พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าฝ่ายหน้า)
พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระประเทศราช
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร
รัชกาลถัดไปเจ้านู
ประสูติพ.ศ. 2269
พิราลัยพ.ศ. 2354
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช
พระบุตร6 องค์
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาพระวรราชปิตา
พระมารดาพระนางบุสดีเทวี

พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช[1] หรือเรียกกันทั่วไปในเอกสารต่างๆ ว่า "พระวิไชยราชขัติยวงศา" เป็นพระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 (พ.ศ. 2334 - 2354) พระองค์สืบเชื้อสายมาจากพระอัยกา (ปู่) คือ เจ้าอุปราชนอง และสืบเชื้อมาแต่สายราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว หรือแสนทิพย์นาบัว เชื้อวงศ์สามัญชนเชื้อสายไทพวน ผู้เป็นพระปัยกา(ปู่ทวด) ส่วนพระมารดาเป็นหญิงชาวลาวเวียงจันทน์

พระประวัติ[แก้]

พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช มีพระนามเดิมว่า ท้าวฝ่ายหน้า หรือ ท้าวหน้า (ตามเอกสารของราชการไทย) สมภพเมื่อปี พ.ศ. 2269 ที่นครเวียงจันทน์ เป็นพระโอรสของพระวรราชปิตา (พระตา) แห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) กับพระนางบุสดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าอุปราชนองแห่งนครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นพระอนุชาของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีองค์แรก

พ.ศ. 2314 หลังจากที่กองกำลังนครเวียงจันทน์ และกองกำลังพม่าจากนครเชียงใหม่ตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแตก กลุ่มพระวอ ซึ่งมีพระวรราชภักดี ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ ได้นำไพร่พลอพยพหนีราชภัยลงมาอาศัยอยู่กับท้าวคำสูที่ บ้านสิงห์ท่าบ้านสิงห์โคก ต่อมาท้าวพระวอดำริว่า หากอาศัยอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าบ้านสิงห์โคกต่อไปหากกองกำลังนครเวียงจันทน์ติดตามลงมา จะทำให้เกิดการเสียบ้านเสียเมืองแลไพร่พลลงอีก จึงนำไพร่พลอพยพตามแม่น้ำมูลลงไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่เมืองนครจำปาศักดิ์ อันเป็นเมืองใหญ่ของอาณาจักรล้านช้างฝ่ายใต้ เมื่อไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมารก็ทรงให้กลุ่มพระวอพร้อมไพร่พลญาติวงศาตั้งบ้านเรือนเป็นกองเป็นค่ายอาศัยอยู่ริมห้วยพะริง เรียกว่า เวียงดอนกอง (บางสำนวนก็เรียกว่า เวียงกองดอน) หรือค่ายบ้านดู่บ้านแก ขึ้นกับอาณาจักร์ล้านช้างจำปาศักดิ์

พ.ศ. 2319 กลุ่มพระวอเกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารจากกรณีการสร้างกำแพงเมืองกับการสร้างหอคำ (วังหลวง) จึงได้พาไพร่พลมาตั้งมั่นที่ดอนมดแดง (ปัจจุบันเกาะดอนมดแดงตั้งอยู่ในแม่น้ำมูลท้องที่บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี) และพระวอจึงแต่งให้เพียแก้วโยธากับเพียแก้วท้ายช้างได้คุมเครื่องราชบรรณาการลงไปเมืองนครราชสีมา มีใบบอกขอสมัครขึ้นอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับกลุ่มเจ้าพระวอไว้เป็นข้าขอบขัณฑสีมา

พ.ศ. 2321 พระเจ้าสิริบุญสารได้ทราบข่าวการทะเลาะวิวาทของกลุ่มพระวอกับพระเจ้านครจำปาศักดิ์ จึงได้โอกาสรับสั่งให้เพียสุโภ และอัครฮาด (หำทอง) นำกองกำลังติดตามกลุ่มพระวอลงมา จนเกิดการต่อสู้กันที่ค่ายบ้านดู่บ้านแก และพระวอสั่งให้ท้าวคำผงเข้าไปขอกำลังจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่เมืองนครจำปาศักดิ์แต่ก็ไม่เป็นผล ต่อมาเพียสุโภ และอัครฮาต (หำทอง) ได้ลักรอบเข้ามาจับกุมเอาตัวพระวอไปประหารชีวิตที่ริมห้วยพะริง (บางสำนวนก็ว่า พระวอถูกประหารชีวิตที่บ้านสักเมืองสมอเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง) หลังจากที่พระวอได้เสียชีวิต ยังเหลือแต่ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ เป็นหัวหน้ารักษาควบคุมสถานการณ์เอาไว้ ท้าวคำผง และท้าวฝ่ายหน้าได้เล็งเห็นว่ากำลังของฝ่ายตนเหลือน้อยมิอาจจะต้านทานกำลังนครเวียงจันทน์ได้ จึงแต่งให้เพียแก้วโยธา และเพียแก้วท้ายช้างได้นำหนังสือกราบบังคมทูลขอกำลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผ่านทางเจ้าเมืองนครราชสีมา ต่อมาเมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพกรุงธนบุรีขึ้นมาค่ายบ้านดู่บ้านแก ในระหว่างทางสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระยาสุรสีห์ เดินทางขึ้นมานั้นได้เกณฑ์กำลังไพร่พลจากเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์เข้าร่วมด้วย

