พูน เกษจำรัส
พูน เกษจำรัส | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 จังหวัดเพชรบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (76 ปี) |
อาชีพ | นักเขียน ช่างภาพ |
สัญชาติ | ![]() |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2490 - 2540 |
คู่สมรส | สุดา วงศ์ขจรสุข |
บุตร | 6 คน |
ศาสตราจารย์ พูน เกษจำรัส (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) เมื่อ ปี พ.ศ. 2531
ประวัติ[แก้]
ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัส เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2464 ณ ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายดี และนางเนื่อง เกษจำรัส สมรสกับนางสาวสุดา วงศ์ขจรสุข ชาวกรุงเทพฯ มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 4 คน
การศึกษา[แก้]
ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัสเริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดสิงห์ ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี(คงคาราม)หรือ(โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีพุทธศักราช 2482 แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้ารับการศึกษาต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง ได้วุฒิ ปปช. และ วท. ในปีพุทธศักราช 2485 หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนักศึกษารุ่นแรก (นักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร-นักศึกษาเลขประจำหมายเลข ๑) สำเร็จการศึกษาวุฒิอนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรมและประติมากรรม (การศึกษาชั้นสูงสุดในขณะนั้น)
การทำงาน[แก้]
ปีพุทธศักราช 2490 ได้เข้ารับราชการเป็นครูตรี ที่ โรงเรียนเพาะช่าง จนถึงปีพุทธศักราช 2496 ปีพุทธศักราช 2496 ย้ายไปสอนที่ โรงเรียนอุเทนถวาย สอนอยู่ได้ไม่กี่เดือน ทางวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ ได้ขอย้ายให้เข้าสอนประจำที่แผนกวิชาช่างภาพ สอนนักศึกษาช่างภาพตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงปีพุทธศักราช 2525 (ปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี) ครบเกษียณอายุราชการ สอนในแผนกวิชาช่างภาพรวม 27 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าคณะวิชาช่างพิมพ์-ช่างภาพ ปีพุทธศักราช 2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
มีวาทะของศาสตราจารย์ พูน เกษจำรัส ที่ท่านเคยกล่าวไว้มีประโยคหนึ่งว่า "งานศิลปะมิใช่มีไว้เพื่อความงามแต่อย่างเดียวก็หาไม่ หากแต่มีไว้เพื่อนำไปใช้จรรโลงสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย"
ศิลปะภาพถ่าย (Photography) ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) สาขาหนึ่ง ด้วยความสำคัญข้อนี้ บรรดานักถ่ายภาพที่มีผลงานสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่าย จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินช่างภาพ (Artist Photographer) เช่นเดียวกับศิลปินในงานวิจิตรศิลป์สาขาอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น สิทธิในการจรรโลงสังคมและประเทศชาติจึงย่อมจะไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)
อ้างอิง[แก้]
- หนังสือร่มไผ่ อนุสรณ์งานช่างภาพสัมพันธ์ ครั้งที่ 7 ณ แผนกวิชาช่างภาพ วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2526
- หนังสือ "ด้วยใจรัก" อัลบั้มผลงาน : ศาสตราจารย์ พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ รวบรวมโดย สุดา เกษจำรัส
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2464
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2540
- ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
- ศิลปินชาวไทย
- การถ่ายภาพ
- นักถ่ายภาพชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอเมืองเพชรบุรี
- บุคคลจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- บุคคลจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี
- บุคคลจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. (ฝ่ายหน้า)