มุขนายกรอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มุขนายกรอง (อังกฤษ: coadjutor bishop) ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก หรือบิชอปโคแอดจูเตอร์ (bishop coadjutor) ในแองกลิคันคอมมิวเนียน เป็นตำแหน่งผู้ช่วยมุขนายกประจำมุขมณฑลในการบริหารมุขมณฑล คล้ายกับเป็นมุขนายกร่วมกันปกครองมุขมณฑลนั้น มุขนายกรองจึงมีตำแหน่งเป็นอุปมุขนายกประจำมุขมณฑลด้วย (แต่มีอำนาจหน้าที่มากกว่าอุปมุขนายกทั่วไปที่ไม่ได้เป็นมุขนายกรอง) เมื่อมุขนายกประจำมุขมณฑลพ้นจากตำแหน่งไปไม่ว่าด้วยการเกษียณอายุ ถูกถอดจากตำแหน่ง หรือถึงแก่กรรม มุขนายกรองจะสืบตำแหน่งมุขนายกประจำมุขมณฑลต่อทันที

โรมันคาทอลิก[แก้]

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก มุขนายกรอง[1]เป็นผู้ร่วมกับมุขนายกประจำมุขมณฑลในปกครองมุขมณฑล จึงมีลักษณะคล้ายกับมุขนายกผู้ช่วย[2] ต่างกันเพียงมุขนายกผู้ช่วยไม่มีสิทธิ์สืบตำแหน่งมุขนายกประจำมุขมณฑลเมื่อมุขนายกนั้นพ้นจากตำแหน่ง แต่มุขนายกรองจะสืบตำแหน่งแทนทันทีที่มุขนายกประจำมุขมณฑลเกษียณตนเอง ถูกถอดจากตำแหน่ง หรือถึงแก่กรรม ในช่วงที่ยังไม่ได้สืบตำแหน่ง มุขนายกรองจะดำรงตำแหน่งอุปมุขนายกประจำมุขมณฑลนั้นไปก่อน

ในปัจจุบันการแต่งตั้งมุขนายกรองจะเกิดขึ้นเมื่อมุขนายกประจำมุขมณฑลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติอีกต่อไปเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพหรือใกล้จะเกษียณ พระสันตะปาปาจึงแต่งตั้งบาทหลวงองค์หนึ่งขึ้นเป็นมุขนายกรอง เพื่อให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมุขนายก ให้คุ้นเคยกับงานนั้นก่อนที่จะต้องขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการต่อไป นอกจากนี้ในหลาย ๆ กรณียังใช้การตั้งมุขนายกรองขึ้นมาเพื่อลดอำนาจและบทบาทของมุขนายกประจำมุขมณฑลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาว เช่น กรณีแต่งตั้งโคเซ บูเอโน อี มอนเรอัล เป็นอัครมุขนายกรองแห่งเซบิยา[3] ทำหน้าที่บริหารแทนพระคาร์ดินัลเปโดร เซกูรา อี ซาเอนซ์ อาร์ชบิชอปแห่งเซบิยาซึ่งมีเรื่องอื้อฉาวจากการออกแจกแผ่นพับโจมตีฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งพระสันตะปาปาและเอกอัครสมณทูต

อ้างอิง[แก้]

  1. "Canon 403 §3". 1983 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร. Libreria Editrice Vaticana. สืบค้นเมื่อ 27 July 2009.
  2. "Canon 403 §1". 1983 ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร. Libreria Editrice Vaticana. สืบค้นเมื่อ 27 July 2009.
  3. "Religion: Unemployed Archbishop". Time. 21 November 1955. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-15. สืบค้นเมื่อ 30 April 2010.