่วมกันอัญเชิญพระยามหานามอันเป็นขุนนางผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งพระยานครขึ้นเป็นกษัตริย์ มีพระนามว่าพระยาบัณฑิตโพธิสาร ทรงครองราชย์ได้สี่ปีก็เสด็จสวรรคต ประชาชนจึงร่วมกันอัญเชิญพระหม่อมแก้ว พระโอรสในพระวรวงศาธรรมิกราช เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2170 เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระยาอุปยุวราช พระราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา เมื่อพระอุปยุวราชเสด็จสวรรคต พระโอรสทั้งสองพระองค์ คือ ท้าวต่อนคำ และท้าววิชัย ได้ร่วมกันปกครองบ้านเมือง กระทั่งท้าววิชัยเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2179
ความรุ่งเรืองครั้งสุดท้าย
[แก้]พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2181- พ.ศ. 2238) เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอีกยุคหนึ่ง เนื่องด้วยพระองค์มีวิธีการปกครองบ้านเมืองหลักแหลมและเป็นธรรม ทำให้ล้านช้างมีความมั่นคงและสงบร่มเย็นกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งความรุ่งเรื่องทางสถาปัตยกรรม อักษรศาสตร์ ศิลปะแขนงต่างๆ ตลอดจนการค้าขายกับต่างชาติ ในยุคนี้ท่านได้มีการทำศึกสงครามครั้งใหญ่กับอาณาจักรอยุธยาอยู่หลายครั้ง และสุดท้ายล้านช้างเป็นฝ่ายชนะ ส่งผลให้อยุธยาสูญเสียเสบียงและกำลังพลไปอย่างมหาศาลกับการทำสงครามพ่ายแพ้ต่อล้านช้างซึ่งส่งผลให้อยุธยาบอบช้ำอย่างหนักไม่สามารถขยายอิทธิพลไปยังหัวเมืองอื่นๆได้อีก อีกทั้งยังสูญเสียประเทศราชภายใต้อำนาจบางแห่งอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังนำทัพล้านช้างได้ไปตีเมืองพวนและกวาดต้อนไทพวนเข้ามาไว้ในเวียงจันทน์เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม จากรณีที่พระราชโอรสของพระองค์ได้กระทำความผิดลักลอบเป็นชู้กับภริยาของขุนนางผู้หนึ่ง พระองค์ก็ลงโทษตามอาญาถึงขั้นประหารชีวิตโดยมิได้ใส่ใจว่าเป็นพระโอรส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงอยู่ในสภาพที่ไร้รัชทายาท และเมื่อพระองค์สวรรคตโดยไร้รัชทายาท ประชาชนจึงได้อัญเชิญพระยาเมืองจันซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ก็ครองราชย์อยู่ได้หกปี เจ้านันทราชแห่งมรุกขนคร ก็ยกทัพเข้ามาชิงเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้ เจ้านันทราชจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างใน พ.ศ. 2238
ยุคแห่งความแตกแยก
[แก้]กำเนิดล้านช้างสามอาณาจักร
[แก้]เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ราชอาณาจักรล้านช้างเกิดภาวะระส่ำระสายอย่างหนัก จากการแก่งแย่งอำนาจของบรรดาเชื้อพระวงศ์ จนทำให้ราชอาณาจักรแตกแยกออกเป็น 3 ราชอาณาจักรเอกราช ได้แก่
อาณาจักรนี้คืออาณาจักรที่สืบทอดจากอาณาจักรล้านช้างศรีสัตนาคนหุตเดิม มีอาณาปกครองดินแดนลาวภาคกลางในปัจจุบัน มีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 เป็นปฐมกษัตริย์ พระไชยเชษฐาองค์นี้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่จักรวรรดิเวียดนาม ซึ่งมีราชธานีในขณะนั้นอยู่ที่เมืองเว้ คนทั้งหลายจึงขนานพระนามอีกอย่างว่าพระไชยองค์เว้หรือพระไชยองค์เวียด พระองค์ได้นำกำลังจากเวียดนามเข้ายึดกรุงเวียงจันทน์จับเจ้านันทราชสำเร็จโทษ แล้วราชาภิเษกพระองค์เองเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2241 จากนั้นจึงทรงตั้งท้าวลองเป็นเจ้าอุปราชครองเมืองหลวงพระบางแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวลาวทั้งมวล เพราะพระองค์มีความใกล้ชิดกับจักรวรรดิเวียดนาม
ในปี พ.ศ. 2250 เจ้ากิ่งกิสราชกับเจ้าองค์คำ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ที่หนีไปประทับที่เมืองหงสา (อยู่ในแขวงไชยบุรีในปัจจุบัน) ได้ยกทัพเข้ามาชิงเมืองหลวงพระบาง จับเจ้าอุปราชท้าวลองสำเร็จโทษ และเตรียมจะยกทัพเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ พระไชยองค์เว้จึงมีพระราชสาส์นไปยังสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอความช่วยเหลือ ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายให้ยุติการรบและปกปันเขตแดนต่อกัน ทำให้หลวงพระบางกลายเป็นอาณาจักรเอกราชไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์มานับแต่นั้น ในยุคนี้จึงนับได้ว่าเป็นยุคที่ลาวแตกแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ซึ่งเวียงจันทน์ก็เองไม่ไว้ใจและหาทางทำลายฝ่ายหลวงพระบางอยู่ตลอด
