โพธิสัตวศีล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โพธิสัตว์ศีล)

โพธิสัตวศีล คือศีลที่ปรากฏเฉพาะในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีจุดมุ่งหมายให้ผู้สมาทานศีลนี้ มีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจเพื่อการก้าวสู่สถานะพระโพธิสัตว์รื้อขนสรรพสัตว์สู่พระนิพพาน โดยปกติแล้วฝ่ายบรรพชิตฝ่ายเถรวาทจะถือพระปาติโมกข์หรือศีล 227 ข้อ หรือที่ฝ่ายมหายานเรียกในภาษาสันสกฤตว่า ปราติโมกษ์ โดยบรรพชิตฝ่ายมหายานก็ถือศีลชุดนี้เช่นกัน โดยอาศัยพระวินัยปิฎกจากพระไตรปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งมีเนื้อหาตรงกับพระวินัยและ/หรือพระปาติโมกข์ของฝ่ายเถรวาท โดยบรรจุรวมอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาจีน อย่างไรก็ตาม นอกจากปาติโมกข์แล้ว บรรพชิตฝ่ายมหายานยังถือโพธิสัตวศีลอีกด้วย เพื่อขัดเกลาตนเองและศีลให้บริสุทธิ์สมกับการดำเนินตามครรลองโพธิสัตวมรรคยิ่งขึ้น อันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพุทธศาสนิกชนนิกายมหายาน

เสถียร โพธินันทะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา และผู้แปลพระวินัยในพุทธศาสนามหายาน กล่าวถึงโพธิสัตวศีลไว้ในหนังสือ "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ไว้ว่า

"อนึ่ง ถ้าจะพิจารณาตามกำเนิดของลัทธิมหายาน จักประจักษ์ว่า เป็นด้วยวัตถุประสงค์ส่งเสริมจริยาแห่งพระบรมโพธิสัตว์เป็นสำคัญ โดยสอนให้บุคคลตั้งปณิธาน มุ่งพระพุทธภูมิ เพื่อมีโอกาสในการโปรดสรรพสัตว์ได้กว้างขวาง ฉะนั้น ลัทธิมหายานจึงมีสิกขาบทพิเศษอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีในลัทธิฝ่ายสาวกยานนั่นคือ “โพธิสัตว์สิกขาบท” หรือ “โพธิสัตว์ศีล” ซึ่งศีลประเภทนี้ เป็นสาธรณทั่วไป แก่บรรพชิต และฆราวาสชน มิได้จำกัดเพศ ใคร ก็ตามที่มีโพธิจิตต์ตั้งความปรารถนา จักลุพุทธภูมิไซร้ ก็ย่อมบำเพ็ญตามสิกขาบทนี้ และโพธิจริยาอื่นๆ มีทศบารมี เป็นต้น"

โพธิสัตวศีล ของฝ่ายมหายานปรากฏในในพรหมชาลสูตร (มหายาน) ซึ่งระบุถึงศีลสำหรับพระโพธิสัตว์ อันเป็นมูลฐานของการเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพุทธะธาตุ หรือความเป็นพุทธะในตัวของสรรพสัตว์ แบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตวศีล 10 (ครุกาบัติ) และจุลโพธิสัตวศีล 48 (ลหุกาบัติ) รวมเป็นโพธิสัตวศีล 58

ทั้งนี้ หากละเมิดครุกาบัติถือเป็นปาราชิก อย่างไรก็ตาม อาบัติโทษสถานหนัก 10 ข้อ แยกไว้เป็น 3 ประเภท เจตนา บังเอิญ หรือ สุดวิสัย คือ

  • อุดมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อคณะสงฆ์
  • มัธยมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อสงฆ์จำนวนสามรูป
  • ปฐมอาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อสงฆ์เพียงหนึ่งรูป

ผู้ต้องชั้นอุดมอาบัติขาดจากการเป็นโพธิสัตว์ ต้องในกรณีย์หลัง ให้อยู่กรรมมานัตต์ทรมานตนจึงจะพ้นอาบัติเป็นผู้บริสุทธิ์

โพธิสัตวศีล 58[แก้]

ครุกาบัติ 10 ข้อ[แก้]

