หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มิตรารุณ เกษมศรี)

มิตรารุณ เกษมศรี

ปกหนังสือประวัติและผลงานของ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี
เกิด26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 (82 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพสถาปนิก
มีชื่อเสียงจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย
บุพการีหม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี
หม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา
รางวัลพ.ศ. 2530 - ศิลปินแห่งชาติ
สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)

หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540) สถาปนิกผู้มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย มีความชำนาญในการออกแบบผูกลาย ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2530[1]

ประวัติ[แก้]

หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เกิดที่บ้านสี่กั๊กพระยาศรี ริมถนนเจริญกรุง ตำบลพาหุรัด อำเภอพาหุรัด จังหวัดพระนคร (ขณะนั้น) เป็นโอรสของ พันโท หม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี และหม่อมเยื้อน เกษมศรี ณ อยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา ในปี พ.ศ. 2481 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2540 รวมอายุได้ 82 ปี ด้วยอุบัติเหตุ​ทางรถยนต์

ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี​ ​เสด็จพระราชดำเนิน​ พระราชทาน​เพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร​ โดยมี นายชวน หลีกภัย​ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมในพระราชพิธี

การศึกษา[แก้]

พ.ศ. 2466 ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม, พ.ศ. 2470 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พ.ศ. 2475 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส และ พ.ศ. 2478 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน[แก้]

หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ภายหลังสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการที่กรมโยธาธิการ โดยได้รับมอบหมายให้ ออกแบบอาคารราชการหลายหลังได้ขึ้นไปปฏิบัติงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจะย้ายเมืองหลวงไปที่นั่น ได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมรุสำหรับเผาผู้ที่เสียชีวิตจากไข้ป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นก็ได้ทำงานส่วนตัวไปพร้อม ๆ กัน โดยออกแบบบ้านซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอันมาก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ทางกรมศิลปากรได้ ขอตัวจากกรมโยธาธิการ ให้ไปสังกัดอยู่กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ช่วงเวลานี้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวิหารพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดชลบุรี พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ปราสาทจำลอง ซึ่งนำไปแสดง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ใน พ.ศ. 2501 นอกจากนั้นยังได้ออกแบบเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งใช้เป็นเมรุในการพระราชพิธีตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

หม่อมราชวงศ์มิตรารุณยังได้รับเชิญให้ เป็นอาจารย์พิเศษสอนสถาปัตยกรรมไทยให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในระหว่างนี้ได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระราชฐานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตำหนักที่ประทับและที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์

ใน พ.ศ. 2504 หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณขอลาออกจากราชการเพื่อปฏิบัติงานส่วนตัว แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาปฏิบัติราชการ ในพระราชวัง สังกัดสำนักพระราชวัง ในตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก และปฏิบัติราชการในฐานะสถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวัง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยในการออกแบบ เขียนแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทั้งยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบพระตำหนักเพิ่มเติม ได้แก่ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งหอพระประจำราชนิเวศน์ด้วย นอกจากนั้นยังโปรดฯ ให้เป็นผู้ควบคุมตกแต่งสถานที่พระราชนิเวศน์แห่งนี้ทั้งหมด ส่วนที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ซ่อมแซมสระสรงที่ตำหนักที่ประทับต่อมาเมื่อมีพระราชประสงค์ สร้างพระตำหนักเพิ่มเติม เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมทั้งหมดส่วนที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อมีพระราชประสงค์จะต่อเติมพระตำหนักส่วนใด ก็จะโปรดเกล้าให้หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เป็นผู้เขียนแบบและต่อเติมขึ้น พร้อมทั้งเขียนแบบการตกแต่งภายในทั้งหมดส่วนที่พระบรมมหาราชวัง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณได้รับผิดชอบ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ที่นั่งองค์ต่าง ๆ ในช่วงนี้

เมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ พอจะมีเวลาว่างมากขึ้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณไปช่วยงานด้านพระศาสนาออกแบบอาคารต่าง ๆ ในวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี งานที่สำคัญ ได้แก่ พระมหามณฑปพระพุทธบาท “ภปร” “สก” ศาลานาคเล่่นน้ำนานาชาติ

นอกจากงานออกแบบในวัดญาณสังวรารามแล้ว ยังได้ออกแบบพระอุโบสถ เจดีย์ ที่วัดตรีทศเทพวรวิหาร ศาลาที่ระลึกครบ 150 ปี ของวัดบวรนิเวศวิหารนอกเหนือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณยังได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล, ตราของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และตราสวนหลวง ร.9

และเมื่อหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ มีอายุครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติราชการต่อไปอีกจนถึงอายุ 65 ปี หลังจากนั้น จึงขอรับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยมิขอรับเงินเดือน ในช่วงนี้ได้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างอาคารหลาย ๆ หลัง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้แก่ วัดญาณสังวราราม, วัดตรีทศเทพวรวิหาร, วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร, วัดถ้ำผาปล่อง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2530 หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ยังได้ออกแบบเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งใช้เป็นเมรุในพระราชพิธีต่อมาจนทุกวันนี้

ลำดับของตำแหน่งทางราชการ:

  • 2482: ช่างตรีแผนกสำรวจกองผังเมืองและช่างสุขาภิบาล กรมโยธาธิการ
  • 2484: ช่างตรีแผนกออกแบบ กองสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการ
  • 2485: ช่างตรีแผนกสถาปัตยกรรม กองแบบแผนและผังเมือง
  • 2492: รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกแบบแผน กองแบบแผนและผังเมือง กรมโยธาธิการ
  • 2494: ผู้ช่วยโทแผนกแบบแปลน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
  • 2494: ช่างโทหัวหน้าแผนกแบบแผน กรมศิลปากร
  • 2495: หัวหน้าแผนกตรวจงาน กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
  • 2496: นายช่างผู้ช่วยโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • 2498: นายช่างโท กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • 2504: นายช่างศิลปเอก กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • 2507: หัวหน้ากองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง

ผลงานดีเด่นระหว่างปฏิบัติราชการกรมศิลปากร[แก้]

ผลงานส่วนบุคคล[แก้]

อาคารไทยลายทอง โรงแรมมณเฑียร
  • เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านพักอาศัยทั้งในแบบสากล และแบบบ้านไทย
  • ออกแบบตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • ออกแบบอาคารไทยลายทอง เป็นการนำอาคารแบบไทยมาปรับปรุงใช้เป็นอาคารพาณิชย์ ของโรงแรมมณเฑียร ถนนสุรวงศ์

รางวัลและเกียรติคุณ[แก้]

  • 2513: ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2514: ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • 2530: รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • 2537: ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2538: ได้รับยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรม จากคณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี". สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016.
  2. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 เมษายน 2022. เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔. 4 ธันวาคม 2532.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ธันวาคม 2022. เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗. 3 ธันวาคม 2529.
  4. ราชกิจจานุเบกษา. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2022. เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗. 12 พฤษภาคม 2521.
  5. ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ตุลาคม 2022. เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๑๘. 16 ธันวาคม 2540.
  6. ราชกิจจานุเบกษา. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ตุลาคม 2022. เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๒๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔. 19 พฤศจิกายน 2514.
  7. ราชกิจจานุเบกษา. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชรุจิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ตุลาคม 2022. เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๔๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙. 18 ธันวาคม 2514.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]