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางถือกำเนิดจากความแตกแยกระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2250 ดังได้กล่าวมาแล้ว มีอาณาปกครองดินแดนลาวภาคเหนือในปัจจุบัน มีพระเจ้ากิ่งกิสราชเป็นปฐมกษัตริย์ (พ.ศ. 2249 - 2256) และมีเชื้อสายกษัตริย์สืบราชสมบัติต่อมาจนกระทั่งประเทศลาวเป็นเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2492 และเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2518 ในยุคแรกอาณาจักรนี้เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในของตนเองเป็นระยะ และมีการจะขอกำลังจากรัฐที่ใหญ่กว่าอย่างพม่ามาช่วยเหลือเสมอ แน่นอนว่าฝ่ายหลวงพระบางก็ไม่ไว้ใจและหาทางทำลายฝ่ายเวียงจันทน์เช่นกัน
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีกำเนิดมาจากการอพยพหลบภัยการเมืองของเจ้านางสุมังคละและประชาชนส่วนหนึ่งภายใต้การนำของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระเถระผู้ใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช มูลเหตุมาจากพระยาเมืองจันผู้เป็นเสนาบดีได้ชิงราชสมบัติขึ้นครองอาณาจักรหลังพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคต และคิดจะเอาเจ้านางสุมังคละ พระราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ซึ่งทรงเป็นหม้ายและกำลังทรงครรภ์) เป็นมเหสี แต่นางไม่ยอม จึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กจึงพาญาติโยมของตนประมาณ 3,000 คนและเจ้านางสุมังคละหนีออกจากเวียงจันทน์ทางใต้ไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุก ณ ที่นั้นเจ้านางสุมังคละได้ประสูติพระโอรสนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์
ต่อมานางแพงเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ชาวพื้นเมืองได้อาราธนาเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กมาปกครองบ้านเมือง เจ้าราชครูหลวงปกครองบ้านเมืองได้ระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาการปกครองในบางประการซึ่งเอาหลักทางธรรมมาตัดสินและยุติปัญหาไม่ได้ ท่านจึงให้คนไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเจริญพระชนม์มากพอที่จะปกครองบ้านเมืองได้แล้ว มาทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2257 ทรงพระนามว่า พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร อาณาจักรล้านช้างแห่งที่ 3 คือ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จึงถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ พระองค์ได้ประกาศอาณาเขตแยกออกจากเวียงจันทน์ ปกครองดินแดนลาวภาคใต้ตั้งแต่เขตเมืองนครพนม เมืองคำม่วน ลงไปจนถึงเมืองเชียงแตง เมืองมโนไพรต่อแดนเขมร ส่วนทางด้านตะวันตกอาณาเขตไปไกลจนถึงเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ เชื้อสายของกษัตริย์แห่งอาณาจักรนี้ได้ปกครองจำปาศักดิ์ต่อมาทั้งในฐานะกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร และผู้ว่าราชการเมือง จนกระทั่งแผ่นดินลาวรวมเป็นหนึ่งในปี พ.ศ. 2489 แต่ยังคงมีบทบาททางการเมืองในลาวยุคพระราชอาณาจักรมาตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2518
การสูญเสียเอกราชแก่สยาม
[แก้]เมื่ออาณาจักรล้านช้างแตกเป็น 3 อาณาจักร แต่ละอาณาจักรต่างตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกันและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับหลวงพระบางและเวียงจันทน์แล้ว ทั้งสองอาณาจักรนี้ล้วนถือว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูเลยทีเดียว ต่างก็จ้องหาทางทำลายล้างต่อกันด้วยการอาศัยกำลังทหารพม่าที่มีอำนาจในล้านนาอยู่ตลอด
