ข้ามไปเนื้อหา

ปรมัตถทีปนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรมัตถทีปนี เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถาของหมวดขุททกนิกาย หมวดย่อยอุทาน-อิติวุตตกะ, วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ และเถรคาถา-เถรีคาถา ในพระสุตตันตปิฎก รจนาขึ้นโดยพระธัมมปาละหรือพระธรรมปาลเถระ หรือพระธรรมาบาล พระเถระชาวอินเดียโบราณ เป็นชาวเมืองกาญจีปุรัม ทางภาคใต้ของอินเดีย

ผู้แต่ง

[แก้]

พระธัมมปาละ มีช่วงชีวิตอยู่ะระหว่างปี พ.ศ. 1071 - 1103 [1] เกิดที่เมืองกาญจีปุรัม จึงคาดว่าท่านอาจเป็นชาวทมิฬ ในคัมภีร์คันธวงศ์ และจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง หรือพระเสวียนจั้งบันทึกว่า พระธัมมปาละมาจำพรรณาที่วัดพทรดิตถวิหาร ซึ่งวัดพทรดิตถวิหาร (พะ-ทะ-ระ-ติด-ถะ) หรือพทระ ติตถะ วิหาร หรือ ปทระติตถวิหาร เป็นพระอารามในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริวเณเมืองนาคปัฏฏัน หรือนาคปัตตินัม รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ คัมภีร์คันธวงศ์ หรือจุลลคันธวงศ์ คัมภีร์ภาษาบาลี ของพระนันทะปัญญา พระเถระชาวพม่า สมัยศตวรรษที่ 17 ได้เอ่ยถึงพระอารามแห่งนี้ว่า เป็นที่พำนักของพระธรรมปาละ หรืออาจาริยะ ธรรมปาละ พระคันถรจนาจารย์ ยุคต้นพุทธศาสนานิกายเถรวาท

เนื้อหา

[แก้]

พระธัมมปาละ ผู้รจนาระบุในอารัมภกถาของคัมภีร์ปรมัตถทีปนีไว้ว่า การรจนาในครั้งนี้ได้ยึดถือตามคัมภีร์อรรถกถาของเดิมที่เป็นการวินิจฉัยของบุรพาจารย์ชาวสีหล โดยการเรียบเรียง หรือรจนาขึ้นใหม่โดยพระธัมมปาละ ยังยึดเอาหลักคำสอนของพระมหาเถระ แห่งคณะมหาวิหาร อันเป็นคณะสงฆ์กลุ่มหลักในสิงหลทวีป โดยเว้นข้อความที่มาซ้ำ ๆ ซาก ๆ จากอรรถกถาของเดิมเสีย [2]

เนื้อหาหลักของปรมัตถทีปนี เป็นการชี้แจงเนื้อหาในหมวดย่อยอุทาน-อิติวุตตกะ, วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ, เถรคาถา-เถรีคาถา และจริยาปิฎก โดยยกศัพท์ที่ปรากฏในเนื้อความ มาอธิบายขยายความต่อในเชิงหลักธรรม เนื่องจากเนื้อหาของขุททกนิกายมักเป็นข้อความหรือคาถา หรือการกล่าวอุทานสั้น ๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีเนื้อหาหลายจุดที่กระชับเกินไป ทำให้ผู้ศึกษาพระธรรมไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ได้ พระอรรถกถาจารย์จึงจ้องชี้แจงเพิ่มเติมในจุดต่าง ๆ โดยอาศัยทั้งข้อธรรม ภาษาศาสตร์ ขนบธรรมเนียมโบราณ ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ท้องที่ ประวัติพระสาวก และสุภาษิต เป็นต้น

