ข้ามไปเนื้อหา

มวยสากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นักมวยสากล)
มวยสากล
การแข่งขันมวยสากล
มุ่งเน้นการชก, การโจมตี
ประเทศต้นกำเนิดก่อนประวัติศาสตร์
ต้นตำรับมวยมือเปล่า
กีฬาโอลิมปิก688 ปีก่อนคริสต์ศักราช (กรีกโบราณ)
พ.ศ. 2447 (สมัยใหม่)

มวยสากล (อังกฤษ: Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่สู้กันด้วยหมัดทั้ง 2 ข้าง มีการแข่งขันตั้งแต่สมัยกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน มวยสากล จะกำหนดการให้คะแนน ถ้าไม่มีฝ่ายไหนแพ้ชนะน็อก จะตัดสินจากคะแนนรวมยกที่ 12 คือยกสุดท้าย

ต้นกำเนิดมวยสากล

[แก้]

มวยสากลเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีมาแต่โบราณ โดยเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของทหารในสนามรบ และกลายเป็นเกมกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิคยุคโบราณ โดยที่นักมวยในยุคนั้นไม่มีการจำกัดน้ำหนัก ไม่สวมเครื่องป้องกันตัว และไม่จำกัดว่าต้องใช้ได้เพียงหมัด สามารถกัดหรือถองคู่ต่อสู้ได้ โดยไม่มีกติกามากนัก เพียงแต่นักมวยทั้งคู่ต้องถอดเสื้อผ้าให้หมดทั้งตัว เพื่อไม่ให้ซ่อนอาวุธเอาไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2236 เจมส์ ฟิกก์ (James Figg) ผู้ชนะเลิศการต่อสู้ด้วยมือเปล่าชาวอังกฤษได้กำหนดกฎกติกาในการชก จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "บิดาแห่งมวยสากล" และต่อมาก็ได้มีผู้สร้างนวมขึ้นมา แต่ยังไม่มีการใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2432 จอห์น แอล ซัลลิแวน (John L. Sulrivan) ผู้ชนะเลิศการชิงแชมป์มวยด้วยมือเปล่า ประกาศว่าจะไม่ขอขึ้นชกด้วยมือเปล่าอีกต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นของการชกด้วยการสวมนวม และได้พัฒนาจนมาเป็นเกมกีฬาที่มีกติกาชัดเจนเช่นในปัจจุบัน [1][2]

กติกามวยสากล

[แก้]

กติกาในการชก

                 การชั่งน้ำหนัก ให้กระทำภายในเวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ถ้าน้ำหนักเกินมีสิทธิ์ไปวิ่งลดน้ำหนักแล้วกลับมาชั่งได้อีกภายในเวลาที่กำหนด  การแข่งขันจะต้องไม่เริ่มขึ้นก่อน ๓ ชั่วโมงเต็มหลังจากกำหนดเวลาชั่งน้ำหนักสิ้นสุดลง

         จำนวนยกในการแข่งขัน ถ้าเป็นมวยสมัครเล่นอาจชก ๓ ยก (บางแห่งอาจชก ๕  ยก)  ยกหนึ่งใช้เวลา ๓ นาที หยุดพักระหว่างยก ๑ นาที นักมวยอาชีพอาจชก ๑๐  ๑๒  หรือ  ๑๕  ยก แต่ระยะหลังไม่ค่อยชก ๑๕ ยกกันแล้วเพราะนักมวยเหนื่อย ชกไม่ไหว

         กรรมการ  การชกมวยสมัครเล่นมีกรรมการ ๕ คน มวยสากลมี ๓ คน บางหนกรรมการห้ามบนเวทีก็มีสิทธิ์ให้คะแนนด้วย

         การตัดสิน  

         - ชนะโดยน็อกเอาต์  คือ  เมื่อทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้นเวที  หรือยืนพับหมดสติอยู่กับเชือก ไม่สามารถที่จะชกหรือป้องกันตัวต่อไปได้อีกภายใน ๑๐ วินาที คือกรรมการได้นับ ๑  ถึง ๑๐ แล้ว  กรณีที่นักมวยผู้ล้มสามารถลุกขึ้นได้ก่อนที่กรรมการจะนับ ๑๐ และพร้อมที่จะชกต่อไปได้ กรรมการจะนับต่อไปจนถึง๘ เสียก่อนจึงให้ชกต่อ

