ข้ามไปเนื้อหา

เห้ง โสภาพงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เห้ง โสภาพงศ์

เห้ง โสภาพงศ์
เกิดเห้ง
11 มกราคม พ.ศ. 2455
จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศสยาม
เสียชีวิต23 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (87 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตหัวใจวาย
การศึกษาโรงเรียนช่างถม วัดวังตะวันออก
ศิษย์เก่าโรงเรียนพระเสื้อเมือง
อาชีพช่างถม
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2542
ผลงานเด่นชุดนํ้าชาถมทอง - พ.ศ. 2502
คู่สมรสตุ้น โสภาพงศ์
บุตร8 คน
บิดามารดาชี โสภาพงศ์
นุ้ย โสภาพงศ์
รางวัลพ.ศ. 2529 - ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม)

เห้ง โสภาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม)

ประวัติ

[แก้]

นายเห้ง โสภาพงศ์ เกิดเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2455 ที่บ้านหน้าวัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายชี และนางนุ้ย โสภาพงศ์ เมื่ออายุ 8 ปี ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระเสื้อเมือง (โรงเรียนวัดพระมหาธาตุในปัจจุบัน) จบชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2466 แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างถม วัดวังตะวันออก ซึ่งได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน จนจบหลักสูตรช่างถม เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงเรียนนี้ถึง 3 ปี แล้วจึงออกไปทำงานเป็นช่างถมอย่างเต็มตัว เมื่ออายุ 22 ปี โดยประจำอยู่ที่ร้านสุพจน์ (เป็นโรงงานและร้านที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องถม ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช) ณ ที่นี้ นายเห้ง ได้รับการฝึกทำเครื่องถมเป็นพิเศษจาก นายรุ่ง สินธุรงค์ ช่างถมฝีมือเยี่ยมยุคนั้น จนทำให้นายเห้ง โสภาพงศ์ มีฝีมือเข้าขั้นเป็นช่างถมยอดเยี่ยมของเมืองนครศรีธรรมราชตามไปด้วย

เครื่องถมที่นายเห้ง โสภาพงศ์ ประดิษฐ์ มีตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ เช่น แหวน ล็อกเก็ต กำไล ไปจนถึงสิ่งของชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ขัน พาน ถาด การประดิษฐ์ ทำด้วยมือทั้งสิ้น นับตั้งแต่ขึ้นรูป การเขียนลวดลาย การสลัก การถม การขัด โดยใช้ความชำนิชำนาญ และความละเอียดลออและความอุตสาหวิริยะเป็นสำคัญ เครื่องถมเหล่านี้ได้ถูกจำหน่ายจ่ายแจก และเปลี่ยนมือไปหลายต่อหลายแห่ง ที่มีสะสมตอทอดอยู่บ้างในเวลานี้ พอจะหาดูได้ในวัดพระเขียน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ผลงานที่นายเห้ง โสภาพงศ์ ภาคภูมิใจก็คือ ชุดน้ำชาถมทอง ซึ่งตนร่วมกับช่างถมชาวนครหลายคนประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2502 ชุดน้ำชาถมทองชุดนี้ เป็นชุดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงนำไปพระราชทานแด่ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวด์ แห่งสหรัฐอเมริกา ในคราวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาและยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 นอกจากนั้นในช่วง 50 ปีเศษ ของการเป็นช่างถม นายเห้ง ได้ทำเครื่องถมเพื่อจำหน่ายบ้าง ทำตามที่ลูกค้าสั่งบ้าง รวมหลายร้อยชิ้น ในจำนวนนี้เคยส่งเข้าร่วมประกวดในงานศิลปหัตถกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตหกรรม จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยได้รับรางวัลที่ 3 ด้วย

นายเห้ง โสภาพงศ์ สมรสกับนางตุ้น โสภาพงศ์ มีบุตรธิดา 8 คน ในจำนวนนี้ผู้ชายสองคนคือ นายโสฬส โสภาพงศ์ และนายจรวย โสภาพงศ์ ได้สืบทอดวิชาการทำเครื่องถมและนำไปประกอบอาชีพสืบแทนบิดา

นายเห้ง โสภาพงศ์ ได้สร้างผลงานด้วยความประณีตและพัฒนาอยู่เสมอ พร้อมที่จะเผยแพร่และถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ศิษย์และผู้สนใจตลอดเวลา ซึ่งสมควรยกย่องไว้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ประกาศยกย่องให้นายเห้ง โสภาพงศ์ เป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น ประจำปี 2529 สาขาเครื่องถม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็ได้ยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม) เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัจจุบัน นายเห้ง โสภาพงศ์ ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2542 (รับช่วงต่อ นายนิติกร กังกุสล)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๓, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
  • เรียบเรียงจาก หนังสือ ศิลปินแห่งชาติ 2529 โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2529