สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช | |||||
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |||||
ครองราชย์ | (ประเทศราชของหงสาวดี) พ.ศ. 2112 — พ.ศ. 2127 (15 ปี) (เอกราช) พ.ศ. 2127 — พ.ศ. 2133 (6 ปี) | ||||
ก่อนหน้า | สมเด็จพระมหินทราธิราช | ||||
ถัดไป | สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | ||||
กษัตริย์ | พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้านันทบุเรง | ||||
พระมหาอุปราช | สมเด็จพระนเรศวร | ||||
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2057 | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 2133 (76 พรรษา) | ||||
มเหสี | พระวิสุทธิกษัตรีย์ | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | สุโขทัย |
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 17 แห่งอาณาจักรอยุธยา และปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2112 ถึง พ.ศ. 2133
พระราชประวัติ
[แก้]ก่อนครองราชย์
[แก้]สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช มีพระราชบิดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ส่วนพระราชมารดาเป็นเชื้อสายราชวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช[1] สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระราชสมภพในปี พ.ศ. 2057 ต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพิเรนทรเทพ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา[2]
เมื่อขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์สมคบกันสำเร็จโทษสมเด็จพระยอดฟ้าพระราชโอรสของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เองแล้ว ขุนพิเรนทรเทพได้ร่วมกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศ ปรึกษากันว่าแผ่นดินเป็นทุรยศ ควรจับขุนวรวงศาธิราชไปประหารชีวิตเสีย แล้วให้พระเทียรราชาซึ่งทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเทียรราชา กราบทูลแผนการให้ทรงทราบ ก็ทรงเห็นด้วย ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ เห็นว่าควรเสี่ยงเทียนว่า พระเทียรราชามีพระบารมีมากกว่าขุนวรวงศาธิราชหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบ แต่พระเทียรราชาทรงเห็นด้วย ค่ำวันนั้นทั้งหมดจึงไปยังพระอุโบสถวัดป่าแก้วเพื่อทำพิธีเสี่ยงทาย[3]
เมื่อจุดเทียนแล้วปรากฏว่าเทียนของขุนวรวงศาธิราชยาวกว่า ขุนพิเรนทรเทพจึงโกรธว่าห้ามแล้ว ยังขืนทำอีก แล้วคายชานหมากทิ้ง บังเอิญไปถูกเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง ทั้ง 5 คนจึงยินดีอย่างยิ่ง[4] ขณะนั้นมีพระภิกษุลึกลับเข้ามาในอุโบสถ ให้พรว่าที่ปรารถนานั้นจะสำเร็จแน่ ออกจากอุโบสถก็หายตัวไป[5]
ต่อมากรมการเมืองลพบุรีแจ้งราชสำนักว่าพบช้างมงคล (ช้างเผือก) ในเช้าตรู่วันต่อมาขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระราชโอรส และพระศรีสิน จึงทรงเสด็จทางชลมาส พระราชดำเนินไปทางคลองสระบัว เพื่อไปทรงคล้องช้างเผือก ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้จัดกองเรือออกสกัด เข้าจับขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และพระราชโอรส ฆ่าเสียทั้งหมด เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง เว้นชีวิตไว้แต่พระศรีสิน[5] แล้วเข้ายึดพระราชวัง ให้ส่งเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปรับพระเทียรราชาซึ่งลาสิกขาบทแล้วมาราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ครองกรุงศรีอยุธยาแทน[6]
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ครองเมืองพิษณุโลก ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระสวัสดิราชธิดาเป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นพระอัครมเหสี และพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค มีอำนาจตั้งตำแหน่งบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือนในเมืองพิษณุโลก และเรือชัยพื้นดำพื้นแดงคู่หนึ่ง[1] เมื่อประทับ ณ เมืองพิษณุโลกนั้น พระวิสุทธิกษัตรีย์ได้มีประสูติกาลพระราชโอรสธิดาตามลำดับคือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ[2]
ถึงปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเห็นว่าครั้งนี้ทัพหงสาวดีมากจนเหลือกำลังจะต้านทานได้ ในวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน 2 จึงทรงยอมแพ้ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาจัดทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระองค์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็จัดพล 30,000 ไปกับทัพพระเจ้าบุเรงนอง จนกระทั่งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงถอดสมเด็จพระมหินทราธิราชจากราชสมบัติ แล้วราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน มีราชทินนามว่า สมเด็จพระเจ้าสรรเพชญวงศ์กุรสุริโคดม บรมราชาธิราชราเมศ ปริเวทธรรมิกราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรเทพสมมติราชบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[7]
หลังครองราชย์
[แก้]ในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก) ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง แต่ทรงป้องกันพระนครไว้ได้ และได้โปรดให้ขุดขยายคูเมืองด้านตะวันออกของเกาะเมืองให้กว้างขึ้น สร้างป้อมมหาชัย และสร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช (สมเด็จพระนเรศวร)[8]
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรและเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2133[8] สิริพระชนมพรรษา 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 21 ปี[9]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ได้แก่
- สมควร กระจ่างศาสตร์ จากละครเรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (2530)
- เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ จากละครเรื่อง สมเด็จพระสุริโยทัย (2535)
- ฉัตรชัย เปล่งพานิช จากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544) และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (2550 -2557)
- อนุสรณ์ เตชะปัญญา จากละครเรื่อง กษัตริยา (2546)
- สมภพ เบญจาธิกุล จากละครเรื่อง ขุนศึก (บันเทิงคดี) (2555)
- อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จากละครเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ (2560 - ปัจจุบัน)
- ชลวิทย์ มีทองคำ จากละครเรื่อง แม่หยัว (2567)
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 71
- ↑ 2.0 2.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 117
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 67
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 68
- ↑ 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 69
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 70
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 129
- ↑ 8.0 8.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 118
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 169
- บรรณานุกรม
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
ดูเพิ่ม
[แก้]ก่อนหน้า | สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
- | เจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก (พ.ศ. 2091 — พ.ศ. 2112) |
สมเด็จพระนเรศวร | ||
สมเด็จพระมหินทราธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2112 — พ.ศ. 2133) |
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราชวงศ์สุโขทัย |