บุญเกิด กฤษบำรุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง
Nicolas Bunkerd Kitbamrung.JPG
บาทหลวงและมรณสักขี
เกิด31 มกราคม พ.ศ. 2438
จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย
เสียชีวิต12 มกราคม พ.ศ. 2487 (48 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง
นิกายโรมันคาทอลิก
เป็นบุญราศี5 มีนาคม พ.ศ. 2543
มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม
โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
วันฉลอง12 มกราคม

บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (31 มกราคม พ.ศ. 2438 – 12 มกราคม พ.ศ. 2487) เป็นบาทหลวงชาวนครปฐม สังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เมื่อรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงแล้วได้ทำงานแพร่ธรรมในหลายจังหวัด จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้น บาทหลวงบุญเกิดถูกตำรวจจับในข้อหา "กบฏภายนอกราชอาณาจักร" ศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปีที่เรือนจำกลางบางขวาง และถึงแก่มรณกรรมด้วยวัณโรคหลังจากติดคุกได้ 3 ปี

บาทหลวงบุญเกิดได้รับยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็นมรณสักขี และได้รับการประกาศเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 มกราคม ของทุกปีเป็นวันระลึกถึงบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง[1]

ประวัติ[แก้]

บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2438 ที่จังหวัดนครปฐม มีนามเดิมว่า "ชุนกิม" เป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดามารดาชื่อ ยอแซฟ โปชัง และอักแนส เที่ยง กฤษบำรุง ได้รับศีลล้างบาปที่โบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน ได้รับศาสนนามว่า “เบเนดิกโต

ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลในจังหวัดนครปฐม แล้วย้ายไปเรียนที่เซมินารีพระหฤทัยของพระเยซู บางช้าง เป็นเวลา 8 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยกลาง เมืองปีนังอีก 6 ปี ในช่วงนั้นได้รับอนุกรมน้อยขั้นอุปพันธบริกรเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2468 และเป็นพันธบริกรเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน แล้วกลับมารับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2469[2] ขณะมีอายุได้ 31 ปี

เมื่อเป็นบาทหลวงแล้วบาทหลวงบุญเกิดได้ปฏิบัติศาสนกิจในหลายท้องที่ ดังนี้[3]

ในช่วงนี้ได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยซึ่งอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย การเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ บาทหลวงบุญเกิดซึ่งทำงานแพร่ธรรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2484 โดยตั้งข้อหาเป็น แนวที่ 5 ของฝรั่งเศส[4]

การเป็นมรณสักขี[แก้]

บาทหลวงบุญเกิดถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหากบฏภายนอกราชอาณาจักร[2] ที่เรือนจำกลางบางขวาง ในระหว่างนี้ท่านยังคงทำงานแพร่ธรรมแก่นักโทษ จนสามารถโปรดศีลล้างบาปแก่นักโทษได้ถึง 66 คน ต่อมาท่านถูกย้ายไปอยู่แดนผู้ป่วยวัณโรค จนติดวัณโรคและถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรกซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำ ต่อมาพระคุณเจ้าเรอเน แปรอส ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้ขอนำศพท่านมาฝังที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ (ปัจจุบันร่างของท่านถูกนำไปเก็บไว้ที่สักการสถานบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม)

มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้ยื่นเรื่องการเป็นมรณสักขีของบาทหลวงบุญเกิดต่อสันตะสำนักในปี พ.ศ. 2535 การสอบสวนดำเนินมาจนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 บาทหลวงบุญเกิดจึงได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน กรุงโรม

อ้างอิง[แก้]

  1. ประวัตินักบุญตลอดปี: บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เก็บถาวร 2011-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  2. 2.0 2.1 ประวัติบุญราศีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระสงฆ์, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  3. ประมวลประวัติชีวิต เก็บถาวร 2010-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สักการสถานนักบุญนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  4. การเบียดเบียนศาสนาในประเทศไทย เก็บถาวร 2011-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์สักการสถานนักบุญนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง, เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556