         - ชนะเทคนิเกิลน็อกเอาต์ หมายถึง ทำให้คู่ต่อสู้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก และกรรมการผู้ชี้ขาดเห็นว่าไม่มีทางจะเอาชนะได้  หรือนักมวยคนใดไม่สามารถจะชกต่อไปได้อีกภายหลังที่ได้หยุดพักระหว่างยกแล้ว  หรือถ้านักมวยได้รับบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์  ผู้ชี้ขาดเห็นว่าถ้าชกต่อไปจะเป็นอันตรายร้ายแรง สำหรับกรณีนี้ กรรมการอาจปรึกษานายแพทย์สนาม

         การให้คะแนน  ยกหนึ่ง  ๆ  มี  ๑๐ คะแนน เมื่อหมดยกกรรมการจะให้คะแนนแก่นักมวยที่ชกดีกว่า ๑๐ คะแนน และให้คะแนนผู้เสียเปรียบลดน้อยไปตามลำดับความเสียเปรียบ  ถ้าชกได้สูสีกันให้คนละ ๑๐ คะแนน  นอกจากนั้นยังมีหลักเกณฑ์พอสรุปได้ดังนี้

         เมื่อกรรมการเตือนนักมวยคนใดที่ทำฟาวล์ ให้หักคะแนนผู้นั้น ๑ คะแนน โดยให้สัญญาณมือแก่กรรมการผู้ให้คะแนน

         ผู้ชนะที่ชกได้จะแจ้งทั้งยก และชกคู่ต่อสู้ล้ม ๑ ครั้ง ถึงนับหรือชกข้างเดียว ได้รับ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๘ คะแนน

         ผู้ชนะที่ชกข้างเดียวทั้งยกและยังชกคู่ต่อสู้ล้มถึงนับมากกว่า  ๑ ครั้งขึ้นไป จะได้รับ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๗ คะแนน

อุปกรณ์

[แก้]

เนื่องจากการชกมวยเป็นกีฬาที่มีการชกซ้ำด้วยมืออย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันเพื่อปกป้องกระดูกมือ โค้ชส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้นักมวยฝึกซ้อมและต่อยมวยจำลองโดยไม่พันข้อมือและสวมถุงมือมวย[3] เสื้อผ้าสำหรับการต่อยมวยจำลองจะมีการบุฟองน้ำมากกว่าเสื้อผ้าที่ใช้ตีเป้าเล็กน้อย[4] ผ้าพันมือใช้สำหรับยึดกระดูกข้อมือ และถุงมือใช้เพื่อปกป้องมือจากการบาดเจ็บ ทำให้นักมวยสามารถออกแรงชกได้แรงขึ้นมากกว่าหากไม่ใช้ ถุงมือมวยเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า แม้ว่าถุงมือมวยสมัยใหม่จะหนักกว่าถุงมือที่นักมวยในต้นศตวรรษที่ยี่สิบใช้[5][6] ก่อนการชก นักมวยทั้งสองต้องตกลงกันเรื่องน้ำหนักของถุงมือที่จะใช้ในการชก โดยเข้าใจว่า ถุงมือที่เบากว่าทำให้นักชกต่อยอย่างรุนแรงขึ้นได้ แบรนด์ของถุงมือก็มีผลต่อความแรงของหมัดด้วย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มักได้รับการตกลงก่อนการแข่งขันเช่นกัน

ที่กันฟันมีความสำคัญในการปกป้องฟัน และเหงือกจากการบาดเจ็บ รวมทั้งช่วยผ่อนปรนขากรรไกร ลดโอกาสที่จะถูกน็อคเอาท์[7][8] นักมวยทั้งสองต้องสวมรองเท้าพื้นอ่อนเพื่อลดความเสียหายจากการเหยียบเท้าทั้งโดยไม่ตั้งใจหรือจงใจ รองเท้าบู๊ตมวยแบบเก่ามักจะมีลักษณะคล้ายรองเท้าบู๊ตของนักมวยปล้ำอาชีพ แต่ว่ารองเท้ามวยสมัยใหม่มักจะคล้ายกับรองเท้ามวยปล้ำสมัครเล่น

นักมวยจะฝึกฝนทักษะของตนกับกระสอบทรายหลายประเภท[9][10][11] กระสอบทรายขนาดเล็กที่มีลักษณะหยดน้ำใช้ในการฝึกปฏิกิริยาและทักษะการชกซ้ำๆ ในขณะที่กระสอบทรายทรงกระบอกขนาดใหญ่ที่บรรจุทราย สารทดแทนสังเคราะห์ หรือแม้แต่น้ำใช้ในการฝึกฝนการชกอย่างแรงและการเคลื่อนไหวตัว

มวยสากลในทวีปเอเชีย

[แก้]