เมื่อเพียสุโภ และอัครฮาต (หำทอง)ได้ทราบข่าวการยกทัพมากรุงธนบุรีจึงได้นำกองกำลังหลบหนีกลับคืนสู่นครเวียงจันทน์ และทัพกรุงธนบุรีมาถึง ท้าวฝ่ายหน้าได้รายงานให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ทราบเหตุการณ์เจ้าพระวอถูกเพียสุโภจับกุมตัวไปประหารชีวิตแล้ว ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพิโรธเป็นอันมาก จึงมีพระดำรัสว่า ..."พระวอเป็นข้าขอบขันฑสีมาเมืองเรา พระเจ้าล้านช้างมิได้ยำเกรง ทำบังอาจมาตีบ้านเมือง และฆ่าพระวอเสียฉะนี้ ควรเราจะยกกองทัพไปตีเมืองล้านช้างให้ยับเยินตอบแทนแก้แค้นให้จงได้"... จึงมีคำสั่งให้ท้าวฝ่ายหน้าได้นำพาทัพกรุงธนบุรีเข้าไปยึดนครจำปาศักดิ์ แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงได้พาครอบครัวลงเรือหนีไปอยู่ที่เกาะชัย สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงสั่งให้ทหารลงไปตามตัวสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมารขึ้นมาสอบถาม และไต่ถามว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงช่วยเหลือพระวอ ปล่อยให้ถูกจับกุมตัวไปประหารชีวิตเสีย และเจ้าพระยาจักรีจึงพิจารณาว่าพระเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์มีความผิดเป็นอันมากจึงได้ภาคโทษเอาไว้เสียก่อน และแจ้งว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้นำทัพมารบกับข้าศึกเวียงจันทน์ แต่พอมาถึงแล้วกลับไม่พบข้าศึกดังกล่าว จึงขอให้ท้าวฝ่ายหน้าจงพาทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปดูนครเวียงจันทน์เถิด หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำทัพกรุงธนบุรีเดินเลียบแม่น้ำโขงตีเมืองนครพนมได้ แล้วยกต่อไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้าศิริบุญสารหนีไปอยู่เมืองคำเกิด ยังเหลือแต่เพียสุโพเป็นผู้รักษาเมือง ทัพกรุงธนบุรีได้เข้าตีนครเวียงจันทน์ รบกันอยู่ถึง 4 เดือนเศษ ล่วงจนถึงปี พ.ศ. 2322 จึงสามารถมีชัยเหนือล้านช้าง และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมาประดิษฐานยังกรุงธนบุรี และนครเวียงจันทน์จึงกลายเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรีนับแต่บัดนั้นสืบต่อเนื่องมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2322 หลังตีนครเวียงจันทน์สำเร็จลง พระปทุมราชวงศา (คำผง) จึงมีใบบอกขอพระราชทานครอบครัวมาตั้งบ้านอยู่ริมห้วยแจะระแม และขอยกขึ้นเป็นเมือง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งเป็น เมืองอุบล (เพื่อรำลึกถึงนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานอันเป็นบ้านเมืองเดิม) เป็นเมืองขึ้นตรงกับกรุงธนบุรี และตั้งให้พระปทุมราชวงศาเป็นที่พระประทุมสุรราช ท้าวทิดพรหมเป็นพระอุปราช ท้าวก่ำเป็นพระราชวงศ์ ท้าวสุดตาเป็นพระราชบุตร ซึ่งเป็นคณะอาญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบล และท้าวฝ่ายหน้าก็อยู่ช่วยราชการต่อมา

พ.ศ. 2323 พระประทุมสุรราช (คำผง) ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวก่ำ และท้าวคำสิงห์ ได้นำกองกำลังเมืองอุบล และบ้านสิงห์ท่าลงไปสมทบกับกองทัพกรุงธนบุรีอันมีเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เข้าปราบปรามการจราจลเขมรจนสงบลง จึงได้ขอแยกย้ายกลับมาเมืองอุบล และบ้านสิงห์ท่าตามเดิม