มูลเหตุแรกที่สำคัญหรือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สยามหรืออาณาจักรธนบุรีเริ่มหันมาสนใจที่จะขยายอำนาจ อิทธิพล เข้ายึดครองและแทรกเแซงอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง 3 อาณาจักร จุดเริ่มต้นเกิดมาจากความขัดแย้งระหว่างจำปาศักดิ์กับสยามมีมายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ. 2308 นครจำปาศักดิ์สูญเสียเมืองหน้าด่านสำคัญอย่าง เมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเมืองของพระญาติวงศ์สำคัญของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ พระองค์แรก อย่างเจ้าแก้วมงคล ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผู้เป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว บรรพชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของเจ้าเมืองทั่วภาคอีสาน ได้ครองเมืองท่งศรีภูมิตั้งแต่ปีพ.ศ. 2256 เป็นเมืองเจ้าประเทศราชขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2308 พระนัดดาของเจ้าแก้วมงคล พระนามว่า เจ้าเซียง ได้พยายามแย่งชิงเอาเมืองท่งจากเจ้าอาว์ นามว่า เจ้าสุทนต์มณี (เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่3 และเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านแรก) จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาจึงโปรดเกล้าส่งกำลังพลไปช่วยเจ้าเซียง จนสามารถยึดเมืองท่งศรีภูมิจากเจ้าอาว์ได้เป็นผลสำเร็จ จึงส่งผลให้เมืองท่งศรีภูมิถูกตัดขาดจากอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ไปขึ้นกับอาณาจักรอยุธยามานับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งต่อมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกรุงธนบุรีและอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์และเมืองขึ้นของนครจำปาศักดิ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรธนบุรีในเวลาต่อมา เนื่องด้วยความขัดแย้งที่มีมาอย่างช้านาน ร่วม 10 กว่าปี จึงก่อให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ขึ้น การตีเมืองจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2319 สาเหตุเนื่องจากพระยานางรอง เกิดขัดใจกับ เจ้าเมืองนครราชสีมา จึงคิดกบฏต่อไทย ไปขอขึ้นกับ เจ้าโอ เมืองจำปาศักดิ์ และเนื่องด้วยทางเมืองจำปาศักดิ์ เคยสูญเสียเมืองหน้าด่านที่สำคัญอย่างเมืองท่งศรีภูมิให้แก่อยุธยา ไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีความไม่พอใจหรือคับแค้นใจเป็นทุนเดิมที่ทางอาณาจักรอยุธยาหรือสยามมีการแทรกแซงอำนาจแย่งเมืองท่งให้ไปขึ้นกับอาณาจักรของตน ทำให้อำนาจของอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เพื่อต้องการฟื้นฟูอำนาจที่เสียไปและต้องการเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนเมืองหน้าด่านที่เคยเป็นป้อมปราการสำคัญที่ใช้ยันกับอาณาจักรอยุธยาและล้านช้างเวียงจันทน์ เมื่อครั้งในอดีต ทางเมืองจำปาศักดิ์จึงให้การยอมรับและให้การสนับสนุนช่วยเหลือพระยานางรองอย่างเต็มที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรีไปปราบ เจ้าเมืองนางรองถูกจับประหารชีวิต ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองอัตตะปือ และ ดินแดนตอนใต้ของประเทศลาวตกลงมาเป็นของไทย แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่างๆใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุง สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ หลังจากจบศึก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาจักรี เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมา ทุกนัคราระเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งสมุหนายก นับเป็นการพระราชทานยศสูงที่สุดเท่าที่เคยมี และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นกันระหว่างอาณาจักรธนบุรีกับอาณาจักร์ของชาวลาวล้านช้าง จึงเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือสาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเริ่มหันเหและให้ความสนใจที่จะขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรลาวล้านช้างทั้ง3และหัวเมืองขึ้นอื่นๆอีกมากมาย จากกรณีกบฎพระยานางรอง ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่มาก ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 และรวบร่วมกำลังพล เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งศรีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง(สุวรรณภูมิ) เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมส์ทางการเมือง และใช้กรณีพิพาทกันระหว่างพระวอพระตากับเจ้าสิริบุญสารเป็นปัจจัยเสริมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเข้าไปยึดครองอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อาณาจักรหลวงพระบาง
มูลเหตุต่อเนื่องจากมูลเหตุแรกที่ทำให้อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ล้านช้างหลวงพระบางเสียเอกราชให้แก่สยามมาจากความขัดแย้งภายในของอาณาจักรล้านช้าง ระหว่างพระเจ้าศิริบุญสารกษัตริย์เวียงจันทน์กับพระวอ พระตา สองขุนนางผู้ใหญ่ ทั้งสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน (บางแห่งว่าพระวอเป็นพี่ พระตาเป็นน้อง บางแห่งว่ากลับกัน บางแห่งว่าทั้งสองคนเป็นคนเดียวกันก็มี) มีเชื้อสายเจ้าอุปราชนองล้านช้างเวียงจันทน์ นัดดาแสนทิพย์นาบัว ซึ่งได้รับความการแต่งตั้งจากกษัตริย์เวียงจันทน์ให้ตั้งถิ่นฐานที่เมืองหนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นกับนครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งสองเคยได้ช่วยเหลือให้พระเจ้าศิริบุญสารได้เสวยราชสมบัติในเวียงจันทน์มาก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2313 พระตาทวงบุญคุณที่เคยช่วยพระเจ้าศิริบุญสารได้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์นครเวียงจันทน์ โดยการขอให้ทรงยกตำแหน่งเจ้าอุปราชให้แก่ตน แต่พระเจ้าศิริบุญสารทรงปฏิเสธที่จะยกตำแหน่งเจ้าอุปราชให้พระตา พระวอพระตา ไม่พอใจพระเจ้าศิริบุญสารเป็นอย่างมาก จึงกลับมาตั้งมั่น แข็งเมืองหรือขบถต่อนครหลวงเวียงจันทน์ และพร้อมเตรียมสู้รบอยู่ที่เมืองหนองบัวลุ่มภู (สาเหตุที่ขัดแย้งกันยังมีต่างออกไปอีกตามหลักฐานแต่ละแห่ง)
พระเจ้าศิริบุญสารทรงส่งกองทัพมาปราบถึงสามครั้ง กองทัพฝ่ายพระวอพระตาก็ชนะทุกครั้ง แต่เมื่อรบนานไปฝ่ายหนองบัวลุ่มภูเห็นว่าจะแพ้เพราะกำลังรบลดลงแน่นอนจึงได้ขอความช่วยเหลือจากกองทัพพม่า ทว่ากองทัพพม่ากลับให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเวียงจันทน์เพราะฝ่ายเวียงจันทน์ส่งคนไปขอความช่วยเหลือตัดหน้าฝ่ายหนองบัวลุ่มภู ในการรบครั้งต่อมาฝ่ายหนองบัวลุ่มภูจึงแพ้ พระตาตายในที่รบ พระวอจึงนำไพร่พลและเชื้อสายที่รอดตายหนีไปพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ โดยไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านเวียงดอนกองขึ้นกับอาณาจักร์ล้านช้างจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของไทยในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2319 พระวอเกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารจากเรื่องการสร้างกำแพงเมืองกับการสร้างหอคำ (เรือนหลวง) และความหวาดระแวงของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เนื่องด้วยสาเหตุ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2308 เป็นต้นมา เมืองทุ่ง(สุวรรณภูมิ) ขาดจากอำนาจของเมืองจำปาศักดิ์ ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา และเมืองทุ่งร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาเเละกรุงธนบุรีให้เขตปลอดภัยกับกลุ่มพระวอที่แตกทัพมา ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่ากรุงธนบุรีจะขยายอำนาจมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ โดยใช้เมืองทุ่งและกลุ่มพระวอเป็นเครื่องมือทางการเมือง[5] พระวอจึงได้พาไพร่พลมาตั้งมั่นที่บ้านดอนมดแดงและทำหนังสือขอเป็นขอบขัณฑสีมาของกรุงสยามในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพระองค์ก็ได้รับไว้ ฝ่ายเวียงจันทน์เห็นว่าถ้าส่งกำลังไปปราบพระวอแล้วฝ่ายจำปาศักดิ์จะไม่ให้ความช่วยเหลือพระวอที่ขึ้นอยู่ภายใต้อาณัติของกษัตริย์นครจำปาศักดิ์ อย่างแน่นอนจึงทรงส่งกองทัพมาจับเจ้าพระวอฆ่าที่บ้านดอนมดแดงเสีย ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ บุตรหลานของพระวอและพระตาซึ่งตีฝ่าวงล้อมออกมาได้จึงแจ้งเรื่องกราบทูลไปยังกรุงธนบุรีผ่านทางเมืองนครราชสีมา