กีฬามวยสากลแพร่หลายเข้าสู่เอเชียครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทางสหรัฐอเมริกา เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปเอเชียหลังจากสงครามสหรัฐอเมริกา-สเปนเมื่อ พ.ศ. 2441 ผลของสงคราม สเปนต้องยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐอเมริกา มวยสากลแพร่จากสหรัฐเข้าสู่ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่มะนิลา มีนักมวยจากฟิลิปปินส์ไปชกที่สหรัฐมากโดยเฉพาะที่ฮาวาย จากนั้นจึงแพร่หลายต่อไปยังญี่ปุ่นวงการมวยในเอเชียซบเซาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และฟื้นตัวอีกครั้งหลังสงคราม มวยสากลเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นหลังสงคราม การชกมวยสากลระดับนานาชาติครั้งแรกในญี่ปุ่นเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2467 ที่โตเกียวโดยเทอิโกะ โอกิโน ขึ้นชกกับยัง กอนซาเลซจากฟิลิปปินส์ ผลการชกปรากฏว่าเสมอกัน

ในประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งสมาคมมวยแห่งญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2489 และเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2495 ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ก็มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นดูแลกีฬามวยสากลอย่างเป็นทางการส่วนในระดับภูมิภาค ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นประเทศร่วมก่อตั้งสหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF)

บุคคลสำคัญในวงการมวยสากลเอเชียยุคเริ่มต้นได้แก่ ยูจิโร่ วาตานาเบะ [ja] นักมวยที่ผันตัวเองเป็นโปรโมเตอร์ วาตานาเบะไปชกมวยในสหรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2453 กลับมาโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2464 และตั้งค่ายมวยขึ้น คนอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญคือ ซัม อิชิโนเซะ ชาวฮาวาย เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 มีพ่อแม่เป็นชาวญี่ปุ่น เขาเข้าสู่วงการมวยโดยเริ่มจากการเป็นเทรนเนอร์ ช่วงหลังสงครามโลกเขาได้เปลี่ยนมาเป็นโปรโมเตอร์และผู้จัดการ อีกคนคือโลเป ซาเรียล นายหน้าและผู้จัดการนักมวยชาวฟิลิปปินส์ที่มีส่วนสร้างนักมวยระดับแชมป์โลกหลายคน เช่น แฟลซ อีลอสเด้ โยชิโอะ ชิราอิ และแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

มวยสากลในประเทศไทย

[แก้]

มวยสากลหรือที่เรียกในยุคแรกว่า "มวยฝรั่ง" เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกราว พ.ศ. 2455 โดยได้แบบอย่างจากประเทศอังกฤษ ผู้นำมาเผยแพร่ คือ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ครั้งแรกนำมาเผยแพร่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และแพร่ต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ มีการจัดแข่งขันมวยนักเรียนซึ่งเป็นแบบมวยสากลสมัครเล่น

ต่อมา พระยาคฑาธรบดีสีหบาลเมือง เช่าพื้นที่ด้านศาลาแดงของสวนลุมพินีจัดให้มีการละเล่นต่างๆ เรียกว่าสวนสนุก มีการสั่งนักมวยสากลจากต่างชาติมาชกโชว์เรียกว่า "เต็ดโชว์" เมื่อเป็นที่นิยมจึงมีการคัดเลือกนักมวยสากลชาวไทยขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติเหล่านั้นในแบบมวยสากลอาชีพ การชกระหว่างนักมวยสากลชาวไทยกับต่างชาติมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ในวันนั้น สุวรรณ นิวาศวัต นักมวยไทยชื่อดังขึ้นชกเป็นคู่แรก แพ้น็อค เทอรี โอคัมโป (ฟิลิปปินส์) ยก 4 ส่วนคู่ที่ 2 โม่ สัมบุณณานนท์ ชนะน็อค ยีซิล โคโรนา (ฟิลิปปินส์) ยก 4[12]

จากนั้นกีฬามวยสากลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีนักมวยสากลชาวไทยชกชนะสร้างชื่อเสียงอยู่เนืองๆ เช่น สมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นแชมป์มวยสากลของสิงคโปร์ ผล พระประแดงเป็นรองแชมป์โลกคนแรก จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เป็นแชมป์ OPBF คนแรกและขึ้นชิงแชมป์โลกเป็นคนแรกด้วยแต่ไม่สำเร็จ แชมป์โลกชาวไทยคนแรกคือ โผน กิ่งเพชร ซึ่งได้ครองแชมป์เมื่อ พ.ศ. 2503 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ประเทศไทยมีแชมป์โลกทั้งสิ้น 37 คน ในจำนวนนี้มีนักมวยที่สร้างสถิติโลกและเอเชียมากมายเช่น