พ.ศ. 2329 ท้าวฝ่ายหน้า เจ้านางอูสา พร้อมท้าวคำสิงห์นำไพร่พลส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นเป็นกองนอกอยู่ที่ บ้านสิงห์ท่า (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองยศสุนทรประเทศราช หรือ จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) ท้าวฝ่ายหน้าได้นำไพร่พลบูรณะปฏิสังขรณ์วัด 2 แห่ง คือ วัดทุ่ง กับให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น (สันนิษฐานว่าเป็นพระธาตุอานนท์) แห่งหนึ่ง และวัดหลวงพระเจ้าใหญ่ (ต่อมาเรียกว่า “วัดสิงห์ท่า”) กับสร้างเจดีย์องค์หนึ่งทางทิศใต้ของวัดสิงห์ท่า ฐานกว้าง 5 วา สูง 8 วา อีกแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งนำไพร่พลสร้างค่ายคูประตูหอรบ และพัฒนาบ้านสิงห์ท่าหวังจะตั้งขึ้นเป็นเมืองเช่นเมืองอุบลสืบต่อไป

ครองนครจำปาศักดิ์[แก้]

พ.ศ. 2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเชียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ทางฝ่ายนครจำปาศักดิ์ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น ถึงแก่พิราลัยกะทันหันหลังจากได้รับทราบข่าวศึก (ก่อนหน้านั้นพระเจ้าองค์หลวงฯ เองก็ประชวรเรื้อรังมานานแล้ว) ท้าวหน้าได้ร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบล ผู้เป็นพี่ชาย ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และท้าวฝ่ายหน้าได้จับตัวอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ (อยู่ในแม่น้ำมูล ระหว่างอำเภอพิบูลมังสาหารกับอำเภอสิรินธรในปัจจุบัน) ก่อนหน้าที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึงตามรับสั่งจากกรุงเทพฯ

ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าฝ่ายหน้าเป็นที่ "พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช"[2]ครองนครจำปาบาศักดิ์ประเทศราช องค์ที่ 3 เสกให้ ณ วัน ๑๐ ฯ  ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2334 (วันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุน ตรีศก) พร้อมทรงให้เจ้าเชษฐ์และเจ้าหนู มาอยู่ช่วยราชการนครจำปาศักดิ์ด้วย

พระกรณียกิจ[แก้]

พ.ศ. 2334 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชจึงแบ่งไพร่พลบ้านสิงห์ท่าส่วนหนึ่งมาอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ จึงมีใบบอกขอพระราชทานตั้งให้ท้าวคำสิงห์เป็นราชวงศ์เมืองโขง หรือ สีทันดอน (ต่อมา พ.ศ. 2357 รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นที่พระสุนทรราชวงศา ดำรงฐานะพระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรประเทศราชองค์แรก) และขอพระราชทานตั้งให้เจ้าบุตรไปเป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองนครพนม เพราะเวลานั้นยังว่างเว้นเจ้าผู้ครองเมืองอยู่

พ.ศ. 2335 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ให้ไพร่พลก่อเจดีย์ไว้ที่วัดสมอเลียบสักเมือง เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของพระวอ เรียกขานว่า ธาตุพระวอ

พ.ศ. 2338 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้มีใบบอกขอรับพระราชทานท้าวทิดพรหมขึ้นเป็นพระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีสืบต่อไป และท้าวก่ำ (บุตรพระวอ) เป็นอุปราช ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวทิดพรหมเป็นที่ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานี องค์ที่ 2 และท้าวก่ำเป็นที่อุปราชเมืองอุบลราชธานี

พ.ศ. 2339 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้ย้ายเมืองนครจำปาศักดิจากที่เดิมซึ่งอยู่ที่บ้านศรีสุมัง ริมฝั่งแม่น้ำโขง มาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านคันเกิงอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามปากแม่น้ำเซโดน (ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเก่าคันเกิง อยู่ที่บ้านเมืองเก่า เมืองโพนทอง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว) และได้สร้างพระวิหารไว้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาว ที่อัญเชิญข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ปรากฏทราบมาถึงกรุงเทพฯ

พ.ศ. 2348 พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอรับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านนายอนขึ้นเป็นเมืองสพาดตามคำขอนั้น