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระพิโรธมากที่ฝ่ายเวียงจันทน์ส่งกองทัพมาฆ่าผู้ที่อยู่ในขอบขัณฑสีมา เมืองขึ้นของพระองค์ กอปรกับพระองค์เองก็ไม่ทรงไว้ใจฝ่ายเวียงจันทน์ที่มีท่าทีฝักใฝ่อาณาจักรพม่าซึ่งยังคงคุกคามฝ่ายสยามอยู่ตลอด ในปี พ.ศ. 2321 พระองค์จึงทรงส่งกองทัพภายใต้การนำของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นไปตีอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ โดยไล่ตีมาทางใต้ผ่านทางอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ก่อน ฝ่ายจำปาศักดิ์เห็นว่าจะสู้กองทัพไทยไม่ได้จึงยอมอ่อนน้อมโดยดี จากนั้นจึงยกทัพขึ้นเหนือตีหัวเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์เรื่อยมา จนสามารถหักเอาเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ ฝ่ายสยามจึงกวาดต้อนทรัพย์สิน ผู้คน ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ และกุมตัวพระเจ้าศิริบุญสารลงมายังกรุงธนบุรี ด้านอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางซึ่งเป็นอริกับเวียงจันทน์มาตลอดก็ได้ให้ความช่วยเหลือฝ่ายสยามในสงครามครั้งนี้อย่างเต็มที่ แต่พอสิ้นศึกก็ถูกฝ่ายสยามบังคับให้ยอมอ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้นด้วยเช่นกัน อาณาจักรล้านช้างทั้งสามแห่งจึงตกเป็นประเทศราชของสยามทั้งหมดในปี พ.ศ. 2321 นี้เอง แม้ต่อมาภายในสยามก็เกิดการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์สู่ราชวงศ์จักรีและย้ายราชธานีมายังกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 ก็ตาม แต่ภาวะความเป็นประเทศราชของทั้งสามอาณาจักรก็มิได้เปลี่ยนแปลง
การปกครองของสยาม
[แก้]ภายหลังที่สูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรสยาม พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงให้เจ้านันทเสนโอรสของพระเจ้าศิริบุญสาร เสด็จขึ้นครองราชย์แทน แล้วแต่งตั้งเจ้าอินทวงศ์เป็นอุปราช ส่วนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ให้ลงไปเป็นตัวประกันที่กรุงธนบุรี แต่ต่อมาก็เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องกันกับเจ้าอนุรุทธแห่งนครหลวงพระบางหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2336 เจ้านันทเสนถูกกล่าวหาว่าสมคบกับเจ้าเมืองนครพนมและเวียดนามจะก่อการกบฏ จึงถูกเรียกตัวลงไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ พระองค์ต่อสู้คดีอยู่ 2 ปี ก็เสด็จสวรรคต
เจ้าอินทวงศ์พระอนุชาของเจ้านันทเสนได้ครองราชย์สืบต่อ และครองเมืองมาถึงปี พ.ศ. 2346 ก็ถึงแก่พิราลัย ทำให้เจ้าอนุวงศ์ พระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าศิริบุญสารได้ขึ้นครองราชสมบัติในนครเวียงจันทน์ พระองค์เป็นผู้มีความสามารถในหลายด้าน โดยได้เคยยกทัพไปช่วยฝ่ายสยามรบกับพม่าจนได้รับชัยชนะหลายครั้ง ตลอดจนได้ทรงจัดแจงสร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรืองในหลายด้าน ทั้งในทางพระพุทธศานาและทางทหาร ทั้งได้ยึดครองจำปาศักดิ์จากความดีความชอบที่ เจ้าราชบุตรโย้ ผู้เป็นโอรสทำการปราบกบฏอ้ายสา
เมื่อมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นแล้วเจ้าอนุวงศ์จึงทรงมีความต้องการที่จะขยายอำนาจออกไปอีก โดยมุ่งหมายจะยึดครองดินแดนสยาม ในครั้งนั้นทรงมีดำริว่าจะยกทัพไปยึดกรุงเทพฯเสีย เพื่อให้คนสยามมาอยู่ในอำนาจ แต่เมื่อได้รับการทัดทานจากขุนนางว่าสยามเป็นประเทศใหญ่ ไม่สามารถปกครองได้ทั่วถึง เจ้าอนุวงศ์จึงว่าถ้าหากปกครองคนสยามได้ไม่หมดก็จะ "ทำลายกรุงเทพฯให้สิ้นซาก" กวาดทรัพย์สินและผู้คนมาเวียงจัน เพื่อไม่ให้คนสยามมีกำลังตั้งตนได้อีก[6] เจ้าอนุวงศ์ได้บุกเข้าตีถึงจังหวัดนครราชสีมา แต่เสียทีให้กับ ท้าวสุรนารี ประกอบกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางยังคงจงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ จึงส่งกำลังมาช่วยทัพสยามตีทัพเจ้าอนุวงศ์จนพ่ายแพ้ เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวส่งลงไปที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2371