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ในฐานะประธานสภามวยแห่งเอเชีย (WBC Asia) จะทำการสอบสวนเรื่องที่มีนักมวยไทยหลายรายเดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ทว่าไม่สามารถชกได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทำให้ถูกแบนจากคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น (JBC) ถือว่าสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการมวยสากลของประเทศไทยอย่างมาก[13]

มวยสากลในประเทศญี่ปุ่น

[แก้]

ค่ายมวยสากลในประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นครั้งแรกที่โตเกียว เมื่อ พ.ศ. 2464 โดยนักมวยชาวญี่ปุ่นชื่อ ยูจิโร่ วาตานาเบะ [ja] ซึ่งเคยผ่านการชกที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน จนได้รับการขนานนามว่า "ราชันย์สี่ยก" ต่อมาใน พ.ศ. 2495 โยชิโอะ ชิราอิ ได้ประสบความสำเร็จเป็นนักมวยชาวญี่ปุ่นรายแรกที่ได้เป็นแชมป์โลก

วงการมวยสากลของญี่ปุ่นถึงจุดรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อ ไฟติง ฮาราดะ สามารถครองแชมป์โลกได้ถึง 2 รุ่น คือ ฟลายเวทและแบนตัมเวทในเวลาต่อมา ซึ่งฮาราดะได้มีชื่อบรรจุอยู่ในหอเกียรติยศของวงการมวยสากลระดับนานาชาติด้วย ซึ่งฮาราดะสามารถที่จะเอาชนะ เอเดร์ ฌูเฟร นักมวยชาวบราซิล ซึ่งก็มีชื่อบรรจุอยู่ในหอเกียรติยศด้วยเช่นกัน และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักมวยรุ่นแบนตั้มเวทที่ดีที่สุดในโลกในขณะนั้น

ต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และคริสต์ทศวรรษ 1980 ต่อมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1990 และจนถึงปัจจุบัน มีนักมวยญี่ปุ่นหลายรายได้เป็นแชมเปี้ยนโลก เช่น โยโก กูชิเก็ง ซึ่งเป็นแชมป์โลกของสมาคมมวยโลก (WBA) ในรุ่นจูเนียร์ฟลายเวท เป็นนักมวยที่ป้องกันแชมป์ได้ 13 ครั้งนับว่าสูงสุดของวงการมวยญี่ปุ่นด้วย, จิโร วาตานาเบะ ได้เป็นแชมป์โลก 2 สถาบัน (WBA, WBC)​ ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท, คัตสึยะ โอนิซูกะ แชมป์โลก WBA ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท และโจอิจิโร ทัตสึโยชิ แชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) 2 สมัย ในรุ่นแบนตัมเวท นับเป็นนักมวยที่สามารถเรียกผู้ชมในวัยรุ่นและกลุ่มคนที่ไม่ได้ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ให้มาสนใจขึ้นได้

โดยแชมป์โลกในรุ่นใหญ่ที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยมี คือ ชิงจิ ทาเกฮาระ และ เรียวตะ มูราตะ ของสมาคมมวยโลกในรุ่นมิดเดิลเวท แม้จะเป็นแชมป์โลกในเวลาสั้น ๆ ก็ตาม

โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการชกมวยสากลในประเทศญี่ปุ่น คือ คณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น (JBC) ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2495 นับเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการดูแลสุขภาพและคุณภาพของนักมวยและการแข่งขัน โดยให้การยอมรับสถาบันมวยสากลเพียง 2 สถาบันเท่านั้น คือ สมาคมมวยโลก (WBA) กับ สภามวยโลก (WBC) เท่านั้น แม้จะมีนักมวยบางรายที่ขึ้นชกในรายการของสถาบันอื่น เช่น สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) , องค์กรมวยโลก (WBO) หรือสถาบันอื่น ๆ แต่นั่นก็มิได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการชุดนี้ (ต่อมาให้การยอมรับ IBF , WBO ภายในปี พ.ศ. 2556)​

นอกจากนี้แล้วคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น ได้รับยอมรับสถาบันระดับภูมิภาค คือ สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) โดยนักมวยที่ได้แชมป์ของ OPBF จะมีชื่ออยู่ในอันดับโลก 10 อันดับในแต่ละรุ่นของสภามวยโลกทันที

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่กำกับดูแลการชกมวยในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน คือ สหพันธ์มวยนานาชาติญี่ปุ่น (IBF) แต่หน่วยงานนี้ไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากสื่อมวลชนและบุคคลในวงการมวยเท่าที่ควร