พ.ศ. 2353 มีครัวชาวเขมรภายใต้การนำของพระยาเดโช เจ้าเมืองกำปงสวาย กับนักปรัง ผู้น้องชาย อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบเมืองโขง เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) พระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชได้มีใบบอกแจ้งเรื่องลงมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกำลังมาคุมครัวเขมรของพระยาเดโชมาตั้งอยู่ที่บ้านลงปลา ส่วนครัวของนักปรังให้แยกมาตั้งอยู่ที่เมืองเซลำเภา[3] "จึ่งมีเขมรแทรกปนอยู่ในแขวงเมืองโขงแต่นั้นมา"[4]

พระโอรส และพระธิดา[แก้]

ในสำเนาฉบับพงศาวดารอีสานยังอธิบายไว้ว่า พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช มีพระโอรสและพระธิดา ทั้งหมด 6 พระองค์ มีปรากฏรายพระนามดังนี้

  1. ท้าวคำสิงห์ (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระสุนทรราชวงศา พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทรองค์แรก)
  2. ท้าวบุตร หรือท้าวฝ่ายบุต (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระสุนทรราชวงศาฯ พระประเทศราชผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3)
  3. ท้าวสุดตา
  4. เจ้านางแดง
  5. เจ้านางไทย
  6. เจ้านางก้อนแก้ว 

พิราลัย[แก้]

"ธาตุหลวงเฒ่า" เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ 3 ที่วัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชถึงแก่พิราลัย เมื่อวัน ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันอังคาร ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2354 (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173) สิริรวมพระชนม์ 85 ปี ครองนครจำปาศักดิ์ ได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ นำหีบศิลาหน้าเพลิงมาพระราชทานเพลิงศพพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช อันเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พระมหากษัตริย์สยามพระราชทานแก่พระประเทศราชผู้ครองนครประเทศราช

และเมื่อทำการปลงพระศพของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง (ปัจจุบันคือวัดหอพระแก้ว) ประชาชนชาวเมืองเรียกกันทั่วไปในเวลานั้นว่า ธาตุหลวงเฒ่า [4] และพระยากลาโหมราชเสนาก็ได้อยู่จัดราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อไปอีก

พ.ศ. 2355 ภายหลังจากการพระราชทานเพลิงศพเสร็จลง และจัดราชการบ้านเมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว พระยากลาโหมราชเสนาจึงได้พบอัญเชิญพระแก้วขาว ซึ่งมีการค้นพบมาตั้งแต่สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์แรก อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระแก้วขาวองค์นี้ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างเพื่อทำการปฏิสังขรณ์พระแก้วขาว และพระราชทานนามว่า "พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย"[4]

พระนามตามบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์[แก้]

ในจดหมายเหตุ ร.๑[แก้]

จดหมายเหตุ ร.1 จ.ศ. 1153 (พ.ศ. 2334) เรื่องตั้งให้เจ้าน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ครองเมืองนครจำปาบาศักดิ์ประเทศราช ได้ปรากฏพระนามของพระองค์ ดังนี้

"...ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าน้าเป็นพระวิไชยราชสุริยวงษ์ขัตติยราช ครองเมืองนครจำปาบาศักดิ์ประเทศราช เสกให้ ณ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 10 จุลศักราช 1153 ปีกุนตรีศก เพลาเช้า 2 โมง 6 บาท..."

พระญาติวงศ์[แก้]

พระวรราชปิตา (พระตา) กับพระนางบุสดีเทวี ทรงมีพระโอรสและพระธิดา รวมทั้งหมด 11 พระองค์ ดังมีรายพระนาม

  1. เจ้านางอูสา
  2. เจ้านางแสนสีชาติ
  3. พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) พระประเทศราชผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช องค์ที่ ๑
  4. พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) พระประเทศราชผู้ครองนครกาลจำบากนัคบุรีศรีจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๓
  5. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช องค์ที่ ๒ (ต้นตระกูลพรหมวงศานนท์)
  6. ท้าวโคตร พระบิดาของท้าวสีหาราช (พลสุข) ปู่ของราชบุตร (สุ่ย) ทวดของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) ผู้เป็นบิดาของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
  7. เจ้านางมิ่ง
  8. ท้าวซุย
  9. พระศรีบริบาล
  10. เจ้านางเหมือนตา
  11. ท้าวสุ่ย

พงศาวลี[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ชื่อตามหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ และ ลำดับกษัตริย์ลาว ของ สุรศักดิ์ ศรีสำอาง
  2. ชื่อตาม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร
  3. ปัจจุบันคือเมืองธาราบริวัตร อยู่ในเขตจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา
  4. 4.0 4.1 4.2 พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช ถัดไป
พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร
พ.ศ. 2280 - 2334

เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
(พ.ศ. 2335 - 2354)
เจ้านู
(ถึงแก่พิราลัยหลังรับสุพรรณบัตร 3 วัน)