เมื่อกองทัพอาณาจักรสยามตีนครเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ในรัชกาลของเจ้าอนุวงศ์นี้ ฝ่ายสยาม (รัชกาลที่ 3) ได้สั่งให้ "ทำลายนครเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก" และกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนมากรุงเทพฯ อีกทั้งให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองนครอีกต่อไป นครเวียงจันทน์ที่จึงถูกทำลายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. 2371
เมื่อสูญเสียเอกราชใน พ.ศ. 2321 ในสมัยเจ้าสุริยวงศ์ พระองค์จึงถูกคุมตัวลงไปที่กรุงธนบุรี ภายหลังจึงถูกส่งคืนมาเป็นเจ้านครหลวงพระบาง และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2334 บรรดาเสนาอำมาตย์จึงทูลเชิญเจ้าอนุรุทธ พระอนุชาของเจ้าสุริยวงศ์ขึ้นครองราชย์ เมื่อเจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทน์ยกทัพมาตีหลวงพระบางได้ เจ้าอนุรุทธจึงถูกส่งลงไปขังที่กรุงเทพฯอยู่ 4 ปี จึงได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ตามเดิม และเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2339 เจ้ามันธาตุราช โอรสของเจ้าอนุรุทธะจึงได้ขึ้นครองเมืองแทนใน พ.ศ. 2360 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต เจ้ามันธาตุราชจึงได้เสด็จลงไปกรุงเทพฯ เพื่ออุปสมบทต่อหน้าพระบรมศพแล้วจึงเสด็จกลับมาครองครองราชย์ตามเดิม โดยในปี พ.ศ. 2370 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้ามันธาตุราชจึงได้ส่งกำลังพลไปช่วยกองทัพสยามตีเวียงจันทน์
เมื่อเจ้ามันธาตุราชสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2379 ทางกรุงเทพฯจึงตั้งให้เจ้าสุกเสริม โอรสของเจ้ามันตุราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางใน พ.ศ. 2381 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2393 เจ้าจันทราชราชโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้ามันธาตุราชได้ครองราชสืบแทนและครองราชย์อยู่ 20 ปี จึงสวรรคตใน พ.ศ. 2414 ทำให้เจ้าอุ่นคำโอรสของเจ้ามันตุราช ได้ครองราชสมบัติสืบต่อ ในรัชสมัยนี้เจ้าอุ่นคำนี้ได้เกิดกบฏฮ่อขึ้นทำให้พระองค์หนีไปอยู่ที่เมืองปากลาย รัฐบาลสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จึงได้ส่งกองทัพมาปราบ พร้อมทั้งปลดเจ้าอุ่นคำออกจากบัลลังก์ แล้วตั้งเจ้าคำสุกโอรสของเจ้าอุ่นคำขึ้นครองราชย์แทน ในพ.ศ. 2432
เจ้าคำสุกได้ ได้ขึ้นครองราชย์จนถึง พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส รัฐบาลสยามได้ยอมยกดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส เจ้าคำสุกจึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินหลวงพระบางภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส จนถึง พ.ศ. 2448 จึงสิ้นพระชนม์
ภายหลังจากที่จำปาศักดิ์แยกเป็นอิสระจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2257 โดยมีเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ผู้เป็นหลานของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2321 ในสมัยของเจ้าไชยกุมาร นครจำปาศักดิ์ก็ต้องเสียเอกราชให้แก่สยาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้เกิดกบฏขึ้นในนครจำปาศักดิ์ทำให้เจ้าไชยกุมารต้องเสด็จหนีแล้วไปสวรรคตในป่า แต่ท้าวฝ่ายหน้าแห่งบ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) กับพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองอุบล ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ยกกองกำลังไปปราบกบฏและตีเอาเมืองจำปาศักดิ์คืนมาได้ ทำให้ท้าวฝ่ายหน้าได้รับแต่งตั้งจากสยามให้เป็นขุนนาง ตำแหน่งยศเจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์มีนามว่า พระวิไชยราชขัตติยวงศา
