ข้ามไปเนื้อหา

ปรัชญาปารมิตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระปรัชญาปารมิตา

ปรัชญาปารมิตา[1] (อักษรเทวนาครี: प्रज्ञा पारमिता, ทิเบต: Shes-rab-pha-rol-phyin ་ཤེས་རབ་ཕ་རོལ་, จีน: 般若波羅蜜多/般若波罗蜜多, Pinyin: bō'ruò-bōluómìduō; ญี่ปุ่น: hannya-haramitta (般若波羅蜜多, hannya-haramitta?) เกาหลี: banya-paramilda (般若波羅蜜多/반야파라밀다); เวียดนาม: Bát Nhã Ba La Mật Đa) เป็นพระสูตรสำคัญชุดหนึ่งในนิกายมหายาน ที่สำคัญ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ในทางศิลปกรรมช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 -12 มักแสดงในเชิงบุคลาธิษฐานเป็นรูปพระโพธิสัตว์ชื่อ "พระปรัชญาปารมิตา"[1] มีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงของพระอักโษภยพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญญตา

พระปรัชญาปารมิตา

[แก้]

พระปรัชญาปารมิตา ทรงเป็นเทวนารีในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานหรือตันตระยาน พระปรัชญาปารมิตาทรงเป็นเทวนารีในกุลหรือสายสกุลของพระอมิตาภพุทธะประจำทิศตะวันตก จึงทรงมีรูปพระชินอมิตาภะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับปางสมาธิบนพระเศียร

รูปลักษณ์ของพระนางมีสีกายขาวหรือเหลือง มีหลายแขน พระหัตถ์อยู่ในท่าธรรมจักรมุทรา ถือดอกบัว คัมภีร์ ลูกประคำ หรือวัชระ ลักษณะเด่นของพระนางคือเป็นที่รวมของพระธยานิพุทธะทั้งหลายไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนปรัชญาธรรมคือความว่างที่สามารถแทรกซึมเป็นองค์ประกอบในทุกสิ่ง พระกรคู่หน้าของพระปรัชญาปารมิตาทรงอยู่ในท่า หมุนธรรมจักร หรือธรรมจักรมุทฺรา ด้านหลังพระองค์เป็นดอกบัวสีขาว มีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาวางอยู่บนดอกบัว ส่วนในศิลปะกัมพูชา มักปรากฏในรูปสองกร พระหัตถ์ขวาทรงถือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวหรือ พระหัตถ์ขวาทรงถือดอกบัว และพระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์

พระนางแบ่งตามวรรณะได้เป็น 3 วรรณะคือ[2]

  • สิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะขาว ประทับบนดอกบัวขาว พระหัตถ์ถือดอกบัวและคัมภีร์ ไม่มีปางดุร้าย
  • ปิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะเหลือง พระหัตถ์ทำปางธรรมจักร รูปปั้นของวรรณะนี้พบมากในเกาะชวา
  • กนกปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะทอง คล้ายวรรณะเหลืองแต่เพิ่มจำนวนดอกบัวและคัมภีร์ให้มากขึ้น เป็นที่นิยมในอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีรูปของพระปรัชญาปารมิตาในแบบวัชรยาน ซึ่งมีหลายเศียร โดยมากมี 11 เศียร 22 กร พระหัตถ์ถือคัมภีร์ ดอกบัว ธนู ลูกศร ประคำ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 429-430
  2. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กทม. โรงพิมพ์อักษรสมัย. 2543 หน้า 77
  • สุมาลี มหณรงค์ชัย. พระชินพุทธะทั้งห้า. กทม. ศูนย์ไทยธิเบต. 2548