ซึ่งการกำกับดูแลคุณภาพของการชกมวยสากลในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทางคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นมีกฎเกณฑ์ดังนี้ คือ ค่ายมวยที่ตั้งขึ้นใหม่จะต้องบังคับจ่ายเงินเป็นจำนวน 10 ล้านเยนแก่คณะกรรมการฯ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีค่ายมวยเกิดขึ้นอย่างไม่มีมาตรฐาน และเป็นการดูสถานภาพการเงินของค่ายมวยแต่ละรายด้วย อีกทั้งการขึ้นชกของนักมวยแต่ละรายจะต้องได้รับการอนุญาตและตรวจสุขภาพทั้งก่อนและหลังชก เพื่อดูแลมิให้นักมวยได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจนเกินไปนั่นเอง

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ได้ปรากฏข่าวว่าคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นได้สั่งแบน เอกชัย แสงทับทิม นักมวยชาวไทยที่เดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนเดียวกัน แต่ทว่าไม่สามารถแสดงฝีมือการชกให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ได้เลย กอรปกับก่อนหน้านั้นก็มีนักมวยไทยหลายรายที่ไปชกที่ญี่ปุ่นและมีผลการชกทำนองนี้เหมือนกัน คือ เอกจักรพันธุ์ ม.กรุงเทพธนบุรี, เพชรนรา เพชรภูมิยิม, ณัฐวุฒิ ศิริเต็ม และอนุชา พลีงาม ซึ่งทั้งหมดชกในเดือนเมษายนปีเดียวกันนี้ [14]

การถ่ายทอดการแข่งขันชกมวยในประเทศญี่ปุ่น จะทำการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในประเทศ โดยแบ่งเป็นแต่ละค่ายกับสถานีแต่ละสถานีไป โดยมีค่ายใหญ่ ๆ 5 ค่ายในโตเกียว คือ ค่ายเคียวเอะ กับ ค่ายวาตานาเบะ กับสถานีทีวีโตเกียว, ค่ายโยเนกูระ (ภายหลังค่ายมวยนี้ปิดกิจการถาวร) กับสถานีทีวี อาซาฮิ, ค่ายมิซาโกะ กับสถานีฟุจิ และ ค่ายเทเก็ง กับสถานีเอ็นทีวี​ ส่วน ทีบีเอส เป็นสถานีถ่ายทอดสดกลางไม่ขึ้นตรงกับค่ายมวยใด

นอกจากนี้แล้วความนิยมของกีฬามวยสากลในประเทศญี่ปุ่น ได้แพร่หลายไปยังวงการต่าง ๆ เช่น แวดวงวรรณกรรม มีวรรณกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวกับมวยสากล อาทิ นิตยสารฉบับต่าง ๆ , หนังสือพิมพ์, นวนิยายเรื่องต่าง ๆ รวมถึง ละครโทรทัศน์หรือการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย เช่น โจ สิงห์สังเวียน หรือ ก้าวแรกสู่สังเวียน เป็นต้น[15]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-09. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
  2. Derek Birley (1993). Sport and the Making of Britain. Manchester University Press. p. 118. ISBN 071903759X.
  3. "Sparring – Be Constructive NOT Destructive". www.myboxingcoach.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  4. "What are the best boxing gloves for training?". minotaurfightstore.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  5. "How Heavy Are Boxing Gloves?". www.legendsboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  6. "What Boxing Gloves To Use". expertboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  7. "Types Of Mouthguards And Their Benefits". soundviewfamilydental.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  8. "Do Mouthguards Straighten Teeth". teethtribune.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  9. "Boxing Sparring for Beginners". expertboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  10. "5 Boxing Drills To Do With A Punching Bag". www.legendsboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  11. "Types of Punching Bags: How its Exercises Are Effective?". fitnessumpire.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  12. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. โม่ สัมบุณณานนท์ นักชกไทยคนแรกที่พิชิตมวยฝรั่ง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 4 (8). มิถุนายน 2526. หน้า 90 - 97
  13. "รับไม่ได้ "บิ๊กโก" สั่งสอบกำปั้นปาหี่ทำขายหน้า-โดนแบนที่ญี่ปุ่น". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-04-21. สืบค้นเมื่อ 2017-04-22.
  14. "(คลิป) เป็นเรื่อง "ส.มวยยุ่น" แบนกำปั้นไทย ต่อยไร้เชิง-ไม่คุ้มค่าตั๋วคนดู". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-04-20. สืบค้นเมื่อ 2017-04-22.[ลิงก์เสีย]
  15. "JETTY", เจาะลึกวงการมวยเมืองซามูไร หน้า 35-37 นิตยสารมวยโลก ปีที่ 8 ฉบับที่ 742 (25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม พ.ศ. 2541)

[[หมวดหมู่:ศิลปะการต่อสู้ของยุโรป]