เมื่อพระวิไชยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พ.ศ. 2350 ฝ่ายอาณาจักรสยามจึงได้แต่งตั้งเจ้านู โอรสของเจ้าไชยกุมาร ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน แต่ก็ถึงแก่พิราลัย หลังรับสัญญาบัตรเจ้าเมืองได้เพียง 3 วัน ฝ่ายสยามจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าหมาน้อย โอรสของอุปราชสุริโย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้งขึ้นในเมือง ทำให้เจ้าหมาน้อยถูกส่งตัวลงไปยังกรุงเทพฯ และได้ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2370 เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ ที่มีความชอบจากการปราบกบฏอ้ายสา จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น เจ้าราชบุตรโย้จึงถูกเจ้าฮุยจับตัวส่งให้แก่ทางกรุงเทพฯ เจ้าฮุยจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ใน พ.ศ. 2371
เมื่อเจ้าฮุยถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2384 เจ้านาคผู้เป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองสืบแทน จนถึงแก่พิราลัยด้วยอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2396 ทางฝ่ายสยามจึงได้แต่งตั้งเจ้าคำใหญ่ ผู้เป็นโอรสของเจ้าฮุย ขึ้นเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำใหญ่) จนถึง พ.ศ. 2402 ก็ถึงแก่กรรม เจ้าคำสุกผู้เป็นอนุชาจึงได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบแทน มีพระนามว่า เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) พระองค์ได้ส่งบุตรชายทั้ง 3 ไปยังกรุงเทพฯจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ทั้งสามคนได้แก่ เจ้าราชดนัย (หยุย) เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุย)
เมื่อเกิดกรณีพิพาทสยาม-ฝรั่งเศส ฝ่ายอาณาจักรสยามได้ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2446 เมื่อเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) ถึงแก่พิราลัย เจ้าราชดนัย (หยุย) ก็ได้รับแต่งตั้งจากฝรั่งเศสให้เป็นผู้ว่าการนครจำปาศักดิ์ ดังนั้นอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์จึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Simms (1999), p. ix-xiii.
- ↑ Stuart-Fox (1998), p. 143–146.
- ↑ Wyatt, David K., Thailand: A Short History, New Haven (Yale University Press), 2003. ISBN 0-300-08475-7
- ↑ ศิลา วีระวงศ์, มหา (เรียบเรียง), พงศาวดานลาว, (เวียงจันทน์: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี, ๒๔๙๖), หน้า ๓๘-๔๒.
- ↑ "พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว". silpa-mag.com. 2022-08-04.
- ↑ สิลา วีระวง, พระราชปวัตของสมเด็ดพระเจ้าอะนุวงส์ กะสัดองสุดท้ายแห่งพระราชวงส์เวียงจัน. เวียงจัน, 2512.
บรรณานุกรม
[แก้]- Askew, Marc; Long, Colin; Logan, William (2007). Vientiane: Transformations of a Lao Landscape. Routledge. ISBN 978-0-415-33141-8.
- Bunce, Fredrick (2004). Buddhist Textiles of Laos: Lan Na the Isan. D.K. Print World. ISBN 978-81-246-0250-8.
- Bush, Austin; Elliot, Mark; Ray, Nick (2011). Laos. Lonely Planet. ISBN 978-1-74179-153-2.
- Coe, Michael D. (2003). Angkor and Khmer Civilization. Thames & Hudson. ISBN 978-0-500-02117-0.
- Dupuy, R. Ernest; Dupuy, Trevor N. (1993). The Harper Encyclopedia of Military History: From 3500 B.C. to the Present (Fourth ed.). New York: HarperCollins Publishers, Inc. ISBN 0-06-270056-1.
- Evans, Grant (2009). The Last Century of Lao Royalty. Silkworm Books. ISBN 978-616-215-008-1.
- Evans, Grant; Osborne, Milton (2003). A Short History of Laos: The Land in Between. Allen & Unwin. ISBN 978-1-86448-997-2.