  1. ผู้ฆ่าชีวิตมนุษย์ให้ตายด้วยมือตนเอง ใช้ผู้อื่นกระทำหรือเป็นใจสมรู้ ตลอดจนฆ่าชีวิตสัตว์เล็กใหญ่ให้ตาย ต้องสถานโทษหนัก
  2. ผู้ถือเอาของผู้อื่น มีราคา 5 มาสก ตลอดจนลักเอาของไม่มีค่าที่เจ้าของไม่อนุญาตด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  3. ผู้เสพเมถุนนำนิมิตล่วงเข้าไปในทวารหนัก ทวารเบาร หรือทางปากของผู้ชายหรือผู้หญิง ตลอดจนสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย ต้องสถานโทษหนัก
  4. ผู้อุตริมนุสธรรม อวดรู้ฌานรู้มรรคผลที่ไม่มีในตน ตลอดจนพูดมุสาวาทที่ไม่ใช่ความจริง กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  5. ผู้ผลิตสุราเมรัยน้ำเมา ตลอดจนยาดองสุราที่ไม่ใช่รักษาโรคโดยตรง กระทำหรือผลิตเอง หรือใช้คนอื่นกระทำหรือผลิต ต้องโทษสถานหนัก
  6. ผู้กล่าวร้ายบริษัท 4 ใส่ร้ายอาบัติชั่ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนศึกษามานะ (สิกขมานา) สามเณรและสามเณรี โดยไม่มีมูล ด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  7. ผู้ยกตนข่มท่าน ติเตียนนินทาภิกษุอื่น ยกย่องตนเองเพื่อลาภด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  8. ผู้ตระหนี่เหนียวแน่น ไม่มีมุทิตาจิต ตลอดจนไม่เอื้อเฟื้อต่อผู้ยากจนขอทาน กลับขับไล่ไสส่ง กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  9. ผู้มุทะลุฉุนเฉียว ตลอดจนก่อการวิวาท ใช้มีด ใช้ไม้ ใช้มือทุบตีภิกษุอื่น กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก
  10. ผู้ประทุษร้ายต่อพระรัตนตรัย กระทำด้วยตนเองหรือใช้ผู้อื่นกระทำ ต้องสถานโทษหนัก

ลหุกาบัติ 48 ข้อ[แก้]

  1. ผู้ไม่เคารพผู้อาวุโส ชั้นอาจารย์ของตน
  2. ผู้ดื่มสุราเมรัย
  3. ผู้บริโภคโภชนาหารปลาและเนื้อ
  4. ผู้บริโภคผักมีกลิ่นฉุนแรง ให้โทษเกิดราคะ 5 ชนิด คือ 1.หอม 2.กระเทียม 3.กู้ไฉ่ 4. หลักเกี๋ย 5.เฮงกื๋อ
  5. ผู้ไม่ตักเตือนผู้ต้องอาบัติให้แสดงอาบัติ
  6. ผู้ไม่บริภาคสังฆทานแก่ธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม,นักเทศน์)
  7. ผู้ไม่ไปฟังการสอนธรรม
  8. ผู้คัดค้านพระพุทธศาสนาในมหายานนิกาย
  9. ผู้ไม่ช่วยเหลือคนป่วย
  10. ผู้เก็บอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ไว้ในครอบครอง
  11. ผู้เป็นทูตสื่อสารในทางการเมือง
  12. ผู้ค้ามนุษย์ไปเป็นทาส ขายสัตว์ไปให้เขาฆ่าหรือใช้งาน
  13. ผู้พูดนินทาใส่ร้ายผู้อื่น
  14. ผู้วางเพลิงเผาป่า
  15. ผู้พูดบิดเบือนข้อความพระธรรมให้เสื่อมเสีย
  16. ผู้พูดอุบายเพื่อประโยชน์ตน
  17. ผู้ประพฤติข่มขี่บังคับเขาให้ทานวัตถุ
  18. ผู้อวดอ้างตนเป็นอาจารย์เมื่อตนยังเขลาอยู่
  19. ผู้พูดกลับกลอกสองลิ้น
  20. ผู้ไม่ช่วยสัตว์ เมื่อเห็นสัตว์นั้นตกอยู่ในภยันตราย
  21. ผู้ผูกพยาบาท คาดแค้น
  22. ผู้ทะนงตน ไม่ขวนขวายศึกษาธรรม
  23. ผู้เย่อหยิ่ง กระด้างก้าวร้าว
  24. ผู้ไม่ศึกษาพระธรรม
  25. ผู้ไม่ระงับการวิวาทเมื่อสามารถสงบได้
  26. ผู้ละโมบเห็นแก่ตัว
  27. ผู้น้อมลาภที่เขาถวายสงฆ์อื่นมาเพื่อตน
  28. ผู้น้อมลาภที่เขาจะถวายสงฆ์ไปตามชอบใจ
  29. ผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดฤทธิ์เวท ให้คนคลั่งไคล้
  30. ผู้ชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน
  31. ผู้ไม่ช่วยเหลือไถ่ค่าตัวคนให้พ้นจากเป็นทาสเมื่อสามารถ
  32. ผู้ซื้อขายอาวุธสำหรับฆ่ามนุษย์หรือสัตว์
  33. ผู้ไปดูกระบวนทัพมหรสพและฟังขับร้อง
  34. ผู้ไม่มีขันติ อดทนสมาทานต่อศีล
  35. ผู้ปราศจากกตัญญู ต่อบิดามารดา อุปัชฌายาจารย์
  36. ผู้ปราศจากสัจจ์ต่อคำปฏิญาณ จะตั้งอยู่ในพรหมจรรย์
  37. ผู้ปฏิบัติธุดงควัตรในถิ่นที่มีภยันตราย
  38. ผู้ไม่มีคารวะ ไม่รู้จักสูงต่ำ
  39. ผู้ไม่มีกุศลจิต ไม่สร้างบุญ สร้างกุศล ทำทาน
  40. ผู้มีฉันทาคติ ลำเอียงการให้บรรพชาและอุปสมบท
  41. ผู้เป็นอาจารย์สอนด้วยการเห็นแก่ลาภ
  42. ผู้กระทำสังฆกรรมแก่ผู้มีมิจฉามรรยา
  43. ผู้มีเจตนาฝ่าฝืนวินัย
  44. ผู้ไม่เคารพสมุดพระธรรมคำภีร์
  45. ผู้ไม่สงเคราะห์โปรดเวไนยสัตว์
  46. ผู้ยืนหรือนั่งที่ต่ำแสดงธรรม
  47. ผู้ยอมจำนนต่ออำนาจธรรมโรธี (อำนาจที่ผิดธรรม)
  48. ผู้ล่วงละเมิดธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา

โพธิสัตวศีลในดินแดนพุทธมหายาน[แก้]

บรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาพระวินัย และพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์อย่างเคร่งครัด ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เสถียร โพธินันทะกล่าวว่า แม้แต่สามเณร ก็ยังต้องปฏิบัติพระโพธิสัตว์ศีลเช่นเดียวกันกับภิกขุ ขณะที่ฆราวาสหากปรารถนาจะรับศีลโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้ โดยต้องรีบศีล 5 เป็นพื้นฐานเสียก่อน โดย เสถียร โพธินันทะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใน "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ว่า "ฆราวาสนั้นมีความสำคัญเฉพาะข้อ 3 อันเป็นสิกขามังสะวิรัติเท่านั้น เพราะได้รับปฏิบัติในศีล 8 หรือ ศีล 5 อยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตวศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15 ผู้ก่อตั้งนิกายเทนได ซึ่งได้รับพระราชานุญาตจากพระจักพรรดิในการตั้งสีมาอุปสมบทของนิกายตนเอง โดยรับเพียงโพธิสัตวศีลไม่ต้องสมาทานพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ เพื่อชำระนิกายมหายานให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น โดยแต่เดิมผู้ที่จะรับการอุปสมบทในญี่ปุ่น จะต้องทำกันที่สีมาวัดโทไดจิ ในนครนาระ ซึ่งจะมีการอุปสมบทแบบดั้งเดิม คือรับพระวินัย และพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์พร้อมกับรับโพธิสัตวศีล

ต่อมา นอกจากนิกายเทนไดแล้ว นิกายเซน สายโซโตะ นิกายชินงอน และนิกายโจโดชู ยังอุปสมบทโดยรับเพียงโพธิสัตวศีลเท่านั้นเช่นกัน กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงออกกฎหมายเปิดทางให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ นับเป็นการสิ้นสุดของการถือพระวินัยในญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์

บรรณานุกรม[แก้]

  • เสถียร โพธินันทะ. (2501). ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย.
  • The Soka Gakkai Dictionary of Buddhism. Soka Gakkai International,
  • The Brahma Net Sutra. Translated into English by the Buddhist Text Translation Society in USA

ต้นฉบับและเนื้อหาเพิ่มเติม[แก้]

  • ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย

http://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-47-07

  • พระวินัยสี่บรรพ (ภาษาจีน)

http://www.cbeta.org/result/T22/T22n1428.htm เก็บถาวร 2008-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

  • คัมภีร์โพธิสัตว์ศีล (菩薩戒本) ฉบับพระธรรมเกษม (ภาษาอังกฤษ)

http://www.sutrasmantras.info/sutra31.html