ปา-กว้าจ่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปา-กว้าจ่าง

ฝ่ามือแปดทิศ หรือ ปา-กว้าจ่าง (อักษรจีนตัวเต็ม: 八卦掌, พินอิน: Bāguà Zhǎng, อังกฤษ: Ba Gua Zhang, Pa Kua Chang) ปา-กว้าจ่างแปลตรงตัวได้ความว่าแปดทิศ เป็นหนึ่งในสามศิลปะป้องกันตัวแขนงหลักของบู๊ตึ้ง โดยอีกสองแขนงคือไทเก็กและสิ่งอี้เฉวียน ปา-กว้าจ่างมีชื่อเสียงด้านลักษณะที่เป็นการหลบหลีกและจู่โจมด้วยมือที่แบอยู่ ลักษณะที่โดดเด่นของ ปา-กว้าจ่าง อีกประการคือการเดินเป็นวงกลมการขยับร่างกายเป็นเกลียว การเคลื่อนไหวเป็นเกลียวแบบนี้มีข้อได้เปรียบในการรับมือกับคู่ต่อสู้หลายคน คู่ต่อสู้ติดอาวุธ และใช้ทักษะในการตอบโต้พลกำลัง[1]

การฝึกฝนของ ปา-กว้าจ่าง กำหนดให้ผู้ฝึกเดินเป็นวงกลม โดยผู้ฝึกจะต้องสามารถโคจรและหมุนร่างกายของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นการเรียนรู้ทิศทั้งแปดทิศของ ปา-กว้าจ่าง จะทำให้ผู้ฝึกสามารถจู่โจมและตั้งรับการโจมตีจากทุกทิศทาง ปา-กว้าจ่าง ใช้แรงจากการหมุนมือที่แบอยู่ทางแนวตั้งอย่างต่อเนื่อง ผู้ฝึกจะขยับร่างกายอยู่เสมอเพื่อที่จะทำให้คู่ต่อสู้เสียสมดุล

จุดกำเนิดของปา-กว้าจ่างเป็นที่ทราบว่าต๋ง ไห่ชฺวัน ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากนักพรตบนเขาจิ่วหลงและต่อมาได้สร้างระบบการต่อสู้มาเป็นวิชามวย ทำให้ต๋ง ไห่ชฺวัน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งวิชาปา-กว้าจ่าง

สำหรับประเทศไทย ปา-กว้าจ่างหรือฝ่ามือแปดทิศยังเป็นศิลปะป้องกันตัวที่ยังค่อนข้างใหม่มาก เพราะตามปกติแล้วศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่มาสู่ไทยนั้นส่วนมากเป็นวิชามวยทางใต้ของประเทศจีน ในขณะที่ปา-กว้าจ่างเป็นวิชามวยทางเหนือ ปัจจุบันสถานที่ฝึกสอนวิชาปา-กว้าจ่างในไทยมีเพียงสองที่คือที่ศูนย์บูรณาการศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณ และที่สวนลุมพินีเท่านั้น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Ba Gua Zhang (Pa Kua Chang)". สืบค้นเมื่อ 2015-06-09.
  2. "ปากั้วจ่าง-ฝ่ามือแปดทิศ ดนตรีแจ๊สแห่งศิลปะการต่อสู้". สืบค้นเมื่อ 2015-06-09.[ลิงก์เสีย]