ตัวอย่างเช่นในปฐมโพธิสูตร ในพระสุตตันตปิฎก หมวดขุททกนิกาย หมวดย่อยอุทาน โพธิวรรคที่ 1 ซึ่งว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลม และมีขนาดสั้นเพียงไม่ถึง 300 คำ (ตามฉบับแปลของพระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย) [3] แต่พระอรรถกถาจารย์ได้สังวรรณนา หรือให้คำอธิบายโดยพิสดารและลึกซึ้ง เป็นจำนวนกว่า 20,000 คำ ทำการแจกแจงข้อธรรมต่าง ๆ อย่างกระจ่างแจ่มแจ้ง ไม่เพียงช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจหลักธรรมได้อย่างชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความลึกซึ้งของพระธรรมวินัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความสามารถอันเอกอุของผู้รจนารรรถกถานี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ชื่อคัมภีร์ปรมัตถทีปนี มิได้มีความเกียวข้องกับปรมัตถทีปนีฎีกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาอธิบายคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ และเกี่ยวเนื่องกับการวินิจฉัยทางหลักภาษามากกว่าหลักธรรม [4]

ตัวอย่างเนื้อหา

[แก้]

ตัวอย่างจากโลภสูตร ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปาฏิโภควรรคที่ 1 ซึ่งว่าด้วยการว่าด้วยละโลภะได้เป็นพระอนาคามี ซึ่งขนาดสั้นมาก แต่ปรมัตถทีปนี ภาคอิติวุตตกวรณนา ได้ให้อรรถาอธิบายที่ครอบคลุมและกว้างขวางขึ้น โดยมีการนิยามศัพท์ คือคำว่า "ภควา" คำว่า "อรหัง" คำว่า "ปาฏิหาริย์" เป็นต้น มีการแสดงประวัตินางขุชชุตตรา อุบาสิกาผู้เป็นเอตทัคคะในฝ่ายผู้แสดงธรรม และเป็นผู้กล่าวคำนิทาน หรือที่มาของพระสูตรนี้ [5]

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายว่า สาเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกฺขเว" หรือ "ภิกษุทั้งหลาย" เมื่อจะทรงแสดงธรรมโดยไม่ทรงแสดงธรรมทีเดียว เพราะเพื่อให้เกิดสติ ด้วยว่าภิกษุทั้งหลาย อาจกำลังนั่งคิดอย่างอื่นบ้าง นั่งพิจารณาธรรมบ้าง นั่งมนสิการกรรมฐานบ้าง หากพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเรียกก่อน ทรงแสดงธรรมไปเลย ภิกษุทั้งหลายไม่อาจกำหนดได้ว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย ดังนี้ [6]

ต่อมามีการขยายความข้อธรรมที่เกี่ยวกับการบรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามี ตามพุทธพจน์ว่า "โลภํ ภิกฺขเว เอกธฺมมํ ปชหถ อหํ โว ปาฏิใภโค อนาคามิตาย ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละธรรมอย่างหนึ่ง คือ โลภะได้ เราเป็นผู้รับรองพวก เธอเพื่อความเป็นพระอนาคามี" ซึ่งโดยพระอรรถกถาจารย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้เห็นแจ้งในอุปทานขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง รู้ทันความโลภ ด้วยการกำหนดรู้ด้วยการรู้ และด้วยการกำหนดรู้ด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา ย่อมละกิเลสที่เหลือไม่ให้เกิดขึ้นในสันดานของตนอีกต่อไป ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hermann Kulke (Editor) หน้า 105
  2. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อุทานวรรณนา. เล่ม 1 ภาค 3 - หน้าที่ 4
  3. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อุทานวรรณนา. เล่ม 1 ภาค 3 - หน้าที่ 1
  4. พระคันธสาราภิวงศ์. (2552). อภิธรรมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี. หน้า (5)
  5. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกวรณนา. เล่ม 1 ภาค 4. - หน้าที่ 8 หน้า 22 หน้า 37 หน้า 52
  6. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกวรณนา. เล่ม 1 ภาค 4. - หน้า 66
  7. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกวรณนา. เล่ม 1 ภาค 4. - หน้า 77

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Hermann Kulke, K. Kesavapany, Vijay Sakhuja (บ.ก.). (16 ธันวาคม 2009). Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflections on the Chola Naval Expeditions to Southeast Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies – Yusof Ishak Institute. ISBN 978-981-2309-37-2
  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). (2552). อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี. กรุงเทพฯ: ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. ISBN 974-8911098
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อุทานวรรณนา. เล่ม 1 ภาค 3.
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี. อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกวรณนา. เล่ม 1 ภาค 4.