- Gaspardone, Émile (1971). "L'inscription du Ma-Nhai". Bulletin de la Société des Études Indochinoises. 46 (1): 71–84.
- Golomb, Louis (1976). "The Origin, Spread and Persistence of Glutinous Rice as a Staple Crop in Mainland Southeast Asia". Journal of Southeast Asian Studies. 7 (1): 1–15. doi:10.1017/s0022463400010237. ISSN 0022-4634.
- Gorman, Chester (1976). "Ban Chiang: A mosaic of impressions from the first two years". Expedition. 18 (4): 14–26.
- Higham, Charles (1996). The Bronze Age of Southeast Asia. Cambridge World Archeology. ISBN 978-0-521-56505-9.
- Holt, John (2009). Spirits of the Place: Buddhism and Lao Religious Culture. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-3327-5.
- Ivarsson, Soren (2008). Creating Laos: The Making of a Lao Space Between Indochina and Siam, 1860–1945. Nordic Institute of Asian Studies. ISBN 978-87-7694-023-2.
- Kiernan, Ben (2019). Việt Nam: a history from earliest time to the present. Oxford University Press. ISBN 9780190053796.
- Kohn, George Childs (1999). Dictionary of Wars (Revised ed.). New York: Facts On File, Inc. ISBN 0-8160-3928-3.
- McDaniel, Justin (2008). Gathering Leaves and Lifting Words: Histories of Buddhist Monastic Education in Laos and Thailand. University of Washington Press. ISBN 978-0-295-98849-8.
- Ngaosyvathn, Mayoury; Pheuiphanh Ngaosyvathn (1998). Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Southeast Asia Program Publications. ISBN 978-0-87727-723-1.
- Ngaosyvathn, Mayoury; Pheuiphanh Ngaosyvathn (2009). The Enduring Sacred Landscape of the Naga. Mekong Press. ISBN 978-974-303-160-1.
- Osborne, Milton (2001). The Mekong: Turbulent Past, Uncertain Future. Grove Press. ISBN 978-0-8021-3802-6.
- Savada, Andrea Matles, บ.ก. (1995). Laos: a country study (3rd ed.). Washington, D.C.: Federal Research Division, Library of Congress. ISBN 0-8444-0832-8. OCLC 32394600. บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
{{cite encyclopedia}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์) - Simms, Peter and Sanda (1999). The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History. Curzon Press. ISBN 978-0-7007-1531-2.
- Solheim, Wilhelm (1973). "Northern Thailand, Southeast Asia and World Prehistory". Asian Perspectives. 13: 145–162.
- Stuart-Fox, Martin (1993). "Who was Maha Thevi?". Siam Society Journal. 81.
- Stuart-Fox, Martin (1998). The Lao Kingdom of Lan Xang: Rise and Decline. White Lotus Press. ISBN 978-974-8434-33-9.
- Stuart-Fox, Martin (2003). A Short History of China and Southeast Asia: Trade, Tribute and Influence. Allen & Unwin. ISBN 978-1-86448-954-5.
- Stuart-Fox, Martin (2006). Naga Cities of the Mekong: A Guide to the Temples, Legends, and History of Laos. Media Masters. ISBN 978-981-05-5923-6.
- Stuart-Fox, Martin (2008). Historical Dictionary of Laos. The Scarecrow Press, Inc. ISBN 978-0-8108-5624-0.
- Tossa, Wajupp; Nattavong, Kongdeuane; MacDonald, Margaret Read (2008). Lao Folktales. Libraries Unlimited. ISBN 978-1-59158-345-5.
- Turton, Andrew, บ.ก. (2000). Civility and Savagery: Social Identity in Tai States. Routledge. ISBN 978-0-7007-1173-4.
- Viravong, Sila (1964). History of Laos (trans.). New York: Paragon Book. pp. 50–51. ISBN 978-0-685-41963-2.
- Wyatt, David K. (1963). "Siam and Laos, 1767–1827". Journal of Southeast Asian History. 4 (2): 13–32. doi:10.1017/S0217781100002787.
- Wyatt, David K. (2003). Thailand: A Short History. Yale University Press. ISBN 978-0-300-08475-7.
- Wyatt, David K.; Wichienkeeo, Aroonrut, บ.ก. (1995). The Chiang Mai Chronicle. Silkworm Books. ISBN 978-974-7100-62-4.
- สิลา วีระวงส์. พงศาวดารลาว. เวียงจันทน์: กระทรวงศึกษาธิการ, 2500.