สวัสดิ์ ตันติสุข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวัสดิ์ ตันติสุข

เกิด24 เมษายน พ.ศ. 2468
ตำบลบางแค อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
(ปัจจุบันอยู่ในเขตบางแค กรุงเทพมหานคร)
เสียชีวิต4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 (84 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตติดเชื้อในกระแสโลหิต
สัญชาติไทย
พลเมืองไทย
การศึกษาอนุปริญญาศิลปบัณฑิต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
อาชีพศิลปิน จิตรกร
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2491 – 2552
องค์การกรมศิลปากร
มีชื่อเสียงจากผู้อุทิศตนเพื่อเผยแพร่และพัฒนางานศิลปกรรมของไทย
ผลงานเด่นชีวิตใต้ร่มไม้
ทะเลยามราตรี
คู่สมรสปราณี ศรีวิภาต
บุตร1 คน
บิดามารดาคิ่ว ตันติสุข
แม้น ตันติสุข
ครอบครัวตันติสุข
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) – พ.ศ. 2534

สวัสดิ์ ตันติสุข (24 เมษายน พ.ศ. 2468 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2534 ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม อาจารย์สวัสดิ์เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญ ผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของประเทศ มีผลงานจิตกรรมดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่า 65 ปี การบุกเบิกงานจิตรกรรมที่สำคัญ คือ ได้สร้างสรรค์ผลงานจากแบบที่เป็นรูปธรรมเข้าสู่แบบนามธรรมซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านจิตรกรรมของศิลปินรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ทำให้ศิลปินไทยประสบความสำเร็จในวงการศิลปะนานาชาติ และยังได้อุทิศตนให้กับการสอนและการเผยแพร่ศิลปะโบราณและสมัยใหม่ให้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงผลงานในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ศิลปะนานาชาติ และการแสดงศิลปะอื่นๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน ผลงานศิลปะและวิชาการทางศิลปะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในทางสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก

การศึกษาและการทำงาน[แก้]

สวัสดิ์ ตันติสุข สำเร็จการศึกษา ระดับ ป.ป.ช. จากโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2485 อนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรมและประติมากรรม จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมา ได้ไปศึกษาต่อด้านจิตรกรรมในต่างประเทศที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี (Academy of Fine Arts, Rome) และได้รับประกาศนียบัตรจิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. 2503

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร นายสวัสดิ์ ตันติสุขได้เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างตรีในแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม ในกรมศิลปากร ต่อมา ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกกลาง ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2497 อีก 7 ปี ต่อมา คือ ใน พ.ศ. 2504 อาจารย์สวัสดิ์ก็ได้การเลื่อนเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากร ได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง 14 ปี จึงได้รับการเลื่อนเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ในกรมศิลปากร อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขได้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดมาจนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2528 ในตำแหน่งช่างศิลป์ระดับ 9

ผลงาน[แก้]

แม้อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขจะปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอย่างเต็มเวลา แต่ท่านก็ยังใช้เวลานอกราชการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานหลายชิ้นของท่านได้รับการยกย่องผ่านการประกวดในระดับชาติ ดังนี้

  • รางวัลในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม พ.ศ. 2498
  • รางวัลเหรียญทอง การแสดงงานจิตรกรรม เมืองราเวนนา อิตาลี พ.ศ. 2502
  • รางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรมมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม พ.ศ. 2503
  • รางวัลที่ 2 การแสดงศิลปะระหว่างชาติ ไซ่งอน พ.ศ. 2505
  • แสดงงานจิตรกรรมที่ได้รับเชิญจากกลุ่ม ส่วนราชการต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

เกียรติคุณที่ได้รับ[แก้]

ผลงานต่างๆ รวมทั้งการทำงานเพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่งานในสาขาจิตรกรรม อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขได้สรรค์สร้างผลงานทางศิลปออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องที่ ทำให้อาจารย์ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง ดังนี้

  • ศิลปินชั้นเยี่ยม (สาขาจิตรกรรม) จาก การแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2498
  • ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จิตรกรรม) จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2527
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2534
  • ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ( ประเภทวิจิตรศิลป์ จิตรกรรม) พ.ศ. 2535

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

แม้จะอยู่ในวัยของผู้สูงอายุ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ก็ยังคงมีความสนใจและมีบทบาทในวงการศิลปะอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรรมสีน้ำอาเซียนและสมาคมศิลปะในประเทศ ฯลฯ ท่านยังคงเข้าร่วมประชุมราชบัณฑิตยสถานอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2 ครั้ง และยังคงนำเสนอบทความที่น่าสนใจหรือสิ่งที่ค้นพบจากการค้นคว้าวิจัยต่อที่ประชุมสำนักศิลปกรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๓, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๔๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๑, ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๐๗, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๘๗ ง หน้า ๒๐๑๖, ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